ฉบับที่ 259 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2565

5 ข้อมูลส่วนบุคคลที่เสี่ยงถูกจารกรรม        สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เตือนประชาชนระวังการให้ข้อมูลส่วนบุคคลแก่บุคคลอื่นรวมถึงทางออนไลน์และโซเชียลมีเดีย และหลีกเลี่ยงร่วมกิจกรรมออนไลน์ที่ให้เปิดข้อมูลส่วนบุคคล รวมถึงการรับรหัส ATM นำโชคต่างๆ เกี่ยวกับเรื่องความเชื่อที่กำลังเป็นที่นิยม โดย 5 ข้อมูลสำคัญที่ไม่ควรเปิดเผย ได้แก่ 1.ข้อมูลส่วนบุคคล เช่น เลขบัตรประชาชน เลขหนังสือเดินทาง เลขประจำตัวผู้เสียภาษี 2. ข้อมูลพิกัดที่อยู่อาศัย เบอร์โทรศัพท์ อีเมล 3.ข้อมูลเกี่ยวกับธุรกรรมทางการเงิน เลขบัญชี รหัส ATM เลขบัตรเครดิต 4.ข้อมูลชีวมิติ ลายนิ้วมือ ข้อมูลแสดงม่านตา 5.ข้อมูลเกี่ยวกับอุปกรณ์ต่างๆ IP Address MacAddress Cookie ID        นอกจากนี้ควรระวังส่วนของข้อมูลทรัพย์สินของบุคคล จำพวกทะเบียนรถยนต์ โฉนดที่ดิน ข้อมูลใดๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปถึงข้อมูลตนเองได้ เช่น วันเดือนปีเกิด เชื้อชาติ ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลการศึกษา หรือข้อมูลบันทึกอื่นๆ อีกด้วย สปสช.ยกเลิกสัญญาหน่วยบริการ 9 แห่ง        สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกเลิกการให้บริการสาธารณสุขรพ.เอกชน ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ บัตรทอง 30 บาท 9 แห่ง มีผลวันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป เหตุจากการเบิกจ่ายไม่ถูกต้อง         ทั้งนี้ สปสช.มีแผนการรับรองผู้ป่วยแต่ละกลุ่ม ดังนี้ 1) ผู้ป่วยที่นอนรักษาตัวโรงพยาบาล 9 แห่ง หลัง 30 กันยายน 2565 ยังไม่ได้ออกจากโรงพยาบาล สามารถรักษาตัวต่อไปได้ทาง สปสช.จะรับผิดชอบค่าใช้ให้ 2) ผู้ป่วย 5 กลุ่ม เช่น สตรีใกล้คลอด ผู้ป่วยมะเร็งที่ต้องรับเคมีบำบัดและรังสีรักษา ผู้ป่วยมีนัดทำอัลตราซาวนด์ ทำซีทีสแกน และทำ MRI  ยังคงรักษาตัวตามนัดเดิมได้ 3) ผู้ป่วย 9 รพ.ที่ได้รับใบส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลอื่นยังได้รับสิทธิส่งตัวไปรักษาตามปกติ 4) ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ให้เข้ารับการรักษาตัวต่อได้ที่ คลินิกเวชกรรม คลินิกอบอุ่น คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ และร้านยา พร้อมจัดระบบบริการรูปแบบใหม่ คือ ระบบบริการแพทย์ทางไกลที่ใดก็ได้ 5) ผู้ป่วย HIV และวัณโรคให้เข้ารับการรักษาเหมือนผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และ 6) สำหรับผู้ป่วยที่ต้องฟอกไต ผ่าตัดหัวใจ ทำบอลลูนหัวใจ ใส่สายสวนหัวใจ ยังคงได้รับการรักษาได้ตามโรงพยาบาลเดิม สำหรับผู้ที่ได้รับสิทธิรักษาในโรงพยาบาลทั้ง 9 แห่งแต่ไม่ได้เป็นผู้ป่วย สามารถเข้าเลือกหน่วยบริการใหม่ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. แค่เดือนสิงหา ปชช.แจ้งความออนไลน์แล้ว 1.7 หมื่นคดี        จากสถิติ 1 มีนาคม – 31 กรกฎาคม 2565 ของศูนย์บริหารการรับแจ้งความออนไลน์ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaipoliceonline.com  มีผู้เสียหายที่มาแจ้งความคดีออนไลน์จำนวนสูงถึง 59,846 เรื่อง ในส่วนของเดือนสิงหาคม 2565 พบสถิติประชาชนแจ้งความออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ถึง  17,254 คดี รวมมูลค่าความเสียหายกว่า 3,317 ล้านบาท โดยประเภทที่มีการแจ้งความมากที่สุด ได้แก่ ซื้อสินค้าแต่ไม่ได้รับสินค้า (34.09%) หลอกให้ลงทุน (19.21%) หลอกให้ทำงานออนไลน์ (13.20%) หลอกให้กู้เงินแต่ไม่ได้เงิน (12.48%) และ ข่มขู่ให้เกิดความหวาดกลัวหรือคอลเซนเตอร์ (6.08%)           ดังนั้นเพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมออนไลน์สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยีได้ผ่านทางช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ของหน่วยงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ดังนี้ เพจ PCT Police, เพจ ตำรวจสอบสวนกลาง, เพจ กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี บช.สอท. – CCIB นัดพิจารณานัดแรก ตุลาการผู้แถลงคดีมีความเห็นยกฟ้องกรณีแอชตัน อโศก        20 กันยายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่าคดีแอชตัน อโศก ศาลปกครองสูงสุดได้พิจารณานัดแรก โดยตุลาการผู้แถลงคดีให้ความเห็นหลังจากฟังแถลงข้อเท็จจริงว่า กรณี รฟม.อนุญาตให้โครงการแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่เวนคืนเพื่อเป็นทางเข้าออก ขยายถนนจากความกว้าง 6.4 เมตร เป็น 13 เมตร สอดรับกับกฎหมายควบคุมอาคาร ซึ่ง รฟม.ได้รับประโยชน์เป็นอาคารจอดรถและอาคารสำนักงานมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นการดำเนินการโดยชอบคำอุทธรณ์ฟังขึ้น ดังนั้น ตุลาการผู้แถลงคดีจึงมีความเห็นโครงการดำเนินการไปโดยชอบ ควรกลับคำพิพากษาศาลปกครองกลาง (ศาลชั้นต้น) ให้ยกฟ้องจำเลยทุกคดี         อย่างไรก็ตาม คําแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีถือเป็นความเห็นโดยอิสระ ไม่ผูกพันองค์คณะในการจัดทําคําพิพากษาในคดี จึงต้องรอคำตัดสินทั้งองค์คณะต่อไป         ตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้นๆ ตู้น้ำดื่ม-รถเมล์-ผังเมือง สามเรื่องสภาผู้บริโภค กทมฯ ยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่ากทม ฯ         19 กันยายน 2565 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และสภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) จัดเวทีเสวนา การคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร จากกรณีศึกษาปัญหาผู้บริโภค 3 เรื่อง โดยคุณกชนุช แสงแถลง ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวว่า หลังจากที่สภาองค์กรของผู้บริโภคได้ก่อตั้งขึ้นในปี 2563  ได้มอบหมายให้ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นสำนักงานเลขาสภาองค์กรผู้บริโภคประจำจังหวัดกรุงเทพฯ ดำเนินงานในวัตถุประสงค์ด้านคุ้มครองผู้บริโภคให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและจัดเวทีเสวนาระดมแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อทำให้เครือข่ายการทำงานในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็งมากขึ้น         ทั้งนี้จากการรวบรวมปัญหาและจัดทำข้อเสนอเพื่อการแก้ไขนั้น หน่วยงานประจำจังหวัดและเครือข่าย สรุป 3 ปัญหาสำคัญคือ บริการรถเมล์สาธารณะ ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ และการจัดการผังเมืองอย่างมีส่วนร่วมและมอบหมายให้ตัวแทนทั้ง 3 เรื่องยื่นข้อเสนอต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในงานเสวนาดังกล่าว         นายชัชชาติได้ตอบรับและกล่าวขอบคุณที่ให้ตนได้มีโอกาสมารับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะต่อการพัฒนาและแก้ไขปัญหาทั้ง 3 เรื่อง เรื่องบริการรถเมล์สาธารณะ แม้ภารกิจหลักจะเป็นอำนาจหน้าที่ของ ขสมก. แต่ กทม. อาจสามารถจัดบริการเสริมได้ในบางเส้นทาง ตู้น้ำดื่มอาจมีการพิจารณานำเรื่องน้ำดื่มฟรีที่ กทม. เคยทำมาแล้วกลับมาอีกครั้ง ส่วนผังเมืองเป็นเรื่องใหญ่คงต้องพูดคุยกันอีกหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม ทุกเรื่องที่ได้มารับฟังปัญหาตนเองเห็นถึงสัญญาณที่ดี นั่นคือภาคประชาชนตื่นตัวซึ่งเป็นสิ่งสำคัญ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 241 สิทธิบัตรทองต้องใช้ที่ไหน

        ย้อนไปเมื่อกันยายน พ.ศ. 2563 หลายคนคงได้ยินข่าว สปสช. หรือสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ยกเลิกสัญญาสิทธิบัตรทองของคลินิกและโรงพยาบาลหลายแห่ง “สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองเพิ่ม 108 แห่ง รวมแล้ว 190 แห่งทุจริตงบ เสียหาย 198 ล้าน” ทำให้คนที่ใช้สิทธิบัตรทองต่างตกใจเป็นอย่างมาก ไม่รู้ว่าตัวเองต้องไปรักษาที่ไหน โดยเฉพาะคนที่ต้องรักษาตัวต่อเนื่อง เรื่องนี้มีคำแนะนำอย่างไร        คุณสกุลมีภาวะเครียดต้องรับการรักษาอยู่ที่คลินิกแห่งหนึ่งด้วยสิทธิบัตรทอง โดยต้องเข้ารับยาต่อเนื่องทุกเดือน แต่วันหนึ่งเจ้าหน้าที่คลินิกแจ้งเขาว่า คลินิกเปิดให้บริการถึงสิ้นเดือน ดังนั้นวันนี้ต้องขอเก็บค่าบริการและค่ายาสำหรับรับประทาน 1 เดือน เป็นจำนวน 700 บาท เนื่องจากทางคลินิกไม่สามารถเบิกเงินสิทธิบัตรทองจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้แล้ว เพราะคลินิกถูกยกเลิกสัญญา         คุณสกุลจ่ายไป 700 บาท ได้ยากลับบ้านพร้อมกับประวัติการรักษา หลังจากกลับมาถึงบ้านเขาก็รู้สึกกังวลใจเป็นอย่างมาก เพราะว่าต้องกินยาต่อเนื่องทุกเดือน จะต้องจ่ายเงินค่ายาทุกเดือนเองแบบนี้ไปเรื่อยๆ หรืออย่างไร แล้วไม่รู้ว่าต้องไปรักษาต่อที่ไหน แล้วจะใช้สิทธิบัตรทองได้อีกหรือเปล่า จึงมาขอคำปรึกษากับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         เบื้องต้นได้อธิบายคุณสกุลว่า ขณะ สปสช. ยกเลิกสัญญาการให้บริการกับคลินิกหลายแห่งเนื่องจากเหตุทุจริต ดังนั้นทำให้คุณสกุลต้องชำระค่าบริการและค่ายาเองไปก่อน อย่างไรก็ตามสิทธิบัตรทองของคุณสกุลยังคงอยู่ เรียกว่า สิทธิว่าง ทำให้คุณสกุลสามารถเข้ารับบริการได้ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน หรือศูนย์บริการสาธารณสุขทุกที่ หรือโรงพยาบาลเอกชนที่ทำสัญญาไว้กับ สปสช. โดยไม่ต้องชำระเงิน             โดยทาง สปสช. จะรีบดำเนินการย้ายสิทธิการรักษาให้กับผู้มีสิทธิว่างทุกคนโดยเร็วที่สุด คุณสกุลไม่ต้องกังวลใจ กรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่โรงพยาบาลรัฐและเอกชนใกล้บ้านได้ โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษาภายใน 72 ชั่วโมง สำหรับการรักษาแบบต่อเนื่องเข้าใช้บริการได้ตามที่แจ้งข้างต้น หรือหากมีข้อสงสัย ติดต่อ สายด่วน 1330

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 235 ความเคลื่อนไหวเดือนกันยายน 2563

สปสช.ยกเลิกสัญญาคลินิกบัตรทองแล้ว 190 แห่งเหตุทุจริตเบิกเท็จ          30 ก.ย. 2563 นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า สปสช. ยกเลิกสัญญากับโรงพยาบาลเอกชน คลินิกชุมชนอบอุ่น จำนวน 190 แห่ง (แบ่งเป็นโรงพยาบาล 10 แห่ง คลินิกเอกชน 175 แห่ง และคลินิกทันตกรรม 5 แห่ง) ในพื้นที่ กทม. เหตุเพราะทำทุจริตการเบิกเงินในรายการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคจากสปสช. รวมความเสียหาย 198 ล้านบาท ซึ่งการยกเลิกสัญญาครั้งนี้จะกระทบผู้ป่วยรับบริการจริง 4-5 แสนราย เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2.7 แสน         อย่างไรก็ตาม สปสช.ได้กำหนดมาตรการบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนผู้ใช้สิทธิที่หน่วยบริการประจำถูกยกเลิกสัญญา โดยกำหนดผู้ใช้สิทธิเหล่านี้เป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพ หมายถึงสามารถเข้ารับการรักษาเมื่อเจ็บป่วยในหน่วยบริการที่เข้าร่วมระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือเข้าร่วมกับ สปสช. ได้ทุกแห่งโดยไม่ต้องมีหน่วยบริการประจำ ไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดจำนวนครั้ง (สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 ตลอด 24 ชั่วโมง)         ด้านนายจีรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายบริการสาธารณสุขเกินจริง กล่าวว่า ขั้นตอนจากนี้เป็นหน้าที่กองปราบปรามในการรวบรวมพยานหลักฐานว่าเป็นความผิดข้อหาใดบ้างแล้วดำเนินคดีในทางอาญากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลทั้งหมด นอกจากนี้ได้ส่งเรื่องให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พิจารณาดำเนินคดีตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 ด้วย ซึ่งเบื้องต้นทราบว่า สบส.ได้พิจารณาแล้วพบว่ามีความผิดเช่นเดียวกันและได้แจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนกองปราบปรามเช่นเดียวกัน มีผลแล้ว ประกาศขายของออนไลน์ ห้ามให้อินบ็อกซ์ถามราคา          22 กันยายน 2563  เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้า และบริการ ฉบับที่ 70 พ.ศ. 2563 เรื่อง การแสดงราคาและรายละเอียดเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าและบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์  มีเนื้อหาโดยสรุปคือ ผู้ประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการจำหน่ายสินค้าหรือบริการผ่านระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือออนไลน์ ต้องแสดงราคาจำหน่าย ค่าบริการ รวมถึงประเภท ชนิด ลักษณะขนาด น้ำหนัก และรายละเอียดของสินค้าหรือบริการ โดยการเขียน พิมพ์ หรือกระทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่นใดในระบบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรือระบบออนไลน์ของผู้ประกอบธุรกิจนั้น ในลักษณะที่ชัดเจน ครบถ้วน เปิดเผย สามารถอ่านได้โดยง่าย กรณีที่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่แสดงไว้ ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนครบถ้วนและเปิดเผย โดยแสดงไว้ควบคู่กับการแสดงราคาจำหน่ายสินค้าหรือค่าบริการที่ให้บริการ         กรณีผู้ขายสินค้าออนไลน์ ไม่แจ้งราคาผ่านช่องทางที่จำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม, ไลน์ และเว็บไซต์ แต่จะให้อินบ็อกซ์เข้ามาสอบถามราคาแทนนั้น จะมีโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท         ส่วนผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับสินบนนำจับ 25% ของค่าปรับ เช่น หากโทษปรับ 10,000 บาท ผู้แจ้งเบาะแสจะได้รับเงินส่วนแบ่ง 2,500 บาท ซึ่งหลักฐานที่ต้องเตรียมนั้น ได้แก่ ข้อความที่พูดคุยกัน, การแจ้งราคาทางอินบ็อกซ์ รวมถึงบัญชีธนาคารของคนขาย เพื่อความสะดวกต่อการนำจับ สามารถแจ้งข้อมูล หรือร้องเรียนได้ที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ อีเมล์ 1569@dit.go.th หรือสายด่วน 1569 คกก.วัตถุอันตรายไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส'          28 ก.ย. 2563 ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเสียงส่วนใหญ่มีมติไม่ทบทวนแบน 'พาราควอต-คลอร์ไพริฟอส' เนื่องจากเพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2563 ที่ผ่านมา และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่พูดเรื่องแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ ทั้งนี้ กรรมการที่อยู่ในห้องประชุม 24 คน มีผู้เห็นด้วยกับการทบทวนมติ 4 คน และไม่เห็นด้วย 20 คน ที่ประชุมจึงมีมติโดยเสียงส่วนใหญ่ว่าไม่สมควรที่จะออกประกาศยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากประกาศเพิ่งมีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมาและมีการฟ้องคดีอยู่ในการพิจารณาของศาลปกครอง จึงมอบหมายให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงสาธารณสุขนำข้อมูลจากคณะกรรมการไปพิจารณาและรายงานคณะกรรมการต่อไป         นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ประธานการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ครั้งที่ 3-2/2563 กล่าวว่า เมื่อมีมติให้แบนสารพาราควอตและคลอร์ไพริฟอสจะต้องมีการหาสารเคมีทางการเกษตรหรือสารทางเลือกเข้ามาทดแทน เพราะสารเคมี 2 ชนิดนี้เป็นอันตรายต่อสุขภาพ และน่าจะเป็นครั้งสุดท้ายที่จะพูดถึงเรื่องการแบนหรือไม่แบนสารเคมี 2 ตัวนี้ คนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่ม 2.4 เท่าใน 10 ปี          สสส. เผยข้อมูลสำคัญ พบแนวโน้มคนไทยเสียชีวิตด้วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ในรอบ 10 ปี เพิ่มขึ้น 2.4 เท่า คนเมือง-กรุงเทพฯ–ภาคกลาง เสี่ยงเสียชีวิตสูงสุด เผยกินผัก-ผลไม้ 400 กรัม/วัน ธัญพืชไม่ขัดสี ช่วยลดเสี่ยง แพทย์ชี้สาเหตุเกิดจาก “พันธุกรรม-พฤติกรรม-โรค” แนะปรับพฤติกรรมการกิน ตรวจคัดกรองก่อนเกิดอาการ        ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สถิติสถานการณ์สุขภาพคนไทย 10 ปีย้อนหลังรายเขตสุขภาพ ระหว่าง พ.ศ. 2552–2561 พบว่า คนไทยมีแนวโน้มเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่สูงขึ้น 2.4 เท่าทั้งเพศหญิงและชาย         ปี 2552 อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้ใหญ่ในเพศชาย อยู่ที่ 3.6 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 8.9 คนต่อแสนประชากรในปี 2561 เช่นเดียวกับเพศหญิง ในปี 2552 อยู่ที่ 2.8 คนต่อแสนประชากร เพิ่มขึ้นเป็น 6.7 คนต่อแสนประชากรในปี 2561         ที่น่าสนใจคือคนในเขตเมืองมีแนวโน้มเสียชีวิตจากมะเร็งลำไส้สูงขึ้น โดยเฉพาะในเขต กทม. ที่มีจำนวนมากที่สุด 15.1 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1.9 เท่าในรอบ 10 ปี ตามด้วยภาคกลาง 10.2 คนต่อแสนประชากร ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2.4 เท่า         การปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ บริโภคผักและผลไม้อย่างน้อยวันละ 400-600 กรัม การบริโภคพืชที่เรียกว่า “โฮลเกรน” หรือธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ลูกเดือย ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักได้เช่นกัน นอกจากนี้การออกกำลังกายจะช่วยระบบขับถ่ายทำงานได้ดีขึ้น องค์กรผู้บริโภคเตรียมฟ้อง สปน.เหตุยื้อไม่เร่งเกิด “สภาองค์กรผู้บริโภค”          27 กันยายน 2563 สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุการจดแจ้งองค์กรผู้บริโภคเพื่อเตรียมพร้อมเป็นสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นใช้ระยะเวลาดำเนินการล่วงมาเกือบ 15 เดือน นับตั้งแต่การยื่นจดแจ้งวันแรกเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 ขณะนี้มีจำนวน 144 องค์กรที่ผ่านการจดแจ้งแล้ว เหลืออีกเพียง 6 องค์กรตามกฎหมายกำหนด โดยสาเหตุที่ล่าช้าส่วนหนึ่งเพราะระเบียบอันซับซ้อนของสำนักงานปลัดสำนักงานนายกรัฐมนตรี หรือ สปน. ดังนั้นต่อจากนี้ 7 วันหากกระบวนการต่างๆ ยังไม่คืบหน้า องค์กรผู้บริโภคได้เตรียมการฟ้องสปน. ต่อศาลปกครอง         “ถึงแม้จะเหลืออีกเพียง 6 องค์กร ก็ยังมีความจำเป็นต้องเร่งรัดสปน. เพราะสถานการณ์ที่ผ่านมาทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ มองว่ากระบวนการตรวจสอบของ สปน.อาจเข้าข่ายการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรหรือไม่ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงขอให้สปน. เร่งรัดการออกประกาศรับรององค์กรและเร่งประกาศรายชื่อองค์กรผู้บริโภคในระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของ สปน.หรือออก อกผ3 โดยเร็ว หากพบว่ายังล่าช้านานเกินกว่า 7 วัน องค์กรผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดได้เตรียมการที่จะฟ้องสปน. ต่อศาลปกครองทันที          ทั้งนี้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการจัดตั้งสภาขององค์กรผู้บริโภค พ.ศ. 2562 กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคมีหน้าที่ต้องขึ้นทะเบียนกับนายทะเบียนจังหวัดและนายทะเบียนกลาง กำหนดให้องค์กรผู้บริโภคจำนวน 150 องค์กร สามารถเข้าชื่อยื่นจดแจ้งการจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค กับสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้ ตามมาตรา 9  และรวบรวมสมาชิกที่ผ่านการจดแจ้งได้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งขององค์กรผู้บริโภค ถึงจะสามารถยื่นจัดตั้งสภาองค์กรผู้บริโภคได้ และสภาองค์กรผู้บริโภคนั้นต้องรีบดำเนินการจัดทำข้อบังคับและรับฟังความคิดเห็นก่อนการประกาศใช้

อ่านเพิ่มเติม >