ฉบับที่ 239 อายุความ เรียกค่าสร้างบ้าน

สวัสดีครับฉบับนี้อยากหยิบยกปัญหาใกล้ตัวเราทุกคนเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่อาศัย หลายท่านคงฝันว่าอยากจะมีบ้านสักหลังเป็นของตนเอง แต่ท่านทราบหรือไม่  ในเรื่องการก่อสร้างบ้าน กฎหมายได้กำหนดอายุความไว้หลากหลาย เช่น อายุความเรียกค่าจ้างทำของ กำหนดไว้ 2 ปีนับแต่รับมอบงาน แต่มีข้อสังเกตว่า อายุความ 2 ปีนี้ ใช้กับคู่สัญญาที่ฝ่ายผู้ว่าจ้างเป็นคนธรรมดาที่ว่าจ้างให้สร้างบ้าน หรือเรียกว่าจ้างสร้างเป็นการส่วนตัว         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 917/2534         การฟ้องเรียกค่าจ้างทำของตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165 มีกำหนดอายุความ2 ปี นับแต่วันรับมอบงาน โจทก์สร้างบ้านและรั้วพิพาทเสร็จส่งมอบให้จำเลยเมื่อเดือนตุลาคม 2526 และจำเลยได้เข้าไปอยู่ในบ้านพิพาทเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2526 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ส่วนที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเอาไม้แบบพิพาทของโจทก์ไปทำสะพานทางเดินและเรียกทรัพย์หรือราคาทรัพย์ดังกล่าวคืนนั้นเป็นการที่โจทก์ใช้สิทธิติดตามเรียกเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 ซึ่งไม่มีอายุความบัญญัติห้ามไว้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8032/2556         จำเลยว่าจ้างโจทก์ให้ต่อเติมโครงหลังคาเหล็กโรงสีข้าวของจำเลยโดยจ้างเหมาค่าแรงต่อตารางเมตร  โจทก์เป็นฝ่ายจัดหาเครื่องมือสำหรับใช้ในการทำงาน ส่วนจำเลยเป็นฝ่ายจัดหาสัมภาระ  การทำงานของโจทก์จึงเป็นการรับเหมาก่อสร้าง เป็นลักษณะของการรับจ้างทำของชนิดหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  มาตรา 587 แม้โจทก์ลงมือทำงานด้วยก็หาทำให้โจทก์เป็นช่างฝีมือตามมาตรา 193/34 (1) ไม่ ความรับผิดของผู้ว่าจ้างจึงไม่อยู่ในอายุความ 5 ปี ตามมาตรา 193/33 (5) โจทก์ฟ้องเรียกเอาคาจ้างจากผู้ว่าจ้าง จึงเป็นผู้ประกอบธุรกิจรับทำการงานเรียกเอาสินจ้างอันจะพึงได้รับจากการนั้นต้องเรียกร้องเอาภายใน 2 ปี นับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตามมาตรา 193/34 (7) โจทก์ส่งมอบงานก่อสร้างประมาณเดือนมีนาคม 2545 และจำเลย  ชำระค่าจ้างครั้งสุดท้ายวันที่ 17 พฤษภาคม 2545 อายุความถึงเริ่มนับใหม่ตั้งแต่วันที่จำเลยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายตามมาตรา193/14 (1) ประกอบมาตรา 193/15 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อพ้นกำหนด 2 ปีแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ         แต่ถ้าฝ่ายผู้ว่าจ้างทำโครงการก่อสร้างบ้านพักอาศัย เช่น พวกบ้านจัดสรร และว่าจ้างผู้รับจ้างทำการรับเหมาก่อสร้างบ้านตามแบบแปลนของผู้ว่าจ้าง เช่นนี้ ต้องใช้อายุความ 5 ปี ในการฟ้องร้องเรียกสินจ้าง          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9931/2552         คดีนี้โจทก์และจำเลยต่างเป็นผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้าง จำเลยรับจ้างก่อสร้างถนนและสะพานจากกรมทางหลวงแล้วจำเลยนำงานก่อสร้างสะพานไปว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอีกต่อหนึ่ง งานก่อสร้างสะพานเป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของจำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างจากกรมทางหลวงอยู่ด้วย กรณีจึงเป็นเรื่องที่โจทก์ผู้ประกอบการค้ารับจ้างก่อสร้างเรียกเอาค่างานที่ได้ทำให้แก่จำเลยเพื่อกิจการของจำเลย เข้าข้อยกเว้นไม่อยู่ในบังคับอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) ตอนท้ายที่ว่า เว้นแต่เป็นการที่ได้ทำเพื่อกิจการของฝ่ายลูกหนี้นั้นเอง อายุความสิทธิเรียกร้องของโจทก์ย่อมมีกำหนด 5 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/33 (5)          อายุความเป็นอีกเรื่องที่สำคัญที่เราต้องรู้เพื่อจะได้ใช้สิทธิเรียกร้องของเราได้ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด  เช่นในเรื่องนี้ หากจะเรียกค่าจ้างก่อสร้างบ้าน กรณีสร้างแบบส่วนตัว ก็ต้องใช้สิทธิฟ้องภายใน 2 ปี หรือหากเป็นบ้านโครงการก็ต้องฟ้องภายใน 5 ปีครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 137 กระแสในประเทศ

เหตุการณ์เดือนมิถุนายน 2555 สคบ.เตรียมคุมเข้มธุรกิจรับสร้างบ้าน ธุรกิจสร้างบ้าน ถือเป็นหนึ่งในปัญหาปวดใจของผู้บริโภคยุคนี้ วัดได้จากข้อมูลสถิติการร้องเรียนของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) ที่สูงสูสีพอๆ กับปริมาณหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดที่เกิดขึ้นเต็มเมืองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา สคบ. จึงเตรียมผลักดันให้ธุรกิจสร้างบ้านเป็นธุรกิจควบคุมสัญญา สาเหตุที่ทำให้ผู้บริโภคต้องเจอกับปัญหาสั่งสร้างบ้านแล้วไม่ได้บ้านอย่างหวัง หรือได้บ้านแต่เป็นบ้านที่ไม่มีคุณภาพ มาจากธุรกิจรับสร้างบ้านยังไม่มีสัญญาควบคุมอย่างเป็นมาตรฐาน แม้มีหน่วยงานอย่างสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านที่มีสัญญากลางไว้ช่วยกำกับดูแล แต่ปัญหาผู้รับเหมาผิดสัญญาผู้ซื้อบ้านก็ยังก็เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ จึงถือเป็นภารกิจเร่งด่วนของ สคบ. ที่ต้องรีบจัดทำสัญญามาตรฐานธุรกิจรับสร้างบ้านเพื่อเป็นการป้องปรามไม่ให้ผู้รับเหมาก่อสร้างกระทำผิดหรือหาช่องละเมิดผู้บริโภค และช่วยให้มีเกณฑ์ไว้เป็นมาตรฐานก่อนการตัดสินใจเลือกซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมา โดยทาง สคบ. ตั้งใจดำเนินการเรื่องการควบคุมสัญญาให้เสร็จภายในสิ้นปีนี้   คำแนะนำสำหรับผู้ที่กำลังคิดจะซื้อบ้านหรือว่าจ้างผู้รับเหมามาสร้างบ้านให้ อันดับแรกควรศึกษาประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผู้ประกอบธุรกิจ ว่ามีความน่าเชื่อถือแค่ไหน และอย่าลืมตรวจสัญญาให้ดีว่ามีความเป็นธรรมหรือไม่ ให้แน่ใจว่าจะไม่ถูกเอาเปรียบก่อนที่จะเซ็นสัญญา หรือหากมีข้อข้องใจเรื่องการทำสัญญาสามารถขอคำแนะนำได้ที่ สคบ. โดยกองคุ้มครองผู้บริโภคด้านสัญญา โทร. 02-629-7065-66 ----------------------------------------------------------- สัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก สถาบันคุ้มครองเงินฝาก หรือ สคฝ. ได้ออกข้อบังคับให้ต่อนี้ไป ธนาคารต่างๆ ต้องแสดงข้อความ ลงในผลิตภัณฑ์เงินฝากประเภทต่างๆ ที่ได้รับความคุ้มครองว่า “เงินฝากนี้ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในกฎหมาย” เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการคุ้มครองเงินฝากของผู้ที่มาใช้บริการ ให้ได้รับรู้สิทธิของตัวเอง ซึ่งการคุ้มครองเงินฝากถือเป็นสิทธิสำคัญของผู้ฝากเงินกรณีที่ธนาคารที่เราฝากเงินไว้ปิดกิจการ ตั้งแต่ 11 ส.ค. 55 นี้เป็นต้นไป จำนวนเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองจะอยู่ที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทเท่านั้น จากเดิมที่เคยคุ้มครองสูงถึง 50 ล้านบาท โดยประเภทของเงินฝากที่อยู่ในการคุ้มครองได้แก่ เงินฝากกระแสรายวัน ออมทรัพย์ ประจำ บัตรเงินฝาก และใบรับฝากเงิน เฉพาะที่เป็นเงินบาท เพราะฉะนั้นใครที่มีเงินฝากอยู่ในบัญชีเกิน 1 ล้านบาทก็อย่านิ่งนอนใจ ต้องมั่นติดตามข่าวสารสถานการณ์การเงินของธนาคารที่เราฝากเงินไว้อยู่เรื่อยๆ แต่อย่างน้อยๆ การที่ สคฝ. ออกมาตรการให้ธนาคารต้องแสดงสัญลักษณ์คุ้มครองเงินฝาก ก็เพื่อเป็นการสร้างความอุ่นใจให้กับผู้ฝากเงิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าสิทธิของเราจะได้รับการดูแล ใครที่มีปัญหาหรือสงสัยเรื่องการคุ้มครองเงินฝาก สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก www.dpa.or.th ----------------------------------------------------------------------- จัดระเบียบตลาดนัด ตลาดนัดกับคนไทยเป็นของคู่กัน เรียกว่าไปที่ไหนก็เจอ พูดได้เลยว่าตลาดนัดถือเป็นครัวหลักของคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศ เพราะเป็นแหล่งรวมของอาหารการกิน แต่หลายคนมีอคติกับตลาดนัดที่เรื่องความสกปรก กระทรวงสาธารณสุขจึงเตรียมจัดระเบียบตลาดนัดทั่วประเทศที่มีกว่า 10,000 แห่ง เพื่อยกระดับมาตรฐานเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยในอาหาร สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ตลาดนัดถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข พ.ศ.2535 ผู้ประกอบการตลาดนัดจะต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียนต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เช่น อบต. เทศบาล และต้องผ่านเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด 3 ประการได้แก่ 1.สถานที่สะอาด 2.อาหารที่วางขายต้องไม่มีสารปนเปื้อนอันตรายอย่างน้อย 6 ชนิด ได้แก่ สารบอแรกซ์ สารกันรา สารฟอร์มาลีน สารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง สารฟอกขาว และสารเร่งเนื้อแดง และ 3.ต้องมีการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น มีตาชั่งมาตรฐานเที่ยงตรง ราคายุติธรรม มีชุดตรวจสอบการปนเปื้อนทางเคมี ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขกำลังเร่งตรวจสอบตลาดนัดทั่วประเทศ เพื่อแจ้งให้ปรับปรุงตลาดให้เข้ากับเกณฑ์ที่กระทรวงตั้งไว้ เพื่อให้คนไทยได้ชิมช้อปกันอย่างปลอดภัย -----------------------------------------------------------------------------   กสทช.สั่งแบนมือถือ 280 รุ่น ถือเป็นเรื่องน่าตกใจ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ออกมาเปิดเผยว่าได้สั่งเพิกถอนในรับรองโทรศัพท์มือถือ 280 รุ่น จาก 27 บริษัท เนื่องจากตรวจพบว่ามีการปลอมแปลงเอกสารข้อมูลรายงานการทดสอบจากห้องปฏิบัติการในต่างประเทศ ซึ่งคำสั่งเพิกถอนนี้มีผลทำให้ห้ามมีการนำเข้าและจำหน่ายมือถือทั้ง 280 รุ่นต่อไป แม้มาตรการที่มีต่อผู้ประกอบการจะค่อนข้างชัดเจน คือการระงับการจำหน่ายสินค้าที่ถูกยกเลิกทะเบียน แต่ในมุมของผู้บริโภคกลับไม่มีมาตรการรับผิดชอบใดๆ โดย น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า โดยหลักการไม่มีหลักฐานว่าเครื่องไม่ได้มาตรฐานเพราะไม่ได้มีการพิสูจน์ เพียงแต่ผู้ขอใบอนุญาตในการนำเข้าใช้เอกสารปลอม หากมือถือที่ใช้อยู่ไม่เกิดปัญหาก็ยังสามารถใช้ได้ต่อไป เพียงแต่หากผู้บริโภคใช้โทรศัพท์ที่ถูกยกเลิกแล้วมีปัญหาก็สามารถฟ้องร้องเป็นกรณีไป ซึ่งโทรศัพท์มือถือที่มีปัญหาหลายๆ รุ่น ว่าขายมาตั้งแต่ 2 – 3 ปีก่อน คาดว่าน่าจะมีคนที่ซื้อไปใช้แล้วเป็นจำนวนมาก ใครที่อยากรู้ว่าโทรศัพท์มือถือที่ถูกสั่งห้ามจำหน่ายทั้ง 280 รุ่นมีรุ่นใดบ้าง สามารถสอบถามได้ที่ กสทช. Call Center 1200 ---------------------------------------------------------------------------- กินหน่อไม้ดิบ ระวังชีวิตดับ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เตือนอย่ากินหน่อไม้ดิบ เพราะอาจได้รับอันตรายจากพิษไซยาไนด์ในหน่อไม้ตามธรรมชาติ ถ้าได้รับในปริมาณมากอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หลายคนยังเข้าใจผิดว่าหน่อไม้บางสายพันธุ์สามารถกินดิบๆ ได้ ซึ่งความจริงถือเป็นเรื่องอันตราย เพราะตามธรรมชาติในหน่อไม้จะมีสารไซยาไนด์ ซึ่งเป็นสารที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วอาจส่งผลเสียต่อร่างกาย ถ้าหากได้รับในปริมาณไม่มากสารก็จะถูกขับออกทางปัสสาวะ แต่หากได้รับในปริมาณมากสารไซยาไนด์ก็จะไปจับตัวกับสารในเม็ดเลือดแดงแทนที่ออกซิเจน ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน ส่งผลให้หมดสติและอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นก่อนที่จะกินหน่อไม้ ต้องต้มให้สุกทุกครั้ง โดย นายมงคล เจนจิตติกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร แนะนำให้ต้มหน่อไม้ทิ้งไว้ในน้ำเดือดอย่างน้อย 10 นาที เพราะจะช่วยลดสารไซยาไนด์ที่อยู่ในหน่อไม้ได้ถึงร้อยละ 90.5 เลยทีเดียว

อ่านเพิ่มเติม >