ฉบับที่ 217 สกูเตอร์ไฟฟ้า (E-Scooter)

        เป็นกระแสข่าว ที่สร้างความฮือฮาในบ้านเรา จากกรณีที่ท่านเอกอัครราชทูตเยอรมนี ประจำประเทศไทยได้เลือกใช้ สกูเตอร์ไฟฟ้า(E- Scooter) เดินทางในกรุงเทพมหานคร โดยจอดรถยนต์ประจำตำแหน่ง ยี่ห้อหรูเก็บไว้ (https://www.matichon.co.th/politics/news_1347367)        สำหรับการจราจรในเมืองใหญ่ๆ ที่ประสบปัญหาเรื่องรถติด และปัญหาสิ่งแวดล้อมจากอากาศเป็นพิษ จากการเผาไหม้ของเครื่องยนต์นั้น สกูเตอร์ไฟฟ้า เป็นรูปแบบการเดินทางทางเลือกที่ประชาชนสามารถใช้ได้ โดยเฉพาะในกรณีที่มีระยะทางไม่เกิน 20 กิโลเมตร        ยานพาหนะ การเดินทางส่วนบุคคลอย่าง สกูเตอร์ไฟฟ้า ปัจจุบันมีหลายบริษัทที่ผลิตออกมาขาย แต่อย่างไรก็ตาม ทางรัฐบาลเยอรมัน ก็ยังไม่ได้มีกฎหมายมาบังคับใช้อุปกรณ์การเดินทางลักษณะนี้ ซึ่ง ภายในปี 2019 นี้ คาดว่าจะมีกฎหมายที่ใช้สำหรับการควบคุมและบังคับใช้สกูเตอร์ไฟฟ้าตามออกมา        การขับเคลื่อนสกูเตอร์ไฟฟ้าอาศัยพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี ที่สามารถชาร์จไฟเก็บไว้ได้ ซึ่งการชาร์จไฟ 1 ครั้งสามารถเดินทางได้ 15 -20 กิโลเมตร สามารถทำความเร็วได้ถึง 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง น้ำหนักของสกูเตอร์ไฟฟ้ารวมแบตเตอรี จะมีน้ำหนักประมาณ 16 กิโลกรัม ความยาวของสกูเตอร์ คือ 120 เซนติเมตร และมีส่วนสูงสำหรับบังคับทิศทาง สามารถปรับได้สูงถึง 116 เซนติเมตร มีระบบเบรกทั้งล้อหน้าและล้อหลังที่เป็นอิสระจากกัน มีสัญญาณไฟ และมีกระดิ่งเพื่อบอกสัญญาณเสียงปัจจุบันราคาประมาณ 2000 ยูโร สามารถพับเก็บได้        จากองค์ประกอบดังกล่าว ทำให้สามารถลดช่องว่างของระบบการเชื่อมต่อระหว่างบ้านที่อยู่ลึกเข้าไปในซอยกับป้ายสถานีรถขนส่งสาธารณะได้เป็นอย่างดี        อย่างไรก็ตามการขนส่งด้วยยานพาหนะนี้ จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายมาควบคุมเพื่อสร้างความปลอดภัยสาธารณะให้กับผู้ขับขี่ และผู้ร่วมใช้ถนนอื่นๆ ด้วยเช่นกัน ในกรณีของเยอรมัน หากยานพาหนะมีความเร็วไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง สามารถที่จะขับบนทางจักรยานได้ และหากไม่มีทางจักรยานก็สามารถขับขี่บนท้องถนนได้ แต่การขับขี่บนทางเท้าไม่สามารถทำได้ เพราะจะผิดกฎจราจรทางบก นอกจากนี้ในระหว่างการพิจารณาร่างกฎหมายที่จะใช้บังคับควบคุมการขับขี่สกูเตอร์ไฟฟ้า ก็มีข้อเสนอให้ มีประกันภัยและคนขับต้องมีใบอนุญาตในการขับขี่ รถเครื่องยนต์ขนาดเล็ก(Mofa) โดยผู้ขับขี่ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 15 ปีบริบูรณ์        ผมประเมินว่า ลักษณะการเดินทางด้วยยานพาหนะแบบนี้ ต่อไปจะเป็นที่นิยมทั่วโลกและคงมีการนำเข้ามาใช้ในประเทศไทยแน่นอน จะเห็นได้ว่านวัตกรรมทางเทคโนโลยีจะเกิดขึ้นมาก่อน และทำให้เกิดประเด็นทางการเมือง ซึ่งจะต้องมีกฎหมายออกมาบังคับใช้เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนนทุกคนในสังคมครับ(แหล่งข้อมูล: https://www.adac.de/rund-ums-fahrzeug/e-mobilitaet/info/elektro-tretroller/)

อ่านเพิ่มเติม >