ฉบับที่ 236 เผยผลสำรวจคนกทม 33.7 เปอร์เซ็นต์ เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย

        นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,121 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 1 - 7 ตุลาคม 2563 กลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่า ประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง        ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้เรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า เนื่องจากในปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ประกอบกับการที่มีการขายสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพ มาตรฐาน การตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่จะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 การขายสินค้าที่ฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าที่ไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ในส่วนของการตรวจสอบนั้นสามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ และเครื่องหมายบนสลากสินค้านั้นมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าอย่างไร ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อเรื่องความรู้ความเข้าใจของเครื่องหมายบนสลากสินค้า โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าจะต้องมีรายละเอียดประกอบด้วย ชื่อประเภทสินค้าชื่อผู้ผลิต ผู้สั่งหรือนำเข้า สถานประกอบการ วันเดือนปีที่ผลิต กรณีนำเข้าต้องระบุประเทศที่ผลิต ขนาดของสินค้า วิธีใช้ ข้อแนะนำในการใช้ คำเตือน และราคาสินค้าไว้บนฉลากหรือภาชนะหีบห่อที่บรรจุ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 ร้อยละ 76 และทราบว่าฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าถ้าไม่ถูกต้องและมีการปลอมแปลงมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ร้อยละ 55.8             เคยมีการค้นหาความหมายของตราสัญลักษณ์ต่างๆ ที่อยู่บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 50 ในส่วนของการเลือกซื้อสินค้าได้มีการตรวจสอบฉลากผลิตภัณฑ์ของสินค้าในส่วนของผู้ผลิต ราคา วันผลิต วันหมดอายุ ร้อยละ 82.8 และทราบว่าเครื่องหมาย อย. ย่อมาจากสํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ร้อยละ 83.7             กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 81.5 ผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย อย. มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 74.9 และ จะไม่เลือกซื้อสินค้า หากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย อย. บนฉลากผลิตภัณฑ์ ร้อยละ 46.9             ไม่เคยมีการตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th ร้อยละ 46.6 ทราบว่า สามารถตรวจสอบหมายเลข อย. ของสินค้าทาง www.fda.moph.go.th  ร้อยละ 47.5 และทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทอาหาร หมายเลข อย. จะมีตัวเลข 13 หลัก ร้อยละ 61.4            กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าความหมายของตัวเลขที่ระบุในหมายเลข อย. ร้อยละ 44.5 ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จะมีเลขที่ใบรับแจ้งโดยมีตัวเลข 10 หลัก ร้อยละ 46 และไม่ทราบว่าผลิตภัณฑ์ประเภทยา ยา ทั้งยาแผนปัจจุบัน ยาแผนไทย หรือยาแผนโบราณ จะมีเลขทะเบียนตำรับยาแสดงบนฉลากเช่น ทะเบียนยาเลขที่ G XXX/XX ร้อยละ 40.5             ในส่วนของเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ทราบว่าเครื่องหมาย มอก. ย่อมาจากมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ร้อยละ 66.3 คิดว่าผลิตภัณฑ์ที่มีเครื่องหมาย มอก. แสดงว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีความปลอดภัย ร้อยละ 69.7 เครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า ร้อยละ 61.3 และหากพบสินค้าไม่มีเครื่องหมาย มอก. บนฉลากผลิตภัณฑ์ มีผลต่อการจะตัดสินใจซื้อ ร้อยละ 48.3

อ่านเพิ่มเติม >