ฉบับที่ 227 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2563

สมอ.ปรับแก้มาตรฐานคุมสารทาเลตในของเล่นเด็ก        สมอ. แก้ไขมาตรฐานของเล่น เพิ่มการตรวจหาสารทาเลตและคุมเข้มปริมาณสารโลหะหนัก พร้อมเตรียมกำหนดมาตรฐานเพิ่มอีก เครื่องเล่นสนามสาธารณะ ชิงช้า กระดานลื่น ม้าหมุน และอุปกรณ์โยก         นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) กล่าวว่า สมอ. ได้ดำเนินการปรับแก้ไขมาตรฐานของเล่นให้มีความทันสมัย ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบัน  เพื่อป้องกันอันตราย หรือผลกระทบทางสุขภาพที่อาจเกิดขึ้นจากการเล่น รวมทั้งยกระดับอุตสาหกรรมของเล่นของไทยให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากปัจจุบันของเล่นเด็กมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบและวัสดุที่ใช้ทำ ทั้งนี้ มาตรฐานของเล่น มอก. 685-2540 ได้ปรับแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้ใช้งาน เช่น เพิ่มการตรวจสอบหาสารทาเลตซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งชนิดหนึ่ง ใช้ในกระบวนการผลิตพลาสติกในกลุ่มพีวีซีเพื่อให้เนื้อพลาสติกมีความอ่อนตัว สมอ.ต้องควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายตามมาตรฐานสากล ซึ่งเดิมไม่ได้มีการกำหนดไว้ โดยมีเกณฑ์ควบคุมปริมาณของสารทาเลตสำหรับของเล่นเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบและของเล่นที่สามารถนำเข้าปากได้ ต้องไม่เกิน 0.1% โดยมวล และแก้ไขการตรวจหาสารโลหะหนัก ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ของเล่นที่มีการสัมผัสโดยตรงให้เข้มข้นขึ้น เช่น ฟิงเกอร์เพนต์ ซึ่งเป็นสีน้ำที่เด็กใช้มือสัมผัสโดยตรง ปริมาณสารตะกั่วต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมต้องไม่เกิน 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม หรือสารหนูต้องไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จากเดิมกำหนดเกณฑ์สูงสุดมีได้ไม่เกิน 25 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เป็นต้น ซึ่งคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (กมอ.) ได้เห็นชอบมาตรฐานดังกล่าวแล้ว คาดว่าจะประกาศบังคับใช้ประมาณต้นปี 2563          นักวิจัย มช. พบการใช้ยาปฏิชีวนะในสวนส้ม         รศ.ดร.ภญ.บุษบัน ศิริธัญญาลักษณ์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวหน้าโครงการผลของยาปฏิชีวนะต่อการตกค้างในผลิตภัณฑ์จากส้มเขียวหวานสำหรับการผลิตอย่างแม่นยำ ลุ่มน้ำฝาง จ.เชียงใหม่ ซึ่งติดตามปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะแอมพิซิลลินของเกษตรกรสวนส้มเขียวหวาน โดยเกษตรกรใช้เพื่อแก้ปัญหาโรครากโคนเน่า ทั้งนี้แอมพิซิลลินเป็นยาปฏิชีวนะที่ใช้ในคน แต่เกษตรกรจะหาซื้อตามร้านขายยาในรูปแบบแคปซูล และนำมาผสมน้ำฉีดพ่นเพื่อป้องกันแบคทีเรียในต้นส้ม          โดยผลการศึกษาในสวนส้ม 3 แห่งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ พบว่า ยังคงตรวจพบปริมาณสารปฏิชีวนะในลำต้นส้มในช่วง 90 วัน หลังฉีดสารปฏิชีวนะ ซึ่งแม้ว่ามีการตกค้างของยาปฏิชีวนะในผลส้มในปริมาณที่ถือว่าน้อยมาก แต่แสดงให้เห็นว่ามีการตกค้างอยู่ในผลส้มจริง นอกจากนี้ยังพบว่า สวนส้มที่ใช้ยาปฏิชีวนะมาเป็นเวลานานมีความหลากหลายของเชื้อแบคทีเรียในดินน้อยมาก และยังพบเชื้อดื้อสารปฏิชีวนะในปริมาณสูงอีกด้วย         ข่าวปลอม ซึมเศร้า NCD เรื่องน่าห่วงสุขภาพคนไทย         สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่ายจัดเวที Thaihealth Watch จับตาประเด็นพฤติกรรมสุขภาพคนไทย ปี 2563 ในกลุ่มเด็กและเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ ซึ่งประเด็นที่น่าจับตาในกลุ่มเด็กและเยาวชน คือ ปัญหาความเครียด ภาวะซึมเศร้า ภัยคุกคามทางออนไลน์ อุบัติเหตุทางคมนาคม และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์        โดยพบว่าสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเครียดเป็นอันดับ 1 มาจากปัญหาครอบครัว ตามด้วยเรื่องหน้าที่การงาน การถูกกลั่นแกล้ง และความรุนแรง ส่วนปัญหาภัยคุกคามทางออนไลน์ ซึ่งผลวิจัยพบว่า เด็กที่ใช้เวลากับโลกออนไลน์มาก ยิ่งเสี่ยงต่อการถูกกลั่นแกล้งและเป็นผู้กลั่นแกล้งทางออนไลน์ถึง 3 เท่า ส่วนปัญหาอุบัติเหตุทางคมนาคม พบว่ากลุ่มวัยรุ่นมีแนวโน้มใส่หมวกกันน็อกลดลง และพบการบาดเจ็บและเสียชีวิตในกลุ่มเยาวชนจากมอเตอร์ไซค์ และแม้อัตราการคลอดของแม่วัยรุ่นลดลง แต่อัตราการติดโรคทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าตัว โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสและหนองใน         สำหรับประเด็นพฤติกรรมสุขภาพที่น่าเป็นห่วงในกลุ่มวัยทำงาน คือ โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากพฤติกรรมการกิน หรือ โรคในกลุ่ม NCDs เช่น โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน หัวใจขาดเลือด จากผลการสำรวจพบว่ากลุ่มคนวัยทำงานเน้นการบริโภคอาหารรสจัด และเน้นที่รูปลักษณ์ ขณะที่เด็ก คนโสด คนทำงานบริษัทกินผักน้อยที่สุด         นอกจากนี้ยังพบ ปัญหาข่าวปลอม หรือ fake news เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพที่มีการแชร์กันมาก เช่น อังกาบหนูรักษามะเร็ง, น้ำมันกัญชารักษามะเร็ง, หนานเฉาเว่ยสารพัดโรค, บัตรพลังงานรักษาสารพัดโรค และปัญหาฝุ่น PM 2.5 รวมไปถึงปัญหาขยะอาหาร หรือ อาหารส่วนเกินอีกด้วย          ธปท. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน ด้วยมาตรการปรับ “ดอกเบี้ย - ค่าธรรมเนียม”                ธนาคารแห่งประเทศไทยมอบนโยบายให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 3 เรื่อง ได้แก่          1) ค่าปรับการไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด สำหรับสินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งมีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยให้คิดค่าปรับบนยอดเงินต้นคงเหลือ จากเดิมที่คิดค่าปรับจากฐานวงเงินสินเชื่อทั้งก้อน และให้กำหนดช่วงระยะเวลาที่จะยกเว้นการเรียกเก็บค่าปรับการไถ่ถอน          2) ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ สำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SME และสินเชื่อส่วนบุคคล ที่มีลักษณะการผ่อนชำระเป็นงวด โดยกำหนดให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้บนค่างวดที่ลูกหนี้ผิดนัดชำระ เฉพาะส่วนที่เป็นเงินต้นของค่างวดนั้น โดยให้สถาบันการเงินกำหนดช่วงระยะเวลาการผ่อนผันไม่คิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ในกรณีที่ลูกหนี้อาจมีเหตุสุดวิสัยที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด รวมถึงให้ชี้แจงแสดงรายละเอียดดอกเบี้ยผิดนัดชำระ หรือ ค่าธรรมเนียมทวงถามหนี้ ให้ชัดเจน          3) ค่าธรรมเนียมบัตรเอทีเอ็มหรือบัตรเดบิต กรณีผู้ใช้บริการยกเลิกการใช้บัตร ให้คืนค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนระยะเวลาคงเหลือของบัตรให้ผู้ใช้บริการ และการให้ยกเว้นการเก็บค่าธรรมเนียมในการออกบัตรหรือรหัสบัตรทดแทน หรือให้พิจารณาจัดเก็บตามความเหมาะสม        นอกจากนี้ ธปท.ยังขอให้ผู้ให้บริการนำหลักการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียม 4 เรื่องไปปรับใช้ ได้แก่ 1) สะท้อนต้นทุนจริงจากการให้บริการ 2) คำนึงถึงความสามารถในการชำระและไม่เป็นภาระต่อผู้ใช้บริการจนเกินสมควร 3) ไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน และ 4) เปิดเผยอัตราค่าธรรมเนียมอย่างชัดเจน              มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยื่นเรื่อง กมธ.คุ้มครองผู้บริโภค ตรวสอบการต่อสัมปทานทางด่วนให้ BEM         มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับ สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการทางพิเศษแห่งประเทศไทย ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และภาคประชาชน เข้ายื่นหนังสือต่อประธานคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค สภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ตรวจสอบการต่ออายุสัญญาสัมปทานระยะที่ 2 ของคณะกรรมการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)  ให้กับ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM)         โดยมูลนิธิฯ และเครือข่ายฯ ได้ให้เหตุผลว่า การต่ออายุสัมปทานดังกล่าว อาจก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 แสนล้านบาท และอาจส่งผลให้ผู้บริโภคต้องเสียประโยชน์โดยการจ่ายค่าผ่านทางแพงขึ้นจนถึงปี 2578 อีกทั้งยังพบว่า กระบวนการต่ออายุสัมปทานมีการอ้างอิงมูลค่าความเสียหายจากคดีที่ยังไม่มีการฟ้องร้องขึ้นจริงมาคิดเป็นมูลค่าความเสียหายประกอบการตัดสินใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง

อ่านเพิ่มเติม >