ฉบับที่ 228 ผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมายกับโฆษณาแฝงอีกปัญหาที่ยากจัดการ

        ย้อนกลับเมื่อช่วงเวลาเดียวกันนี้ของปี 2562 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้เปิดเผยข้อมูลการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคทั่วประเทศกว่า 4,182 ราย ซึ่งครอบคลุมด้านการเงินการธนาคาร ด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ด้านบริการสาธารณะ ด้านสินค้าและบริการทั่วไป ด้านสื่อและโทรคมนาคม ด้านที่อยู่อาศัย และด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข พบว่า         ปัญหาด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ รั้งแชมป์มีคนร้องเรียนมากที่สุด จำนวน 1,534 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 36.68 รองลงมา คือ ด้านบริการสาธารณะ ร้องเรียน 820 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 19.61 หมวดบริการสุขภาพและสาธารณสุข ร้องเรียน 703 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 16.81          โดยสภาพปัญหายังเป็นเรื่องเดิมๆ คือ “โฆษณา” พบว่ามีทั้งการโฆษณาอันเป็นเท็จหลอกลวง โอ้อวดสรรพคุณเกินจริง ทำให้เข้าใจผิดและหลงเชื่อ ผลิตภัณฑ์ไม่มีฉลากหรือไม่มีฉลากภาษาไทย ไม่มีเครื่องหมาย อย. โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ ที่อวดอ้างสรรพคุณสามารถรักษาโรคได้ ซึ่งช่องทางที่พบการโฆษณา คือทางโทรทัศน์และวิทยุชุมชน ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อได้ส่งถึงผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหาก็ใช้ระยะเวลายาวนานมาก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์เจ้าปัญหายังมีขายเกลื่อนท้องตลาดต่อไป            ข้างต้นนั้นคือข้อมูลเมื่อปีที่แล้วและเป็นข้อมูลการเอาเปรียบผู้บริโภคผ่านการโฆษณาแบบชัดเจน ยังไม่นับรวมในเรื่องของการโฆษณาแฝงในสื่อต่างๆ ซึ่งเรายังไม่ต้องไปพูดถึงว่าเป็นของจริงหรือหลอก แต่แค่ปล่อยให้มีการโฆษณาแฝงในรายการทั่วไปก็ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าถูกเอารัดเอาเปรียบ เพราะเราตั้งใจเข้ามาดูเนื้อหาในรายการ แต่กลับถูกยัดเยียดการโฆษณาขายสินค้าแบบเนียนบ้าง ไม่เนียนบ้าง ทำให้เสียอรรถรสในการรับชมรายการไปแล้ว         เกี่ยวกับเรื่องนี้ “ดร.ตรี บุญเจือ” ผอ.การส่วนไกล่เกลี่ยข้อพิพาทและเลขานุการคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ระบุว่า ในแง่ของการกำกับเนื้อหาการโฆษณา ตามมาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดว่าการโฆษณาจะต้องไม่โป๊เปลือย ลามกอนาจาร เสื่อมศีลธรรมของประชาชนอย่างร้ายแรง ไม่ทำให้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง         นอกจากนี้ยังมีการกำกับระยะเวลาในการโฆษณาทางสถานีโทรทัศน์ วิทยุ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกอัดโฆษณาจนเกิดเดือดร้อนรำคาญ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอาจจะยังไม่ครอบคลุมไปถึงขั้นการดูแลโฆษณาแฝง         เหตุผลคือ “รูปแบบของการโฆษณา” ซึ่งขณะนี้ กสทช. ยังไม่ได้มีประกาศนิยามเรื่องของการโฆษณาแฝง แต่ที่ผ่านมามีความพยายามในการพูดถึงการออกประกาศในภาพรวม แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อหลายๆ ส่วนเลยยังอยู่ในกระบวนการที่พิจารณาและศึกษาเพิ่มเติม         แต่ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีประกาศชัดเจนเกี่ยวกับข้อห้ามการโฆษณาแฝงที่ชัดเจนออกมา แต่ถามว่ายังคงกำกับดูแลอยู่ไหม ก็ยังทำอยู่ตามที่มีอำนาจ เช่น การกำกับเนื้อหาการออกอากาศจะต้องไม่เอาเปรียบผู้บริโภค ไม่หลอกลวงผู้บริโภค มีหลายครั้งที่เขาส่งผังรายการมาเป็นว่า รายการแต่มีการพูดถึงผลิตภัณฑ์สุขภาพ แล้วบอกสรรพคุณที่เกินจริงไปทำให้เข้าใจผิดในสาระสำคัญ ก็สามารถกำกับดูแลและหาตรงนี้ได้ ถ้าเชิงสังคมอาจเรียกว่าสามารถทำได้ แต่ถ้าในเชิงกฎหมายเรียกว่าก็ยังไม่ได้มีประกาศห้ามไว้         ตอนนี้พยายามตรวจสอบและนำกฎหมายที่มีอยู่มาตรวจจับกันอยู่โดยทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เฝ้าระวังทั้งเนื้อ หารูปแบบ การพูดถึงสินค้า ว่ามีการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ เกินจริงหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าโฆษณาแฝงบางตัวมีการพูดถึงสรรพคุณ คุณประโยชน์ที่เกินจริงไป โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์สุขภาพ จึงมีคำสั่งทางปกครองไปอยู่บ้าง บางรายถูกเรียกให้มาชี้แจง แจ้งเตือน เป็นต้น          ดร.ตรี บอกว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการกำกับดูแลการโฆษณาแฝงที่เคยคุยกันก่อนหน้านี้ ที่มองกันไว้ในเบื้องต้นมี 4 ลักษณะ คือ            1. Product placement หรือการนำผลิตภัณฑ์ไปวางไว้ในรายการเฉยๆ            2. Product movement คือ มีการหยิบ จับ แสดงสินค้า            3. Product experience คือมีการพูดถึงสิ้นค้านั้นๆ ในรายการ และ            4. การเขียนสคริป สร้างเรื่องราวของสินค้าตัวนั้นๆ ในรายการ         ก่อนหน้านี้ได้มีการคุยกับเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน พบว่าในรายการวิทยุ จะมีการเผยแพร่นิทานชีวิตตลกขำๆ นิทานสั้นๆ เขียนบทสนทนาของตัวละคร 2 ตัวที่พูดถึงผลิตภัณฑ์เข้าไปว่าจะไปซื้อผลิตภัณฑ์ได้ที่ไหนอย่างไร สรรพคุณเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ จริงๆ แล้ว หลายชิ้นก็แยกไม่ชัด ซึ่งก็ได้ขอให้เครือข่ายผู้บริโภคช่วยดูและศึกษาว่ามีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริงหรือไม่ มีการทำให้เดือดร้อนรำคาญหรือไม่ แต่ในกลุ่มเครือข่ายผู้บริโภคก็ค่อนข้างเห็นว่าเป็นการสร้างสรรค์อยู่เช่นเดียวกัน จึงมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องทำให้กระบวนการผู้บริโภคให้มีความรู้เท่าทันด้วยว่านี่เป็นโฆษณาแฝงในรายการ          สำหรับวิธีการป้องปรามป้องกันการโฆษณาแฝงใน 4 รูปแบบนั้น ยังไม่ได้มีการคุยกัน เพราะอย่างที่บอกว่า “เป็นเพียงประเด็นเรื่องของการทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนรำคาญใจ” เช่น มีการซูมให้เห็นเด่นชัดและค้างเป็นเวลานาน หรือว่าพูด ตอกย้ำ ซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญใจหรือไม่         อย่างไรก็ตามถ้าวันหนึ่งวันใดถึงเวลาที่ต้องลุกขึ้นมาควบคุมกันจริงๆ จากการศึกษามาในหลายๆ ประเทศ ก็มีโมเดลที่ต่างกัน เช่น อังกฤษห้ามการโฆษณาแฝงในหลายๆ รูปแบบ ห้าม Tie-in หลายประเทศก็ให้มีการขับเคลื่อนกันเอง สิงคโปร์ก็ไม่ได้มีกฎหมายที่พูดชัดเจน ส่วนมาเลเซียมีการควบคุมที่ไม่เต็มร้อย เป็นต้น         เพราะฉะนั้นตนมองว่า “ทุกอย่างไม่ได้แก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายใหม่ แต่อาจจะมีการกำกับดูแลในมิติกฎหมายเดิมที่มีอยู่แล้ว นำไปปรับใช้ ซึ่งตอนนี้ก็ใช้อยู่ แต่ว่าในเรื่องของเวลายังไม่ได้พิจารณาว่าจะต้องกำกับดูแลเพิ่มเติมหรือไม่ว่าไม่ให้เกินกี่นาที กี่วินาที”        อย่างไรก็ตาม ตรงนี้ประชาชนจะมีส่วนร่วมได้มาก หากรู้สึกว่าถูกคุกคามเอารัดเอาเปรียบสามารถร้องเรียน หรือมีข้อเสนอแนะเข้ามาที่กสทช.ได้ แล้วจะถูกพิจารณาเป็นรายกรณีไป ซึ่งจะมีขั้นตอน ส่วนระยะขึ้นอยู่กับแต่ละกรณี เช่น หลังรับเรื่องร้องเรียน กสทช.จะต้องแจ้งว่าได้รับเรื่องร้องเรียนแล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาที่มีคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ก่อนจะนำผลสรุปเข้าบอร์ดกสทช .         แต่ทั้งนี้ ทั้งนั้น ก็ยังตอบไม่ได้ว่าเมื่อเข้าไปแล้ว กสทช. จะพิจารณาแบบไหน หรือว่าคณะอนุกรรมการจะเสนอแบบไหน บางเรื่องที่มีกฎหมายอยู่แล้วอาจพิจารณาความผิดได้เลย แต่ถ้ายังไม่มีกฎหมายที่ออกมาหรือยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของกระบวนการในการกำกับดูแล กสทช. อาจมาออกประกาศย่อยหรือออกคำนิยามเพิ่มหรือออกแนวทางมติเพิ่มเพื่อทำให้เกิดการกำกับดูแลเรื่องนี้ได้         นอกจากนี้ ตนยังมีข้อเสนอกลับไปยังประชาชน ผู้บริโภคด้วย ส่วนแรกคือ กระบวนการผู้บริโภคจะต้องมีความเข้มแข็ง จะรวมตัวกันแล้วจัดทำเป็นข้อเสนอขึ้นมาก็ได้ ส่วนที่ 2 คือเรื่องนี้ ตนยังไม่รู้ว่าจะออกมาแบบไหน แต่ก็เป็นความรับผิดชอบของทุกคน อย่างนั้นเป็นกระบวนที่เราอาจจะต้องร่วมกันขับเคลื่อนกันไปก่อน ต้องมองที่กระบวนการ วิธีการกำกับดูแลกันเอง          “ดร.ตรี ย้ำในตอนท้ายว่า กสทช. พยายามกำกับดูแลในเชิงกฎหมายและจริยธรรม หากมันไม่เข้าข่ายกฎหมายอาจจะต้องมองไปที่จริยธรรม ซึ่งเป็นมิติที่เชื่อมโยงกับผู้บริโภค ผู้บริโภคต้องรู้เท่าทันเข้าไปมีส่วนร่วมกับกระบวนการสื่อสาร เช่น สะท้อนความคิดเห็นโดยตรงไปยังสื่อนั้นๆ รายการนั้นๆ ขณะที่คนทำสื่อเองก็ต้องตระหนักเรื่องนี้เอาไว้ด้วย นี่เป็นกลไก 3 ก้อน คือ “ผู้บริโภค-คนทำสื่อ หน่วยงานที่กำกับ” ควรขับเคลื่อนไปด้วยกันและมองเห็นกันและกันสถานการณ์โฆษณาแฝงกับบทบาทภาคประชาชน         นายโสภณ หนูรัตน์ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนานโยบาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า องค์กรผู้บริโภคได้มีการพัฒนาความเข้มแข็งในการทำงานด้านการจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย โดยมีการสร้างระบบการทำงานเฝ้าระวัง โดยมุ่งเน้นเฝ้าระวังโฆษณาและผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพ เนื่องจากพบว่ามีผู้บริโภคเสียชีวิตจากการบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย มีการใส่สารอันตราย อีกทั้งพบว่ามีการโฆษณาหลอกลวง โอ้อวดเกินจริง โดยฐานการโฆษณามีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้นจากในทีวีไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์         รูปแบบการทำงานเฝ้าระวังมีการพัฒนาให้เป็นระบบ ประกอบด้วยกลไกเฝ้าระวังที่มีทั้งการเฝ้าในสื่อโทรทัศน์ วิทยุและบนออนไลน์ เมื่อได้ข้อมูลจากการเฝ้าระวังจะมีการบันทึกผลในฐานข้อมูลร้องเรียน เพื่อนำไปวิเคราะห์สถานการณ์ปัญหาและผลกระทบต่อผู้บริโภคที่เกิดขึ้น และนำผลเฝ้าระวังส่งให้แก่หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการ  โดยใช้ทั้งช่องทางปกติ คือทำหนังสือส่งไปยังหน่วยงาน และตั้งกลุ่มไลน์ร่วมกับผู้ประกอบการที่ให้ความร่วมมือเพื่อให้นำออกจากระบบทันที โดยมีข้อตกลงหากไม่ดำเนินการจะมีการส่งให้กับหน่วยงานเพื่อใช้มาตรการทางกฎหมายต่อไป โดยปัจจุบันในการทำงานจัดการโฆษณาผิดกฎหมาย มีความร่วมมือกันขององค์กรผู้บริโภค 34 จังหวัดใน 6 ภูมิภาค ดังนี้          นอกจากนี้  เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคแต่ละองค์กร ก็มีการจัดทำเพจองค์กรตนเอง เพื่อสื่อสารผลการเฝ้าระวัง และการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ  แจ้งเตือนภัยผู้บริโภค ทำให้เป็นที่รู้จักของประชาชนมากขึ้น         ในส่วนของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีการจัดทำเพจเฟสบุ๊ค “ซอกแซกสื่อ” และ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”  และได้มีการนำเสนอข้อมูลต่อสาธารณะ ที่สำคัญ ดังนี้            1.สถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ  หยิบยกกรณีร้องเรียนต่างๆ ในสื่อออนไลน์มาบอกเล่ากับผู้บริโภค เพื่อเตือนภัยและสร้างการตระหนักรู้แก่ผู้บริโภคให้มีมากขึ้น เช่น ข่าวนักเรียน ม.4 ที่ลำปาง สั่งซื้ออาหารเสริมทางเน็ต แบบผงมาชงดื่มลดความอ้วน ต่อมาไตวาย ติดเชื้อเข้ากระแสเลือด ตัวบวมเสียชีวิต  ข่าว อย.เปิดฐานข้อมูลโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ประชาชนตรวจสอบก่อนซื้อ เป็นต้น            2.ติดตามการบังคับใช้กฎหมายของหน่วยงานรัฐ เช่น เผยแพร่ข้อมูล ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่อย. ได้ยกเลิกเลขสารบบ หรือมีสารประกอบอันตรายเพื่อเตือนภัยผู้บริโภค             3.แจ้งผลการทำงานเฝ้าระวังของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เช่น การจัดเวทีความร่วมมือเพื่อยกระดับการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพผิดกฎหมาย  การแถลงข่าวผลเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์สุขภาพของเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค        สำหรับภาคประชาชนหรือเครือข่ายผู้บริโภคนั้น จำเป็นที่จะต้องพัฒนาทักษะในการตรวจสอบรูปแบบโฆษณาแฝง เพราะแม้เครือข่ายผู้บริโภคจะมีความรู้เกี่ยวกับโฆษณาที่ผิดกฎหมาย หลอกลวง แต่ในเรื่องการโฆษณาแฝงยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนทำงานผู้บริโภค เนื่องจากการโฆษณาแฝง มีความหลากหลาย โดยเฉพาะปัจจุบันไม่ได้มีสปอตโทรทัศน์เท่านั้น แต่ยังมีรูปแบบอื่น ยกตัวอย่าง การนำสินค้าวางในรายการต่าง ๆ หรือการให้ความรู้สอดแทรกว่าควรใช้สินค้านั้น ๆ หรือไม่  อีกทั้งการโฆษณาแฝง ยังเกี่ยวพันกับเรื่องสถาบันวิชาชีพต่าง ๆ เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก  รวมถึงข้อกฎหมายต่างๆ ที่ยังไม่ชัดเจน ซึ่งเป็นหน้าที่ของ กสทช.ที่ต้องเร่งจัดทำ เช่น ให้คำนิยามหรือขอบเขตของโฆษณาแฝงที่ชัดเจน ทันยุคสมัย และมีความเป็นปัจจุบัน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานหรือประชาชนทั่วไปเกิดความเข้าใจที่ตรงกันเกี่ยวกับโฆษณาแฝง รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         “ผมมองว่าการทำงานของ กสทช. นั้น ไม่เพียงพอ เพราะในหลายเรื่องก็ยังไม่มีการดำเนินการ เห็นได้จากการที่คณะอนุกรรมการด้านสื่อและโทรคมนาคม ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้มีข้อเสนอต่อการกำกับดูแลเรื่องโฆษณาแฝงในทีวีดิจิทัลหลายประการ แต่ก็ยังไม่มีการดำเนินการ เช่น กสทช.ควรกำหนดกฎเกณฑ์ในการกำกับดูแลโฆษณาแฝงหรือหลักจรรยาบรรณ (code of conduct) ที่ชัดเจน รวมทั้งสานต่อ กฎ กติกา ที่เคยถูกร่างไว้ให้เป็นรูปธรรม”         เนื่องจากการทำโฆษณาแฝงไม่เพียงแต่จะเป็นการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค หากแต่ยังแสดงถึงความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างช่องโทรทัศน์ที่ปฏิบัติตามกฎกับช่องโทรทัศน์ที่ละเมิดกฎเกณฑ์ กสทช.ต้องประสานความร่วมมือในการเฝ้าระวังโฆษณาแฝงในโทรทัศน์ระบบดิจิทัลอย่างมีลำดับขั้นตอน เช่น องค์กรผู้บริโภคหรือสมาคมช่วยกันสอดส่องดูแลแล้วส่งข้อมูลให้ภาครัฐดำเนินการต่อไป เพื่อให้เกิดการกำกับดูแลร่วมกัน ทั้งนี้อาจมีการศึกษารูปแบบการทำงานเพิ่มเติมจากหน่วยงานในต่างประเทศ เช่น อังกฤษ สหรัฐอเมริกา พร้อมประสานความร่วมมือกับสถาบัน เช่น แพทยสภาเพื่อกำกับกลุ่มผู้ประกอบวิชาชีพด้านแพทย์ ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทยที่กระทำการแฝงโฆษณาและใช้วิชาชีพของตนเองในการเสริมสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ให้ตรวจสอบอย่างเข้มงวดและคอยติดตามเฝ้าระวังไม่ให้เกิดลักษณะเช่นนี้อีก รวมทั้งจัดทำคลังข้อมูล (data bank) ที่ผู้บริโภคสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโฆษณาแฝงได้         ซึ่งหาก กสทช.ได้พิจารณาและดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าว และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ก็จะทำให้ปัญหาการโฆษณาเกินจริง หรือเอาเปรียบผู้บริโภคลดลงได้มาก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 กระแสต่างแดน

ผู้ดีบ้านแตกการสำรวจความเห็นของชาวอังกฤษรายได้น้อยที่เพิ่งซื้อบ้านใหม่จำนวน 4,341 คน พบว่าร้อยละ 50 ของพวกเขาเจอปัญหาเกี่ยวกับโครงสร้าง และระบบต่างๆ ในบ้านหน่วยงาน National House Building Council ที่มีหน้าที่ตรวจสอบข้อบกพร่องของบ้านสร้างใหม่ และให้การรับประกันเป็นเวลา 10 ปี ถูกพบว่ามีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างจนเกินงามและใส่ใจประโยชน์ของบริษัทมากกว่าความเป็นอยู่ที่ดีของชาวบ้าน  สุดท้ายคนรายได้น้อยจึงต้องจ่ายเงินสร้างบ้านแพงขึ้นแต่ได้บ้านที่คุณภาพลดลงShelter องค์กรที่ทำการสำรวจครั้งนี้เรียกร้องให้รัฐบาลปฏิรูประบบการจัดหาบ้านเอื้ออาทรโดยด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้อำนาจองค์กรท้องถิ่นจัดหาที่ดินในราคาถูก ตั้งบริษัทรับเหมา และใช้พื้นที่สาธารณะให้เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมจริงๆ ไม่ใช่ขายให้กับกลุ่มทุนที่ทุ่มซื้อในราคาสูงเพื่อสร้างบ้านขายในราคาที่คนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ไม่ดื่มก็ต้องจ่ายความผิดพลาดในการทำงานของเจ้าหน้าที่สามปีก่อน น้ำประปาในเมืองฟลินท์ รัฐมิชิแกนของสหรัฐฯ จึงปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว เหตุเพราะเขาต้องการลดต้นทุนในการผลิตน้ำด้วยการเปลี่ยนมาใช้แหล่งน้ำใหม่ แต่กลับหละหลวมไม่ตรวจสอบการรั่วไหลของโลหะในท่อส่งน้ำ บรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องก็ถูกดำเนินคดีเป็นที่เรียบร้อย และทางการก็ช่วยรับภาระค่าน้ำให้ร้อยละ 65 เป็นการชดเชยให้กับผู้ใช้น้ำที่ใช้ได้บ้างไม่ได้บ้างวันนี้ทางการประกาศว่าน้ำที่นั่นกลับมามีมาตรฐานเดียวกันกับที่อื่นๆ แล้ว เพียงแต่ถ้าคุณต้องการใช้ดื่ม ก็ต้องไปขอรับฟิลเตอร์สำหรับกรองตะกั่วมาใช้ด้วย   และจะเริ่มเก็บค่าน้ำในราคาเต็มอีกครั้ง ทั้งๆ ที่ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยยังไม่กล้าใช้น้ำจากก๊อกในการประกอบอาหารหรือใช้อาบ พวกเขาพึ่งพาน้ำบรรจุขวดเป็นหลัก และกำลังลุ้นกันอยู่ว่ารัฐจะหยุดแจกน้ำบรรจุขวดอีกด้วยหรือเปล่า  ไม่ใช่ผม ชายวัย 54 จากเมืองโบยโร ตกใจมากเมื่อเห็นรูปของเขาตอนนอนป่วยอยู่ที่โรงพยาบาลบนซองบุหรี่พร้อมกับข้อความ “การสูบบุหรี่อาจทำให้หลอดเลือดอุดตันและพิการได้”ชายซึ่งไม่ได้สูบบุหรี่คนนี้เชื่อว่าเขาถูกแอบถ่ายที่โรงพยาบาลเมื่อสามปีก่อน ขณะกำลังพักฟื้นและต้องใช้เครื่องช่วยหายใจหลังเข้ารับการผ่าตัดใส่แผ่นไทเทเนียมที่หลังเพื่อรักษาอาการปวด หน่วยงานสาธารณสุขของสเปนกำลังโดนสอบสวนโทษฐานที่ใช้รูปถ่ายของผู้ป่วยโดยไม่ได้รับอนุญาต การสืบสวนหาตากล้องมือดียังคงดำเนินต่อไป แต่เหตุการณ์ซับซ้อนขึ้นเล็กน้อยเมื่อหน่วยงานดังกล่าวระบุว่าเครื่องช่วยหายใจในภาพนั้นไม่ใช่แบบที่โรงพยาบาลในเครือใช้นี่ไม่ใช่ครั้งแรกในสเปน ก่อนหน้านี้หญิงชาวบาเซโลนาก็เคยร้องเรียนเรื่องที่รูปถ่ายของสามีผู้ล่วงลับเธอไปปรากฏบนซองบุหรี่มาแล้ว  ฉลาดได้อีก อีกไม่เกิน 20 ปีเราจะมีรถยนต์ที่ไม่ต้องใช้คนขับแล้ว (แต่เรายังต้องใช้ถนน) เทคโนโลยีในการสร้างถนนหนทางจึงกำลังถูกพัฒนาขึ้นมารองรับเจ้ารถอัจฉริยะที่ว่าเดือนตุลาคมนี้เราจะได้เห็น “สะพานฉลาด” บนออโต้บาห์น หมายเลข 9 ในเมืองนูเร็มเบิร์ก ทางเหนือของแคว้นบาวาเรียสะพานมูลค่า 11 ล้านยูโร(400 กว่าล้านบาท) ที่มีความยาว 156 เมตรนี้จะส่งข้อมูลจากเซนเซอร์ที่ทำงาน 24 ชั่วโมงเพื่อเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสะพาน เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ความตึง แรงกดจากยวดยาน และความเคลื่อนไหวบนตัวสะพานทำให้วิศวกรสามารถประเมินการเสื่อมสภาพหรือความเสียหายที่เกิดขึ้นก่อนถึงช่วงซ่อมบำรุงตามกำหนด และยังทำให้รู้ว่ามีรถคันไหนวิ่งสวนเลนหรือแอบเข้ามาจากจุดที่ไม่อนุญาต เป็นการป้องกันอุบัติเหตุและสภาพจราจรติดขัดด้วยสะพานนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทดสอบออโต้บาห์นดิจิตัล ที่รัฐบาลเยอรมนีทำร่วมกับบริษัทซีเมนส์  บ๊ายบาย FM นอร์เวย์เป็นประเทศแรกในโลกที่มีการส่งกระจายสัญญาณวิทยุโทรทัศน์แบบดิจิตัลทั้งหมด กลางเดือนมกราคมที่ผ่านมาเขาเริ่มยกเลิกการส่งกระจายเสียงด้วยระบบ FM ทางภาคเหนือของประเทศแล้วจะค่อยๆ ไล่ลงมาทางใต้จนยกเลิกทั้งหมดในปีนี้  รัฐบาลให้เหตุผลว่าภูมิประเทศที่เป็นภูเขาและหุบเขานั้นเหมาะกับการส่งสัญญาณแบบดิจิตัลมากกว่า ประกอบกับอุปกรณ์ FM ที่ใช้มานานก็หมดสภาพ และนอร์เวย์จะมีสถานีวิทยุระดับชาติได้ถึง 40 สถานีจากปัจจุบันที่มีเพียง 5 สถานี สำคัญที่สุดคือเขาจะประหยัดได้ปีละ 200 ล้านโครน หรือ 800 ล้านบาทแต่การสำรวจระบุว่ามีประชากรเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนมาใช้ระบบ DAB (Digital Audio Broadcasting) ที่ทำให้เครื่องรับวิทยุเกือบ 8 ล้านเครื่องกลายเป็นของสะสม และเจ้าของรถยนต์ต้องควักกระเป๋า 1500 โครน (ประมาณ 6,000 บาท) เพื่อเปลี่ยนวิทยุในรถให้เป็นระบบใหม่  ข่าวบอกว่า สวิตเซอร์แลนด์ กำลังจะเป็นรายต่อไป ตามด้วยเดนมาร์ก สวีเดน และเกาหลีใต้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ระวังเสาสัญญาณโทรศัพท์ในชุมชน

แม้เสาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จะเป็นอุปกรณ์สำคัญ ที่ช่วยนำพาสัญญาณไปสู่โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย แต่ในปี 2555 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่า มีความเป็นไปได้ที่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาสัญญาณดังกล่าว อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็งสมอนอกจากนี้ยังมีงานวิจัยถึงผลกระทบต่อผู้อาศัยในบริเวณใกล้เสาสัญญาณการสื่อสารว่า ภายในรัศมี 400 เมตร ผู้อาศัยส่วนใหญ่มีอาการคล้ายกัน ได้แก่ ปัญหาทางสุขภาวะ เช่น มีอาการ อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ นอนไม่หลับ ความจำเสื่อม ขาดสมาธิ วิงเวียน สั่นกระตุก เศร้าสลด สายตาพร่ามัว รวมทั้งพบอัตราความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเพิ่มสูงกว่า 3 - 4 เท่าตัว ทำให้หลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยมีนโยบายต่างๆ เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเรากลับพบว่าในบางพื้นที่ได้มีการติดตั้งเสาสัญญาณ โดยไม่คำนึงถึงอันตรายของผู้อยู่อาศัย ดังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับชุมชนของผู้ร้องรายนี้ คุณสุชัยร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิว่า ในชุมชนของเขามีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ โดยขัดกับนโยบายป้องกันการเกิดอันตราย เพราะเสาดังกล่าวอยู่ห่างจากบ้านของเขาที่อยู่ติดกับโรงพยาบาลชุมชนเพียง 20 เมตร ซึ่งตามหลักการติดตั้งเสาสัญญาณ ต้องอยู่ห่างจากชุมชนเกิน 2 กิโลเมตรและควรอยู่บนเนินสูง รวมทั้งขอบของลำคลื่นหลัก (main beam) ที่ระดับพื้นดินต้องอยู่ห่างจากสถานที่กลุ่มผู้อ่อนแอ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล สถานเลี้ยงเด็ก บ้านพักฟื้นคนชรา ไม่น้อยกว่า 100 เมตร เพราะอาจทำให้เกิดอันตรายในระยะยาวได้ ดังนั้นคุณสุชัยจึงขอคำปรึกษาถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยต้องการให้มีการย้ายเสาสัญญาณดังกล่าวออกจากชุมชนแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ แนะนำให้ผู้ร้องตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมที่ อบต. ว่า ก่อนหน้านี้ได้มีการขออนุญาตจากผู้ประกอบการหรือทำประชาพิจารณ์ ในการติดตั้งเสาสัญญาณดังกล่าวหรือไม่ โดยหากพบว่าไม่มีการดำเนินการเหล่านั้น สามารถล่ารายชื่อของคนในชุมชนที่ไม่ต้องการให้มีการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ดังกล่าว และทำหนังสือส่งถึง กสทช. เพื่อให้เข้ามาตรวจสอบปัญหา หรือโทรศัพท์ร้องเรียนโดยตรงต่อ กสทช. ได้ที่สายด่วน 1300 นอกจากนี้สามารถทำหนังสือถึงผู้ประกอบการให้ชี้แจงข้อสงสัยได้ด้วย ทั้งนี้ภายหลังการดำเนินการ พบว่า กสทช. ได้เข้ามาเจรจากับผู้ประกอบการ และขอให้ถอนการติดตั้งเสาสัญญาณโทรศัพท์ดังกล่าวออกจากชุมชนไป ตามหลักการติดตั้งเสาส่งสัญญาณในประเทศไทย ซึ่งผู้ประกอบการต้องปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนี้ 1. การขออนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และใบอนุญาตให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ตรวจสอบจาก กสทช. ตามมาตรา 11 แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ.25352. การขออนุญาตก่อสร้างหรือต่อเติมอาคารในจุดติดตั้งเสาส่งสัญญาณ ตรวจสอบจากหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 (กฎกระทรวงกำหนดสิ่งที่สร้างขึ้นอย่างอื่นเป็นอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร พ.ศ.2544 ข้อ 4)3. ขั้นตอนการชี้แจงทำความเข้าใจต่อประชาชน ตรวจสอบจาก กสทช. ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 12.54. ตรวจสอบการดำเนินการเรื่อง การแผ่คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าจากเสาส่งสัญญาณ ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์ จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจากผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องส่งรายงานประเมินระดับความแรงของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า และต้องมีระดับความแรงของคลื่นที่ได้มาตรฐานตาม ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม และประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ข้อ 10 และ 11

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 158 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนเมษายน 2557 ระวัง!!! “สบู่-แชมพู” ลักไก่แอบลดปริมาณ กรมการค้าภายใน เตรียมนัดคุยสมาคมผู้ผลิตสบู่ไทยและผลิตภัณฑ์ชำระล้าง กำหนดขนาดมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มีข้อมูลระบุว่าปัจจุบันนี้ในท้องตลาด ผลิตภัณฑ์อุปโภคในกลุ่มชำระล้าง มีอยู่มากมายหลายขนาด เช่น แชมพู มีทั้งหมด 38 ขนาด ผงซักฟอก 36 ขนาด สบู่ก้อน 11 ขนาด สบู่เหลว 9 ขนาด และน้ำยาซักฟอก 8 ขนาด ซึ่งการมีขนาดให้เลือกหลากหลายรูปแบบ มีข้อดีคือทำให้เกิดการแข่งขันในตลาด แต่ก็มีข้อเสียเรื่องมาตรฐานการตั้งราคา เป็นหน้าที่ของผู้บริโภคต้องเลือกให้ดีและรู้จักเปรียบเทียบสินค้า เพื่อให้ได้ของที่มีคุณภาพคุ้มราคามากที่สุด ทั้งนี้สิ่งที่กรมการค้าภายในเป็นห่วงก็คือ เรื่องที่ผู้ผลิตแอบลดปริมาณสินค้า แต่ยังจำหน่ายในราคาเดิม ซึ่งที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้านผู้ผลิตเองก็ออกมาแสดงความเห็นถึงเรื่องนี้ว่า การขึ้นราคาของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ต้องดูเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบประกอบด้วย โดยเฉพาะน้ำมันปาล์ม ซึ่งหากผู้บริโภคพบเห็นสินค้าต่างๆ มีการขึ้นราคาอย่างไม่เป็นธรรมเข้าข่ายเอาเปรียบผู้บริโภคสามารถร้องเรียนไปได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569     เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” กสทช. เปิด “ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย” เพื่อทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านวิทยุกระจายเสีย งและวิทยุโทรทัศน์ พร้อมบันทึกเก็บเป็นหลักฐานในการดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งในปีแรกของการดำเนินการครอบคลุมจำนวน 80 สถานี  แบ่งเป็นสถานีโทรทัศน์ ช่องรายการทีวีเคเบิ้ล รายการทีวีดาวเทียม รวม 40 สถานี  และสถานีวิทยุกระจายเสียงหลักและวิทยุกระจายเสียงชุมชนในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑลอีก 40 สถานี โดยศูนย์ฯ นี้จะทำงานโดยใช้ระบบการตรวจสอบข้อความ เนื้อหาที่ผิดกฎหมาย ซึ่งจะใช้ทั้งระบบซอฟต์แวร์  และการตรวจสอบโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะทำหน้าที่ติดตาม (มอนิเตอร์) สปอตโฆษณา และเนื้อหารายการต่างๆ ทั้ง 80 สถานีตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งทางศูนย์ฯ จะมีการจัดเก็บเนื้อหาโฆษณา เนื้อหารายการ และไฟล์เสียงออกอากาศย้อนหลังเพื่อใช้ในการอ้างอิงเนื้อหาการออกอากาศ โดยมีการแสดงผลการทำงานแบบ Real-time ทั้งนี้ระบบจะเก็บฐานข้อมูลโฆษณาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์  เป็นเวลา 60 วัน ศูนย์ตรวจสอบเนื้อหาวิทยุและโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมายนี้ จัดตั้งขึ้นเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อสินค้าหรือบริการที่ไม่มีคุณภาพ ตลอดจนป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคถูกชักจูงให้ดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อประโยชน์ของผู้เผยแพร่โฆษณา เนื่องจากที่ผ่านมาการตรวจสอบข้อมูลที่ผิดกฎหมาย ไม่สามารถดำเนินการได้ทันท่วงที และขาดหลักฐานอย่างเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการลงโทษตามกฎหมาย   เตรียมออกกฎลดความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกเตรียมยกร่างประกาศแก้ไขปรับปรุงกฎกระทรวง เรื่องความสูงรถโดยสาร 2 ชั้น โดยจะลดความสูงจากปัจจุบัน 4.30 เมตร เหลือ 4 เมตร ตามมาตรฐานสากล หวังช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ คาดมีผลบังคับใช้ได้ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้รถโดยสาร 2 ชั้น กรมการขนส่งทางบกจะกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตขับรถโดยสารสาธารณะ ที่จะขับรถ 2 ชั้น จะต้องผ่านการอบรมหลักสูตรการขับรถโดยสาร 2 ชั้น จากกรมการขนส่งทางบกก่อน จึงจะสามารถประกอบอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสาร 2 ชั้นได้ คาดว่ามาตรการนี้จะเริ่มใน 3 เดือนข้างหน้า ด้าน น.ส.สวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการรถโดยสารสาธารณะปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ยื่นหนังสือข้อเสนอต่ออธิบดีกรมการขนส่งทางบก ให้ไม่ใช้รถโดยสาร 2 ชั้นในเส้นทางเสี่ยงที่มีผลการศึกษาว่าเกิดอุบัติเหตุบ่อยและรุนแรง เพราะความไม่ปลอดภัยไม่ได้มาจากมาตรฐานของตัวรถเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องด้วย เช่น ถนน พื้นที่ ความชำนาญเส้นทางของผู้ขับขี่ ฯลฯ     คูปองกล่องดิจิตัลส่อทุจริต จากการที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์(กสท.) มีข้อสรุปเรื่องราคาคูปองเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่ทีวีดิจิตัล ที่จะแจกให้กับประชาชน 22 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ ที่ราคาคูปองใบละ 1,000 บาท โดย กสท. อ้างว่าราคานี้เป็นราคากล่องที่ได้คุณภาพมาตรฐาน หากราคาต่ำกว่านี้จะส่งผลให้ได้กล่องและเสาที่มีคุณภาพต่ำเกินไป แต่ทั้งนี้เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคเชื่อว่าราคาคูปอง 1,000 บาทที่ทาง กสท.จะแจกให้กับทุกครัวเรือนนั้น เป็นการตั้งราคาที่สูงเกินไป คาดว่าราคาต้นทุนจริงของกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลน่าจะถูกกว่าราคาคูปองที่ทาง กสท. แจก นอกจากนี้การเคาะราคาคูปองที่ 1,000 บาทของ กสท. ส่งผลให้ผู้ประกอบการที่จำหน่ายกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิตัลหลายรายตั้งราคาขายสูงกว่าราคาคูปอง กลับกลายเป็นการผลักภาระให้ประชาชนที่ต้องการจะซื้อกล่องรับสัญญาณ ที่สำคัญการแจกคูปอง 1,000 บาท ให้กับ 22 ล้านครัวเรือน เท่ากับว่า กสท. ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 22,000 ล้านบาท ซึ่งหาก กสท. เลือกใช้วิธีแจกกล่องรับสัญญาแก่ประชาชนโดยตรง น่าจะลดการใช้งบประมาณของประเทศได้น้อยลงกว่านี้ อีกประเด็นที่เป็นข้อสังเกตในการตั้งราคาคูปอง 1,000 บาท ของ กสท. คือการตั้งราคาที่เอื้อต่อผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม ที่มีบริการช่องรายการที่ต้องจ่ายเงินเพื่อการรับชม ซึ่งแม้ราคากล่องรับสัญญาณจะสูงกว่าราคาคูปองที่แจก แต่ช่องรายการที่เป็นที่ต้องการรับชมของผู้บริโภคมากกว่า จึงมีความเป็นไปได้สูงที่ผู้ที่ได้รับคูปองจะนำไปใช้เป็นส่วนลดแลกซื้อกล่องของบรรดาผู้ให้บริการเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม มากกว่า ซึ่งหากเป็นแบบนั้นเป้าหมายของ กสท. ที่ต้องการให้เกิดช่องรายการคุณภาพ ช่องรายการเพื่อสังคม สาธารณะประโยชน์ และช่องรายการสำหรับเด็กและเยาวชน อาจไม่เกิดขึ้นจริง เพราะผู้บริโภคเลือกที่จะไปรับชมรายการจากต่างประเทศในเคเบิ้ลทีวี ทีวีดาวเทียม   “ประชุมสมัชชาผู้บริโภค 57” เดินหน้ายกระดับการคุ้มครองผู้บริโภค วันที่ 28 -29 เมษายน 2557  คณะกรรมการองค์กรอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน ได้จัดประชุมสมัชชาผู้บริโภค ประจำปี 2557 โดยมีการหารือในหลายประเด็น และได้มีข้อเสนอเชิงนโยบายใน 7 ประเด็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานคุ้มครองผู้บริโภค คือ สินค้าและบริการทั่วไป, อาหารและยา, รถโดยสารสาธารณะ, พลังงาน, การเงินการธนาคาร, โทรคมนาคม, การบริการสุขภาพ โดยในแต่ละประเด็นนั้น ได้มีการสรุปข้อเสนอ เพื่อใช้เป็นแนวทางให้กับหน่วยงานรัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติ เพื่อสร้างระบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดีขึ้นในบ้านเรา เริ่มด้วยข้อเสนอด้านการเงินการธนาคาร ผู้บริโภคต้องมีข้อมูลที่ชัดเจน ไม่ว่าสถิติ เอกสาร เพื่อที่ผู้บริโภคจะได้รู้เท่าทันผู้ประกอบการ และใช้ข้อมูลต่างๆ เพื่อเลือกใช้บริการที่คุ้มค่าและเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด ในส่วนของประเด็นพลังงานนั้น สมัชชาฯ มีข้อเสนอให้ยกเลิกกองทุนน้ำมัน, ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้ม, ให้รัฐมีมาตรการยุติการผูกขาดของ ปตท., จัดตั้งบริษัทน้ำมันแห่งชาติ ภายใต้การกำกับของสภาพลังงานแห่งชาติ, ปรับแก้ระบบสัมปทานปิโตรเลียมจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปัน, แก้ปัญหาประโยชน์ทับซ้อนของข้าราชการในกระทรวงพลังงาน ประเด็นสินค้าและบริการทั่วไปว่า สมัชชาฯ มีมติให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) จัดตั้งคณะทำงานยกร่างกฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคกรณีสินค้ามือหนึ่งชำรุดบกพร่อง เหมือน Lemon Law ของต่างประเทศ ปรับปรุงการชดเชยเยียวยาที่เป็นธรรม รวมทั้งให้จัดทำระบบข้อมูลการเตือนสินค้าให้มีภาษาไทยด้วย     ประเด็นที่เกี่ยวพันกับโทรคมนาคม มีข้อเสนอให้ กสทช.เอาจริงเอาจังกับการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจัง เช่น ค่าบริการระบบ 2G ต้องไม่เกิน 99 สตางค์ นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้แก้กฎหมายเพิ่มสัดส่วนของภาคประชาชนในคณะกรรมการ กสทช.ให้มากขึ้น รวมถึงทบทวนการแจกคูปองกล่องทีวีดิจิตัลให้ทั่วถึง ในส่วนของรถสาธารณะ ที่ประชุมสมัชชาฯ มีมติให้ดูแลรถโดยสารสองชั้น โดยเบื้องต้นให้กำหนดเขตห้ามวิ่งในเส้นทางที่อันตราย เช่น ไหล่เขา ส่วนในระยะยาวไม่อนุญาตให้มีการจดทะเบียนเพิ่มอีก, กำหนดมาตรฐานของรถสาธารณะทุกประเภท เช่น ระยะเวลาใช้งาน มาตรฐานการผลิต รวมถึงการออกมาตรการดูแลมาตรฐานคนขับรถโดยสารทุกประเภท ประเด็นอาหารและยา สมัชชาฯ มีข้อเสนอเกี่ยวกับฉลากอาหารให้ดูแลเข้มงวดหลายประการ เช่น การแสดงวันหมดอายุ วันผลิต, ฉลากต้องเป็นภาษาไทย, รวมถึงประกาศมาตรการฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณไฟจราจร นอกจากนี้ยังระบุให้รัฐต้องเปิดเผยเนื้อหาการเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีต่างๆ ซึ่งมักมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับมาตรการด้านอาหารและยาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการเข้าถึงของประชาชน ด้านประเด็นบริการสุขภาพว่า มีข้อเสนอสำหรับการปรับระบบประกันสุขภาพที่เท่าเทียม โดยให้ปรับความเหลื่อมล้ำของ 3 กองทุนสวัสดิการ โดยให้ยกเลิกการจ่ายเงินสมทบส่วนการรักษาพยาบาลและให้ผู้ประกันไปใช้สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ ยกเลิกการร่วมจ่ายในระบบหลักประกันสุขภาพ หรือหากไม่ยกเลิกการจ่ายสมทบก็อาจนำเงินไปใช้กับสิทธิประโยชน์อื่นๆ ของผู้ประกันตน เช่น บำเหน็จชราภาพ  

อ่านเพิ่มเติม >