ฉบับที่ 241 ขบวนการทัวร์ลง ชกตรงๆ ผลิตภัณฑ์ไม่ปลอดภัย

        ในแวดวงโลกโซเชียลจะมีศัพท์หนึ่งคือ “ทัวร์ลง” หมายถึงการที่ผู้คนต่างๆ ที่ใช้โซเชียล หันมาสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง และพร้อมใจกัน แสดงความคิดเห็น เปิดโปง หรือกดดันให้เป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนั้นต้องมีการเปลี่ยนแปลงดังที่เราเคยเห็นในแวดวงบันเทิง การเมือง ฯลฯ          “ทัวร์ลง” มันมีทั้งแง่ลบและแง่บวก ในแง่ลบ เช่น ไม่มีการตรวจสอบประเด็นดังกล่าวจนเกิดความเข้าใจผิด หรือบางทีเลยเถิด ขุดคุ้ย ด่าทอ จนเป้าหมายได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งที่ไม่ได้ก่อเรื่อง แต่ในแง่บวกมันก็มีประโยชน์เพราะจะเกิดพลังความร่วมมือในการแสวงหาข้อมูล แสดงความคิดเห็นและระดมกันกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกที่ควร         เมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเราคงได้เห็นกระแสทัวร์ลงพิธีกรสาวคนหนึ่งที่ไลฟ์สดโอ้อวดสรรพคุณสินค้าของตนเอง ตั้งแต่การมีผลเปลี่ยนโครงหน้าตนเองจนสวย  เลยเถิดไปถึงการป้องกันรักษาโควิด-19 ได้ ชาวโซเชียลในโลกไซเบอร์ เลยหันมาขุดคุ้ยหลักฐานการกระทำของเธอ แสดงความคิดเห็นวิพากษ์วิจารณ์ จนในที่สุดสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาต้องออกมารับลูกไปจัดการ        ปรากฎว่าชาวโซเชียลไม่ยอมหยุด มีประเด็นต่อเนื่องไปถึงถั่งเช่า ที่นักร้องลูกทุ่งคนหนึ่งโฆษณาขาย อ้างสรรพคุณต่างๆ อย่างเกินจริง จนมีคนเสียเงินไปซื้อหามาตามๆ กันมากมาย มีการขุดคุ้ยหลักฐานและโยงไปถึงบรรดาคนในวงการบันเทิงต่างๆ จนในที่สุดนักร้องลูกทุ่งรายนี้ก็ถูกดำเนินคดีไปแล้ว หลังจากนั้นไม่กี่วันโทรทัศน์ช่องหนึ่งนำเสนอข่าวจากทวิตเตอร์ ที่มีคนรายงานว่ามีการขายครีมหน้าขาวจากเขมรใส่กระปุก ไม่มีฉลากใดๆ สภาพคล้ายน้ำตาลมะพร้าว ถัดไปไม่กี่วันสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก็รายงานผลการจับกุมดำเนินคดีได้สำเร็จ         ผมจำได้ว่าทั้งสามเรื่องนี้ เคยมีเครือข่ายผู้บริโภคและเจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงาน พยายามดำเนินการมาแล้ว แต่ก็ไม่สำเร็จ อย่างกรณีถั่งเช่ามีข้อมูลทางวิชาการของอาจารย์มหาวิทยาลัยออกมาเตือนว่า มีผลต่อไตด้วย ส่วนครีมจากเขมร ผมก็เคยนำมาเตือนในคอลัมน์นี้เมื่อนานมาแล้วด้วยซ้ำ แต่กระแสก็ไม่เปรี้ยงเท่าตอนนี้ ผลิตภัณฑ์พวกนี้ก็เลยผลุบๆ โผล่ๆ        สำหรับกรณีทัวร์ลงที่เกิดขึ้นนี้ สะท้อนให้เห็นชัดเจนเลยว่า พลังของผู้บริโภคในโลกโซเชียลปัจจุบันมันมีอิทธิพลขนาดไหน ผู้คนที่มาร่วมมือกันจัด “ทัวร์ลง” เหล่าคนดังที่โฆษณาขายผลิตภัณฑ์อย่างไม่เหมาะสมต่างมาจากหลายวัย หลายอาชีพ หลายแหล่ง จนเกิดเป็นกระแสสังคมกระตุ้นและกดดันให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลุยจัดการอย่างทันที        ดังนั้นขอเชิญชวนให้พวกเราร่วมสร้างขบวนการ “ทัวร์ลง” อย่างมีประโยชน์ หากพบผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัย หรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม นอกจากแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ขอให้ช่วยกันนำเสนอในโซเชียลและเพื่อทำให้เกิดเป็นประเด็นดังๆ จะได้เกิดแรงกระเพื่อมให้มีการจัดการอย่างรวดเร็วเสียที เริ่มจากพวกคนดังในแวดวงบันเทิงเลยดีไหม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 190 รู้เท่าทันการกินดีหมี

มีการใช้อวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของสัตว์มาเป็นส่วนผสมของยาสมุนไพรตามตำรับดั้งเดิมแทบทุกประเทศ ไม่ว่าจะเป็นยาจีน ยาอายุรเวท และยาไทย ทำให้มีการล่าสัตว์ป่าในธรรมชาติจนบางอย่างใกล้จะสูญพันธุ์ เช่น ม้าน้ำ แรด เสือ เป็นต้น สัตว์บางอย่างถูกนำมาเพาะเลี้ยงขยายพันธุ์ เช่น กวาง ชะมดเชียง เป็นต้น แต่มีสัตว์ชนิดหนึ่งที่ถูกนำมาเลี้ยงอย่างทารุณเพียงเพื่อเอาน้ำดีมาทำเป็นยา นิยมมากในหมู่คนจีน เกาหลี และเวียดนาม เรามารู้เท่าทันดีหมีกันเถอะดีหมีมีอะไรดีน้ำดีและถุงน้ำดีของหมีเป็นสัตว์วัตถุในการแพทย์ดั้งเดิมของจีน กว่า 3,000 ปี การแพทย์แผนจีนใช้รักษา ไข้ นิ่วในถุงน้ำดี โรคหัวใจ และโรคตา สารสำคัญในน้ำดีของหมีได้แก่ กรดเออร์โซดีออกซีโคลิค (ursodeoxycholic acid/UDCA) และมีมากเป็นพิเศษในน้ำดีของหมีมากกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมชนิดอื่น น้ำดีจะถูกสร้างโดยตับและเก็บไว้ในถุงน้ำดี เมื่อน้ำดีถูกปล่อยออกไปในลำไส้เล็ก จะช่วยย่อยไขมัน กรดไขมัน UDCA จะช่วยควบคุมโคเลสเตอรอลโดยช่วยลดการดูดซึมของลำไส้ ดังนั้นทางการแพทย์จึงใช้กรดนี้ในการรักษานิ่วในถุงน้ำดีโดยไม่ต้องผ่าตัดหมีหนึ่งตัวจะผลิตน้ำดีที่ทำเป็นผงแห้งได้ 2 กก.ต่อปี น้ำดีของหมีซื้อขายกันในราคาสูง ในจีนขายราคา 14,350 บาทต่อหนึ่งกิโลกรัม ในญี่ปุ่น ถุงน้ำดีหมีป่า ขายราคา 115,500 บาทต่อกิโลกรัม ในเกาหลีใต้ ราคา 350,000 บาทต่อกิโลกรัม ปัจจุบันยังมีการใช้น้ำดีหมีในการผลิตเป็นแชมพู ไวน์ ชา ยาอมแก้เจ็บคอ อีด้วยจากการทบทวนของคอเครนพบว่า กรดเออร์โซดีออกซีโคลิคช่วยลดชีวเคมีในตับ ดีซ่าน และน้ำในช่องท้อง ยาเออร์โซไดออลเป็นยาที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกาขึ้นทะเบียนยาเพื่อรักษาโรคตับแข็งจากท่อน้ำดีปฐมภูมิ นอกจากนี้ใช้รักษาท่อน้ำดีอุดตันในผู้หญิงที่ตั้งครรภ์เพื่อบรรเทาอาการคันและลดการดูดซึมน้ำดีดีหมีกับโศกนาฏกรรมของหมีจากการที่ดีหมีมีราคาสูง ก่อให้เกิดธุรกิจการเลี้ยงหมีในฟาร์มเพื่อรีดน้ำดีจากหมีเหมือนกับการรีดนมวัว แพะ ควาย แต่วิธีการนั้นทารุณและไร้มนุษยธรรมอย่างยิ่ง ในประเทศจีน มีฟาร์มเลี้ยงหมีกว่า 400 ฟาร์ม หมีกว่า 10,000 ตัวถูกจับขังในกรงแคบๆ ขนาด 2.5 x 4.2 x 6.5 ฟุต จนหมีไม่สามารถหมุนตัวไปมา หรือแม้กระทั่งจะนั่งก็นั่งได้ไม่เต็มก้นการรีดน้ำดีหมีนั้นจะทำวันละ 2 ครั้ง มีการผ่าตัดฝังท่อยางหรือท่อเหล็กเข้าทางหน้าท้องของหมี ซึ่งไม่ได้ทำโดยสัตวแพทย์ ทำให้หมีกว่าครึ่งหนึ่งตายจากการติดเชื้อหรือโรคแทรกซ้อนอื่นๆ หมีที่รีดน้ำดีต้องมีอายุ 3 ปี และถูกดูดน้ำดีอย่างน้อย 5-10 ปี บางตัวที่ถูกช่วยชีวิตถูกรีดนานกว่า 20 ปี สภาพที่สกปรกในฟาร์มส่วนใหญ่ทำให้หมีต้องทรมานจากการติดเชื้อ หนอน และพยาธิ กล้ามเนื้อของหมีจะลีบ ขาดอาหาร เขี้ยวและฟันถูกถอนออก หมีบางตัวฆ่าตัวตายเพื่อหนีความทุกข์ทรมาน ในน้ำดีหมีอาจพบการปนเปื้อนของน้ำหนองจากการติดเชื้อสุขภาพต้องสมบูรณ์ทั้งกายและจิตมีความพยายามที่จะหาสิ่งอื่นมาทดแทนดีหมี ได้แก่ น้ำดีหมีเทียม สารสังเคราะห์ น้ำดีจากสัตว์อื่น และพืชสมุนไพร ซึ่งน้ำดีจากสัตว์อื่นโดยเฉพาะหมูมีสรรพคุณคล้ายน้ำดีหมีสรุป น้ำดีหมีมีสรรพคุณในการรักษาโรคต่างๆ ตามความเชื่อของการแพทย์จีนดั้งเดิม อย่างไรก็ตาม น้ำดีหมีนั้นได้มาจากความทุกข์ทรมานของหมีที่ถูกเลี้ยงอย่างไร้มนุษยธรรม จึงสมควรที่จะไม่ส่งเสริมการใช้หรือบริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 187 รู้เท่าทันสมุนไพรลดน้ำตาลในเลือด

มีการโฆษณาสมุนไพรเพื่อรักษาเบาหวานหรือช่วยลดน้ำตาลในเลือดจำนวนมากในเว็บไซต์ต่างๆ  บางรายโฆษณาการได้ขึ้นทะเบียน อย.  บางรายโฆษณาว่าสมุนไพรนั้นปลูกแบบเกษตรกรรมอินทรีย์ ได้รับรองมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศ  บางยี่ห้อก็ประกอบด้วยสมุนไพรหลายตัว โดยจับเอาสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการลดน้ำตาลมาใส่รวมกัน  เมื่อผู้อ่านไปค้นข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวก็จะพบว่าลดน้ำตาลได้  จึงเชื่อว่าสมุนไพรยี่ห้อนั้นมีสรรพคุณรักษาเบาหวานได้จริง  เรามารู้เท่าทันสมุนไพลดน้ำตาลกันเถอะการขึ้นทะเบียนอย. ถ้ามีการอ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นได้รับการขึ้นทะเบียนอย.  ขอให้เราอ่านให้ละเอียดว่าขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือไม่  หรือเป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  เพราะการจะขึ้นทะเบียนเป็นยาจากสมุนไพร หรือยาแผนปัจจุบันนั้น ต้องมีข้อมูลการศึกษาความเป็นพิษ มีการวิจัยตั้งแต่ในสัตว์ทดลอง ในมนุษย์ ว่ามีประสิทธิผลจริงๆ  จึงจะสามารถขึ้นทะเบียนเป็นยาได้  นอกจากนี้การสั่งจ่ายยานั้นต้องสั่งโดยแพทย์หรือไม่  เพราะยารักษาโรคเรื้อรังนั้นต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์  ไม่ใช่ซื้อได้ทั่วไป ยกเว้นเป็นยาสามัญประจำบ้านเท่านั้นยาสมุนไพรลดน้ำตาลยี่ห้อต่างๆ มักจะมีสัญลักษณ์ของอย.  แต่จะไม่กล่าวถึงรายละเอียดว่าขึ้นทะเบียนยาอะไร มีเลขทะเบียนยาอะไร  ทั้งนี้เพราะส่วนใหญ่ไม่มีการขึ้นทะเบียนเป็นยา เป็นแค่ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเท่านั้น  แต่การโฆษณาผลิตภัณฑ์นั้นจะโฆษณาเป็นยารักษาโรค  ซึ่งตามพ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 นั้น ไม่สามารถโฆษณายาทางสื่อสาธารณะ หรือโอ้อวดสรรพคุณยาการขึ้นทะเบียนมาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์ มาตรฐานเกษตรกรรมอินทรีย์เป็นหลักประกันว่าสมุนไพรนั้นไม่มีสารพิษตกค้างจากสารกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี  ไม่ได้เป็นหลักประกันว่า สมุนไพรยี่ห้อนั้นสามารถรักษาเบาหวานได้ ค้นคว้าข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัว เราควรค้นหาข้อมูลสมุนไพรแต่ละตัวว่ามีสรรพคุณและโทษอย่างไร  ข้อมูลที่ค้นง่ายและน่าเชื่อถือคือสำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล  เพราะจะกระชับ เที่ยงตรง น่าเชื่อถือ  เราอาจค้นเพิ่มเติมข้อมูลอื่นๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ  ตัวอย่างเช่นอบเชย มีรายงานการวิจัยทางคลินิกที่บ่งชี้ว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 โดยผู้ป่วยเบาหวานที่ได้รับผงอบเชยขนาด 1, 3 และ 6 ก./วัน นาน 40 วันหรือแคปซูลของสารสกัดน้ำจากอบเชย (เทียบเท่ากับอบเชยขนาด 3 ก./วัน) นาน 4 เดือน และอาสาสมัครที่มีค่าระดับน้ำตาลในเลือด (fasting blood glucose) ระหว่าง 100-125 มก./ดล. เมื่อรับประทานสารสกัดน้ำของอบเชย (Cinnulin PF®) ครั้งละ 2 แคปซูล (250 มก./แคปซูล) วันละ 2 ครั้ง (เทียบเท่ากับผงอบเชย 10 ก.) นาน 12 สัปดาห์ พบว่าค่าระดับน้ำตาลในเลือดลดลง โดยไม่พบอาการข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์สรุป อบเชยมีแนวโน้มที่อาจที่อาจมีประโยชน์ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 แต่เนื่องจากการศึกษาทางคลินิกยังมีน้อยและไม่ชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีการใช้ยาสำหรับรักษาโรคเบาหวานร่วมด้วย ดังนั้นจึงไม่แนะนำ ให้รับประทานเพื่อรักษาเบาหวานในขณะนี้ จนกว่าจะมีผลการวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดเพียงพอผักเชียงดา มีเพียงการทดลองในสัตว์ที่ระบุว่าผักเชียงดาและสารสกัดจากผักเชียงดา มีฤทธิ์ยับยั้งการดูดซึมน้ำตาลกลูโคสที่ลำไส้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการศึกษาในคนเพื่อยืนยันผลดังกล่าวโดยสรุปแล้ว เราต้องรู้ให้ทันกับการโฆษณาสมุนไพรลดน้ำตาลและลดเงินในกระเป๋าของเราว่า มีสรรพคุณเป็นยารักษาโรคได้จริงหรือไม่ ขึ้นทะเบียนเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  มีงานวิจัยยืนยันประสิทธิผลเพียงพอหรือยัง  เพื่อที่เราจะใช้สมุนไพรอย่างถูกต้องและได้ผล

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 180 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหวเดือนกุมภาพันธ์ 2559โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพโม้สรรพคุณระบาดหนัก เจอเพียบในวิทยุปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์หลอกลวงผู้บริโภคยังคงเป็นปัญหาที่แก้ยังไงก็ไม่หมดไปจากสังคมไทยสักที ล่าสุดเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้แถลงผลการดำเนินงานเฝ้าระวังโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายทั้งทางสื่อต่างๆ ในช่วงระยะเวลา 6 เดือน คือ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม – 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่ายังคงมีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายออกอากาศ เป็นจำนวนมาก จากการเฝ้าระวังพบว่ามีโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายที่เผยแพร่อยู่จำนวน 206 ผลิตภัณฑ์ โดยสื่อวิทยุชุมชนถือเป็นช่องทางหลักที่ผลิตภัณฑ์สุขภาพโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงใช้เป็นทางช่องทางหลอกลวงผู้บริโภค ซึ่งผู้บริโภคที่ตกเป็นเหยื่อส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุที่รับฟังรายการเป็นประจำ รองลงมาคือ ดิจิตอลทีวี และโทรทัศน์ดาวเทียม ตัวอย่างที่พบการทำผิดกฎหมายก็มีอย่างเช่น โฆษณาไม่ตรงกับสรรพคุณที่ระบุไว้ ส่วนมากจะเป็นโฆษณาผลิตภัณฑ์ลดน้ำหนัก ใช้แล้วผิวขาว รักษาสิว ฝ้า หรือลดริ้วรอย ซึ่งจากข้อมูลการเฝ้าระวังที่ได้ ทางเครือข่ายฯจึงอยากกระตุ้นไปถึงภาครัฐที่มีหน้าที่และอำนาจในการกำกับดูแลปัญหาดังกล่าว อย่าง อย.และ กสทช. ออกมาทำหน้าที่ของตัวเองอย่างจริงจัง รวดเร็ว และเด็ดขาด ใครที่พบเจอโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่เข้าข่ายหลอกลวง สามารถส่งข้อมูลแจ้งเรื่องร้องเรียนไปได้ที่ทั้ง อย.และกสทช. หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค   อย่าหลงเชื่อ “แผ่นหยกความร้อน” อ้างรักษาโรคอย.ออกมาเตือนผู้บริโภค อย่าหลงเชื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ “แผ่นหยกให้ความร้อน” ที่มาในรูปแบบของ แผ่นรองนั่ง หมอน เตียงนอน ฯลฯ ที่อวดอ้างว่าสามารถช่วยเร่งการขับสารพิษหรือของเสียออกจากร่างกาย เพิ่มประสิทธิภาพของระบบต่างๆ ในร่างกาย เช่น ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบหายใจ แถมยังบอกว่าสามารถใช้ได้กับผู้ที่มีโรคประจำตัว ทั้งความคัน เบาหวาน โรคไต โรคหัวใจ และ มะเร็ง ซึ่งข้อความสรรพคุณต่างๆ ที่ว่ามาทั้งหมด อย.ยืนยันแล้วว่าเป็นการอวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทั้งสิ้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อบำบัด บรรเทา รักษาโรค หรืออาการบาดเจ็บต่างๆ จัดเป็นเครื่องมือแพทย์ตาม พ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ พ.ศ.2551 การจะผลิตหรือนำเข้าต้องได้รับอนุญาตจาก อย. เสียก่อน ซึ่งจากการตรวจสอบฐานข้อมูลการขออนุญาตด้านเครื่องมือแพทย์ของ อย. ไม่พบข้อมูลที่เกี่ยวกับแผ่นหยกให้ความร้อนที่มีสรพพคุณตามที่แอบอ้าง นอกจากนี้ อย.ยังฝากเตือนว่าแผ่นหยกให้ความร้อนนอกจากจะไม่ช่วยรักษาโรค ผู้ใช้อาจเกิดอันตรายจากผลของกระแสไฟฟ้า เช่น ถูกไฟดูดจากไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าลัดวงจร รวมทั้งผิวหนังอาจเกิดการแพ้ต่างๆ ได้ด้วย คมนาคมคาดโทษ “นกแอร์” ทำผิดซ้ำเจอถอนใบอนุญาตจากเหตุการณ์ที่สายการบินนกแอร์ยกเลิกเที่ยวบินโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า จากเหตุผลที่นักบินประท้วงสายการบินเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้โดยสารกว่า 3,000 คนได้รับผลกระทบ ทางด้านหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวกับปัญหาดังกว่างอย่าง กระทรวงคมนาคม ได้ออกมาจัดการกับสายบินนกแอร์ เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นการสร้างความเสียหายต่อผู้บริโภค ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย โดยทางกระทรวงคมนาคมได้ออกคำสั่งเตือนไปยังสายการบินนกแอร์ ถ้าหากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้อีกเป็นครั้งที่สองจะพักใช้ใบอนุญาต และถ้าซ้ำครั้งที่สามจะถูกเพิกถอนใบอนุญาตด้านการบิน พร้อมกันนี้ได้แจ้งไปยังสายการบินต่างๆ ทั้งหมด ว่าต้องมีแผนฉุกเฉินเพื่อรองรับความเสี่ยงที่สร้างความเสียหายต่อผู้บริโภคในลักษณะแบบเดียวกัน ส่งให้กระทรวงคมนาคมรับทราบ และต้องมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่ชัดเจน เสนอติดคำเตือน “ฟ้าทะลายโจร” ช่วยควบคุมมาตรฐานสร้างความตื่นตกใจให้กับผู้บริโภคไม่น้อย หลังจากที่ในสังคมออนไลน์มีการแชร์เอกสารของอย. ซึ่งลงนามโดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการ อย.ที่มีเนื้อหาขอให้เพิ่มข้อความ “คำเตือนของยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจร” ที่ฉลากและเอกสารกำกับยา เนื่องจาก อย.ได้รับรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาฟ้าทะลายโจร อาจเกิดภาวะช็อกจากการแพ้ (Anaphylactic shock) แม้ว่าจะมีจำนวนรายงานไม่สูงมากนัก โดยคณะอนุกรรมการศึกษาและเฝ้าระวังอันตรายจากการใช้ยาสำหรับมนุษย์ ได้ทบทวนข้อมูลความปลอดภัย ประเมินประโยชน์และความเสี่ยงของยาฟ้าทะลายโจร เห็นควรกำหนดให้ยาฟ้าทะลายโจรต้องแจ้งคำเตือนการใช้ยาไว้ในฉลากและที่เอกสารกำกับยา เช่น ห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ ห้ามใช้ในผู้มีประวัติแพ้ยา ไม่ควรใช้ติดต่อกันเกิน 7 วัน หรือมีอาการรุนแรงขึ้นระหว่างใช้ยาควรหยุดและพบแพทย์ทันที นพ.ไพศาล จึงต้องออกมาชี้แจงว่า เอกสารดังกล่าวเป็นการขอความคิดเห็นจากผู้รับอนุญาตผลิตยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรเท่านั้น ประชาชนไม่ต้องตกใจหรือเกิดความกังวล ยาสมุนไพรฟ้าทะลายโจรอยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ หากมีรายงานพบผลข้างเคียง ตามขั้นตอนต้องมีการพิจารณามาตรการป้องกัน ซึ่งแนวทางหนึ่งก็คือการติดฉลากเตือนเหมือนยาแผนปัจจุบันทั่วไป ทั้งนี้ศูนย์เฝ้าระวังและรับเรื่องร้องเรียนผลิตภัณฑ์สุขภาพ อย. ได้รับข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์ หลังใช้ยาฟ้าทะลายโจร ว่าอาจมีอาการ เช่น ผื่น ปากบวม ตาบวม หน้าบวม ซึ่งข้อมูลเหล่านี้มีตั้งแต่ปี 2544 แต่กลุ่มที่มีอาการข้างเคียงนั้นถือว่าน้อยมาก โดยจะพบได้ประมาณ 2 - 3 คนในหมื่นคน ภาคประชาชนร้องรัฐบาลต้องมี “กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค”คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า 150 คน เข้ายื่นหนังสือคัดค้านมติการประชุมหารือการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค และขอให้สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมี นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสำนักนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือแทน เนื่องจากกระบวนการหารือร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 2 ต.ค.58 ไม่มีผู้แทนจากองค์กรผู้บริโภค องค์กรภาคประชาชน และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม มีเพียงหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอย่าง สคบ.และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนต่อ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ทั้งที่ พ.ร.บ.ฉบับนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อเรื่องการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นสิทธิพื้นฐานที่ประชาชนควรได้รับ ยิ่ง ณ ปัจจุบันนี้ผู้บริโภคไทยยังคงถูกละเมิดสิทธิในหลายเรื่อง โดยที่หน่วยงานของรัฐที่มีอยู่ในปัจจุบันยังดำเนินการแก้ไขปัญหาได้ไม่ครอบคลุมทั่วถึง เครือข่ายผู้บริโภคจากทั่วประเทศจึงร่วมกันแสดงพลังเพื่อขอให้ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้มีส่วนในการพิจรณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ให้ช่วยเร่งพลักดันและทำให้เกิดขึ้นกฎหมายฉบับนี้เป็นจริง ตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญตลอด 19 ปีที่ผ่าน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 124 ผู้แทนยา ปิดยอดให้ได้ อะไรก็ทำ

  7.30 นาฬิกา “กวาง” หญิงสาวบุคลิกดี แต่งตัวสวย ท่าทางมั่นใจถือถุงบรรจุแก้วกาแฟเดินเข้าไปในห้องตรวจโรคแผนกอายุรกรรม วางแก้วกาแฟลงบนโต๊ะพร้อมห่อกระดาษทิชชูที่มีชื่อยาของบริษัทเธอไว้ข้างๆ เพื่อให้แพทย์รู้ว่าใครเป็นผู้มี “น้ำใจ” หลังจากนั้นก็มายืนที่บริเวณทางเดินไปห้องตรวจโรคของแพทย์ในโรงพยาบาลเพื่อคอย “รีมายด์” หรือบอกชื่อยาของบริษัทพร้อมทั้งสรรพคุณสั้นๆ ว่ายาของเธอดีกว่ายาของบริษัทคู่แข่งอย่างไรแก่แพทย์ที่เดินผ่านไปมา ถุงกระดาษประทับชื่อยาที่วางอยู่บนพื้นเต็มไปด้วยของกระจุกกระจิกที่ประทับชื่อยาหรือชื่อบริษัท เช่น ปากกา เครื่องคิดเลข กระดาษทิชชู สมุด ไดอารี เพื่อใช้เป็นกุญแจนำเข้าบทสนทนาและให้แพทย์คุ้นชินกับชื่อยา ไม่นับรวมช่วงเทศกาลต่างๆ ที่เธอต้องหอบถุงกระดาษบรรจุของขวัญเพื่อมากำนัลแก่แพทย์ หวังให้เกิดความประทับใจและส่งผลให้ช่วยใช้ยาที่เธอขาย  “ผู้แทนยา” คืออาชีพของเธอ อาชีพที่หนุ่มสาวหลายคนอยากจะเข้ามาทำ เนื่องจากอิสระ ไม่มีเวลาการทำงานที่แน่นอน ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ ถ้า “ปิดยอด” หรือทำได้ถึงเป้าของบริษัทเร็ว เดือนนั้นก็ไม่ต้องไปทำงานเลยก็ได้ และที่สำคัญเงินเดือนดี ผู้แทนยาน้องใหม่บางคนหากขยันก็ทำเงินค่าคอมมิชชันได้ถึงหลักแสนในเดือนแรก แต่ไม่ใช่ว่าใครๆ ก็มาทำอาชีพนี้ได้ เพราะต้องมีบุคลิกและหน้าตาดี ถ้าให้ง่ายก็บวกเส้นสายอีกนิดหน่อย ส่วนกวางเข้ามาทำงานนี้ได้เพราะรุ่นพี่แนะนำให้ ส่วนจะเรียนจบเภสัชศาสตร์หรือสายวิทยาศาสตร์มาหรือไม่นั้น ไม่สำคัญเท่าไหร่ เพราะสิ่งที่สำคัญสำหรับอาชีพผู้แทนยาคือ ต้อง“คุย” กับแพทย์รู้เรื่อง ไม่นานนักแพทย์ก็เริ่มทยอยกันเดินผ่านทางเดิน ด้วยความที่แพทย์มีเวลาแค่เล็กน้อย ประกอบกับเพื่อนร่วมอาชีพที่รออยู่บริเวณนั้นมีจำนวนมากเช่นกัน ทำให้แพทย์ไม่สามารถจะหยุดคุยกับผู้แทนยาทุกคนได้ เธอจึงต้องใช้วิธีวิ่งเข้าไปหาแพทย์ ยื่นปากกาให้ รีบรีมายด์สั้นๆ พร้อมทั้งประโยคสำคัญ  “อาจารย์ขา ฝากยาของหนูด้วยนะคะ”แพทย์พยักหน้า แล้วรีบเดินจากไป เป็นโอกาสของผู้แทนยาหนุ่มสาวที่ยืนรออยู่ข้างหน้า  แม้จะเป็นการกระทำที่ซ้ำๆ ต้องพูดประโยคเดิมๆ ทุกวัน เหมือนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นและไม่สำคัญ แต่ผู้แทนยาทุกคนก็รู้ว่าการรีมายด์ยาสำคัญมาก เธอรู้ว่าแพทย์บางคนต้องการเห็นผู้แทนยามาทำงานจึงจะสั่งใช้ยา โดยผู้แทนยาต้องมายืนเรียงแถวให้แพทย์เห็นหน้า เรียกว่า “เช็คชื่อ” โดยเฉพาะยาของสองบริษัทที่เหมือนกัน  หากแพทย์มีเวลาให้เธอสัก 5-10 นาที เธอก็จะเข้าไปคุยให้ข้อมูลรายละเอียดเรื่องยาในห้องตรวจหรือ “ฟูลเปเปอร์” แม้จะน่าอึดอัดเล็กน้อยเพราะคนไข้ที่รอตรวจจะมองเธอด้วยสายตาสงสัย หรือบางคนอาจจะชักสีหน้าด้วยความไม่พอใจที่เธอทำให้ต้องเสียเวลารอ...ทำไงได้ นี่คืองานของเธอ แต่วันนี้ทุกอย่างช่างวุ่นวาย เพราะเธอต้องไปเตรียมจัดเลี้ยงอาหารกลางวันให้แก่แพทย์และแพทย์ประจำบ้านที่ห้องประชุมอีก  เกือบ 11 นาฬิกาหลังจากที่แพทย์ทุกคนเข้าห้องตรวจ ก็ถือเป็นเวลาพักของพวกผู้แทนยา กวางและเพื่อนร่วมอาชีพเดินไปทานข้าวที่โรงอาหารของโรงพยาบาล นั่งคุยถึงเรื่องสัพเพเหระ หรือทำกิจกรรมต่างๆ นานา เธอไม่ลืมที่จะโทรไปสั่งอาหารกล่องของภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นกลางห้างดัง ติดต่ออาจารย์แพทย์ที่จะมาบรรยายเรื่องยาอีกครั้ง และภารกิจอื่นๆ อีกมากมายที่เธอต้องบริการแพทย์ซึ่งเป็น “ลูกค้า” เมื่ออยู่ในอาชีพผู้แทนยา   เรื่องธรรมดาในโรงพยาบาล ? กิจวัตรประจำวันของผู้แทนยาเช่น “กวาง” เป็นสิ่งที่คุ้นตาและเกิดขึ้นจริงในโรงพยาบาล นอกจากนี้ผู้แทนยายังมีความเห็นว่า การอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่แพทย์ เช่น ลงชื่อเข้าประชุมวิชาการ จองห้องพักโรงแรมให้เมื่อมีประชุม ขับรถรับส่งไปประชุมทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด จัดเลี้ยงอาหารหรือกาแฟยามเช้า หรือแม้แต่ไปจัดการธุระที่ธนาคารให้แก่แพทย์ เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำงาน และเป็นการแสดงน้ำใจ ซึ่งจะทำให้แพทย์ช่วยใช้ยา   “มันเหมือนกับเป็นการเซอร์วิส มายด์ค่ะ เหมือนกับน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า อย่างแพทย์ในช่วงเวลาที่เขาเร่งรีบ เขาก็ “อ่ะ ไปแบงค์ให้ผมหน่อยซิ” หรือ “ไปส่งผมตรงนี้หน่อย” “ไปส่งสนามบินหน่อย” อันนี้ก็เป็นการเซอร์วิส เพราะว่าเขาอาจจะไม่มีเวลาหรือกำลังรีบ เพราะว่าหมอเนี่ย เขาจะมีเวลาไม่ค่อยเพียงพออยู่แล้ว เขาก็จะไหว้วานเรา เขาอยู่โรงพยาบาล ที่จอดรถก็ไม่ค่อยมี หรือไม่งั้นตอนเย็นเขาจะไปประชุม แล้วบริษัทนี้สนับสนุนวิชาการโดยการลงทะเบียนให้เขา ผู้แทนบริษัทนี้ต้องเซอร์วิสโดยการที่ไปส่งหมอ” ซี ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว  เช่นเดียวกับน้ำ ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติอีกคนที่มีความเห็นในทำนองเดียวกัน “หมอบางคนทำงานจนดึก ต้องเข้ามาตรวจคนไข้แต่เช้า ตรวจแต่ละครั้งก็ต้องอธิบายให้คนไข้ฟัง หมอก็เหนื่อย เพลีย คอแห้ง แล้วก็ไม่มีคนเอาน้ำไปให้ แล้วใครจะทำ เราก็ทำให้เพราะเป็นการแสดงน้ำใจแก่หมอ เรื่องการประชุมบางครั้งต้องให้บริษัทยาลงชื่อเข้าให้ ถึงหมอมีเงินแค่ไหน แต่ถ้าลงเองก็ลงไม่ได้ แล้วหมอก็ต้องทำงานทั้งวัน จะเอาเวลาที่ไหนไปจองห้องพัก สายการบิน เวลาไปเมืองนอก หมอจะรู้ได้ยังไง บริษัทยาก็ต้องทำให้ ส่วนเรื่องการขับรถรับส่ง หมอไม่มีเวลา บางทีเลิกดึก ก็ต้องขับรถไปรับไปส่ง เวลาหมอเดินทาง ขึ้นเครื่องบินแล้วจะเอารถไปไว้ที่ไหน ก็ต้องไปส่งหมอ เป็นน้ำใจ” เธอกล่าวโดยเน้นย้ำว่าเป็นการแสดง “น้ำใจ” เท่านั้น   สายสัมพันธ์สีเทาในความสัมพันธ์ระหว่างผู้แทนยาและแพทย์ การแสดงถึง “น้ำใจ” เป็นสิ่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะยิ่งผู้แทนยาคนไหนแสดง “น้ำใจ” มากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่แพทย์จะใช้ยาของผู้แทนยาคนนั้น ซึ่งถือเป็นการ“แสดงน้ำใจกลับคืน”มากเท่านั้น เช่นที่อาจารย์แพทย์ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัดของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าวไว้ว่า   “เราไม่ได้เป็นเบี้ยล่างคนขายยา เราไม่จำเป็นต้องซื้อยาเขา เขาไม่ใช่พ่อแม่ แต่ถ้าเรามีบริษัทยาเข้ามาก็มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เช่น มีคนมาให้ไม้บรรทัดเรา ไม่ต้องไปซื้อเอง ปากกาไม่ต้องซื้อเอง มีข้าวกินตอนเที่ยง น้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า เป็นความสัมพันธ์แบบวินวิน เขาขายยาได้ แล้วก็ช่วยเราบ้างตามความสมควร”   “ถ้ายาตัวนั้นเข้าโรงพยาบาลแล้วผู้แทนยาจะพามาเลี้ยงอาหาร เลี้ยงขนม พอยาเข้าโรงพยาบาลมันจะมีส่วนลด ส่วนเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเขาจะเอาส่วนลดเปอร์เซ็นต์นี้มาเลี้ยงข้าวพวกหมอผู้ใช้ยา คล้ายๆ กับเป็นการตอบแทนที่ใช้ยาเขา อะไรทำนองนี้” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้ออีกคนในโรงพยาบาลเดียวกันกล่าว   แต่แพทย์คนหนึ่งของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ไม่เห็นด้วยกับการกระทำของผู้แทนยากล่าวว่า   “ผู้แทนยาจะยืนเกะกะตามทางเดินก่อนถึงห้องตรวจคนไข้ คอยยื่นเอกสารและของแจกพร้อมโฆษณากับแพทย์ว่าอย่าลืมช่วยใช้ยาเขาเป็นที่เอิกเกริก คนไข้ที่นั่งรอก็เห็นกันทั้งนั้น คอยวิ่งตามลงบันไดเพื่อโฆษณาและรีบยัดของฝากใส่มือแพทย์ ชาวบ้านที่เห็น เขาใช้คำว่า นอกจากเกะกะกีดขวางแล้ว ยังทำตัวน่าเกลียดมาก เหมือนเปรตมารอขอส่วนบุญเป็นโขยง”   ที่มากกว่านั้น แพทย์หญิงคนหนึ่งยังกล่าวว่า “เท่าที่ได้ยินเรื่องหมอหนุ่มกับผู้แทนสาวมีเรื่อยๆ เช่น ผู้แทนต้องการให้ยาตัวเองทำยอดให้ได้ภายในเดือนนี้ ไม่เช่นนั้นอาจต้องถูกออกหรือตัดเงินเดือน ทำให้ต้องยอมทำอย่างไรก็ได้ให้แพทย์ยอมใช้ยาของตัวเอง เพื่อให้ยอดขึ้น บางรายก็ยอมมีความสัมพันธ์ส่วนตัวหรือเพศสัมพันธ์เพื่อแลกกับยอดการใช้ยา อันนี้ยังมีอยู่ให้ได้ยินและเป็นที่รู้กันในบางรายที่ทำเป็นประจำ”  จะเห็นได้ว่าผู้แทนยาพยายามทำสิ่งต่างๆ ให้แก่แพทย์ เพื่อให้เกิด “ความคุ้นเคย” ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้แทนยาหวังให้เกิดขึ้น เพราะจะส่งผลให้แพทย์ “ช่วย” ใช้ยา  “หมอใช้ยาโดยเสน่หาอยู่แล้ว ถ้ายาเหมือนกัน สรรพคุณเหมือนกัน แต่ถ้าให้เลือกสั่งยากับผู้แทนยาที่มามีน้ำใจ ช่วยเหลือ กับคนที่ไม่ทำอะไรให้เลย จะเลือกใครล่ะ” พลอย ผู้แทนยาสาวที่ทำงานกับบริษัทยาต่างชาติมากว่าสิบปีกล่าว เช่นเดียวกับความเห็นของปลา ผู้แทนยาจากบริษัทต่างชาติอีกคน “บางทียามันเข้าในโรงพยาบาลทีนึงหลายตัว แต่หมอสามารถใช้ตัวไหนก็ได้ ถ้าเขาเห็นเรา ตอนเย็นเราไปนั่งรอ เขาเห็นความขยันของเราปุ๊บเนี่ยนะ มีผล คือหมอเขาจะช่วยใช้ยาของเรามากขึ้น นึกถึงยาเราก่อน เขาเรียกว่าความขยัน ความเห็นอกเห็นใจ เหมือนกับความสัมพันธ์ อะไรอย่างนี้”  แพทย์ผู้สั่งยาก็มีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน โดยนายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งให้ความเห็นสั้นๆ ว่า “ใครมาบ่อยก็ใช้ของเขา ใครไม่มาก็ไม่ใช้ของเขา” หรือความเห็นจากนายแพทย์อีกคนในแผนกเดียวกัน “ผู้แทนยาคนไหนที่เข้ามาประจำ เราคุ้นเคยไง เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย คนหนึ่งนานๆ โผล่หน้ามาที ทั้งที่ยาดีกว่าแต่ว่าเราไม่คุ้นเคย เราก็อาจจะโน้มเอียงมาทางคนคุ้นเคย เพราะฉะนั้นความสม่ำเสมอมีผลต่อยอดของยา”  “ก็มีผลสิ จะเลือกยาของคนที่คุ้นเคยมากกว่า มีผลนะ ชัดเจน แต่ไม่ถึงขั้นว่าเห็นคนนี้แล้วเป็นคะแนนสงสารหรืออะไร ไม่เกี่ยวกัน เพราะเวลาที่เราเห็นคนนี้ ก็เหมือนกับเป็นสัญลักษณ์ ถูกไหม สัญลักษณ์ของยี่ห้อนี้ พอเวลาเราเจอคนไข้ปุ๊บ เราก็จะนึกถึงอันนี้ก่อน เช่น คนไข้คนนี้เหมาะกับยากลุ่มนี้ แต่กลุ่มนี้มีสามตัว เรานึกอะไรได้ก่อนล่ะ ความเคยชินเราชินอะไรก่อน ก็คืออันนั้นแหละ” แพทย์หญิงแผนกอายุรกรรมของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ส่วนแพทย์หญิงภาควิชาอายุศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งก็ให้ความเห็นว่า “มีบางครั้งที่ผู้แทนยาทำตัวไม่เหมาะสม เช่น ก้าวก่ายเรื่องส่วนตัวเกินไปนิดนึง หรือวางตัวแบบ...ถ้าใช้คำว่าเสมอมันก็น่าเกลียดไปเนอะ แต่มันเป็นอย่างนั้น ทำตัวสนิทสนมจนเกินไป มันก็มีบ้าง” หัวหน้าพยาบาลของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์ที่ทำงานมากว่า 20 ปีให้ความเห็นว่า “ผู้แทนยานำเสนอในลักษณะที่ตื้อเหลือเกิน มันไม่ได้เป็นการขายของทั่วไป มันไม่ได้ขายของที่ใช้สำหรับส่วนตัวที่คุณจะต้องมาตื้อหรือว่าอะไร เพราะจริงๆ มันน่าจะแข่งขันกันด้วยคุณภาพที่ไม่ต้องใช้กลยุทธพวกนี้มากนัก และส่วนตัวมองว่าผู้แทนยาก็ทำหน้าที่ในการนำเสนอยาที่เกินบทบาทของผู้แทนมาก ซึ่งก็เป็นความคิดเห็นของคนส่วนใหญ่ด้วย อย่างเช่น การแต่งกาย รูปร่างหน้าตา ที่นำเสนอยามันไม่จำเป็นต้องขนาดนี้ มันยิ่งกว่าแอร์โฮสเตส ยิ่งกว่าอะไรซะอีก นี่มันสวยเหมือนไม่ใช่มาขายยาน่ะ มันไม่ได้พูดกันลักษณะมืออาชีพที่จะมาขายของที่มีคุณประโยชน์ มันใช้กลยุทธอื่นมากเกินไปจนทำให้เราคิดได้ว่ามันไม่น่าจะตรงไปตรงมา เช่นการแต่งกาย หน้าตาที่จะต้องคัด จะต้องสวย และสิ่งของที่เอามานำเสนอที่มากกว่าตัวยา”   บริการยกระดับ “มันไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัว”นอกจากการกระทำในระดับส่วนตัวแล้ว ผู้แทนยายังเข้าไปให้ผลประโยชน์ในระดับแผนกหรือภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลอีกด้วย เช่น จัดเลี้ยงให้แพทย์ในภาควิชาต่างๆ ของโรงพยาบาลช่วงเที่ยง มีประชุมวิชาการย่อยที่เกี่ยวข้องกับยาโดยผู้แทนยาเอง หรือที่นิยมคือการเชิญอาจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงในเรื่องที่ต้องการขายยามาบรรยายให้ฟังว่ายาใหม่ดีอย่างไร มีข้อแนะนำใหม่ๆ ว่าให้เริ่มใช้ยานี้อย่างไร ซึ่งการกระทำเช่นนี้ไม่มีข้อจำกัดแน่นอน ขึ้นอยู่กับภาควิชา บางภาควิชาก็จะกำหนดว่าให้มาได้วันใดบ้าง เช่น ทุกวันศุกร์ บางภาควิชาให้มาวันใดก็ได้ เช่น ภาควิชาอายุรกรรมในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งกลางกรุงเทพฯ มีสมุดให้ผู้แทนยาลงชื่อขอเลี้ยงอาหารเที่ยง ซึ่งทุกวันจะมีผู้แทนยาลงชื่อเลี้ยงเต็มไปจนถึงปีหน้า  “แต่ละภาควิชา มีการใช้ยาที่แตกต่างกัน ผู้แทนยาจะขอเข้ามานำเสนอยาโดยแลกเปลี่ยนกับการแจกข้าวประชุม ไม่ว่าจะเป็นเช้า กลางวันหรืออาหารว่างตามแต่มื้อ หมอจะได้กินข้าวฟรี โดยเฉพาะภาควิชาหรือหน่วยงานใหญ่ๆ ที่ใช้ยาราคาแพงเป็นประจำ จะมีข้าวกลางวันเจ้าอร่อยกินฟรีตลอด” แพทย์หญิงภาควิชาอายุรศาสตร์ของโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว  ดาว ผู้แทนยาจากบริษัทยาต่างชาติเล่าว่า “จะมีการประชุม ซึ่งทางเราจะมีการสนับสนุนให้กับแพทย์ เหมือนอย่างแพทย์จะมีการประชุมตอนเช้า ส่วนใหญ่เกือบทุกที่จะมีการเรียนการสอนโดยแพทย์ที่เป็นระดับอาจารย์ซึ่งจบเฉพาะทางแล้ว เขาจะมาสอนเด็กกันตอนเช้า ซึ่งเด็กนี่จะเป็นพวกเรสิเดนท์ที่มาจากนักศึกษาแพทย์เทิร์นขึ้นมาเรียนเฉพาะทาง ก็จะมีการสอนกันตอนเช้า ทางเราก็จะมีการสนับสนุนวิชาการ โดยอาจจะมีการจัดประชุมให้โดยการสนับสนุนพวกเอกสาร ห้องประชุม อาหารเช้า อะไรอย่างนี้”  “นอกจากงบของโรงพยาบาลและงบประมาณแผ่นดินแล้ว ก็จะมีส่วนของบริษัทยาสนับสนุน เช่น น้ำหรืออาหาร เพราะว่าโดยปกติ งบของทางราชการได้มาแค่ส่วนหนึ่ง แล้วถ้าเกิดจะให้ประชาชนหรือคนอื่นเข้ามาเนี่ย ในส่วนค่าอาหารเขาอาจจะจำเป็นต้องจ่ายเอง ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะเข้ามาเท่าไหร่ แต่ถ้าเรามีเงินสนับสนุนตรงนี้ก็โอเค เป็นเหมือนกับการที่ทำให้คนเข้ามาเยอะขึ้น” นายแพทย์คลินิกโรคกระดูกและข้อโรงพยาบาลในโรงเรียนแพทย์แห่งหนึ่งกล่าว ส่วนนายแพทย์อีกคนในโรงพยาบาลและแผนกเดียวกันให้ความเห็นว่า “ถ้ายาตัวไหนที่เข้าโรงพยาบาลแล้วยอดใช้เยอะ ทางบริษัทยาก็จะให้งบสนับสนุนกลุ่มงานหรือสนับสนุนแผนก ไม่ได้ให้เป็นรายส่วนตัว เช่น สมมติว่าแผนกศัลยกรรม ก็ให้งบช่วยเหลืองานปีใหม่ เท่านี้ครับ นอกจากนั้นก็จะมีทางแผนกไปรบกวนบริษัทเขา คือขอเขา เช่นมีงานประชุมวิชาการเกี่ยวกับยา เช่นยารักษาโรคกระดูกพรุน มีประชุมวิชาการเกี่ยวกับกระดูกพรุน แล้วก็มีสปอนเซอร์เกี่ยวกับบริษัทนี้อยู่ คือบริษัทยาตัวนี้เกี่ยวข้องอยู่ เราก็ขอไปประชุมได้ไหม ก็มีทั้งในและต่างประเทศ”   ไม่เว้นแม้แต่การเข้าไปช่วยจัดงานเลี้ยงให้กับแผนกเภสัชกรรม “แผนกเภสัชมีคนทำงานหลายคน ใครก็อยากมีโบนัส อยากจัดงานเลี้ยงปีใหม่ แต่โรงพยาบาลรัฐจะเอาเงินมาจากไหน บริษัทยาก็เข้าไปช่วยทำให้” ทราย ผู้แทนยาสาวจากบริษัทยาต่างชาติกล่าว   ผลประโยชน์ทับซ้อน แล้วคนไทยจะไปทางไหนข้อมูลจากเอกสารหลัก ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมฯ สมัชชาสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 2 กล่าวว่า ประเทศไทยประสบกับปัญหาค่าใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาลในส่วนที่เป็นค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการประมาณ 5 ล้านคน พบว่าเพิ่มสูงขึ้นเป็นสองเท่า หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 55,000 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2551 ในขณะที่ค่าใช้จ่ายในระบบประกันสังคมและระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งสองระบบรวม 57 ล้านคน มีมูลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลในปีเดียวกันคิดเป็นเงินรวมเพียง 97,700 ล้านบาทเท่านั้น  ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบการสั่งใช้ยาในระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการเป็นแบบปลายเปิด จ่ายตามเบิก จึงเป็นเหตุให้ไม่เป็นไปตามหลักการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล ด้วยการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม  มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาที่น่าสนใจหลายทาง เช่น จัดตั้งองค์การอิสระให้ทำหน้าที่รับผิดชอบ จัดระบบ ตรวจสอบ รวบรวมและรายงานสถานการณ์การใช้ยาและการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรมในระดับประเทศ โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนและภาคประชาสังคมร่วมตรวจสอบ และเสนอยุทธศาสตร์ยุติการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม โดยต้องอาศัยความร่วมมือทั้งจากเครือข่ายสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาลที่ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาที่เป็นของแต่ละสถาบัน บังคับใช้ และปรับปรุงหลักเกณฑ์อย่างต่อเนื่องให้ทันต่อสถานการณ์  และสถานพยาบาลก็ต้องร่วมผลักดันให้เกณฑ์จริยธรรมว่าด้วยการส่งเสริมการขายเป็นหนึ่งในการพิจารณามาตรฐานโรงพยาบาลควบคู่กับเกณฑ์มาตรฐานในเรื่องการใช้ยาที่เหมาะสม เสนอให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลต่างๆ แจ้งรายงานผลการสั่งจ่ายยาที่ผิดปกติเพื่อให้แพทย์ผู้สั่งใช้ยารับทราบและแก้ไขปรับปรุงเป็นรายปี โดยอาจพิจารณาเชื่อมโยงกับความถี่ของการเข้าพบผู้แทนยา องค์กรวิชาชีพด้านสุขภาพ เช่น แพทยสภา สภาเภสัชกรรม ต้องพัฒนาหลักเกณฑ์จริยธรรมด้านการส่งเสริมการขายยาให้เป็นส่วนหนึ่งของจริยธรรมหรือจรรยาบรรณวิชาชีพของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพแต่ละสาขา ร่วมดำเนินการเผ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม จัดให้มีบทลงโทษหนัก กรณีพบว่ามีส่วนร่วมในขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม เช่น การรับ-ให้ของขวัญ ของชำร่วย การเลี้ยงรับรองโดยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับการสั่งใช้ยา เป็นต้น และนำมาตรการเชิงบวกมาใช้เพื่อสนับสนุนการประกอบวิชาชีพตามหลักการใช้ยาที่เหมาะสม ด้านสื่อมวลชนและภาคีทุกภาคส่วนก็ต้องร่วมกันสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัดของโรงพยาบาลและสนับสนุนให้เกิดกลไกตั้งแต่การคัดเลือกยา การติดตามและประเมินการใช้ยา สนับสนุนระบบติดตามการใช้ยาภายในโรงพยาบาลเพื่อเป็นเครื่องมือให้เกิดการใช้ยาที่เหมาะสม และพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการรักษา ส่วนภาคประชาชนสามารถร่วมแก้ปัญหานี้ได้โดย ร่วมกันสนับสนุนการรวมตัวของภาคประชาชนในการติดตาม ตรวจสอบ และเฝ้าระวังการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม และนำมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ทั้งนี้ให้จัดงบประมาณสนับสนุนจากรัฐเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวังด้วย จัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง  ทุกภาคส่วนร่วมกันจัดทำแผนการเฝ้าระวังปัญหาและติดตามการดำเนินงานเพื่อแสดงความก้าวหน้าของการดำเนินงาน และประเมินผล โดยนำเสนอผลสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ต้องจัดให้มีงบประมาณเพื่อให้ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วมเฝ้าระวัง  และสุดท้าย สื่อมวลชนมีบทบาทร่วมกับภาคประชาสังคมในการให้ความรู้ประชาชนเพื่อส่งเสริมการใช้ยาที่เหมาะสมและสร้างความเท่าทันต่อขบวนการส่งเสริมการขายยาที่ขาดจริยธรรม การขายยาจะเทียบกับอาชีพขายของทั่วไปที่ต้องมีการทำโปรโมชั่นไม่ได้ เพราะยานั้นเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคน กินมากไม่ได้แค่ทำให้อ้วนเหมือนกินขนม ใช้มากไม่ได้ทำให้แค่เปลืองเหมือนกระดาษชำระ เลือกยี่ห้อที่ชอบ ไม่ได้ต่างแค่ความพอใจที่ได้...แต่ผลอาจถึงขั้นเสียชีวิต

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point