ฉบับที่ 140 วิธียื่นฎีกาต่อศาลฎีกาในคดีผู้บริโภค

ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551 ได้เปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาสำหรับคดีผู้บริโภคโดยให้ศาลฎีกามีอำนาจกลั่นกรองเฉพาะคดีผู้บริโภคที่มีความสำคัญหรือเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะขึ้นสู่ศาลฎีกาเท่านั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงระบบการฎีกาจากเดิมในคดีแพ่งสามัญ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.)มาตรา 248 ที่ใช้ “ ระบบสิทธิ” ซึ่งถือหลักว่า การฎีกาเป็นสิทธิของคู่ความ การห้ามฎีกาเป็นข้อยกเว้นมาเป็น “ ระบบอนุญาต “ ซึ่งถือว่า การฎีกาเป็นสิ่งที่กฎหมายห้าม คู่ความจะสามารถฎีกาได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา เหตุผลก็เนื่องจากระบบการฎีกาแบบเดิมคู่ความที่แพ้คดีมักใช้สิทธิฎีกาเป็นช่องทางในการประวิงคดี ทั้งๆ ที่คดีนั้นไม่เป็นสาระอันควรขึ้นสู่ศาลฎีกา ทำให้การพิจารณาพิพากษาของศาลฎีกาเกิดความล่าช้าโดยไม่จำเป็นและก่อให้เกิดความเดือดร้อนเสียหายแก่คู่ความที่สุจริต ดังนั้น มาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ จึงได้กำหนดให้คู่ความที่ประสงค์จะยื่นฎีกาต้องขออนุญาตจากศาลฎีกาก่อนคดีนั้นจึงจะขึ้นสู่ศาลฎีกาได้ ส่วนวิธีการยื่นฎีกาต่อศาลฎีกานั้นจะต้องทำอย่างไรนั้นก็ศึกษาได้จากกรณีศึกษาดังนี้   คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5344/2554 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 4 ว่าด้วยฎีกา และข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการดำเนินกระบวนพิจารณาและปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานคดีในคดีผู้บริโภคฯ ได้บัญญัติไว้ในหมวด 8 ว่าด้วยฎีกา ไว้เป็นการเฉพาะ ดังนั้น ในการยื่นฎีกาคดีผู้บริโภคจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับบทบัญญัติเหล่านั้น บทบัญญัติใน มาตรา 248 แห่ง ป.วิ.พ. จึงไม่อาจนำมาใช้บังคับในคดีผู้บริโภคได้ และตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ได้บัญญัติให้คดีที่ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้วคู่ความอาจยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาเพื่อขออนุญาตฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงในคดีที่มีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินสองแสนบาทหรือในปัญหาข้อกฎหมายภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภค โดยในวรรคสองได้บัญญัติไว้อีกว่า การยื่นคำร้องตามวรรคหนึ่ง ให้คู่ความยื่นฎีกาไปพร้อมกับคำร้องนั้นด้วย โดยยื่นต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นแล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกาเพื่อพิจารณาโดยเร็ว กับมาตรา 52 บัญญัติว่า ศาลฎีกาอาจอนุญาตให้ฎีกาตาม มาตรา 51 ได้ เมื่อเห็นว่าปัญหาตามฎีกานั้นเป็นปัญหาซึ่งเกี่ยวพันกับประโยชน์สาธารณะ หรือเป็นปัญหาสำคัญอื่นที่ศาลฎีกาควรวินิจฉัย จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายความว่า เมื่อศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคและศาลอุทธรณ์ภาคแผนกคดีผู้บริโภคมีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว คู่ความจะยื่นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ คดีนั้นต้องมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทหากทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินกว่าสองแสนบาท คู่ความก็ไม่อาจฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้เลย ส่วนฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายนั้น ไม่ว่าคดีนั้นจะมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเพียงใดก็ตาม คู่ความสามารถยื่นฎีกาได้เสมอ ไม่มีข้อจำกัดห้ามฎีกาแต่อย่างใด แต่ทั้งนี้คดีที่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่สามารถยื่นฎีกาได้ คู่ความที่ฎีกาต้องยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกาด้วย ศาลชั้นต้นจะด่วนมีคำสั่งรับฎีกาของคู่ความโดยที่คู่ความมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าวเสียก่อนให้ครบถ้วนหาได้ไม่ คดีนี้แม้โจทก์จะฎีกาอ้างว่าเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงและในปัญหาข้อกฎหมายโดยทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาทก็ตาม แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาดังกล่าวโดยที่โจทก์มิได้ยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลฎีกาพิจารณาอนุญาตให้ฎีกาพร้อมกับฎีกา จึงเป็นกรณีที่โจทก์ฎีกาโดยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของโจทก์จึงเป็นการรับฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย หมายเหตุ ต่อมามีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5359/2554 วินิจฉัยในทำนองเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >