ฉบับที่ 132 ทีวีกำลังจะเปลี่ยนไป!!!

  คุณดูโฆษณาขายทีวีแล้วรู้สึกไหมว่ามันเปลี่ยนไป หลายคนคงจำกันได้ทีวีจากจอสี่เหลี่ยมหน้าตาธรรมด๊าธรรมดา จากจอภาพสีขาวดำมาเป็นจอสี จากจอหนามาเป็นจอแบน  และในอนาคตอันใกล้นี้ทุกบ้านอาจมี ทีวีที่เปลี่ยนไป!!! นั่นก็คือ “สมาร์ททีวี” “สมาร์ททีวี” เป็นทีวีที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อมาใช้ควบคู่กับอินเตอร์เน็ต เพิ่มความสะดวกสบาย ทั้งดูหนัง  ฟังเพลง เล่นเกม ท่องอินเตอร์เน็ต โทรศัพท์  โดยมีโปรแกรมตามที่ต้องการใช้งาน ที่เรียกว่า Apps(แอป) ตัวอย่างง่ายๆเช่น ขณะที่คุณกำลังดูละครตอนเย็น คุณก็อยากที่จะเล่น facebook ไปด้วย เพียงโหลด App ของ facebook ลงในสมาร์ททีวี เมื่อมีข้อความอัพเดทคุณจะรู้และโต้ตอบได้ทันที ถ้าคุณยังนึกไม่ออกว่าสมาร์ททีวีทำอะไรได้บ้าง ลองเทียบกับสมาร์ทโฟน ที่คุณรู้จักดู แล้วเพิ่มฟังก์ชั่นการดูละคร ข่าว รายการเกมส์โชว์ และขนาดหน้าจอของทีวีเข้าไปนั่นล่ะ “สมาร์ททีวี” มีคำถามว่าแล้วเราจะมีปรับเปลี่ยนทีวีบ้านคุณเป็นสมาร์ททีวีได้หรือไม่ ตอบว่าได้ แต่คุณต้องมี HDTV (High-Definition TV – ทีวีที่มีความละเอียดสูง ให้ภาพคมชัดมากมากกว่าปกติ) อยู่ที่บ้านแค่เพียงซื้ออุปกรณ์เสริมที่จะเชื่อมต่อกับอินเตอร์เน็ตที่ใช้โดยเฉพาะกับทีวี คุณก็จะเปลี่ยนทีวีบ้านคุณเป็นสมาร์ททีวีได้  อีกหนึ่งวิธีคือ จ่ายเงินเพื่อสมาร์ททีวีเครื่องใหม่ไปเลย แล้วจำเป็นแค่ไหนที่บ้านคุณต้องมี “สมาร์ททีวี” คำตอบนี้คงอยู่ที่ผู้อ่านทุกท่าน ถ้าผู้อ่านต้องการใช้คงต้องซื้อหากันสักเครื่อง .... แต่ถ้าเป็นผู้เขียน “สมาร์ททีวี” จะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยสักแค่ไหน  สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงนั่นคือ ประโยชน์ที่จะได้ใช้เทคโนโลยีที่ติดมากับ “สมาร์ททีวี” ว่าสำคัญกับการใช้ชีวิตในปัจจุบันของเราจริงหรือ?  สำหรับผู้เขียนถ้าไม่มีผลกระทบกับการดูละครภาคค่ำสักเท่าไร ....ก็คงไม่จำเป็น...และที่น่าเป็นห่วงก็คือ ถ้าทีวีเหล่านี้ไปอยู่ในห้องของลูกๆหลานๆ ผู้เขียนไม่อยากจะคิด ว่าชีวิตเด็กเหล่านั้นจะเป็นเช่นไร....   -------------------------------------------------------------------------------------------- Apps = Application คือซอฟต์แวร์หรือโปรแกรมที่ถูกเขียนขึ้นเพื่อการทำงานเฉพาะอย่างที่เราต้อง การ เช่น งานส่วนตัว งานทางด้านธุรกิจ งานทางด้านวิทยาศาสตร์ โปรแกรมทางธุรกิจ เกมส์ต่างๆ ระบบฐานข้อมูล ตลอดจนตัวแปลภาษา เราอาจเรียกโปรแกรมประเภทนี้ว่า User's Program เช่น Facebook,Msn,Twitter,IBooks เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 Smart TV ข้อน่ากังวลสำหรับการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

โดย ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง เครือข่ายนักวิชาการเพื่อผู้บริโภค ประธานอนุกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ด้านสินค้าและบริการตอนนี้การประมูลทีวีดิจิตัลก็เสร็จเรียบร้อย กำลังทดลองออกอากาศในบางพื้นที่ แต่นโยบายแจกกล่อง set top box กำลังเป็นประเด็นที่ถกเถียงถึงความโปร่งใส และราคาคูปองที่จะแจกให้ผู้บริโภค ที่ราคาอาจจะสูงเกินจริง จนทำให้ประเทศชาติเสียหายได้ ถ้าไม่ระมัดระวังและมีการควบคุมวิธีการแจกคูปองที่ดี อย่างไรก็ตามสังคมกำลังเดินหน้าไปสู่การสื่อสารยุคดิจิตัล การให้ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้นกับผู้บริโภค เพื่อเตรียมความพร้อมในการก้าวเข้าสู่ยุคทีวีดิจิตัลเป็นสิ่งสำคัญ วันนี้ผมขอนำสถานการณ์เกี่ยวกับ เรื่อง Smart TV ของเยอรมนี ที่อยู่ในยุคทีวีดิจิตอล แล้วเป็นข้อกังวลสำหรับคนที่ต้องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมานำเสนอครับ Smart TV คือ อะไร คำว่า smart แปลเป็นภาษาไทย คือ ฉลาด และ smart TV เป็นโทรทัศน์ที่นอกจากสามารถดูรายการต่างๆ ได้เหมือนกับเครื่องรับโทรทัศน์อื่นๆ แล้ว ยังสามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ต และสามารถลง Application เหมือนกับ Smartphone ได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังสามารถทำหน้าที่เป็นเครื่องมือสื่อสารไปยัง social media ไม่ว่าจะเป็น facebook Twitter และ Youtube ผู้ชมสามารถใช้รีโมต ที่สามารถพิมพ์ตัวอักษร ในการเลือกช่องทางการสื่อสารที่สามารถเกิดขึ้นได้ไปพร้อมๆ กับการชมรายการทางโทรทัศน์  ที่เกิดขึ้นบนจอเดียวกัน สำหรับการเลือกซื้อ Smart TV ผู้บริโภคจะต้องพิจารณาถึงความคมชัดของจอภาพ หากผู้ใดสนใจ ว่า Smart TV รุ่นไหนดีอย่างไรนั้น ต้องสอบถามมาที่ กอง บก. เนื่องจากสามารถเข้าถึงผลการทดสอบ Smart TV ของ ICRT ได้ แต่เงื่อนไขที่สำคัญคือ ต้องมี Wifi หรือสัญญาณอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อ  โดยจะต้องมีความเร็วของอินเตอร์เน็ตไม่ต่ำกว่า 6 Mbits/ Second และสำหรับการรับชม HD Video ก็ไม่ควรมีความเร็วต่ำกว่า 8 Mbits/sec   ข้อน่ากังวลต่อประเด็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล สถานีโทรทัศน์ในเยอรมนีหลายช่อง รวมทั้ง Google ได้มีการเก็บข้อมูล ด้วยโปรแกรมที่ทำหน้าที่เหมือนกับสปาย (Google Universal Analytics) ที่สามารถสะกดรอยทางดิจิตัล (Digital trace) ผ่าน smart TV ได้ เมื่อผู้ชม Smart TV ใช้บริการของ Gmail หรือ Google ก็จะรู้ทันทีว่าใครเป็นผู้ใช้ ไม่สามารถปกปิด Identity ได้ นอกจากนี้ Smart TV บางยี่ห้อ เช่น ซัมซุง จะมีกล้องติดไว้ที่ Smart TV ด้วย เพื่อการสื่อสาร face to face communication Smart TV ก็จะจำหน้าของคนในครอบครัวที่ดูทีวีได้อีกด้วย ซึ่ง Smart TV จะจำได้ว่าสมาชิกในครอบครัวคนไหน ชอบดูรายการใด และสามารถรู้ได้อีกเช่นกันว่า ตรงไหนคือ เวลาโฆษณา ซึ่งจะทำให้ซัมซุงมีข้อมูลของผู้ชมทุกคนในครอบครัว หากใครต้องการปกปิดข้อมูลส่วนตัวนี้ ก็สามารถไปปิด Function Smart TV ที่เรียกว่า Personlization and Recommendation service นอกจากนั้นยังจะมีไมโครโฟนสำหรับใช้เสียงสั่งงานด้วย เช่น การใช้เสียงเปลี่ยนช่องรายการ เสียงที่ส่งไปยัง TV นั้น เป็นข้อมูลที่สำคัญเฉพาะตัว (Biomimetric data) ที่ไม่สมควรจะปล่อยออกไปยังอินเตอร์เน็ต เพราะสามารถถูกโจรกรรมข้อมูลและขโมย password ของเราได้ ทางที่ดีเราไม่ควรใช้งานอินเตอร์เน็ตด้วยระบบสั่งการด้วยเสียง การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลจะเป็นงานที่สำคัญในเชิงเทคนิคสำหรับหน่วยงานภาครัฐ ในการสื่อสารยุคดิจิตัลที่พลเมืองในฐานะผู้บริโภคต้องได้รับความคุ้มครอง การมีคณะกรรมการระดับชาติจึงมีความจำเป็น แม้ว่า ใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 2553 จะมี มาตราที่ว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ก็ยังไม่เพียงพอในการรับมือกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนมาสู่ยุคดิจิตัล แน่นอนว่าจะต้องมีการเคลื่อนไหวในเรื่องนี้อย่างแน่นอน   แหล่งข้อมูล test ฉบับที่ 12/2011 และ test 5/2014  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point