ฉบับที่ 240 ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ...บอกอะไรบ้าง

        อินเทอร์เน็ตนั้นอุดมไปด้วยความรู้ด้านสุขภาพที่ควรต้องกลั่นกรองในระดับหนึ่ง โดยมีสิ่งที่ต้องระวังเป็นหลักคือ ไม่เป็นเว็บขายสินค้าใดๆ ทั้งสิ้น         ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ  ปรกติปัสสาวะของคนส่วนใหญ่มักมีกลิ่นแอมโมเนียเล็กน้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อถ่ายออกมาในตอนเช้า เพราะเราได้เว้นการดื่มน้ำระหว่างนอนหลับนานกว่า 4-6 ชั่วโมง ความเข้มข้นของปัสสาวะจึงเพิ่มขึ้นพร้อมกลิ่น อย่างไรก็ดีเมื่อใดที่ปัสสาวะที่มีกลิ่นแรงผิดปรกติ นั่นอาจเป็นสัญญาณไม่ค่อยดี เช่น อาการเบาหวานที่ไม่ได้บำบัดมักทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นเฉพาะคล้ายน้ำจากผลต้นนมแมว เพราะมีน้ำตาลออกในปัสสาวะมากเกินปรกติ หรือการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ กระเพาะปัสสาวะหรือไต อาจทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดปรกติ ซึ่งมักตามมาด้วยอาการปวดเวลาปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะขุ่นข้นหรือมีเลือด มีไข้ ปวดหลัง เป็นต้น อาการเหล่านี้สามารถใช้ในการประเมินขั้นต้นว่า เป็นอาการของการติดเชื้อที่ไต ซึ่งคำแนะนำที่พบในอินเตอร์เน็ทคือ ควรไปพบแพทย์ โอกาสที่ปัสสาวะมีกลิ่นโดยไม่เจ็บป่วย         การเกิดกลิ่นที่ผิดปรกติของปัสสาวะอาจไม่ได้เกิดจากภาวะสุขภาพผิดปรกติเสมอไป อาจมีปัจจัยอื่นๆ เช่น เมื่อร่างกายเสียน้ำมากในการออกกำลังกายอย่างหนัก การทำงานกลางแจ้งหรือการเดินทางไกล ซึ่งมักร่วมกับอาการที่เห็นได้ง่ายคือ ปากแห้ง เฉื่อยชา กล้ามเนื้ออ่อนแรง ปวดหัว เวียนหัว อาการดังกล่าวควรหายไปเมื่อดื่มน้ำมากพอพร้อมเกลือแร่ แต่ถ้าไม่หายควรไปพบแพทย์เพราะอาจหมายถึงความผิดปรกติในการทำงานของไต         อาหารหลายชนิดสามารถทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดจากปรกติ เช่น กาแฟ ผักที่มีกลิ่นแรงอย่างสะตอ ชะอม ขึ้นฉ่าย กะหล่ำปลี หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น กลิ่นที่เกิดในปัสสาวะหลังกินอาหารเหล่านี้เป็นดัชนีบ่งชี้การที่ไตต้องทำงานหนักขึ้นกว่าการกินอาหารที่มีกลิ่นไม่แรงนัก เพราะในอาหารที่มีกลิ่นแรงอาจจะมีสารเคมีที่ไม่ใช่สารอาหารมากกว่า         ผู้ที่กินวิตามินบีรวมที่มีความเข้มข้นสูงเกินความต้องการของร่างกาย กินยาปฏิชีวนะกลุ่นซัลโฟนาไมด์ กินยาบำบัดเบาหวานหรือยาบำบัดมะเร็ง มักมีประสบการณ์ว่าปัสสาวะมีกลิ่นที่ผิดปกติไปจากเดิม ทั้งนี้เพราะวิตามินบีเป็นสารที่ละลายน้ำดี เมื่อมากเกินความต้องการจึงต้องขับทิ้งทางปัสสาวะเช่นเดียวกับยาต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสารแปลกปลอมของร่างกาย อวัยวะภายในหลักในการนี้คือ ตับและไต ต้องเพิ่มการทำงานในการเปลี่ยนแปลงสารเหล่านี้เพื่อขับออกจากร่างกายพร้อมกลิ่นซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของสารที่ถูกขับแต่ละชนิด ปรากฏการณ์นี้มีความหมายว่า เราต้องจ่ายเพิ่มในเรื่องความเสื่อมของไต เพราะไตต้องทำงานหนักขึ้นในการขับสารที่ถูกเปลี่ยนแปลงแล้วออกทิ้งในปัสสาวะ ส่วนตับนั้นไม่มีปัญหาเท่าไรเพราะเป็นการขับทิ้งออกในน้ำดีซึ่งหลั่งออกสู่ทางเดินอาหารเพื่อใช้ช่วยในการย่อยอาหารไขมันอยู่แล้ว         การเสียสมดุลของแบคทีเรียบริเวณอวัยวะเพศสตรี อาจส่งผลทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นคาวปลาได้ เนื่องจากในสถานะการณ์ปรกตินั้นแบคทีเรียกลุ่มแลคโตแบซิลัสมักเป็นกลุ่มเด่นในการทำให้สภาวะแวดล้อมในอวัยวะเพศสตรีมีสภาวะเป็นกรดอ่อนๆ ซึ่งเป็นการยับยั้งการเจริญของแบคทีเรียที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย การล้างช่องคลอดโดยไม่จำเป็น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย การว่ายน้ำในแหล่งน้ำที่ไม่สะอาดจึงเกิดการติดเชื้อ ฯลฯ เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดการเสียสมดุลทั้งปริมาณและชนิดของแบคทีเรียที่เหมาะสม แบคทีเรียบางชนิดที่มีมากขึ้นผิดปรกติสามารถเปลี่ยนสารเคมีในช่องคลอดให้กลายเป็นสารที่มีกลิ่นคล้ายคาวปลา         การที่ปัสสาวะมีกลิ่นคล้ายปลาเน่านั้น เป็นการบ่งชี้ถึงความผิดปรกติในการทำงานของไตหรือปัญหาด้านพันธุกรรมที่ส่งผลให้ตับขาดเอ็นซัมชื่อ Flavin-containing monooxygenase 3 ซึ่งผลการขาดเอ็นซัมนี้ก่อให้เกิดสภาวะที่เรียกว่า Trimethylaminuria นั่นคือ ไตไม่สามารถทำลายสาร trimethylamine ซึ่งเป็นอนุพันธุ์ที่เกิดขึ้นในร่างกายหลังการเปลี่ยนแปลง lecithin, choline และ L-carnitine ในอาหารบางประเภท เช่น ไข่แดง ต้นอ่อนข้าวสาลี เนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์เช่น ตับ สาร trimethylamine นี้เป็นสารเคมีชนิดเดียวกับที่เกิดขึ้นในสภาวะที่ปลาถูกทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องนานๆ จนเกิดการเน่าเสีย โดยปรกติแล้ว trimethylamine ในร่างมนุษย์จะถูกเปลี่ยนไปเป็น trimethylamine-N-oxide ซึ่งไม่มีกลิ่น (สักเท่าไร) เพื่อขับออกทางการปัสสาวะ         การตั้งท้องของสตรีทำให้สภาวะฮอร์โมนในร่างกายเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลให้ปัสสาวะมีกลิ่นผิดไปจากเดิมหรืออาจบวกกับการที่คนท้องมักมีการได้รับกลิ่นไวขึ้นกว่าเดิม จึงรู้สึกว่าปัสสาวะมีกลิ่นแรงกว่าเดิม หนังสือทางชีววิทยาการสืบพันธุ์นั้นกล่าวว่า หลังจากไข่ได้รับการผสมกับอสุจิจนเกิดเซลล์ใหม่ ซึ่งจะพัฒนาไปเป็นตัวอ่อนนั้น เซลล์จะเข้าไปฝังตัวในเยื่อบุมดลูกซึ่งเป็นการกระตุ้นกระบวนการหลั่งฮอร์โมนโกนาโดโทรปินคอโรนิกของมนุษย์หรือเอชซีจี ตรวจพบได้ในเลือดและปัสสาวะของหญิงตั้งท้อง ผู้หญิงที่จมูกไวมักสามารถได้กลิ่นเอชซีจีในปัสสาวะหลังมีความสัมพันธ์ทางเพศกับคู่นอนเพียงไม่กี่อาทิตย์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนให้ไปซื้อเครื่องตรวจการตั้งครรภ์มาทดสอบว่าจะจัดการกับชีวิตข้างหน้าอย่างไร บุญหรือกรรมสำหรับคนที่ไม่ได้กลิ่นบางอย่างของปัสสาวะ         โดยทั่วไปมนุษย์นั้นมีความสามารถในการรับกลิ่นต่างๆ ไม่เท่ากัน ในทางวิทยาศาสตร์เรียกสภาวะนี้ว่า Idiosyncrasies ซึ่งจัดว่าเป็นผลทางพันธุกรรม ดังนั้นจึงพบได้ทั่วไปว่า บางคนมีจมูกดีได้กลิ่นไวมากในขณะที่บางคนสบายมากในการเดินผ่านที่พักผู้โดยสารรถประจำทางเก่าๆ ในกรุงเทพมหานคร         จากหนังสือชื่อ Fart Proudly: Writings of Benjamin Franklin You Never Read in School พิมพ์โดยสำนักพิมพ์ North Atlantic Books ในปี  2003. กล่าวว่า ในปี 1781 Benjamin Franklin เคยบันทึกถึงประสบการณ์ว่า การกินแอสปารากัสหรือหน่อไม้ฝรั่งเพียงไม่กี่ต้นทำให้ปัสสาวะมีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้ และในปี 2014 เว็บ www.aurorahealthcare.org มีบทความเรื่อง Why Asparagus Makes Your Urine Smell ซึ่งเป็นการอธิบายว่า เมื่อเรากินหน่อไม้ฝรั่งแล้วร่างกายจะเปลี่ยนแปลง asparagusic acid ที่มีในหน่อไม้ฝรั่ง ไปเป็นสารเคมีกลุ่มที่มีกำมะถันเป็นองค์ประกอบ ทำให้ปัสสาวะ (รวมถึงเหงื่อและลมหายใจ) มีกลิ่นเฉพาะที่บอกว่าคนผู้นั้นได้กินอาหารที่มีหน่อไม้ฝรั่งเมื่อ 15-60 นาทีที่แล้ว        บทความเรื่อง Food Idiosyncrasies: Beetroot and Asparagus ตีพิมพ์ในวารสาร Drug Metabolism and Disposition ของปี 2001 ให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า เมื่อทางเดินอาหารในร่างกายย่อยหน่อไม้ฝรั่งแล้ว asparagusic acid จะถูกดูดซึมไปที่ตับซึ่งก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อไปได้สารประกอบซัลเฟอร์ 6 ชนิด คือ methanethiol, dimethyl sulfide, dimethyl disulfide, bis(methylthio)methane, dimethyl sulfoxide, และ dimethyl sulfone สารเหล่านี้รวมกันแล้วเป็นสาเหตุของกลิ่นในปัสสาวะโดยมี methanethol ทำหน้าที่เป็นแกนนำหลัก แต่กรณีที่คนบางคนกินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นหรือมีน้อยมากนั้นบทความดังกล่าวบอกว่า อาจเป็นเพราะมีการดูดซึม asparagusic acid ต่ำจนถึงไม่ดูดซึม แต่ก็มีเรื่องน่าสนใจว่าบางคนที่กินหน่อไม้ฝรั่งแล้วปัสสาวะไม่มีกลิ่นรุนแรง ซึ่งแสดงว่าเขาผู้นั้นอาจขาดเอ็นซัมที่สามารถย่อยให้ asparagusic acid ไปเป็นสารประกอบซัลเฟอร์ที่ก่อให้เกิดกลิ่น อย่างไรก็ดียังไม่มีงานวิจัยที่ศึกษาเรื่องดังกล่าวในลักษณะลึกซึ้ง         สำหรับในกรณี คนไม่ได้กลิ่นที่เปลี่ยนไปของปัสสาวะ ได้มีการอธิบายในบทความเรื่อง Web-Based, Participant-Driven Studies Yield Novel Genetic Associations for Common Traits ในวารสาร PLoS Genetics ตีพิมพ์ในเดือนมิถุนายน 2020 ว่า เป็นลักษณะเฉพาะบุคคลที่มีการกลายพันธุ์ในลักษณะของ SNP (single nucleotide polymorphism) ของโครโมโซมแท่งที่ 1 โดยตำแหน่ง SNP ที่เกิดนั้นคือ rs4481887, rs4309013 และ rs4244187 ของยีน OR2M7 (olfactory receptor family 2 subfamily M member 7) ซึ่งมีหน้าที่สร้างโปรตีนที่ทำหน้าที่เป็น olfactory receptors หรือตัวรับกลิ่น ที่น่าสนใจคือ บทความนี้ได้รับเงินสนับสนุนจากบริษัทชื่อ 23andMe ซึ่งรับตรวจสอบความผิดปรกติทางพันธุกรรมในการรับกลิ่นของปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยงานวิจัยนี้ได้ศึกษาในคนราวหมื่นคนว่าได้กลิ่นเฉพาะในปัสสาวะหลังกินหน่อไม้ฝรั่งหรือไม่ จากนั้นก็ดูลักษณะร่วมของคนที่ไม่ได้กลิ่นว่ามีลักษณะทางพันธุกรรมส่วนใดที่เป็น SNP ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น         นอกจากนี้ยังมีบทความเรื่อง Sniffing out significant “Pee values”: genome wide association study of asparagus anosmia ตีพิมพ์ในวารสาร BMJ ของปี 2016 ที่ศึกษาในอาสาสมัครที่มีข้อมูลทางพันธุกรรมของโครงการการศึกษาทางระบาดวิทยา 2 โครงการ คือ Nurses’ Health Study และ Health Professionals Follow-up Study ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเกี่ยวกับความสามารถในการได้กลิ่นจากปัสสาวะของคนที่กินหน่อไม้ฝรั่ง โดยผลสรุปของงานวิจัยคือ 58.0% ของผู้ชาย (n=1449/2500) และ 61.5% ของผู้หญิง (n=2712/4409) มีการแสดงออกที่เรียกว่า asparagus anosmia คือ ไม่ได้กลิ่นสารเคมีจากหน่อไม่ฝรั่งในปัสสาวะ         สภาวะการไม่ได้กลิ่นของปัสสาวะหรือ anosmia นั้นเกิดขึ้นได้ทั้ง ชั่วคราว หรือ ถาวร ซึ่งในกรณีหลังนั้นเนื่องจากพันธุกรรมดังกล่าวข้างต้น แต่ในกรณีชั่วคราวนั้นมักเกิดจากการระคายเคืองของจมูกเมื่อติดเชื้อ เช่น ป่วยเป็น covid-19 ทำให้จมูกไม่ได้กลิ่นเท่าเดิม ซึ่งมักส่งผลให้ไม่อยากอาหารจนมีภาวะทุพโภชนาการ น้ำหนักลดลง อาจเป็นโรคซึมเศร้า ซ้ำร้ายการสูญเสียความสามารถในการดมกลิ่มอาจส่งผลถึงการหมดสมรรถภาพทางเพศได้ด้วย สำหรับสาเหตุอื่นของการไม่ได้รับกลิ่นนั้นมักเป็นผลมาจากการบวมและอุดตันภายในจมูกหรือปัญหาเกี่ยวกับการส่งสัญญาณจากเส้นประสาทในจมูกไปยังสมอง การติดเชื้อบริเวณโพรงอากาศข้างจมูกหรือไซนัส ไข้หวัดหรือไข้หวัดใหญ่ โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ การสูบบุหรี่ เสพโคเคนหรือสารเสพติดอื่น ๆ ทางจมูก การอุดตันในจมูกเนื่องจากเนื้องอก กระดูกในจมูกหรือผนังกั้นจมูกผิดรูป โรคอัลไซเมอร์หรือเป็นโรคฮันติงตัน (Huntington’s Disease) ที่เกิดจากพันธุกรรมผิดปกติซึ่งทำให้ระบบประสาทเสื่อม ความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิดในร่างกาย การใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาบำบัดความดันโลหิตสูง ลมชัก เบาหวาน โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 สะตอผัดกุ้งสด

เห็นเพื่อนบางคนใน FB ที่ต้องโยกย้ายตัวเองไปทำงานไกลบ่นคิดถึงบ้าน และคนที่บ้าน  ฉันเลยพลอยคิดไปถึงตอนต้องอยู่นอกบ้านไกลๆ สมัยยังเป็นละอ่อนเรียนมหาวิทยาลัย  นั่นเป็นการอยู่ไกลบ้านสุดกู่เกินกว่าจะเทียวเดินทางไป-กลับ จากบ้านต่างอำเภอกับโรงเรียนในจังหวัดในทุกวันจันทร์และศุกร์ ได้อย่างสมัยมัธยม   แต่ตอนเลือกที่เรียนต่อผ่านการสอบเอ็นทรานซ์สมัยนั้นฉันก็คิดว่าอดทนไปเรียนไกลๆ ก่อนแล้วค่อยกลับมาทำงานแถวบ้าน  แต่การงานที่ฉันอยากทำกับบ้านก็อยู่ไกลจนต้องทำใจ และเฝ้าแต่หาวิธีขยับขยายช่องทางจนกลับเข้ามาทำงานในบ้านได้เมื่อวัยกลางคน ระหว่างที่กลายเป็นคนไกลบ้าน สิ่งที่คิดถึงบ่อยๆ คงไม่พ้นของที่เคยกิน เมนูที่สุดโปรด  และเป็นไปโดยปริยายว่าเมื่อได้ลิ้มลองอาหารแบบที่เคยคุ้นกับการกินก็มักอดไม่ได้ที่จะต้องเปรียบเทียบกันทั้งรสชาติ หน้าตา และองค์ประกอบ  บางครั้งก็ได้รู้เลยไปถึงกรรมวิธีการปรุงและเคล็ดลับต่างๆ ของบรรดาแม่ครัวต่างถิ่น  ทำให้เรื่องราวที่ประกอบกับสิ่งที่จะกินกลายเป็นรสที่เติมแต่ง จนกลิ่นรสแปลกแปร่งจากที่คุ้นเคยกลายเป็นของใหม่ให้ได้ลองลิ้น และหากติดใจก็รับเอามากินต่อไปจนเป็นความคุ้นเคยแบบใหม่  เช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ฉันเองจำไม่ได้แล้วว่า รสแรกสัมผัสของอาหารต่างถิ่นอย่าง สะตอผักกุ้งสด เมนูนี้ เป็นอย่างไร   ตั้งแต่จำความ  โต เล่น และเรียนอยู่ในถิ่นตัวเองจนจะอายุ 20 ปี ก็ยังไม่เคยได้กินสะตอสักครั้ง จนกระทั่งเรียนมหาวิทยาลัยปี1 ฉันและเพื่อนอีกเกือบทั้งคณะกว่า 200 คน ที่นั่งรถไฟแบบเหมายกตู้ จากขอนแก่นไปสงขลา นั่นแหละฉันจึงได้กินอาหารใต้แบบ ปักษ์ใต้ของแท้  แต่ก็นานกว่าจะได้ลอง ทั้งๆ ที่ในโรงอาหารของมหาวิทยาลัย และโรงเตี๊ยมเล็กๆ ข้างคณะจะมีอาหารใต้หลายเมนูขายอยู่   เพราะส่วนใหญ่ มัวแต่ทดลอง “สารพัดตำ” ที่เพื่อนๆ เจ้าถิ่นแนะนำให้เรากินเสียมากกว่า   หลังจากได้กินอาหารต้อนรับของเพื่อน นักศึกษา มอ.เจ้าถิ่น  มื้อแรกและมื้อต่อๆ มา กลิ่นรสสะตอก็กลายเป็นอาหารอีกจานที่เริ่มจะทำความคุ้นชิน ทั้งการกินแบบผัดกับกุ้งและน้ำพริกกะปิ  ทั้งแบบกินสดและแบบดองน้ำเกลือ กินกับน้ำพริก  ขนมจีน และกับข้าวแกงราดข้าว   จำได้ว่าขึ้นรถไฟเที่ยวกลับ เพื่อนกลุ่มใหญ่ของฉันเกือบ 20 คน ตกลงกันว่าจะหิ้วสะตอกองใหญ่กลับมากินกันที่ขอนแก่นด้วย สะตอสดกินแนมกับตำส้ม และสารพัดตำรสแซ่บ และกลิ่นสะตอผัดกุ้งฟุ้งกระจายที่บ้านเพื่อนเจ้าถิ่นในตัวเมืองขอนแก่นอยู่หลายมื้อทีเดียวเชียว   จะว่าไปคนอีสานก็ออกจะคุ้นกับรสสะตอที่ใกล้เคียงกับฝักกระถิ่น ที่คนอีสานนิยมกินเมล็ดอ่อนของมันกับตำส้มสารพัด รวมไปถึงบรรดาแจ่ว บอง และขนมจีนน้ำยาป่า ผิดแต่ว่าขนาดใหญ่และรสจัดกว่าเท่านั้น    ส่วนบางคนที่ไม่ชอบเพราะกลิ่นแรงๆ ของสะตอที่เหลือค้างอยู่ในปาก แก้ได้ไม่ยาก โดยเอาใบฝรั่งที่หน้าบ้านเพื่อนนั่นแหละมาเคี้ยว(ปัจจุบันต้นฝรั่งหาไม่ได้ง่าย แต่กาแฟดำชงแก่ๆ แบบไม่ใส่น้ำตาลหรือน้ำนมสด ดื่มล้างปากหลังเมนูนี้  สำทับอีกทีด้วยหมากฝรั่งก็ช่วยขจัดกลิ่นมันไปได้) ตอนแรกที่รู้จักสะตอก็จากการกิน  กินในรั้วมาหวิทยาลัย  จนกระทั่งได้ทำงานและแวะเวียนไปพบผู้คนในถิ่นใต้ จึงได้รู้จักสะตอที่มีต้นสูงใหญ่  กระบวนการเก็บเกี่ยวที่ต้องใช้แรงงานอย่างมาก  ทำให้ไม่แปลกใจเลยที่ช่วงเวลาสะตอออกใหม่ๆ  การซื้อ-ขาย  สะตอ ราคาของสะตอยอดฮิตถึงได้พุ่งสูงขึ้นไป แทบจะเรียกว่า “นับเม็ดขาย” กันเลยทีเดียว   หากอยากกินแต่มีอาการโรคทรัพย์จางก็จำต้องรอจนกระทั่งช่วงเข้าฤดูที่สะตอออกชุกจัดๆ เหมือนกับผลิตผลทางการเกษตรทั่วๆ ไปนั่นแหละราคาจึงค่อยๆ ลดลงมาตามหลักอุปสงค์-อุปทาน  ครั้นพอสะตอราคาถูกถูกมากๆ เข้าก็เตรียมตั้งน้ำต้มเกลือดองสะตอเก็บไว้กินยามอยากตอนหายากกันอีกที ฉันยังจำได้อีกว่า คราวแรกที่เอาสะตอกลับมาฝากแม่ที่บ้าน  และบอกแม่ว่าอยากกินผัดสะตอ  แม่ก็รับสะตอไป พยักหน้า ไม่ว่าอะไรตามนิสัยคนไม่พูด แต่พร้อมจะจัดให้ตามรีเควสท    จนกระทั่งตกค่ำแม่เรียกกินข้าวนั่นแหละ  ฉันจึงได้รู้จักกับผัดสะตอที่แปลกไปจากที่คาดว่าจะได้กินในตอนแรก แต่ไม่แปลกไปจากความคุ้นชินจากการนั่งกินข้าวในครัวกับแม่ สะตอกุ้งของแม่ หน้าตาดูคล้ายกับถั่วฝักยาวผัดพริกแกง  เมนูประจำบ้านจานโปรดที่แม่มักผัดกินเองอยู่บ่อยๆ  ไปซะงั้น มื้อค่ำวันนั้นฉันเลยได้นั่งโม้เรื่องสะตอที่ฉันเคยไปเจอไปกินในถิ่นปักษ์ใต้ และที่อีสานให้แม่ฟังได้เป็นคุ้งเป็นแคว ถึงตอนนี้  ที่ฉันกลับมาอยู่กับแม่ยามวัยชรา อยู่โยงแต่กับบ้าน  ทำงานหากินอยู่แต่แถวๆ บ้าน  และไปไหนไกลเกินกว่าการ ไป-กลับ ภายใน 1 วันโดยไปค้างที่ไหนไม่ได้  ฉันว่ากินสะตอแล้วอาการกำเริบอยากจะไปเที่ยวอย่างสมัยเรียน และทำงานใหม่ๆ กะเขามั่งเหมือนกัน มันก็อย่างนี้แหละเพื่อนเอ๋ย ... ฉันรำพึงก่อนจะเลื่อนเม้าท์ผ่านข้อความของเพื่อนไปเฉยๆ ซะงั้น   สะตอผัดกุ้ง สะตอผัดกุ้งสดจานนี้  เหลือกินมาจากน้ำพริกกะปิกับสะตอสด  ที่ฉันชอบกินเม็ดสดๆ ที่มีเปลือกหุ้มรสฝาดด้วย  เพื่อนคนใต้บอกฉันว่ามันช่วยดับกลิ่นแรงๆ ของสะตอ แต่ฉันชอบรสฝาดที่เปลือกของมันมากกว่าจะกังวลกับกลิ่นค้างตัวหลังกิน ส่วนประกอบที่ใช้ มีน้ำพริกกะปิก้นถ้วยที่เหลือ 2 – 3 ช้อนโต๊ะ  , น้ำมันถั่วเหลือง 2 ช้อนโต๊ะ , สะตอสดแกะเอาแต่เม็ด  1 ถ้วย ,  กุ้งสดแกะเปลือกผ่าหลังดึงเอาเส้นดำออกแล้วล้างสะอาด 7 – 8 ตัว , น้ำสะอาดนิดหน่อย วิธีทำ ตั้งกระทะไฟแรง ใส่น้ำมันรอให้ร้อนจัดจึงตักน้ำพริกลงไปผัด ใส่กุ้ง ผัดจนกุ้งเริ่มสุกตัวขาว จึงใส่สะตอ พลิกตะหลิวไวๆ เติมน้ำให้พอขลุกขลิก แล้วดับไฟตักเสิร์ฟ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point