ฉลาดซื้อ เผยผลทดสอบ ‘สารกันบูด – ปริมาณไขมัน’ ในน้ำสลัดครีม แนะควรเลือกแบบไขมันต่ำ เพื่อไม่ให้ไขมันต่อวันเกิน

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูดและปริมาณไขมันในสลัดครีม 17 ตัวอย่าง พบสารกันบูดเกินเกณฑ์มาตรฐาน 1 ตัวอย่าง และมีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากผลิตภัณฑ์ทุกยี่ห้อ แนะผู้บริโภคอ่านข้อมูลการใช้วัตถุกันเสีย ปริมาณโซเดียมและไขมัน ฉลาดซื้อแนะควรดูปริมาณไขมันก่อนรับประทาน         วันนี้ (5 ต.ค.63) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบปริมาณวัตถุกันเสีย และปริมาณไขมัน ในผลิตภัณฑ์สลัดครีม 17 ตัวอย่าง ที่สุ่มเก็บจากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าทั่วไปใน กทม.         โดยจากผลตรวจปริมาณไขมันในผลิตภัณฑ์สลัดครีม พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) น้อยที่สุด ได้แก่ อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด (American Classic Ranch)  ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 2.34 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม และ ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) มากที่สุด ได้แก่ สลัดครีม คิวพี ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 48.33 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม         ในขณะเดียวกัน มีผลิตภัณฑ์สลัดครีม 1 ตัวอย่าง ที่ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกันเกินเกณฑ์มาตรฐาน ได้แก่ อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด (American Classic Ranch) ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ 664.14  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ปริมาณกรดซอร์บิก เท่ากับ 569.47 มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมปริมาณวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด เท่ากับ 1,233.61 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ชนิดละไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน หากการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         น้ำสลัดสูตรดั้งเดิมรวมถึงที่ปรับเป็นสไตล์ญี่ปุ่นจะมีความอร่อยทั้งเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม สูตรที่มีความดั้งเดิมสูงจึงมีไขมันในปริมาณสูง ทั้งนี้ การบริโภคสูตรที่มีปริมาณไขมันสูงที่สุดคราวหนึ่งจะได้รับไขมันถึงประมาณ 15 กรัม คิดร้อยละ 69 ของไขมันที่ควรกินไม่เกินในมื้อนั้น ซึ่งก็คงต้องระมัดระวังไขมันจากอาหารอื่นในมื้อนั้นไม่ให้สูงมาก ดังนั้น การเลือกกินสูตรที่ปริมาณไขมันต่ำกว่า ย่อมให้โอกาสกินอาหารอย่างอื่นได้มากขึ้น อย่างไรก้ตาม บนฉลากน้ำสลัดส่วนใหญ่ระบุว่าใช้น้ำมันถั่วเหลืองทำให้ตัดข้อกังวลเรื่องไขมันอิ่มตัวที่อาจได้รับมากเกินไปได้         ทั้งนี้ การเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม นอกจากรสชาติที่ชื่นชอบแล้ว ผู้บริโภคอาจพิจารณาข้อมูลบนฉลากเพิ่มเติม เช่น ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุกันเสียเลย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงที่แนะนำของน้ำสลัดประเภทต่าง ๆ อยู่ที่ 30 กรัม โดยผู้บริโภคสามารถอ่านผลทดสอบฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์นิตยสารฉลาดซื้อ https://www.chaladsue.com/article/3452

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 232 สารกันบูดและปริมาณไขมัน ในสลัดครีม

        สลัดผักอาจถูกเลือกเป็นอาหารเย็นมื้อเบาๆ โดยเฉพาะผู้ที่อยากควบคุมน้ำหนักและสายรักสุขภาพ ผักสดหลากสีสันให้วิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกาย ส่วนน้ำสลัดในห้างสรรพสินค้าก็มีให้เราเลือกซื้ออยู่มากมายหลายรูปแบบ ทั้งน้ำสลัดแบบอิตาเลียน ฝรั่งเศส บัลซามิค ซีซาร์ เทาซันไอร์แลนด์ หรือจะเป็นน้ำสลัดงาสไตล์ญี่ปุ่น แต่ที่ดูคลาสสิคที่สุดก็คงหนีไม่พ้น ‘สลัดครีม’ ที่มีเนื้อครีมเข้มข้นหอมมัน เป็นน้ำสลัดขวัญใจผู้บริโภคชนิดยืนพื้นที่ใครๆ ก็น่าจะรู้จักกันเป็นอย่างดี นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงเลือกสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม จำนวน 17 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและห้างสรรพสินค้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ส่งตรวจวิเคราะห์ปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) กรดซอร์บิก (Sorbic acid) และปริมาณไขมันเพื่อเอาใจผู้บริโภคสายผักที่รักสุขภาพสรุปผลการทดสอบ·      ผลทดสอบปริมาณไขมันในผลิตภัณฑ์สลัดครีม         พบว่า ตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) น้อยที่สุด ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 2.34 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม และตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่มีปริมาณไขมันทั้งหมด (ต่อน้ำสลัด 100 กรัม) มากที่สุด ได้แก่ สลัดครีม คิวพี จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน ตรวจพบปริมาณไขมันทั้งหมด เท่ากับ 48.33 กรัม ต่อน้ำสลัด 100 กรัม ·      ผลการตรวจวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก        จากผลการทดสอบ พบว่า มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีม จำนวน 4 ตัวอย่าง ที่ตรวจไม่พบสารกันบูดทั้งสองชนิดเลย ได้แก่        1) Heinz ไฮนซ์ สลัดครีม สูตรต้นตำรับ จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน        2) EZY FRESH อีซี่เฟรช น้ำสลัดครีม  จาก 7-Eleven สาขาสยามอินเตอร์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ         3) สุขุม สลัดครีม  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอนและ  4) สลัดครีม คิวพี  จาก กูร์เมต์ มาร์เก็ต สาขาสยามพารากอน         ส่วนตัวอย่างผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบปริมาณวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิกและกรดซอร์บิก รวมกัน เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ American Classic Ranch อเมริกัน คลาสสิค แรนส์ น้ำสลัด ตรวจพบปริมาณกรดเบนโซอิก เท่ากับ   664.14  มิลลิกรัม/กิโลกรัม และตรวจพบปริมาณกรดซอร์บิก   เท่ากับ 569.47  มิลลิกรัม/กิโลกรัม รวมปริมาณวัตถุกันเสียทั้งสองชนิด เท่ากับ  1,233.61  มิลลิกรัม/กิโลกรัม         ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 389 พ.ศ. 2561 เรื่อง วัตถุเจือปนอาหาร (ฉบับที่ 5) ได้กำหนดในบัญชีแนบท้ายประกาศฯ อนุญาตให้ตรวจพบปริมาณสูงสุดของวัตถุกันเสียประเภทกรดเบนโซอิก (Benzoic acid) และ กรดซอร์บิก (Sorbic acid) ชนิดละไม่เกิน 1000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ในหมวดอาหารประเภทซอสและผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน หากการใช้วัตถุเจือปนอาหารที่มีการกำหนดปริมาณสูงสุดที่อนุญาตเป็นตัวเลขในกลุ่มหน้าที่เดียวกันรวมกันตั้งแต่สองชนิดขึ้นไป จะต้องมีผลรวมของสัดส่วนของปริมาณการใช้วัตถุเจือปนอาหารต่อปริมาณสูงสุดที่อนุญาตของวัตถุเจือปนอาหารแต่ละชนิดไม่เกินหนึ่ง         ข้อสังเกตสำคัญ จากผลการสำรวจฉลากพบว่า ผลิตภัณฑ์สลัดครีมที่ตรวจพบวัตถุกันเสีย มีการแสดงข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียบนฉลากให้ผู้บริโภคทราบทุกตัวอย่าง ซึ่งเป็นข้อมูลที่ดีต่อการตัดสินใจของผู้บริโภค ข้อแนะนำ        ในการเลือกผลิตภัณฑ์ประเภทสลัดครีม นอกจากรสชาติที่ชื่นชอบแล้ว ผู้บริโภคอาจพิจารณาจากข้อมูลบนฉลากเพิ่มเติม เช่น ปริมาณโซเดียมต่อหนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำ ข้อมูลการใช้วัตถุกันเสียว่ามีการใช้วัตถุกันเสียหรือไม่ หรือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช้วัตถุกันเสียเลย เพื่อประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อ ซึ่งหน่วยบริโภคอ้างอิงที่แนะนำของน้ำสลัดประเภทต่างๆ อยู่ที่ 30 กรัม

อ่านเพิ่มเติม >