ฉบับที่ 270 สมาร์ตโฟน 2023

        กลับมาอีกครั้งกับผลทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนแอนดรอยด์ คราวนี้ฉลาดซื้อนำเสนอให้คุณเลือก 25 รุ่น เลือกจากรุ่นที่ได้คะแนนระดับต้นๆ จากการทดสอบเปรียบเทียบขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research and Testing) ในครึ่งแรกของปี 2023           การทดสอบเปรียบเทียบครั้งนี้แบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้าน ได้แก่            ร้อยละ 25   ประสิทธิภาพของกล้อง            ร้อยละ 15   แบตเตอรี             ร้อยละ 15   หน้าจอ             ร้อยละ 10   คุณภาพเสียง             ร้อยละ 10   ความทนทาน             ร้อยละ 10   ประสิทธิภาพโดยรวม         เนื่องจากพฤติกรรมและความคาดหวังของผู้ใช้ “สมาร์ตโฟน” ยุคนี้เปลี่ยนไป คะแนน “การใช้งานโทรศัพท์” จึงถูกนำไปรวมกับคะแนนด้านความหลากหลายของฟีเจอร์ การใช้งานอย่างปลอดภัย และความสะดวกในการใช้งาน รวมกันเป็นอีกร้อยละ 15 ที่เหลือ         สมาร์ตโฟนเหล่านี้มีตั้งแต่รุ่นที่ขนาดหน้าจอ 6.1 ไปจนถึง 7.6 นิ้ว สนนราคาระหว่าง 7,000 ถึง 63,000 บาท* รุ่นที่ได้คะแนนสูงสุดในการทดสอบครั้งนี้ (80 คะแนน) ไม่ใช่รุ่นที่แพงที่สุด แต่ก็ราคามากกว่า 30,000 บาท ในขณะที่รุ่นที่ถูกสุดเป็นรุ่นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดเช่นกัน โชคดีที่ยังมีรุ่นที่ได้คะแนนดีพอสมควรในราคาประมาณหนึ่งหมื่นกว่าบาท แต่หน้าตาและสเปคจะถูกใจหรือไม่ พลิกดูในหน้าต่อไปได้เลย        ·      ราคาที่แสดงเป็นราคาที่ได้จากการค้นหาในอินเทอร์เน็ต ก่อนซื้อโปรดตรวจสอบราคาล่าสุดและโปรโมชันกับทางร้านอีกครั้ง        ·     ดูผลการทดสอบเปรียบเทียบสมาร์ตโฟนครั้งก่อนหน้านี้ได้ใน ฉลาดซื้อ ฉบับ 253

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 256 ลืมฉันได้ไหม

        เทคโนโลยีในการระบุตัวตนด้วยข้อมูลใบหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราคุ้นเคยกันดีกับฟังก์ชันปลดล็อกสมาร์ตโฟน หรือการยืนยันตัวตนเพื่อความปลอดภัยที่สนามบินบางแห่ง แต่เราอาจไม่สบายใจนัก หากมีใครมาแอบส่องและบันทึกข้อมูลใบหน้าของเราขณะจับจ่ายเลือกซื้อสินค้าอยู่ในห้าง          เรื่องนี้กำลังเป็นเรื่องร้อนที่ออสเตรเลีย หลังองค์กรผู้บริโภค Choice ได้สำรวจการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในห้างค้าปลีก 25 แห่ง และพบว่ามีห้างค้าปลีกสามห้าง ได้แก่ Kmart, Bunnings และ The Good Guys ที่นำเทคโนโลยีจดจำใบหน้ามาใช้ ด้วยเหตุผลหลักคือป้องกันการสูญหายของสินค้า โดยทางห้างอ้างว่าได้ติดป้ายแจ้งให้ผู้บริโภคทราบแล้วว่าการเดินเข้าประตูมาถือเป็นการยอมรับเงื่อนไขดังกล่าวแต่ป้ายเหล่านี้มีขนาดค่อนข้างเล็ก ถ้าไม่ตั้งใจมองก็อาจพลาดไปได้ง่ายๆ จึงเกิดคำถามว่า ห้างแน่ใจได้อย่างไรว่าลูกค้าเห็น และได้อ่านป้ายดังกล่าวแล้วจริงๆ และผู้บริโภครู้หรือไม่ว่าข้อมูลดังกล่าวจะถูกนำไปใช้หรือจัดเก็บอย่างไร นานแค่ไหน ส่งต่อให้ใคร ปลอดภัยจากการถูกแฮคหรือไม่ ที่สำคัญคือไม่มีออปชัน “ไม่ยินยอมให้จดจำใบหน้าของฉัน” ให้ลูกค้าได้เลือก        การสำรวจความคิดเห็นของนักช้อป 1,000 คน ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดย Choice พบว่ามีถึงร้อยละ 76 ที่ไม่รู้ว่ามีการนำระบบจดจำใบหน้ามาใช้ในห้าง  ร้อยละ 78 บอกว่าตนเองรู้สึกกังวลเรื่องความปลอดภัย และร้อยละ 83 บอกว่าห้างควรแจ้งให้ลูกค้าทราบล่วงหน้าด้วย            เทคโนโลยีที่ว่านี้ นอกจากจะเก็บข้อมูล “ใบหน้า” ของลูกค้าแล้ว ยังติดตามจำนวนครั้งที่ลูกค้าเข้าร้าน ช่วงเวลาและระยะเวลาที่อยู่ในร้าน อีกทั้ง “รีแอคชัน” ของลูกค้าเมื่อเห็นป้ายราคา หรือโฆษณาต่างๆ รวมไปถึงบุคคลที่มักจะมาเดินช้อปด้วยกัน เป็นต้น          ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนี้บอกว่า ข้อมูลใบหน้าของลูกค้าจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับภาพในฐานข้อมูลที่มีการ tag แยกหมวดหมู่ไว้ และในอุดมคติ ภาพใบหน้าเหล่านี้จะถูกเข้ารหัสและนำไปจัดเก็บไว้อย่างปลอดภัยในไฟล์ที่อ่านได้โดยอัลกอริธึมเฉพาะเท่านั้น แต่ในความเป็นจริง ยังไม่มีใครสามารถรับรองได้        ส่วนในทางเทคนิค ห้างสามารถนำข้อมูลใบหน้าที่มีอยู่ ไปเทียบกับ “รูปถ่าย” ในโซเชียลมีเดียที่เจ้าของหน้าโพสต์ไว้ ทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเครดิต ฐานะทางเศรษฐกิจ กลุ่มคนที่คบหาหรือแม้แต่ทัศนคติทางการเมืองของลูกค้าได้ด้วย        โดยสรุปคือองค์กรผู้บริโภคเป็นกังวลและต้องการความโปร่งใสเรื่องแนวปฏิบัติในการจัดการข้อมูลของบริษัทเหล่านี้ เนื่องจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายความเป็นส่วนตัวของออสเตรเลียที่ระบุว่า “ข้อมูลที่ผู้ประกอบการจัดเก็บ จะต้องเหมาะสมกับเป้าหมายในการดำเนินธุรกิจ และจะต้องไม่มากไปจนอาจก่อให้เกิดอันตราย”         ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลแห่งออสเตรเลีย Australian Information Commissioner (OAIC) กำลังดำเนินการสอบสวนห้าง Kmart และ Bunnings ว่านำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้อย่างไร ละเมิดกฎหมายเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือไม่ ทั้งสองห้างบอกว่ายินดีให้ความร่วมมือ ในขณะที่ The Good Guys ก็ประกาศหยุดการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวไว้จนกว่าจะรู้ผลการสอบสวน        ระหว่างนี้ Choice ได้ให้คำแนะนำแบบติดตลกไว้ว่า หากผู้บริโภคไม่อยากถูกจดจำใบหน้าเวลาไปเดินห้าง ก็ให้ใส่หมวก ใส่แว่นกันแดด หรือหน้ากากอนามัยไปพลางๆ ก่อน แต่ก็ต้องทำใจเพราะช่วงเวลาทองนี้คงมีอีกไม่นาน เทคโนโลยีดังกล่าวกำลังถูกพัฒนาให้ฉลาดขึ้นทุกวันhttps://www.smh.com.au/technology/kmart-and-bunnings-use-of-face-recognition-tech-sparks-investigation-20220713https://www.choice.com.au/consumers-and-data/data-collection-and-use/how-your-data-is-used/articles/kmart-bunnings-and-the-good-guys-using-facial-recognition-technology-in-storehttps://www.securityindustry.org/wp-content/uploads/2022/04/future-of-facial-recognition-web.pdf

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 สมาร์ตโฟน

        สำหรับหลายๆ คน ตอนนี้อาจได้เวลาเปลี่ยนสมาร์ตโฟนที่ใช้อยู่กันแล้ว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลทดสอบโทรศัพท์มือถือแอนดรอยด์ 25 รุ่น ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT) ได้ทำไว้ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2022 ให้สมาชิกได้เลือกกัน         สมาร์ตโฟนรุ่นที่นำมาทดสอบคราวนี้มีขนาดหน้าจอระหว่าง 6.1 – 6.8 นิ้ว และด้วยหน้าที่หลักในการเป็นกล้องถ่ายรูปหรือวิดีโอ นอกจากกล้องหลัง 1 ตัวตามปกติแล้ว โทรศัพท์เหล่านี้ยังมีกล้องหน้าไว้เอาใจคนชอบเซลฟี่ 2 – 4 กล้องแล้วแต่รุ่นด้วย         ในการทดสอบมีการแบ่งคะแนนหลักๆ ออกเป็น 6 ด้านหลักๆ โดยให้สัดส่วนคะแนนร้อยละ 25  กับการถ่ายภาพ/บันทึกวิดีโอ  ร้อยละ 15 กับแบตเตอรี อีกร้อยละ 15 กับหน้าจอ นอกจากนี้ยังให้สัดส่วนร้อยละ 10 เท่ากันกับความทนทาน คุณภาพเสียง และประสิทธิภาพโดยรวม อีก 15 คะแนนที่เหลือเป็นคะแนนสำหรับความสะดวกในการใช้งาน ฟีเจอร์ต่างๆ ฟังก์ชันโทรศัพท์ และความปลอดภัย         ในภาพรวมเราพบว่าโทรศัพท์รุ่นที่ได้คะแนนสูงมักจะมีราคาแพงตามไปด้วย แต่รุ่นราคากลางๆ ที่ใช้งานได้ดีพอสมควรก็ยังมีอยู่บ้าง ส่วนที่ราคาถูกมากๆ นั้นประสิทธิภาพน่าจะไม่เหมาสำหรับการใช้งานเข้มข้นอย่างที่คนใช้สมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ต้องการ         โทรศัพท์ที่เราทดสอบคราวนี้มีสนนราคาระหว่าง 2,000 ถึง 57,000 บาท นอกจากคะแนนรวมแล้ว แต่ละรุ่นยังมีจุดเด่นจุดด้อยต่างกัน เชิญพลิกหน้าถัดไปเพื่อค้นหาสมาร์ตโฟนที่ตรงใจ ในราคาที่พร้อมจ่ายกันได้เลย

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 250 อยากซ่อมต้องทำได้

        ในยุคที่มนุษย์เราต้องพึ่งพาอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อการสื่อสาร การเรียน การทำงาน ฯลฯยอดขายอุปกรณ์เหล่านี้จึงเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล ควบคู่ไปกับปริมาณขยะที่เกิดจากมัน ทั้งนี้เพราะผู้บริโภค(ถูกทำให้) รู้สึกว่าสินค้าเหล่านี้มีความซับซ้อนยุ่งยาก ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการซ่อม ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่แพงลิ่ว สุดท้ายก็ตัดใจ “ทิ้ง” แล้วซื้อใหม่ สถิติในปี 2019 ระบุว่า โดยเฉลี่ยแล้วเราสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์กันคนละ 7.3 กิโลกรัมต่อปี         ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือสมาร์ตโฟน ข้อมูลจากรายงานของ NGI Forward เรื่อง Breaking the two-year cycle: Extending the useful life of smartphones ภายใต้การสนับสนุนของสหภาพยุโรป (ที่ประชากรเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือทุก 2 ปี) ระบุว่าหากเรายืดอายุการใช้งานของสมาร์ตโฟนออกไปได้ 3-4 ปี เราจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้ร้อยละ 29 ถึงร้อยละ 44 เลยทีเดียว         ตั้งแต่ 2017 เป็นต้นมา มีโทรศัพท์มือถือถูกขายออกไปไม่ต่ำกว่า 1,500 ล้านเครื่องในแต่ละปี และสมาร์ตโฟนหนึ่งเครื่อง ซึ่งหนักไม่เกิน 200 กรัม สามารถทำให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 40 – 80 กิโลกรัม พูดง่ายๆ มันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าเครื่องซักผ้าด้วยซ้ำ และร้อยละ 72 ของรอยเท้าคาร์บอนของสมาร์ตโฟนก็เกิดขึ้นก่อนถึงมือผู้บริโภค เพราะวัตถุดิบที่ใช้มีทั้งโลหะ แร่ธาตุหายากที่ได้จากการทำเหมือง และในกระบวนการผลิตยังต้องผ่านกระบวนการใช้สารเคมีอันตรายที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย เราซ่อมสมาร์ตโฟนเองได้จริงหรือ?        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ค่าย Apple ซึ่งเข้มงวดเรื่องการส่งซ่อมกับบริษัทมาตลอด ประกาศว่าพร้อมให้ผู้บริโภคใช้ “สิทธิ์ในการซ่อม” แล้ว โดยช่วงแรกจะจำกัดเฉพาะจอ แบตเตอรี และการแสดงผลของ iPhone 12 และ iPhone 13 โดยบริษัทจะวางจำหน่ายอะไหล่กว่า 200 ชิ้น รวมถึงเครื่องมือสำหรับซ่อมไว้ในเว็บไซต์   แต่ Apple ไม่ใช่เจ้าแรกที่ทำเช่นนั้น เมื่อปี 2013 บริษัทธุรกิจเพื่อสังคมรายหนึ่งในเนเธอร์แลนด์ได้เปิดตัว Fairphone สมาร์ตโฟนดีไซน์โมดูลาร์ที่ประกอบด้วยชิ้นส่วน 8 ชิ้น ออกแบบมาเพื่อรองรับการถอดเปลี่ยนอะไหล่ได้โดยใช้ไขควงธรรมดา และมีอะไหล่จำหน่ายแยก         โทรศัพท์ของค่ายนี้ยังออกแบบมาให้ง่ายต่อการรีไซเคิล เช่น รุ่น Fairphone 3 สามารถรีไซเคิลได้ถึงร้อยละ 50  ทำได้ดีขึ้นจาก Fairphone 2 ที่รีไซเคิลได้ร้อยละ 30 (สมาร์ตโฟนทั่วไปทำได้ร้อยละ 20 เท่านั้น)           รุ่นล่าสุด Fairphone 4 ที่เปิดตัวเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาด้วยราคา 579 -649 ยูโร (ประมาณ 22,000 – 25,000 บาท) ยังให้เวลารับประกันถึง 5 ปีด้วย         สมาร์ตโฟนของบริษัทดังกล่าวซึ่งมีพนักงานร้อยกว่าคน มียอดขายในปี 2020 ประมาณ 95,000 เครื่อง จากการทำตลาดเฉพาะในอังกฤษและสหภาพยุโรป ได้ครองที่หนึ่งทุกครั้งในการจัดอันดับสมาร์ตโฟนที่ผู้ใช้ “ซ่อมเองได้”  โดย ifixit.com เว็บไซต์สัญชาติอเมริกันซึ่งเป็นแหล่งรวมข้อมูลเกี่ยวกับการซ่อมโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ไปจนถึงรถยนต์         Fairphone จากเนเธอร์แลนด์ได้คะแนนไป 10 เต็ม 10            ตามมาติดๆ ด้วย Shiftphone จากเยอรมนีที่ได้รางวัล German Sustainability Award 2021 ที่ได้ไป 9 คะแนน           ในอันดับกลางๆ ได้แก่ iPhone 12 และ Google Pixel ที่ได้ 6 คะแนนเท่ากัน         รุ่นที่ได้คะแนนต่ำได้แก่ Microsoft Surface Duo และ Galaxy 2 Flip ที่ได้ไป 2 คะแนน และ Motorola Razor ที่ได้ไปเพียง 1 คะแนนเท่านั้น          นี่เป็นเพียงตัวอย่างเท่านั้น สมาชิกสามารถเข้าไปดูข้อมูลฉบับเต็มได้ที่เว็บไซต์ ซึ่งเป็นชุมชนของผู้ที่มีความสนใจด้านนี้ คุณสามารถเข้าไปเรียนรู้หรือแบ่งปันวิธีซ่อมโทรศัพท์ ช่วยแปลเนื้อหาบางส่วนเพื่อขยายการเรียนรู้ให้กว้างขวางขึ้น รวมถึงสั่งซื้ออะไหล่หรืออุปกรณ์ที่จำเป็นได้ด้วย        เทรนด์ “ซ่อมได้” สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์กำลังมาแรง เราน่าจะได้เห็นการออกแบบเพื่อตอบสนองความต้องการในแนวนี้มากขึ้น แม้แต่รถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตออกมาก็ลดความซับซ้อนให้ผู้ใช้รถรู้สึกอุ่นใจที่สามารถซ่อมหรือซื้อหาอะไหล่มาเปลี่ยนเองได้ และความเรียบง่ายในการออกแบบยังมีส่วนทำให้ราคาถูกลงอีกด้วย   https://www.dw.com/en/fairphone-shiftphone-cell-phone-smartphone-environment-climate-co2https://research.ngi.eu/reports-white-papers/breaking-the-two-year-cycle-extending-the-useful-life-of-smartphones/https://positioningmag.com/1240029https://www.thestandard.com.hk/breaking-news/section/6/183103/Apple-to-allow-iPhone-users-to-repair-their-own-deviceshttps://www.ifixit.com/

อ่านเพิ่มเติม >