ฉบับที่ 145 สปาเก็ตตี้ข้างนา

  เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งของฉันถึงกับฟันธงว่า ผู้บริโภคที่ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกผู้ผลิตอาหารจริงๆ  ....ไม่ใช่คนที่จะกิน(อาหาร)เพื่อคนอื่นได้จริงๆ   ว่ากันว่าช่วง  6 – 7 ปี มานี้ เป็นช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย และเรายังคงอยู่กับแรงเสียดทานในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขให้ทุกอย่างเดินหน้าไปสู่ความยุติธรรมแบบเสมอหน้าและมีสิทธิเสรีภาพตามที่มนุษย์ในโลกสมัยใหม่พึงจะมีกัน   การวิ่งวนเอาสินค้าเกษตรลงสนามแข่งขัน ดูเหมือนจะขยายหัวเรื่องการสนทนาไปสู่เรื่องอื่นๆ มากกว่า เทคนิควิธีการจัดการดูแลระหว่างการผลิตและจำหน่ายผลผลิต  หากแต่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของคนพวกเขาโดยตรง   ถ้าคุณผู้อ่านได้มีโอกาสไปพบปะพูดคุยกับเหล่าผู้ผลิต ที่เรียกกันติดปากว่า “ชาวบ้าน” ชาวบ้านๆ ที่ทำการผลิตอาหารโดยอยู่นอกสังกัดการอุปถัมภ์ของหน่วยส่งเสริมเกษตรอินทรีย์อย่าง NGOs ดูบ้าง  คุณอาจเข้าใจถึงเงื่อนไขในการเลือกผลิตและดำเนินชีวิตที่แตกต่างไปจากกลุ่มผู้ผลิตที่คุ้นเคย  และอาจทำให้เข้าใจได้มากขึ้นว่า  แค่เลือกบริโภคอาหารอินทรีย์ และทดลองทำการผลิตปลูกผักทำสวนครัวเองบ้างเมื่อมีโอกาส มันจะยังไม่เพียงพอต่อการทำความเข้าใจระบบการผลิตอาหารทั้งหมดทั้งมวลที่เราอาศัยกินดื่มใช้กัน   ระบบอาหารอินทรีย์ที่มีอยู่ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกันกับการขยับขยายให้ประเทศไทยมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้นนั่นแหละ  เพียงแต่ตอนนี้ มันเป็นเพียงแต่ “ติ่ง” เล็กๆ ที่เกิดขึ้น  และมันขยายออกไปไม่ได้เพราะเงื่อนไขมากมาย เราพูดเรื่องบางเรื่องไม่ได้จนต้องเซ็นเซอร์ตัวเองเพราะ ม. 112 ถูกเอามาใช้เป็นเครื่องมือควบคุมโดยอ้างความมั่นคงของประเทศที่ไม่ได้หมายถึงความมั่นคงและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของพลเมืองในประเทศ  ซึ่งไม่ต่างอะไรกับการพูดไม่หมดถึงความซับซ้อนของเงื่อนไขต่างๆ ที่เกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรที่ยากจน ไร้ที่ ไร้ทุน ในการที่จะเปลี่ยนเทคนิควิธีการผลิตที่ไปสัมพันธ์กับระบบตลาดที่กว้างใหญ่กว่าตลาดทางเลือกแคบๆ ที่ผุดพรายขึ้นมา ซึ่งยังไม่เพียงพอที่จะดูดซับผลผลิตทั้งหมดของพวกเขา   เพื่อนรุ่นพี่ที่เป็นอาจารย์คนหนึ่งของฉันถึงกับฟันธงว่า ผู้บริโภคที่ไม่สนใจปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และทำความเข้าใจถึงวิถีชีวิตของพวกผู้ผลิตอาหารจริงๆ  แต่ยึดหลงกับภาพแทนของกลุ่มผู้ผลิตอินทรีย์ หรือแม้แต่ดาราชาวนา ผู้บริโภคแม้กินอาหารอินทรีย์อยู่จริง  และนี่นั่นไม่ใช่คนที่จะกิน(อาหาร)เพื่อคนอื่นได้จริงๆ   วันก่อนฉันไปคุยกับเพื่อนรุ่นน้องที่สุพรรณบุรี  เธอเป็นลูกจ้างประจำที่ต้องทำงานในฟาร์มอินทรีย์ประจำวันทุกวันจันทร์ – ศุกร์ รายได้ของเธอ และสามีซึ่งมีเงินเดือนประจำจากการเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านนั้นแทบไม่พอใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและค่าส่งเสียเล่าเรียนของลูก 2 คนที่กำลังเรียนในระดับประถมต้น   ทางเลือกอื่นๆ ที่พอจะหารายได้ให้กับครอบครัวของเธอที่เธอเลือกจะทำได้ตามเงื่อนไขเอื้ออำนวยก็คือทำนาลดต้นทุนและปลูกเมล็ดพันธุ์ผักขาย   “พันธุ์ข้าวที่ใช้ก็ซื้อเขา ซื้อเอาจากที่คนปลูกแล้วเอามาตากเอง  ไม่ได้เอาพันธุ์ที่เขาสีขายให้คนกินอินทรีย์อย่างที่เขาส่งเสริมกัน เพราะต้องสีขายโรงสี  ข้าวขายโรงสีมีแค่ข้าวที่ทำแป้ง กับข้าวหอมปทุมเท่านั้นแหละ” นาลดต้นทุนของเธอนั้นเคยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ทำเองในช่วงแรก แต่ก็ต้องเลิกทำไปแล้ว   เธอยังคงใช้น้ำหมักและฮอร์โมนชีวภาพ แต่ต้องพึ่งยากำจัดวัชพืชอยู่อย่างสม่ำเสมอ     แต่การที่เธอทำนามา 7 – 8 ปี  ก็เพิ่งจะมีช่วงโครงการรับจำนำข้าวนี่แหละที่ทำให้เธอถอยรถปิ๊กอัพป้ายแดง 2 ประตูออกมาใช้อย่างคนอื่นๆ บ้าง   นี่เป็นเพียงแค่เรื่องเล็กๆ เรื่องหนึ่ง   ที่ทำให้ฉันแปลกใจว่าข้อเสนอของใครหลายคนในแวดวงส่งเสริมเกษตรอินทรีย์จึงไม่เคยเป็นที่โดนใจของชาวนา  ชาวนาที่พวกเขาเรียกกล่าวหาว่าไม่รู้จักพอเพียงนั่นแหละ   กลับจากนาของเพื่อนรุ่นน้องคนนั้น ฉันควักเอาซอสมะเขือเทศของคุณชาวนาฯ เพื่อนสนิทมาปรุงเป็นสปาเก็ตตี้กิน  กะทำทีเดียวกินไปตลอด 3 มื้อของวันนี้หลังปั่นต้นฉบับให้ บ.ก. ฉลาดซื้อ   เครื่องปรุง 1.ซอสมะเขือเทศสูตรคุณชาวนาฯ(ดูจากฉบับที่แล้ว) 1 ถ้วย 2.ตับหมู หั่นชิ้นเล็ก  ½  ถ้วย (หรือไก่ กุ้ง ฯลฯ) 3.หอมหัวใหญ่สับ ½ ถ้วย , มะเขือเทศสับ   ½ ถ้วย 4. ถั่วฝักยาวหั่วท่อนละ 0.5 ซม. ½  ถ้วย 5.เกลือเล็กน้อย 6.น้ำมันมะกอก ¼ ถ้วย , เส้นสปาเก็ตตี้ต้มสุกแล้ว 1 ชาม   วิธีทำ ตั้งกระทะเทฟลอน เทน้ำมันมะกอกลงไป รอให้ร้อนแล้วนำหอมหัวใหญ่สับลงไปผัดจนหอม  จึงใส่ตับหมูลงไปผัดให้สุก  ตามด้วยมะเขือเทศ และถั่วฝักยาว  จากนั้นจึงใส่ซอสมะเขือเทศลงไป  ปรุงรสตามชอบ แล้วปิดเตา ตักเสิร์ฟ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point