ฉบับที่ 273 สถานการณ์ผู้บริโภคประจำปี 2566

        มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยสถานการณ์ผู้บริโภคปี 2566 ได้รับเรื่องร้องเรียนและให้คำปรึกษาตั้งแต่เดือน มกราคม-พฤศจิกายน 2566 ดำเนินการสำเร็จ 1,277 เรื่อง จากเคสร้องเรียนทั้งหมด 1,614 เรื่อง โดยแบ่งปัญหาของผู้บริโภค 9 เรื่องเด่นใน 4 หมวด ได้แก่ สินค้าและบริการทั่วไป, บริการขนส่งและยานพาหนะ, อสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย, การเงินการธนาคารและประกัน เรื่องที่ได้รับร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ หมวดสินค้าและบริการทั่วไป มีมากถึง 630 เรื่อง หรือคิดเป็นร้อยละ 39 จากทุกข์ของผู้บริโภคทั้งหมดที่ร้องเรียนเข้ามา     9 เรื่องเด่น ประจำปี 2566    เรื่องที่ 1        ·     หมวดบริการขนส่งและยานพาหนะ        M-Flow ตามที่มีนโยบายของกระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรติดขัดบนทางด่วนและมอเตอร์เวย์ โดยการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาระบบจัดเก็บค่าผ่านทางด้วยกล้องตรวจบันทึกภาพป้ายทะเบียนรถ ผ่านระบบจัดเก็บค่าผ่านทางอัตโนมัติแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) บนเส้นทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 ของกรมทางหลวง  ได้แก่ ด่านทับช้าง 1 ด่านทับช้าง 2 ด่านธัญบุรี 1 ด่านธัญบุรี 2 นั้น          มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ใช้บริการ และประสบปัญหาเรื่องการถูกเรียกเก็บค่าปรับทางด่วน  โดยมีเรื่องร้องเรียนดังนี้         1. อัตราค่าปรับแพง ระบบ M-Flow กำหนดให้ผู้ใช้บริการชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันใช้บริการ หากไม่ชำระภายในระยะเวลาดังกล่าวจะถูกปรับ 10 เท่าของค่าธรรมเนียม โดยให้ผู้ใช้บริการดำเนินการชำระเงิน หากไม่เห็นด้วยให้เข้ามาชี้แจงต่อกรมทางหลวงภายในระยะเวลาที่กำหนด (ให้ระยะเวลาเข้าไปชี้แจงประมาณ 8 วัน) หากไม่ดำเนินการชี้แจงจะถูกปรับจากการไม่มาชี้แจงตามกำหนดเวลา (200 บาทต่อกรณี) ซึ่งผู้ร้องเห็นว่าอัตราค่าปรับไม่เหมาะสมไม่เป็นธรรมแก่ผู้ใช้บริการ เนื่องจากผู้ใช้บริการไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง         2. ไม่ทราบว่าเส้นทางดังกล่าวเป็นเส้นทางที่ใช้ระบบ M-Flow ผู้ใช้บริการบางคนเดินทางมาจากต่างจังหวัด ทำให้ไม่ทราบว่า หากใช้เส้นทางของระบบ M-Flow แล้วต้องชำระค่าบริการหรือไม่ หรือต้องชำระค่าบริการอย่างไร หรือบางรายอาจถูกรถเบียดเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้ จนหลุดเข้าไปใช้เส้นทางดังกล่าวโดยไม่ตั้งใจ แล้วไม่ทราบว่าต้องดำเนินการชำระเงินอย่างไร ซึ่งกว่าจะได้รับหนังสือแจ้งเตือน ก็เลยกำหนดระยะเวลาที่ต้องชำระไปแล้ว         3.ป้ายแสดงไม่ชัดเจน จำนวนป้ายแสดงน้อย และมีขนาดเล็ก หากไม่สังเกต หรือไม่คุ้นเส้นทางก็จะไม่ทราบว่าเส้นทางข้างหน้าเป็นเส้นทาง M-Flow         4.ไม่รู้ยอดอัตราค่าบริการ และช่องทางการชำระ ไม่มีการประชาสัมพันธ์ช่องทางการชำระเงินให้ผู้ใช้บริการรับทราบ ซึ่งผู้ใช้บริการบางรายไม่ทราบด้วยว่าได้ใช้งานผ่านเส้นทาง M-Flow แล้ว         5.หนังสือแจ้งให้ชำระค่าบริการมาถึงช้า ทำให้เกินกำหนดชำระต้องเสียค่าปรับ ผู้ใช้บริการบางรายแจ้งว่า หนังสือแจ้งให้ชำระค่าธรรมเนียมผ่านทาง ส่งมาถึงก่อนวันถึงกำหนดเพียง 1 วัน โดยไม่ได้ระบุช่องทางการชำระเงินมาในหนังสือ แต่ระบุเพียงว่า “ท่านสามารถชำระผ่านเว็บไซต์ระบบ M-Flow  (www.mflowthai.com)” หรือบางรายได้รับหนังสือหลังจากเกินกำหนดชำระแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าปรับจำนวน 10 เท่า         6.ระบบโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ ระบบ M-Flow ได้จัดให้มีการส่งเหตุผลการโต้แย้งค่าผ่านทางได้ ผ่านเว็บไซต์ https://mflowthai.com/mflow/dispute และเหตุผลในการโต้แย้งค่าผ่านทาง ไม่ครอบคลุมปัญหาที่ผู้ใช้บริการได้รับจริง โดยในเว็บไซต์จะมีเหตุผลการโต้แย้งให้เลือกได้ดังนี้         (1) มีหนังสือยกเว้นภายหลังผ่านทาง         (2) ชำระเงินแล้วมีหนังสือแจ้งเตือน/ขอคืนเงิน/ขอคืนแต้ม         (3) ไม่ได้ผ่านทาง         (4) ข้อมูลซื้อขายรถไม่ตรงกับกรมขนส่งทางบก         (5) ซื้อขายรถแบบโอนลอย         (6) รถสวมทะเบียน         (7) รถหาย/รถโดนขโมย         (8) การผ่านทางซ้ำ (การสร้างรายการผ่านทางซ้ำ)         (9) ขนาดรถไม่ถูกต้อง         (10) เคลื่อนย้ายรถส่งซ่อมการดำเนินการ         1. ทำหนังสือขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหาย (มพบที่.119/2565)                                                                      2.ทำหนังสือ/ข้อเสนอ ขอให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาการใช้งานระบบ M-FLOW (มพบที่ 272/2566)    เรื่องที่ 2        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        งานวิ่ง Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 ถูกยกเลิก แต่บริษัท ทีละก้าว จำกัด ไม่คืนเงินซึ่งจะจัดในวันที่ 21-22 ม.ค. 66 จัดที่โรงเรียนสลักเพชร เกาะช้างใต้ จ.ตราด โดยสมัครทางช่องทาง Google Form 2023 ผู้เสียหายได้ชำระค่าสมัครเรียบร้อย ต่อมาวันที่ 20 ม.ค.2566 เพจ Ultra-Tail Unseen Koh Chang ประกาศแจ้งยกเลิกงานดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้ร้องจึงประสงค์ให้บริษัทคืนเงินค่าสมัคร โดยได้แจ้งขอคืนเงินไปยังบริษัทฯแล้ว แต่ปัจจุบันยังไม่ได้มีการคืนเงินแต่อย่างใด        การดำเนินการ         1. บริษัท ทีละก้าว จำกัด จัดการแข่งขันวิ่งเทรลเกาะช้าง จังหวัดตราด ในวันที่ 21-22 มกราคม 2566 และได้มีการประกาศยกเลิกฉุกเฉิน ผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" ที่เป็นของผู้จัดงาน ประกาศเพียง 1 วัน และแจ้งเพียงช่องทางเดียว         2. 3 มิถุนายน 2566 เนื่องจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้ทราบปัญหาการยกเลิกงานวิ่งดังกล่าวจึงได้ตรวจสอบเพจเฟซบุ๊ก Ultra-Trail Unseen Koh Chang ของ ผู้จัดงานวิ่ง พบว่าโพสต์ล่าสุด 18 เมษายน 2566 ได้โพสต์แจ้งการคืนเงินเฉพาะค่าสมัครวิ่งให้กับผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่อง แต่จนถึงต้นเดือนมิถุนายน ยังมีผู้เสียหายจำนวนมาก ที่ยื่นเรื่องตามคิวแรกแจ้งว่า ยังไม่ได้รับเงินคืน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงประกาศให้ผู้เสียหายงานวิ่งเทรลเกาะช้าง ส่งหลักฐานเพื่อนำสู่การไกล่เกลี่ยกับผู้จัดให้เร่งจ่ายเงินคืน พร้อมส่งหลักฐานประกอบการร้องเรียน กรณี Ultra Trail Unseen Koh Chang 2023 (งาน UTKC 2023) (21-22 มกราคม 2566) ดังนี้            (1) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน            (2) หลักฐานการสมัครวิ่ง, หมายเลขประจำตัวนักวิ่ง             (3) หลักฐานการโอนเงิน            (4) หลักฐานการจองที่พัก หรือค่าเสียหายอื่นๆ         มีผู้ร้องเรียนมายังมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 18 ราย         3. 13 กรกฎาคม 2566 เชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน ซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัติการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ. 2562 จากการไกล่เกลี่ย ผู้ร้องและบริษัทฯได้ทำบันทึกข้อตกลงระงับข้อพิพาท ดังนี้             (1)  บริษัทฯจะดำเนินการตรวจสอบรายชื่อนักวิ่งที่ตกหล่นและอัพเดตรายชื่อนักวิ่งให้สามารถตรวจสอบได้ พร้อมระบุลำดับการคืนเงินผ่านเพจ ""Ultra-Trail Unseen Koh Chang"" และบริษัทฯจะดำเนินการตอบข้อความผู้ร้องและเคลื่อนไหวข้อมูลทางเพจ ภายในวันที่ 21 กรกฎาคม 2566             (2)  บริษัทฯจะดำเนินการประสานนักวิ่งเพื่อขอข้อมูลที่พัก รวบรวมเพื่อประสานสภาอุตสาหกรรม ให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามที่ประสานไว้             (3)  บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่นักวิ่งตามรอบที่ลงทะเบียนเดิม โดยจะเริ่มคืนรอบที่ 2 ภายใน 2 เดือนนับแต่วันที่มาไกล่เกลี่ย ผู้ร้องตกลงรับข้อเสนอที่บริษัทฯแจ้ง             (4)  13 กันยายน 2566 ผู้เสียหายรอบการคืนเงิน 16 กรกฎาคม – 16 สิงหาคม 2566 แจ้งมายังมูลนิธิฯว่ายังไม่ได้รับการคืนเงินจากบริษัทฯตามที่ได้ทำบันทึกไว้ จึงประสานไปยังบริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการตรวจสอบและคืนเงินแก่ผู้ร้องภายในวันที่ 22 กันยายน 2566 เมื่อครบกำหนดผู้ร้องกลับไม่ได้รับเงินคืนตามสัญญา และตรวจสอบจากผู้ร้องพบว่ายังไม่มีผู้ร้องคนใดได้รับการคืนเงิน            (5)  12 ตุลาคม 2566 ติดต่อบริษัทฯสอบถามความคืบหน้าการคืนเงิน บริษัทฯขอให้ส่งรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง มูลนิธิฯจึงส่งอีเมล์พร้อมแนบรายชื่อผู้เสียหายอีกครั้ง            (6)  18 ตุลาคม 2566 บริษัทฯแจ้งว่าได้รับอีเมล์และรายชื่อผู้เสียหายแล้ว บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 แต่จนถึงปัจจุบันผู้เสียหายยังไม่ได้รับการการคืนเงินและไม่ได้รับการติดต่อกลับจากบริษัทฯ ทั้งนี้มูลนิธิฯไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้เช่นเดียวกัน ***  ซึ่งผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิทางกฎหมายเพื่อดำเนินคดีกับผู้ประกอบการได้ โดยสามารถแจ้งความประสงค์ในการดำเนินคดีพร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้อง มายังมูลนิธิฯเพื่อช่วยเหลือในการดำเนินคดีได้     เรื่องที่ 3        ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        การปรับผังเวทีคอนเสิร์ต Mark Tuan ‘the other side’ Asia Tour 2023 in Thailand บัตรราคา 6,500 บาท ในรอบการแสดงที่กรุงเทพ และ บัตรราคา 4,500 บาท ในรอบการแสดงที่ขอนแก่น  ทำให้ผู้ซื้อบัตรคอนเสิร์ตที่ไม่พอใจการจัดเวทีรูปแบบใหม่         การดำเนินการ         ดำเนินการเจรจาแทนผู้ร้อง โดยผู้จัดงาน บริษัท ไบร์ท แพนเทอร์ จำกัด ได้ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ บริษัทฯจะดำเนินการคืนเงินแก่ผู้ร้องที่ประสงค์จะขอเงินคืน หากผู้ร้องจะขอเงินคืนสามารถแจ้งชื่อ-สกุล เบอร์ติดต่อ/อีเมล์ และให้มูลนิธิฯดำเนินการประสานไปยังบริษัทฯ แต่ทั้งนี้ในส่วนของการเปลี่ยนผังบริษัทฯแจ้งว่าจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้     เรื่องที่ 4        ·     หมวดอสังหาริมทรัพย์และที่อยู่อาศัย            บริษัท ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) สร้างคอนโด 4 ปีไม่เสร็จตามสัญญา ไม่คืนเงิน โดยมีโครงการดังนี้             1.โครงการ RISE Phahon - Inthamara : ขณะนี้สร้างเสร็จถึงชั้น 2 แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             2.โครงการ The Excel ลาซาล 17 : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ 31 ธันวาคม 2564             3.โครงการ The Excel Hideaway รัชดาห้วยขวาง : ขณะนี้ยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จ แต่บอกว่าสร้างเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : 31 ธันวาคม 2562            4.โครงการ The Excel Hideaway สุขุมวิท 50 : ผู้เสียหายแจ้งขอยกเลิกสัญญาตั้งแต่ก่อนก่อสร้างแล้วเสร็จ ( ซึ่งเดิมแจ้งว่าสร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์มีกำหนด กุมภาพันธ์ 2563)             5. โครงการ Impression เอกมัย สร้างแล้วเสร็จพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ : มิถุนายน 2563  โดยมูลนิธิฯดำเนินการช่วยยื่นฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี , และยื่นฟ้อง ที่ ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี         การดำเนินการ         ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี                               1. ฟ้องที่ศาลแพ่ง จำนวน 22 คดี                                              2.ยื่นฟ้อง ที่ศาลแขวงพระนครเหนือ จำนวน 10 คดี     เรื่องที่ 5     ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป        Asia Society Fitness สาขารามคำแหง119 ปิดให้บริการ สมาชิกที่สมัครในสาขาดังกล่าวไม่สะดวกไม่สามารถไปใช้บริการในสาขาอื่น บริษัทฯไม่กำหนดแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหา  ผู้บริโภคต้องการยกเลิกสัญญาและขอเงินคืน บริษัทฯแจ้งว่าจะดำเนินการคืนเงินภายใน30 วัน เมื่อครบกำหนดบริษัทฯไม่คืนเงินและไม่สามารถติดต่อบริษัทฯได้         การดำเนินการ        ทำหนังสือขอให้คืนเงิน (มพบที่ 147/2566) แต่ไม่ได้รับการตอบกลับจากบริษัทฯ     เรื่องที่ 6    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ถูกว่าจ้างให้ซื้อมือถือ  ปัจจุบันมือถือกับค่ายผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มีการทำโปรโมชั่นร่วมกัน ด้วยการจำหน่ายมือถือในราคาพิเศษ แต่แลกด้วยการทำสัญญาเปิดใช้บริการอย่างน้อย 1 ปี (ซิมรายเดือน) จุดนี้จะมีช่องให้มีคนหาผลประโยชน์เข้าตนเองได้ คือ การจ้างบุคคลทั่วไป ใครก็ได้ไม่จำเป็นต้องรู้จักกัน เพียงแค่อายุ 18 ปีขึ้นไปและมีบัตรประชาชน ซื้อมือถือและเปิดใช้บริการแทนตน โดยแลกกับการจ่ายเป็นค่าจ้างให้ 300-500 บาท มองเผินๆ ก็น่าจะดีเพราะไม่ได้ทำอะไรมาก แค่ซื้อเครื่องให้และรับเงินค่าจ้างสบายๆ แต่อาจลืมมองไปว่าคนที่ลงลายมือชื่อทำสัญญาใช้บริการนั้นคือเจ้าของบัตรประชาชน” ดังนั้นในกรณีที่เกิดการค้างชำระค่าบริการ หรือโทรศัพท์ถูกนำไปใช้ก่ออาชญากรรม คนที่ต้องรับผิดชอบก็คือคนที่ทำสัญญา     การดำเนินการ         ตามพระราชกำหนด มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ระบุว่า เจ้าของบัญชีม้า หรือเบอร์ม้า ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         รวมถึงผู้ที่เป็นธุระจัดหา โฆษณา หรือไขข่าวโดยประการใดๆ เพื่อให้มีการซื้อ ขาย ให้เช่า หรือให้ยืม บัญชีเงินฝาก บัตรอิเล็กทรอนิกส์ บัญชีเงินอิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนเลขหมายโทรศัพท์สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งลงทะเบียนผู้ใช้บริการในนามของบุคคลหนึ่งบุคคลใดแล้ว แต่ไม่สามารถระบุตัวผู้ใช้บริการได้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 - 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 200,000 - 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         ทั้งนี้หากบุคคลที่ได้รับความเดือดร้อนจากการถูกมิจฉาชีพหลอกลวงให้เปิดบัญชี ให้รีบดำเนินการแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และใช้เอกสารที่แจ้งความไปติดต่อขอยกเลิกสัญญากับผู้ให้บริการ     เรื่องที่ 7    ·     หมวดการเงินการธนาคาร/ประกัน         ทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปีแต่ได้รับเงินปันผลไม่ครบตามสัญญา ผู้ร้องสมัครทำประกันแบบสะสมทรัพย์ 20 ปี ตรีคูณ  (มีเงินปันผล)  จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,000,000 บาท เริ่มทำสัญญาวันที่ 8 สิงหาคม 2545 กรมธรรม์ครบสัญญาเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2565 ผู้ร้องแจ้งว่าก่อนทำสัญญาพนักงานขายแจ้งแก่ผู้ร้องว่าหากทำสัญญาครบ 20 ปี จะได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  ปรากฏว่าเมื่อครบกำหนดตามสัญญาบริษัทฯแจ้งว่าจะจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ร้องจำนวน 70,000 บาท ผู้ร้องจึงทำเรื่องร้องเรียนโต้แย้งการจ่ายเงินปันผล บริษัทฯพิจารณาเสนอการจ่ายเงินเพิ่มเติมจากเดิมแก่ผู้ร้องเป็นจำนวน 180,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่รับข้อเสนอเนื่องจากไม่เป็นตามสัญญาที่ระบุว่าผู้ร้องจะต้องได้รับเงินปันผลจำนวน 500,000 บาท  หลังจากรับเรื่องร้องเรียนมูลนิธิฯทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาเจรจาแต่ไม่ได้รับการติดต่อกลับใดๆจากทางบริษัทฯ จึงดำเนินการฟ้องคดีเพื่อช่วยเหลือผู้ร้อง         การดำเนินการ         1.ทำหนังสือเชิญบริษัทฯมาไกล่เกลี่ย ( มพบ. 038/2566)บริษัทฯไม่มาไกล่เกลี่ย         2.ดำเนินการช่วยเหลือผู้ร้องโดยการฟ้องคดี          เรื่องที่ 8    ·     สินค้าและบริการทั่วไป         ร้องเรียนกรณีถูกบริษัท  มิเนอรัล บิวตี้ จำกัด  เสนอขายเครื่องสำอางค์ของ Aqua Mineral แพงเกินจริง         การดำเนินการ         เจรจาตามความประสงค์ที่ร้องเรียน     เรื่องที่ 9    ·     หมวดสินค้าและบริการทั่วไป          ธุรกิจนำเที่ยว บริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด หรือทัวร์ “อ้วน ผอม จอมเที่ยว” ยกเลิกทัวร์ ทำให้มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก และเกิดความเสียหายกว่า 50 ล้านบาท         การดำเนินการ         ประสานกรมการท่องเที่ยว กรมการท่องเที่ยวแจ้งกรณีถูกบริษัท อ้วนผอม อะราวด์ เดอะ เวิลด์ จำกัด ยกเลิกทัวร์ให้ผู้เสียหายเตรียมเอกสารหลักฐาน 5 รายการ ดังนี้         1. รายการนำเที่ยวที่ซื้อ         2. ใบเสร็จรับเงิน         3. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ชำระเงิน         4. หลักฐานการแจ้งยกเลิกการเดินทาง (ถ้ามี)         5. เอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อความการแชตพูดคุยต่างๆ         ส่งทางอีเมล tgtcenter@tourism.go.th หรือ เดินทางมาร้องเรียนได้ตนเอง ที่กรมการท่องเที่ยว (บริเวณโถงกลาง) ชั้น 2 อาคารรัฐประศาสนภักดี ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ         หลังจากส่งเอกสารครบถ้วนนิติกรจะติดต่อกลับไปยังผู้ร้องทั้งนี้กรมจะดำเนินการเชิญบริษัทฯมาเจรจาหากบริษัทฯไม่มาเจรจาหรือเจรจาไม่ได้ กรมจะนำเงินกองทุนคุ้มครองธุรกิจนำเที่ยวมาชดเชยแก่ผู้เสียหาย และจะดำเนินการส่งเรื่องให้สคบ.ดำเนินการฟ้องคดี         สามารถติดตามการแถลงข่าว สถานการณ์ผู้บริโภค ปี 2566 ได้ที่ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค | มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคแถลงผลงานปี2566 (ffcthailand.org)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 267 ประกาศเลิกวิ่งเทรลกะทันหันแค่ 1 วัน ทำอะไรได้บ้าง

        คุณตุ๊กตาและครอบครัวหลงใหลการวิ่งมาราธอนมาก โดยเฉพาะวิ่งเทรล (Trail Running) หรือการวิ่งในรูปแบบของการผจญภัยตามบริเวณพื้นที่ธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นป่า ภูเขา ทุ่งหญ้ากว้าง แล้วแต่ภูมิประเทศของสถานที่จัดงาน เมื่อได้ทราบข่าวการวิ่งเทรลที่เกาะช้าง โดยบริษัทจัดงานที่มีชื่อเสียง คุณตุ๊กตาจึงสมัครทันทีไม่รีรอ และแน่นอนว่าไม่พลาดที่จะบริหารจัดการเรื่องตั๋วเรื่องที่พักบนเกาะช้างอย่างว่องไว พร้อมกับคาดหวังถึงความสุข สนุกสนานของงานวิ่งครั้งนี้         “เราสมัครวิ่งตั้งแต่เมษายน 2565 ล่วงหน้าเป็นปีเลยนะ เสียค่าสมัคร 2,400 บาท เป็นการวิ่งระยะทาง 40 กิโลเมตร แล้วยังจ่ายเงินค่าโรงแรมไปอีก 4,000 บาท มีค่าเดินทางด้วยแล้วนี่ก็เตรียมพร้อมล่วงหน้าไปถึงก่อน เข้าพักแล้วด้วย อ้าวเฮ้ย...บริษัทผู้จัดงานประกาศยกเลิกผ่านเฟซบุ๊กก่อนจะวิ่งแค่ 1 วัน เงิบเลยค่ะ”         คุณตุ๊กตาเล่าว่าในเพจของผู้จัดงานแจ้งเหตุผลว่า งานล่มเพราะทางอุทยานแห่งชาติหมูเกาะช้างและเทศบาลตำบลเกาะช้าง ไม่อนุญาต “แบบนี้ก็แสดงว่าทางผู้จัดการไม่ได้ทำเรื่องยื่นขออนุญาตใช่ไหม บริษัทนี้ใหญ่มากนะทำไมทำงานพลาดเรื่องง่ายๆ แค่นี้” และถึงทางบริษัทจะประกาศคืนเงินที่ทางบริษัทเรียกว่า ชดเชยสิทธิประโยชน์  แต่ต้องรอนานพอสมควรคือจ่ายคืนเป็นรอบไม่ใช่ทันที ตอนนี้ใกล้ถึงรอบที่เราต้องได้รับการชดเชยค่าสมัครแล้วยังไม่มีการติดต่อมาเลยดิฉันจะทำอย่างไรได้บ้างคะ เป็นคำถามเพื่อขอรับคำแนะนำจากทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนวทางการแก้ไขปัญหา         งานวิ่งเทรลนี้เป็นงานใหญ่มีผู้สมัครเข้าร่วมมากกว่า 2000 ราย เมื่อศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค ได้ตรวจสอบจากข้อความหน้าเพจของทางผู้จัด เมื่อ 18 เมษายน 2566 ปรากฎข้อความแจ้งคืนเงินให้ผู้เสียหายตามกำหนดรอบเรียงตามคิวที่ยื่นเรื่องขอรับการชดเชย ซึ่งยังปรากฎว่ามีผู้เสียหายหลายคนยังไม่ได้รับการคืนเงิน สำหรับคุณตุ๊กตานั้น ทางศูนย์ฯ ได้ช่วยทำหนังสือแจ้งบริษัทให้เร่งชดเชยเงินต่อผู้ร้องตามกำหนด แต่ขณะที่เขียนบทความนี้คุณตุ๊กตายังไม่ได้เงินคืนตามรอบที่กำหนดไว้ คือ 24 พฤษภาคม และสำคัญสุดคือ บริษัทประกาศชดเชยเฉพาะค่าสมัครวิ่ง ไม่รวมกับค่าเสียหายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าเดินทาง ค่าที่พัก         กรณีคุณตุ๊กตา เป็นเพียงผู้ร้องรายเดียวที่ติดต่อมาที่ มพบ. ดังนั้นเพื่อให้เกิดการชดเชยที่เป็นธรรมและเป็นประโยชน์ต่อคนในวงกว้าง มุลนิธิฯ จึงประกาศแจ้งให้ผู้เสียหายจากงานวิ่งเทรลเกาะช้างเร่งส่งหลักฐานมาที่ www.ffcthailand.org/complaint  เพื่อนำสู่การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้จัดงานเพื่อให้คืนเงินอย่างเร่งด่วน และหากเจรจาไม่เป็นผลอาจเข้าสู่กระบวนการฟ้องคดีต่อไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 226 รำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน

        ปิดฉากกันไปอย่างสวยงามกับกิจกรรมเดิน - วิ่ง “หยุดซิ่ง... มาวิ่งกันเถอะ” ที่จัดขึ้นเมื่อ 17 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ณ สวนศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ กับการแสดงพลังของผู้คนมากกว่า 2,000 คน ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ         ในวันโลกรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน” (World Day of Remembrance for Road Traffic Victims 2019) ที่ทุกคนมาช่วยกันหยุด… หยุดไม่ให้มีเหยื่อรายใหม่ หยุดให้อุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลง ร่วมกันจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ประสบอุบัติเหตุบนท้องถนน เรียกได้ว่าเป็นการส่งเสียงของกลุ่มคนที่ต้องการบอกให้รู้ว่า ปัญหาความไม่ปลอดภัยทางถนนที่ป้องกันได้ต้องถูกดำเนินการทันที การช่วยเหลือผู้บาดเจ็บทางถนนต้องรวดเร็วและมีประสิทธิภาพเป็นธรรม เพื่อป้องกันปัญหาอุบัติเหตุและคุ้มครองสิทธิความปลอดภัยทางถนนและร่วมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยให้มีในหัวใจคนไทยทุกคนแต่ก็น่าเสียดายที่งานครั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลด้านคมนาคม ทั้งกระทรวงคมนาคมและกรมการขนส่งทางบก ยังไม่เห็นถึงความสำคัญในกิจกรรมครั้งนี้ เลยไม่ได้เข้าร่วมหรือสนับสนุนแต่อย่างใด  ขณะที่ภาคประชาชนเริ่มเคลื่อนไหว เพื่อต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่ภาคนโยบายและบริหารโดยรัฐกลับยังเหมือนขยับตัวช้าและไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของโลก ยังไม่รวมถึงเป้าหมายที่จะลดอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้ได้ครึ่งหนึ่ง ภายในปี 2563 ตามแผน 10 ปี แห่งทศวรรษความปลอดภัยทางถนนของประเทศ แต่ก็ยังทำไม่ได้ไม่สำเร็จ        อันที่จริงในรอบสิบปีที่ผ่านมา แต่ละรัฐบาลต่างมีเป้าหมายที่จะลดอุบัติเหตุด้วยมาตรการหลายอย่างที่น่าสนใจ ไม่ว่าจะเป็นความพยายามในการลดอุบัติเหตุ ลดการเจ็บตายในช่วงเทศกาลใหญ่ๆ การบังคับติดจีพีเอสกับรถบรรทุกและรถสาธารณะเพื่อควบคุมความเร็ว การยกเลิกรถโดยสารสองชั้น จัดระเบียบรถตู้โดยสาร ตั้งเป้าลดจำนวนรถตู้โดยสารปรับเปลี่ยนเป็นไมโครบัส ตลอดจนการเพิ่มโทษปรับกับผู้ขับขี่ที่ทำผิดกฎจราจรในทุกประเภทรวมถึงการเมาแล้วขับ         แต่ด้วยความไม่ต่อเนื่องของนโยบายที่มาจากฝ่ายบริหารที่หมุนเวียนเปลี่ยนไปตามกระแสการเมือง ดังคำที่ว่า เมื่อการเมืองเปลี่ยนนโยบายก็ต้องเปลี่ยน ทำให้หลายมาตรการที่ดีกลับถูกดองหรือแช่แข็ง เช่น กรณีรถตู้โดยสารสิบปีต้องเปลี่ยนเป็นไมโครบัสเป็นให้เปลี่ยนด้วยความสมัครใจ เป็นต้น รวมถึงขาดความต่อเนื่องเชื่อมร้อยของนโยบายและการปฏิบัติการ ส่งผลให้เกิดความไม่ต่อเนื่องในการทำงานทั้งในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน         ที่ผ่านมาการทำงานด้านลดอุบัติเหตุและความปลอดภัยทางถนนหลายส่วน กลายสภาพเหมือนงานอีเวนท์ที่ต้องรอนโยบายสั่งการจากคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงมหาดไทย ที่กว่าจะจัดประชุมเตรียมงานสั่งการความปลอดภัยทางถนนก็ปาเข้าไปกลางเดือนพฤศจิกายน ขณะที่ระดับจังหวัดก็เตรียมงานเตรียมคนมุ่งจัดรณรงค์ลดอุบัติเหตุ 7 วันอันตราย ในช่วงเทศกาลปีใหม่และสงกรานต์ตามเดิมแบบที่เคยทำกันทุกปี         แม้ที่ผ่านมาแนวทางของรัฐจะผลักดันให้มีศูนย์ปฏิบัติการความปลอดภัยทางถนนทั้งในระดับอำเภอและตำบล เพื่อให้การดำเนินการด้านความปลอดภัยในระดับท้องถิ่นมีความคล่องตัวต่อเนื่อง เป็นขั้นตอนต่อจากศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนจังหวัด แต่ถ้าดูจากตัวเลขอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศของบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2562 – 14 ธันวาคม 2562 ตอนนี้มีผู้เสียชีวิตแล้ว 15,786 คน ยังไม่รวมผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่ไม่ได้ใช้สิทธิ พรบ. โดยเป็นอัตราการเสียชีวิตที่มีจำนวนมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปี 2561 (ทั้งปี) ที่มีผู้เสียชีวิตอยู่ที่ 13,956 คน นั่นยิ่งเท่ากับเป็นการตอกย้ำถึงความล้มเหลวของมาตรการลดอุบัติเหตุของรัฐโดยสิ้นเชิง         การที่คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยถึงวันละ 60 คน (เสียชีวิตปีละ 20,000 คน) นี้ ยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐจัดทำมาตรการที่เด็ดขาด เพื่อทำให้ประชาชนคนไทยเข้าถึงบริการขนส่งมวลที่ดี และสร้างระบบการใช้รถใช้ถนนที่ปลอดภัยได้ ดังนั้นในปี 2563 ซึ่งจะเป็นปีที่ครบรอบทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนนตามแผนของประเทศที่กำหนดไว้ แต่เมื่อทุกอย่างยังไม่มีทิศทางว่าจะดีขึ้นแบบนี้ อาจจะต้องเรียกใหม่เป็น ครบรอบสิบปี ทศวรรษแห่งความล้มเหลวของการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทย แทนก็เป็นได้ สวัสดีปลอดภัยกันทุกท่านครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 223 วิ่งเพื่อ เหยื่อรถโดยสาร

        รู้หรือไม่แต่ละปีทั่วโลกมีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 1.3 ล้านคน และบาดเจ็บอีกกว่า 50 ล้านคน หรือเท่ากับมีคนเสียชีวิตวันละ 3,700 คนทุกวัน หากนึกไม่ออกว่ารุนแรงขนาดไหน ลองนึกภาพเรือสำราญขนาดใหญ่ที่มีผู้โดยสารเต็มความจุของเรือ แล้วเรือลำนั้นเกิดล่มและผู้โดยสารทั้งหมดเสียชีวิต!!! เป็นแบบนี้ทุกวันทุกวันวันละ 3,700 คน         หากเป็นเหตุการณ์ปกติถ้ามีเรือสำราญขนาดใหญ่ล่มจมน้ำ เพียงแค่ครั้งเดียวก็คงเป็นข่าวใหญ่ที่ทำให้คนทั้งโลกต้องตกใจ และมีคำถามตามมาว่าเกิดอะไรขึ้น แต่ขณะที่มีคนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนมากเท่ากับจำนวนผู้โดยสารบนเรือสำราญขนาดใหญ่ที่เสียชีวิตทุกวันแบบนี้ ก็ยังไม่สามารถทำให้คนทั้งโลกรู้สึกถึงความไม่ปลอดภัยจากอุบัติเหตุทางถนนในส่วนนี้ได้เลย         สำหรับประเทศไทยนั้นก็เป็นส่วนหนึ่งของความสูญเสียดังกล่าวเช่นกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety 2561 เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก ระบุว่า ประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิต 22,491 คนต่อปี  หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิต 62 คนบนถนนทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนคนวัยทำงาน ขณะที่มีผู้พิการรายใหม่เพิ่มมากขึ้นกว่า 40,000 คนต่อปี คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี        แม้ว่าในรอบ 5 ปีหลังสุดตัวเลขอย่างเป็นทางการขององค์การอนามัยโลกจะบ่งชี้ว่า ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตของประชากรจากอุบัติเหตุทางถนนลดน้อยลง แต่การที่คนไทยต้องเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเฉลี่ยถึงวันละ 62 คน นั้นนับเป็นเรื่องที่ทุกคนควรตระหนักและยอมรับไม่ได้ เพราะเป็นสถิติการเสียชีวิตที่มากกว่าโรคภัยร้ายแรงเสียอีก        ทั้งนี้อุบัติเหตุทางถนนแต่ละครั้งไม่ได้จบแค่มีผู้เสียชีวิต ขณะที่ทุกๆ ปีมีผู้ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนนกว่า 2 แสนคน ทั้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บพิการ สิ่งที่เหลือไว้จากอุบัติเหตุ คือ ความทุกข์ของคนที่ยังอยู่ หลายครอบครัวไม่ได้จบแค่การสูญเสียญาติพี่น้องที่จากไปเท่านั้น แต่การต้องดิ้นรนต่อสู้กับสภาพชีวิตสังคมหลังเกิดเหตุนั่นแหละ คือหัวใจของการต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้        หลายคนต้องเจ็บปวดซ้ำซ้อน เจ็บตัวแล้วยังต้องเจ็บใจ เสียคนรักไปไม่พอ ยังโดนยัดเยียดการชดเชยเยียวยาที่ไม่เป็นธรรมเข้าไปด้วย จากระบบการช่วยเหลือผู้เสียหายที่ล้มเหลว โดนวลีเด็ดที่หลายคนเจอ คือ “อยากได้มากกว่านี้ให้ไปฟ้องเอา” หลายคนต้องมีคดีฟ้องต่อศาลเสียเงินจ้างทนายความ ต้องมีค่าใช้จ่ายต่างๆ บางครอบครัวต้องสู้คดีกันถึงสามศาล จบคดีได้เงินก็โชคดีไป บางครอบครัวได้มาแต่คำพิพากษา กลายเป็นปัญหาซ้ำเติมความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับครอบครัวพวกเขาเหล่านั้น         ขณะที่ยังมีผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนอีกจำนวนมากที่ขาดโอกาสจากสังคม แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในหลายส่วน แต่เรื่องสำคัญและจำเป็น เช่น การเดินทางซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์นั้น ยังมีคุณภาพไม่เพียงพอที่จะทำให้ผู้พิการสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระ ใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติ ดูแลตัวเองและประกอบอาชีพเพื่อการพัฒนาตัวเองให้เป็นคนที่มีคุณภาพได้         ด้วยปัจจัยและปัญหาที่สะสมอย่างต่อเนื่องยาวนาน จากกลุ่มคนเล็กๆ กลุ่มหนึ่งที่อยากจะทำงานใหญ่ ว่าจะทำอย่างไรดี ที่จะทำให้คนส่วนใหญ่เห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางถนน เพื่อช่วยให้คนที่เสียโอกาสทางสังคมกลุ่มนี้ได้กลับเข้ามามีที่ยืนและพร้อมที่จะลุกขึ้นมาช่วยกัน         ทำให้การเยียวยาความเสียหายรวดเร็วไม่เป็นภาระของทุกคน และหาทางเร่งรัดให้มีบริการขนส่งมวลชนที่มีคุณภาพรถและความปลอดภัยมากขึ้น เพราะชีวิตไม่ใช่ชิ้นส่วนรถยนต์ ต้องไม่ยอมจำนนกับรถถนนที่ไม่ปลอดภัย         จากจุดเริ่มต้นของกลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุทางถนน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเมาไม่ขับ ภาคีเครือข่ายภาคประชาชนและความปลอดภัยทางถนนมากกว่า 20 องค์กร        จึงได้ร่วมกันจัด เดิน – วิ่ง กับกิจกรรม หยุดซิ่งมาวิ่งกันเถอะ “Run For Road Traffic Victims” ภายใต้เป้าหมาย รณรงค์รวมพลังลดอุบัติเหตุหยุดเหยื่อรายใหม่ และจัดตั้งกองทุนเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนขึ้น ในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562  ณ สวนสาธารณะและสวนพฤกษชาติศรีนครเขื่อนขันธ์ (สวนบางกะเจ้า) อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ         กิจกรรมดีๆ กับค่าสมัครเพียง 500 บาทเท่านั้น กับการวิ่ง 2 ระยะ ได้แก่ เดิน-วิ่งระยะสั้น Fun Run 5 กิโลเมตร และวิ่งมินิมาราธอน 10 กิโลเมต         หยุดซิ่ง... แล้วมาวิ่งกันที่สวนบางกะเจ้า ผู้สนใจสามารถมาสมัครกันเลย ที่ https://rtv.regist.co ตั้งแต่วันนี้ - 31 ตุลาคม 2562 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ : https://www.facebook.com/SafeThaibus หรือ โทร : 094-4869598        

อ่านเพิ่มเติม >

หยุดซิ่ง...มาวิ่งกันเถอะ

              องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้เผยรายงาน Global Status Report on Road Safety 2561 เรื่องรายงานความปลอดภัยทางถนนระดับโลก ระบุว่าประเทศไทยถูกจัดลำดับให้เป็นประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในลำดับที่ 9 มีอัตราผู้เสียชีวิต 32.7 รายต่อแสนประชากร หรือเสียชีวิตประมาณ 22,491 คนต่อปี หรือเฉลี่ยมีผู้เสียชีวิต 62 คนบนถนนทุกวัน ส่วนใหญ่เป็นเยาวชนและคนวัยทำงาน คิดเป็นมลูค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี        นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนนอีกกว่า 125,706 คนที่ส่วนใหญ่ยังขาดการยอมรับ ขาดโอกาส ขาดการเข้าถึงคุณภาพชีวิตที่ดีในสังคม รวมถึงการใช้ชีวิตและประกอบอาชีพ แม้ภาครัฐจะให้ความช่วยเหลือในหลายส่วน          ทั้งนี้ในอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี ได้มีการกำหนดให้มีวัน"ราลึกผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจากถนน” หรือ World Day of Remembrance for Road Traffic Victims เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ผู้ประสบอุบัติเหตุและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน จึงได้ร่วมกันจัดงานเดิน-วิ่ง ภายใต้คอนเซปต์ “Run For Road Traffic Victims “หยุดซิ่ง...มาวิ่งกันเถอะ” ในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562 นี้      วัตถุประสงค์การจัดงาน Run For Road Traffic Victims        ทั้งนี้ในอาทิตย์ที่ 3 ของเดือนพฤศจิกายนทุกปี ได้มีการกำหนดให้มีวัน"ราลึกผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุจากถนน” หรือ World Day of Remembrance for Road Traffic Victims เพื่อระลึกถึงผู้เสียชีวิต ผู้ประสบอุบัติเหตุและครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน จึงได้ร่วมกันจัดงานเดิน-วิ่ง ภายใต้คอนเซปต์ “Run For Road Traffic Victims “หยุดซิ่ง...มาวิ่งกันเถอะ” ในวันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2562 นี้วัตถุประสงค์การจัดงาน Run For Road Traffic Victims1. เพื่อรำลึกถึง ผู้เสียชีวิต ผู้ประสบอุบัติเหตุ และครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากอุบัติเหตุทางถนน2. เพื่อการรณรงค์ให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของความปลอดภัยทางถนนเพื่อลดอุบัติเหตุ3. เพื่อสนับสนุนให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน ในการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานบริการขนส่งมวลชนสาธารณะและความปลอดภัยทางถนนสมัครคลิกที่นี่ >> https://rtv.regist.co

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 วิ่งยังไงไม่ให้ถูกเอาเปรียบและประหยัด

      ถ้าคุณเดินได้ คุณก็วิ่งได้ สโลแกนที่นักวิ่งมักพูดกันเป็นคติประจำใจ และถ้าคุณวิ่งได้ คุณก็มีโอกาสที่จะพิชิตระยะทาง 42.195 กิโลเมตรได้ถ้าซ้อมถึง        แน่นอนว่าการพิชิตมาราธอน ใช่ว่าคิดจะวิ่งก็วิ่งเลย แต่คุณต้องเข้าร่วมงานวิ่งที่มีการจัดการ ‘อย่างดี’ เพราะการจัดการอย่างดีจะช่วยให้คุณวิ่งได้อย่างปลอดภัย ถ้าวิ่งแล้วชนกำแพง(Hit the Wall) หมายถึงหมดแรงก่อนจะถึงเส้นชัยหรือบาดเจ็บระหว่างวิ่ง คุณสามารถรู้แน่ชัดว่าจะมีทีมพยาบาลมาคอยช่วยเหลือ        แต่ถ้าคุณโชคร้ายไปงานวิ่งที่การจัดการไม่ดี ความสนุกสนาน ความท้าทาย อาจกลายเป็นหนังคนละม้วน จนทำให้คุณรู้สึกว่าการจ่ายเงินเพื่อร่วมงานวิ่งครั้งนี้ช่างไม่คุ้มค่าเอาเสียเลย เช่นข่าวที่เคยเกิดขึ้นกับงานวิ่งครั้งหนึ่งที่ไม่มีน้ำดื่มเพียงพอสำหรับนักวิ่ง หรือมีแม้กระทั่งนักวิ่งเสียชีวิตระหว่างการแข่งขัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะความปลอดภัยในระหว่างวิ่งถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ        ฉบับนี้ ‘ฉลาดซื้อ’ ชวนนักวิ่งให้ย้อนกลับมาดูตัวเองในฐานะ ‘ผู้บริโภค’ คนหนึ่งว่า เราควรเลือกงานวิ่งอย่างไรจะได้ไม่ถูกเอาเปรียบ และควรต้องมีอุปกรณ์ใดบ้างถึงจะพอดีกับตัวเรา ไม่มากเกินไปจนต้องจ่ายแพงเกินความจำเป็น เศรษฐศาสตร์งานวิ่ง        บทความเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์ว่าด้วยการจัดงานวิ่ง’ ที่เผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ศึกษาโดย ดร.วัชรพงศ์ รติสุขพิมล คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้        ปี 2559-2560 พบว่ามีการจัดงานวิ่งทั่วประเทศ 1,305 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 54 รายการ สัปดาห์ละ 12 รายการ จัดขึ้นเกือบครบทุกจังหวัดในประเทศ โดยเดือนที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือเดือนธันวาคมและพฤษภาคม เดือนละประมาณ 160 รายการ วันที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือวันอาทิตย์ มีจำนวน 940 รายการ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 71 ของงานวิ่งทั้งหมด        จังหวัดที่มีการจัดงานวิ่งมากที่สุดคือกรุงเทพมหานคร จำนวน 386 รายการ เฉลี่ยเดือนละ 16 รายการ อันดับถัดๆ มาคือสกลนคร เชียงใหม่ ชลบุรี ภูเก็ต และสงขลา ถ้าพิจารณาเฉพาะงานวิ่งที่จัดในกรุงเทพฯ สถานที่นิยมจัดงานวิ่งมากที่สุด 3 อันดับคือสวนลุมพินี, สวนหลวง ร.9 และสวนวชิรเบญจทัศหรือสวนรถไฟ        งานวิ่งส่วนใหญ่แบ่งการแข่งขันเป็น 4 รูปแบบคือ Fun Run เป็นการวิ่งเพื่อความสนุกสนานระยะทางประมาณ 3-5 กิโลเมตร, Mini Marathon ระยะทางประมาณ 10 กิโลเมตร, Half Marathon ระยะทางประมาณ 21 กิโลเมตร และ Full Marathon ระยะทางประมาณ 42 กิโลเมตร โดยค่าสมัครจะเพิ่มขึ้นตามระยะทาง ในช่วง 2 ปีที่เก็บข้อมูล ค่าเฉลี่ยของค่าสมัครในการวิ่งประเภท Fun Run อยู่ที่ 312 บาท Mini Marathon อยู่ที่ 365 บาท Half Marathon 583 บาท และ Full Marathon 841 บาท        บทความยังกล่าวอีกว่า กระแสงานวิ่งที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับกระแสการดูแลสุขภาพ งานวิ่งจะยังเป็นธุรกิจที่มีโอกาสเก็บเกี่ยวผลกำไรได้ต่อไปในอนาคตประสบการณ์เลวร้ายจากงานวิ่ง        จากเว็บไซต์ positioningmag.com ระบุว่าปัจจุบันราคาเฉลี่ยต่องานวิ่งอยู่ที่ 500-900 บาท โดยรายได้หลังหักต้นทุนแล้วจะเหลือกำไรเฉลี่ยมากกว่าร้อยละ 50 เมื่อกำไรสูงเพียงนี้ นักวิ่งก็ควรได้รับบริการที่คุ้มค่ากับเงินที่เสียไป        “วิ่ง 21 กิโลเมตรครั้งแรก โฆษณาไว้ดีมาก แต่พอวันจริงพบว่าปล่อยตัวช้า น้ำหมดตั้งแต่กิโลเมตรแรก จนต้องซื้อน้ำข้างทางกิน ป้ายบอกทางไม่มี 21 กิโลต้องไปทางไหน 10 กิโลต้องไปทางไหน วิ่งกันตามมีตามเกิด หรือถ้าเจอจุดให้น้ำก็ไม่มีแก้ว ต้องใช้ปากหรือฝาขวดน้ำรองกิน ค่อนข้างเลวร้ายมาก        อีกงานเป็นงานที่จัดตอนกลางคืนอย่าง สตาร์วอร์ รัน เป็นงานในตำนานที่ทุกคนเจ็บปวด ราคาแพงมากเพราะไปซื้อลิขสิทธิ์การวิ่งจากต่างประเทศ แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาไม่คุ้มค่า ปล่อยตัวช้ามาก แทนที่จะเน้นกิมมิกที่โฆษณาไว้ตลอดเส้นทาง ไม่มี หรือมีแบบไม่ลงทุน เพราะไปลงทุนกับคอนเสิร์ตก่อนวิ่ง คอนเสิร์ตจบไปนานแล้วก็ยังไม่ปล่อยตัวเสียที บอกปล่อยตัว 4 ทุ่ม แต่ปล่อยจริงๆ อีก 15 นาทีเที่ยงคืน แล้วผู้จัดก็ไม่อธิบายอะไรเลย เหรียญที่ได้ก็ไม่ตรงกับที่โฆษณาจนมีการเรียกร้องให้เปลี่ยน เขาก็ทำใหม่ แต่ใช้เวลาค่อนข้างนาน และการเปลี่ยนก็ค่อนข้างจุกจิก ต้องรอเกือบ 2 เดือนกว่าจะได้เหรียญใหม่”        เรียกว่าเป็นประสบการณ์การวิ่งที่เลวร้ายที่นักวิ่งอย่างนลินี เรืองฤทธิศักดิ์ ต้องเจอ ในฐานะที่เริ่มวิ่งมาห้าหกปี เธอเตือนสตินักวิ่งหน้าใหม่(หรือแม้แต่หน้าเก่า) ว่าก่อนกดสมัครลงงานวิ่งใดๆ ควรตรวจสอบชื่อผู้จัดงานก่อน ถามว่าแล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าผู้จัดงานเจ้าใดบริหารจัดการงานวิ่งได้ดี เธอตอบว่าปัจจุบันมีชุมชนของนักวิ่งตามเพจต่างๆ ที่มีการให้ข้อมูลและจัดอันดับงานวิ่งให้นักวิ่งเข้าไปศึกษาหาข้อมูล ซึ่งถือว่าช่วยให้ไม่พลาดท่าเสียทีได้พอสมควร        นลินียังแนะนำว่า นักวิ่งบางคนเลือกงานวิ่งจากความสวยงามของเสื้อและเหรียญรางวัล ซึ่งก็ไม่ผิด แต่อยากให้ดูรายละเอียดอื่นๆ ด้วย การจัดการงานวิ่งที่ดีมักให้ข้อมูลนักวิ่งไว้ค่อนข้างละเอียด ตั้งแต่เส้นทางวิ่ง จุดให้น้ำ จุดปฐมพยาบาล และควรเปรียบเทียบสถานที่กับจำนวนนักวิ่งว่าได้สัดส่วนเหมาะสมหรือไม่ เพราะสถานที่จัดงานจำกัด แต่มีนักวิ่งเข้าร่วมจำนวนมากอาจเกิดการเบียดเสียด ชน หรือล้ม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุไม่คาดฝันได้ เหล่านี้เป็นสิ่งที่นักวิ่งควรตรวจสอบก่อนการสมัคร        ความปลอดภัยคือสิ่งแรกที่งานวิ่งที่ดีต้องคำนึงถึง        ทีนี้มาลงรายละเอียดกันให้มากขึ้น คุณหมอนักวิ่งอย่าง นพ.ภัทรภณ อติเมธิน แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู ประจำ Running Clinic โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ตอบเรื่องงานวิ่งที่ดีจาก 2 สถานะ คือนักวิ่งและแพทย์ ถ้าในฐานะนักวิ่ง สิ่งที่ขาดไม่ได้คือการบริการน้ำ ความปลอดภัย การปิดถนนซึ่งอาจไม่ต้อง 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องปลอดภัย เพราะบางงานรถแล่นไปมาข้างๆ นักวิ่งก็มีให้เห็นมาแล้ว หรือบางงานมีเส้นทางวิ่งอยู่ใต้สะพานหรือใต้ทางด่วนซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่ค่อนข้างอึดอัด        “แต่ถ้าตอบในฐานะหมอ มันมีมาตรฐานงานวิ่งของสหพันธ์สมาคมกรีฑานานาชาติ (International Association of Athletics Federations: IAAF) ซึ่งสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอันดับ 1 คือทีมแพทย์ในงานวิ่ง ถ้าทีมแพทย์ไม่โอเค เขาก็จะไม่รับรองมาตรฐานให้ เพราะความปลอดภัยของนักวิ่งเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เขามาวิ่งเพื่อสุขภาพ ไม่ได้วิ่งเพื่อมีความเสี่ยง แต่ในเมืองไทยของเราจะขาดเรื่องนี้ไปมากๆ”        นพ.ภัทรภณ กล่าวว่างานวิ่งในเมืองไทยมักจะเน้นผิดจุด คือไปเน้นที่อาหารหลังงานวิ่งเป็นหลัก ต่างจากงานวิ่งในต่างประเทศที่หลังวิ่งอาจมีแค่น้ำ เกลือแร่ กับแซนด์วิช 1 ชิ้นเท่านั้น งบประมาณที่เหลือจะไปทุ่มเทให้กับการบริหารจัดการต่างๆ ในระหว่างการวิ่ง การมีทีมปฐมพยาบาลและการติดต่อสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ        ทำไมต้องมีการติดต่อประสานงานที่มีประสิทธิภาพ?        ชลชัย อานามนารถ ผู้ช่วยคณบดีและอาจารย์ประจำวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการกีฬา มหาวิทยาลัยมหิดล เฉลยว่า เพราะโดยทั่วไปหากว่ากันตามหลัก First Aid เมื่อเกิดเหตุใดๆ ขึ้น ทีมแพทย์ต้องสามารถเข้าถึงนักวิ่งได้ภายในเวลา 4 นาทีเพื่อให้ความช่วยเหลือและส่งโรงพยาบาลได้ทันท่วงที ดังนั้นงานวิ่งที่ดีจะต้องมีการวางแผนกำลังคนของทีมแพทย์อย่างรัดกุม        ความปลอดภัยของนักวิ่งจึงต้องมาก่อนอาหารที่หลากหลายและความเอร็ดอร่อย จากนั้นจึงมาดูที่การบริหารจัดการต่างๆ เช่น การรับสมัครที่สะดวก ไม่ยุ่งยาก การรับเสื้อและเบอร์วิ่งที่มีระบบ จุดฝากของมีหรือไม่ มีกี่จุด จุดจอดรถอยู่ตรงไหน ชลชัยแนะนำว่างานวิ่งที่มีการจัดการที่ดีมักบอกรายละเอียดเหล่านี้ให้นักวิ่งได้รับรู้ก่อนเสมอ        สายอุปกรณ์        เมื่อคุณวิ่งไปสักระยะหนึ่ง คุณน่าจะเคยได้ยินคำว่า ‘สายอุปกรณ์’ หมายถึงนักวิ่งที่จัดหนัก จัดเต็ม กับอุปกรณ์สารพัดอย่าง บางคนเกิดคำถามในใจว่าจำเป็นแค่ไหน หรือบางคนเห็นเพื่อนมีก็อยากมีบ้าง ต้องตอบว่าไม่มีคำตอบตายตัวสำหรับเรื่องนี้ เพราะด้านหนึ่งก็เป็นความพึงพอใจของนักวิ่งที่มีกำลังซื้อ คงห้ามปรามกันไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีแนวทางในการเลือกอุปกรณ์อยู่เลย        สิ่งที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับแรกคือรองเท้า เพราะรองเท้าที่ดีช่วยลดอาการบาดเจ็บได้จริง นพ.ภัทรภณ กล่าวว่า แต่รองเท้าที่ดีของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน ไม่มีรองเท้าใดที่ดีกับทุกคน เพราะสรีระรูปเท้า วิธีการวิ่งของแต่ละคนไม่เหมือนกัน คำแนะนำที่ดีที่สุดในการเลือกซื้อรองเท้าคือให้ทดลองใส่วิ่งแล้วดูว่ารู้สึกสบายหรือไม่        “มีงานวิจัยว่ารองเท้าที่ช่วยลดอาการบาดเจ็บได้ดีที่สุดคือรองเท้าที่ใส่แล้วรู้สึกสบายที่สุด แค่นั้นเลยครับ แต่ที่บอกว่าเท้าแบน อุ้งเท้าสูง มันก็มีงานวิจัยที่รองรับแค่อย่างเดียวคือเท้าแบน ถ้าเท้าแบนแล้วใส่รองเท้าที่เรียกว่าโมชั่น คอนโทรล ล็อกข้อเท้าหน่อยกันไม่ให้เท้าล้ม อันนี้จะช่วยได้สำหรับคนที่เท้าแบน แต่รองเท้าพวกนี้ไม่ได้สวยมาก เทอะทะนิดหนึ่ง เวลาแนะนำคนไข้ผมก็จะบอกว่ารองเท้าอะไรก็ได้ แต่หาแผ่นรองที่ล็อกข้อเท้ามาใส่”        ถุงเท้า-เดี๋ยวนี้ถุงเท้าสำหรับนักวิ่งบางยี่ห้อราคาสูงถึงคู่ละ 500-600 บาท เช่นกัน มันเป็นเรื่องของกำลังซื้อและวัตถุประสงค์ในการวิ่ง คำแนะนำคือควรเลือกถุงเท้าที่ทำจากใยสังเคราะห์ที่ไม่อุ้มน้ำ ถ้าวิ่งระยะไกลหรือวิ่งเทรล(การวิ่งแบบผจญภัยบนพื้นที่ธรรมชาติ) ก็อาจเลือกถุงเท้าที่มีปุ่มบริเวณพื้นเท้าเพื่อป้องกันการลื่นซึ่งมีราคาสูง และถ้าคุณมีปัญหาเท้าพองระหว่างวิ่ง การซื้อถุงเท้าแบบแยกนิ้วก็จะช่วยได้        รองเท้ากับถุงเท้าน่าจะเป็นอุปกรณ์หลักๆ ที่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษ แล้วนอกนั้นล่ะ? คำตอบแบบกว้างๆ คือขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของผู้วิ่ง        เสื้อ-กางเกงแบบรัดรูป เป้สะพายสำหรับใส่น้ำดื่ม นาฬิกาแบบสมาร์ท และอื่นๆ จำเป็นแค่ไหน เพราะถ้าใครเคยดูการแข่งขันวิ่งมาราธอนระดับโลก จะพบว่านักวิ่งระดับอีลีทก็ใส่เพียงเสื้อยืด กางเกงขาสั้น และรองเท้า...แค่นั้น ชลชัยมีคำแนะนำว่า การจะใช้อุปกรณ์ใดต้องย้อนกลับไปดูว่าเราวิ่งเพื่ออะไรและสภาพร่างกายของเราเป็นอย่างไร        “เช่นนักวิ่งมือใหม่ที่มีข้อจำกัดด้านสุขภาพ นาฬิกาแบบสมาร์ทก็ช่วยให้รู้อัตราการเต้นของหัวใจที่ไม่หนักเกินไป ถ้าเกินจะมีการร้องเตือน หรือถ้ามีน้ำหนักตัวเยอะ แต่ไม่ลงทุนกับรองเท้าเลยก็อาจทำให้เกิดปัญหากับหัวเข่า แต่ละคนมีเหตุผลที่ต่างกัน จุดแรกต้องดูก่อนว่าถ้าคุณมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ มีความเสี่ยง คุณอาจต้องลงทุนในระดับหนึ่งเพื่อให้ตัวเองปลอดภัยมากขึ้น        ส่วนกลุ่มนักวิ่งที่จริงจังขึ้น ต้องการพัฒนาการวิ่ง ถ้าใส่รองเท้าธรรมดา คนที่ความเร็วเท่ากัน รองเท้าดีกว่าก็เซฟแรงมากกว่า หรือนาฬิกาแทนที่จะบอกแค่อัตราการเต้นของหัวใจ บอกแคลลอรี่ แต่สามารถบอกระยะทางได้ คุมฮาร์ทเรทโซนได้ บอกความเร็วเฉลี่ย ช่วงก้าวขวาซ้าย ทำให้ประสิทธิภาพการวิ่งดีขึ้น แต่ต้องใช้ให้เป็นนะ ถ้าใช้ไม่เป็นก็ซื้อแบบถูกๆ ก็เพียงพอ”        ส่วนชุดรัดกล้ามเนื้อ นพ.ภัทรภณ บอกว่าช่วยในเรื่องการฟื้นตัวหลังวิ่ง แต่ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่ง ไม่ได้ป้องกันอาการบาดเจ็บ จึงไม่จำเป็นต้องใส่        “แต่ใส่แล้วมีผลเสียอะไรมั้ย ก็ไม่มี ใส่ได้ เพราะทุกอย่างมันมีผลทางใจ ใส่แล้วรู้สึกโอเค ไม่มีผลเสียอะไร ส่วนอุปกรณ์เสริมอื่นๆ ก็แล้วแต่คนว่าจะใส่เยอะขนาดไหน” เป็นคำตอบจากแพทย์ด้านการวิ่ง        ถึงตอนนี้ใครที่อยากวิ่ง อยากลงสนามก็คงจะพอเห็นแนวทางแล้วว่า จะตรวจสอบสนามแข่ง ตรวจสอบผู้จัดงานได้ที่ไหน อย่างไร ควรจะเลือกรองเท้า ถุงเท้าแบบไหน จะสวมใส่อุปกรณ์อะไรบ้าง ทั้งหมดคงต้องดูที่วัตถุประสงค์ว่าคุณวิ่งเพื่ออะไร มีงบประมาณเท่าไหร่ แล้วลองหาสิ่งที่ตอบโจทย์ให้ได้มากที่สุด        แล้วคุณจะมีความสุขกับการวิ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 212 ทดสอบ เสื้อยืดใส่วิ่ง

นวัตกรรมสิ่งทอถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสบการณ์การชีวิตให้น่ารื่นรมย์ขึ้น เสื้อยืดเก่าๆ ที่เราเคยใส่ออกกำลังกายดูจะ “เอ้าท์” เมื่อมีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตเสื้อจากเส้นใยโพลีเอสเตอร์ ให้มีน้ำหนักเบา ซับเหงื่อได้ดี แถมไม่ยืดย้วย ออกมาจำหน่าย (ในสนนราคาที่ออกจะแพงอยู่สักหน่อย)ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอนำผลทดสอบเสื้อยืดสำหรับใส่วิ่งออกกำลังกายที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศโดยกลุ่มสมาชิกในยุโรปได้ทำไว้มาเอาใจสายสปอร์ตกันบ้าง ในภาพรวมนั้นยังไม่มีแบรนด์ไหนได้คะแนนถึงร้อยละ 80 ไม่ว่าจะแบรนด์กีฬาระดับโลกหรือแบรนด์ประจำบ้านของซูเปอร์มาร์เก็ตรุ่นที่ได้คะแนนมากที่สุดได้แก่ เสื้อวิ่งสำหรับผู้ชายยี่ห้อ Craft รุ่น Mind SS Tee จากสวีเดน ในขณะที่รุ่นที่ได้คะแนนน้อยที่สุดได้แก่เสื้อวิ่งสำหรับผู้หญิงยี่ห้อ Lidl รุ่น CRIVIT (TOPCOOL) การทดสอบครั้งนี้แบ่งคะแนนออกเป็นสามด้าน  - ประสิทธิภาพในการเก็บและระบายความร้อน/เหงื่อ                                        ร้อยละ 40- ความรู้สึกสบายและคล่องตัวเมื่อสวมใส่                                                                    ร้อยละ 40 - ความทนทานต่อการเสียดสี/ขัดถู และความคงทนของสี                            ร้อยละ 20มาดูกันว่าเสื้อยี่ห้อไหนใส่แล้วคุ้มเงินที่จ่ายมากกว่ากัน เราแยกไว้เป็นรุ่นสำหรับผู้หญิงและผู้ชายให้คุณดูได้สะดวก ทั้งนี้อย่าลืมตรวจสอบราคาอีกครั้งก่อนตัดสินใจ มีความเป็นไปได้ที่ราคาอาจถูกกว่าในร้านออนไลน์ที่มีโปรโมชันลดราคา (แต่อย่าลืมว่าคุณอาจต้องจ่ายค่าขนส่งและภาษีด้วย หากสั่งจากต่างประเทศ) 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point


ฉบับที่ 188 Running App

วันนี้บริษัทเทคโนโลยีไอทีเข้ามามีบทบาทต่อสุขภาพของเรามากขึ้น หลายคนเลือกใช้อุปกรณ์วัดความฟิตชนิดสวมที่ข้อมือ (ดูผลการทดสอบย้อนหลังได้ในฉลาดซื้อ เล่มที่ 184) หลายคนนิยมใช้ประโยชน์จากสมาร์ทโฟนที่มีอยู่ด้วยการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นสำหรับวัดและติดตามการออกกำลังกายมาใช้ แอปส่วนใหญ่ไม่มีค่าใช้จ่ายในการดาวน์โหลด แต่อาจมีโฆษณาบนหน้าจอ หรือมีฟังก์ชั่นเพิ่มให้หากเราเลือกที่จะซื้อหรือสมัครเป็นสมาชิก แต่เดี๋ยวก่อน... แม้จะฟรีแต่เราก็ควรเลือกให้ดี เพราะเราจะไม่สามารถโอนข้อมูลที่บันทึกไว้ไปยังแอปใหม่ได้ ฉลาดซื้อ ฉบับนี้ขอนำเสนอผลทดสอบเปรียบเทียบแอปสำหรับการออกกำลังกายด้วยการวิ่ง โดยเน้นเรื่องความแม่นยำในการบันทึกข้อมูลและการไม่ละเมิดความเป็นส่วนตัวของผู้ใช้เป็นหลัก เราทดสอบทั้งหมด 6 แอป ซึ่งได้รับความนิยมสูงในร้านApp Store และ Google Play ได้แก่   1. Adidas Train and run(iOS และ Android)2. Endomondo Running & walking(iOS และ Android)3. Nike Nike+ Running(iOS และ Android)4. Runkeeper GPS Track Run Walk(iOS และ Android)5. Runtastic Running & Fitness(iOS และ Android)6. Sports Tracker Running Cycling(iOS และ Android) โทรศัพท์ที่ใช้ในการทดสอบได้แก่iPhone 6S (iOS9.2) และ Google Nexus 5X(Android 6.0) ประเด็นทดสอบและผลการเปรียบเทียบในภาพรวม• ประวัติการวิ่ง– การบันทึกและแสดงข้อมูล / เวลา ความเร็ว ระยะทาง แคลอรี่ การเปลี่ยนระดับความชัน การพยากรณ์อากาศ น้ำหนักตัว ฯลฯ Runtastic/RunkeeperและEndomondoทำได้ดี • ความหลากหลายของฟีเจอร์/ฟังก์ชั่นต่างๆ –Runtastic/Runkeeperและ Nike+ (iOS)มีให้เลือกมากกว่า ทั้งฟีเจอร์ระหว่างการออกกำลังและฟีเจอร์ทั่วไป เช่น ข้อมูลโภชนาการ แผนการวิ่ง และเพลงประกอบ • ความสะดวกในการใช้ดูจากการใช้ประจำวัน การรับสายเข้า การตั้งค่า และความยากง่ายในการใช้ เวลาในการเปิดแอป การจัดวางข้อความบนหน้าจอ ปุ่มกด เมนู ขนาดไอคอน และการออกแบบเมนู เรื่องนี้ต้องยกให้ Endomondo/ SportsTracker/ Nike+และ Adidas (iOS) • ประสิทธิภาพได้แก่ความแม่นยำในการวัดระยะทาง การประหยัดพลังงาน รวมไปถึงโฆษณาและป็อปอัป แอปที่ได้คะแนนนำได้แก่ Runkeeper (Android)/SportsTracker(Android)/ Adidas และNike+(iOS) ในภาพรวมพบว่า ความผิดพลาดสูงสุดในเรื่องการวัดระยะทางของแอปเหล่านี้อยู่ที่ประมาณร้อยละ 3เท่านั้น ส่วนระยะเวลาในการใช้งานแบตเตอรี่อยู่ระหว่าง 258 นาทีถึง 331 นาทีแอปที่มาที่หนึ่งคือEndomondo (Android)และเข้าที่โหล่ได้แก่ Nike+ (Android) • เว็บไซต์ที่ผู้ใช้สามารถเข้าไปตรวจสอบบันทึกการวิ่ง ที่ทำได้เกินหน้าใครได้แก่Endomondo/Runtastic/SportsTrackerและ Runkeeperแต่ที่ไม่เข้าตากรรมการเลยคือAdidas • การมีส่วนร่วมกับสังคมออนไลน์เช่นชวนเพื่อน แชร์ผล หรือส่ง/รับคำท้าวิ่ง เป็นต้น • ความเป็นส่วนตัวเนื่องจากแอปเหล่านี้ต้องใช้คู่กับสมาร์ทโฟนของเราซึ่งมีข้อมูลต่างๆ อยู่มากมาย ทีมทดสอบจึงติดตามการเดินทางของข้อมูลในโทรศัพท์ของผู้ใช้ด้วย เขาพบว่า Endomondo/ Adidas (Android)/RunkeeperและSportsTracker(iOS)แอบส่ง “หมายเลขประจำตัว” ของโทรศัพท์ไปยังบุคคลที่สาม นั่นหมายความว่าบริษัทโฆษณาจะสามารถสร้างโปรไฟล์ผู้ใช้และติดตามพฤติกรรมของเจ้าของโทรศัพท์ได้ นอกจากนี้แอปบางตัว เช่น Endomondo (Android) และ Runkeeperยังแชร์ตำแหน่งที่อยู่ของผู้ใช้กับบริษัทโฆษณา ในขณะที่ Runkeeper(Android) แชร์ที่อยู่อีเมล์กับพาร์ทเนอร์ของบริษัทและพยายามขอเข้าดูข้อมูลการใช้โทรศัพท์ด้วย ถ้าเรื่องความเป็นส่วนตัวเป็นเรื่องใหญ่สำหรับคุณ เราขอแนะนำ Nike+ / Adidas/RuntasticและSportsTracker(Android)-------------------------------------------- ชนิดของข้อมูลที่แอปฯ ต้องการจากคุณ แยกตามระดับความอ่อนไหวข้อมูลทั่วไปข้อมูลเกี่ยวกับตัวเครื่อง: ยี่ห้อ รุ่น ระบบปฏิบัติการ ความละเอียดหน้าจอผู้ให้บริการเครือข่ายชื่อเครือข่าย wifiที่ใช้เชื่อมต่อ ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวหมายเลขประจำตัวเครื่อง (UID IFA …)IMEI ข้อมูลที่มีความอ่อนไหวมากที่อยู่อีเมล์ของผู้ใช้โทรศัพท์รหัสผ่านต่างๆหมายเลขโทรศัพท์ประวัติการเข้าชมหน้าเว็บพิกัด GPSรูปถ่ายที่เก็บในโทรศัพท์ประวัติการโทรออก/รับสายเนื้อหาในอีเมล์เนื้อหาในข้อความสั้น (SMS)รายชื่อผู้ติดต่อ (ชื่อ ที่อยู่ อีเมล หมายเลขโทรศัพท์)           

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 175 แบรนด์รองเท้าวิ่งกับความรับผิดชอบต่อสังคม

งานสำรวจขององค์กรผู้บริโภคพบว่า ประมาณร้อยละ 20 ของราคารองเท้ากีฬาแบรนด์ดังที่เราซื้อมา เป็นสิ่งที่เราจ่ายเป็น “ค่าแบรนด์” เพื่อแลกกับความมั่นใจว่าจะได้สินค้าที่มีคุณภาพ น่าเชื่อถือ และเป็นตัวแทนของความดีงามต่างๆ นานา หลายปีมานี้ “ความรับผิดชอบต่อสังคม” (Corporate Social Responsibility: CSR) ที่กำลังมาแรงก็เป็นอีกองค์ประกอบในการสร้างแบรนด์ของธุรกิจต่างๆ เพราะผู้บริโภคยุคใหม่ต้องการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมผ่านสินค้า/บริการที่ตนเองเลือกซื้อด้วยเช่นกัน แต่การดำเนินงาน “หลังบ้าน” ของบริษัทก่อนจะได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการนั้นมีรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมขนาดไหนยังไม่ค่อยมีใครทราบ การรับรู้เรื่อง CSR ในบ้านเราค่อนไปทางการ “คืนกำไรสู่สังคม” หรือ “อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” ผ่านการบริจาคเงิน สิ่งของ สร้างอาคาร หรือปลูกป่า ฯลฯ ที่ได้รับการเผยแพร่ผ่านสื่อ เสียมากกว่าสมาชิกฉลาดซื้อไม่ต้องวิตกไป เรามี “เรื่องหลังบ้าน” มาฝากคุณเป็นประจำ คราวนี้เรามีผลสำรวจโดยนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคเยอรมนี Stiftung Warentest ที่เจาะลึกเบื้องหลังการผลิตรองเท้าวิ่งรุ่นยอดนิยม 9 แบรนด์ที่ขายในเยอรมนี (สนนราคาตั้งแต่ 110 – 180 ยูโร หรือ 4,500 – 7,300 บาท) ด้วยการหาข้อมูล สัมภาษณ์ และเยี่ยมชมโรงงาน (ทั้งในส่วนของโรงงานผลิตพื้นรองเท้า โรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ และโรงงานประกอบรองเท้า) ในช่วงเดือนมกราคมถึงมิถุนายนที่ผ่านมา เพื่อค้นหาแบรนด์ที่ให้ความสนใจกับสภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน ใส่ใจกับการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมพร้อมๆกับการดูแลผู้บริโภค และที่สำคัญคือใครมีความโปร่งใสในการดำเนินงานมากกว่ากัน แบรนด์ที่วิ่งนำหน้าเข้าเส้นชัยได้แก่ Brooks และที่ตามมาติดๆคือ Addidas  Reebok และ Salomon แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังได้คะแนนไปเพียง 3 ดาวเท่านั้น ส่วนแบรนด์ที่ถือว่าแพ้ฟาวล์ (เพราะไม่ให้ความร่วมมือในการสำรวจ) ได้แก่ Mizuno  New Balance  Nike  และ Saucony   ---------------------------------------------------------------------------------------------คะแนนรวม ความรับผิดชอบต่อสังคม 100 คะแนน คิดจาก นโยบายบริษัทด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการดูแลผู้บริโภค            ร้อยละ 15สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานประกอบตัวรองเท้า        ร้อยละ 25สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตพื้นรองเท้า        ร้อยละ 25สภาพการทำงานและการรักษาสิ่งแวดล้อมในโรงงานผลิตชิ้นส่วนอื่นๆ         ร้อยละ 25ความโปร่งใส                                 ร้อยละ 10•    นโยบายบริษัทในที่นี้หมายถึง แนวปฏิบัติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงาน การฝึกอบรม การรักษาสิ่งแวดล้อม การจัดซื้อ มลภาวะที่เกิดขึ้นในการผลิตหรือมลภาวะจากตัวรองเท้า การติดต่อสื่อสารกับองค์กรไม่แสวงหากำไร และการให้บริการลูกค้า  •    สภาพการทำงานในโรงงานผลิตพื้นรองเท้าและส่วนประกอบอื่นๆ หมายถึง มาตรการขั้นต่ำด้านแรงงาน การส่งเสริมสุขภาพ ความปลอดภัยในการทำงาน การดูแลด้านสังคม สวัสดิการและเงินเดือน รวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม•    ความโปร่งใส วัดจากความร่วมมือในการให้สัมภาษณ์ การอนุญาตให้ตรวจเยี่ยมโรงงาน และสัมภาษณ์พนักงาน                   ในบ้านเราการวิ่งออกกำลังกายกำลังได้รับความนิยมมากขึ้น ดูได้จากยอดขายรองเท้าวิ่งที่เติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก CRC SPORTS เดือนมีนาคม 2558 ระบุว่า ร้อยละ 60 ของตลาดอุปกรณ์กีฬามูลค่า 22,000 ล้านบาทของประเทศไทยเป็นตลาดรองเท้ากีฬา และการวิ่งออกกำลังกายมีแนวโน้มจะได้รับความนิยมสูงสุดในปีนี้ (ร่วมกับกีฬาอีก 3 ชนิด ได้แก่ จักรยาน ว่ายน้ำ และกอล์ฟ)-----------------------------------------------------มาวิ่งกันเถอะ ... มาวิ่งกันเถอะ•    สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา ระบุว่าการวิ่งออกกำลังกายสัปดาห์ละ 75 นาที สามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจได้ •    การออกกำลังกายทุกชนิดล้วนดีต่อกระดูก นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมิชิแกนพบว่า ถ้าคุณวิ่งออกกำลังกายครั้งละ 12 -20 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง  ความหนาแน่นของกระดูกจะเพิ่มขึ้น•    การวิ่งสามารถช่วยลดความดันเลือดได้ดีกว่ายาหรือการควบคุมอาหาร •    งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตันพบว่า หนูทดลองอายุมากที่ต้องวิ่งเป็นประจำ แสดงอาการสมองเสื่อมช้ากว่ากลุ่มที่ไม่ได้วิ่ง การวิ่งก็น่าจะช่วยชะลอการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในคนได้เช่นกัน  •    งานวิจัยจากโรด ไอแลนด์ คอลเลจ พบว่านอกจากจะทำให้สุขภาพโดยรวมดีขึ้นแล้ว การวิ่งยังช่วยเพิ่มผลิตภาพและความคิดสร้างสรรค์ด้วย•    เมื่อคุณวิ่ง คุณจะใช้งานกระดูก 26 ชิ้น ข้อต่อ 33 ข้อ และเอ็นกระดูก 112 เส้น รวมถึงเครือข่ายเอ็นกล้ามเนื้อ ปลายประสาท และเส้นเลือด (นี่แค่เท้าอย่างเดียวนะ)•    ... ทั้งนี้ คุณต้องวิ่งอยู่ในทางสายกลางนะจ๊ะ คนที่วิ่งสัปดาห์ละ 20 -30 กิโลเมตรต่อสัปดาห์จะมีภูมิคุ้มกันโรคดีขึ้น ในขณะที่คนที่วิ่งสัปดาห์ละ 80 กิโลเมตร จะมีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจมากกว่าคนทั่วไป 2 เท่า •    โดยทั่วไปผู้ชายจะวิ่งได้เร็วกว่าผู้หญิง เพราะมีมวลกล้ามเนื้อและความจุปอดมากกว่า ปริมาณเทสโตสเตอโรนและฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดก็สูงกว่า แต่คุณผู้หญิงอย่าเพิ่งท้อ ... ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการออกกำลังกายด้วยการวิ่งจะเกิดขึ้นได้รวดเร็วและชัดเจนกว่าในผู้หญิง เช่น กล้ามเนื้อขาที่กระชับขึ้น หรือรอบเอวที่ลดลง  •    การสวมรองเท้าวิ่งราคาถูกช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บได้ ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเบิร์นซึ่งทำการวิเคราะห์นักวิ่งจำนวน 4,358 คน พบว่า คนที่ใช้รองเท้าราคาสูงกว่า 95 เหรียญ (ประมาณ 3,400 บาท) มีโอกาสบาดเจ็บเป็นสองเท่าของคนที่สวมรองเท้าวิ่งราคาไม่เกิน 40 เหรียญ (ประมาณ 1,400 บาท)  วารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise ก็พบว่าผู้ที่ใส่รองเท้าที่มีฟีเจอร์แพรวพราว จะมีโอกาสได้รับบาดเจ็บมากขึ้น  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 104 วิ่งอย่างรับผิดชอบ

เรื่องทดสอบ 2ฝนเริ่มซาฟ้าเริ่มใส ได้เวลาออกไปหาวิ่งออกกำลังกินลมชมวิวกันแล้วพี่น้อง คราวนี้นอกจากจะปัดฝุ่นและสำรวจว่ารองเท้าวิ่งที่คุณมีอยู่นั้นยังใช้ได้ดีอยู่หรือควรซื้อคู่ใหม่แล้ว ฉลาดซื้ออยากชวนทุกท่านมามองให้ลึกลงไปว่ากว่าจะมาเป็นรองเท้าวิ่งที่ให้เราได้โลดลิ่วไปข้างหน้าสู่ฝันอันยิ่งใหญ่ เช่นผอมลง หรือเฟิร์มขึ้นนั้น เราได้ทิ้งปัญหาสังคมหรือสิ่งแวดล้อมไว้เบื้องหลังหรือเปล่า ฉบับนี้มีผลการสำรวจ โดยองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (ICRT หรือ International Consumer Research and Testing) ซึ่งทำในช่วงปลายปี พ.ศ. 2551 เพื่อให้ข้อมูลกับผู้บริโภคเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมของบรรดาแบรนด์รองเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกาย (ไม่รวมรองเท้ากีฬาประเภทอื่นหรือรองเท้าแฟชั่น/ลำลอง) ย้ำว่าเป็นการสำรวจเฉพาะกิจการของบริษัทในด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การผลิต จัดหาวัตถุดิบ การตลาด การจัดจำหน่าย และลูกค้าสัมพันธ์ สำหรับผลิตภัณฑ์รองเท้าสำหรับวิ่งออกกำลังกาย ในระหว่างปีพ.ศ. 2548 -2550 เท่านั้น ทีมสำรวจได้ส่งแบบสอบถามและขออนุญาตเยี่ยมชมโรงงานของบริษัททั้งหมด 9 บริษัท แต่มีเพียง 5 บริษัทเท่านั้นที่ให้ความร่วมมือ ได้แก่ รีบอค อาดิดาส พูม่า นิวบาลานส์ และมิซูโน* ส่วนที่เหลืออีก 4 บริษัท ได้แก่ไนกี้ แอสซิค บรู๊คส์ และซอโคนี่ ขอไม่เข้าร่วมการสำรวจครั้งนี้ มาดูกันเลยดีกว่าว่าบริษัทผู้ผลิตรองเท้ายี่ห้อดังๆที่ทำตลาดไปทั่วโลกนั้นได้แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด แบรนด์ที่คุณรักนั้นน่ารักจริงหรือไม่ การผลิตรองเท้าสำหรับวิ่งนั้นเป็นกระบวนการที่ต้องใช้แรงงานอย่างเข้มข้น โดยเฉลี่ยแล้วรองเท้าหนึ่งคู่อาจมีชิ้นส่วนถึง 50 ชิ้นที่ต้องใช้การประกอบด้วยมือ แต่เชื่อหรือไม่ว่า ในราคารองเท้าหนึ่งคู่นั้น มีส่วนแบ่งที่เป็นค่าแรงของพนักงานไม่ถึงร้อยละ 1 สำรวจอะไรบ้าง? นโยบายของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ? นโยบายด้านสังคม การดูแลพนักงาน สภาพการทำงาน ในกระบวนการผลิตรองเท้าวิ่ง? นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม มาตรการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการรักษาสิ่งแวดล้อมในกระบวนการผลิต ? ความโปร่งใสในการให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชน ประเด็นน่าสนใจ บริษัทรองเท้าวิ่ง ยี่ห้อดังๆ ต่างก็ตื่นตัวในเรื่องความรับผิดชอบต่อกระบวนการต่างๆในการจัดหาวัตถุดิบมาใช้ในการผลิต อาดิดาส รีบอค และพูม่า มีการปรับปรุงเรื่องนี้อย่างเป็นรูปธรรม ในขณะที่นิวบาลานส์และมิซูโน ยังคงตามหลังเพื่อนอยู่บ้างในบางเรื่อง แม้หลายๆแบรนด์จะพยายามเพิ่มสินค้าประเภทเสื้อผ้า หรือเครื่องกีฬาอื่นๆ แต่ผลิตภัณฑ์ที่ทำกำไรให้มากที่สุดยังคงเป็น รองเท้ากีฬานั่นเอง ตัวอย่างแนวคิดและกิจกรรมดีๆจาก รีบอค พูม่า อาดิดาส และนิวบาลานส์ - การเข้าร่วมโครงการต่างๆของสมาคมยุติธรรมแรงงาน (Fair Labour Association) - การจัดให้มีระบบรับเรื่องร้องเรียนของพนักงาน - การฝึกอบรมให้กับพนักงานทั้งฝ่ายปฏิบัติการและฝ่ายบริหาร - การจัดตั้งทีมงานในโรงงานเพื่อการตรวจสอบภายใน ลักษณะโดยทั่วไปของพนักงานในโรงงานรองเท้าที่นักวิจัยได้ทำการสำรวจ คือ เป็นหญิง อายุระหว่าง 20 -30 ปี ทำงานมาแล้วคนละประมาณ 2 – 3 ปี และร้อยละ 99 เป็นคนต่างด้าว พนักงานได้รับค่าแรงขั้นต่ำตามอัตราที่กฎหมายกำหนด แต่พวกเขายังไม่มีรายได้เพียงพอที่จะใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข แม้จะพบว่าไม่มีโรงงานไหนจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าอัตราขั้นต่ำ แต่พนักงานกลับถูกหักเงินเดือนเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร และค่าทำความสะอาดพื้น (รวมๆแล้วประมาณ ร้อยละ 75 ของอัตราค่าแรงขั้นต่ำ) พนักงานส่วนใหญ่ยังไม่เข้าใจเรื่องของสหภาพแรงงาน และมีจำนวนมากที่ไม่ยอมรับว่าตนเองเป็นสมาชิกของสหภาพแรงงาน ทั้งๆที่มีหลักฐานในใบรับเงินเดือนว่าพวกเขาถูกหักเงินเพื่อเป็นค่าบำรุงสหภาพทุกเดือน แม้ว่าจากการสำรวจครั้งนี้จะไม่พบสภาพที่เรียกว่า “โรงงานนรก” แต่ก็ยังต้องมีการปรับปรุงอีกหลายๆด้าน เช่น พนักงานยังไม่มีความเข้าใจในเรื่องสิทธิของตนเอง นอกจากนี้ยังไม่มีการปรับสภาพการทำงาน มีอยู่โรงงานหนึ่งที่นักวิจัยพบว่า พนักงานมีความบกพร่องทางการได้ยิน และมีภาวะโลหิตจางในระดับสูง นอกจากนี้ยังพบว่าพนักงานจำนวนไม่น้อยยังมีความเสี่ยงต่อเครื่องจักรและสารแคมีที่เป็นอันตรายอยู่ การประกอบรองเท้านั้นเป็นเพียงขั้นตอนสุดท้าย แต่มันเป็นการนำเอาชิ้นส่วนที่ทำเสร็จแล้วจากกระบวนการก่อนหน้านั้นที่อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ของเสียที่เกิดจากการผลิต เศษผ้า เศษชิ้นส่วน ก็อาจเป็นผลต่อสิ่งแวดล้อมได้ถ้าไม่มีระบบการจัดการที่ดีพอ ข้อมูลจากกรีนพีซระบุว่าอุตสาหกรรมรองเท้านั้นต้องใช้หนังสัตว์ จำนวนมากจึงทำให้เกิดการทำลายพื้นที่ป่าอเมซอนอย่างกว้างขวางเพื่อเคลียร์พื้นที่ให้กับไร่ปศุสัตว์ เพื่อสนองความต้องการรองเท้าของคนทั้งโลก คุณจ่ายค่าอะไรบ้าง เมื่อซื้อรองเท้าวิ่งหนึ่งคู่สมมุติว่ารองเท้าคู่นี้ราคา 100 บาท 32.60 บาท >> ร้านค้าปลีก 17.4 บาท >> ภาษีมูลค่าเพิ่ม 13.50 บาท >> เจ้าของแบรนด์ 11 บาท >> การวิจัยและพัฒนา 8.50 บาท >> โฆษณา ประชาสัมพันธ์ 8 บาท >> วัตถุดิบ 5 บาท >> ค่าขนส่งและภาษี 2 บาท >> โรงงานที่ผลิต 1.60 บาท >> ค่าการผลิตอื่นๆ 0.40 บาท >> ค่าแรงของพนักงาน (ข้อมูลจากบทความเรื่อง The Real Deal: Exposing Unethical Behaviour เผยแพร่โดย สหพันธ์ผู้บริโภคสากล Consumers International) ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของจีนคือศูนย์กลางอุตสาหกรรมรองเท้าวิ่งของโลก แม้จะมีหลายๆบริษัทย้ายกิจการไปตั้งที่ประเทศอื่นๆ อย่าง เวียดนาม อินโดนีเซีย และยุโรปตะวันออก เพราะค่าแรงที่ถูกกว่า และกฎระเบียบไม่ค่อยเข้มงวด แต่โรงงานในจีนก็ยังได้เปรียบในเรื่องของการขนส่ง ทั้งถนนที่กว้างกว่า และท่าเรือที่สะดวกกว่าอยู่ดี แค่บริษัท Yue Yuen Industrial (บริษัทลูกของ Pou Chen Group ในไต้หวัน) บริษัทเดียวก็ผลิตรองเท้าออกมาถึงร้อยละ 17 ของรองเท้าจำนวน 190 ล้านคู่ทั่วโลกแล้ว Yue Yuen Industrial คือผู้ผลิตรองเท้ากีฬารายใหญ่ที่สุดในจีน ผลิตให้กับ 40 แบรนด์ ที่เรารู้จักกันดีได้แก่ ไนกี้ อาดิดาส รีบอค พูม่า แอสสิก นิวบาลานส์ คอนเวิร์ส บริษัทดังกล่าวในประเทศจีนมีพนักงานจำนวน 300,000 คน มีงานวิจัยในปีพ.ศ. 2551 ที่พบว่าพนักงานที่นี่มักถูกละเมิดสิทธิ์ ถูกบังคับให้ทำงานล่วงเวลา ถูกผู้บังคับบัญชาดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ มีมาตรฐานความปลอดภัยและสุขภาพอนามัยต่ำ และพนักงานที่นั่น มีรายได้เฉลี่ยต่อคนต่อเดือนเพียง 450 หยวน (2,200 บาท) กำไรจากการผลิตรองเท้ากีฬาของ Yue Yuen Industrial ในปีพ.ศ. 2551 เท่ากับ 390 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 13,000 ล้านบาท Yue Yuen Industrial บอกว่า ร้อยละ 60 ของราคารองเท้า เป็นต้นทุนค่าหนังสัตว์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบ กาว และสารประกอบอินทรีย์ระเหยต่างๆ (Volatile Organic Compound หรือ VOCs) อาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบทางเดินหายใจ ปวดหัว หน้ามือ และส่งผลต่อการมองเห็น รวมทั้งอาจทำให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ดิน และทำให้เกิดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ฝ่ายบริหารของโรงงานในประเทศจีนไม่ให้การรับรองหรือยอมที่จะต่อรองกับสหภาพแรงงาน และผู้ที่พยายามจัดตั้งสหภาพแรงงานมักพบกับปัญหาการคุกคามด้วย กฎหมายของประเทศจีนในเรื่องนี้ยังอ่อน แม้จะมีการใช้กฎหมายใหม่ในปีที่แล้ว แต่สหภาพแรงงานก็ยังถูกควบคุมโดยรัฐบาลค่อนข้างมาก และคนงานที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเหล่านี้มักจะถูกจำคุก วิ่งอย่างรู้เท่าทันหลายคนสงสัยว่าทำไมรองเท้าเดี๋ยวนี้ราคาแพง จะซื้อถูกๆก็กลัวมันจะไม่ดีต่อเท้าเรา เมื่อปีที่แล้วสื่อในบ้านเราเคยเผยแพร่งานวิจัยของสถาบันวิจัยวิเคราะห์การเคลื่อนไหว แห่งโรงเรียนแพทย์และโรงพยาบาลไนน์เวลส์ เมืองดันดี ประเทศอังกฤษ งานวิจัยนี้เป็นการเปรียบเทียบรองเท้ายี่ห้อเดียวกันที่สามระดับราคา ตั้งแต่สนนราคาถูก (ประมาณ 2,400 บาท) ปานกลาง (ประมาณ 3,500 บาท) และแพง (ประมาณ 4,000 บาท) ผลการวิจัยปรากฏว่ารองเท้าเหล่านั้นไม่ได้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจนในเรื่องของประสิทธิภาพในการรับแรงกระแทกแต่อย่างใด * ส่วนรองเท้าที่บอกว่ามีเทคโนโลยีขั้นสูงนั้น นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวคาสเซิลที่ออสเตรเลียได้ทำการประมวลงานวิจัยในเรื่องรองเท้ากีฬาและได้ข้อสรุปว่ายังไม่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่รองรับความเชื่อที่ว่ารองเท้าไฮโซแอนด์ไฮเทคเหล่านั้นจะสามารถช่วยเสริมสมรรถนะนักกีฬา หรือลดอัตราการบาดเจ็บได้แต่อย่างใด ** ก่อนหน้านั้นก็มีงานวิจัยที่พบว่าการที่คนเราหลงเชื่อโฆษณาที่บอกว่ารองเท้าบางรุ่นมีคุณสมบัติในการปกป้องดูแลเท้าเราเป็นพิเศษนั้น ทำให้คนเราอยากจะโชว์พาวมากขึ้น จึงทำให้อัตราการเกิดการบาดเจ็บจากรองเท้าแพงๆเหล่านี้สูงกว่าการบาดเจ็บจากการสวมรองเท้าราคาถูกถึงร้อยละ 123 เลยทีเดียว *** *จากบทความเรื่อง Do you get value for money when you buy an expensive pair of running shoes? ตีพิมพ์ในวารสาร British Journal of Sports Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2550 ** อ้างอิงจากข่าวใน หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2552 *** จากบทความเรื่อง Hazard of deceptive advertising of athletic footwear ในวารสาร British Journal of Sports Medicine เมื่อปี พ.ศ. 2540 วิ่งอย่างมีหลักการ เวลาที่เราเดิน จะเกิดแรงกระแทกลงบนเท้า เป็น 2 เท่าของน้ำหนักตัวเรา และเมื่อเราวิ่ง แรงกระแทกที่ว่านั้นจะเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่าของน้ำหนักตัว ถ้าเราลงน้ำหนักที่ส้นเท้าก่อนแล้วจึงถ่ายน้ำหนักไปยังฝ่าเท้า เราจะสามารถลดแรงกระแทกลงไปได้ครึ่งหนึ่ง เวลาที่เลือกซื้อรองเท้าสำหรับวิ่ง อย่าลืมใส่ใจกับส่วนที่รองรับส้นเท้าเป็นพิเศษ รองเท้าที่ไม่มีพื้นเพื่อรองรับแรงกระแทกจะทำให้ข้อเข่าและข้อเท้าของเราต้องรับน้ำหนักมากขึ้นวัสดุที่ใช้ทำส้นรองเท้าวิ่งนั้นมีปลายประเภท ที่เราพบเห็นส่วนใหญ่เป็นฟองน้ำหรือโฟม ซึ่งจะแตกต่างกันไปในเรื่องความแน่นและความหนา เราอาจเคยเห็นที่เป็นสปริงบ้าง นอกจากนี้ยังมีแบบที่ใช้การอัดลมเข้าไป (ซึ่งนานไปก็รั่วได้) และแบบที่ควบคุมปริมาณลมได้เองด้วยการเติมลมหรือปล่อยลมออกให้เหมาะกับความแข็งของพื้นผิวที่เราวิ่ง (เช่น ถ้าวิ่งบนพื้นแข็งอย่างคอนกรีต ก็อัดลมเข้าไปเพียงเล็กน้อย ถ้าวิ่งบนพื้นยางมะตอยก็อัดลมเข้าไปปานกลาง ถ้าวิ่งบนสนามหญ้าก็อัดลมเข้าไปมากๆ เป็นต้น) แต่ไม่ว่าส้นรองเท้าจะทำด้วยอะไร หลักสำคัญคือเมื่อสวมใส่แล้วลองวิ่งดูแล้วจะต้องไม่แข็งหรือนุ่มเกินไป ถ้าแข็งไปอาจทำให้เราเจ็บเข่าหรือเจ็บเท้าได้ ในขณะที่ถ้ามันนุ่มเกินไป ก็จะทำให้เราทรงตัวได้ไม่ดี นอกจากส้นรองเท้าแล้ว เราควรใส่ใจเรื่องการระบายอากาศของตัวรองเท้าด้วย เลือกรองเท้าที่มีรูระบายอากาศเยอะๆ เพื่อการระบายความร้อนที่ดี เพื่อความปลอดภัย ในกรณีที่คุณชอบวิ่งไนยามโพล้เพล้แดดร่มลมตก รองเท้าของคุณควรมีแถบสะท้อนแสงเพื่อความปลอดภัยจากการถูกรถเฉี่ยวชนด้วย ที่สำคัญควรใส่รองเท้าที่ขนาดกระชับกับเท้าและอย่าลืมใส่ถุงเท้าทุกครั้งด้วย ข้อสำคัญ ถ้าคุณต้องการวิ่งออกกำลังก็ให้ใช้รองเท้าสำหรับวิ่ง ไม่ใช่รองเท้าเล่นบาสเก็ตบอล วอลเลย์บอล หรือ ชกมวย เป็นต้น เพราะเขาออกแบบมาตามชนิดของการเคลื่อนไหวและพื้นผิวที่พื้นรองเท้าต้องสัมผัส รองเท้าวิ่งก็เป็นอนิจจังเหมือนสิ่งอื่นๆในสากลโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกาวที่ประกอบพื้นรองเท้านั้นมีอายุประมาณ 1 ปีเท่านั้น ดังนั้นถ้าซื้อมาแล้วอย่าลืมวิ่งเสียให้คุ้มก่อนที่มันจะหมดอายุขัย ถ้าเราน้ำหนักตัวมาก รองเท้าเราก็มีแนวโน้มจะจากเราไปเร็วขึ้น แต่ไม่ว่าคุณจะน้ำหนักตัวมากหรือน้อยถ้าสังเกตเห็นว่ารองเท้าที่ใส่วิ่งเริ่มตีตัวออกห่างจากเท้าของเราแล้วละก็ เตรียมมองหาคู่ใหม่ไว้ได้เลย และทุกครั้งที่เข้าไปมุงกระบะรองเท้าวิ่งลดราคา อย่าลืมดูวันผลิตด้วยว่ามันยังเหลือเวลาที่จะอยู่กับคุณอีกนานแค่ไหน ขอขอบคุณ ผศ. ดร.เฉลิม ชัยวัชราภรณ์ อดีตคณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำหรับคำแนะนำอันเป็นประโยชน์สำหรับสมาชิกฉลาดซื้อ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point