ฉบับที่ 218 เมื่อนักการเมืองสนใจเรื่อง...อายุยืน

วันหนึ่งในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ได้มีนักการเมืองคนหนึ่งใช้อินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางในการพูดคุยแสดงความคิดเห็นด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ ซึ่งน้อยนักที่จะมีนักการเมืองคนไหนกระทำ ผู้เขียนจึงสนใจและลองอ่านดู แล้วคิดว่าควรขยายความบางส่วนให้ผู้ที่ได้ฟังคลิปหรืออ่านบทความที่มีการถอดเป็นคำพูด ในหน้าหนังสือพิมพ์ออนไลน์ให้กระจ่างว่า เรื่องราวนั้นมีความหมายเพียงใด         ข้อความที่ได้จากการถอดคำพูดตอนหนึ่งกล่าวว่า “โลกข้างหน้าเขาจะใช้ตัว DNA มาเป็นเครื่องมือประกอบ ในการวิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับสุขภาพมากขึ้น เช่นว่า ยกตัวอย่างเรื่องยา วันก่อนผมไปนั่งคุยกับอาจารย์ที่มาจาก Harvard เขามาทำวิจัยที่ฮ่องกง เขาบอกว่ายาเนี่ย ส่วนใหญ่เวลามันทำการทดลอง เขาเรียกว่า clinical trial หรือทดลองทางคลินิก ทดลองกับมนุษย์ก่อนที่จะออกใช้เนี่ย ปรากฏว่าส่วนใหญ่แล้วเป็นยาทางด้านตะวันตก มันอาจจะใช้ไม่ได้สำหรับคนตะวันออกก็ได้”         ประเด็นนี้จะว่าจริงมันก็จริง จะว่าเว่อร์มันก็เว่อร์ไปหน่อย ทั้งนี้เพราะความแตกต่างในการตอบสนองต่อยาบางชนิดของผู้ที่ป่วยเป็นโรคเดียวกันนั้นเป็นเรื่องเฉพาะที่เกิดไม่บ่อยนัก(หรือถึงเกิดบ่อยก็คงไม่รุนแรงนัก) แต่เป็นไปได้ตามปรากฏการณ์ที่เรียกว่า Pharmacogenetic ซึ่งเป็นความหลากหลายทางพันธุกรรมในกลุ่มคนที่กำหนดให้เซลล์ในร่างกายตอบสนองต่อการออกฤทธิ์ของยาชนิดเดียวกัน ด้วยความสามารถในการดูดซึมยาต่างกัน กระบวนการเปลี่ยนแปลงยาเพื่อออกฤทธิ์และ/หรือทำลายยาทิ้งต่างกัน การสะสมของยาในร่างกายต่างกัน และการขับออกของยาต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อระดับยาในเลือดต่างกัน         ความแตกต่างทางพันธุกรรมที่มีผลต่อการออกฤทธิ์ของยานี้ นักการเมืองคนนั้นได้กล่าวต่อไปว่า “... โดยดูว่า DNA ของคนที่มาจากกลุ่มนี้ คนนี้ เป็นยังไง ถึงจะสามารถใช้ยา จนอีกหน่อยเขาเรียกกว่า personalized medicine คือเป็นยาที่เจาะจงเฉพาะคนที่มี DNA ประเภทนี้ ถึงจะกินยาตัวที่ถูกต้อง อะไรอย่างนี้ มันจะเริ่มมากขึ้นๆๆ เพราะฉะนั้น DNA จะเป็นตัวที่มา แหล่งในการถูกใช้งานมากขึ้น เพื่อจะให้ยาเฉพาะเจาะจงสำหรับคน อาหารเฉพาะเจาะจงที่เหมาะกับ DNA ของเรา มันกำลังมา...” ข้อความที่ยกมาให้ดูส่วนนี้ ความจริงแล้วในบ้านเรามีการนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการบำบัดโรคแบบที่เรียกว่า Functional medicine ซึ่งมีผู้ใช้คำไทยว่า สมุทัยเวชศาสตร์ เพื่อสื่อความหมายว่า เป็นลักษณะการบำบัดโรคที่ประณีตกว่าการบำบัดโรคทั่วไป ที่สำคัญมักเป็นโรคที่บำบัดยากและมีคนเป็นน้อย และมักมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปรกติหลายเท่าตัว เพราะต้องทำการวิเคราะห์ลักษณะการทำงานของยีนที่ตอบสนองต่อยาที่ใช้ และใช้บุคลากรที่มีความชำนาญพิเศษ ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับคนรวยเท่านั้นเพราะมีปัญญาจ่ายได้        อีกประเด็นหนึ่งที่นักการเมืองคนนั้นกล่าวถึงซึ่งน่าสนใจ เพราะมันเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายคนที่ยังไม่ยอมรับกฏเกณฑ์ธรรมชาติที่ว่า สังขารเป็นของไม่แน่นอน ส่งผลให้พยายามหาทางยื้อสังขารไม่ยอมแก่ โดยข้อความที่ได้จากการถอดจากคำพูดนั้นกล่าวว่า “...ในมนุษย์เราเนี่ยมีโครโมโซมอยู่ 23 คู่ ตรงปลายโครโมโซมเนี่ยเขาเรียกว่า “เทโลเมียร์” เทโลเมียร์ตัวนี้ มันมีความสั้นยาว หดได้ ยืดได้ ตามภาวะสุขภาพเรา เขาบอกว่าคนเกิดใหม่เนี่ย เทโลเมียร์มันจะมีความยาว สมมุติว่า..เอ่อ ผมจำตัวเลขไม่ได้ หมื่นไมครอน หรืออะไรทำนองนี้ แต่ว่าสรุปแล้วก็คือว่า มันมีความยาวสุด แต่พอตายด้วยเชื้อโรคนะไม่ใช่ตายด้วยอุบัติเหตุ ตายเพราะเจ็บป่วยเนี่ย มันจะหดลงเหลือครึ่ง เพราะฉะนั้นเนี่ย ช่วงที่เรามีชีวิตอยู่เนี่ย เขาสามารถวัดความยาวของเทโลเมียร์เนี่ย เพื่อจะบอกว่า อ๋อ สภาวะร่างกายของเราเนี่ยดีหรือไม่ดีอย่างไร เผื่อเราจะได้ปรับวิถีชีวิต การอยู่ การกิน การออกกำลัง เพื่อให้ไอ้เทโลเมียร์ตัวนี้มันกลับมายาว มันก็คือสุขภาพเรากลับมาแข็งแรงขึ้น...”         ในทางทฤษฎีแล้ว เทโลเมียร์ (telomere) มีความสำคัญต่อการแบ่งเซลล์ และมีโอกาสสั้นลงเรื่อยๆ (น้อยมากที่จะกลับยาวเท่าเดิมหลังการแบ่งเซลล์แต่ละรอบ) ดังนั้นเซลล์ที่ยังมีอายุน้อยจึงซ่อมเทโลเมียร์ได้ในขณะที่เป็นเรื่องยากมากในเซลล์ที่แบ่งตัวหลายรอบแล้ว(ปรกติเซลล์หนึ่งเซลล์แบ่งได้ประมาณ 50-70 ครั้ง) นอกจากนี้เทโลเมียร์นั้นยังไวต่อการถูกทำลายด้วยอนุมูลอิสระที่เกิดในเซลล์เอง การกินอาหารที่มีสารต้านอนุมุลอิสระต่ำจึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่เร่งให้เกิดความเสียหายของเทโลเมียร์ ซึ่งส่งผลถึงความสามารถในการแบ่งเซลล์ลดลงเร็วกว่าที่ควร...ซึ่งเป็นสัญญาณของความแก่         ประเด็นที่สำคัญที่ท่านผู้อ่านควรทราบคือ การทำให้เทโลเมียร์กลับยาวทุกครั้งนั้นจำต้องอาศัยการทำงานของเอ็นซัมชื่อ เทโลเมอเรส (telomerase) ซึ่งเป็นเอ็นซัมชนิดที่มีคุณสมบัติ reverse transcriptase กล่าวคือ สามารถถอดรหัส RNA ไปเป็น DNA ได้ ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดในไวรัสบางชนิดที่ก่อมะเร็ง(ส่วนใหญ่แล้วการถอดรหัสในเซลล์ทั่วไปมักเป็นการสร้าง RNA จากระหัสของ DNA)        กระบวนการสร้างดีเอ็นเอโดยอาศัยเอ็นซัมกลุ่ม reverse transcriptase นั้นมักมีความผิดพลาดในการกลายพันธุ์ค่อนข้างสูง เพราะไม่มีระบบตรวจสอบผลการทำงาน ซึ่งเรียกว่า proof reading(ต่างจากกระบวนการทั่วไปของ DNA polymerase ซึ่งสร้าง DNA จาก DNA ด้วยกันที่มีการตรวจสอบความถูกต้องอย่างละเอียด) การกลายพันธุ์ดังกล่าวนั้นมักส่งผลกระทบต่อการดำรงความยาวของเทโลเมียร์         ด้วยเหตุที่เทโลเมียร์มีบทบาทเกี่ยวกับความสามารถในการแบ่งเซลล์ ดังนั้นสถานภาพของเทโลเมียร์จึงเป็นเหมือนดัชนีกำหนดความแก่ ซึ่งในวงการค้าสุขภาพทางการแพทย์เกี่ยวกับความแก่ได้ให้ความสำคัญเพราะสามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในการหลอกล่อผู้บริโภค ดังที่องค์กรอิสระซึ่งไม่ค้ากำไรชื่อ Nuffield Council on Bioethicsในสหราชอาณาจักร กล่าวประมาณว่า ยังไม่มีการบำบัดที่พิสูจน์แล้วว่า สามารถชะลอหรือทำให้เกิดการย้อนกลับของอายุได้ ข้อมูลนี้เหมือนระบุว่า ความหวังในการทำให้เทโลเมียร์ยาวเท่าเดิมนั้นยังดูเป็นไปได้ยากในคน (ข้อมูลจาก wikipedia)        ดังที่กล่าวแล้วว่า เทโลเมียร์เป็นหัวใจของการต่อสู้กับความชราด้วยความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้นการทำวิจัยในประเด็นนี้จึงน่าสนใจ ขอยกตัวอย่างในปี 2014 ที่วารสาร Genes & Development ได้มีบทความเรื่อง Regulated assembly and disassembly of the yeast telomerase quaternary complex กล่าวว่าได้ทำการศึกษาในยีสต์เพื่อเปิดเผยข้อมูลเชิงลึกมากมายเกี่ยวกับการทำงานของเอ็นซัมเทโลเมอเรส ซึ่งโดยปรกติแล้วทำงานในการซ่อมให้เทโลเมียร์ที่สั้นลงกลับไปยาวใหม่ โดยผลของงานวิจัยนี้ได้ชี้แนะการค้นพบกระบวนการสำคัญในการควบคุมการทำงานของเอ็นซัมระบบนี้ที่คล้ายกับที่เกิดในเซลล์ของมนุษย์        ที่น่าสนใจกว่าคือ ก่อนหน้านั้นในปี 2012 ได้มีรายงานจากกลุ่มนักวิจัยจากสเปนที่ใช้ไวรัสเป็นตัวนำเอายีนสร้างเอ็นซัมเทโลเมอเรสเข้าสู่เซลล์ของหนู(สายพันธุ์ซึ่งมีช่วงอายุปรกติประมาณ 3 ปี) โดยทำการทดลองที่ใช้หนูอายุ 1 ปี รับการส่งผ่านยีนสร้างเอ็นซัมเทโลเมอเรสส่งผลให้หนูมีช่วงชีวิตได้นานกว่าเดิมถึงร้อยละ 24 และถ้าใช้หนูอายุ 2 ปีเป็นสัตว์ทดลองผลปรากฏว่า หนูมีช่วงชีวิตได้นานขึ้นร้อยละ 12 และที่สำคัญคือ ไม่พบว่าหนูมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เหมือนในการทดลองก่อนหน้าที่ใช้หนูที่อายุน้อยกว่า โดยงานวิจัยนี้ได้ตีพิมพ์เป็นบทความชื่อ Telomerase gene therapy in adult and old mice delays aging and increases longevity without increasing cancer ในวารสาร EMBO Molecular Medicine ในปี 2012        ท่านผู้อ่านจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของการที่ทำให้สิ่งมีชีวิตมีอายุยืนยาวขึ้นกว่าเดิมนั้นอาจเป็นไปได้ แต่ประเด็นที่เป็นคำถามอยู่คือ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายมากเท่าใด และความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งดังที่เคยเกิดในหนูทดลองนั้นสามารถป้องกันได้ดีแน่นอนแล้วหรือ เพราะถ้าการมีอายุยืนนั้น เป็นแบบที่ต้องเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งไปด้วย นักวิจัยคงต้องพยายามคิดยาบำบัดมะเร็งคู่กันไป แล้วชีวิตที่ต้องอยู่กับการถูกฉีดสารเคมีเข้าสู่ร่างกายเป็นประจำเพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งนั้นยังน่าอภิรมย์อยู่หรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >