ฉบับที่ 254 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ ปี 2565

        การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50 % แล้วยังเป็นมาตรการหลักในป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ครั้นจะใช้สบู่ก้อนแบบเดิม ๆ หลายคนก็เกรงจะเสี่ยงรับเชื้อจากการสัมผัสสบู่ก้อนร่วมกันอีก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ “สบู่เหลวล้างมือ” ที่แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ตอบโจทย์ทั้งความสะอาด ใช้สะดวก และลดการสัมผัสโดยตรง ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น         เมื่อปี 2560 มูลค่าตลาดรวมของสบู่ประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มสบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท กลุ่มสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมของสบู่เพิ่มเป็นประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท แต่กลุ่มสบู่ก้อนกลับลดลงมาที่ 9,000 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มสบู่เหลวสูงขึ้นถึงประมาณ 7,400 ล้านบาท         แม้สบู่เหลวล้างมือแต่ละยี่ห้อจะมีส่วนผสมหลากหลายสูตรเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง แต่มักยังคงมีสารเคมีจำพวกที่ทำให้เกิดฟอง สารกันเสีย และสารสังเคราะห์อื่นๆ เป็นส่วนประกอบพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการล้างมือบ่อยขึ้น อาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีในสบู่เหลวบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ จำนวน 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือว่ามีสารเคมีที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองได้        เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากแพ้มากจะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น        พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่เสี่ยงส่งผลให้เป็นมะเร็ง        ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย         (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) สรุปผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ         จากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ         - มี 9 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้ง SLES, MIT, พาราเบน และไตรโคลซาน         ได้แก่ ยี่ห้อคาว แบรนด์ เซเก็ทสึ คะโซกุ แฮนด์ โซป, ลักส์ โบทานิคัล โฟมล้างมือ, บีไนซ์ คิทเช่น แคร์ โฟมมิ่ง แฮนด์ วอช, บิโอเร โฟมล้างมือ, ศารายา ซิลกี้วอช พิ้งกี้ พีช, คากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป, คิเรอิคิเรอิ โฟมล้างมือ, เอสเซ้นซ์ ออร์แกนิค อโลเวร่า โฟมล้างมือ และคิงส์สเตลล่า เฮลธ์แคร์ แอนตี้แบคทีเรียล แฮนด์ วอช         - พบ พาราเบน ใน 1 ตัวอย่าง           - ไม่พบ ไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง         - เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่ายี่ห้อคากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป แพงสุดคือ 0.44 บาท ส่วนยี่ห้อเซฟการ์ด เพียว ไวท์ ลิควิด แฮนด์ โซป และยี่ห้อ 3เอ็ม สบู่เหลวล้างมือ ถูกสุดคือ 0.17 บาท         - ตัวอย่างสบู่เหลวล้างมือที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้เมื่อปี 2562 มีค่าเฉลี่ยของราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตรอยู่ที่ 0.33 บาท ขณะที่ผลการสำรวจของปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.28 บาท คำแนะนำ        - สบู่เหลวล้างมือจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และสังเกตเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่ฉลากทุกครั้ง ซึ่งนำไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.fda.moph.go.th เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเครื่องสำอางปลอมหรือใช้สารเคมีเกินกว่าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด        - อ่านฉลากก่อนซื้อ และควรปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้บนฉลาก        - สบู่เหลวล้างมือควรมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ผลิต        - เลือกสูตรที่มีส่วนผสมที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง และให้ความชุ่มชื่นคืนผิว        - ควรเลือกสบู่เหลวที่ไม่มีกลิ่นหรือกลิ่นอ่อนๆ ไว้ล้างมือก่อนปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารติดกลิ่นสบู่ไป          - ล้างฟองออกให้เกลี้ยงเพื่อเลี่ยงการสะสมของสารตกค้างที่อาจทำให้ระคายเคืองผิวได้        - ถ้ามีขวดเดิมอยู่แล้ว ครั้งต่อไปควรซื้อแบบถุงเติมเพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือhttps://mgronline.com/goodhealth/detail/9600000088199https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/966/Hand-hygienehttps://my-best.in.th/49271https://www.thestorythailand.com/08/07/2021/33784/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 240 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก

        สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก เป็นผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่มีโอกาสสัมผัสผิวหนัง เส้นผม และดวงตาของเด็กอยู่เป็นประจำ คุณพ่อคุณแม่ควรพิถีพิถันในการเลือกผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยจากสารเคมีและส่วนผสมต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กทารกและเด็กเล็ก         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก จำนวน 16 ตัวอย่าง จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในช่วงเดือนกันยายน 2563 - มกราคม 2564 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็กว่า มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง ผมร่วง และแสบตาได้         เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากเกิดอาการแพ้จะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น         พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่มีรายงานว่าอาจเสี่ยงต่อสุขภาพส่งผลให้เป็นมะเร็ง         ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย         (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสาร ที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด)         แอลกอฮอล์ : อาจระคายเคืองผิว ทำให้ผิวของเด็กแห้งเกินไปจนเกิดเป็นผื่นได้         น้ำหอม : น้ำหอมสังเคราะห์อาจทำให้เกิดผื่นแพ้ตามผิวหนังและหนังศีรษะ แม้แต่น้ำมันหอมระเหยจากพืชธรรมชาติก็ยังมีโอกาสทำให้เกิดอาการระคายเคืองในเด็กที่ผิวแพ้ง่ายได้ ผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวและแชมพูสำหรับเด็ก         พบว่า ยี่ห้อ ละมุน ออร์แกนิค และ อะราอุ เบบี้ ไม่มีสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวังในการแสดงฉลาก มี  9 ตัวอย่าง ระบุว่ามีโซเดียมลอริธซัลเฟต 5 ตัวอย่าง ระบุว่ามีเมทิลไอโซไทอะโซลิโนน  2 ตัวอย่างระบุว่า มีแอลกอฮอล์  14 ตัวอย่างระบุว่า มีน้ำหอม และ ไม่มีการระบุใช้พาราเบนและไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง         ข้อสังเกต        -เบบี้มายด์ อัลตร้ามายด์ ไบโอแกนิก แม้บนฉลากระบุว่า Alcohol free แต่ในส่วนประกอบมี Benzyl alcohol         -น้ำหอมพบมากที่สุด(14 ตัวอย่าง) มีเพียง MooNoi ออร์แกนิคที่ระบุว่าเป็น baby perfume         - ในฉลากของ เพียวรี เบบี้ ระบุว่า ‘0% SLS’ ก็คือไม่มีโซเดียมลอริลซัลเฟต (Sodium Lauryl Sulfate : SLS) ที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับ SLES แต่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้มากกว่า ซึ่งผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กส่วนใหญ่จะใช้ SLES ที่ก่อให้เกิดการระคายเคืองน้อยกว่า ดังนั้นแม้จะระบุว่า‘0% SLS’ หรือ ‘No SLS’ ก็ต้องดูว่ามี SLES ไหม ถ้ามีก็แสดงว่ายังมีโอกาสที่จะเกิดอาการแพ้ระคายเคืองจากสารที่ทำให้เกิดฟองตัวนี้ได้         - จอห์นสัน ท็อปทูโท เบบี้ บาธ และ อาวีโน่ เบบี้ มีข้อความในฉลากว่า Hypoallergenic แสดงว่าผู้ผลิตได้เลี่ยงการใช้หรือลดอัตราส่วนของสารประกอบที่จะทำให้แพ้ระคายเคืองต่างๆ ที่เชื่อว่าผู้ใช้จะมีโอกาสแพ้ระคายเคืองน้อยลงได้ โดยไม่ได้ระบุว่าผ่านการทดสอบจากแพทย์ผิวหนังแล้วหรือไม่         -จากทั้งหมด 16 ตัวอย่าง มีผลิตภัณฑ์ที่ใช้ได้ทั้งสระผมและอาบน้ำในขวดเดียว 12 ตัวอย่าง และใช้เฉพาะอาบน้ำ 4 ตัวอย่าง หากไม่สังเกตแล้วเผลอหยิบผลิตภัณฑ์ที่ใช้เฉพาะอาบน้ำมาสระผม อาจมีสารประกอบที่ไม่เหมาะกับหนังศีรษะและเส้นผมจนทำให้เกิดอาการระคายเคืองได้           ข้อแนะนำจากฉลาดซื้อ         นอกจากสารเคมีหรือส่วนผสมที่ควรระวัง คุณพ่อคุณแม่ควรใส่ใจการแสดงข้อมูลอื่นบนฉลาก ได้แก่         สัญลักษณ์/ข้อความว่าผ่านการทดสอบการแพ้ : ผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กควรผ่านการทดสอบ Hypoallergenic หรือการทดสอบอาการแพ้ ภายใต้การควบคุมของแพทย์ผิวหนัง เพื่อเพิ่มความมั่นใจในความปลอดภัยให้ผู้บริโภค         pH Balance : ค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ควรใกล้เคียงกับผิวเด็ก คือ 5.5 เพื่อช่วยรักษาสมดุลผิวของเด็ก ปกป้องไม่ให้ผิวแห้งและระคายเคืองได้ง่าย            สูตรอ่อนโยนต่อดวงตา : เด็กใช้แล้วไม่แสบตา ไม่เคืองตา ให้สังเกตคำว่า no more tear หรือ tear free         สารสกัดจากธรรมชาติปลอดสารพิษ (organic) : ทำให้มั่นใจในเบื้องต้นว่าผลิตภัณฑ์นั้นอ่อนโยนและปลอดภัยต่อผิวเด็ก ช่วยลดความเสี่ยงของการแพ้และระคายเคืองที่เกิดจากสารเคมีได้          คำเตือนผู้บริโภค : แสดงถึงความใส่ใจของผู้ผลิตที่เตือนให้ผู้บริโภคระมัดระวังและแนะนำวิธีการใช้ที่ปลอดภัยด้วย          วันที่ผลิตและวันหมดอายุ : ต้องระบุให้ชัดเจน ควรมีอายุไม่เกิน 3 ปีนับจากวันที่ผลิต 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ

        การล้างมือเพื่อลดความเสี่ยงการติดหรือแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นสุขอนามัยที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ เดิมเราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดต้องมีผลิตภัณฑ์สำหรับล้างมือโดยเฉพาะ เพียงแค่สบู่ก้อนกับน้ำสะอาดนับว่าเพียงพอ แต่ตลาดของผลิตภัณฑ์ชำระล้างร่างกายปัจจุบันมีความหลากหลายขึ้น จากสบู่ก้อน มาสู่สบู่เหลว ครีมอาบน้ำ ซึ่งในกลุ่มของสบู่เหลวยังแยกย่อยออกมาเป็น สบู่เหลวเพื่อการทำความสะอาดมือ ที่มีสัดส่วนในตลาดสบู่เหลวประมาณร้อยละ 3        ปัจจุบันสบู่ที่จำหน่ายในท้องตลาดแบ่งตามลักษณะของผลิตภัณฑ์เป็น 2 ลักษณะ คือ สบู่ก้อน(bar soaps) และสบู่เหลว(liquid soaps) ทั้งนี้มูลค่าการตลาดรวมของสบู่ในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท สบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท (ที่มา...ประชาชาติธุรกิจ)        โดยทั่วไปสบู่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการฟอกทำความสะอาดผิว เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคไม่ค่อยยึดติดกับยี่ห้อมากนัก เพราะคุณสมบัติพื้นฐานไม่ต่างกัน ยี่ห้ออะไรก็ใช้แทนกันได้ ดังนั้นแต่ละยี่ห้อจึงต้องสรรหาจุดขายเพื่อสร้างความดึงดูดใจผู้บริโภค สบู่เหลวล้างมือก็เช่นกัน เป็นผลจากการแบ่งย่อยคุณสมบัติสินค้าให้เจาะจงยิ่งขึ้น สบู่เหลวล้างมือจึงมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ออกแบบให้เป็นหัวปั๊มใช้งานง่าย สามารถรีฟิล(refill) ได้ รวมทั้งการใส่สารผสมอย่างน้ำหอม สารให้ความชุ่มชื้น วิตามินต่างๆ หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อสร้างความแตกต่าง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนประกอบพื้นฐานยังคงเป็นสารเคมีเพื่อการชะล้างหรือทำความสะอาดผิว ซึ่งเป็นสารแบบเดียวกันหมดมีอะไรในสบู่ สบู่เหลว        1.ไขมันและน้ำมันจากพืชหรือสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว         2.ด่าง(alkali) เป็นตัวทำปฏิกิริยากับกรดไขมันและส่วนประกอบอื่นๆ ทำให้สารลดแรงตึงผิวและสารลดความกระด้างของน้ำทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ และโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์         3.สารลดความกระด้างของน้ำ(builders) ใช้ลดความกระด้างของน้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำความสะอาดและป้องกันการเสื่อมของผลิตภัณฑ์ เช่น สี กลิ่น เป็นต้น         4.สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์(synthic surfactants)         5.สารปรับสภาพ(conditioners) เพื่อให้ผิวเกิดความชุ่มชื้นและเกิดความระคายเคืองต่อผิวน้อยลง         6.สี ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายเครื่องสำอาง        7.น้ำหอม(fragrances) ทำหน้าที่ปกปิดกลิ่นของส่วนประกอบต่าง ๆ และให้กลิ่น        8.วัตถุกันเสีย เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของสบู่  และ        9.สารต้านจุลินทรีย์(antimicrobial agents) ทำหน้าที่ฆ่าและยับยั้งการ เจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดเชื้อโรคและกลิ่นสารกลุ่มเสี่ยงที่ควรให้ความสนใจ          สารในกลุ่มที่มีการกล่าวถึงกันมากว่าอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม คือ         ·        สารในกลุ่มลดแรงตึงผิว (Surfactant ) เป็นส่วนผสม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่         1.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ (anionic surfactant) มีคุณสมบัติทำความสะอาดได้ดี ทำให้เกิดฟองเร็ว มีราคาถูก และมีความแรงมากกว่าชนิดอื่น จึงอาจทำให้เกิดการระคายต่อผิวได้มาก เช่น sodium lauryl sulfate (SLS), Sodium Lauryl Ether Sulfate (SLES)         2.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวก (cationic surfactant) มักใช้ร่วมกับชนิดประจุลบในปริมาณไม่มากนัก แก้ไขจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ ไม่ให้สบู่เหลวมีประจุลบมากเกินไป เช่น benzalkonium chioride polyquaternium 7, 10, 22 quaternary este        3.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวกและประจุลบ (amphoteric surfactant) กลุ่มนี้ให้ฟองปานกลางและระคายเคืองต่อผิวน้อย เช่น cocamidopropyl betaine         4.สารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ มีประสิทธิภาพในการชำระล้างได้ดี แต่มีฟองไม่มาก ระคายเคืองต่อผิวหนังน้อย เช่น nonyl phenol groups, polyxyethylene fatty alcoholsผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและสบู่เหลวสุตรอ่อนโยนต่อผิว มักใช้สารลดแรงตึงผิวประเภทที่ 3 และ 4 เป็นส่วนผสม เนื่องจากมีความอ่อนโยนกว่าประเภทอื่น        ·        สารกันเสีย (Preservative) คือสารเคมีที่ใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ แต่หากเราสัมผัสสารตัวนี้ในปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย และสารบางชนิด เช่น สารกลุ่มพาราเบน มีการศึกษาวิจัยกันมากขึ้นว่า อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งด้วย        ·        น้ำหอมสังเคราะห์ จัดเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของสารก่อภูมิแพ้ อยู่ในผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิด หากใช้มากเกิน อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ภูมิแพ้ คำว่า น้ำหอม อาจใช้แทนสารเคมีกลุ่ม phthalates ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นกลิ่นสังเคราะห์หรือน้ำหอมสังเคราะห์นั่นเอง โดยสารกลุ่มนี้จะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อจึงอาจก่อให้เกิดความอ้วน และอาจมีผลรบกวนระบบสืบพันธ์และการพัฒนาการได้ การหลีกเลี่ยงสารกลุ่ม phthalates การล้างมือที่ถูกวิธี          การเลือกใช้สบู่ก้อนหรือสบู่เหลว อาจเป็นเรื่องของความพึงพอใจในการใช้งาน แต่จริงๆ แล้ว การล้างมือถ้าทำได้ถูกวิธี ผลิตภัณฑ์ทั้งสบู่เหลวและสบู่ก้อนให้ผลไม่แตกต่างกัน ถ้าเช่นนั้นการล้างมือที่ถูกวิธี ต้องทำอย่างไร          1.ระยะเวลาในการล้างมือ อย่างน้อยต้อง 15 วินาทีขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอในการขัดถูฝ่ามือ หลังมือ ถูซอกนิ้วมือ ซอกเล็บ รวมถึงบริเวณข้อมือด้วย           2.ควรล้างมือเมื่อเลอะคราบสิ่งสกปรก  ต้องเตรียมอาหารหรือกินอาหาร ใส่คอนแทคเลนส์ การทำแผล และควรล้างมือหลังกิจกรรมเหล่านี้ หลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม สั่งน้ำมูกใช้มือปิดปากเมื่อไอ จาม และสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือเก็บกวาดมูลสัตว์           3.จำเป็นไหมว่าต้องเป็นสบู่หรือสบู่เหลวที่ผสมยาฆ่าเชื้อ การล้างมือที่ถูกวิธีก็เพียงพอในการลดการสะสมของเชื้อโรคได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่เหลวที่ผสมสารฆ่าเชื้อ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ส่องฉลากสบู่สมุนไพร สูตรกระจ่างใส

ในเล่มที่ผ่านมาเราเคยส่องฉลากสบู่ฆ่าเชื้อและสบู่สมุนไพร สูตรลดสิวกันไปแล้ว คราวนี้กลับมาพบกันอีกครั้งกับ “สบู่สมุนไพร สูตรกระจ่างใส” ซึ่งถือเป็นสูตรที่ขายดีที่สุดอันดับหนึ่งในตลาดสบู่* เลยทีเดียว อย่างไรก็ตามด้วยสรรพคุณตามคำโฆษณาของสบู่สมุนไพรเหล่านี้ เช่น ปรับผิวให้ขาวเนียนใส ไร้ริ้วรอย  สว่างออร่า มีสารต้านอนุมูลอิสระหรือแม้แต่ช่วยเร่งการสร้างคอลลาเจน ส่งผลให้ราคาของสบู่สมุนไพรหลายยี่ห้อสูงกว่าสบู่ธรรมดาหลายเท่าตัว จนหลายคนอาจลืมไปว่าสบู่ดังกล่าวเป็นเครื่องสำอางประเภทหนึ่ง ซึ่งใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงามเท่านั้น โดยไม่สามารถอ้างว่า บำบัด บรรเทา รักษา ป้องกันโรค ความเจ็บป่วย มีผลต่อโครงสร้างหรือการกระทำหน้าที่ต่างๆ ของร่างกายได้ เพราะหากทำได้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะกลายเป็นยารักษาโรคแทน  ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาส่องฉลากสบู่สมุนไพรที่เน้นสรรพคุณว่าช่วยทำให้ผิวกระจ่างใส ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้างหรือแตกต่างจากสบู่ธรรมดาทั่วไปอย่างไร เราลองไปดูกันเลย*หมายเหตุ อ้างอิงจากตลาดสบู่ ในเดือนมีนาคม 2560  ซึ่งจัดทำโดย ลอรีอัล (Marketeer) พบว่า มีมูลค่าตลาดรวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. สบู่บิวตี้ 43% 2. สบู่ฆ่าเชื้อเพื่อสุขภาพ 25% 3. สบู่สมุนไพร 17% 4. สบู่เด็ก 10% 5. อื่นๆ 5%ผลการดูฉลากสบู่สูตรผิวใส1. อิงอรสูตร: ผสมทองพันชั่งแท้ปริมาณสุทธิ: 160 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : น้ำมันธรรมชาติ โซเดียมไฮดรอกไซด์ กลีเซอรีน สมุนไพรมะขาม ทองพันชั่ง วิตามินซี เลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5320540ราคา: 29.5 บาท (0.2 บาท/กรัม)2. เทพสมุนไพรสูตร: อโรมา สครับ เชง หนงปริมาณสุทธิ: 100 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : ชาเขียว, ขิง, มะละกอAqua, Sodium Palmitate, Sodium Palm Kernelate, Glycerin, Fragranceเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5207519ราคา: 29 บาท (0.3 บาท/กรัม)3. นกแก้วสูตร: มะขาม ขมิ้น น้ำผึ้งปริมาณสุทธิ: 75 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Sodium Palm Kernelate or Sodium Cocoate, Sodium Palmate, Palm Kernelate Acid, Palm Acid, Glycerin, Sodium Chloride, Fragrance, Lactic Acid, Salicylic Acid, Camphor, Triclosan, Tamarindus Indica Fruit Extract, Butylene Glycol, Curcuma Longa (Turmeric) Root Extract, Honey Extractเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5874818ราคา: 20 บาท (0.3 บาท/กรัม)4. BENNETT เบนเนทสูตร: วิตามินซีและอีปริมาณสุทธิ: 130 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Natural soap, Glycerin, Vitamin C, Orange rind oil Herbal oil, Vitamin Eเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5318626ราคา: 40 บาท (0.3 บาท/กรัม)5. Citra ซิตร้าสูตร: ผงไข่มุก (มะขาม น้ำนมข้าวและ AHA)ปริมาณสุทธิ: 110 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Elaeis guineensis (Palm) oil, Oryza sativa (Rice) barn oil, Cocos Nucifera (Coconut) Oil, Sodium Hydroxide, Glycerin, Fragrance, Microcrystalline cellulose, Sucrose, Zea mays (Corn) Starch Melaleuca alternifolia (Tea tree) leaf oil, BHT, Ascorbic acid, Caprylic/capric triglyceride, Lactic acid, Tamarindus Indica Fruit Extract, Pearl extract, Potassium sorbate, Xanthan gumเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5910003270 ราคา: 48 บาท (0.4 บาท/กรัม)6. Sille ซิลลี่สูตร: มะขาม ขมิ้น ขิงปริมาณสุทธิ: 110 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : น้ำมันมะพร้าว น้ำ น้ำหอม โซเดียมไฮดรอกไซด์ สารสกัดมะขาม สารสกัดขมิ้น สารสกัดขิง ไทเทเนียม ไดอ็อกไซด์ เลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5311945ราคา: 39.5 บาท (0.4 บาท/กรัม)7. ธัญญะสูตร: มะขาม AHA& Vitamin Cปริมาณสุทธิ: 120 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Sodium Palmitate, Tamarindus Indica L., Rhinacanthus Nasutus, Fragranceเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5202853ราคา: 48 บาท (0.4 บาท/กรัม)8. KOKLIANG ก๊กเลี้ยงสูตร: Snow Lotus สโนว์ โลตัสปริมาณสุทธิ: 90 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Sodium Palmitate, Sodium Palm Kernelate, Glycerin, Vitamin E, Fragrance, Saussurea Involucrata Extract, Centella Asiatica Extract, Borneol, Aloe Barbadensis Leaf Extract, Jasmine Tea Extract, CI74160 เลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5873611ราคา: 35 บาท (0.4 บาท/กรัม)9. Protex โพรเทคส์สูตร: มะขาม ขมิ้น ทานาคาปริมาณสุทธิ: 130 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Sodium Palm Kernelate or Sodium Cocoate, Sodium Palmate, Fragrance, Tocopheryl Acetate (Vitamin E), Sodium Ascorbyl Phosphate (Vitamin CCurcuma Longa (Turmeric) Extract, Camellia Sinensis Leaf Extract, Limonia acidissima (Thanaka) Extract, Tocopherol (Vitamin E)เลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5908279ราคา: 48 บาท (0.4 บาท/กรัม)10. K. BROTHERSสูตร: สารสกัดเฮอร์คิวมินปริมาณสุทธิ: 110 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ: น้ำมันมะพร้าว โซเดียมไฮดรอกไซด์ ไทเทเนียม ไดออกไซด์ สารสกัดเฮอร์คิวมิน น้ำหอม น้ำเลขที่ใบรับแจ้ง: 24-1-5400053ราคา: 39.5 บาท (0.4 บาท/กรัม)11. SUPAPORN สุภาภรณ์สูตร: มะขาม+มะเฟืองปริมาณสุทธิ: 100 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Elaeis Guineensis Oil, Cocos Nucifera Oil, Sodium Hydroxide, Perfume, Camphor, Oryza Sativa Germ Oil, Copernicia Cerifera wax, Tamarindus Indica Heart Wood, Sodium Gluconate, Sodium Lactate, Borneol, Etidronic Acid, BHT, Salicylic Acid, Curcuma Aromatica Powder, Averrhoa Carambola Fruit Extract, Tamarindus Indica Fruit Extract,เลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5511791ราคา: 49 บาท (0.5 บาท/กรัม)12. De leaf THANAKA เดอ ลีฟ ทานาคาสูตร: มอยส์เจอร์ไรซิ่ง แอนด์ ไวท์เทนนิ่งปริมาณสุทธิ: 100 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Sodium Palm Kernelate, Sodium Cocoate (Coconut oil), limonia acidissima bark powder (Thanaka Powder), Fragrance, Curcuma Longa Root Powder (Turmeric), Glycerin, Tocopheryl Acetate (Vitamin E), Nicotinamide (Vitamin B3), limonia acidissima extract (Thanaka Extract) เลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5712945ราคา: 45 บาท (0.5 บาท/กรัม)13. PARN VIMARN ปานวิมานสูตร: ขมิ้นชัน ผสมทานาคาปริมาณสุทธิ: 125 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Cocos Nucifera Oil, Elaeis Guineensis Oil, Sodium Hydroxide, Perfume, Glycerin, Galanga rhizomes extract, Butyrospermum parkii (shea) butter extract, Olea europaea (olive) fruit oil, Tocopheryl Acetate, Limonia acidissima bark extract, Curcuma longa root extractเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5631586ราคา: 80 บาท (0.6 บาท/กรัม)14. Lavenze ลาเวนเซ่สูตร: น้ำนมข้าวหอมมะลิปริมาณสุทธิ: 90 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Sodium Palm Kernelate, Sodium Cocoate (Coconut oil), Rice, Milk Fragrance, Glycerin, Tocopheryl Acetate (Vitamin E), Oryza Sativa (Rice) Extractเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5635553ราคา: 65 บาท (0.7 บาท/กรัม)15. GIFU กิฟุสูตร: ถ่าน ลาวาภูเขาไฟปริมาณสุทธิ: 70 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Palmitic Acid, Lauric Acid, Propylene Glycol, Sodium Laureth Sulfate, Stearic Acid, PEG-40 Glyceryl Cocoate, Sodium Coceth Sulfate, Etidronic Acid, Charcoal Powder, Lava Powder, Sericinเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-6001000ราคา: 59 บาท (0.8 บาท/กรัม)16. สวนสมุนไพรอุ่นหนาฝาคั่งสูตร: น้ำผึ้งนางพญาปริมาณสุทธิ: 130 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : พญายอ, ลิ้นทะเล, น้ำมันสมุนไพรมะพร้าว, JRD, น้ำมันงาเชย, น้ำมันรำข้าวสีนิลเลขที่ใบรับแจ้ง: 13-1-5400173ราคา: 119 บาท (0.9 บาท/กรัม)17. TANAKAสูตร: Perfect white soapปริมาณสุทธิ: 65 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Aqua, Sodium Palmitate, Sodium Palmkernal, Sodium Cocoate, Glycerin, Sodium Laureth Sulfate, Niacinamide (vitamin b3), Fragrance oil, Tocopherol, Trehaloseเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-5938334ราคา: 120 บาท (1.8 บาท/กรัม)18. OAB’S SOAP โอปโซฟสูตร: Moonlight Honey Drop มูนไลท์ ฮันนี่ ดรอปปริมาณสุทธิ: 80 กรัมส่วนประกอบที่น่าสนใจ : Palmitic Acid, Stearic Acid, PEG-40 Hydrogenated castor oil, Decyl glucoside, Lauric Acid, Myristic acid, Fragrance, Wild Honey, Manuka honey, Bitter honey, Sodium chloride, Niacinamide, Evening primrose oil, Passion fruit extract, Citrus lemon fruit extractเลขที่ใบรับแจ้ง: 10-1-6010024812 ราคา: 250 บาท (3 บาท/กรัม)ข้อสังเกต1.มีบางยี่ห้อที่มีเลขที่จดแจ้ง 13 หลัก ซึ่งต่างจากเดิมที่มีแค่ 10 หลัก โดยทาง อย. ได้ชี้แจงว่าปัจจุบันได้มีผู้จดทะเบียนเครื่องสำอางมากขึ้น ทำให้เลขที่จดแจ้งของเครื่องสำอางเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย อย่างไรก็ตามผู้บริโภคควรตรวจสอบความถูกต้องของเลขที่จดแจ้งก่อนทุกครั้ง ผ่านการสืบค้นข้อมูลที่เว็บไซต์ของอย. (www.fda.moph.go.th) 2.สบู่สูตรที่อ้างว่าช่วยให้ผิวกระจ่างใส จะมีราคาค่อนข้างแพง พบว่า ยี่ห้อที่แพงที่สุด ตกราคากรัมละ 3 บาท ได้แก่  OAB’S SOAP โอปโซฟ รองลงมาคือ TANAKA ที่ตกที่ราคากรัมละ 1.8 บาท ขณะที่ยี่ห้ออื่นๆ มีราคาต่อกรัมไม่เกิน 1 บาท โดยสบู่ตัวที่มีราคาเฉลี่ยต่ำสุด 20 สตางค์ คือ อิงอร   ส่วนผสมในสบู่ที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว 1. กลุ่มสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES) และสารลดแรงตึงผิวสองประจุ ได้แก่ Cocamidopropyl Betaine สำหรับสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองและสามารถความสะอาดได้ดี ซึ่งสาร SLS จะมีความสามารถชำระล้างได้รุนแรงกว่าชนิดอื่น ทำให้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง 2. กลุ่มสารที่มีความเป็นด่างสูง ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxide 3. สารกลุ่มกรดไขมันและเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ Potassium Myristate, Potassium Palmitate, Potassium Laurate, Potassium Oleate, Potassium Stearate, Stearate, Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid สามารถทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย 4. สารกลุ่มน้ำหอม ได้แก่ Perfume, Fragrance  อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองในผู้ที่แพ้น้ำหอม 5. ส่วนผสมของสารต้านแบคทีเรีย Triclosan มีผลต่อการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย และถูกแบนแล้วที่อเมริกาแนะวิธีดูแลผิวให้ขาวใส1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อผิว เช่น ผักผลไม้ที่มีวิตามินที่มีวิตามิน A ซึ่งพบมากในผลไม้สีเหลือง ส้ม แดงและเขียวเข้ม จะสามารถช่วยให้ผิวพรรณกระจ่างใส มีความชุ่มชื้น หรือผลไม้ที่มีวิตามิน C ให้ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจน ซึ่งพบมากในผักตระกูลกะหล่ำ มะรุม บลอกโคลี และผลไม้หลายชนิด เช่น ฝรั่ง ลิ้นจี่ ส้มโอ มะละกอสุก สตอร์เบอรี่ พุทรา หรือผลไม้ที่มีวิตามิน E เพราะสามารถช่วยช่วยชะลอความแก่ ทำให้ผิวพรรณสดใส พบมากในน้ำมันจากธัญพืช และถั่วประเภทเปลือกแข็ง รวมทั้งควรดื่มน้ำสะอาดและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ2. ดูแลตัวเองจากปัจจัยภายนอก เช่น หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เร่งให้ผิวเสียด้วยการดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และอย่าลืมทาครีมกันแดดก่อนออกจากบ้านทุกครั้ง นอกจากนี้อาจมีการขัดผิวอาทิตย์ละครั้งเพื่อกำจัดเซลล์ที่ตายแล้ว ด้วยวิธีที่ปลอดภัยอย่างสมุนไพรประจำบ้านเรา เช่น มะขามเปียก เนื่องจากมีกรด AHA ที่จะช่วยลอกผิวหนังชั้นบนที่ตายออก ทำให้รอยแผลเป็นจางลงได้ แต่ไม่ควรใช้บ่อยๆ เพราะอาจทำให้ผิวบางและไวต่อแสงแดด หรือใช้ขมิ้นชันขัดผิว เพราะมีคุณสมบัติยับยั้งการสังเคราะห์เมลานิน ช่วยทำให้สีผิวกระจ่างใสขึ้นได้ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 199 สบู่สมุนไพร จำเป็นแค่ไหน (สูตรสิว)

ในเล่มที่ผ่านมาเราเคยเสนอประเด็นว่าสบู่ฆ่าเชื้อเพื่อสุขภาพมีความจำเป็นแค่ไหนกันไปแล้ว คราวนี้กลับมาอีกครั้งกับ “สบู่สมุนไพร” ซึ่งจัดเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้รักสุขภาพไม่แพ้กัน เพราะผู้บริโภคหลายคนมักรู้สึกว่า สบู่สมุนไพรน่าจะมีความปลอดภัยต่อสุขภาพมากกว่าสบู่ประเภทอื่นๆ เนื่องจากมีส่วนผสมของธรรมชาติและให้สรรพคุณที่ดีกว่าอีกด้วย ทำให้ปัจจุบันเราจะเห็นได้ว่ามีสบู่สมุนไพรยี่ห้อต่างๆ และหลากหลายสูตรเข้าสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามด้วยสรรพคุณตามคำโฆษณาของสบู่สมุนไพรเหล่านี้ ส่งผลให้ราคาสบู่สมุนไพรหลายยี่ห้อสูงกว่าสบู่ธรรมดาหลายเท่าตัว จนหลายคนอาจคิดไปว่าสบู่สมุนไพรมีฤทธิ์ในการรักษาโรคกันเลยทีเดียว ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขออาสาส่องฉลากของสบู่สมุนไพรที่เน้นสรรพคุณว่าช่วยแก้ปัญหาสิว ว่ามีส่วนประกอบอะไรบ้างหรือแตกต่างจากสบู่ธรรมดาทั่วไปอย่างไร ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยสบู่สมุนไพรสูตรสิว ลดสิวได้จริงหรือแม้สบู่จะมีหลายสูตร เช่น สบู่ใส สบู่ขุ่น แต่ส่วนประกอบและหน้าที่หลักของสบู่ยังคงคล้ายกันคือมีส่วนประกอบสำคัญของเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ เกลือโซเดียม หรือเกลือโปแตสเซียม หรือเกลือแอมโมเนียม หรือเกลือเอมีน ที่ได้จากการใช้ไขมันสัตว์ และ/หรือน้ำมันพืชต่างๆ มาผสมกับด่างชนิดต่างๆ และมีหน้าที่หลักคือชะล้างสิ่งสกปรก ดังนั้นเราต้องไม่ลืมว่า สบู่ คือเครื่องสำอางประเภทหนึ่งที่มีไว้เพื่อทำความสะอาดผิว และกฎหมายได้กำหนดความหมายของเครื่องสำอางไว้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อความสะอาดหรือความสวยงาม ซึ่งไม่สามารถช่วยรักษา บรรเทา ป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้ เพราะไม่ใช่ยารักษาโรค และที่สำคัญต้องมีเลขที่จดแจ้ง 10 หลักบนฉลาก เพื่อแสดงให้เห็นว่าเป็นเครื่องสำอางที่ไม่มีส่วนประกอบของสารอันตรายและได้รับอนุญาตให้จำหน่ายแล้วหากสบู่ชนิดใดมีส่วนประกอบที่เข้าข่ายเป็นยา ก็ต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นยาและปฏิบัติตามกฎหมายยา พร้อมแสดงเลขทะเบียนยาไว้บนฉลากเช่นกัน ดังนั้นสบู่ที่ไม่มีเลขทะเบียนยา แต่เป็นเพียงเครื่องสำอางประเภทหนึ่งก็ไม่สามารถอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะเป็นยารักษาโรคได้นอกจากนี้ด้วยหน้าที่หลักของสบู่คือเพื่อทำความสะอาดผิว และสัมผัสกับผิวเราเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น จากนั้นก็จะถูกชะล้างออกไป จึงเป็นเรื่องยากที่วิตามินหรือสารสกัดต่างๆ ซึ่งผสมในสบู่จะช่วยถนอม บำรุงผิวหรือแม้แต่รักษาสิวให้เราได้ สรุปการเปรียบเทียบฉลากจากสบู่สมุนไพรที่นำมาทดสอบทั้งหมด 18 ตัวอย่าง พบว่า- มี 2 ตัวอย่างที่ไม่สามารถตรวจสอบฉลากได้ เนื่องจากไม่มีการระบุส่วนประกอบสำคัญไว้บนภาชนะบรรจุ ได้แก่ยี่ห้อ 1. ปิยะมาศ (PIYAMAS) สูตรโบราณ ไม่ระบุส่วนประกอบสำคัญ ปริมาณสุทธิและเลขที่จดแจ้ง และ 2. เอ็ดการ์ด (Edguard) สูตรสมุนไพร ไม่ระบุส่วนประกอบสำคัญ- หลายตัวอย่างมีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิว ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ได้ดังนี้1. กลุ่มสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES) และสารลดแรงตึงผิวสองประจุ ได้แก่ Cocamidopropyl Betaine สำหรับสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองและสามารถความสะอาดได้ดี ซึ่งสาร SLS จะมีความสามารถชำระล้างได้รุนแรงกว่าชนิดอื่น ทำให้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง พบว่า ยี่ห้อ ไหมทอง (MAITHONG) ทั้งสูตรสบู่ใส มังคุด และสูตรมังคุด มีส่วนผสมของ Sodium Laureth Sulfate 2. กลุ่มสารที่มีความเป็นด่างสูง ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxide พบว่า ยี่ห้อ 1. SUPAPORN สุภาภรณ์ สูตรสูตรเย็น (ผงฟ้าทะลายโจร+สารสกัดมะเฟือง) 2. V.11 วี. วันวัน สูตรมะขาม+สครับขัดผิว 3. อิงอร สูตรมะขาม และ 4. ไหมทอง (MAITHONG) ทั้งสูตรสบู่ใส มังคุดและสูตรมังคุด มีส่วนผสมของ Sodium Hydroxide3. สารกลุ่มกรดไขมันและเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ Potassium Myristate, Potassium Palmitate, Potassium Laurate, Potassium Oleate, Potassium Stearate, Stearate, Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid สามารถทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย พบว่า ยี่ห้อ ไหมทอง (MAITHONG) สูตรสบู่ใส มังคุด มีส่วนผสมของ Stearic acid, Palmitic acid และ Lauric acid4. สารกลุ่มน้ำหอม ได้แก่ Perfume, Fragrance, Parfum อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือคะคายเคืองในผู้ที่แพ้น้ำหอม มี 4 ตัวอย่างที่ไม่พบส่วนผสมของน้ำหอมตามที่ระบุบนฉลาก ได้แก่ 1. ว่านไทย (Wanthai) สูตรผสมโสม 2. MAITHONG ไหมทอง สูตรสบู่ใส มังคุด 3. เบนเนท (Bennett) สูตรวิตามินE ผสมว่าน และ 4. ซันซิง สูตรขิง5. มี 3 ตัวอย่างที่มีส่วนผสมของสารต้านแบคทีเรีย ได้แก่ 1. นกแก้ว สูตรสะเดา ไพล น้ำผึ้ง มีส่วนผสมของ Triclosan 2. อิงอร สูตรมะขาม มีส่วนผสมของ Triclosan 3. ดร.มนตรี สูตร Dark spot remover มีส่วนผสมของ Triclocarban ซึ่งฉลาดซื้อเคยนำเสนอไปแล้วว่า มีผลต่อการดื้อยาของเชื้อแบคทีเรีย และถูกแบนแล้วที่อเมริกา----------------------------ตลาดสบู่ ตลาดรวม 10,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. สบู่บิวตี้ 43% 2. สบู่ฆ่าเชื้อเพื่อสุขภาพ 25% 3. สบู่สมุนไพร 17% 4. สบู่เด็ก 10% 5. อื่นๆ 5%ที่มา: ลอรีอัล, มีนาคม 2560 (Marketeer) แนะวิธีลดสิวเริ่มต้นจากการทำความเข้าใจก่อนว่า สิวเกิดจากความผิดปกติหรือการอักเสบของรูขุมขน เช่น เซลล์ที่เส้นขนแบ่งตัวมากผิดปกติ จนปิดกั้นทางออก ทำให้ไขมันและขี้ไคลสะสมอยู่ในต่อมขนเกิดเป็นตุ่มสิวขึ้นมา หรือต่อมไขมันผลิตไขมันมากเกินไป และมีการสะสมอยู่ในต่อมขนจนเกิดเป็นตุ่มสิวในที่สุด หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย (Propionibacterium acnes)  ซึ่งเป็นการอุดตันจากภายใน ไม่ใช่จากภายนอก และสิวจะเริ่มเป็นมากขึ้นเมื่อเราอยู่ในช่วงวัยรุ่น เพราะเกิดจากความเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการแพ้สารเคมีในเครื่องสำอาง รวมทั้งกรรมพันธุ์ก็มีส่วนด้วยเช่นกัน โดยไม่เกี่ยวข้องกับฝุ่นละอองหรือความสกปรกจากภายนอกแต่อย่างใด ดังนั้นการรักษาสิวอย่างปลอดภัยและได้ผลในระยะยาว สามารถทำได้ด้วยหลักง่ายๆ 2 วิธี คือ1. ทำความสะอาดผิวหนังและใช้ยาทารักษาสิวหัวใจของการทำให้ผิวสะอาดคือ เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ให้เหมาะกับผิวหน้า โดยควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีสารประกอบที่อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้ เช่น น้ำหอม สารกันเสีย หรือแอลกอฮอล์ รวมทั้งเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีสภาวะกรดอ่อนๆ เพื่อป้องกันเชื้อแบคทีเรีย เพราะแบคทีเรียที่ทำให้เกิดสิว สามารถเจริญเติบโตได้ดีในสภาวะที่มีความเป็นด่างสูง และอาจมีการรักษาเสริมด้วยการกดสิวหรือฉีดสิวกับแพทย์อย่างถูกวิธี2. รับประทานยารักษาสิวการรับประทานยาเพื่อรักษาสิว สามารถทำได้หากอยู่ในความดูแลของแพทย์ เนื่องจากยารักษาสิวบางยี่ห้อ อาจผสมสเตียรอยด์ ซึ่งสามารถทำให้สิวยุบเร็วขึ้นได้ แต่มีข้อแทรกซ้อนตามมามากมาย ความเชื่อว่า อาหารบางประเภทสามารถทำให้เกิดสิวได้ เช่น ช็อกโกแลต พบว่ายังไม่มีงานวิจัยใดชี้ว่าอาหารดังกล่าวทำให้สิวขึ้นจริง แต่อาหารที่มีดัชนีน้ำตาลสูง เช่น ขนมหวาน ไอศกรีม ขนมปังขาว ผลิตภัณฑ์จากนม สามารถกระตุ้นให้เกิดสิวได้ การล้างหน้าบ่อยๆ ก็ไม่สามารถช่วยลดการเกิดสิวหรือทำให้หน้ามันน้อยลงได้ เพราะทุกครั้งที่เราล้างหน้า ผิวจะผลิตน้ำมันมาเคลือบผิวใหม่เพื่อทดแทนน้ำมันที่หลุดออกไป ยิ่งทำให้หน้ามันมากขึ้น (ข้อมูลอ้างอิง: http://dst.or.th/userfiles/Acne-edit.pdf)

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 197 สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย จำเป็นหรือไม่ ?

ในปัจจุบันคนทั่วไปให้ความสนใจกับการดูแลสุขภาพตนเองเพิ่มขึ้น ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่กล่าวอ้างว่าเพื่อสุขภาพต่างๆ ได้มีการผลิต โฆษณา จำหน่าย และบริโภคกันอย่างกว้างขวาง เห็นได้จากการนำผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางหลายชนิดมาผสมกับสารเคมีหรือสารสกัดสมุนไพรต่างๆ แล้วสร้างความเชื่อว่ามีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น มีสรรพคุณกว้างขวางขึ้น  ซึ่งมักจะเป็นกลยุทธ์การเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์นั้น เช่น สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียคุณประโยชน์และหลักการทำงานของสบู่สบู่ เป็นผลิตภัณฑ์ใช้ทำความสะอาดร่างกายในชีวิตประจำวัน มีรูปแบบเป็นสบู่ก้อนหรือสบู่เหลว  ซึ่งสบู่จะช่วยเรื่องชำระล้างได้ดีกว่าการใช้น้ำเพียงอย่างเดียว ส่วนประกอบสำคัญของสบู่ คือ เกลือของกรดไขมัน ได้แก่ เกลือโซเดียม หรือเกลือโปแตสเซียม หรือเกลือแอมโมเนียม หรือเกลือเอมีน ที่ได้จากการใช้ไขมันสัตว์ และ/หรือน้ำมันพืชต่างๆ มาผสมกับด่างชนิดต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น เช่น หากต้องการผลิตภัณฑ์สบู่ก้อนก็เลือกใช้ด่างโซเดียม หรือเลือกใช้ด่างโปแตสเซียม  หากต้องการผลิตภัณฑ์สบู่เหลว อาจผสมสารลดแรงตึงผิว สารให้ความชุ่มชื้นเข้าไป  ซึ่งก็แล้วแต่ชนิดของสบู่ที่ผลิต การชำระล้างสิ่งสกปรกต่างๆ ออกจากผิวหนังของสบู่นั้น เนื่องจากกลไกของเกลือของกรดไขมัน ซึ่งมีโครงสร้างโมเลกุลประกอบด้วยส่วนที่ชอบน้ำและส่วนที่ไม่ชอบน้ำ ดังนั้นเมื่อถูกละลายด้วยน้ำ ส่วนที่ไม่ชอบน้ำจะถูกผลักเข้าไปหลบอยู่ด้านใน  และหันส่วนที่ชอบน้ำให้อยู่ด้านนอกเพื่อไปสัมผัสกับสิ่งสกปรกต่างๆ ที่ล้างออกด้วยน้ำไม่ได้(ส่วนมากจะเกาะติดกับไขมันหรือน้ำมัน) ซึ่งสิ่งสกปรกจะเข้าไปเกาะติดกับส่วนที่ไม่ชอบน้ำ กลายเป็นหยดน้ำมัน และจากนั้นจะถูกน้ำชำระล้างออกด้วยน้ำ ทำให้สิ่งสกปรกหลุดออกมาด้วยสบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย ผู้ผลิตหลายรายได้มีการผสมสารต้านแบคทีเรียในสบู่ขึ้น  โดยอ้างว่าจะสามารถทำความสะอาดผิวได้ดีขึ้น โดยเชื่อว่าสารต้านแบคทีเรียจะช่วยทำลายเชื้อโรคที่อยู่บนผิวหนัง สารต้านแบคทีเรียที่นิยมนำมาผสมในสบู่ที่นิยมมากชนิดหนึ่ง ได้แก่ ไตรโคลซาน)Triclosan)   ซึ่งเป็นสารเคมีที่มีคุณสมบัติต้านเชื้อจุลินทรีย์ ทั้งราและแบคทีเรีย จึงนิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์เพื่อความสะอาดหลายชนิด   เช่น   สบู่    ครีมอาบน้ำ  ผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกาย     ยาสีฟัน   น้ำยาบ้วนปาก   ตลอดจนน้ำยาล้าง  อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีรายงานการวิจัยบ่งชี้ว่า ไตรโคลซาน ทำให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยาข้ามกลุ่ม คือการที่แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ โดยผลจากการได้รับสารเคมีที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อกลุ่มไบโอไซด์ (biocides) เช่น กรณีไตรโคลซาน ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ที่มีฤทธิ์ต่อต้านแบคทีเรีย  นิยมนำมาผสมในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยมีรายงานวิจัยว่า เมื่อใช้เป็นเวลานาน สารไตรโคลซานสามารถสะสมในร่างกาย เช่น มีการตรวจพบในปัสสาวะของคนอเมริกันถึง 75%  นอกจากนั้น สารไตรโคลซานที่ผสมในสบู่และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดต่างๆ เมื่อถูกปล่อยออกสู่สิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อจุลินทรีย์ในระบบนิเวศน์วิทยา ทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะ เพราะไตรโคลซาน มีคุณสมบัติก่อให้แบคทีเรียดื้อยาข้ามกลุ่มได้ โดยสารไตรโคลซานมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการขับยาออกนอกเซลล์  ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ทั้งหมด จึงทำให้เชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุด นอกจากนั้น ยังพบว่า ในสัตว์ทดลอง ไตรโคลซาน ก่อให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ผลต่อพัฒนาการ และภาวะการเจริญพันธุ์ ผลต่อต่อมไร้ท่อ ไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจและมีความเป็นพิษเรื้อรัง และเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย  องค์การอาหารและยา สหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศได้ยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์สบู่แล้ว รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ชนิด เพราะไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ว่าสามารถชำระล้างได้ดีกว่าการใช้สบู่ธรรมดา ทั้งนี้เพราะกลไกการชำระล้างร่างกายโดยสบู่นั้น ผิวกายสัมผัสกับสบู่ในเวลาสั้นๆ แล้วเราก็ล้างน้ำออกไป ซึ่งระยะเวลาที่ใช้ไม่นานพอที่สารไตรโคลซานจะออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรีย เพราะกลไกการทำลายเชื้อแบคทีเรียนั้นจำเป็นต้องใช้ระยะเวลานานกว่ามาก จะต้องอาศัยทั้งสภาวะแวดล้อมและระยะเวลาที่เหมาะสม จะต้องมีเวลาให้สารเข้าสู่เซลล์แบคทีเรียก่อน แล้วสารจึงจะสามารถออกฤทธิ์ทำลายเชื้อแบคทีเรียได้ ในกรณีของไตรโคลซานจะออกฤทธิ์ขัดขวางการสร้างกรดไขมันของแบคทีเรีย ทำให้แบคทีเรียถูกทำลายไป ซึ่งต้องอาศัยสภาวะที่เหมาะสม ความเข้มข้นของสารต้านแบคทีเรียที่เหมาะสม และระยะเวลาที่เหมาะสมด้วย    แบคทีเรียที่ผิวหนัง ต้องทำลายให้หมดหรือ ? ผิวหนังมีหน้าที่ป้องกันร่างกายจากสิ่งแวดล้อม โดยมีบทบาทในการป้องกันการสูญเสียน้ำ และการซึมผ่าน สกัดกั้นไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกาย โดยการหลั่งกรดอ่อนจากต่อมเหงื่อ ทำให้ผิวหนังมีสภาพความเป็นกรด ซึ่งไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรีย ทำให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายยากขึ้น  ต่อมไขมันจะผลิตสารที่เป็นกรดไขมันและกรดแลคติค มาต่อต้านแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดได้เองตามธรรมชาติ ผิวหนังปกติมีเชื้อจุลินทรีย์อาศัยอยู่โดยไม่ก่อให้เกิดโรค ในแต่ละส่วนของร่างกายมีเชื้อจุลินทรีย์จำนวนแตกต่างกัน  เชื้อจุลินทรีย์ประจำถิ่นซึ่งเป็น เชื้อที่อยู่เป็นประจำนี้ทำหน้าที่ป้องกัน 2 อย่างคือ ต่อต้านจุลินทรีย์ แปลกปลอมและทำหน้าที่แย่งอาหารจุลินทรีย์แปลกปลอมบนผิวหนัง ดังนั้นคนปกติทั่วไปจึงมิต้องวิตกกังวลว่า ร่างกายมีเชื้อมากไป จนจะต้องกำจัดเชื้อแบคทีเรียบนผิวหนังให้หมดไปอย่างราบคาบ ดังนั้นการใช้สบู่ธรรมดาในการชำระล้างก็เพียงพอในชีวิตประจำวัน ส่วนการใช้สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียไม่เกิดประโยชน์ และยังเป็นโทษต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ก่อปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรียอีกด้วย 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 197 ส่องฉลากสบู่ผสมสารต้านแบคทีเรีย

สบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียหรือสบู่ฆ่าเชื้อเพื่อสุขภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภคหลายคนนิยมใช้ เพราะเชื่อว่ามีประสิทธิภาพหรือสรรพคุณดีกว่าสบู่ธรรมดา แต่สบู่เหล่านั้นสามารถทำความสะอาดได้ดีกว่าจริงหรือสารต้านแบคทีเรียในสบู่ฆ่าเชื้อที่ผู้ผลิตส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้ คือ ไตรโคลซาน )Triclosan) ซึ่งสามารถเป็นทั้งวัตถุกันเสียและมีคุณสมบัติในการต้านเชื้อจุลินทรีย์ ราหรือแบคทีเรียได้ จึงถูกนิยมใช้เป็นส่วนผสมในผลิตภัณฑ์หลายชนิด เช่น ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก น้ำยาล้างจาน โดยหากนำมาผสมในสบู่ก็มักมีการโฆษณาว่าสามารถช่วยทำความสะอาดผิวได้ดีขึ้น เพราะช่วยทำลายเชื้อโรคที่อยู่บนผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามงานวิจัยหลายชิ้นกลับระบุว่า ไตรโคลซานสามารถทำให้แบคทีเรียเกิดการดื้อยาข้ามกลุ่ม หรือทำให้แบคทีเรียดื้อยาปฏิชีวนะได้ ซึ่งสารจะไปส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของกระบวนการขับยาออกนอกเซลล์ ทำให้มีปริมาณยาปฏิชีวนะในเซลล์น้อยและไม่สามารถฆ่าเชื้อได้ ทำให้เชื้อปรับตัวดื้อยาในที่สุดนอกจากนี้เมื่อใช้ติดต่อกันเป็นเวลานาน ไตรโคลซานสามารถสะสมในร่างกายได้เช่นกัน เนื่องจากเคยมีการตรวจพบสารดังกล่าวในปัสสาวะของคนอเมริกันถึงร้อยละ 75 และมากไปกว่านั้นเมื่อสารไตรโคลซานถูกปล่อยออกไปสู่สิ่งแวดล้อมหลังการชะล้าง ยังส่งผลกระทบต่อจุลินทรีย์ในระบบนิเวศน์วิทยาอีกด้วย รวมไปถึงผลกระทบอื่นๆ ที่เคยพบในสัตว์ทดลอง โดยสารดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอาการข้างเคียงหลายอย่าง เช่น ผลต่อพัฒนาการและภาวะการเจริญพันธุ์ ผลต่อต่อมไร้ท่อ ไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนเอสโตรเจนและมีความเป็นพิษเรื้อรัง รวมทั้งยังเป็นสารก่อมะเร็งได้ ในหลายประเทศ เช่น องค์การอาหารและยา (FDA) ของสหรัฐอเมริกา จึงประกาศยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์สบู่ รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ชนิด ซึ่งให้มีผลบังคับใช้ทั่วสหรัฐฯ ตั้งแต่เดือนกันยายน 2560  เนื่องจากส่งผลกระทบด้านลบดังที่กล่าวไว้ข้างต้น รวมถึงยังไม่มีหลักฐานใดๆ บ่งชี้ได้ว่าสบู่ที่ผสมสารไตรโครซาน สามารถชำระล้างได้ดีกว่าการใช้สบู่ธรรมดา ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสาส่องฉลากสบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียที่วางจำหน่ายตามท้องตลาด จำนวน 18 ตัวอย่าง จาก 12 ยี่ห้อยอดนิยม ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไรเราลองไปดูกันเลย สรุปผลการสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่ฆ่าเชื้อโรคจากตัวอย่างสบู่ผสมสารต้านแบคทีเรียจำนวน 18 ตัวอย่าง 12 ยี่ห้อที่นำมาตรวจสอบฉลาก พบว่า1. มี 11 ตัวอย่างที่ระบุว่ามีส่วนผสมสารต้านแบคทีเรีย แบ่งเป็น - 4 ตัวอย่างที่มีส่วนผสมของไตรโคลซาน ได้แก่ กลุ่มสบู่เหลว 1. Asepso (อาเซปโซ) สูตรออริจินัล 2. Deterderm (ดีเทอร์เดอร์ม) สูตร Deo beauty fresh 3. Tea Tree (ที ทรี) สูตรสกินไวท์เทนนิ่ง บาธ ครีม และ 4. Oxe cure (อ๊อกซีเคียว) สูตรระงับกลิ่นกายสำหรับผู้มีปัญหาสิว/ผิวแพ้ง่าย  - 5 ตัวอย่างที่มีส่วนผสมของไตรโคลคาร์บาน ได้แก่ กลุ่มสบู่ก้อน 1. Dial (ไดอัล) สูตรสปริงวอเตอร์ 2. Dettol (เดทตอล) สูตรออริจินัล 3. Protex (โพรเทคส์) สูตรสดชื่น 4. Protex For Men (โพรเทคส์ ฟอร์เมน) สูตรสปอร์ต และ 5. สบู่เหลว Protex (โพรเทคส์) สูตรไอซ์ซี่ คูล- 2 ตัวอย่างที่มีส่วนผสมของทั้งไตรโคลซานและไตรโคลคาร์บาน ได้แก่ ยี่ห้อ Benice (บีไนซ์) สูตรคลีน&เธอราพี และสูตรแอคทีฟ พลัส2. มี 6 ตัวอย่าง ที่ไม่ได้ระบุว่ามีการผสมสารต้านแบคทีเรียในกลุ่มไตรโคลซาน ได้แก่ 1. สบู่ก้อน Safeguard (เซฟการ์ด) 2. สบู่ก้อน Asepso (อาเซปโซ) สูตรออริจินัล 3. สบู่เหลว ยี่ห้อ Dettol (เดทตอล) สูตรเฟรช 4. สบู่เหลว Dettol (เดทตอล) สูตรแอคทีฟ 5. สบู่เหลว Kirei Kirei (คิเรอิคิเรอิ) สูตรแอนตี้แบคทีเรียกลิ่นองุ่น และ 6. สบู่เหลว Shokubutsu (โชกุบุสซึ) สูตร anti-bacteria body foam rejuvenating & purifyingข้อสังเกตยี่ห้อ Acticex (แอคตี้เว็กซ์) สูตร Bacteria blocking system (ลิควิด โซฟ แอคทีฟ โพรเท็คชั่น) ฉลากภาษาไทยไม่มีรายละเอียดของส่วนผสม สารเคมีในกลุ่มต้านแบคทีเรียที่ถูกประกาศห้ามใช้มีอะไรบ้างตามที่องค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ประกาศยกเลิกการใช้ไตรโคลซานในผลิตภัณฑ์สบู่ รวมถึงสารเคมีกลุ่มนี้อีก 18 ชนิด เราลองมาดูกันว่าชื่อสารเคมีในกลุ่มดังกล่าวมีอะไรบ้าง1. Cloflucarban 2. flurosalan 3. hexachlorophene 4. hexylresorcinol 5. iodine complex (ammonium ether sulfate and polyoxyethylene sorbitan monolaureate) 6. iodine complex (phosphate ester of alkylaryloxy polyethylene glycol) 7. Nonylphenoxypoly (ethyleneoxy) ethanoliodine 8. poloxamer-iodine complex 9. Povidone- iodine 5-10 % 10. Undecoylium chloride iodine complex 11. Methylbenethonium chloride 12. Phenol (มากกว่า 1.5%) 13. Phenol 16 (น้อยกว่า 1.5%) 14. Secondary amyltricresols 15. Sodium oxychlorosene 16. Tribromsalan 17. Triclocarban, Triclosan และ 18. Tripledyeแนะวิธีปองกันตัวเองจากแบคทีเรียง่ายๆ การป้องกันตนเองจากการติดเชื้อแบคทีเรีย สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยการการล้างมือด้วยสบู่ก้อนหรือสบู่เหลวชนิดธรรมดา โดยไม่จำเป็นต้องกังวลว่าจะทำให้ผิวหนังมีเชื้อแบคทีเรียตกค้าง เพราะตามธรรมชาติผิวหนังของเราสามารถปกป้องไม่ให้เชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายได้ง่าย ด้วยการหลั่งกรดอ่อนจากต่อมเหงื่อ ทำให้ผิวหนังมีสภาพความเป็นกรด ซึ่งไม่เอื้อต่อการเจริญเติบโตของแบคทีเรียและเชื้อราบางชนิดได้อยู่แล้ว ขอบคุณ ข้อมูล รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ  วิวัฒน์ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 189 สบู่มีกลิ่นหืน

กลิ่น คือ จุดขายสำคัญประการหนึ่งของผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกายอย่างสบู่หรือครีมอาบน้ำ ซึ่งควรมีกลิ่นที่หอมสดชื่นไม่ใช่กลิ่นเหม็นหืน เหมือนสบู่ก้อนเจ้าปัญหาที่ผู้ร้องรายนี้ซื้อมา เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคุณปราณี เธอซื้อสบู่ยี่ห้อเดทตอล โดยเลือกสูตรหรือกลิ่นที่ใช้เป็นประจำ จากร้านค้าปลีกแห่งหนึ่ง จำนวน 2 แพ็ค (แพ็คละ 4 ก้อน) ราคา 78 บาท อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาใช้กลับพบว่า สบู่ก้อนดังกล่าวมีกลิ่นเหม็นหืนและไม่มีฟองต่างจากที่เคยใช้ เธอจึงเลิกใช้สบู่ก้อนนั้นและนำก้อนใหม่มาใช้แทน แต่ยังคงพบว่ามีลักษณะเช่นเดียวกัน ทำให้เธอสันนิษฐานว่าน่าจะมีความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระบวนการผลิต หรือบรรจุภัณฑ์ชำรุดบกพร่อง นอกจากนี้ยังกังวลว่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังได้ เธอจึงส่งเรื่องร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำ โดยต้องการให้มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงและชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นแนวทางการแก้ไขปัญหาจากกรณีนี้ศูนย์ฯ พบว่าผู้ร้องซื้อผลิตภัณฑ์จากร้านค้าปลีก ซึ่งไม่สามารถนำใบเสร็จมาเป็นหลักฐานได้ จึงแนะนำให้ไปลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน พร้อมถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเก็บไว้ และทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้เข้ามาเจรจาและตรวจสอบข้อเท็จจริงที่มูลนิธิ ซึ่งทางบริษัทยินดีรับข้อเสนอดังกล่าว โดยมีการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปตรวจสอบ และจะแจ้งผลกลับมาในสัปดาห์ถัดไป ทั้งนี้ภายหลังการตรวจสอบพบว่า สบู่ดังกล่าวมีกลิ่นผิดปกติจริง โดยเกิดจากปฏิกิริยาเคมีของน้ำหอมที่สัมผัสกับออกซิเจนหรือความร้อนในอากาศ แต่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เนื่องจากผลิตภัณฑ์ได้ผ่านเกณฑ์ทดสอบมาตรฐานแล้ว อย่างไรก็ตามทางบริษัทยินดีชดเชยผู้บริโภคด้วยการให้ผลิตภัณฑ์กล่องใหม่ ซึ่งผู้ร้องพอใจกับการดำเนินการดังกล่าว เพราะเห็นว่าบริษัทมีความใส่ใจลูกค้า จึงยินดียุติเรื่องร้องเรียน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 176 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนตุลาคม 2558ศาลให้ผู้บริโภคชนะ คดีรถเชฟโรเลตไม่ได้มาตรฐานหลังจากต้องใช้เวลาฟ้องร้องนานกว่า 2 ปี ในที่สุดศาลก็มีคำพิพากษาให้ตัวแทนจำหน่ายและผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเชฟโรเลต คืนเงินดาวน์และเงินค่าเช่าซื้อพร้อมทั้งดอกเบี้ยอีกร้อยละ 7.5 ให้แก่กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์เชฟโรเลตจำนวน 6 ราย หลังจากที่กลุ่มผู้ฟ้องร้องประสบปัญหาจากการใช้รถทั้งๆ ที่รถยนต์ดังกล่าวเป็นรถใหม่ที่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้เพียงไม่กี่เดือน ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ที่สำคัญเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตของผู้ใช้รถยนต์ โดยหลังจากได้มีการนำเรื่องร้องเรียนต่อ สคบ. โดยมีศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคช่วยดำเนินการ ได้มีการนำรถที่เกิดปัญหาไปทดสอบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวรถไม่ได้เกิดจากผู้ใช้ สุดท้ายจึงได้มีการนำเรื่องเข้าฟ้องร้องต่อศาลในรูปแบบคดีผู้บริโภค ศาลแพ่งพิจารณาจากคำฟ้องที่กลุ่มผู้เสียหายได้ยื่นมาเห็นว่า บริษัทตัวแทนจำหน่ายต้องชำระคืน เงินดาวน์พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงวันที่ชำระคืนให้ผู้บริโภคจนเสร็จ และให้บริษัทผู้เช่าซื้อรถยนต์คืนเงินค่าเช่าซื้อทั้งหมด ตั้งแต่วันรับฟ้องคดีพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระหมด คดีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่สำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการลุกขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของผู้บริโภค เมื่อพบเจอปัญหาจากการใช้สินค้าหรือบริการใดๆ อย่ารอให้ความเสียหายเกิดขึ้นก่อน ต้องออกมาใช้สิทธิของตัวเอง   เตรียมเพิ่ม “วัคซีนป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก” ในบัตรทองสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมเพิ่ม “วัคซีนเอชพีวี” (HPV : Human Papillomavirus) วัคซีนที่มีผลในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกเข้าไปรวมอยู่ในสิทธิประโยชน์บัตรทองในปี 2560 ตามแผนที่วางไว้ โดยจะฉีดให้กับเด็กชั้น ป.5 – ป.6 ทั่วประเทศ รวมแล้วคนละ 2 เข็ม หลังจากที่ทาง สปสช.ได้ร่วมกับกรมควบคุมโรคทำการศึกษาแล้วพบว่า วัคซีนเอชพีวี เป็นวัคซีนที่มีความจำเป็น และปัจจุบันฉีดแค่คนละ 2 เข็มก็สามารถให้ประสิทธิผลในการป้องกันได้ จากเดิมที่ต้องฉีดถึงคนละ 3 เข็ม ทำให้ค่าใช้จ่ายลดลง ซึ่งมะเร็งปากมดลูกถือเป็นโรคมะเร็งที่เกิดกับผู้หญิงเป็นจำนวนมาก เป็นรองแค่โรงมะเร็งเต้านมเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีวัคซีนตัวอื่นๆ ที่อยู่ในข่ายที่ทาง สปสช. กำลังพิจารณาเพื่อบรรจุลงในสิทธิบัตรทองในปี 2560 เช่น วัคซีนฮิบ (HIB) ป้องกันโรคปอด และ วัคซีนโรตา ป้องกันโรคอุจจาระร่วง ซึ่ง สปสช.กำลังอยู่ระหว่างศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม  “น้ำดื่ม-น้ำแข็ง” ตกมาตรฐานเพียบไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ ว่าน้ำดื่มและน้ำแข็งในบ้านเราพบตกมาตรฐานด้านคุณภาพเป็นจำนวนมาก หลังมีข้อมูลจากการตรวจเฝ้าระวังคุณภาพน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทและน้ำแข็งทั่วประเทศ โดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ จากตัวอย่างทั่วประเทศจำนวน 4,750 ตัวอย่าง สำรวจช่วงเดือน ธ.ค. 2557 – ก.ค. 2558 จำแนกเป็นน้ำบริโภคในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท 4,135 ตัวอย่าง และน้ำแข็ง 615 ตัวอย่าง พบว่า มีคุณภาพได้มาตรฐาน 2,690 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 56.6 และไม่ได้มาตรฐานถึง 2,060 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 43.4 โดยปัญหาเรื่องคุณภาพที่พบสามารถแยกได้ดังนี้ 1.ไม่ได้มาตรฐานด้านกายภาพและเคมี 1,584 รายการ คิดเป็นร้อยละ 63.2 สาเหตุหลักมาจากความเป็นกรด - ด่าง ที่สูงหรือต่ำกว่ามาตรฐานกำหนด 1,505 รายการ พบปริมาณไนเตรทไม่ได้ค่ามาตรฐาน 47 รายการ และพบปริมาณฟลูออไรด์ไม่ได้ค่ามาตรฐาน จำนวน 32 รายการ 2.ไม่ได้มาตรฐานด้านจุลินทรีย์ 921 รายการ ร้อยละ 36.8 สาเหตุจากพบเชื้อโคลิฟอร์มเกินมาตรฐาน 737 รายการ เชื้ออีโคไล 153 รายการ เชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคอาหารเป็นพิษชนิดสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส 22 รายการ และเชื้อซาลโมเนลล่า 9 รายการ ซึ่งสาเหตุที่พบน้ำดื่มและน้ำแข็งตกมาตรฐานจำนวนมากในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ น่าจะมาจากการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน ขาดการจัดการด้านสุขลักษณะ ซึ่งกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ทำการแจ้งผลการตรวจวิเคราะห์และให้คำแนะนำผู้ประกอบการ เพื่อนำไปปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ได้มาตรฐานต่อไป  อย.เตือน “สบู่คลอรีน” อันตรายมาใหม่อีกแล้วสำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อความสวยความงาม ที่มาพร้อมกับคำโฆษณาชวนเชื่อ ล่าสุดเป็นผลิตภัณฑ์ที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในโลกออนไลน์อย่าง “สบู่คลอรีน” (Chlorine Soap) ที่อวดอ้างสรรพคุณว่าใช้แล้ว ผิวขาวใส ขาวเร็วทันใจ แค่อาบน้ำฟอกสบู่ธรรมดาผิวก็ขาวขึ้นทันตาทำให้กลายเป็นสินค้ายอดนิยมในหมู่คนอยากขาวในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งล่าสุดทาง อย. ก็ได้ออกมาเตือนว่า สารฟอกสีในกลุ่มคลอลีน ถือเป็นสารต้องห้ามใช้กับผิวหนัง เพราะมีฤทธิ์รุนแรงอาจทำให้ผิวหนังระคายเคืองและถึงขั้นทำให้ผิวอักเสบได้ ซึ่งปกติคลอรีนก็ถือเป็นสารต้องห้ามในเครื่องสำอางอยู่แล้ว ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดวัตถุห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสําอาง นอกจากนี้การโฆษณาเครื่องสำอางโดยใช้ภาพหรือข้อความที่สื่อว่าสามารถทําให้สีผิวมีการเปลี่ยนแปลง หรือทําให้สีผิวขาวขึ้นมากกว่าหรือแตกต่างจากสีผิวเดิมตามธรรมชาติหรือใช้ข้อความอื่นที่มีความหมายในทํานองเดียวกัน ก็ถือว่ามีความผิดตามคําสั่งของคณะกรรมการเครื่องสําอาง เรื่อง ข้อความที่ห้ามใช้ในการโฆษณาเครื่องสําอาง ซึ่งแม้ว่าตัวอย่างที่ทาง อย. สุ่มเก็บมาวิเคราะห์จะไม่พบการปนเปื้อนของสารในกลุ่มคลอรีน แต่ก็ควรหลีกเลี่ยงสบู่ที่อวดอ้างเรื่องความขาวเป็นดีที่สุด เพราะเสี่ยงต่อการผสมสารอันตราย  คน กทม. ขอศูนย์สาธารณสุขชุมชนกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชนเขตพื้นที่ กทม. และคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน พร้อมด้วยอาสาสมัครสาธารณสุขและประชาชนในพื้นที่เขตกรุงเทพมหานครกว่า 400 คน รวมตัวกันยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เรียกร้องให้มีการยกระดับศูนย์สาธารณสุขที่มีความพร้อมให้เป็นโรงพยาบาลชุมชนในทุกเขต และให้มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในพื้นที่ กทม. อย่างแท้จริงและสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนกทม. พร้อมดูแลประชาชนที่ไม่มีเลข 13 หลักหรือไม่สามารถยืนยันสิทธิได้โดยเหตุผลของการออกมาเรียกร้องครั้งนี้ เนื่องจากปัจจุบัน กทม. ถือเป็นจังหวัดเดียวที่ยังไม่มีกองทุนส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคระดับพื้นที่ เรียกว่ายังขาดเรื่องการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐเรื่องการดูแลสุขภาพในระดับชุมชน ทั้งๆ ที่ กทม.เป็นเมืองใหญ่มีประชากรอาศัยเป็นจำนวนมาก เมื่อเจ็บป่วยได้แต่ใช้บริการโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งบางครั้งโรงพยาบาลกับที่พักมีระยะห่างกันมาก เป็นภาระกับผู้ป่วย โรงพยาบาลที่ร่วมสิทธิส่วนใหญ่ก็มีข้อจำกัดเรื่องการให้บริการเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ป่วยที่มี ผู้ป่วยหลายรายไม่มีทางเลือกต้องไปใช้โรงพยาบาลเอกชนซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง โดยการมายื่นหนังสือครั้งนี้ต้องการให้ กทม. จัดสรรศูนย์สาธารณสุขชุมชนที่มีความพร้อมให้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ของ กทม.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2557 ระวัง!!! “สบู่-แชมพู” ลักไก่แอบลดปริมาณ กรมการค้าภายใน เตรียมนัดคุยสมาคมผู้ผลิตสบู่ไทยและผลิตภัณฑ์ชำระล้าง กำหนดขนาดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีข้อมูลระบุว่าปัจจุบันนี้ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์อุปโภคในกลุ่มชำระล้าง มีอยู่มากมายหลายขนาด เช่น แชมพู มีทั้งหมด 38 ขนาด ผงซักฟอก 36 ขนาด สบู่ก้อน 11 ขนาด สบู่เหลว 9 ขนาด และน้ำยาซักฟอก 8 ขนาด ซึ่งการมีขนาดให้เลือกหลากหลายรูปแบบ มีข้อดีคือทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด แต่ก็มีข้อเสียเรื่องมาตรฐานการตั้งราคา เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกให้ดีและรู้จักเปรียบเทียบสินค้า เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพคุ้มราคามากที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่กรมการค้าภายในเป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ผู้ผลิตแอบลดปริมาณสินค้า แต่ยังจำหน่ายในราคาเดิม ซึ่งที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านผู้ผลิตเองก็ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า การขึ้นราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องดูเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบประกอบด้วย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากผู้บริโภคพบเห็นสินค้าต่างๆ มีการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569     เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” กสทช. เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสีย งและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการครอบคลุมจำนวน 80 สถานี  แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ช่องรายการทีวีเคเบิ้ล รายการทีวีดาวเทียม รวม 40 สถานี  และสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 40 สถานี โดยศูนย์ฯ นี้จะทำงานโดยใช้ระบบการตรวจสอบข้อความ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้ทั้งระบบซอฟต์แวร์  และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตาม (มอนิเตอร์) สปอตโฆษณา และเนื้อหารายการต่างๆ ทั้ง 80 สถานีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะมีการจัดเก็บเนื้อหาโฆษณา เนื้อหารายการ และไฟล์เสียงออกอากาศย้อนหลังเพื่อใช้ในการอ้างอิงเนื้อหาการออกอากาศ โดยมีการแสดงผลการทำงานแบบ Real-time ทั้งนี้ระบบจะเก็บฐานข้อมูลโฆษณาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์  เป็นเวลา 60 วัน ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกชักจูงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของผู้เผยแพร่โฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที และขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย   เตรียมออกกฎลดความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกเตรียมยกร่างประกาศแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่องความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น โดยจะลดความสูงจากปัจจุบัน 4.30 เมตร เหลือ 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ คาดมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้รถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะ ที่จะขับรถ 2 ชั้น จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถโดยสาร 2 ชั้น จากกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสาร 2 ชั้นได้ คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มใน 3 เดือนข้างหน้า ด้าน น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ไม่ใช้รถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยงที่มีผลการศึกษาว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยและรุนแรง เพราะความไม่ปลอดภัยไม่ได้มาจากมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถนน พื้นที่ ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่ ฯลฯ     คูปองกล่องดิจิตัลส่อทุจริต จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีข้อสรุปเรื่องราคาคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตัล ที่จะแจกให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ราคาคูปองใบละ 1,000 บาท โดย กสท. อ้างว่าราคานี้เป็นราคากล่องที่ได้คุณภาพมาตรฐาน หากราคาต่ำกว่านี้จะส่งผลให้ได้กล่องและเสาที่มีคุณภาพต่ำเกินไป แต่ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเชื่อว่าราคาคูปอง 1,000 บาทที่ทาง กสท.จะแจกให้กับทุกครัวเรือนนั้น เป็นการตั้งราคาที่สูงเกินไป คาดว่าราคาต้นทุนจริงของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลน่าจะถูกกว่าราคาคูปองที่ทาง กสท. แจก นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง กลับกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ต้องการจะซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่สำคัญการแจกคูปอง 1,000 บาท ให้กับ 22 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่า กสท. ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กสท. เลือกใช้วิธีแจกกล่องรับสัญญาแก่ประชาชนโดยตรง น่าจะลดการใช้งบประมาณของประเทศได้น้อยลงกว่านี้ อีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกตในการตั้งราคาคูปอง 1,000 บาท ของ กสท. คือการตั้งราคาที่เอื้อต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่มีบริการช่องรายการที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชม ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม   “ประชุมสมัชชาผู้บริโภค 57” เดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 28 -29 เมษายน 2557  คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 โดยมีการหารือในหลายประเด็น และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 ประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ สินค้าและบริการทั่วไป, อาหารและยา, รถโดยสารสาธารณะ, พลังงาน, การเงินการธนาคาร, โทรคมนาคม, การบริการสุขภาพ โดยในแต่ละประเด็นนั้น ได้มีการสรุปข้อเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้นในบ้านเรา เริ่มด้วยข้อเสนอด้านการเงินการธนาคาร ผู้บริโภคต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ว่าสถิติ เอกสาร เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รู้เท่าทันผู้ประกอบการ และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกใช้บริการที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ในส่วนของประเด็นพลังงานนั้น สมัชชาฯ มีข้อเสนอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน, ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม, ให้รัฐมีมาตรการยุติการผูกขาดของ ปตท., จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของสภาพลังงานแห่งชาติ, ปรับแก้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปัน, แก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ประเด็นสินค้าและบริการทั่วไปว่า สมัชชาฯ มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง เหมือน Lemon Law ของต่างประเทศ ปรับปรุงการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม รวมทั้งให้จัดทำระบบข้อมูลการเตือนสินค้าให้มีภาษาไทยด้วย     ประเด็นที่เกี่ยวพันกับโทรคมนาคม มีข้อเสนอให้ กสทช.เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง เช่น ค่าบริการระบบ 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ กสทช.ให้มากขึ้น รวมถึงทบทวนการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตัลให้ทั่วถึง ในส่วนของรถสาธารณะ ที่ประชุมสมัชชาฯ มีมติให้ดูแลรถโดยสารสองชั้น โดยเบื้องต้นให้กำหนดเขตห้ามวิ่งในเส้นทางที่อันตราย เช่น ไหล่เขา ส่วนในระยะยาวไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนเพิ่มอีก, กำหนดมาตรฐานของรถสาธารณะทุกประเภท เช่น ระยะเวลาใช้งาน มาตรฐานการผลิต รวมถึงการออกมาตรการดูแลมาตรฐานคนขับรถโดยสารทุกประเภท ประเด็นอาหารและยา สมัชชาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากอาหารให้ดูแลเข้มงวดหลายประการ เช่น การแสดงวันหมดอายุ วันผลิต, ฉลากต้องเป็นภาษาไทย, รวมถึงประกาศมาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ยังระบุให้รัฐต้องเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอาหารและยาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเข้าถึงของประชาชน ด้านประเด็นบริการสุขภาพว่า มีข้อเสนอสำหรับการปรับระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียม โดยให้ปรับความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสวัสดิการ โดยให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบส่วนการรักษาพยาบาลและให้ผู้ประกันไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเลิกการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือหากไม่ยกเลิกการจ่ายสมทบก็อาจนำเงินไปใช้กับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน เช่น บำเหน็จชราภาพ  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 145 กระแสในประเทศ

  ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 2556 ใช้เทคโนโลยีช่วยจำ ระวังทำสมองเสื่อม ข้อมูลจากงาน “สร้างสรรค์สังคมไทยห่างไกลอัลไซเมอร์ ครั้งที่ 5” มีการรายงานตัวเลขของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมในประเทศไทยพบว่ามีผู้สูงอายุที่เสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 12 และคาดว่าในปี พ.ศ.2563 ไทยอาจมีผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมถึง 1.3 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนที่มากเมื่อเทียบกับจำนวนผู้สูงอายุโดยรวมของประเทศ โดยสาเหตุของการป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม นอกจากสัมพันธ์กับโรคหลอดเลือดที่ส่งผลกับการทำงานของสมองและความผิดปกติของต่อมไธรอยด์แล้ว พฤติกรรมการดำเนินชีวิตเดี๋ยวนี้ก็มีผลกับโรคสมองเสื่อมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะการใช้เครื่องมือเพื่อช่วยจำ ช่วยคิดแทนการใช้สมอง เช่น บันทึกข้อมูลต่างๆ ในโทรศัพท์ในมือถือ ร้องเพลงตามคาราโอเกะแล้วต้องคอยอ่านเนื้อเพลงแทนการจดจำ ใช้เครื่องคิดเลขแทนการใช้สมองคำนวณ ยิ่งเป็นเด็กยิ่งน่าเป็นห่วง เพราะสมองขาดการใช้งาน เซลล์ประสาทขาดการกระตุ้นอย่างต่อเนื่อง ปัญหาสมองเสื่อมก็อาจจะตามมา   สำหรับการป้องกันโรคสมองเสื่อม วิธีง่ายๆ คือพยายามฝึกใช้สมองเป็นประจำ เช่น การท่องจำหรือคิดคำนวณต่างๆ เล่นเกมที่ฝึกสมอง รวมทั้งออกกำลังกายเป็นประจำจะช่วยการกระตุ้นทำงานของสมองได้ ------------------------------------------------------     สารเคมีกำจัดศัตรูพืชบุกยึดประเทศไทย เชื่อหรือไม่ ประเทศไทยเรานำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปริมาณมากจนน่าตกใจ ว่ากันว่าสูงเท่ากับตึกใบหยก 2 ซึ่งปริมาณมากแบบนี้ย่อมมีผลกระทบกับคนที่รับประทานผักแน่นอน นพ.พิบูลย์ อิสรพันธุ์ รองผอ.สำนักโรคจากการประกอบอาชีพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวที “นโยบายเกษตรเพื่อสุขภาพ : แบน 4 สารเคมีเกษตรก่อมะเร็ง” ว่าในปี 2554 ประเทศไทยนำเข้าสารกำจัดศัตรูพืชสูงถึง 20,875 ล้านบาท หรือประมาณ 520,312 ตัน เท่ากับขวดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 46 เมตร สูงเท่าตึกใบหยก 2 ข้อมูลการสุ่มตรวจเลือดเกษตรกร 74 จังหวัด จำนวน 533,524 คน พบว่ามีสารเคมีปนเปื้อนในเลือดเกินมาตรฐานความปลอดภัยถึง 173,243 คน คิดเป็นร้อยละ 32ส่วนประชาชนทั่วไปตรวจจำนวน 99,283 คน พบไม่ปลอดภัย 35,949 คน คิดเป็นร้อยละ 36 ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเป็นต้นเหตุของร้ายโรคอันตราย โดยเฉพาะมะเร็ง สาเหตุสำคัญที่ทำให้การนำเข้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมีปริมาณสูง นอกจากการที่ภาครัฐฯ ไม่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องเรื่องสารเคมีแก่เกษตรกรแล้ว ยังมีเรื่องของการขึ้นทะเบียนสารเคมี ซึ่งควรยกเลิกสารเคมีที่มีอันตรายเฉียบพลัน โดยเฉพาะสารเคมี 4 ชนิด ได้แก่ คาร์โบฟูราน เมโทมิล ไดโครโตฟอส และอีพีเอ็น ซึ่งหลายประเทศยกเลิกทั้งผลิตและนำเข้าไปแล้ว     เตือน! “สบู่ดำ” พิษถึงตาย สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 (สคร.7) อุบลราชธานี แจ้งเตือนอันตรายของ “เมล็ดสบู่ดำ” สมุนไพรพื้นบ้านที่มีพิษร้ายแรง ถ้าหากใครเผลอรับประทานเข้าไปมีสิทธิเสียชีวิต เพราะพิษของเมล็ดสบู่ดำมีผลต่อการทำงานของระบบหายใจ ความดันโลหิต หัวใจเต้นผิดปกติ นอกจากนี้หากน้ำยางถูกผิวหนังก็จะทำให้เกิดการระคายเคืองปวดแสบปวดร้อนรุนแรง ยิ่งถ้าหากเข้าตาอาจทำให้ตาบอด มีรายงานว่าพบผู้ป่วยอาหารพิษจากการรับประทานเมล็ดสบู่ดำเป็นประจำทุกปีโดยเฉพาะเด็กๆ ที่เก็บเมล็ดมาทานด้วยความไม่รู้ แนะวิธีป้องกันให้หน่วยงานและชุมชนที่ปลูกควรทำป้ายชื่อกำกับ แจ้งคำเตือนว่าเป็นพืชมีพิษห้ามรับประทาน เมล็ดสบู่ดำนิยมปลูกมากในหลายจังหวัด เพราะได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ เนื่องจากเมล็ดสบู่ดำนอกจากเป็นพืชสมุนไพร เพราะเปลือกและใบสามารถใช้รักษาโรคกระเพาะและเป็นยาแก้ไอ นอกจากนี้ยังเป็นพืชพลังงานทดแทนเพราะนำไปสกัดเป็นน้ำมันได้     ปั่นต้านโลภ เครือข่ายธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิเพื่อนหญิง จัดกิจกรรม "ปั่นต้านโลภ หยุดการกอบโกยของธุรกิจพลังงาน” เพื่อเรียกร้องให้ธุรกิจพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค โดยมีผู้ปั่นจักรยานเข้าร่วมขบวนรณรงค์ในกิจกรรมครั้งนี้กว่า 200 คัน ซึ่งเส้นทางในการปั่นจักรยานเริ่มต้นจากสวนสันติภาพ ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปตามเส้นทางถนนพหลโยธิน แล้วไปจบที่บริษัท ปตท. จำกัด มหาชน สำนักงานใหญ่ โดยกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการแสดงพลังเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องพลังงานหยุดเอาเปรียบผู้บริโภค ผ่านข้อเรียกร้องที่จะช่วยสร้างความเป็นธรรมให้กับสังคม เช่น   หยุดการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนและรถยนต์ ที่กำหนดเริ่มเดือนเมษายนนี้ และให้เรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจากภาคปิโตรเคมีที่ใช้ แอลพีจี เป็นวัตถุดิบในอัตรากิโลกรัมละ 12 บาท เหมือนที่เรียกเก็บกับอุตสาหกรรมทั่วไป ซึ่งจะทำให้หนี้กองทุนน้ำมันที่มีอยู่หมดไปในเวลาไม่ถึงหนึ่งปี ชะลอการเปิดประมูลโรงไฟฟ้าเอกชนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติจำนวน 5,400 เมกะวัตต์ ในกลางปีนี้ หยุดการผูกขาดของธุรกิจก๊าซและพลังงานทั้งระบบของบริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) หยุดผลประโยชน์ทับซ้อนของปลัดและอธิบดีในกระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค --------------     ประกวดสปอตโฆษณา องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ประกาศผลผู้ชนะไปแล้วเรียบร้อย สำหรับกิจกรรมการประกวดสปอตโฆษณา “ให้ความเป็นธรรมต่อผู้บริโภคเดี๋ยวนี้ Consumer Justice Now” ที่ได้เปิดโอกาสให้น้องๆ นักศึกษาและประชาชนทั่วไปได้แสดงฝีมือและร่วมเป็นหนึ่งแรงในการผลักดันสร้างความเข้าใจเรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มาตรา 61 ให้กับสังคม ซึ่งผลงานสปอตโฆษณาที่ได้รับรางวัลชนะเลิศได้แก่เรื่อง “อย่าให้การถูกเอาเปรียบเป็นเรื่องเคยชิน” จากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ได้รับเงินรางวัล 50,000 บาท นอกจากนี้อีกหนึ่งผลงานจากทีม BU ไฝดำ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ที่มีชื่อว่า “การคิดอยู่ในใจไม่มีผู้ประกอบการรายใดได้ยิน” ก็ได้รับรางวัลป๊อบปูล่าโหวตด้วยอีกหนึ่งรางวัล ส่วนรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่งได้แก่ผลงานเรื่อง “Guinness Van” จากทีม SWEET KID รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ผลงานเรื่อง “หยุดเอาเปรียบฉัน” จากทีมลูกหมาสามตัว ใครที่อยากชมผลงานสปอตที่ได้รับรางวัลและผลงานคลิปอื่นๆ ที่เข้าร่วมประกวด สามารถเข้าไปดูได้ที่หน้าเฟซบุ๊คมาตรา 61 องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค www.facebook.com/cindependence   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 157 สบู่ฆ่าแบคทีเรีย อาจไม่ใช่ทางเลือกที่ดี

เมื่อเร็วๆ นี้ สบู่ฆ่าแบคทีเรีย(Antibacterial Soap) ถูกนำมาถกเถียงอีกครั้งว่า มันช่วยลดอัตราการเจ็บป่วยและช่วยให้ร่างกายสะอาดเพิ่มขึ้นจริงหรือไม่? 17 ธ.ค.2557 สำนักงานอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) แถลงว่า กำลังศึกษาถึงผลกระทบทางสุขภาพต่อกรณีที่มีการใช้สบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียกันอย่างแพร่หลาย เพื่อหาข้อมูลยืนยันถึงความปลอดภัยเมื่อใช้ต่อเนื่องในระยะยาว โดยผู้ผลิตสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรียจะต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าผลิตภัณฑ์ของตน ดีกว่าสบู่ธรรมดาทั่วไปในการป้องกันการเจ็บป่วยและเชื้อโรค อย่างไร หากพิสูจน์ไม่ได้ ต้องถอดไตรโคลซานออกจากส่วนประกอบของสบู่เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค คอลีน โรเจอร์ส หัวหน้าหน่วยจุลชีววิทยาที่เอฟดีเอ กล่าวว่า จากข้อมูลใหม่พบความเสี่ยงของการใช้ผลิตภัณฑ์เป็นเวลานาน การใช้สบู่ต้านเชื้อแบคทีเรียเป็นประจำทุกวันอาจไม่ให้ประโยชน์อีกแล้ว ผลวิจัยของเอฟดีเอยังพบว่าจากการศึกษาในห้องปฏิบัติการทดลองพบ เชื้อแบคทีเรียบวกกับสบู่ฆ่าเชื้อกลายเป็นแบคทีเรียกลายพันธุ์และมีฤทธิ์ดื้อยาเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ผู้ผลิตสินค้ามีเวลาจนถึงสิ้นปี 2557 เพื่อนำเสนอรายงานผลการทดลองทางคลินิกในผลิตภัณฑ์ของตน  และเอฟดีเอจะมีผลสรุปในปี 2559   ก่อนการแถลงของเอฟดีเอครั้งนี้ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข่าวงานวิจัยหลายชิ้นที่แสดงให้เห็นว่า ไตรโคลซาน ที่นำมาใช้เป็นสารต้านเชื้ออาจก่อให้เกิดความเสี่ยงหลายประการ เช่น กระตุ้นให้เกิดภาวะภูมิแพ้และอาการจมูกอักเสบจากภาวะภูมิแพ้ในเด็ก งานวิจัยของสถาบันวิจัยสาธารณสุขนอร์เวย์ พบความสัมพันธ์ของปริมาณไตรโคลซานที่ตรวจพบในปัสสาวะของเด็กอายุ 10 ปี กับระดับการหลั่งของสารตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันที่บ่งชี้ภาวะการเกิดภูมิแพ้ ซึ่งงานวิจัยในอดีตพบว่า 85% ของไตรโคลซานที่อยู่ในร่างกายได้มาจากการใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง โดยเฉพาะยาสีฟัน แม้แต่ในลิปสติก หนังสือพิมพ์แทบลอยด์ชื่อดังของอังกฤษ เดลี่เมล์ก็ลงข่าวใหญ่โตว่าผู้หญิงที่ทาลิปสติกมากๆ อาจได้รับผลกระทบจากสารไตรโคลซานที่ออกฤทธิ์รบกวนระบบฮอร์โมน และอาจมีผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อที่ได้รับคำสั่งจากสมอง รวมถึงกล้ามเนื้อหัวใจด้วย โดยอ้างศาสตราจารย์ ไอแซ็ค เพสซาห์ นักวิจัยด้านโมเลกุล ที่ค้นพบในห้องทดลองว่า สารไตรโคซานสามารถลดอัตราการเต้นของหัวใจของหนู ภายในเวลา 20 นาที และมีหลักฐานที่ชัดเจนว่า อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์ด้วย ศูนย์คุ้มครองโรคระบาด (The Centers for Disease Control) ของสหรัฐฯ ประมาณการว่า ประชากรร้อยละ 75 ของอเมริกามีไตรโคลซานสะสมอยู่ในร่างกาย ซึ่งสามารถตรวจพบได้ในปัสสาวะ เลือด และน้ำนม และจากการทดลองกับสัตว์ ไตรโคลซาน ส่งผลต่อฮอร์โมนในร่างกายไม่ต่างจาก Bisphenol-A (BPA) ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนเพศ (หรือเปลี่ยนเป็นเพศตรงข้าม) รวมไปถึงเป็นปัจจัยที่อาจสะสมจนกลายเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง กลับมาที่สบู่ เนื่องจากเป็นผลิตภัณฑ์ชำระล้างใกล้ตัวและมีความเสี่ยงในการใช้ต่ำเพราะสัมผัสผิวไม่นาน แต่การนำสารไตรโคลซานมาใช้เพื่อเป็นสบู่ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย กลับจะยิ่งสร้างความเสี่ยงให้เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากโดยธรรมชาติผิวของคนเรานั้นจะมีเชื้อจุลินทรีย์หลายชนิด ทั้งตัวดี ตัวร้าย(ก่อโรค) แต่สบู่ฆ่าเชื้อจะฆ่าจุลินทรีย์ทุกชนิด จุลินทรีย์ที่ดีซึ่งคอยปกป้องผิวเราก็พลอยโดนกำจัดไปด้วย ผิวหนังจึงเสียสมดุล ทำให้เกิดการแพ้และแห้งผากได้ง่าย   ไตรโคลซาน คืออะไร ย้อนหลังไปเกือบ 50 ปีที่ผู้คนในสังคมให้ความสำคัญกับเรื่องของความสะอาด ปราศจากเชื้อโรค สารเคมีนานาชนิดที่มุ่งหวังเพื่อการกำจัดเชื้อจึงถูกคิดค้นขึ้นและนำมาผสมลงไปในสินค้าอุปโภคต่างๆ ในชีวิตประจำวัน ซึ่งสารที่มีชื่อว่า ไตรโคลซาน(Triclosan) คือสารสังเคราะห์ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุด ว่ามีประสิทธิภาพต้านเชื้อแบคทีเรียและปลอดภัยกับมนุษย์ จึงมีการนำมาใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลก ไตรโคลซานถูกนำไปใช้ทั้งในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดร่างกาย สบู่ ครีมอาบน้ำ ยาสระผม โฟมล้างหน้า ยาสีฟัน น้ำยาบ้วนปาก ยาสีฟันแก้เหงือกอักเสบ ผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อ หรือเป็นสารกันเสียในอาหาร ยาและเครื่องสำอางหลายชนิด นอกจากนี้ยังพบในผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภค เช่น ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เครื่องครัว ของเล่น เครื่องนอน ถุงเท้า ถุงขยะ ของเล่นเด็ก ผ้าและผ้าพลาสติก การที่ทั่วโลกนิยมใช้สารไตรโคลซานอย่างกว้างขวางนี้เอง ทำให้นักวิชาการสิ่งแวดล้อมเป็นห่วงว่าทั้งในอากาศ น้ำเสีย อาจมีการปนเปื้อนสารดังกล่าวตกค้างสะสมได้ ส่วนนักวิชาการทางการแพทย์เป็นห่วงว่า การที่เราใช้สารต้านเชื้อจุลินทรีย์ชนิดนี้มากเกินไป จะก่อให้เกิดปัญหาทางการแพทย์ กล่าวคือ เชื้อโรคมีการพัฒนาสายพันธุ์และดื้อต่อยาปฏิชีวนะที่ใช้สำหรับรักษาโรคติดเชื้อรุนแรง และในอนาคตอาจหายาฆ่าเชื้อที่กลายพันธุ์เหล่านี้ได้ยากยิ่งขึ้น สมาคมการแพทย์แห่งอเมริกา (The American Medical Association) จึงแนะนำว่า ผู้บริโภคควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของไตรโคลซานอย่างรอบคอบ เพราะข้อสมมุติฐานที่ว่า ไตรโคลซานอาจเป็นสาเหตุของโรคภัยและปัญหาสุขภาพได้ เริ่มมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ   สถานะทางกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่มีสารฆ่าเชื้อในสหรัฐอเมริกาจัดเป็นยา และเป็นยาที่ขายได้โดยไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ (OTC) กรณีของในประเทศไทย ไตรโคลซาน เป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 24 ส่วนไตรโคลคาร์บาน เป็นวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ลำดับที่ 22 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 47) พ.ศ.2550 เรื่อง กำหนดวัตถุกันเสียที่อาจใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง นั่นหมายความว่าสบู่หรือครีมล้างมือหรือครีมอาบน้ำที่มีสารไตรโคลซานหรือไตรโคลคาร์บาน ถือว่าเป็นเครื่องสำอางตามพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ.2535       //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 156 สารต่างๆ ในสบู่สามารถซึมเข้าบำรุงผิวได้ไหม

  เป็นคำถามที่น่าสนใจ เพราะสารพัดโฆษณาสบู่ล้วนแต่ดึงดูดความสนใจของเราด้วย สารต่างๆ ที่อ้างว่าช่วยบำรุงผิว ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน   สารสกัดจากพืชต่างๆ หรือสารชื่อดังอย่าง กลูต้า คอลลาเจน ฯลฯ อันที่จริงคำตอบง่ายมากถ้าเข้าใจธรรมชาติของผิวและตัวผลิตภัณฑ์คือ สบู่ ผิวหนังของคนเรามีสองชั้น คือชั้นบนสุดหรือที่เรียกว่าหนังกำพร้าหนาประมาณ 0.02 มิลลิเมตร ประกอบด้วยเซลล์ผิวหนังที่ตายแล้วและสารที่เป็นไขมัน ซึ่งจะทำหน้าที่ป้องกันการสูญเสียน้ำ (dehydration) สารระคายเคือง สารก่อภูมิแพ้ และจุลินทรีย์ที่ก่อให้เกิดโรค ใต้ชั้นหนังกำพร้าเป็นชั้นหนังแท้ ซึ่งเป็นเนื้อเยื่อเชื่อมโยงแบบยืดหยุ่นหนาประมาณ 1 มิลลิเมตร ประกอบด้วยระบบหลอดเลือด อวัยวะรับความรู้สึกและเส้นประสาท รูขุมขน ต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อ   เมื่อผิวหนังชั้นบนสุดปะทะกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ ทั้งฝุ่นละออง เหงื่อไคลที่สะสมบนชั้นผิว ก็ถึงเวลาที่เราต้องทำความสะอาดด้วยการอาบน้ำ สบู่จึงถูกผลิตขึ้นมาเพื่อช่วยในการชำระล้างคราบสกปรกต่างๆ ให้ออกไปจากผิวได้ง่ายขึ้น ดังนั้นหน้าที่ของสบู่คือช่วยชำระล้าง  ถ้าจะให้เพิ่มหน้าที่บำรุงผิวเข้าไปในสบู่ด้วยเห็นจะยาก ด้วยเหตุผลง่ายๆ ที่ว่า สบู่มันอยู่บนผิวเราเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียวเท่านั้น แล้วก็จะถูกเราล้างออกไปอย่างรวดเร็ว(ยิ่งสบู่เหลวที่บางคนรู้สึกว่าให้ความรู้สึกลื่นๆ เหลือบนผิว ยิ่งถูกน้ำล้างออกมากกว่าปกติ) การใส่สารบำรุงต่างๆ ในสบู่จึงไม่ได้มีคุณกับผิวในแง่ของการบำรุง แต่อาจจะช่วยในด้านจิตใจได้บ้าง ว่าได้ใช้สบู่ผสมสารบำรุงที่ราคาแพงเพิ่มขึ้นจากสบู่ทั่วไป กรณีของสบู่ที่ผสมสารบางชนิด เช่น มอยส์เจอไรเซอร์ กรด AHA , BHA หรือผสมพืชสมุนไพร อันนี้จะหวังผลเฉพาะผิวชั้นบนสุดเท่านั้น ไม่ใช่เรื่องของการซึมซาบเข้าผิวชั้นใน อย่าง มอยส์เจอไรเซอร์ช่วยเรื่องความชุ่มชื้น กรด AHA , BHA ช่วยให้ผิวชั้นนอกหลุดลอกเร็วขึ้น ผิวใหม่ที่ผลัดขึ้นมาจึงดูขาวและสดใสกว่าผิวเดิม หรือสารบางอย่างที่ผสมในสบู่อาจช่วยในการฆ่าเชื้อได้ด้วย(เฉพาะผิวชั้นบนสุด) เช่น ไตรโคลซาน(triclosan) หรือ พวกสารฆ่าเชื้อธรรมชาติ เช่น Tea tree oil ซึ่งอาจเหมาะกับคนที่มีปัญหาเรื่องกลิ่นกาย หรือมีปัญหาเรื่องสิว   ความต่างของสบู่เหลวกับสบู่ก้อน สบู่ก้อน คือส่วนผสมระหว่างกรด (ไขมัน) กับเบส (ด่าง) ในอัตราส่วนที่ทำให้สามารถทำความสะอาดได้ดี และไม่เป็นอันตรายต่อผิว คือมีค่า pH อยู่ระหว่าง 8-10  ส่วน สบู่เหลว เป็นสารสังเคราะห์ที่ช่วยลดแรงตึงผิว ค่า pH อยู่ที่ประมาณ 5-6 ในเรื่องของการช่วยทำความสะอาดผิว ทั้งสบู่เหลวและสบู่ก้อนให้ผลไม่ต่างกันและก็อาจระคายเคืองผิวได้เหมือนกัน แต่สบู่เหลวอาจทำให้ผิวแห้งได้ง่ายกว่าเพราะจับคราบได้ดีกว่า  สบู่เหลวจึงผสมสารให้ความชุ่มชื้นลงไปได้เพื่อแก้ไขจุดนี้(ส่วนใหญ่เป็นสารอุ้มน้ำดังนั้นจึงไม่หลุดไปพร้อมน้ำที่ล้างออกไป แต่จะเกาะแล้วก็จะดึงน้ำมาเกาะผิวเราให้ชุ่มชื้น แต่บางคนจะรู้สึกเหมือนล้างผิวไม่สะอาด)     //

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 177 อยากขาวแบบสยอง ขอเชิญลองสบู่คลอรีน

 “ขาหนีบ ตัวโคตรดำ ต้องลอง ก้อนเดียวเอาอยู่ ขาวสะอาดอย่างปลอดภัย เด็กห้าขวบก็ยังใช้ได้” ข้อความโฆษณาสบู่ที่แชร์กันว่อนในอินเตอร์เน็ต กระตุ้นความสนใจของคนที่กระหายอยากผิวขาวได้มาก แต่ที่น่าสนใจคือ สบู่ชนิดนี้มันมีอะไรดีหรือ ผู้ขายถึงบอกว่าใช้แล้วขาวจริง และยังอ้างว่าปลอดภัยเมื่อนำมาใช้ในเด็กอีกด้วย ผมพยายามติดตามหาข้อมูลสบู่ชนิดนี้ในจังหวัด ก็ยังไม่พบว่ามีการขาย แต่เมื่อลองเข้าไปค้นในอินเตอร์เน็ตกลับพบว่า มีการโฆษณาสบู่ชนิดนี้มากมาย สบู่ชนิดนี้ใช้ชื่อว่า “สบู่คลอรีน”  ยิ่งสงสัยหนักขึ้นไปอีก เพราะเท่าที่ทราบคลอรีนเป็นสารเคมีที่ใช้ฆ่าเชื้อโรค และมีผลในการฟอกสี  ซึ่งปกติจะใช้กับสิ่งของ เช่น น้ำยาฟอกขาว แต่กับผิวหนังอันบอบบางของมนุษย์  ยังไม่เคยมีการนำมาให้ใช้ เพราะน่าจะเกิดอันตรายต่อผิวหนัง   หลังจากนั้นไม่กี่วัน  ก็เกิดกระแสที่ผู้คนพูดถึงกันมาในโลกอินเตอร์เน็ต มีการแชร์ขายทางออนไลน์กันมาก  จนในที่สุดทีมข่าวโทรทัศน์ช่อง 3 ได้นำสารคลอรีนไปให้อาจารย์ประจำภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ทดสอบ จึงพบค่าความเป็นกรด-ด่าง ของสารคลอรีนที่นำมาทดสอบนั้น ใกล้เคียงกับค่าความเป็นกรด-ด่าง ในสบู่คลอรีน ที่แชร์ขายในโลกออนไลน์  โดยมีค่าความเป็นกรดมากถึง 4.2  ซึ่งเป็นค่าที่สามารถกัดผิวคนให้ขาวได้ แต่ที่น่ากลัวคือ มันจะทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังและยังระคายเคืองกัดเยื่อบุตาอีกด้วย และในแง่วิชาการยังเป็นห่วงว่า หากใช้ต่อเนื่องไปนานๆ นี้คลอรีนอาจจะเร่งอนุมูลอิสระในร่างกายสะสมเป็นเวลานาน เสี่ยงเกิดโรคมะเร็งได้ ไม่ใช่แค่การทดลองทางวิทยาศาสตร์ในห้องแลบเท่านั้น  ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังยังได้ออกมาเตือนว่า “โดยทั่วไปแล้วคลอรีนจะมีฤทธิ์กัดกร่อนมาก หากนำมาใช้กับผิวหนังก็จะเกิดระคายเคือง และหากมีความเข้มข้นสูงก็อาจเกิดแผลไหม้ได้ สารคลอรีนที่ผสมในสบู่คาดว่าจะเป็นสารแคลเซียมไฮโปคลอไรท์ ซึ่งมีฤทธิ์รุนแรงกว่าและมีการยืนยันว่าเป็นสารก่อมะเร็งในสัตว์ จึงแนะนำว่าไม่ควรใช้สบู่ดังกล่าว”   ข้อมูลมันเสี่ยงขนาดนี้ คงแทบไม่ต้องถามต่อเลยว่า ควรจะใช้ต่อหรือเลิกใช้กันดีกว่ากัน และก็คงไม่ต้องมาถามอีกว่า ในเด็กห้าขวบที่ผิวบอบบางกว่าผู้ใหญ่ ยังจะใช้ได้อย่างปลอดภัยอย่างที่โฆษณาหรือไม่ (หรือเด็กห้าขวบมันจำเป็นจะต้องให้ขาวไปขนาดไหนกันนี่) หากผู้คนยังกระหายความขาวไม่หยุดหย่อน เชื่อว่าอีกไม่นานก็คงจะมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาให้คนกระหายความขาวได้เสี่ยงกันอีก ท่องให้ขึ้นใจเลยนะครับ สบู่จัดเป็นเครื่องสำอางตามกฎหมาย จะต้องผลิตโดยไม่มีส่วนประกอบของสารอันตราย โดยผู้ผลิตจะต้องมายื่นเพื่อขอเลขรับแจ้งจากหน่วยงานสาธารณสุข และเมื่อได้รับตัวเลขดังกล่าวแล้วจะ ต้องนำไปแสดงบนฉลากด้วย หรือหากสบู่ชนิดใดมีส่วนประกอบที่เข้าข่ายเป็นยา ก็ต้องขอขึ้นทะเบียนเป็นยาด้วย ซึ่งก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายยาด้วยเช่นกัน  

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 174 สบู่มีไว้ถู หนูหนูอย่าถูกหลอก

หน่วยงานของผมเพิ่งจัดกิจกรรม อย.น้อย ปีนี้เราเน้นประเด็น “เชื่อมโยงเครือข่าย เตือนภัยสุขภาพ” เมื่องานเลิก อาจารย์ท่านหนึ่งเดินมาหาผม เปิดภาพจากสมาร์ทโฟนพร้อมให้ข้อมูลว่า “เดี๋ยวนี้เด็กๆ เขานิยมใช้สบู่ชนิดนี้ ซื้อทางเน็ตมาใช้กันมาก เห็นเด็กๆ บอกว่าใช้แล้วขาวจริงๆ” ผมตามไปค้นข้อมูลต่อในอินเตอร์เน็ต พบโฆษณาสบู่ชนิดนี้ (ซึ่งตั้งชื่อให้คล้ายผงซักฟอก โอโม่พลัส) ราคาก้อนละ 50 บาท ในภาพระบุข้อความว่า “ฟอกผิวขาวเนียนใส ขาวทะลุมิติ เป็นสบู่ 5 สี จาก ทับทิม (ผิวขาวใส ลดรอย)  องุ่น (คอลลาเจน ผิวเต่งตึง กระชับ) เลมอน กีวี่ (ต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดสิว) สับปะรด วิตามินซี (ผลัดเซลล์ผิว ขาวกระจ่างใส) และกลูต้าน้ำนม (ผิวขาวเนียนนุ่ม) ฟอกให้ทั่วตัว ทิ้งไว้ 3-5 นาที แล้วล้างออก ใช้เป็นประจำ เช้า-เย็น” ผมพยายามเอาหลักวิชาการมาตรวจสอบว่ามันเป็นไปได้อย่างไร ถูสบู่แล้วผิวจะขาววอกอย่างที่โฆษณา แต่ยังไม่ทันไร ก็ดันไปพบโฆษณาสบู่อีกชนิดหนึ่ง“สบู่เซลลูไลท์ ลดไขมันส่วนเกิน ลดหน้าท้องเร่งด่วน ลดพุง ลดหุ่น ลดพุง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากสมุนไพรธรรมชาติ ช่วยสลายไขมัน บริเวณใต้ผิวหนัง  ปัญหาผิวเปลือกส้ม และยังช่วยกระชับสัดส่วน มีวิตามินอีเพิ่มความกระชับของผิว ลดเซลลูไลท์ได้ดีเมื่อใช้เป็นประจำและต่อเนื่อง เห็นผลแน่อน” โฆษณายังอ้างว่า สบู่ของตนเองผลิตจากสาหร่ายในทะเลน้ำลึก ผสมน้ำแร่ และพริกไทย ประสิทธิภาพล้ำหน้าด้วยเนื้อสบู่นาโน  ซึ่งจะเข้าแทรกซึมเพื่อขจัดไขมันส่วนเกินใต้ชั้นผิวให้มีขนาดเล็กลง ทำให้ชั้นผิวภายในเรียบเสมอกัน สาหร่ายจากทะเลลึกมีส่วนช่วยในการจับไขมัน และพริกไทยจะออกฤทธิ์ช่วยเผาผลาญได้อย่างรวดเร็ว โดยไม่เกิดอาการแสบร้อนใดๆ สามารถแทรกซึมลงสู่ชั้นใต้ผิวหนังได้อย่างรวดเร็วขณะฟอก ตรงเข้าทำงานในการช่วย เผาผลาญและสลายไขมัน เซลล์ลูไลท์ ที่สะสมมานานให้สลายตัวได้อย่างรวดเร็ว กระตุ้นให้ไขมันมีการแตกตัวและกระจายตัวได้ดี โดยเฉพาะ หน้าท้อง จะเห็นผลได้ดีที่สุด ใช้ขณะอาบน้ำ ควรถูนวด วนๆ บริเวณที่ต้องการ ทิ้งไว้ 2 นาที แล้วจึงล้างออก (เอาล่ะซิ ทั้งสาหร่าย ทั้งพริกไทย และยังนาโนอีกเอากันเข้าไป แล้วยังบรรยายกลไกการทำงานแบบอ่านแล้วยังตะลึง) อันที่จริง เครื่องสำอางตามกฎหมาย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้สำหรับทา ถู นวด โรย พ่น หยอด ใส่ อบ ต่อส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย เพื่อความสะอาด ความสวยงาม ไม่สามารถอ้างว่า วินิจฉัย บำบัด บรรเทา รักษา หรือป้องกันโรค หรือความเจ็บป่วยได้ เพราะมันเป็นไปไม่ได้ กฎหมายยังกำหนดให้ผู้ผลิตเครื่องสำอาง ต้องมาแจ้งเพื่อขออนุญาต และเมื่อได้รับอนุญาตแล้ว ต้องแสดงเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากด้วย โดยเลขที่ใบรับแจ้ง จะประกอบด้วยตัวเลข 10 หลัก แต่ไอ้เจ้าสบู่ทั้งสองชนิดนี้ ตัวมันเองเป็นเครื่องสำอางแน่นอน แต่ดันแอบมาอวดอ้างสรรพคุณในลักษณะเป็นยา ผมพยายามเพ่งบนฉลากในรูปก็ไม่เห็นเลขที่ใบรับแจ้งบนฉลากแต่อย่างใด ซึ่งถ้าไม่ตรงตามที่กฎหมายกำหนด สบู่ทั้งสองชนิดนี้น่าจะผิดกฎหมายแน่นอน ผลิตภัณฑ์สุขภาพสมัยนี้ มันมีขายมากมายยังกับดอกเห็ด หากเราเชื่อมเครือข่ายผู้บริโภคได้ ก็จะเกิดเครือข่ายที่จะเป็นหูเป็นตา ช่วยเจ้าหน้าที่ในการเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกต้อง ดังเช่น เครือข่าย คุณครูและ อย.น้อย ที่มาแจ้งข้อมูลเรื่องสบู่ให้ผมทราบไงครับ

อ่านเพิ่มเติม >