ฉบับที่ 234 ปริมาณเนื้อผลไม้ในแยมสตรอว์เบอร์รี

        แยม เป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปจากผลไม้ นิยมนำมาทาบนขนมปังเพื่อเพิ่มรสชาติ จัดเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทสเปรด (spreads) หรือ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้ป้ายหรือทาบนขนมปังที่ได้รับความนิยมมาก แต่หลายครั้งก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ในแยมที่วางจำหน่ายทั่วไปนั้นมีปริมาณของเนื้อผลไม้อยู่สักแค่ไหน ดังนั้นนิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงค้นหาข้อมูลตรงนี้มาฝากผู้บริโภค โดยเราเลือกผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมที่สุดในบรรดาแยมรสต่างๆ         เราซื้อผลิตภัณฑ์แยมสตรอว์เบอร์รีจำนวน 34  ตัวอย่าง ทั้งที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศ ซื้อจากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไป นำมาพิจารณาสัดส่วนของเนื้อผลไม้หรือเนื้อสตรอว์เบอร์รี ซึ่งได้แจ้งไว้บนฉลากว่ามีปริมาณเท่าไร พร้อมเปรียบเทียบราคาต่อน้ำหนัก 1 กรัม (บางผลิตภัณฑ์แสดงเป็น มิลลิลิตร)            มาดูกันว่า แยมสตรอว์เบอร์รียี่ห้อไหน ให้เนื้อสตรอว์เบอร์รีเยอะสุด   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 154 อันโกะ กลรักสตรอว์เบอร์รี่ : คำตอบจากนอกหมู่บ้าน

เมื่อช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามอย่างมากที่จะทบทวนชุดความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมกันขนานใหญ่ โดยเฉพาะการที่ประเทศได้เผชิญกับความล้มเหลวหลายอย่าง อันเนื่องมาแต่การเจริญรอยตามเส้นทางการพัฒนาที่ยึดเอาชาติตะวันตกเป็นแม่แบบ แต่กลับไม่ตอบโจทย์ของสังคมไทยได้เหมาะสม หนึ่งในความพยายามตั้งโจทย์ใหม่ให้กับกระบวนทัศน์การพัฒนาสังคมไทยก็คือ การค้นหาว่า “คำตอบ” ของสังคมเราควรมาจากไหนกันแน่ ??? คุณหมอประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เป็นผู้หนึ่งที่ได้เคยสรุปบทเรียนต่อโจทย์ดังกล่าวเอาไว้ว่า ที่ผ่านมา ความล้มเหลวของการพัฒนาประเทศมักเกิดจากการที่คนไทยเลือกที่จะรับความรู้จากภายนอกมากกว่าเชื่อมั่นความรู้จากภายในของสังคมเอง จนถึงกับที่คุณหมอประเวศได้เคยเสนอคำขวัญให้กับสังคมไทยไว้ว่า “คำตอบอยู่ที่หมู่บ้าน” หรือเป็นคำตอบที่ต้องมาจากรากของชุมชนท้องถิ่นอันมีฐานจากสังคมเกษตรกรรมเท่านั้น ทั้งนี้ เหตุผลที่ “คำตอบ” พึง “อยู่ที่หมู่บ้าน” ก็คงเป็นเพราะว่า คำตอบที่เรารับมาจากนอกหมู่บ้าน หรือกล่าวจำเพาะว่าเป็นคำตอบที่เรารับมาจากชาติตะวันตกนั้น บ่อยครั้งจะมีเงื่อนไขในการใช้ที่ไม่สอดรับกับฐานวิธีคิดของคนไทยเอาเสียเลย   ตัวอย่างของปัญหาอันเนื่องมาจากการรับคำตอบจากภายนอกแบบนี้ สะท้อนออกมาให้เห็นได้จากละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกคอมเมดี้อย่าง “อันโกะ กลรักสตรอว์เบอร์รี่” เรื่องราวชีวิตของ “อันยา” หรือเจ้าแม่นัมเบอร์วันแห่งวงการเฮดฮันเตอร์เจ้าของสมญาว่า “อันโกะ” เริ่มต้นขึ้นเมื่อเธอต้องเข้าไปรับจ็อบไล่ล่าทำลายชื่อเสียงของ “ดร.แสน” วิศวกรหนุ่มด้านการตัดต่อพันธุกรรมพืช ซึ่งล่าสุดได้พัฒนาสายพันธุ์ข้าวขึ้นมาใหม่ ที่ช่วยให้ชาวนารอดพ้นวิกฤติผลผลิตตกต่ำได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ปมสาเหตุของการไล่ล่าหัวเฮดฮันเตอร์แบบนี้ ก็เนื่องมาจากการที่บริษัทธุรกิจเกษตรข้ามชาติอย่าง “วิชั่นออฟฟิวเจอร์” ไม่พอใจ ดร.แสน ที่ปฏิเสธเงินล้าน ซึ่งบริษัททุ่มทุนซื้อตัวให้มาทำงานด้วย แถมเขายังเลือกตั้งป้อมเป็นศัตรูกับบรรษัทข้ามชาติด้วยการเปิดบริษัทช่วยเหลือเกษตรกรชาวนาในชื่อว่า บริษัท “เพียงพอดี” ขึ้นมาเป็นคู่แข่งอีกด้วย แม้ในด้านหนึ่ง ละครจะได้สร้างสีสันให้ผู้ชมได้สนุกสนานและประหลาดใจกับชุดแฟชั่นของอันโกะ ที่โยกจากแคทวอล์กมาเดิน “ตกคันนาตาลอย” อยู่ในท้องนา แต่อีกด้านหนึ่ง ด้วยเนื้อหาเรื่องราวความขัดแย้งระหว่างผลประโยชน์เยี่ยงนี้ ละครก็ได้เปิดโปงให้เห็นกลยุทธ์อันน่ากลัวหลายอย่างที่ธุรกิจเกษตรข้ามชาติใช้เพื่อไล่ล่าคู่อริที่ขัดขวางผลกำไรจากการลงทุนของพวกเขา นับตั้งแต่ธุรกิจข้ามชาติได้ว่าจ้างอันโกะและทีมงานเข้าไปเป็นสปายสายลับในบริษัทเพียงพอดี และใส่ร้ายป้ายสีทำลายชื่อเสียง ดร.แสน ในทุกวิถีทาง การเข้าไปปลุกระดมชาวบ้านให้ปฏิเสธการทำเกษตรอินทรีย์ การเข้าไปร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ “กำนัลโกมล” ผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น ไปจนถึงการวางโครงข่ายอำนาจและเครือข่ายการขายสินค้าไว้กับตัวแทนจำหน่ายในหมู่บ้านนั้นไว้เอง แต่ทว่า ในความเพลิดเพลินกับชุดเสื้อผ้าที่หวือหวาของนางเอกอันโกะ กับกลยุทธ์ “ไม่เอาด้วยเล่ห์ก็ต้องได้ด้วยกล” ที่จะทำลาย ดร.แสน และบริษัทเพียงพอดีนั้น ก็บ่งบอกนัยด้วยว่า ทุกวันนี้การพัฒนาวิถีการเกษตรในบ้านเรามีแนวโน้มจะเป็นการพัฒนาแบบที่ต้องพึ่งพิง “ชุดความรู้” จาก “ภายนอก” ชุมชนท้องถิ่นแทบทั้งสิ้น และที่สำคัญ ความรู้จากภายนอกที่เกษตรกรต้องพึ่งพิงนั้น ก็แบ่งได้เป็นอย่างน้อยสองฝักสองฝ่าย หนึ่งก็คือความรู้แบบที่จะช่วย “ปลดปล่อย” คุณภาพชีวิตชาวนา เช่นภาพของ ดร.แสน ที่ใช้องค์ความรู้วิศวพันธุกรรมศาสตร์มาเกื้อกูลวิถีทางเศรษฐกิจของชาวบ้าน กับอีกหนึ่งชุดความรู้ที่เป็นของภาคธุรกิจ ซึ่งเน้น “การครอบงำ” เพื่อให้ชาวนาถูกผูกพันธนาการอยู่กับต้นทุนกำไรที่บริษัทเกษตรข้ามชาติจะได้รับ ในด้านหนึ่ง ความรู้แบบแรกอาจจะดูเรียบง่ายใสซื่อ ไม่ทันเพทุบายของบรรษัทข้ามชาติก็จริง แต่ก็เป็นความรู้ที่เกิดจากความจริงใจ เหมือนกับวิถีชีวิตของ ดร.แสน ที่ติดดินเรียบง่ายปั่นจักรยานไปทำงานแทนการขับรถทุกวัน ตรงกันข้ามกับองค์ความรู้ของธุรกิจข้ามชาติ ที่เป้าหมายเพื่อการครอบงำนั้น ก็อาจจะมีลักษณะหวือหวาตื่นตาเหมือนกับชุดเสื้อผ้าหลุดโลกของอันโกะ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังนั้น ช่างฉาบเคลือบไว้ด้วยมิจฉาทิฐิ และความพยายามเข้าไปครอบงำไล่ล่าชุดความรู้แบบอื่นที่ไม่เอื้อต่อประโยชน์กำไรของนายทุนต่างชาติเอาเสียเลย อย่างไรก็ดี ด้วยจุดยืนแบบละครโรแมนติกคอมเมดี้นั้น ผู้ชมเองก็คงคาดเดาได้ไม่ยากว่า ฉากจบของละครก็ต้องเน้นให้เกิดภาพของการประสานปรองดองกันของตัวละครที่อยู่กันคนละฝักฝ่ายอย่างแน่นอน แบบเดียวกับที่อันยาหรืออันโกะก็จะค่อย ๆ เรียนรู้ในท้ายที่สุดว่า ระหว่างความรู้ของ ดร.แสน ผู้สุดแสนซื่อและจริงใจ กับความรู้อันมาจากการครอบงำของทุนข้ามชาตินั้น องค์ความรู้แบบแรกเท่านั้นที่น่าจะเป็น “คำตอบ” ที่ถูกต้องที่สุดสำหรับ “หมู่บ้าน” และการพัฒนาสังคมไทย แม้ในพื้นที่จินตนาการ เราอาจจะเห็นการเลือกข้างความรู้แบบเกษตรทางเลือกให้เป็นคำตอบของชุมชนเกษตรกรรมที่อยู่ในโลกของละคร แต่ในโลกความจริงนั้น ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่ชีวิตชาวนาหรือเกษตรกรของไทยจะหลีกพ้นลัทธิการพึ่งพิงความรู้เกษตรแบบครอบงำไปได้เสียทีเดียว แต่กระนั้น สิ่งหนึ่งที่เรื่องราวชีวิตของอันโกะและ ดร.แสน ชวนให้ขบคิดต่อไปก็คือ หากทุกวันนี้ “คำตอบจากหมู่บ้าน” เริ่มลางเลือน หรืออาจมิใช่ “คำตอบเพียงหนึ่งเดียว” ในการพัฒนาสังคมหมู่บ้านอีกต่อไปแล้ว ท่าทีของสังคมไทยต่อ “คำตอบจากนอกหมู่บ้าน” นั้น ควรเป็นเส้นทางการเลือกรับองค์ความรู้แบบใดกัน  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point