ฉบับที่ 244 วันทอง : (ไม่)อยากเก็บเธอไว้ทั้งสองคน

                คุณผู้อ่านเคยเป็นหรือไม่ เมื่อเราหยิบงานวรรณกรรมที่เคยอ่านเอามา “อ่านใหม่” อีกครั้ง การตีความและทำความเข้าใจเนื้อหาสารเหล่านั้น บ่อยครั้งก็จะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม         ทุกครั้งที่เราอ่านเนื้อหาสารใดอีกคราหนึ่ง หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “re-reading” การรับรู้ความหมายมักจะไม่เหมือนเดิม ไม่ใช่แค่เพราะประสบการณ์ชีวิตของผู้อ่านที่เติบโตขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นเพราะจิตสำนึกของคนเราที่แปรเปลี่ยนไป จึงทำให้การมองโลกและรับรู้เรื่องเดิมผิดแผกแตกต่างออกไปด้วยเช่นกัน         หนึ่งในตัวอย่างของ “เรื่องเก่าที่เอามาอ่านตีความใหม่” เช่นนี้ ก็คือการปรับแปลงนิทานพื้นบ้านอย่าง “ขุนช้างขุนแผน” มาเป็นละครโทรทัศน์เรื่อง “วันทอง” ที่แค่ชื่อเรื่องก็บอกเป็นนัยๆ ว่า ตัวเอกอย่าง “ขุนช้าง” หรือ “ขุนแผน” ได้เวลาถอยไป เพราะถึงคราวตัวแม่อย่าง “วันทอง” จะ “องค์ลง” มาขอสิทธิ์เสียงเป็นตัวละครเดินเรื่องหลักกันบ้างแล้ว         สมัยเด็กๆ จำได้ว่า ตอนเรียนหนังสือ เคยต้องท่องจำบท “เสภาขุนช้างขุนแผน” ฉากเปิดตัว “พลายแก้ว” หรือต่อมาก็คือขุนแผนแสนสะท้านพระเอกของเรื่อง บทอาขยานท่อนนั้นท่องว่า “จะกล่าวถึงพลายแก้วแววไว เมื่อบิดาบรรลัยแม่พาหนี ไปอาศัยอยู่ในกาญจน์บุรี กับนางทองประศรีผู้มารดา…” อันเป็นจุดเริ่มต้นของอภิตำนานชีวิตพระเอกหนุ่มเนื้อหอม รูปงาม มีความรู้ความสามารถและสรรพคาถาวิชา         ครั้นพอดัดแปลงตีความใหม่เป็นละครโทรทัศน์ออกมานั้น ไหนๆ ผู้ผลิตก็ผูกเล่ามหากาพย์ชีวิตของนางวันทองให้เป็นตัวเอกของเรื่องราวขึ้นมาบ้าง ละครก็ได้ให้น้ำหนักกับการปูที่มาที่ไปของนาง “พิมพิลาไลย” ผู้เป็นต้นธารแห่งมายาภาพ “นางวันทองหญิงสองใจ” โดยมิพักต้องเล่าสาธยายรายละเอียดภูมิหลังชีวิตของพลายแก้วแววไวแบบที่เราคุ้นเคยกันมาอีกเลย         หากดำเนินความตามท้องเรื่องแบบ “ขุนช้างขุนแผน” ฉบับเดิม เส้นเรื่องหลักจะเดินไปตามพัฒนาการชีวิตของขุนแผนจากวัยเยาว์ ไปจนท้ายเรื่องที่ “สมเด็จพระพันวษา” ได้ปูนบำเหน็จเลื่อนบรรดาศักดิ์ให้เป็นเจ้าเมืองกาญจนบุรี โดยมีเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่คู่ขนานไปกับ “ศึกรบ” ก็คือ “ศึกรัก” ระหว่างขุนแผนชายหนุ่มรูปงาม กับขุนช้างชายรูปชั่วหัวล้าน จนเกิดเป็นตำนาน “วันทองหญิงสองใจ”         แต่ในละครโทรทัศน์นั้น ผู้ผลิตได้ปรับโฟกัสการรับรู้จากทัศนะคนทั่วไปที่มักตีตราวันทองว่า เป็น “หญิงสองใจ” จนนำไปสู่คำพิพากษาของสมเด็จพระพันวษาให้ประหารชีวิต เพียงเพราะนางไม่สามารถ “เลือก” ชายคนใดได้ระหว่างขุนแผนหรือขุนช้าง มาสู่มุมมองใหม่จากความในใจและสายตาของตัวนางวันทองเอง         และเพื่อรื้อถอนภาพจำแห่งเรื่องราว “ขุนช้างขุนแผน” ที่มีมาก่อน ละครจึงเลือกตัดภาพมาขึ้นต้นด้วยฉากชะตากรรมท้ายเรื่องที่วันทองกำลังจะขึ้นศาลฟังการไต่สวนพิพากษา         ฉากเปิดเรื่องที่ฉายภาพบรรดาตัวละครแม่ค้าประชาชีมารุมด่าประณามสาปแช่งด้วยถ้อยคำหยาบคายว่า “อีหญิงสองใจ” บ้าง “อีตัวต้นเหตุ” บ้าง หรือแม้แต่ “อีหญิงสองผัวชั่วชาติ เป็นเสนียดแก่แผ่นดิน” โดยที่วันทองก็ได้แค่กล่าวโต้กลับแต่เพียงว่า “เอ็งยังไม่รู้จักข้า แล้วเอ็งมาด่าข้าได้ยังไง” ช่างเป็นประโยคที่เสียดแทงอยู่ในทีว่า มติสาธารณะที่ทั้งแม่ค้ารวมถึงคนดูแบบเราๆ เคยรับรู้และตัดสินคนอื่นด้วยบรรทัดฐานบางชุดเยี่ยงนี้ เป็นความถูกต้องชอบธรรมแท้จริงหรือไม่         จากนั้น คู่ขนานไปกับการไต่สวนความนางเอกของเรื่องนี้ ละครก็ค่อยๆ แฟลชแบ็คภาพกลับไปให้เราได้เห็นชะตากรรมที่วันทองต้องเผชิญมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ที่เธอเลือกแต่งงานอยู่กินกับขุนแผน ฮันนีมูนพีเรียดอันแสนสั้นก็ผ่านไปอย่างรวดเร็ว พลันที่ขุนแผนชนะศึกที่เชียงทองและพานาง “ลาวทอง” เข้ามาร่วมหอในชายคาเดียวกัน         ในขณะที่เจตนารมณ์ของบุรุษเพศทั่วไปนั้น “ผู้ชายที่ไม่เจ้าชู้ ก็เปรียบเสมือนกับงูที่ไม่มีพิษ” แต่สำหรับผู้หญิงอย่างวันทองแล้ว “เสียทองเท่าหัว ก็ไม่ปรารถนาจะเสียผัวให้แก่ใคร” เมื่อชายคนรักเลือกที่จะมีเมียมากกว่าหนึ่ง วันทองถึงกับประชดประชันขุนแผนว่า “ข้าไม่อยากเป็นเมียเอก แต่ข้าอยากเป็นเมียเดียวของพี่”         และในอีกทางหนึ่ง วันทองเองก็ยังถูกลากเข้าสู่ใจกลางสมรภูมิหัวใจระหว่างตัวละครชายสองคน เมื่อขุนแผนต้องไปออกศึกรับใช้บ้านเมือง ขุนช้างก็ใช้เล่ห์เพทุบายช่วงชิงตัวนางมาเป็นเมีย โดยสร้างเฟคนิวส์ว่าขุนแผนได้เสียชีวิตแล้วในสงคราม ทำให้ต่อมาในภายหลังนางเองก็ถูกขุนแผนชายคนรักปรามาสดูถูกว่า “ตำแยที่ว่าคัน ก็ยังไม่เท่าเจ้าเลย”         ทั้งถูกประณามหยามหมิ่น และถูกชักเย่อไปมาระหว่างขุนแผนกับขุนช้าง ชายหนึ่งคือ “คนที่นางรัก” กับอีกชายหนึ่งคือ “คนที่รักและดีกับนาง” ในที่สุดเรื่องก็เดินไปถึงจุดสุดขั้นเมื่อวันทองถูกนำตัวเข้าเฝ้าสมเด็จพระพันวษา เพื่อยุติปัญหารักสามเส้าแบบ “หนึ่งหญิงสองชาย” เหมือนกับที่เราเคยได้อ่านมาในวรรณกรรม         แบบที่ผู้ชมก็ทราบกันดีว่า หากวันทองตัดสินใจ “เลือก” ลงเอยกับชายคนใดสักคน นางก็จะรอดจากการถูกตัดสินประหารชีวิต แต่เมื่อนางได้ใคร่ครวญแล้วว่า “ขาดเธอก็คงไม่เหงา ขาดเขาก็คงไม่เสียใจ” การตัดสินใจต้อง “เลือก” ใครสักคนก็ยังคงสืบต่อคำถามแบบที่นางได้ทูลสมเด็จพระพันวษาว่า “แล้วเราจะไม่ต้องเจ็บเพราะผู้ชายอีกต่อไปใช่ไหมเพคะ”         ดังนั้น พอถูกตีความว่าโลเลตัดสินใจไม่ได้ วันทองก็ถูกตีตราลงโทษว่าเป็น “หญิงสองใจ” ที่ “ไม่สามารถเลือก” ชายใดได้สักคน จนนำไปสู่คำพิพากษาประหารชีวิตพร้อมกับตราประทับดังกล่าวของสังคม         อย่างไรก็ตาม หากพินิจพิจารณากันดีๆ แล้ว ขณะที่สังคมกำหนดให้ “เลือก” ระหว่างชายสองคน แต่วันทองเองก็ได้ “เลือก” เหมือนกัน เพียงแต่บนคำตอบที่เธอขอ “เลือก” กำหนดเองว่า จะไม่ขอกากบาทตัวเลือกข้อใดที่สังคมหยิบยื่นให้มา เพราะนั่นเป็นวิธีเดียวที่จะยุติปัญหาทั้งปวงได้ แบบที่นางได้กล่าวก่อนถูกประหารว่า “ข้ายืนยันในสิ่งที่ตัวเองเลือก ไม่ใช่ให้ใครมาเลือกให้เรา”         และเพราะไหนๆ ละครโทรทัศน์ก็เป็นการอ่านใหม่ในเรื่องเล่าที่มีมาแต่เดิม ผู้ผลิตจึงดัดแปลงฉากจบให้วันทองยังคงมีลมหายใจต่อไป ก็คงเพื่อยืนยันว่า ชีวิตของหญิงที่ขอ “เลือก” ในสิ่งที่ตนปรารถนา และ “ไม่อยากจะเก็บเธอไว้ทั้งสองคน” ก็ไม่จำเป็นต้องแลกมาด้วยความตายที่สังคมกระทำต่อเธอแบบอยุติธรรม         บทสรุปของการอ่านเพื่อตีความใหม่เฉกเช่นนี้ ก็คงต้องการสนับสนุนคำพูดของวันทองที่กล่าวในท้ายเรื่องว่า “สิ่งที่อยากให้ผู้คนจดจำก็คือ วันทองไม่ใช่หญิงสองใจ” และที่สำคัญ “ศักดิ์ศรีไม่ใช่ให้ผู้หญิงขึ้นมาเป็นใหญ่เหนือชาย แต่ข้าแค่ต้องการให้คนเห็นคุณค่าของผู้หญิงบ้าง…”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 เพชรกลางไฟ : ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่สายเลือด

อันว่าละครโทรทัศน์แนวพีเรียดหรือแนวย้อนยุคนั้น ถือเป็นเนื้อหาละครที่จำลองภาพชีวิตของตัวละครที่เวียนว่ายอยู่ในอดีต หรือช่วงพีเรียดหนึ่งๆ ที่บรรพชนของเราเคยดำเนินชีวิตมาก่อน การจำลองภาพอดีตฉายผ่านละครแนวนี้ ด้านหนึ่งก็คือการย้อนกลับไปดูภาพฝันวันวานที่คนในทุกวันนี้ได้ผ่านพ้นและอาจลืมเลือนไปเสียแล้ว แต่ในอีกด้านหนึ่ง ละครย้อนยุคก็เป็นประหนึ่งบทเรียนให้คนยุคปัจจุบันได้ทบทวนตนเอง โดยมองผ่านกระจกภาพชีวิตของตัวละครที่ถูกวาดขึ้นในยุคสมัยก่อนที่ผู้ชมจะถือกำเนิดขึ้นมาเสียอีก ในท่ามกลางสังคมปัจจุบันที่ผู้คนมีแนวโน้มจะสนใจสิ่งที่เรียกว่า “เปลือก” มากกว่า “แก่น” หรือชื่นชมกับ “ความผิวเผิน” มากกว่า “ความลุ่มลึก” ละครพีเรียดอย่าง “เพชรกลางไฟ” ก็คืออีกหนึ่งภาพที่ฉายออกมา เพื่อเชื้อเชิญให้ผู้ชมได้ทบทวนความเป็นจริงแห่งยุคสมัยดังกล่าว ละครได้ย้อนยุคกลับไปในราวสมัยรัชกาลที่ 6 ที่แม้ว่าฉากหลังของละครจะเป็นเรื่องราวความขัดแย้งทางการเมืองของสังคมไทยสมัยนั้น แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว เบื้องลึกเบื้องหลังกว่านั้นก็คือฉากความขัดแย้งทางการเมืองที่อยู่ในครอบครัวของชนชั้นนำในยุคดังกล่าว โดยละครได้เลือกนำเสนอภาพผ่านชีวิตตัวละครหลักอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงอุรวศี” หรือ “หญิงหลง” ผู้เป็นบุตรีลำดับสุดท้ายของ “เสด็จในกรมฯ” เมื่อพระบิดาสิ้นพระชนม์ อุรวศีก็ถูก “หม่อมต่วน” ผู้เป็นหม่อมใหญ่กีดกันไม่ให้เธอเข้าไปยุ่งเกี่ยวที่ตำหนักใหญ่ เพราะหม่อมต่วนเกลียดชัง “หม่อมสลวย” มารดาเลือดสามัญชนของอุรวศี ที่มาพรากความรักของเสด็จในกรมฯไปจากเธอ ไม่เพียงเท่านั้น เพราะหม่อมสลวยได้ล่วงรู้ความลับของหม่อมต่วนที่เคยวางแผนฆ่า “หม่อมพิณ” หญิงที่เป็นคนรักอีกคนของเสด็จในกรมฯ จนตายอย่างเหี้ยมโหดทารุณ เธอจึงหาทางฝากฝังอุรวศีไว้กับ “เสด็จพระองค์หญิง” ผู้เป็นเสด็จป้า ในขณะที่หม่อมสลวยเองก็ผูกข้อมือเป็นภรรยาของ “บุญทัน” ไปอยู่ที่ปากน้ำโพ เพื่อหลีกหนีไปจากวังวนอำนาจของหม่อมต่วนเสีย ชะตาชีวิตของอุรวศีที่ขาดซึ่งบิดาและมารดาในเวลาไล่เลี่ยกัน เธอจึงต้องโดดเดี่ยวยืนหยัดต่อสู้กับคลื่นลมและพายุฝนที่ซัดพาเข้ามาหาแบบระลอกแล้วระลอกเล่า เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะอยู่ท่ามกลางความโหดร้ายของโลกรอบตัว แต่ทว่า “เพชรแท้” อย่างอุรวศี ก็ยังคงเป็น “เพชรกลางไฟ” อยู่วันยังค่ำ คลื่นลมระลอกแรกก็คงหนีไม่พ้นมหันตภัยจากตัวหม่อมต่วน ที่แม้จะมั่งคั่งในทรัพย์ศฤงคาร และเติบโตมาในศักดิ์ชั้นที่สูงกว่าหม่อมใดๆ ของเสด็จในกรมฯ แต่เพราะโลภจริตและโมหจริตช่างไม่เข้าใครออกใคร ดังนั้นหม่อมต่วนจึงคอยจองล้างจองผลาญกลั่นแกล้งอุรวศีในทุกทาง แผนการของหม่อมต่วนเริ่มตั้งแต่กีดกันอุรวศีออกจากกองมรดกของเสด็จในกรมฯ และอัปเปหิเธอไปอยู่ที่เรือนปั้นหยาหลังเล็กนอกเขตขัณฑ์ของวังใหญ่ จากนั้นก็ช่วงชิง “หม่อมเจ้าสุรคม” ที่กำลังจะหมั้นกับอุรวศีให้มาเสกสมรสกับ “หม่อมเจ้าหญิงอรุณวาสี” บุตรีคนเล็กของเธอแทน ไปจนถึงการวางแผนให้บ่าวเผาเรือนปั้นหยาจนวอด เพื่อหวังคลอกอุรวศีให้สิ้นชีวิตอยู่ในกองเพลิงนั้น ส่วนคลื่นลมระลอกถัดมาก็คือบรรดาพี่สาวต่างมารดาอย่าง “หม่อมเจ้าหญิงติโลตตมา” หรือ “หญิงกลาง” และ “หม่อมเจ้าหญิงอทริกา” หรือ “หญิงนิด” ที่ “ลูกไม้หล่นใต้ต้น” ของหม่อมต่วน และเฝ้าคอยใส่ความกลั่นแกล้งหาเรื่องอุรวศี เพื่อให้เธอไม่อาจทนอยู่ในวังของเสด็จพระองค์หญิงต่อไปได้ และคลื่นลมระลอกสุดท้าย ก็สืบเนื่องมาแต่ความรักและจิตปฏิพัทธ์ที่อุรวศีมีให้กับ “อนล” พระเอกหนุ่มแสนดีแต่ชาติกำเนิดอยู่ต่างศักดิ์ชั้น และมีผู้หญิงอีกคนอย่าง “ดวงแข” ที่หมายปองครองคู่เขาอยู่ อุรวศีจึงต้องเลือกสงวนท่าทีและเก็บงำความในใจ เพียงเพราะฐานันดรศักดิ์ที่ค้ำคอและเป็นกำแพงขวางกั้นรักของเธอและเขาเอาไว้ แม้จะมีคลื่นลมกระหน่ำซ้ำเข้ามาเพียงใด และแม้อุรวศีจะไม่ได้มีอำนาจหรือทุนทรัพย์โภคทรัพย์มากมายที่จะไปต่อกรกับพลพรรคของหม่อมต่วน หญิงกลาง หญิงนิด หรือแม้กับดวงแข แต่ด้วยที่เธอมีปัญญา มีคารม และมีการกระทำที่ยึดหลักคุณธรรมความดี ก็เป็นประหนึ่งอาวุธให้อุรวศีได้ใช้ต่อสู้เพื่อยืนหยัดอยู่ท่ามกลางพายุวิกฤติที่ถาโถมเข้ามา เพราะพระบิดาปลูกฝังให้รักการอ่านหนังสือตั้งแต่วัยเยาว์ อุรวศีจึงมีปัญญาที่เฉียบคมและวาจาที่เฉียบแหลม จนสามารถเอาตัวรอดเมื่อต้องเผชิญหน้ากับปัญหาได้ทุกครั้งครา และเพราะการกระทำที่ตั้งมั่นในความดี อุรวศีก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่า คุณค่าแท้ๆ ของ “เพชร” ที่จะเจิดจรัสอยู่ “กลางไฟ” ได้นั้น พึงเป็นเช่นไร เหมือนกับที่ครั้งหนึ่งอุรวศีได้ใช้คารมย้อนยอกและเชือดเฉือนหม่อมต่วนกับลูกๆ ว่า “ศักดิ์ศรีของคนอยู่ที่การกระทำ...ไม่ใช่อยู่ที่สายเลือดแต่อย่างใด” เพราะฉะนั้น ไม่ว่าจะมีศักดิ์ชั้นแบบใด มนุษย์เราก็มีทั้งดีและเลวปะปนกันไป ในหมู่บ่าวไพร่ที่มีศักดิ์ชั้นต้อยต่ำ ก็จะมีตัวละครตั้งแต่ “สร้อย” และ “ผิน” ที่ยึดถือคุณธรรมความดีของอุรวศีจนตัวตาย ไปจนถึงตัวละครอีกฝั่งฟากอย่าง “แปลก” ที่จงรักภักดีอยู่ในมิจฉาทิฐิของหม่อมต่วนแบบไม่ลืมหูลืมตา เฉกเช่นเดียวกับในกลุ่มของสตรีที่สูงซึ่งศักดิ์ชั้นอย่างธิดาของเสด็จในกรมฯ ก็มีตั้งแต่ภาพของอุรวศีที่ฉากจบได้เลือกจะมีความสุขในมุมเล็กๆ กับอนล แบบไม่ต้องยึดติดกับลาภยศเงินทองแต่อย่างใด กับภาพที่ตรงข้ามกันของหญิงกลางและหญิงนิดที่เมื่อสิ้นหม่อมต่วน พี่น้องก็ห้ำหั่นกันจนตกอยู่ในวังวนของการแก่งแย่งทรัพย์สมบัติที่บุพการีได้สั่งสมกันมา หากละครย้อนยุคเป็นดั่งกระจกที่ย้อนฉายให้คนปัจจุบันได้ทบทวนอุทาหรณ์จากชีวิตตัวละครในอดีตแล้วนั้น อย่างน้อยเราคงเข้าใจได้ไม่ยากว่า การที่คนยุคนี้จะนับถือกันเพียงเพราะ “เปลือกอันผิวเผิน” อาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องเท่าใดนัก เมื่อเทียบกับ “แก่นอันลุ่มลึก” ที่แฝงฝังอยู่เนื้อในคนแต่ละคนมากกว่า  เพราะบทเรียนของผู้หญิงตัวเล็กๆ อย่างอุรวศีได้ให้ข้อเตือนใจว่า การกระทำของคนต่างหากที่จะบ่งบอกว่า “เพชรกลางไฟ” เยี่ยงไรก็ยังสามารถฉายแสงได้ไม่เสื่อมคลาย

อ่านเพิ่มเติม >