ฉบับที่ 249 กระแสต่างแดน

ดราม่า (ไก่) เกาหลี        สิ่งที่คนทั่วโลกรู้จักมากที่สุดเกี่ยวกับประเทศเกาหลี นอกจากดราม่าที่ดูแล้วติดหนึบ ก็เห็นจะเป็น “KFC” Korean Fried Chicken หรือที่บ้านเราเรียกกันว่า “ไก่ทอดเกาหลี” นั่นเอง เมนูไก่ทอดที่ว่านี้เป็น “อาหารเกาหลี” ที่คนชอบมากที่สุด อ้างอิงจากผลสำรวจความคิดเห็นของคน 8,500 คนจาก 17 เมืองใหญ่ทั่วโลก โดยสถาบันส่งเสริมอาหารและกระทรวงเกษตรของเกาหลี ในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายนที่ผ่านมา   แต่การโต้เถียงอย่างเผ็ดร้อนในสังคมออนไลน์เริ่มขึ้นเมื่อนักวิจารณ์ชื่อดังคนหนึ่งถามในเฟสบุ๊กว่า “เรื่องนี้น่าภูมิใจจริงหรือ” ไม่เห็นมีส่วนผสมที่เป็นของเกาหลีดั้งเดิม แถมไก่เลี้ยงในเกาหลีก็ตัวเล็กและเนื้อน้อยจนต้องปรุง “ซอส” ให้เป็นจุดขายแทน แล้วยังบอกอีกว่า “คนมีเงิน” เขาไม่กินหรอก แน่นอนว่าสมาคมผู้ผลิตไก่ไม่ถูกใจสิ่งนี้ ส่วน “คนมีเงิน” ที่ถูกพาดพิงก็รีบแสดงตัวเป็นแฟนพันธุ์แท้ไก่ทอดเกาหลีทันที (ไก่เนื้อที่เกาหลี จะถูกจับขายเมื่อมีอายุได้ 1 เดือน และมีน้ำหนักประมาณ 1.5 กิโลกรัม)  ไม่หวาน ขายไม่ออก?        บริษัทมอนเดลีซ เปิดตัว “โอรีโอ ซีโร่” ในประเทศจีนเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อตอบสนองเทรนด์จากโซเชียลมีเดียที่แสดงให้เห็นว่า อาหารที่ “ลด” หรือ “ปราศจาก” น้ำตาล กำลังมาแรง ในขณะที่ยังไม่มีผลิตภัณฑ์นี้ในตลาดมากนัก ที่เลือกทดลองในตลาดจีนก่อนก็เพราะโอรีโอที่ขายในจีนเป็นสูตรที่หวานน้อยกว่าที่ขายในอเมริกาอยู่แล้ว  การเปลี่ยนผ่านไปสู่ “คุกกี้ไร้น้ำตาล” จึงน่าจะไม่ยาก บริษัทบอกว่าสารที่ใช้แทนคือ “มอลทิทอล” ที่ไม่ได้ทำให้รสชาติเปลี่ยนไปมากนัก ถ้าไม่ได้กินเป็นประจำ ก็แทบไม่รู้สึกถึงความแตกต่าง แต่คุกกี้ดังกล่าวกลับไม่ได้รับการยอมรับเท่าที่ควร ข้อมูลจากบริษัทการตลาดในจีนระบุว่า คำว่า “ไม่มีน้ำตาล” ที่แสดงบนฉลากอาหาร ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของคนจีนมากนัก เครื่องดื่มประเภทไร้น้ำตาลในจีนมีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 1.25 เท่านั้น (ข้อมูลปี 2019) แต่บริษัทยืนยันจะขายขนมสูตรใหม่นี้ต่อไป เพราะเชื่อมั่นว่าในอนาคตมันจะปังแน่นอน  อีกกลุ่มเสี่ยง        ในในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาหนึ่งในสิบอันดับต้นๆ ของสาเหตุที่ทำให้คนเราไม่สามารถใช้ชีวิตอย่างอย่างปกติได้คือโรคสมองเสื่อม ข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีคนเป็นโรคนี้ไม่ต่ำกว่า 55.2 ล้านคน ร้อยละ 75 ของประเทศทั่วโลกยังได้รับผลกระทบจาก “ดิสรัปชั่น” ทางด้านบริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุที่มีอาการป่วยหรือความบกพร่องทางสมอง เมื่อเกิดการระบาดของโคโรนาไวรัสในปี 2020 นั่นหมายความว่า “ผู้ป่วย” โรคสมองเสื่อมในระยะแรก จะไม่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาได้ทันเวลา นอกจากจะไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐได้เพราะไม่มีผลการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมยังทำให้ผู้ป่วยเหล่านี้มีอาการแย่ลงเพราะต้องอยู่โดดเดี่ยวจากญาติพี่น้อง และองค์การอนามัยโลกยังพบว่าผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองและโรคสมองเสื่อม มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนทั่วไป และมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตด้วย  หมดทางสู้        ต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ศรีลังกาปฏิเสธปุ๋ยออกานิก 20,000 ตันที่สั่งซื้อมาจากจีน โดยให้เหตุผลว่าปุ๋ยล็อตดังกล่าวมีการปนเปื้อนของแบคทีเรีย Erwinia ที่เป็นสาเหตุของโรคเน่า ธนาคารประชาชนแห่งศรีลังกาก็ระงับการชำระเงินค่าปุ๋ย 4.9 ล้านเหรียญให้กับบริษัทชิงเต่า ซีวิน ไบโอเทค (Qingtao Seawin Biotech) ตามคำสั่งศาล จีนตอบโต้ด้วยการขึ้นบัญชีดำธนาคารนี้ ส่วนชิงเต่าฯ ซึ่งส่งออก “ปุ๋ยสาหร่าย” ไปยัง 50 กว่าประเทศ รวมถึงอเมริกาและออสเตรเลีย ก็เรียกร้องค่าชดเชยที่ “เสียชื่อ” ไปถึง 8 ล้านเหรียญ เขายืนยันว่าปุ๋ยดังกล่าวผ่านการทดสอบโดยหน่วยงานภายนอกแล้ว  ในที่สุดศรีลังกา (ซึ่งเป็นหนี้จีนอยู่ 5,000 ล้านเหรียญ) ก็ยอมจ่ายเงิน 6.7 ล้านเหรียญให้บริษัทชิงเต่าฯ นำปุ๋ยล็อตดังกล่าวซึ่งยังอยู่ในเรือบรรทุกสินค้ากลับคืนไป แล้วจัดส่งปุ๋ยล็อตใหม่มาแทน ผู้บริโภคที่นั่นกำลังเผชิญกับภาวะอาหารขาดแคลนและราคาแพง ซ้ำร้ายยังหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารปลอดภัย เพรารัฐฯ ยกเลิกแผนการทำเกษตรแบบออกานิกอีกด้วย  แผนสละแชมป์        สหรัฐอเมริกาคว้าตำแหน่งประเทศที่สร้างขยะพลาสติกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหภาพยุโรปรวมกัน และมากกว่าจีนถึงสองเท่า รายงานที่นำเสนอต่อรัฐบาลกลางของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคมที่ผ่านมา ระบุว่าในปี 2016 อเมริกาสร้างขยะพลาสติกถึง 42 ล้านตัน เฉลี่ยประมาณคนละ 130 กิโลกรัมต่อปี ตามด้วยอังกฤษและเกาหลีใต้ (99 และ 88 กิโลกรัมตามลำดับ) รายงานซึ่งจัดทำขึ้นตามกฎหมาย Save Our Seas 2.0 ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2020 ยังระบุอีกว่า ทุกปีทั่วโลกจะมีขยะประมาณ 8 ล้านตันถูกทิ้งลงสู่ทะเล เท่ากับการเทขยะหนึ่งคันรถลงทะเลทุกหนึ่งนาที และหากการทิ้งยังเป็นไปในอัตรานี้ เราจะมีขยะพลาสติกในทะเลปีละ 53 ล้านตัน ภายในปี 2030 หรือประมาณร้อยละ 50 ของน้ำหนักปลาทั้งหมดในมหาสมุทรผู้จัดทำรายงานนี้เรียกร้องให้อเมริกามียุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งรวมถึงการเก็บข้อมูลขยะอย่างเป็นระบบ และการติดตามควบคุมการทิ้งอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี 2022 ด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >