ฉบับที่ 261 คดีแพ้ คนไม่แพ้ ตีแผ่ฟิตเนสเอาเปรียบผู้บริโภค

        “นี่ไม่ได้หมายความว่าเราเป็นคนเจ้าปัญหา แต่เป็นเรื่องว่าด้วยสิทธิของผู้บริโภคในการรับบริการ ถ้าเราชำระเงินค่าบริการครบถ้วนแล้ว เราได้รับบริการที่ครบถ้วนตามนั้นหรือไม่ เมื่อผมเห็นว่าไม่ได้ ผมสมัครได้ก็เลิกได้สิครับ”         ด้วยความคิดนี้ คุณจตุพล ปัทม์วิชัยพร จึงตัดสินใจยื่นฟ้องศาลผู้บริโภคว่าเขาถูกละเมิดสิทธิจากฟิตเนสแห่งหนึ่งซึ่งเขาเป็นสมาชิกรายปีอยู่ ในกรณีที่ฟิตเนสปฏิเสธการขอยกเลิกสมาชิกของเขา         ถึงแม้ในวันนี้เขาจะแพ้คดี แต่เขายังคงเชื่อมั่นในพลังของผู้บริโภค และยินดีมาคุยกับ “ฉลาดซื้อ” เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ให้คนอื่นๆ ได้รู้เท่าทันการถูกเอาเปรียบจากธุรกิจฟิตเนส สมัครเป็นสมาชิกฟิตเนสนานแค่ไหน แล้วทำไมถึงจะขอยกเลิก         ตั้งแต่ปลายปี 2561 ผมสมัครสมาชิกประเภทรายปี คือชำระเงินในวันแรกที่สมัครเต็มจำนวน แล้วก็มาเล่นให้ครบหนึ่งปี พอเข้าปีที่สองตอนจะต่ออายุทางฟิตเนสแจ้งว่าเขาเปลี่ยนเจ้าของ เปลี่ยนชื่อใหม่ สัญญาที่เซ็นครั้งที่สองก็เลยเป็นชื่อของที่ใหม่ เริ่มประมาณสัญญาใหม่เดือนมกราคม ปี 2563 พอดีมีการระบาดของโควิดเข้ามาช่วงกุมภาพันธ์ ต่อมารัฐบาลก็สั่งล็อคดาวน์ ฟิตเนสก็ต้องปิด พอเริ่มผ่อนคลายให้เปิดได้บางช่วง ผมก็ไปใช้บริการอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะปิดอีกในช่วงตุลาคมแล้วยาวเลย เพราะโควิดระบาดหนักมาก         ฟิตเนสกลับมาเปิดได้ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ผมก็มาออกกำลังกาย แต่ว่าบริการต่างๆ ตามที่ตกลงกันไว้ถูกตัดออกไปหมด ทั้งห้องซาวน่า (ห้องอบไอน้ำ) คลาสโยคะ คลาสออกกำลังกายก็ไม่เปิด เปิดเฉพาะส่วนยกน้ำหนัก ลู่วิ่ง ผมก็บอกเจ้าหน้าที่ว่าอย่างนี้ไม่ได้นะ เพราะเราตกลงกันแล้วว่าจะต้องให้บริการอะไรบ้าง เขาก็บอกว่าช่วงนี้ยังไม่พร้อม ผมก็บอกว่าถ้าคุณจะทำอย่างนี้ คุณต้องมีมาตรการชดเชยให้ลูกค้านะ ก็คือว่าคุณมาเปิดแล้ว แต่คุณให้บริการไม่ครบ คุณต้องมีอย่างอื่นมาตอบแทน ผมก็ต่อว่าไป เจ้าหน้าที่เขาก็เถียงว่าไม่ใช่เจ้าของ ตัดสินใจอะไรไม่ได้ ผมก็ขอคุยกับเจ้าของ เขาก็เลี่ยงไม่ให้เจ้าของมาเจอผม พอผมเข้าไปที่ฟิตเนส เขาก็ทำเฉยกัน อันนี้คือสิ่งหนึ่งที่ผมรู้สึกไม่พอใจ         แล้วผมก็ยังกังวลว่าจะติดเชื้อโควิดจากลูกค้าท่านอื่นที่มาใช้บริการด้วย เพราะไม่มีใครสวมหน้ากากอนามัยเลย แล้วบางทีเขาก็ให้เข้ามาโดยไม่ได้วัดอุณหภูมิ ไม่ได้ตรวจอะไร ไม่ได้มีการลงทะเบียนอย่างถูกต้อง อีกอย่างหนึ่งคือพอผมมาออกกำลังกายแล้วผมใส่หน้ากากอนามัย ผมก็หายใจไม่สะดวกด้วย ทีนี้ผมก็บอกเขาไปว่าจะขอยุติไว้เท่านี้ ส่วนที่เล่นไปแล้วก็ให้จ่ายเงินตามปกติ เพราะผมให้เงินไปแล้ว แต่ส่วนที่ผมไม่มาเล่นจะขอคืนตามสัดส่วนไป ก็พูดกันตรงๆ อย่างนี้เลย แล้วทางฟิสเนสตอบกลับมาว่ายังไงบ้าง         เจ้าหน้าที่เขาก็พูดว่าจะขอแจ้งเจ้าของก่อน เขาตัดสินใจเองไม่ได้ เขาจะซื้อเวลาออกไปเรื่อยๆ จนดูว่าเริ่มไม่จริงใจกับสิ่งที่ผมเรียกร้องไปแล้ว ผมก็บอกไปว่าขอหยุดวันนี้เลยแล้วกัน คุณมีเอกสารใบลาออกหรือใบอะไรไหม ผมจะเขียนเลยว่าขอคืนเงิน ขอยุติ เขาก็บอกว่าไม่มี ผมก็เลยบอกว่าผมพูดปากเปล่าวันนี้เลยนะว่าผมหยุดตั้งแต่วันนี้ แล้วผมจะทำหนังสือมาให้คุณเซ็น ผมก็กลับไปทำหนังสือมาให้เซ็น เขาก็ยังไม่ยอมเซ็นชื่อในเอกสารที่เราเตรียมไปให้ แค่ลงชื่อว่ารับเรื่องไว้เท่านั้น พออีกประมาณสองอาทิตย์ ผมก็เข้าไปตามเรื่อง เขาก็มีหนังสือปฏิเสธว่าไม่ให้ยกเลิกมา อ้างว่าผมกลัวโควิดไปเองอย่างนั้นอย่างนี้ รัฐบาลเขาให้เปิดแล้วคุณก็ต้องมาเล่น แต่ว่าเขาไม่ได้ดูไงว่าคนที่เขามาเล่นจริงๆ เขาได้รับผลกระทบอย่างไร         ผมก็เลยบอกว่าสัญญาที่เราเซ็นกันไว้คือตกลงกันในสถานการณ์ปกติ แต่วันนี้มีโควิดแล้วไปต่อไม่ได้ในการที่จะออกกำลังกายในสถานการณ์อย่างนี้ ทิ้งไปเลยก็เสียเงินฟรี คุณได้ผลประโยชน์ ผมเสียประโยชน์ ก็ต้องยุติกันไว้ เขาก็ไม่ยอม ผมก็เลยต้องไปฟ้องศาลผู้บริโภค แล้วทำไมเลือกไปฟ้องศาลผู้บริโภค         ผมได้รับคำแนะนำจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่าลองมาใช้บริการช่องทางนี้ว่าเป็นอย่างไร แล้วผมก็ลองค้นหาจากอินเทอร์เน็ตดู เขาก็จะพูดกันโดยทั่วๆ ไปว่าศาลผู้บริโภคเขาค่อนข้างอยู่ข้างผู้บริโภค มีอะไรเรามาทางนี้ดีกว่า ถ้ามีความจริงใจ มีปัญหา ตรงไปตรงมา ก็มาเคลียร์มาพิสูจน์กันที่นี่ ก็เลยไปยื่นเรื่องที่นี่ ซึ่งพอผมเข้ากระบวนการต่างๆ แล้ว ผลออกมาก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ผู้บริโภคคาดหวัง ในด้านของคำตัดสินต่างๆ แล้วก็การยกเลิก ก็สรุปว่ายกเลิก (สัญญา) ไม่ได้ ที่ศาลผู้บริโภค ไปดำเนินการคนเดียวเลย        ผมก็ไม่เคยขึ้นศาล ผมติดต่อสอบถามข้อมูลทางโทรศัพท์ ส่งข้อมูลให้เจ้าหน้าที่ทางไลน์ เขาให้ผมส่งเอกสารข้อมูลเพื่อทำสำนวนคำฟ้อง ต่อไปก็เริ่มกระบวนการไกล่เกลี่ย ผมก็ไม่รู้ว่าบทบาทของศาลในกระบวนการไกล่เกลี่ยเป็นอย่างไร แต่เมื่อไกล่เกลี่ยแล้วทางฝ่ายฟิตเนสเข้าไม่ยอมคืนเงิน ผมเห็นว่าทางผู้ประกอบการเขาจ้างทนายมา แล้วเขาคงมองว่าไม่แพ้หรอกคดีอย่างนี้ เพราะถูกรัฐบาลสั่งปิดไม่ได้อยากหยุดเอง ตัวผมเองก็ไม่ได้โทษรัฐบาลที่สั่งปิด ที่ผมยกเลิกเพราะว่าคุณเปิดแล้วบริการไม่เหมือนเดิม ลูกค้าไม่ได้รับความสะดวก และประโยชน์จากการออกกำลังกายอย่างเต็มที่ อันนี้คือประเด็น ผมก็ไม่รู้ว่าไปตีความกันอย่างไร ไปโทษเป็นทำนองว่าผู้บริโภคเจ้าปัญหา หาเรื่อง เรื่องแค่นี้มาขึ้นศาลทำไม ตอนที่ไปขึ้นศาล ต้องมีทนายฝั่งเราไหม หรืออย่างไร         เขาบอกว่าศาลนี้เหมือนเป็นศาลพิเศษ คือเป็นศาลผู้บริโภค เป็นคดีผู้บริโภค เขาบอกว่าผู้บริโภค คุณไม่ต้องไปจ้างทนาย คุณมาที่นี่แล้วเดี๋ยวเขาจะมีคนร่างคำฟ้องให้คุณ ตอนแรกผมก็ว่าดีนะ คือได้ช่วยผู้บริโภคจริงๆ แต่พอไปเข้าจริงๆ กลับไม่ใช่ไง กลายเป็นผมไม่รู้เรื่องไปเลยและไม่มีคนแนะนำด้วย พอผมจะถามเพื่อขอคำแนะนำ เขาโยนไปทนายอาสา ไปถามทนายอาสา คุยกันเอาเอง ที่นี่คือทำสำนวนให้แล้วก็จบแค่นี้ แล้วไม่เกี่ยวอะไรแล้ว ที่เหลือเป็นเรื่องของคุณแล้ว ไม่ได้แจ้งอะไรผมเลย เขาไม่ได้ยุ่งอะไรกับผมด้วย เขาให้เราไปขึ้นศาล ผมก็ไปแบบไม่มีอะไรทั้งนั้น ไม่มีทนาย ก็ไปพูดเอง สืบเอง เตรียมเองหมด แต่ผมก็มองว่าไม่น่าจะยาก เพราะว่าผมก็เชื่อว่าผมเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม คือไปประเด็นแค่นี้ ไม่ได้ไปหาเรื่องอะไรใคร ผมก็เขียนไปชัดเจนแล้ว หลักฐานเราก็มีหมด ปัญหาที่ผมไปร้องคือ คุณเปิดแล้ว ผมไปใช้บริการแล้ว แต่ไม่ได้เป็นบริการตามที่ตกลงกัน อันนี้คือประเด็น ผมไปศาลเพราะเรื่องนี้ นอกจากศาลผู้บริโภคแล้วได้ไปที่อื่นอีกไหม หรือจบแค่นี้         ผมมาตรงนี้ ผมไม่ได้ต้องการมาเอาแพ้ชนะ ผมต้องการสิทธิผู้บริโภค ให้เห็นว่าเขาเอาเปรียบผู้บริโภคอย่างไร ผู้บริโภคเสียหายอย่างไร คือมาร้องกับหน่วยงานของรัฐเพื่อให้เห็นว่ามีเรื่องอย่างนี้นะ ในประสบการณ์ตรงนี้ผมจึงคิดว่าผมมาทางช่องทางของผู้บริโภคดีกว่า         ศาลตัดสินอย่างไรไม่เป็นไร ผมจบตรงนั้นไป ผมมาให้ความรู้ผู้บริโภคดีกว่า ให้ระวังป้องกัน แล้วเดี๋ยวจะเกิดมาตรฐานเอง เพราะผู้ผลิต ผู้ให้บริการ ถ้าเขารู้ว่าผู้บริโภครู้ทันแล้ว เขาจะมาหลอกก็หลอกไม่ได้ เมื่อหลอกไม่ได้ เขาก็ต้องเปลี่ยนพฤติกรรมของเขา ไม่เปลี่ยนคุณก็ต้องเจ๊ง ต้องปิดกิจการไปเพราะว่าเขาอยู่ไม่ได้ นี่คือให้ผู้บริโภคเป็นผู้บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องไปวิ่งเรื่องกฎหมายเรื่องอะไร ไม่มีประโยชน์ แนะนำให้ผู้บริโภคท่านอื่นๆ ป้องกันการเกิดเหตุการณ์แบบนี้อย่างไร         หนึ่ง-ถ้าไม่จำเป็น อย่าทำสัญญาลักษณะที่จ่ายเงินก่อนแล้วมาผ่อนรับบริการทีหลัง และอย่าไปจ่ายผ่านบัตรเครดิต คุณรูดเต็มจำนวนไป เขารับเงินไปแล้ว แต่ว่าคุณไปเป็นหนี้บัตรเครดิตอีกต่อ คือเขาจะพยายามดำเนินธุรกิจที่ได้เปรียบเรา ในด้านของการรับเงินก่อนไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ต้องระวังไว้ก่อนว่า ตรงนี้คุณจะเดินเข้าไปสู่ทางที่เสียเปรียบ         สอง-เรื่องสัญญา ก่อนจะลงชื่อต้องดูให้เรียบร้อย ถ้าเห็นจุดไหนที่เสียเปรียบ ไม่ต้องเซ็น แต่หากอยากสมัครจริงๆ ก็ต้องมีสัญญาพ่วง (สัญญาพ่วง หมายถึง สัญญาที่ผู้บริโภคร่างเตรียมไปเองเพื่อให้สถานประกอบการลงนาม) ระบุให้ละเอียดเลยว่ามีเครื่องออกกำลังกายตัวไหน ณ วันที่ออกกำลังกายกัน คลาสออกกำลังกาย ห้องออกกำลังกายอะไรพวกนี้ มีบริการอะไรบ้าง เขียนให้ครบถ้วนเลย แล้วถ้าเกิดว่าคุณไม่ปฏิบัติตามจะถือว่าคุณผิดสัญญากับเรา เรามีสิทธิบอกเลิกได้ อันนี้เป็นสัญญาของเรา ให้เขาเซ็นไว้เลย อย่าไปเซ็นฝ่ายเดียวเพราะถ้าเซ็นของเขา เขาจะเขียนเฉพาะประโยชน์ของเขา เช่น ไม่คืนเงินให้ ยกเลิกสัญญาไม่ได้ บริการต่างๆ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถ้ามีปัญหาอะไรในการใช้บริการทางสถานบริการจะไม่ขอรับผิดชอบใดๆ คือเขาจะเขียนอะไรที่เป็นประโยชน์ของเขาอย่างเดียว ผู้บริโภคไม่ได้อะไร         คือถ้าคุณเซ็นให้เขา เขาต้องเซ็นให้คุณด้วย แล้วคุณต้องรู้ว่าผู้บริหารของเขาชื่ออะไร เวลาที่คุณเอาสัญญาของคุณไปให้เขาเซ็น เขาจะต้องเซ็นโดย หนึ่ง-ลงนามพร้อมประทับตรา สอง-แนบสำเนาหนังสือรับรองบริษัทอายุไม่เกิน 6 เดือนมาด้วย ให้เราไว้ชุดหนึ่งเพื่อไม่ให้เป็นการได้เปรียบเสียเปรียบกัน อันนี้จะเป็นทางที่ช่วยได้ เพื่อให้เวลามีปัญหาในอนาคตจะได้มีทางออกว่า คุณก็ตกลงกับฉันไว้แบบนี้เหมือนกัน ไม่ใช่ลักษณะที่เป็นสัญญาทางเดียว         สาม-แนะนำให้สมัครเป็นรายเดือน คือผู้ประกอบการเขาอยากได้รายปี อยากได้หลายๆ ปีเพราะเขาอยากได้เงินก้อนเยอะๆ แต่อย่างที่ผมบอกคือผู้บริโภคเสียเปรียบตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นอย่างมากที่สุดคือชำระเป็นรายเดือน เดือนนี้ขอเล่นก่อน สมมติเล่น 1 มกราคม ถึง 30 มกราคม วันที่ 30 ค่อยจ่ายเงิน พยายามให้เป็นแบบนี้ให้ได้ ถ้าจะขอยกเลิกต้องแจ้งล่วงหน้า 30 วัน อย่าเป็นลักษณะทุ่มเงินก้อนระยะยาว เพราะพวกนี้ถ้าหนีไปแล้วคุณตามไม่ได้เลย มีโดนมากันเยอะแล้ว ฝากตรงนี้ให้ระมัดระวัง         สุดท้าย พอหลังจากผมไปฟ้องศาลผู้บริโภคได้ไม่นาน เจ้าของฟิตเนสเขาก็ขายกิจการทิ้งเลย คือ นิสัยของผู้ประกอบการอย่างนี้ลูกค้าก็ขยาดหมด เขาก็เข็ด คุณบริการไม่เต็มที่ เขาจะเลิกก็เลิกไม่ได้ แต่เงินของลูกค้าคุณก็เก็บไปเต็มจำนวนทั้งหมดแล้ว อย่างนี้ก็ทำให้ลูกค้าเขาก็หนีกันหมด ซึ่งตรงนี้ก็ไม่เป็นผลดีกับใครทั้งนั้นในธุรกิจนี้ในวงการนี้ ปากต่อปากลูกค้าก็หายหมด         “ผมว่าพลังผู้บริโภคอย่างของมูลนิธิฯ หรือว่าสภาฯ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลกเลยนะ สำคัญกว่าทุกองค์กรของภาครัฐด้วยซ้ำ เพราะว่าผู้บริโภคคือสิ่งสำคัญและเป็นหลักของการทำธุรกิจ เพราะธุรกิจเขาอยู่ได้เขาต้องมีลูกค้า มีผู้บริโภค แล้วการปฏิบัติของผู้บริโภคจะสร้างมาตรฐานให้กับผู้ประกอบธุรกิจเอง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 225 สิทธิของผู้ใช้ฟิตเนส

เรื่องการมี “สุขภาพ” ดีกำลังเป็นที่นิยมของคนปัจจุบัน ทำให้กิจการต่างๆ เกี่ยวกับการดูแลร่างกายได้รับความนิยมไปด้วย หนึ่งในนั้นคือธุรกิจฟิตเนส ที่บรรดาคนอยากมีหุ่นดี มีกล้าม มีซิกแพค สัดส่วนกระชับ เลือกใช้บริการ ซึ่งฟิตเนสแต่ละแห่งก็สรรหาเครื่องออกกำลังกาย และจัดโปรโมชั่นที่ดึงดูดใจลูกค้า แต่หากผู้ให้บริการไม่สามารถจัดหาสิ่งที่ผู้บริโภคคาดหวัง หรือผู้บริโภคมีเหตุให้ไม่สามารถใช้บริการได้ ต้องทำอย่างไร เรามาดูกัน         เรื่องที่ 1  อุปกรณ์ไม่พอ          ภูผา เป็นคนหนึ่งที่ต้องการมีหุ่นดี มีกล้าม มีซิกแพค จึงเลือกสมัครสมาชิกรายปีกับฟิตเนสแห่งหนึ่งในห้างชื่อดังย่านรังสิต โดยชำระเงินเป็นบัตรเดบิต เมื่อเขาไปใช้บริการช่วงแรกก็สะดวกสบายดี พื้นที่ อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายมีจำนวนมากเพียงพอต่อผู้มาใช้บริการ แต่เมื่อผ่านไปสักประมาณสองเดือน เขากลับรู้สึกไม่ค่อยสะดวกสบายเหมือนเดิม เพราะว่ามีสมาชิกเข้ามาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ทำให้พื้นที่ อุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกายไม่เพียงพอกับผู้มาใช้บริการ สมาชิกมีมากกว่าอุปกรณ์และเครื่องออกกำลังกาย แต่ทางผู้ให้บริการฟิตเนสกลับไม่ได้มีการเพิ่มเครื่องออกกำลังกายให้เพียงพอ ทำให้เขาไม่สามารถใช้อุปกรณ์ในการออกกำลังกายได้         ภูผาไตร่ตรองแล้ว เขาคิดว่า สิ่งนี้น่าจะเป็นเหตุบอกเลิกสัญญาและขอเงินได้  แต่เพื่อให้ชัดเจนจึงมาปรึกษาศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ว่ากรณีแบบนี้สามารถยกเลิกสัญญาและขอเงินคืนได้หรือไม่         เมื่อรับเรื่องราวของคุณภูผาได้ไม่ทันไร ก็มีการขอคำปรึกษาจากคุณทัดดาว ในกรณีเกี่ยวกับบริการฟิตเนสเช่นกัน มาลองดูเรื่องของคุณทัดดาวกันบ้าง         เรื่องที่ 2  เจ็บป่วย        คุณทัดดาว สมัครเป็นสมาชิกกับบริษัทฟิตเนสแห่งหนึ่งเมื่อเดือน พฤษภาคม ที่ผ่านมา แต่ยังไม่ทันได้เข้าใช้บริการ คุณทัดดาวเกิดอาการป่วยกะทันหัน มีอาการปวดท้องรุนแรงเมื่อเข้ารับการวินิจฉัยจากแพทย์ ระบุว่า เป็นเนื้องอกที่ต่อมหมวกไต ซึ่งจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัดด่วน         หลังจากผ่าตัดคุณทัดดาวยังต้องพักผ่อนต่อเนื่อง สภาพร่างกายย่อมไม่แข็งแรงพอจะไปใช้บริการที่ฟิตเนสได้ จึงทำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังบริษัทฟิตเนสดังกล่าว แต่พบว่าทางบริษัทฯ บ่ายเบี่ยงไม่ยินยอมให้ยกเลิกสัญญา แม้คุณทัดดาวจะมีใบรับรองแพทย์ยืนยันชัดเจนว่าตนเองมีเหตุให้ใช้บริการไม่ได้จริง โดยทางบริษัทฯ พยายามยื่นเงื่อนไขให้คุณทัดดาวจ่ายค่าบริการรายเดือน เดือนละ 500 บาท เพื่อเป็นค่ารักษาสถานภาพสมาชิกไว้  และจะระงับการเข้าใช้บริการชั่วคราวให้แทน “เพราะไม่สามารถยกเลิกสัญญา” ได้  จนกว่าจะหายดีจึงค่อยเข้ามาใช้บริการใหม่          คุณทัดดาวจึงปรึกษามาทาง ศูนย์พิทักษ์สิทธิเช่นกันว่า ควรทำอย่างไรดี แนวทางการแก้ไขปัญหา        ธุรกิจฟิตเนส มีกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ควบคุมกำกับดูแล คือ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2554 ข้อ 3 (4) ให้ผู้บริโภคมีสิทธิเลิกสัญญาได้ ดังนี้        1. อุปกรณ์/พื้นที่ ไม่เพียงพอ โดยไม่จัดหาอุปกรณ์ให้เพียงพอภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้งจากสมาชิก        2. มีใบรับรองแพทย์ โดยแพทย์ลงความเห็นว่าไม่สามารถออกกำลังกายได้        3. ได้รับบาดเจ็บจากผู้ฝึกสอนหรืออุปกรณ์ที่ชำรุดบกพร่องของฟิตเนส         เบื้องต้นผู้บริโภคที่พบปัญหาจากเหตุต่างๆ ต้องแจ้งให้ฟิตเนสทราบ เช่น เรื่องมีสมาชิกมาใช้บริการมากกว่าอุปกรณ์ ทำให้พื้นที่และอุปกรณ์ไม่เพียงพอ และให้แก้ไขปัญหาภายใน 7 วัน นับแต่วันที่รับแจ้ง ถ้าฟิตเนสยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ผู้ร้องสามารถใช้สิทธิเลิกสัญญาได้โดยทำหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรแจ้งการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน ส่งไปยังประธานกรรมการของบริษัท ณ ที่ตั้งสำนักงานใหญ่ และผู้จัดการสาขา แบบไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ ซึ่งบริษัทต้องคืนเงินค่าสมาชิกในส่วนที่ยังไม่ใช้บริการให้แก่ผู้ร้อง ภายใน 30 วัน นับแต่วันเลิกสัญญา ถ้าบริษัทไม่คืนเงินภายใน 30 วัน ผู้ร้องสามารถเรียกเบี้ยปรับได้ด้วย         ในกรณีทั้งของคุณทัดดาวและคุณภูผา ฝ่ายแรกได้ทำหนังสือแล้ว แต่บริษัทฯ บ่ายเบี่ยงจึงมีการเจรจาในเบื้องต้น ซึ่งทางฟิตเนสยินยอมยกเลิกสัญญาและคืนเงินทั้งหมดให้กับคุณทัดดาว ส่วนกรณีของคุณภูผา อยู่ระหว่างยื่นเรื่องดำเนินการ คาดว่าคงมีการยกเลิกสัญญาแต่อาจจะไม่ได้รับเงินคืนทั้งหมดเพราะได้ใช้บริการไปบางส่วนแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ชามหัศจรรย์ ยิ้มกันเฉพาะสมาชิก

ผมพบเอกสารเผยแพร่ต่อๆ กันมาเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ชาชนิดหนึ่ง ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ยิ้มแย้มน่ารักน่าชัง ทีแรกก็เข้าใจว่าเป็นผลิตภัณฑ์ชาชงสมุนไพรดื่มแบบทั่วๆไป แต่ยิ่งอ่านไปเรื่อยๆ กลับพบข้อความประหลาดๆ มากขึ้นทุกที “ชาสมุนไพรไล่โรค สำหรับท่านที่มีปัญหาสุขภาพไต เบาหวาน โคเลสเตอรอล ความดันโลหิต ระบบขับปัสสาวะอักเสบ” แค่เกริ่นเบื้องต้นก็คงทำให้ผู้ป่วยที่มีโรคเรื้อรังต่างๆ ดังกล่าวสนใจ และเป็นไปตามเคยครับ หลังจากนั้นก็ตามด้วยข้อความที่พรั่งพรู บรรยายสรรพคุณอย่างมหัศจรรย์ “ชาชนิดนี้ ทำจากใบชา 100% เป็น สมุนไพรไทยที่น่าจับตามองและน่าทึ่ง จากความสามารถในการกำจัดของเสียและขับพิษอย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งไม่ใช่ชาแต่เป็นสมุนไพรพื้นบ้านโบราณ”(อ้าวไม่ใช่ชาแล้วหรือ?) อย่าเพิ่งงงครับ เพราะประโยคต่อไปจะทำให้งงอีกครั้ง “ทำจากใบชาอัสสัม ล้างพิษสะสมในไต และล้างพิษในระบบเลือด ขับพิษร้อน ลดน้ำตาลและโคเลสเตอรอลในเลือด ปรับสมดุลระบบร่างกาย รักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับเบาหวาน และระบบปัสสาวะ อาการภูมิแพ้ และอาการไม่สบายเนื้อตัวอื่นๆ อันเกิดมาจากพิษสะสมในร่างกายมากเกินไป สามารถดื่มได้ตลอดวันโดยไม่สะสมในร่างกาย”  และเพื่อยืนยันสรรพคุณที่บรรยายมา จึงมีภาพบุคคลมาอ้างอิงผลในการรักษา โดยบรรยายว่า “ตนเคยป่วยเป็นเบาหวาน ระดับน้ำตาลสูงถึง 385 จนในที่สุดคุณหมอจะเริ่มรักษาโดยการฉีดอินซูลิน แต่ตนโชคดีที่มาเจอชาชนิดนี้ เมื่อนำมาใช้ ระดับน้ำตาลในเลือดก็ลดลงเหลือ 95” ก่อนจบลงโดยการบอกว่า “ขอฝากบอกทุกคนที่ป่วยเป็นเบาหวานว่าอย่ากลัวหรือกังวลใดๆ เพราะเราพบแล้วว่าชานี้จะล้างสารพิษ และของเสียออกจากร่างกาย ที่สำคัญคือขอให้เคร่งครัดและดื่มต่อเนื่องอย่างจริงจัง”  และไม่รู้ว่าผู้ผลิตจะรู้ช่องที่กฎหมายจะดำเนินการหรือเปล่า เอกสารชิ้นนี้จึงระบุข้อความชัดเจนว่า “เฉพาะสมาชิกเท่านั้น” (พยายามเลี่ยงว่า ไม่ใช่ของคนทั่วไปของสมาชิกเท่านั้น แต่ทำไมเผยแพร่ไปซะทั่วบ้านทั่วเมือง) แถมไม่ระบุชื่อที่อยู่ผู้ผลิตแต่อย่างใด นอกจากเว้นพื้นที่ว่างให้คนไปเขียนเติมเอาเอง(คงให้ผู้ขายไปเขียนเอาเอง แบบเอาตัวเองรอด แต่คนขายผิดเอง)ผมเห็นข้อมูลแบบนี้ก็อยากจะไปหาตัวผู้ผลิต แล้วถามไปเลยว่า ถ้ามันดีแบบนี้ทำไมไม่ไปขอขึ้นทะเบียนยาให้มันถูกต้อง แล้วรีบไปเสนอให้ทุกโรงพยาบาลใช้รักษาโรคต่างๆ ที่อ้างมามากมายให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย จะได้ไม่ต้องมาทำเอกสารแบบหลบๆ เลี่ยงๆ กฎหมายแบบนี้ยังไงก็ขอเตือนและขอให้ผู้อ่านช่วยกันเฝ้าระวังกันนะครับ ชามหัศจรรย์ ยิ้มกันเฉพาะสมาชิก แต่โฆษณาโอเวอร์ แถมอ้างอิงผิดหลักวิชาการแบบนี้  ผิดกฎหมายแน่นอน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ” ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น” ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค ล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 125 True Fitness ไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกภาพ

ช่วงที่ผ่านมา เว็บไซต์ www.consumerthai.org ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มีเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเกี่ยวกับบริการของ True Fitness อยู่หลายราย ลองมาดูตัวอย่างกัน“ดิฉันสมัครสมาชิก True Fitness ที่สาขาแครายไว้ค่ะ” คุณยุพานามสมมติของผู้บริโภครายหนึ่ง เริ่มเรื่องตอนที่สมัครเซลล์แจ้งว่า ถ้าอนาคตไม่ต้องการใช้บริการต่อก็สามารถโอนหรือขายต่อสมาชิกภาพให้ผู้อื่นได้ ดิฉันจึงเซ็นสัญญาไปและชำระเงินค่าสมาชิกราย 2 ปีไปครบเรียบร้อยแล้วแต่เมื่อวานติดต่อไปที่ฟิตเนสเพื่อสอบถามเรื่องการโอนสมาชิกให้เพื่อน พนักงานปฏิเสธเสียงแข็งว่า "เดี๋ยวนี้" โอนไม่ได้แล้วค่ะ ดิฉันเถียงกลับไปว่าตอนสมัครทำไมเซลล์พูดว่าโอนได้ ขายได้ พนักงานก็ไม่ตอบคำถามนี้ พูดแต่เพียงว่า ปกติเราไม่อนุญาตให้โอนสมาชิกนอกจากจะมีเหตุผลด้านสุขภาพเท่านั้น ส่วนเหตุผลส่วนตัวอื่นๆ เช่น การย้ายที่อยู่ ติดภารกิจเรื่องงาน ฯลฯ ไม่สามารถนำมาเป็นข้ออ้างในการโอนได้ดิฉันลองดูในสัญญา ก็เขียนไว้แค่ว่า สมาชิกภาพนี้มีลักษณะพิเศษ ไม่สามารถโอนได้หากไม่ได้รับความยินยอมจากทางบริษัท ดิฉันสามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้างคะ สิ่งที่เซลล์พูดก็เป็นเพียงคำพูดค่ะ ไม่ได้ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร แต่มีสมาชิกหลายคนที่ได้รับข้อมูลจากเซลล์มาแบบเดียวกันว่าโอนให้คนอื่นได้ คำพูดของเซลล์ถือเป็นการเจตนาบิดพลิ้วสาระสำคัญของสัญญาได้ไหมคะ”ส่วนอีกรายก็เขียนร้องเรียนมาว่า “เจอปัญหาเดียวกันเลยค่ะ” “ตอนสมัครปีที่แล้วน้องเซลล์ก็พูดเป็นมั่นเป็นเหมาะ ว่าสามารถโอนสิทธิได้ แต่ว่าได้แค่ครั้งเดียว โดยมีค่าธรรมเนียม ซึ่งที่ผ่านมาเราก็รู้กันอยู่ว่าเขาโอนกันเยอะแยะ พอมาถึงตอนนี้ดิฉันกับเพื่อนต้องการโอนสิทธิให้คนอื่น กลับมาบอกเราว่าเมื่อก่อนโอนได้ เดี๋ยวนี้ไม่ให้โอนแล้ว ดิฉันไม่ได้มีความรู้เรื่องกฎหมายนะคะ แต่เห็นว่าถ้าตอนหลังจะยกเลิกเรื่องการโอน ก็ควรมีผลเฉพาะกับคนที่สมัครหลังจากออกกฎนี้หรือเปล่า และสัญญารุ่นใหม่ก็ควรระบุไปเลยว่าไม่ให้โอนสิทธิไม่ว่ากรณีใดๆ ทั้งสิ้น”ปัญหาเป็นแบบนี้แนวทางการแก้ไขปัญหา จะต้องทำอย่างไร มาดูกัน แนวทางแก้ไขปัญหาขอตอบแบบในมุมของกฎหมายคดีผู้บริโภคเลยนะครับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 มาตรา 11 ได้บัญญัติไว้ว่า ประกาศ โฆษณา คำรับรอง หรือการกระทำด้วยประการใดๆ ของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งทำให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ในขณะทำสัญญาว่าผู้ประกอบธุรกิจตกลงจะมอบให้ หรือจัดหาให้ซึ่งสิ่งของบริการ หรือสาธารณูปโภคอื่นใด หรือจะดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งให้แก่ผู้บริโภคเพื่อเป็นการตอบแทนที่ผู้บริโภคเข้าทำสัญญา หรือข้อตกลงใดๆ ที่ผู้ประกอบธุรกิจจะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้บริโภคเพิ่มเติมขึ้นจากที่ได้ทำสัญญาไว้ ให้ถือว่าข้อความ การกระทำหรือข้อตกลงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของสัญญาระหว่างผู้บริโภคกับผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งผู้บริโภคสามารถนำสืบพยานบุคคล หรือพยานหลักฐานเกี่ยวกับข้อตกลงดังกล่าวได้ ถึงแม้ว่าการทำสัญญาเช่นว่านั้นกฎหมายจะกำหนดว่าต้องทำเป็นหนังสือหรือมีหลักฐานเป็นหนังสือและไม่ปรากฏข้อตกลงนั้นในหนังสือที่ได้ทำขึ้นก็ตามดังนั้น หากพบว่ามีลูกค้าหลายรายตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกัน ก็สามารถชวนกันมาเป็นพยานพิสูจน์ข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ได้ว่า เซลล์ได้มีการสัญญาในเรื่องต่างๆ ตรงกันหรือไม่ ถ้าใช้แต่ตัวเองก็จะเป็นหลักฐานที่อ่อนไป ศาลอาจไม่เชื่อได้แต่ก่อนที่เรื่องจะไปศาลนั้น ควรทำหนังสือขึ้นมาฉบับหนึ่ง เรียนถึงกรรมการผู้จัดการบริษัท เรื่องขอโอนสมาชิกภาพ รายละเอียดก็ว่าไป...ว่าไม่ยอมให้มีการโอนโดยอ้างเรื่องสัญญา แต่สมาชิกคนอื่นๆ ต่างได้รับข้อเสนอจากพนักงานขายเป็นเสียงเดียวกันว่าสามารถโอนสมาชิกได้ จึงขอให้บริษัทพิจารณาดำเนินการโดยเร็วภายในกี่วันก็ว่าไป แล้วให้สำเนาท้ายจดหมายว่า เรียนถึงมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจดหมายที่ส่งไปให้ผู้ประกอบธุรกิจนั้น ให้ส่งเป็นไปรษณีย์ตอบรับ เก็บสำเนาตัวจดหมายและใบตอบรับไว้เป็นหลักฐานเผื่อต้องฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคล่าสุดมีข่าวดีเพิ่มเติม...คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้ประกาศให้ธุรกิจการให้บริการออกกำลังกายเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ซึ่งให้สิทธิการเลิกสัญญาของผู้โภคได้ในกรณีต่อไปนี้1. ผู้ประกอบธุรกิจไม่มีอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการอื่นๆ ให้ตามที่สัญญา หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายมีการชำรุดบกพร่อง หรือให้บริการได้ไม่เหมาะสมและเพียงพอเมื่อเทียบกับจำนวนสมาชิกและพื้นที่ออกกำลังกาย โดยผู้ประกอบธุรกิจไม่จัดหาอุปกรณ์ออกกำลังกายหรือบริการที่ใกล้เคียงกันมาทดแทนได้ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากผู้บริโภค2. ผู้บริโภคมีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรจากแพทย์ยืนยันว่า การใช้บริการออกกำลังกายต่อไป อาจจะก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือสภาพร่างกาย หรือทำให้จิตใจผิดปกติได้3. ผู้บริโภคได้รับบาดเจ็บเนื่องจากผู้ฝึกสอนของผู้ประกอบธุรกิจ ไม่มีความรู้ความชำนาญ หรืออุปกรณ์ออกกำลังกายที่ไม่มีคำเตือนว่า ชำรุดบกพร่องเพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจได้มีเวลาปรับปรุงคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามสัญญาควบคุมฉบับนี้ คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคจึงกำหนดให้ประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ได้นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2554 เป็นต้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 “เคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก” เจ้าไหนน่าสนใจกว่ากัน

เมื่อช่องรายการที่สามารถรับชมได้ฟรีทั้ง 36 ช่องใหม่ที่ดูได้จากกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตอลและอีกกว่า 100 ช่องดูฟรีจากกล่องรับสัญญาณจานดาวเทียมทั้งแบบ จานดำหรือจานตะแกรง (ระบบ C Brand) และแบบ จานทึบ (KU Brand) ยังไม่โดนใจคนชอบดูทีวี “ช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก” หรือเคเบิลทีวีจึงเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ สำหรับคนที่อยากชมรายการทีวีที่แตกต่างออกไป ด้วยคุณภาพของรายการที่ดีกว่ารายการจากช่องฟรีทีวี รายการส่วนใหญ่เป็นรายการยอดนิยมจากต่างประเทศ รวมทั้งมีการแข่งขันกีฬาดังระดับโลกที่ถ่ายทอดให้ชมแบบสดๆ อย่าง ฟุตบอล หรือ เทนนิส ที่เดี๋ยวนี้ถูกเคเบิลทีวีซื้อลิขสิทธิ์ไปหมดแล้ว เพียงแต่มีเงื่อนไขสำคัญว่าต้องพร้อมที่จะจ่ายค่าบริการเพื่อสิทธิ์ในการรับชม“จุดเด่น” และ “จุดด้อย” ของช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกจุดเด่น1.ช่องรายการส่วนใหญ่เป็นช่องรายการยอดนิยมจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ พวกรายการกีฬา ภาพยนตร์ ซีรีส์ สารคดี ซึ่งหลายรายการออกอากาศใกล้เคียงหรือพร้อมกันกับที่ต่างประเทศ โดยเฉพาะการถ่ายทอดสดการแข่งขันกีฬาจากต่างประเทศ เช่น ฟุตบอล เทนนิส กอล์ฟ ซึ่งถือว่าเป็นจุดแข็งที่สุดที่หลายๆ คนยกให้เป็นเหตุผลแรกในการเลือกติดตั้งกล่องรับสัญญาณดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิก 2.ช่องรายการจากต่างประเทศส่วนใหญ่ออกอากาศด้วยระบบความคมชัดสูง หรือระบบ HD (High-Definition) 3.ช่องรายการจากต่างประเทศส่วนใหญ่มีระบบเสียงภาษาอังกฤษและมีคำบรรยายไทยประกอบ บางช่องรายการก็เป็นระบบ 2 ภาษา 4.มีโฆษณาน้อยกว่าช่องฟรีทีวี ช่องรายการทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกจะมีโฆษณาคั่นรายการน้อยกว่าช่องรายการฟรีทีวีตามที่ พรบ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 ได้กำหนดไว้ว่า ทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกสามารถมีโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 6 นาที หรือรวมเฉลี่ยตลอดทั้งวันไม่เกินชั่วโมงละ 5 นาที แต่หากเป็นช่องฟรีทีวีสามารถมีโฆษณาได้ชั่วโมงละไม่เกิน 12 นาทีครึ่ง หรือรวมตลอดทั้งวันแล้วเฉลี่ยไม่เกินชั่วโมงละ 10 นาที 5.ปัจจุบันนี้ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิกหลายเจ้า เช่น GMMZ, PSI+CTH ใช้วิธีการขายแพ็คเก็จชมช่องรายการแบบเติมเงิน คือผู้ชมสามารถเลือกช่วงเวลาที่อยากซื้อแพ็คเก็จได้ ซึ่งแพ็คเก็จส่วนใหญ่จะรับชมได้อย่างน้อย 30 วันต่อการซื้อแพ็คเก็จ 1 ครั้ง เมื่อครบกำหนดเราจะเลือกซื้อแพ็คเก็จต่อหรือไม่ซื้อเติมก็ได้ หรือจะเลือกเปลี่ยนเป็นแพ็คเก็จอื่นก็ได้เช่นกัน จุดด้อย 1.ช่องรายการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยตั้งแต่ 300 – 2,000 กว่าบาทต่อเดือน 2.มีสัญญาผูกมัด บางเจ้าผู้ให้บริการอย่าง ทรู วิชั่น มีเงื่อนไขในการรับชมว่าแม้จะฟรีค่าอุปกรณ์และค่าติดตั้ง แต่ยังมีค่ารักษาอุปกรณ์ 1,000 – 2,000 บาท รวมทั้งต้องอยู่ในสัญญาตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 6 เดือน หรือ 12 เดือน หากผู้ใช้ขอยกเลิกบริการก่อนครบสัญญา จะถูกคิดค่าอุปกรณ์ แต่การกำหนดข้อสัญญาในลักษณะนี้ ขัดกับประกาศของ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 ที่ระบุไว้ว่า กรณีที่ผู้ให้บริการได้มีการมอบอุปกรณ์หรืออื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรับชมช่องรายการทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกให้แก่ผู้ใช้บริการโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเพื่อเป็นประโยชน์ในการรับชมของสมาชิก ผู้ให้บริการจะนำการให้อุปกรณ์ดังกล่าวมาเป็นเงื่อนไขในการเรียกเก็บเป็นค่าปรับหรือค่าเสียหายกับผู้ใช้บริการในกรณีที่ผู้ใช้บริการขอยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดไม่ได้ ยกเว้นกรณีเกิดความเสียหายจากตัวผู้ใช้งานเองรู้ก่อนสมัครเป็นสมาชิกเคเบิลทีวี1.ผู้ให้บริการต้องแจ้งรายละเอียดเงื่อนไขการบริการที่ชัดเจน ครบถ้วน อัตราค่าบริการทั้งหมด ระยะเวลาในการรับชม ช่องรายการที่จะได้รับชม รายละเอียดรายการ อุปกรณ์อื่นๆ ที่จำเป็นต่อการรับชม ข้อจำกัดต่อการให้บริการ เช่น ขอบเขตพื้นที่ในการให้บริการ ระยะเวลาในการให้บริการ และเงื่อนไขในการปฏิเสธการให้บริการและการขอยกเลิกการเป็นสมาชิก 2.หากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการให้บริการที่ผิดไปจากสัญญาณที่ได้ทำไว้กับสมาชิก ผู้ให้บริการต้องมีการแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษรกับสมาชิกไม่น้อยกว่า 30 วัน ก่อนทำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งหากการเปลี่ยนแปลงนั้นส่งผลให้สิทธิในการรับชมของสมาชิกลดน้อยลงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ ผู้ให้บริการจะต้องมีการชดเชย ด้วยการลดหรือยกเว้นค่าบริการให้กับผู้ใช้บริการ 3.หากเกิดเหตุขัดข้องจนผู้ใช้บริการไม่สามารถรับชมช่องรายการทีวีดาวเทียมแบบบอกรับสมาชิกได้ตามปกติ ผู้ให้บริการต้องดำเนินการแก้ไขโดยเร็วที่สุด และต้องมีการชดเชยเยียวยาให้กับผู้ใช้บริการตามความเหมาะสม 4.การจัดเก็บค่าบริการ ผู้ให้บริการต้องจัดส่งใบแจ้งรายการให้ผู้ใช้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 50 วันก่อนวันครบกำหนดชำระ โดยใบแจ้งรายการดังกล่าวจะต้องแสดงรายละเอียดเกี่ยวกับอัตราค่าบริการ ค่าเครื่องอุปกรณ์หรือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องในการใช้บริการ และการคํานวณค่าบริการที่ชัดเจนเพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเข้าใจถึงที่มาของค่าใช้จ่ายที่ปรากฏอยู่ในใบแจ้งรายการนั้นได้ พร้อมทั้งกําหนดวิธีการในการรับชําระเงินให้ชัดเจน 5.ห้ามผู้ให้บริการเรียกเก็บค่าบริการอื่นนอกเหนือจากที่กําหนดไว้ในสัญญา 6.เมื่อผู้ใช้บริการได้ชําระค่าบริการแล้ว ผู้ให้บริการต้องออกหลักฐานการชำระเงินให้กับผู้ใช้บริการ 7.ผู้ใช้บริการมีสิทธิเลิกสัญญาในเวลาใดก็ได้ด้วยการบอกกล่าวเป็นหนังสือให้แก่ผู้ให้บริการทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 5 วันทำการ ทั้งนี้ ผู้ใช้บริการจะต้องชำระค่าบริการจนถึงวันที่การยกเลิกสัญญามีผลบังคับ 8.ในกรณีที่มีเหตุดังต่อไปนี้ ผู้ใช้บริการอาจใช้สิทธิเลิกสัญญาได้ทันที8.1 ผู้ใช้บริการไม่สามารถรับบริการจากผู้ให้บริการได้ด้วยเหตุที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและอยู่นอกเหนือการควบคุมของผู้ใช้บริการ8.2 ผู้ให้บริการได้ละเมิดข้อตกลงอันเป็นสาระสำคัญของสัญญา8.3 ผู้ให้บริการตกเป็นบุคคลล้มละลาย8.4 ผู้ให้บริการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงในสัญญาหรือเงื่อนไขในการให้บริการ เป็นผลทำให้สิทธิประโยชน์ของผู้ใช้บริการลดน้อยลงกว่าที่ได้ตกลงกันไว้ในสัญญา (ที่มา : ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556)   ตารางเปรียบเทียบราคาแพ็คเก็จต่างๆ ของเคเบิลทีวีแบบบอกรับสมาชิก               *จำนวนช่องรายการที่แจ้งไม่รวมช่องรายการจากกล่องดิจิตอลทีวีและช่องรับชมฟรีจากกล่องดาวเทียม**สำรวจล่าสุดเดือนตุลาคม 2558ทรู วิชั่นมีจุดเด่นคือมีช่องรายการให้รับชมมากที่สุดเมื่อเทียบกับทุกแพ็คเก็จและทุกผู้ให้บริการ รวมทั้งมีรายการความคมชัดสูง หรือ HD ให้ชมมากที่สุด ช่องรายการเด่นๆ ส่วนใหญ่เป็นพวกรายการบันเทิงลิขสิทธิ์จากต่างประเทศ เช่น HBO, Discovery Channel, History Channel และช่องการแข่งขันกีฬาต่างประเทศ เช่น ฟุตบอล บาสเก็ตบอล อเมริกันฟุตบอล กอล์ฟ ฯลฯ และช่องถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลลีกในประเทศไทย ซึ่งทรู วิชั่นได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอด รวมทั้งยังมีช่องรายการที่ทรูผลิตเอง เน้นรายบันเทิงและละคร แต่จุดด้อยของทรู วิชั่น ก็คือการต้องสมัครสมาชิกทำสัญญาและจ่ายค่าบริการต่อเนื่องเป็นประจำทุกเดือน นอกจากนี้ค่าสมาชิกที่ต้องจ่ายต่อเดือนถือว่าค่อนข้างสูงหากต้องการดูแพ็คเก็จที่ดีที่สุดจีเอ็มเอ็มแซดจีเอ็มเอ็มแซด เน้นช่องรายการภาพยนตร์และบันเทิงจากต่างประเทศ และมีช่องถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศซึ่งถือเป็นจุดขายหลัก เพราะมีช่องถ่ายทอดสดฟุตบอลเมื่อรวมกับช่องลิขสิทธิ์ของ ซีทีเอช ที่ถ่ายทอดสดฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจากประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นที่นิยมของคนไทย รวมๆ แล้วมีช่องที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศเกือบ 10 ช่อง จุดเด่นอีกอย่างหนึ่งของ จีเอ็มเอ็มแซด ก็คือสามารถเลือกซื้อแพ็คเก็จได้อิสระ มีระยะเวลาขั้นต่ำสุดที่ 30 วัน ไม่มีสัญญาผูกมัด อยากดูเมื่อไหร่ก็ซื้อ แต่ต้องมีกล่องของจีเอ็มเอ็มแซดเป็นอุปกรณ์รองรับในการรับชมพีเอสไอ+ซีทีเอชแพ็คเก็จช่องรายการเหมือนกันกับของ จีเอ็มเอ็มแซด ทั้งหมด จุดเด่นของช่องรายการก็คือการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลต่างประเทศเหมือนกัน สามารถเลือกซื้อแพ็คเก็จได้อิสระไม่ผูกมัดสัญญาเหมือนกัน แต่มีตัวเลือกเรื่องราคามากกว่า ราคาแพ็คเก็จเริ่มต้นถูกกว่าของ จีเอ็มเอ็มแซด เจ้าอื่นๆ อาร์เอส ซันบ็อกซ์ก่อนหน้านี้กล่องอาร์เอส ซันบ็อกซ์ ถือว่าได้รับความนิยมไม่น้อยในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 เพราะเป็นกล่องที่ได้ลิขสิทธิ์การถ่ายทอด แต่สุดท้ายก็ถูกท้วงติงจาก กสทช. ว่าต้องนำการแข่งขันฟุตบอลโลกออกฉายทางช่องฟรีทีวีด้วย พอจบการแข่งขันฟุตบอลโลกและหมดสิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอลต่างประเทศ ทำให้กล่องอาร์เอส ซันบ็อกซ์ก็ไม่มีจุดขายอะไรดึงดูดคนดูทีวีอีกเลย ปัจจุบันนอกจากช่องรายการดิจิตอลทีวีและช่องดูฟรีจากจานดาวเทียม ก็มีช่องที่ทางอาร์เอส ซันบ็อกซ์ผลิตเองอีก 3-4 ช่อง แต่กล่องอาร์เอส ซันบ็อกซ์ก็สามารถรับชมแพ็คเก็จพรีเมียร์ลีก พลัส SD ของ ซีทีเอช โดยซื้อได้ในราคา 599 บาทต่อเดือนไอพีเอ็มมีแพ็คเก็จที่ขายกล่องรับสัญญาณพร้อมแพ็คเก็จในการรับชมช่องรายการที่ทางกล่องเป็นผู้ผลิตเอง และช่องฟรีทีวีอื่นๆ จากจานดาวเทียม มีทั้งช่องความคมชัดปกติและช่องความคมชัดสูง จุดเด่นของช่องรายการ ไอพีเอ็ม คือมีช่องรายการท้องถิ่นมีการถ่ายทอดกีฬาและงานประเพณีท้องถิ่นในประเทศ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 176 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนฉบับนี้ขอพาสมาชิกไปที่เมืองบันดุง เมืองใหญ่อันดับสามของประเทศอินโดนีเซีย (รองจากจาการ์ตา และสุราบายา) ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดงาน Asean Automobile Safety Forum 2015 ในระหว่างวันที่ 21 – 22 กันยายน 2558    ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อินโดนีเซียมีจำนวนพาหนะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 200 ในขณะที่ถนนหนทางที่รองรับการสัญจรเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 35 ผู้ว่าเมืองบันดุงก็ยืนยันว่าร้อยละ 75 ของคนที่นี่ใช้รถยนต์หรือมอเตอร์ไซค์ส่วนตัว มีเพียงร้อยละ 25 เท่านั้นที่ใช้การขนส่งสาธารณะ ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม ปี 2557 ระบุว่าอินโดนีเซียมีพาหนะบนท้องถนน 113 ล้านคัน ในจำนวนนั้นเป็นรถมอเตอร์ไซค์ 93 ล้านคัน (ร้อยละ 83) และจำนวนอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับมอเตอร์ไซค์ก็มีมากถึงร้อยละ 70 จากอินโดนีเซียเรามาดูตัวเลขของทั้งโลกกันบ้าง ... ปัจจุบันค่าเฉลี่ยอัตราการตายจากอุบัติเหตุทางท้องถนนทั่วโลกอยู่ที่ 18 รายต่อประชากร 100,000 คน เมื่อดูเฉพาะในอาเซียนจะพบว่าอัตราเฉลี่ยอยู่ที่ 20.1 รายต่อประชากร 100,000 คน  (ประเทศไทยอยู่ที่ 33.5 ราย ในขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 4.75 ราย) ที่น่าสนใจคือ ถ้าแบ่งกลุ่มประเทศต่างๆ เหล่านี้ออกเป็นกลุ่มรายได้น้อย รายได้ปานกลาง และรายได้สูง เราจะพบว่ากลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (เช่น ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย) มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยสูงที่สุด (20.1 ต่อ 100,000) ตามด้วยกลุ่มประเทศรายได้น้อย (18.3) และกลุ่มที่รายได้สูง (8.7) หลายท่านอาจเคยได้ยินคำว่า “ทศวรรษแห่งความปลอดภัย” ที่สหประชาชาติได้กำหนดไว้ให้ช่วงปีค.ศ. 2011 ถึง 2020 เป็นช่วงเวลาที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทั่วโลกลงให้ได้ เป้าหมายคือการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุท้องถนนให้เหลือเพียง 7 รายต่อประชากร 100,000 คนภายในในปีค.ศ. 2020 สหประชาชาติเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกมีการพัฒนาทาง 5 ด้าน ได้แก่ การจัดการความปลอดภัยทางท้องถนน  ถนนที่ปลอดภัยขึ้น พาหนะที่ปลอดภัยขึ้น พฤติกรรมการขับขี่ที่ปลอดภัยขึ้น ไปจนถึงการบริหารจัดการในช่วงก่อนและหลังเกิดอุบัติเหตุ ในขณะประเด็นเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนในบ้านเรายังเน้นเรื่องเมาไม่ขับเป็นหลัก เพื่อนบ้านอย่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย มีความเคลื่อนไหวด้านกฎหมายและด้านการทดสอบความปลอดภัยที่น่าสนใจทีเดียว อินโดนีเซียได้ประกาศใช้กฎหมายว่าด้วยการเก็บข้อมูลอุบัติเหตุแล้ว เพราะตระหนักดีว่าข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญ และที่ผ่านมาการบันทึกข้อมูลของเขายังขาดความเที่ยงตรง ทำให้ไม่สามารถได้ข้อมูลที่แท้จริงเพื่อนำมาออกแบบหาทางแก้ปัญหาได้  วิทยากรจากญี่ปุ่นเล่าให้ฟังว่าเวลาที่เกิดอุบัติเหตุนั้น ตำรวจญี่ปุ่นต้องกรอกข้อมูลไม่ต่ำกว่า 300 ช่องเลยทีเดียว และญี่ปุ่นก็ลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุได้ด้วยข้อมูลจากการวิเคราะห์อุบัติเหตุนั่นเอง ปีนี้การประชุม Asean Automobile Safety Forum ที่บันดุงเขาเน้นเรื่อง “พาหนะปลอดภัย” เพราะประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนนั้นติดอันดับผู้ผลิตรถยนต์อันดับต้นๆ ของโลก ประเทศที่ผลิตรถมากเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนได้แก่อินโดนีเซีย ตามด้วยไทย และมาเลเซีย สมาชิกหลายท่านอาจเคยได้ยินชื่อองค์กรทดสอบรถที่มีคำต่อท้ายชื่อว่า NCAP ซึ่งย่อมาจาก New Car Assessment Program เช่น EURO NCAP (ยูโรเอ็นแคป) ที่มีหน้าที่ทดสอบความปลอดภัยของรถใหม่เมื่อเกิดการชน (ความปลอดภัยทั้งต่อตัวผู้โดยสารทั้งเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงผู้ใช้ถนน)     องค์กรดังกล่าวยังมีอยู่ในละตินอเมริกา ออสเตรเลีย และเกาหลี และขณะนี้เรามีองค์กรเพื่อทดสอบการชนรถของรุ่นที่ผลิตขายในภูมิภาคอาเซียนในนาม ASEAN NCAP แล้วเช่นกัน สำนักงานตั้งอยู่ที่เมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย องค์กรนี้อยู่ภายใต้การดูแลของหน่วยงานรัฐบาลที่ชื่อว่า สถาบันวิจัยความปลอดภัยทางถนนแห่งมาเลเซีย Malaysia Institute of Road Safety Research หรือเรียกสั้นๆ ว่า MIROS   นั่นหมายความว่าเราสามารถคลิกเข้าไปที่เว็บไซต์ของ ASEAN NCAP ก่อนตัดสินใจซื้อรถได้เลยว่าคันไหนได้คะแนนความปลอดภัยไม่ต่ำกว่า 4 ดาว ซึ่งความจริงแล้วผู้ผลิตรถยนต์สามารถเพิ่มดาวได้ไม่ยากเลย ยกตัวอย่างรถ เกีย พิคันโต รุ่นที่ไม่มีถุงลมนิรภัย ไม่ได้คะแนนความปลอดภัยเลย แต่รถรุ่นที่มีถุงลมนิรภัย 6 ใบและมีระบบควบคุมเสถียรภาพรถ กลับได้คะแนนความปลอดภัยไปถึง 4 ดาว เดวิด วอร์ด เลขาธิการของ Global NACP ระบุว่าค่าใช้จ่ายในการทำให้รถยนต์ผ่านมาตรฐานขั้นต่ำด้านความปลอดภัยอยู่ที่คันละไม่เกิน 200 เหรียญ (ประมาณ 7,000 บาท) ที่สำคัญวันนี้ถุงลมนิรภัยมีต้นทุนต่ำกว่าเดิมถึงร้อยละ 60 เหลือเพียงแค่ใบละ 50 เหรียญ (ประมาณ 1,800 บาท) และระบบควบคุมเสถียรภาพรถก็ไม่เกินคันละ 50 เหรียญเช่นกัน ที่สำคัญถ้าผู้บริโภคทั่วโลกรวมตัวกันเรียกร้องให้เกิดมาตรฐานเดียวกันได้ ค่าใช้จ่ายในการผลิตรถยนต์ก็จะยิ่งถูกลงไปได้อีก เขาบอกอีกว่า เรื่องนี้ภาครัฐสามารถเข้ามามีบทบาทเพื่อความปลอดภัยของประชาชนได้ด้วยการลงนามรับรองแผนแม่บทเพื่อความปลอดภัยในท้องถนน ปี 2020 ที่ว่าด้วยข้อกำหนดด้านมาตรฐานความปลอดภัยรถยนต์ หากมติดังกล่าวผ่าน รถที่ผลิตใหม่ทุกรุ่น (ทั้งที่ผลิตเองและนำเข้า) ในประเทศนั้นๆจะต้องผ่านมาตรฐานขั้นต่ำการชนทั้งด้านหน้า ด้านข้าง มาตรฐานเข็มขัดนิรภัยและตัวยึด ภายในปี ค.ศ. 2016 และในขั้นต่อไปรถยนต์ใหม่ทุกคันจะต้องผ่านมาตรฐานเรื่องระบบควบคุมเสถียรภาพของรถและการคุ้มครองคนเดินถนน ภายในปี ค.ศ. 2018 และภายในปี 2020 รถทุกคันไม่ว่าจะใหม่หรือเก่าจะต้องผ่านมาตรฐานดังกล่าว เพราะ “ความปลอดภัยไม่ใช่สิทธิพิเศษ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 126 เมื่อ(คนทำงาน)ผู้บริโภคทั้งโลกมาเจอกัน

  ฉลาดซื้อฉบับนี้พาสมาชิกเปลี่ยนบรรยากาศไปย่ำฮ่องกงกันบ้าง เราไม่ได้พาคุณไปซอกแซกตามแหล่งช้อปปิ้งสินค้าแบรนด์เนม แต่เราจะพาคุณผู้อ่านไปเข้าร่วมขบวนการผู้บริโภคในระดับโลกในงานสมัชชาผู้บริโภคของสหพันธ์ผู้บริโภคสากล   * Consumers International World Congress 2011 ครั้งที่ 19 ที่จัดขึ้นที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าฮ่องกง เมื่อช่วงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา งานนี้มีผู้เข้าร่วมประชุมจากประเทศต่างๆ กว่า 700 คน มาแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ตั้งแต่การณรงค์เรื่องอาหารการกินให้ปลอดภัยไร้สิ่งปนเปื้อน รวมถึงไม่มีแป้ง น้ำตาล หรือเกลือมากเกินไป เรื่องลดผลกระทบของการบริโภคต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการรณรงค์ให้บรรดาธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ เลิกเอาเปรียบผู้บริโภค และการร่วมกันหาทางออกเมื่อ “ลิขสิทธิ์” กลายเป็นสิ่งที่จำกัดการเข้าถึงข้อมูลความรู้ต่างๆ----------------------------------------------------------------------------------- สหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International คือใคร CI เป็นกระบอกเสียงของผู้บริโภคในระดับโลกมากว่า 50 ปี มีสมาชิกเป็นองค์กรผู้บริโภค 220 องค์กร ใน 115 ประเทศ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคก็เป็นสมาชิก ในการประชุม G 20 ในเดือนพฤศจิกายนที่จะถึงนี้ สหพันธ์จะเรียกร้องให้ประเทศกลุ่ม G 20 กำหนดกฎเกณฑ์ที่จะสามารถคุ้มครองผู้บริโภคที่ใช้บริการการเงิน การธนาคาร หรือการลงทุน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น  คุณรู้หรือไม่ผู้นำระดับโลกคนแรกที่หยิบยกเรื่องของสิทธิผู้บริโภคขึ้นมาพูดถึงอย่างเป็นทางการคือ ประธานาธิบดีจอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2506 ในที่ประชุมสภาคองเกรสของอเมริกา โดยเขาได้กล่าวถึงสิทธิผู้บริโภค 4 ประการ ได้แก่  และจากนั้นเป็นต้นมาวันที่ 15 มีนาคมของทุกปีจึงถือเป็นวันผู้บริโภคสากลด้วย -----------------------------------------------------------------------------------   HOT ISSUESการตลาดอาหารสำหรับเด็กที่แทรกซึมไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก เป็นหนึ่งในเรื่องเร่งด่วนที่ต้องการความร่วมมือจากประเทศต่างๆ เพื่อรับมือกับบริษัทข้ามชาติที่ใช้กลยุทธ์ในการล่อลวงเด็กให้บริโภคอาหารที่อุดมไปด้วยเกลือ น้ำมัน และน้ำตาล กันจนอ้วนลงพุงก่อนวัยอันควร เมื่อบริษัทอาหารและบริษัทโฆษณาเป็นบริษัทข้ามชาติซึ่งทำการตลาดอาหารในลักษณะเดียวกันทั่วโลก  การผลักดันให้มีกฎหมายระหว่างประเทศเพื่อควบคุมการโฆษณาของบริษัทข้ามชาติเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง   องค์กรผู้บริโภคของเกาหลีใต้ Consumers Korea ก็มีการรณรงค์เรื่องนี้เข้มข้นคล้ายกับที่บ้านเรา เขาได้เสนอเรื่องฉลากสีสัญญาณไฟจราจร* (Traffic Light Label) ให้รัฐบาลพิจารณาแต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่ได้ยินสัญญาณตอบรับใดๆ (คล้ายกับที่บ้านเราเหมือนกัน) ขณะนี้มีเพียงประเทศอังกฤษประเทศเดียวที่มีฉลากไฟจราจรบนหีบห่ออาหาร จึงเป็นอีกเรื่องที่ท้าทายองค์กรผู้บริโภคในอีกหลายๆ ประเทศ   *(สีเขียว หมายถึงการมีเกลือ ไขมัน หรือน้ำตาลในปริมาณที่ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ สีเหลือง เมื่อมีสารอาหารดังกล่าวในปริมาณที่ค่อนข้างมาก และสีแดง เมื่อมีเกลือ ไขมัน หรือน้ำตาลในปริมาณที่มากเกินไป) 1. การทบทวนพฤติกรรมในการบริโภคของเราทั้ง 2,000 ล้านคนที่อาศัยอยู่บนโลกใบนี้ เมื่อการบริโภคของเราส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เราจึงต้องหันมาเลือกซื้อสินค้าหรือบริการโดยคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการมากกว่าราคาหรือแบรนด์กันมากขึ้น ผู้บริโภคต้องร่วมมือกันกดดันให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างตรงไปตรงมา   เรื่องนี้องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ International Consumers Research & Testing จะทำหน้าที่เป็นผู้เสาะหาข้อมูลดังกล่าว จากการสำรวจนโยบายเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการต่างๆ โดยจะเผยแพร่ผ่านนิตยสารขององค์กรสมาชิกที่เป็นองค์กรเพื่อผู้บริโภคในแต่ละประเทศ เช่น นิตยสาร Which? ของอังกฤษ นิตยสาร Stiftung Warentest ของเยอรมนี นิตยสาร Consumers Report ของอเมริกา นิตยสาร CHOICE ของออสเตรเลีย และนิตยสารฉลาดซื้อ ของประเทศไทย เป็นต้น  2. เรื่องของบริการทางการเงิน การธนาคาร ซึ่งนาทีนี้ถือเป็นเรื่องที่ฮ็อตที่สุด เมื่อเศรษฐกิจของหลายประเทศมีอาการเข้าขั้นโคม่ากันไปตามๆ กัน เราเห็นธนาคารใหญ่ล้มละลายกันเป็นว่าเล่น จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้บริโภคทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาต่างก็ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ เพราะเรายังไม่การคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องการเงินการธนาคารที่ดีนั่นเอง  ผู้บริโภคทั่วโลกถูกเอาเปรียบโดยสถาบันการเงินในรูปแบบคล้ายๆ กัน ธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ มีกำไรมากมายจากการคิดดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียมจากเรา และเมื่อเกิดวิกฤตการเงินขึ้น รัฐบาลก็นำเงินภาษีของเราไปช่วยอุ้มธนาคารเหล่านั้นอีก  เราได้ยินเรื่องน่าสนใจจากองค์กรผู้บริโภค Consumentenbond จากเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีประชากรประมาณ 15 ล้านคน ประเทศนี้มีบริษัททางการเงินไม่ต่ำกว่า 5,000 แห่ง (มากกว่าจำนวนร้านหมอฟันทั้งประเทศ) และเนื่องจากคนดัทช์ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินค่อนข้างดี จึงทำให้มี “ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน” ออกมาในตลาดค่อนข้างมาก และผลิตภัณฑ์เหล่านี้ก็ถูกออกแบบมาให้มีความซับซ้อนจนผู้บริโภคไม่สามารถเข้าด้วยตนเองได้ จึงต้องขอคำแนะนำจาก “ที่ปรึกษา” ซึ่งก็มักเป็นผู้ที่ได้ “ค่าคอมมิชชั่น” จากการผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคเลือกลงทุน ผู้บริโภคชาวดัทช์ก็ไม่ต่างกับผู้บริโภคบ้านเรา เมื่อไม่ชอบคิดมากจึงต้องจ่ายแพงเกินไปโดยไม่จำเป็น Consumentenbond จึงวางแผนว่าในอีก 2 ปีข้างหน้า จะรณรงค์ให้ยกเลิกค่าคอมมิชชั่นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น เพราะเชื่อว่าที่ปรึกษาเหล่านั้นอาจไม่ได้แนะนำสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับเรา เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง นอกจากนี้ยังจะรณรงค์ให้ผู้ประกอบการ นำเสนอผลิตภัณฑ์การเงิน ที่สามารถเข้าใจได้ง่าย ในราคาที่เหมาะสมและมีคุณภาพดีขึ้น   3. อีกประเด็นที่เขานำมาถกเถียงกันในงานสมัชชาครั้งนี้คือ เรื่องของสิ่งที่เรียกว่า “ทรัพย์สินทางปัญญา” ที่ดูเหมือนจะเป็นอุปสรรคทั้งต่อการเข้าถึงยา และการเข้าถึงความรู้   เราทราบกันดีแล้วว่าระบบสิทธิบัตรยา ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถเข้าถึงยาที่มีราคาแพงได้ โดยเฉพาะยาสำหรับโรคมะเร็ง เบาหวาน หรือโรคภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งส่งผลต่อระบบสาธารณะสุขทั่วโลก เรื่องนี้ฟังแล้วชวนปวดตับอย่างยิ่ง คุณรู้หรือไม่ว่าการลงทุนวิจัยยาใหม่นั้นมีมูลค่าเพียงร้อยละ 10 -15 ของราคายาที่ขายเท่านั้น ที่เหลือเป็นมูลค่าการทำการตลาดทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้นร้อยละ 80 ของ”ยาใหม่” ไม่มีประโยชน์ในการรักษาเพิ่มเติมแต่อย่างใดด้วย   ในการประชุมครั้งนี้เมื่อผู้ประสานงานโครงการการเข้าถึงความรู้ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล เปิดเผยผลสำรวจให้ผู้เข้าร่วมสมัชชาฟังว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มที่ยอมให้ระบบคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามาเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความรู้ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่เรียกว่า “การใช้อย่างเป็นธรรม” หรือ Fair Use ในกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาเช่นกัน สรุปว่านี่เป็นอีกประเด็นที่องค์กรผู้บริโภคจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง   โลกในยุคสังคมเครือข่าย ที่เราเป็นได้มากกว่าผู้บริโภค สุนทรพจน์ โดย เกิร์ด ลีออนฮาร์ด ผู้ได้รับการยกย่องจากหนังสือพิมพ์วอลสตรีต เจอร์นัล ว่าเป็นหนึ่งในนักอนาคตศาสตร์ชั้นนำของโลกในสาขาเทคโนโลยีการสื่อสาร ปัจจุบันเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสถาบัน The Future Agency และเป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่หลายแห่ง  “กว่าร้อยละ 90 ของสิ่งที่ผมจะนำมาเล่าให้ท่านฟังในวันนี้เป็นสิ่งที่ผมได้มาจากคนอื่น และผมต้องขอบคุณบุคคลเหล่านั้น ปัจจุบันเราควรจะอยู่ในโลกที่มีแต่การแบ่งปัน (Sharing) เรากลับต้องเผชิญกับการปิดกั้นมากขึ้น เราเคยอยากได้ Global Village ที่ประกอบไปด้วยความเป็นเอกภาพ ความสงบ และสันติ และทุกวันนี้สิ่งที่จะทำให้เกิดหมู่บ้านของคนทั้งโลกได้ควรจะเป็น “การเข้าไปมีส่วนร่วม” เพราะฉะนั้นการปิดกั้นจึงเท่ากับเป็นความล้มเหลวของระบบ ที่สำคัญเราต้องไม่ลืมว่าอีกไม่นานทุกสิ่งที่เรารู้ก็จะต้องถูก “ทำสำเนา” ต่อๆ กันไป   ทุกวันนี้เราไม่ได้เป็นแค่ผู้บริโภค  กว่าร้อยละ 70 ของเด็กอเมริกัน นำเรื่องราวของตัวเองขึ้นไป “แชร์” ในอินเตอร์เน็ต  ทุกวันนี้ “ผู้ใช้” หรือ User ก็ถือเป็น “เนื้อหา” บนอินเตอร์เน็ต เช่นกัน ปัจจุบันบริษัทต่างๆ สามารถลดต้นทุนในการทำการตลาดลงด้วยการปล่อยให้ “ผู้ใช้” เหล่านี้เป็นผู้ทำการตลาดแทน  อย่าลืมว่าสถานีกระจายข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันคือ Facebook ซึ่งเป็นกลไกในการเผยแพร่ข้อมูลที่ดีมาก ผู้บริโภคต้องใช้ประโยชน์จากอำนาจนี้ให้เต็มที่ เราสามารถแสดงความชื่นชมได้ แสดงความไม่พอใจก็ได้ ผู้ประกอบการพร้อมที่จะฟังการประเมินที่สร้างสรรค์จากผู้บริโภคเสมอ สังเกตได้จากผลรางวัลตอบแทนที่ให้เวลาที่เราให้ความร่วมมือในการตอบแบบสอบถามหรือแบบรับความคิดเห็น   เป้าหมายของธุรกิจวันนี้จึงต้องเปลี่ยนไป ไม่ใช่การสร้างเงิน สร้างผลกำไร หรือแม้แต่การสร้างอำนาจต่อรอง สิ่งที่ธุรกิจในยุคนี้จะต้องสร้างคือ “ความไว้วางใจ” จริงหรือไม่ที่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาคือกุญแจนำไปสู่ความสำเร็จของสื่อบันเทิงดิจิตัลอย่างที่ค่ายธุรกิจบันเทิงเสนอไว้ ผมคิดว่าไม่น่าจะเป็นเช่นนั้น เพราะในปี ค.ศ. 2000 ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายเพื่อธุรกิจบันเทิงคนละ 71 เหรียญ แต่เมื่อถึงปี ค.ศ. 2009 การใช้จ่ายของผู้บริโภคลดลงเหลือแค่คนละ 26 เหรียญ จึงถึงเวลาแล้วที่เราจะเปลี่ยนเป้าหมายจาก “การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา” มาเป็น “การเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าไปมีส่วนร่วม”  ปัจจุบันเราแทบจะใช้เวลากับหน้าจอคอมพิวเตอร์มากกว่าหนังสือกันแล้ว ข้อดีของการอยู่หน้าจอคือการที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมหรือแบ่งปันในชุมชนเสมือนนั้นๆ ได้  วันนี้เราควรสร้างระบบความสัมพันธ์แบบชนเผ่าขึ้นมา ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจากเดิมที่เราต้องการ “ความเป็นอิสระ ไม่ต้องพึ่งพาใคร” มาเป็นการรับเอาแนวคิด “การพึ่งพาซึ่งกันและกัน” เข้ามาแทน จากแนวคิด “เครือข่าย” เฉยๆ เป็น “การเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่าย” หรือจากสิ่งที่เรียกว่า “ความเป็นเจ้าของ” เปลี่ยนเป็น “การเข้าถึง” เป็นต้น  แม้แต่เรื่องของการจัดการกับการละเมิดลิขสิทธ์ก็มีแนวคิดที่จะแก้ปัญหาด้วยการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงสื่อนั้นได้โดยไม่ลำบาก ผมอยากนำเสนอรูปแบบการนำเสนอเนื้อหาแบบไม่คิดเงิน เพียงแค่ผู้ที่นำไปใช้เคารพสิทธิของผู้นำเสนอเนื้อหาด้วยการปฏิบัติตาม “เงื่อนไขการนำไปใช้” เท่านั้น”   สิทธิผู้บริโภค อดีต ปัจจุบัน และอนาคตโดย นายอันวา ฟาซาล  หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งสหพันธ์ผู้บริโภคสากลถ้าถามว่ากระดาษทิชชูที่คุณใช้อยู่มีความยาวเท่าไร คนส่วนใหญ่มักจะตอบไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเราเป็นเพียง “ผู้บริโภค” ธรรมดาๆ ซึ่งไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ และนี่เองคือเหตุผลที่เราจะต้องมี “องค์กรผู้บริโภค” ขึ้นมา  ลองสมมติว่ามีคนจากกาแลกซีมาประเมินสภาวะของผู้บริโภคบนโลกใบนี้ เขาคงจะงงเหมือนกันว่านี่คือโลกชนิดไหนกันที่มีคนฆ่าตัวตายทุกๆ 40 วินาที มีคนถูกฆ่าตายทุกๆ 60 นาที และมีจำนวนคนเป็นโรคอ้วนมากกว่าคนอดอยาก  25 ปีก่อน เหตุการณ์โรงไฟฟ้าระเบิดที่เชอโนบิลทำให้เราต้องใช้เงินในการ “เก็บกวาด” ผลกระทบเป็นเงินถึงสองแสนกว่าล้านเหรียญ เราเคยตกลงกันแล้วว่าเหตุการณ์เช่นนี้จะต้องไม่เกิดขึ้นอีก แต่เราก็ลืมมันไปแล้ว จนกระทั่งเกิดอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะที่เราต้องใช้งบประมาณในการเก็บกวาดถึงสามแสนล้านเหรียญ น่าแปลกใจที่เรามีงบประมาณพอที่จะจัดการกับปัญหาเหล่านี้ แต่เรากลับไม่มีเงิน 2,500 ล้านเหรียญ ในการดูแลสุขภาพหรือจัดการศึกษาให้กับเด็กด้อยโอกาส ซึ่งจะว่าไปแล้วเงินจำนวนดังกล่าวเป็นจำนวนเงินที่คนอเมริกันใช้จ่ายไปกับการซื้อบุหรี่ เท่ากับจำนวนที่คนในสหภาพยุโรปซื้อเหล้าในเวลาหนึ่งเดือน การแก้ปัญหาของผู้บริโภค จะทำเหมือนการช่วยเด็กที่ถูกทิ้งลอยน้ำมาทีละคนไม่ได้ เราต้องหาเวลาไปจัดการกับคนที่โยนเด็กลงมาให้ได้ องค์กรผู้บริโภคต้องการคนที่มีวิสัยทัศน์มาร่วมกันทำงาน ในการทำงานนั้นมีระดับของวิสัยทัศน์อยู่ 3 ระดับด้วยกัน เช่น ในกลุ่มคนที่กำลังทำงานอย่างเดียวกัน ถ้าถามว่ากำลังทำอะไรอยู่ บางคนตอบว่า “กำลังก่ออิฐ” บางคนตอบว่า “กำลังสร้างโรงเรียน” ในขณะที่บางคนมองว่าตนเอง “กำลังสร้างอนาคตให้กับเด็ก” คนกลุ่มนี้คือคนที่เราต้องการ  องค์กรภาคประชาชน หรือพลังมวลชนคือความหวัง ผมขอเสนอสูตรใหม่ในการทำงานเรียกว่าสูตร  A B C นั่นคือเริ่มจาก A หมายถึง Agony คือความรู้สึกว่าเราทนต่อไปไม่ได้แล้ว และต้องทำอะไรซักอย่าง จากนั้นเราต้อง Brave คือกล้าพอที่จะท้าทายระบบ และจะต้อง Creative คือเสนอทางออกอย่างสร้างสรรค์ ในการเคลื่อนไหวในงานคุ้มครองผู้บริโภคนั้นเราจะต้องมีคนทั้งสองกลุ่ม ได้แก่กลุ่ม Ph D. ซึ่งผมหมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญทางวิชาการ และกลุ่ม BSD (Blood, Sweat, Tears) ที่พร้อมจะทุ่มเททำงานด้วยเลือด หยาดเหงื่อและน้ำตา แต่ทั้งหมดนี้จะยังไม่ทำให้เราประสบความสำเร็จ จนกว่าเราจะมีปัจจัยที่เรียกว่า GTD > Getting things done! ซึ่งหมายถึงการลงมือทำจริง  ผมขอพูดถึงบาป 11 ประการ ที่นำไปสู่ปัญหาสังคมทุกวันนี้ ที่ผมขอเพิ่มจากบาป 7 ประการของมหาตมะ คานธี คือ 1. การเมืองที่ไม่มีหลักการ2. การมีความมั่งคั่งโดยไม่ต้องทำงาน3. การมีความสนุกสนานอย่างไร้สติ4. การมีความรู้แต่ไม่มีคุณสมบัติ5. การทำธุรกิจโดยไม่มีศีลธรรม6. วิทยาศาสตร์ที่ปราศจากมนุษยธรรม7. การมีศาสนาแต่ไม่มีความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์8. การมีสิทธิแต่ไม่มีความรับผิดชอบ9. การมีอำนาจโดยไม่สามารถตรวจสอบได้ 10. การพัฒนาโดยปราศจากความยั่งยืน11. กฎหมายที่ไม่มีความยุติธรรม   เมื่อมองกลับไปในอดีตเราจะเห็นว่า ชาวฮิตไตท์มีกฎหมายผู้บริโภคใช้ตั้งแต่เมื่อ 3,500 ปีที่แล้ว โดยหลักๆ แล้วเป็นกฎหมายที่ว่าด้วยความปลอดภัยของอาหาร การห้ามการเอาเปรียบหรือหลอกลวงกัน  เอกสารฉบับแรกที่พูดถึงเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคได้แก่ เอกสารขององค์กรแรงงานโลกที่ชื่อว่า“คำแนะนำเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค” ซึ่งเป็นการให้ความรู้กับผู้ใช้แรงงานว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีการใช้จ่ายอย่างสมเหตุสมผลได้อย่างไร  แต่ทั้งนี้เนื้อหาของคู่มือการคุ้มครองผู้บริโภคของสหประชาชาติซึ่งกำลังจะมีอายุครบ 25 ปีในเร็วๆ นี้แทบจะไม่ได้มีการปรับปรุงให้ทันสมัยขึ้นเลย เรื่องนี้เราต้องรณรงค์ให้เกิดขึ้นและผมขอชักชวนให้เรามาร่วมกันเรียกร้องให้สหประชาชาติประกาศ “วันสิทธิผู้บริโภคสากล” ในปี พ.ศ. 2555 ด้วย  และถ้ามองต่อไปในอนาคต ผมของเสนอทางออก 11 ประการ ให้กับผู้ที่สนใจงานคุ้มครองผู้บริโภคดังนี้1. เราต้องรีบจัดการกับคดีที่ก่อกับผู้บริโภค2. เราต้องทำรายงานสภาวะผู้บริโภคทุกปี เพื่อให้เห็นพัฒนาการ ความสำเร็จ และเป้าหมายที่จะต้องไปให้ถึง3. การสร้างศักยภาพให้กับคนรุ่นใหม่ที่จะขึ้นมาสืบสานงานต่อจากคนรุ่นเก่า4. เราใช้อินเตอร์เน็ตเป็นประตูไปสู่ฐานข้อมูลสำหรับผู้บริโภค รวบรวมเอกสาร และพร้อมที่จะเผยแพร่ออกไป 5. สร้างสายด่วนสำหรับผู้บริโภค ที่พร้อมจะตอบคำถามให้กับทุกคน6. การมอบรางวัล Consumers Champion Awards 7. การเปิดเผยข้อมูลเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมของผู้ประกอบการ8. การสร้างความสุขมวลรวมประชาชาติ Gross National Happiness9. การสร้างระบบเตือนภัย และระบบแลกเปลี่ยนเชื่อมโยงข้อมูลและการจัดการหรือ Consumer Interpol 10. การเข้าไปมีส่วนร่วมอย่างจริงจังในการประชุมว่าด้วยสิ่งแวดล้อม Rio 2012 ที่จะมีการประกาศ Rights of Mother Earth11. การกระจายพลัง เราจะต้องอาศัยพลัง 5 ประการ ได้แก่ พลังของคนแต่ละคน พลังของหลายๆ คนรวมกัน พลังของข่าวสารข้อมูล พลังแห่งความดีงาม และพลังจากการเผยแพร่ความสำเร็จ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point