ฉบับที่ 127 กระแสต่างแดน

  เมดไม่อยู่ คุณหนูต้องออกเที่ยว เทศกาลวันหยุดหลังการถือศีลอดของชาวมุสลิมที่อินโดนีเซีย เมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ผู้คนก็พากันกลับต่างจังหวัด คล้ายๆ กับเทศกาลสงกรานต์บ้านเรา  และเมื่อสาวใช้ในบ้านพากันลากลับบ้านไปใช้เงินโบนัสให้สาสมใจนั้น บรรดาคนมีเงินที่นั่นเขาก็ต้องหาที่ไปเหมือนกันเพราะไม่ถนัดจะอยู่บ้านโดยไม่มีแม่บ้านคอยดูแลจัดการทุกอย่างให้สะอาดเข้าที่เข้าทาง  บ้างก็นิยมไปเที่ยวเมืองนอก เรื่องนี้สมาคมท่องเที่ยวของอินโดนีเซียเขายืนยันมา ว่าแพ็คเกจทัวร์ไป  ประเทศยอดฮิตของคนที่นั่นซึ่งได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไต้หวัน และฮ่องกง ขายหมดไปแล้วตั้งแต่สองสามเดือนก่อน แอร์เอเชียก็ยืนยันมาว่าขนาดเพิ่มเที่ยวบินเป็น 8 เที่ยวต่อวัน ก็ยังมีตั๋วไม่พอขาย บ้างก็ไม่อยากข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลเพราะเป็นห่วงบ้าน เลยใช้วิธียกครอบครัวไปพักที่โรงแรมแทน สมาคมโรงแรมเขาก็ยืนยันว่าอัตราการจองห้องพักของคนอินโดนีเซียในช่วงวันหยุดดังกล่าวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 85  อีกปรากฏการณ์ที่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ เขารายงานไว้คือ ช่วงเทศกาลดังกล่าวเป็นช่วงที่โรงรับจำนำจะมีลูกค้าหนาแน่นเป็นพิเศษ แต่ไม่ใช่เพราะผู้คนพากันเอาของมีค่ามาจำนำหรอกนะ เขาบอกว่าร้อยละ 70 ของลูกค้าที่เดินเข้ามา จะมาไถ่เครื่องประดับออกมาไว้ใส่ไปอวดใครต่อใครตอนกลับไปเยี่ยมบ้านนี่แหละ หลายคนบอกว่าตอนนี้ทองราคาขึ้น เอาออกมาไว้กับตัวดีกว่า เผื่อจะได้ขายทำเงิน   ได้เวลา … ภาษีลดความอ้วนฮังการี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีหนี้มากที่สุดในยุโรปตะวันออก ประกาศนโยบายหารายได้เข้ารัฐด้วยการเรียกเก็บภาษีจากผลิตภัณฑ์อาหารที่มีน้ำตาล ไขมัน หรือเกลือสูงเกินไป ว่ากันว่านี่คือนโยบายเก็บภาษีจากอาหารขยะแบบเข้มที่สุดเท่าที่เคยมีมา ทั้งนี้ก็แอบหวังเล็กๆ ว่า “ภาษีลดความอ้วน” ที่เริ่มบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา จะเป็นการช่วยปรับนิสัยการกินของคนฮังกาเรียน ที่หันมาเป็นโรคอ้วนกันมากขึ้น และนำไปสู่ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเป็นจำนวนไม่น้อย  พูดง่ายๆ ใครเลือกที่จะกินผลิตภัณฑ์อาหารเจ้าปัญหาเหล่านี้ จะต้องเสียเงินเพิ่มจากเดิมประมาณ 1.50 บาทต่อชิ้น/ซอง ส่วนนักดื่ม (น้ำอัดลม) ก็จะต้องจ่ายในราคาที่เพิ่มจากเดิมร้อยละ 10 เป็นต้น ทางการเขาบอกมาว่ามาตรการนี้จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นอย่างน้อยปีละ 100 ล้านเหรียญ (ประมาณ 3,000 ล้านบาท)  ด้านอุตสาหกรรมอาหารก็คัดค้านเป็นธรรมดา เขาอ้างว่าวิธีนี้ปรับปรุงนิสัยการกินไม่ได้หรอก เพราะขนาดประเทศเดนมาร์กที่เก็บ “ภาษีลูกกวาด” มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2465 ก็ยังมีอัตราการเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นอยู่ดี แถมยังบอกว่ามาตรการนี้เป็นการเลือกปฏิบัติและจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้มีรายได้น้อยอีกด้วย  ว่าแต่ผู้บริโภคก็มีทางเลือกที่จะไม่ซื้อขนม(ที่ไม่ดีต่อสุขภาพ) ในราคาที่แพงขึ้น และรัฐบาลเขาก็ไม่ได้ประกาศห้ามอุตสาหกรรมผลิตขนมที่ดีต่อสุขภาพออกมาขายนี่นา  สถิติบอกว่าคนฮังกาเรียน ใช้เงินประมาณร้อยละ 17 ของรายได้ครอบครัวในการซื้ออาหาร (มากกว่าคนอเมริกันถึงสองเท่า) ทั้งนี้เพราะอาหารและเครื่องดื่มที่นั่นมีภาษีร้อยละ 25 ยกเว้นผลิตภัณฑ์จากนมและผลิตภัณฑ์ขนมปังที่มีภาษีร้อยละ 12  อิสราเอล กด Like “ไม่ซื้อเนยแพง”ผู้คนจำนวนหลายแสนคนที่รวมตัวกันทางเครือข่ายสังคม Facebook ได้ช่วยกันบอยคอตเนยคอทเทจยี่ห้อ Tnuva ที่พวกเขาเห็นว่าราคาแพงขึ้นจนรับไม่ได้   นับตั้งแต่รัฐบาลประกาศเลิกควบคุมราคา คอทเทจชีสยี่ห้อนี้ก็แพงขึ้นกว่าเดิมถึงร้อยละ 25  เริ่มจากมีผู้บริโภคคนหนึ่งโพสต์กระทู้ลงในเฟสบุ๊ค ชักชวนเพื่อร่วมเครือข่ายให้หยุดซื้อเนยคอทเทจจาก Tnuva ซึ่งเป็นผู้ผลิตเจ้าใหญ่ที่สุดในอิสราเอล ปรากฏว่าเพียงไม่กี่วันมีคนมาร่วมแจมเป็นแสนคน และจำนวนก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะคอทเทจชีสนั้นถือเป็นอาหารสามัญประจำโต๊ะกับข้าวของคนที่นั่น  ผลก็คือในที่สุด Tnuva ซึ่งเจ้าของตัวจริงได้แก่ Apax Investment Fund ของอังกฤษ ถึงแม้จะไม่ยอมลดราคากลับมาเท่าเดิม แต่ก็ต้องยอมเพิ่มปริมาณเนยเข้าไปอีกร้อยละ 10  นี่คือผลของการรวมตัวกัน “ไม่ซื้อ” ของผู้บริโภคกว่า 450,000 คน(ซึ่งนับว่าไม่น้อยเลยสำหรับประเทศที่มีประชากรทั้งหมด 7 ล้านคน) คนกลุ่มนี้มีการศึกษา มีงานทำ และทำงานด้วยความทุ่มเท แต่กลับมีรายได้แทบไม่พอกับการใช้จ่ายพื้นฐานในครัวเรือน พวกเขาจึงรู้สึกว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรสักอย่างแล้ว  สถิติบอกว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เงินเดือนของคนอิสราเอลนั้นเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.6 ในขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคนั้นเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25  และพลังผู้บริโภคยังไม่หยุดแค่นั้น การบอยคอตที่ว่ายังขยายไปยังสินค้าจำเป็นอื่นๆ อีกด้วย สมาชิกเครือข่ายนี้จะร่วมกันเสนอชื่อสินค้าที่พวกเขาเห็นว่าตั้งราคาอย่างไม่เป็นธรรม และทุกคนก็จะร่วมมือกันไม่ซื้อสินค้าดังกล่าว  ยอดเยี่ยมจริงๆ ฉลาดซื้อ ขอกด Like ด้วยคน   เอาชีวิตรอดบนถนนในเมืองหลวงการขับรถบนถนนในเมือง มอสโก (เมืองหลวงเก่า) ของรัสเซีย คงจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เพราะเขาถึงกับต้องมีการเปิดสอนคอร์ส “การเอาตัวรอดบนถนนมอสโก” กันเลยทีเดียว   สภาพถนนส่วนใหญ่ในรัสเซียนั้นเขาว่ากันว่าแย่มากๆ แถมยังไม่ค่อยมีป้ายสัญญาณ และแทบจะไม่มีการวางแผนจราจรด้วย หนำซ้ำอุบัติเหตุส่วนใหญ่ยังเกิดจากการฝ่าฝืนกฎจราจรโดยผู้ใช้รถใช้ถนนนี่แหละ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียบอกว่า ปัญหาหลักอยู่ที่คนส่วนใหญ่เชื่อว่าตนเองสามารถทำผิดกฎหมายโดยไม่มีใครทำอะไรได้  เลยต้องเกิดสภาพตัวใครตัวมันขึ้นมาอย่างที่เป็นอยู่ สิบปีก่อน เซอเก้ โมเซเยฟ เป็นเซลส์แมนที่ต้องพบกับประสบการณ์ขนหัวลุกทั้งวันที่เขาต้องขับรถไปหาลูกค้า เขาเลยไปลงเรียนคอร์สดังกล่าว เซอเก้บอกว่าเป็นการตัดสินใจที่นอกจากจะช่วยชีวิตเขาไว้ได้แล้ว ยังช่วยประหยัดเงินและเวลาที่จะต้องไปทำเรื่องที่สถานีตำรวจอย่างน้อย 3 วัน และค่าเบี้ยประกันที่ต้องจ่ายเพิ่มอีกร้อยละ 10 กรณีที่เขาเป็นฝ่ายผิดอีกด้วย  พูดง่ายๆ ว่า แม้แต่การเฉี่ยวชนเล็กๆ น้อยๆ ก็ทำให้ต้องเสียโอกาสทำเงินไปไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท  แล้วเซอเก้ก็ตัดสินใจเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส ด้วยการสมัครเป็นครูที่สถาบันแห่งนั้นเสียเลย    เพราะธุรกิจนี้ดูท่าจะรุ่งเพราะบรรดาบริษัทต่างๆ นิยมส่งพนักงานมาเรียนเพื่อให้สามารถตัดสินใจได้ถูกต้องทันท่วงที ในสถานการณ์คับขันบนท้องถนน แม้แต่พวกที่ซื้อใบขับขี่ในตลาดมืด ก็ยังต้องมาลงเรียนคอร์สนี้  พฤติกรรมแย่ๆ ในการขับรถระบาดมาถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจด้วย ข่าวบอกว่าพักหลังนี่เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันโดยมีรถตำรวจเข้าไปเป็นคู่ความบ่อยครั้ง จนกระทรวงมหาดไทยของรัสเซียต้องประกาศให้นายตำรวจทุกคนที่ใช้รถลาดตระเวน มาสอบขับรถกันใหม่ ภายใน 1 เดือนนับจากวันออกประกาศ  รัสเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีสถิติการตายบนท้องถนนมากที่สุดในโลก ปีที่แล้วมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุดังกล่าวถึง 26,000 คน ซึ่งถือว่าดีขึ้นมากจากเมื่อ 6 ปีก่อนที่ตัวเลขสูงกว่านี้เกือบร้อยละ 4  ข่าวบอกว่ามาตรการปราบปรามพวก “เมาไม่ขับ” ของที่นั่นก็ประสบความสำเร็จดีเกินคาด แต่หนังสือพิมพ์เซนต์ปีเตอร์สเบิร์กซึ่งอ้างแหล่งข่าวไม่เปิดเผยชื่อระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะมาตรการเข้มงวดที่ว่านั้นทำให้ “สินบน” ที่ต้องจ่ายให้ตำรวจนั้นถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 300,000 บาททีเดียว  จริงเท็จอย่างไร เราพิสูจน์ไม่ได้ เพราะเขาไม่มีใบเสร็จรับรอง 

อ่านเพิ่มเติม >