ฉบับที่ 273 ทำไมคุกถึงเต็ม..วิทยาศาสตร์อาจให้คำตอบ

        การได้รับสารตะกั่วอย่างต่อเนื่องส่งผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพหลายประการ เช่น ความบกพร่องของระบบไต ระบบหัวใจและหลอดเลือด ความเป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันและการเจริญเติบโตช้า แต่ประเด็นที่สำคัญสุดคือ ความเสียหายต่อระบบประสาท เนื่องจากการสัมผัสสารตะกั่วอาจส่งผลให้เกิดผลกระทบทางระบบประสาทหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงการทำงานของการรับรู้โดยรวมของสมองลดลง การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเชิงลบ เชาวน์ปัญญา (IQ) ลดลง ความสามารถในการเรียนรู้ลดลง ความจำไม่ดีพร้อมกับความเข้าใจและการอ่านบกพร่อง ตะกั่วในสิ่งแวดล้อมมาจากไหนถึงเข้าไปอยู่ในตัวมนุษย์ได้ คนไทยมีคำตอบนี้ทุกคนหรือไม่         ปัญหาการรับสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กและผู้ใหญ่นั้นไม่เท่ากัน ผลกระทบของการสัมผัสสารตะกั่วต่อเด็กมีความรุนแรงเป็นพิเศษ เนื่องจากการดูดซึมสารตะกั่วทางสรีรวิทยาในเด็กสูงกว่าผู้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เด็กมีแนวโน้มที่จะเกิดผลกระทบทางระบบประสาทที่ไม่สามารถบำบัดให้หายได้ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐอเมริกา (US. Centers for Disease Control and Prevention) ระบุว่า "ไม่มีระดับการสัมผัสสารตะกั่วที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก" และเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ลดค่าอ้างอิงสารตะกั่วในเลือดจาก 5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร เป็น 3.5 ไมโครกรัม/เดซิลิตร ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรม         มีงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ระดับตะกั่วในเลือดเด็กที่อาจส่งผลให้เมื่อเด็กโตขึ้นแล้วก่ออาชญากรรมคือ บทความเรื่อง Association of Childhood Blood Lead Levels With Criminal Offending (การเชื่อมโยงผลของระดับสารตะกั่วในเลือดในวัยเด็กในการก่อความผิดทางอาญา) ในวารสาร JAMA Pediatrics ของปี 2017 ซึ่งเป็นการศึกษาซึ่งติดตามกลุ่มประชากรของนิวซีแลนด์ที่เกิดระหว่างวันที่ 1 เมษายน 1972 ถึง 31 มีนาคม 1973 (ประมาณกว่า 50 ปีมาแล้ว) โดยมีผู้เข้าร่วมหญิง 255 คนและชาย 298 คน ตั้งแต่เด็กจนมีอายุ 38 ปี (ธันวาคม 2012) โดยเมื่ออายุ 11 ปีผู้เข้าร่วมได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสารตะกั่วแล้วพบว่า มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 11.01 ไมโครกรัม/เดซิลิตร จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไปพบว่า ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 154 คน (27.8%) มีความผิดทางอาญา, 86 คน (15.6%) ถูกพิพากษาลงโทษซ้ำ และ 53 คน (9.6%) มีความผิดฐานกระทำความผิดรุนแรง และเมื่อพิจารณาถึงอายุที่ก่อความผิดพบว่า เริ่มเพิ่มขึ้นที่อายุ 15 ปี จนถึงจุดสูงสุดที่อายุ 18 - 21 ปี และจากนั้นลดต่ำลงเท่าที่อายุ 15 ปี เมื่ออายุ 38 ปี อย่างไรก็ดีแม้เมื่อวิเคราะห์ทางสถิติโดยรวมแล้วกลับพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างระดับสารตะกั่วในเลือดและการก่ออาชญากรรมนั้นมีความเชื่อมั่นค่อนข้างต่ำ ซึ่งแสดงถึงความล้มเหลวของงานวิจัยนี้ในการแสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณสารตะกั่วในเลือดและการกระทำผิดทางอาญาที่เป็นผลสืบเนื่อง         ล่าสุดมีงานวิจัยใหม่ในประเด็นเดียวกันซึ่งทำวิจัยแบบ meta-analysis ของนักวิจัยจาก George Washington University เรื่อง The association between lead exposure and crime: A systematic review (การทบทวนอย่างเป็นระบบเพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วกับอาชญากรรม) ในวารสาร PLOS Global Public Health ของปี 2023 ซึ่งได้พิจารณาบทความ 17 บทความจาก 617 บทความที่เลือกมาพิจารณาตอนเริ่มต้น โดยผลการศึกษาได้เชื่อมโยงการสัมผัสสารตะกั่วทั้งในขณะอยู่ในครรภ์หรือในช่วงวัยเด็กกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการมีพฤติกรรมในการก่ออาชญากรรมในวัยผู้ใหญ่ งานวิจัยนี้ระบุในท้ายที่สุดถึงความสัมพันธ์ที่สำคัญระหว่างสารตะกั่วและรูปแบบการก่อความเสียหายต่อพฤติกรรมเมื่อเด็กโต แม้ว่าความเข้มข้นของสารตะกั่วในเลือดจะต่ำมากก็ตาม         เนื้อหาและประเด็นสำคัญในงานวิจัยของนักวิจัยจาก George Washington University ดูน่าสนใจมาก เพราะผู้วิจัยได้ทำการทบทวนการศึกษา 17 เรื่องซึ่งระบุถึงความเชื่อมโยงที่เป็นไปได้ระหว่างการสัมผัสสารตะกั่วต่อพฤติกรรมต่อต้านสังคม ซึ่งรวมถึงการก่ออาชญากรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่งในหลายประเทศแล้วสรุปการพบหลักฐานว่า การสัมผัสสารตะกั่วมีความเกี่ยวข้องต่อผลกระทบทางชีวภาพในเด็กที่มีผลกระทบต่อพฤติกรรมในระยะยาว ผู้ทำวิจัยเน้นว่า ไม่มีระดับที่ปลอดภัยต่อการสัมผัสสารตะกั่วสำหรับเด็ก และประเทศต่างๆ ควรพยายามอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องเด็กและสตรีมีครรภ์จากการได้รับสารตะกั่ว เพื่อส่งเสริมสังคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้นสำหรับทุกคนประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามาหรือไม่         เป็นที่รู้กันในวงนักวิชาการว่า การสัมผัสสารตะกั่วอาจมาจากหลายแหล่ง เช่น ขยะอุตสาหกรรม แบตเตอรี่รีไซเคิล สีที่มีสารตะกั่ว แหล่งอาหารต่างๆ และผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน เช่น ของเล่นเด็กบางประเภท เครื่องครัว และถ้วยชามเซรามิกหรือกระเบื้องเคลือบ ประเด็นสำคัญคือ หน่วยราชการและองค์กรเกี่ยวกับการออกกฏหมายของไทยมีความตระหนักถึงปัญหาเนื่องจากสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมอย่างไร          เว็บของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (https://www.mnre.go.th) มีบทความเรื่อง ภัยร้ายใกล้ตัวจากพิษของตะกั่ว และเว็บของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (https://ddc.moph.go.th) มีเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคพิษตะกั่วในกลุ่มวัยแรงงาน ซึ่งทั้งสองบทความได้ให้ข้อมูลถึงอันตรายจากตะกั่วอย่างลึกซึ้ง แสดงว่า หน่วยราชการเข้าใจดีถึงภัยและแหล่งที่มาของสารตะกั่วที่เข้าสู่สิ่งแวดล้อม อีกทั้งผู้ประกอบการต่างๆ นั้นไม่สามารถอ้างถึงความไม่รู้ในกฏเกณฑ์เกี่ยวกับการจัดการเกี่ยวกับตะกั่ว เพราะมีประกาศสำคัญคือ ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมซึ่งออกตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2535) ตามความในพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 เรื่อง หน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโรงงานหลอมตะกั่วจากแบตเตอรี่เก่า ซึ่งมีการบังคับเกี่ยวกับการดำเนินการกำจัดขยะสิ่งปฏิกูลและวัสดุที่ไม่ใช้แล้ว กฏหมายนี้ได้ลงไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2544        สำหรับตัวอย่างงานวิจัยที่ระบุถึงปัญหาสารตะกั่วในสิ่งแวดล้อมของไทยนั้น เช่น รายงานการวิจัยของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณใน พ.ศ. 2542 เรื่อง การปนเปื้อนของตะกั่วและโครเมียมในน้ำทิ้งจากการย้อมสีกระจูดที่ทะเลน้อย ที่พบว่า ปริมาณตะกั่วอยู่ในช่วง 0.050-0.123 พีพีเอ็ม ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ยเท่ากับ 0.082 พีพีเอ็ม ตัวเลขดังกล่าวนี้เกินค่ามาตรฐานที่ยิมยอมให้มีได้คือ 0.05 พีพีเอ็ม และปัจจุบันยังไม่มีตัวเลขจากงานวิจัยใดที่บอกว่า ปริมาณตะกั่วและโครเมียมในทะเลน้อยจังหวัดพัทลุงนั้นลดหรือเพิ่มแต่อย่างใด         คำถามสำคัญคือ ประเทศไทยมีปัญหาขยะอุตสาหกรรมที่นำเข้ามา ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งของตะกั่วที่ปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อมหรือไม่ ข้อมูลที่อาจให้คำตอบต่อคำถามนี้ได้จากเว็บไซต์ของหอสมุดรัฐสภา (https://library.parliament.go.th/th) ซึ่งมีบทความเรื่อง ปัญหาการนำเข้าขยะจากต่างประเทศ เรียบเรียงโดย วิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานบริการวิชาการ 1 สำนักวิชาการสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร โดยบทความดังกล่าวออกอากาศเผยแพร่เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2562 ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา          ข้อมูลที่น่าสนใจตอนหนึ่งกล่าวว่า “สำหรับประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรมอนุญาตให้นำเข้าขยะบางประเภทเพื่อนำมาแปรรูปเป็นวัตถุดิบที่เป็นประโยชน์ต่อไปได้ แต่เมื่อมีการตรวจสอบกลับพบว่า มีการนำเข้าขยะมาอย่างผิดเงื่อนไข มีการลักลอบนำเศษซากอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกที่ใช้ไม่ได้ปะปนเข้ามาภายในประเทศด้วย โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา ปริมาณการนำเข้าขยะสูงขึ้นมาก โดยใน พ.ศ. 2558 มีการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติกประมาณ 7.7 หมื่นตัน แต่ใน พ.ศ. 2560 มีปริมาณเกือบ 3 แสนตัน และใน พ.ศ. 2561 สูงถึงกว่า 6.2 แสนตัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ประเทศจีน ซึ่งเป็นประเทศนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และพลาสติกรายใหญ่ของโลกได้ห้ามนำเข้าขยะ 24 ประเภทเมื่อปลาย พ.ศ. 2560 จึงทำให้ขยะเป็นจำนวนมากเปลี่ยนทิศทางไปยังประเทศที่มีการควบคุมน้อยกว่า ซึ่งเป้าหมายใหม่คือประเทศในอาเชียน ซึ่งรวมถึงมาเลเซีย เวียดนาม และประเทศไทยด้วย”         ข้อมูลล่าสุด (https://workpointtoday.com, 23 ก.พ. 2566) ที่ดูน่าจะพอทำให้ใจชื้นได้บ้างว่า รัฐบาลที่ผ่านไปแล้วได้ประกาศว่า “ใช้ความพยายามแก้ปัญหานี้มาอย่างต่อเนื่อง ภายใต้การบูรณาการกันอย่างน้อยจาก 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงมหาดไทย ในการจัดทำ Roadmap การจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจรและเป็นขั้นเป็นตอน โดยยึดหลักความจำเป็น เหมาะสม คุ้มค่า ควบคู่กับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นสำคัญ” ซึ่งประชาชนคงต้องจับตาดูว่า มันจะเป็นจริงหรือไม่ นอกจากนี้ผู้เขียนขอแนะนำให้ไปอ่านเอกสาร ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (ดาวน์โหลดมาอ่านได้ https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1775920210326023304.pdf) เรื่อง สังเขปค่าอ้างอิงทางสุขภาพสำหรับการประเมินความเสี่ยงภัยต่อสุขภาพและผลกระทบต่อสุขภาพจากตะกั่วด้วยตัวอย่างเลือด ซึ่งอาจพอทำให้เห็นภาพว่า อนาคตเกี่ยวกับปริมาณตะกั่วในเลือดคนไทยนั้นเป็นอย่างไร

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 264 ลายกินรี : อคติทางเพศกับนิติวิทยาศาสตร์แบบสตรี

          ละครโทรทัศน์แนวสืบสวนสอบสวนของต่างประเทศ มักยืนอยู่บนความคิดที่ว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่การเข้าถึงความจริงในคดีความฆาตกรรมต่างๆ นั้น ก็ต้องอาศัยองค์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ร่วมสมัยมาเป็นคำตอบ แต่จะเกิดอะไรขึ้นบ้างเมื่อละครแนวพีเรียดอย่าง “ลายกินรี” หันมาผูกเรื่องราวการ “สืบจากศพ” ชนิดย้อนไปในยุคประวัติศาสตร์ก่อนที่วิทยาศาสตร์จะมาเป็นคำตอบกันโน่นเลยทีเดียว         เปิดเรื่องละครย้อนไปในยุคสมัยสมเด็จพระนารายณ์ฯ เมื่อผัวเมียคู่หนึ่งกำลังตกปลาไปขาย แต่กลับพบศพชายต่างชาติคนหนึ่ง ที่ท่อนบนแต่งกายคล้ายสตรีและมีผ้านุ่งลายกินรีพันติดอยู่กับร่างกาย ส่วนท่อนล่างนั้นเปลือยเปล่า ซึ่งต่อมาละครก็เฉลยว่าเป็นศพของ “กปิตันฌอง” ชาวฝรั่งเศสที่ผูกพันกับราชสำนักยุคนั้น จุดเริ่มเรื่องแบบนี้ดูผิวเผินก็ไม่ต่างจากการวางพล็อตของซีรีส์สืบสวนสอบสวนที่คุ้นเคยกันโดยทั่วไป         แม้จะมีเส้นเรื่อง “สืบจากศพ” เพื่อค้นหาข้อเท็จจริงว่า ใครกันแน่ที่เป็นฆาตกรฆ่ากปิตันฌอง แต่ในเวลาเดียวกัน เพราะเหตุการณ์ย้อนกลับไปราวสามร้อยกว่าปีก่อน ละครจึงเป็นประหนึ่ง “ห้องทดลอง” ให้ผู้ชมในกาลปัจจุบัน ได้หันมาทบทวนหวนคิดถึงคุณค่าบางอย่างที่ยึดถือกันแนบแน่นในสังคมทุกวันนี้         และค่านิยมหนึ่งที่คดีฆ่ากปิตันฌองได้ตีแผ่ให้เห็นก็คือ การตั้งคำถามต่อตำแหน่งแห่งที่ทางสังคมของผู้หญิง เมื่อต้องดำรงตนอยู่ในวิถีแห่งชายเป็นใหญ่ที่มายาคติหลักของสังคมโอบอุ้มเอาไว้ โดยสะท้อนผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครหญิงที่ถูกผูกโยงเข้ากับการเปิดโปงปมที่มาและที่ไปแห่งการฆาตกรรม         ตัวละครผู้หญิงคนแรกที่เกี่ยวพันกับกรณีนี้ก็คือ นางเอก “พุดซ้อน” หญิงสาวที่สืบทอดวิชาชีพหมอรักษาคนไข้จาก “หมอโหมด” ผู้เป็นบิดา แต่เพราะคนในสมัยก่อนโน้นไม่เชื่อมั่นในหมอผู้หญิง พุดซ้อนจึงบังหน้าโดยใช้ชื่อ “หมอมี” ผู้เป็นพี่ชายที่ไม่เอาถ่าน มาเป็นหมอรักษาผู้ไข้แทน         เมื่อชะตาชีวิตของพุดซ้อนถูกลากโยงให้ได้มาตรวจศพของกปิตันฌอง และเธอลงความเห็นว่า ชายชาวฝรั่งเศสเสียชีวิตก่อนที่จะถูกลากศพมาทิ้งอำพรางในแม่น้ำ พุดซ้อนก็ถูกดูแคลนจาก “หลวงอินทร์” หรือ “ออกญาอินทราชภักดี” เจ้ากรมพระตำรวจนอกขวา พระเอกหนุ่มผู้ไม่เพียงตั้งแง่กับหมอพุดซ้อน แต่ยังใช้ข้ออ้างเรื่องความเห็นของหญิงสาวจะทำให้เกิดความขัดแย้งระหว่างฝรั่งเศสกับสยามประเทศ อันจะนำไปสู่ภัยสงครามในยุคที่จักรวรรดิยุโรปเรืองอำนาจอยู่         อย่างไรก็ดี หน้าฉากของวาจาดูถูกเหน็บแนม และข้ออ้างเรื่องความขัดแย้งกับชาติมหาอำนาจ แท้จริงแล้วยังมีเบื้องลึกอีกด้านที่สังคมพยายามกีดกันผู้หญิงออกไปจากการเข้าถึงสรรพวิชาความรู้ของพวกเธอ         ทั้งนี้ หากความรู้แพทยศาสตร์และนิติเวชศาสตร์ถูกขีดขอบขัณฑ์ให้อยู่ใต้อำนาจบัญชาแห่งบุรุษเพศ สังคมก็จะมีความพยายามปิดกั้นศักยภาพของสตรีที่ก้าวล่วงมาใช้อำนาจแห่งความรู้เพื่อสืบสวนคดีความฆาตกรรม ไม่ต่างจากที่พุดซ้อนได้เคยพูดตอกหน้าหลวงอินทร์ว่า “ท่านตั้งป้อมใส่ข้า เพียงเพราะว่าหมอหญิงถูกมองเป็นเพียงหมอตำแยเท่านั้น”         แม้จะถูกด้อยค่าความรู้ที่มี แต่เพราะวิถีแห่งผู้หญิงมีลักษณะแบบ “กัดไม่ปล่อย” เหมือนที่พุดซ้อนกล่าวว่า “พ่อข้าสอนไว้เสมอว่า หากตั้งใจทำสิ่งใด จงมุ่งหน้าทำให้สำเร็จ ยิ่งเกิดเป็นแม่หญิง ยิ่งต้องพิสูจน์ให้คนที่ปรามาสมองให้เห็นจงได้” ดังนั้น เราจึงเห็นภาพซ้ำแล้วซ้ำเล่าของหมอพุดซ้อนที่พากเพียรใช้องค์ความรู้ต่างๆ ที่ร่ำเรียนมาจากบิดา เพื่อเผยให้ฆาตกรที่ซ่อนตัวอยู่ในเงามืดของเหตุฆาตกรรม         เริ่มต้นตั้งแต่การใช้ความรู้ด้านเภสัชและเคมีโบราณมาทดสอบสารพิษของ “เห็ดอีลวง” ที่คนร้ายใช้วางยาฆ่ากปิตันฌอง การประยุกต์ทฤษฎีด้านนิติวิทยาศาสตร์มาวินิจฉัยรอยมีดที่อยู่บนร่างของศพ ไปจนถึงการใช้ชุดความรู้การผ่าศพที่ทั้งผิดธรรมเนียมจารีตของชาวสยาม และไม่ใช่วิถีปฏิบัติที่ผู้หญิงพึงจักกระทำ         และที่สำคัญ ดังที่คนโบราณมักกล่าวว่า “ความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย” แต่สำหรับพุดซ้อนแล้ว แม้นางเอกของเราก็เรียนรู้อยู่แก่ใจว่า “ความจริง” เองก็อาจนำหายนภัยมาให้เกือบปางตาย แต่เจตจำนงแน่วแน่ของเธอก็ยังคงยืนหยัดใช้ความรู้เพื่อพิสูจน์ “ความจริง” ที่ผู้หญิงก็เข้าถึงได้เช่นกัน         สำหรับตัวละครผู้หญิงคนที่สองก็คือ “มาดามคลารา” ภรรยาของกปิตันฌอง แม้มาดามจะพูดให้การกับหลวงอินทร์ว่า “สามีข้าเป็นคนดี เป็นลมหายใจ เป็นที่รักของข้า” แต่เบื้องหลังคราบน้ำตาที่คลาราแสดงออกให้กับสามีที่เสียชีวิต กลับซุกซ่อนภาพความรุนแรงทางสังคมที่กระทำต่อกายวาจาใจของสตรี ซึ่งแท้จริงแล้วก็หาใช่สิ่งห่างไกลไปจากตัวของผู้หญิงไม่ เพราะความรุนแรงทางเพศเกิดขึ้นได้แม้ในครอบครัว อันเป็นสถาบันหน่วยย่อยที่ใกล้ชิดกับชีวิตของมนุษย์มากที่สุด         ไม่เพียงแต่คลาราจะถูกบิดาจับคลุมถุงชนกับกปิตันฌองอย่างเลี่ยงไม่ได้ ภายหลังแต่งงานเธอก็ต้องขมขื่นกับสามีฝรั่งที่มองว่า “เมียเป็นเพียงสัตวเลี้ยงตัวหนึ่งเท่านั้น” ดังนั้น ทุกครั้งที่น้ำจัณฑ์เข้าปาก และด้วยลุแห่งอำนาจชายเป็นใหญ่ กปิตันฌองก็จะวิปลาสเสียสติลงมือทำทารุณกรรมภรรยา ไปจนถึงทำร้าย “เอี้ยง” สาวใช้จนขาพิการ และยังก่อเหตุข่มขืนแล้วฆ่า “อุ่น” เมียของ “จั่น” ผู้เป็นบ่าวในเรือน         เพราะความอดทนของผู้หญิงมีขีดจำกัด แม้สังคมจะบอกหญิงผู้เป็นภรรยาทั้งหลายว่า “เป็นเมียเราต้องอดทน” แต่ความรุนแรงในครอบครัวที่เหตุปัจจัยมาจากความอยุติธรรมทางเพศ มีผลไม่มากก็น้อยที่กลายเป็นส่วนหนึ่งของคดีความฆาตกรรมดังกล่าว ดังที่คลาราเองก็พูดเพราะเข้าใจผิดเรื่องตนเป็นคนฆ่าสามีว่า “ข้าไม่เคยเสียใจสักนิดที่ฆ่ากปิตันด้วยมือของข้าเอง”         และสำหรับตัวละครผู้หญิงคนสุดท้ายก็คือ “เจ้าจอมกินรี” เจ้าจอมคนโปรดในรัชสมัยนั้น และเป็นเจ้าของผ้านุ่งลายกินรีที่พบบนศพกปิตันฌอง ซึ่งในตอนจบเรื่องละครก็ได้เฉลยว่า เจ้าจอมกินรีเป็นผู้ชักใยข้างหลังความตายของกปิตันและอีกหลายชีวิตในท้องเรื่อง         แม้ละครอาจตีความว่า การกระทำของเจ้าจอมกินรีเป็นตัวอย่างของคนทรยศต่อชาติบ้านเมือง แต่อีกด้านหนึ่ง ตัวละครนี้ก็แสดงนัยว่า ในขณะที่ใครต่อใครเชื่อว่า การเสียสละเพื่อชาติบ้านเมืองเป็นคุณค่าที่มีเฉพาะในเพศบุรุษ เจ้าจอมกินรีก็คือผู้พิสูจน์ให้เห็นว่า ผู้หญิงก็สามารถทำเพื่อชาติได้ แม้ว่าบางครั้งก็ต้องยอมแลกมากับความสูญเสียและถูกตราหน้าจากประวัติศาสตร์ที่เขียนโดยผู้ชนะหรือบุรุษเพศก็ตาม         แม้ “ลายกินรี” จะมีจุดร่วมไม่ต่างจากละครแนวสืบสวนสอบสวนเรื่องอื่นที่ต้องเผย “ความจริง” เรื่องตัวฆาตกรผู้ฆ่าก็ตาม แต่จากคำพูดของ “คุณหญิงแสร์” ซึ่งกล่าวกับหลวงอินทร์บุตรชายที่ว่า “อคติในหัวใจทำลายแง่งามในชีวิตเสมอ” บางทีคำพูดนี้ก็เป็นบทสรุปดีๆ ที่บอกกับเราด้วยว่า การลดอคติทางเพศลงเสียบ้าง จะทำให้เรามองเห็นตัวตนและเจตจำนงของสตรีที่มุ่งมั่นทำเพื่อวิชาความรู้ ครอบครัว และชาติบ้านเมืองได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 247 แค้นรักสลับชะตา : คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต

          เป็นเวลาหลายศตวรรษมาแล้วที่ “วิทยาศาสตร์” ได้สถาปนาขึ้นมาเป็นระบบคิดหลักของสังคมมนุษย์ วิทยาศาสตร์ตั้งอยู่บนฐานคิดที่เชื่อในเรื่องเหตุผล การพิสูจน์ความจริงเชิงประจักษ์ และความก้าวหน้าของการคิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ ที่จะเอื้อให้มนุษย์สามารถเอาชนะธรรมชาติและสิ่งเหนือธรรมชาติทั้งปวง         ในโลกตะวันตก “ยุคมืด” แห่งการผูกขาดความรู้โดยคริสตจักรและความเชื่อเหนือธรรมชาติตามลัทธิเทวนิยมได้ถือครองโลกตะวันตกมานับหลายร้อยปี แต่ภายหลังที่เกิดการปฏิวัติทางความรู้ วิทยาศาสตร์ได้ใช้ข้ออ้างว่า เหตุผลและความจริงเชิงประจักษ์เท่านั้นที่จะเป็นคำตอบไปสู่ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติในกาลสมัยใหม่ได้ ในขณะที่ศาสนาและความเชื่อพระเจ้าแบบดั้งเดิมได้ถูกผลักให้กลายเป็นเรื่องล้าหลังงมงาย พิสูจน์จับต้องไม่ได้ และค่อยๆ ถูกลดทอนอำนาจในการอธิบายโลกแห่งความรู้ของมนุษย์ลงไป        ทว่า คำอธิบายข้างต้นนั้นดูจะไม่ใช่คำตอบที่ถูกต้องนักสำหรับปรากฏการณ์ของการสลับร่างระหว่างตัวละคร “เตช” กับ “ภศวรรษ” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “แค้นรักสลับชะตา”         เปิดฉากของเรื่องขึ้นมา ละครได้แนะนำให้รู้จักกับเตช ตัวละครหนุ่มหล่อไฮโซ ลูกชายหัวแก้หัวแหวนของ “ธนภพ” และ “ฐิติยา” เจ้าของธุรกิจโลจิสติกส์ที่ร่ำรวย หลังจากเรียนจบวิศวกรรมการบินจากต่างประเทศ เตชก็มุ่งมั่นที่จะเป็นกัปตันเครื่องบิน และคาดหวังจะลงเอยใช้ชีวิตคู่กับ “กุลนิษฐ์” คุณหมอนิติเวชสาว         ตัดสลับกับภาพของภศวรรษ ดาราชายหนุ่มหล่อ ผู้ที่ทั้งเจ้าชู้ กะล่อน เห็นแก่ตัว และรักใครไม่เป็น เพราะตั้งแต่เด็กนั้น เขาได้รับแต่ “พลังด้านลบ” จากการตั้งแง่รังเกียจของ “สุนัย” ผู้เป็นบิดา โดยที่ตนเองก็ไม่ทราบสาเหตุ จนเลือกชีวิตอีกด้านเป็นคนรับเดินยาเสพติดให้กับแก๊งมาเฟีย และแม้เขาจะคบหาอยู่กับแฟนนางแบบสาวอย่าง “จินนี่” แต่ลึกๆ ภศวรรษก็ไม่เคยเชื่อว่า โลกนี้จะมีใครที่จริงใจและรักเขาจริงๆ         กับชายหนุ่มสองคนที่อยู่กันคนละโลกและคนละเงื่อนไขชีวิต แต่ก็เหมือนถูกสวรรค์เบื้องบนลิขิตให้ต้องโคจรมาพบกัน เพราะในคืนหนึ่งซึ่งเป็นวันพระจันทร์กลายเป็นสีแดง ทั้งคู่ประสบอุบัติเหตุรถยนต์กับมอเตอร์ไซค์ชนกัน ทำให้เตชกับภศวรรษเกิดการสลับร่าง โดยที่วิญญาณของพระเอกหนุ่มทั้งคู่ได้สลับไฟล์ไปอยู่ในร่างของอีกคนหนึ่ง         จากนั้น ปมขัดแย้งของเรื่องก็ผูกขมึงเกลียวยิ่งขึ้น เพราะไม่เพียงแค่ “ร่าง” จะต้องสลับกัน แต่ “ชะตาชีวิต” ของทั้งคู่ก็ต้องสลับปรับเปลี่ยนไปด้วย ดังนั้น เตชผู้ที่ถูกพรากไฟล์ชีวิตไปทั้งหมด จึงพยายามหาทางกลับคืนร่างของเขา ในขณะที่ภศวรรษผู้ซึ่งได้ลิ้มรสชีวิตใหม่เป็นลูกเศรษฐีไฮโซ แถมมีคนรักเป็นหมอสาวแสนสวย ก็ไม่อยากจะย้อนกลับไปเดินทางบนชะตาชีวิตเส้นเดิม         แต่ในท่ามกลางความขัดแย้งของเส้นเรื่องที่ดำเนินไปนี้ ละครก็ค่อยๆ เฉลยให้เห็นว่า แท้จริงแล้วทั้งเตชและภศวรรษเป็นพี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน โดยมีจุดเริ่มต้นของความสับสนในชะตาชีวิตที่ต้องเปลี่ยนแปรพลิกผันมาจากความรักความแค้นที่สืบเนื่องมาตั้งแต่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ของเขาเอง         จุดชนวนเริ่มต้นมาจากความรักที่มีรอยแค้นสลักฝังอยู่ เพราะครั้งหนึ่งสุนัยกับฐิติยาเคยเป็นคนรักเก่ากันมา แต่ด้วยสถานะที่ยากจนกว่า ธนภพจึงใช้อำนาจเงินพรากฐิติยาไป จากความรักจึงเปลี่ยนเป็นความแค้น สุนัยก็ได้แต่รอวันที่จะกลับมาทำให้ธนภพต้องเจ็บปวดแบบที่ครั้งหนึ่งเขาเคยถูกอีกฝ่ายกระทำมา         หลังเรียนจบและได้มาเป็นหมอทำกิฟต์ชื่อดัง ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์ผนวกกับแรงรักแรงแค้นที่ฝังแน่นเอาไว้ ทำให้หมอสุนัยผู้มีอหังการว่า ตนสามารถเป็นประหนึ่ง “พระเจ้า” ผู้ให้กำเนิดสรรพชีวิตได้ รอคอยวันที่จะใช้ความรู้ของเขาล้างแค้นธนภพกับอดีตหญิงคนรักของตน         ดังนั้น เมื่อธนภพกับฐิติยามาขอคำปรึกษาเรื่องที่ทั้งคู่มีบุตรยาก สุนัยจึงตัดสินใจแก้แค้นด้วยการแอบทำกิฟต์เด็กทารกชายขึ้นมาสองคนพี่น้อง ซึ่งก็คือเตชกับภศวรรษ ที่คนแรกเป็นลูกชายของเขา กับอีกคนที่เป็นบุตรของธนภพ จากนั้นจึงสลับชาติกำเนิดของเด็กทั้งสองให้ไปอยู่ในครอบครัวของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้ลูกของตนได้ไปใช้ชีวิตในครอบครัวเศรษฐีผู้มั่งคั่ง และตนก็เลี้ยงลูกชายของศัตรูหัวใจให้เผชิญอยู่แต่กับทุกขเวทนา         ในทางหนึ่ง เส้นเรื่องหลักของละครจะเน้นให้ผู้ชมได้ลุ้นและตื้นเต้นไปกับชะตาชีวิตที่พลิกผัน เพราะเตชก็ต้องมาเผชิญกับด้านมืดในชีวิตที่ภศวรรษก่อไว้ ในขณะที่ภศวรรษก็ได้เปลี่ยนสถานะสลับมาใช้ชีวิตอันอู้ฟู่หรูหรา จนไม่อยากจะสลับคืนกลับไปอยู่ในร่างเดิม ซึ่งนั่นก็คือการให้คำตอบแบบที่ตัวละครต่างก็มักจะพูดอยู่เสมอว่า “ชีวิตเราจะดีหรือไม่ดี ก็อยู่ที่ตัวเรา ไม่ใช่อยู่ที่ว่าเราจะอยู่ในร่างของใคร”         แต่ในอีกทางหนึ่ง ละครเองก็ได้ชี้ชวนให้เราตั้งคำถามไปด้วยว่า ปรากฏการณ์แบบคืนวันพระจันทร์แดงที่ดูเหนือจริง และทำให้ชายหนุ่มสองคนสลับชะตาชีวิตกันได้เยี่ยงนี้ ก็ช่างท้าทายคำอธิบายของวิทยาศาสตร์ที่ธำรงพลานุภาพในโลกแห่งความรู้ของสังคมสมัยใหม่         ในขณะที่เตชผู้เติบโตมากับโลกความจริงและเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ เพราะเขาเป็นทั้งวิศวกรการบินและมีหมอนิติเวชสาวเป็นแฟน ส่วนภศวรรษก็มีชีวิตอยู่กับโลกสมมติและอารมณ์ความรู้สึก ที่เขาเป็นดารานักแสดง แถมมีแฟนสาวเป็นนางแบบที่มีชื่อเสียง เมื่อได้สลับร่างกัน ทั้งคู่ก็พบว่า ความจริงและเหตุผลหาใช่จะอยู่เหนือกว่าสิ่งสมมติและอารมณ์ แต่ทว่าพรมแดนของทั้งสองโลกนี้อาจมีเพียงเส้นกั้นบางๆ ที่พร้อมจะผนวกข้ามไขว้ไปมาได้เช่นกัน         และพร้อมๆ กันนี้ ในขณะที่ละครได้เผยในท้ายเรื่องว่า เศรษฐีผู้มั่งคั่งอย่างธนภพก็มีเบื้องหลังเป็นผู้บงการใหญ่ของธุรกิจค้ายาเสพติด ตัวของหมอสุนัยเองที่เชื่อมั่นในความรู้แบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ ก็ได้เรียนรู้ด้วยว่า ชะตาชีวิตของคนเราไม่อาจกำกับให้อยู่ใต้อาณัติของมนุษย์ไปได้เลย เพราะแม้วิทยาการการแพทย์จะให้ปฏิสนธิตัวอ่อนชีวิตของมนุษย์ขึ้นมาได้ก็ตาม แต่สิ่งศักดิ์สิทธิ์แห่งคืนวันพระจันทร์แดงก็พร้อมที่จะทำให้ชะตาชีวิตของคนเราผันไปตามที่เบื้องบนกำหนดเอาไว้แล้ว         ภาษิตจีนโบราณเคยกล่าวเอาไวว่า “คนคำนวณมิสู้ฟ้าลิขิต” คำกล่าวนี้ก็อาจใช้เตือนผู้คนในโลกสมัยใหม่ได้ว่า แม้วิทยาการความรู้จะทำให้มนุษย์คิดคำนวณและมีอหังการอยู่เหนือธรรมชาติขึ้นได้ก็จริง แต่ลิขิตแห่งสรวงสวรรค์ก็ยังคงมีอำนาจเหนือเงื้อมมือเล็กๆ ของคนเราอยู่วันยังค่ำ         และในฉากจบของเรื่อง ชายหนุ่มสองคนได้ตัดสินใจไม่สลับร่างกลับคืน ก็เพราะ “ทุกอย่างมันถูกที่ถูกทางของมันไปแล้ว” แต่ที่สำคัญ คำกล่าวของ “ลุงชาติ” บ่าวรับใช้ของหมอสุนัยที่ผ่านชีวิตมานานช่างถูกต้องยิ่งนักว่า “ทุกอย่างได้ถูกกำหนดมาแล้ว ไม่มีใครฝืนโชคชะตาได้…คุณจะเชื่อหรือไม่เชื่อ แต่สุดท้ายทุกอย่างมันก็เกิดขึ้นจริง”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 198 อาคม : พุทธกับไสย (และวิทยาศาสตร์) ต่างก็ไปด้วยกัน

โลกตะวันตกมีคำอธิบายว่า ยิ่งสังคมเจริญก้าวหน้าไปมากเท่าไร มนุษย์ก็จะยิ่งเชื่อมั่นในวิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลที่จะใช้ตอบคำถามต่อความเป็นจริงรอบตัวมากขึ้นเท่านั้น แต่กระนั้นก็ตาม สำหรับสังคมไทยแล้ว คำอธิบายดังกล่าวกลับถูกหักล้างด้วยข้อเท็จจริงที่ต่างออกไปว่า ยิ่งสังคมทันสมัยหรือลัทธิวัตถุนิยมจะซัดกระหน่ำสังคมมากเท่าไร มนุษย์ก็ยังคงมีคำถามบางอย่างที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลมิอาจขานไขคำตอบได้มากขึ้นเช่นกัน หากข้อหักล้างข้อหลังนี้เป็นคำตอบที่ “based on” ความเป็นจริงในสังคมไทยที่แท้จริงด้วยแล้ว คำตอบดังกล่าวก็ปรากฏให้เห็นผ่านละครโทรทัศน์แนวดราม่าสืบสวนสอบสวนแบบแฟนตาซีอย่างเรื่อง “อาคม”  จับความตามท้องเรื่องมาที่ภาพของตัวละครที่สร้างเนื้อสร้างตัวมั่งคั่งร่ำรวยขึ้นมาหลังยุคเศรษฐกิจฟองสบู่แตก เมื่อ “ทรงพล” นักธุรกิจและประธานบริษัทใหญ่ ได้ถูกเพื่อนรักหักหลังและใส่ความว่าเขาเป็นพ่อค้ายาเสพติด จนไปถึงวางแผนลอบสังหารทรงพลจนเสียชีวิต แต่แม้บิดาจะถูกคนร้ายลอบวางระเบิดเครื่องบินตกลงกลางป่า แต่ทว่า “ทรงกลด” พระเอกหนุ่มผู้เป็นบุตรชายของเขากลับรอดชีวิตมาได้ด้วยความช่วยเหลือจาก “ฮันเตอร์” ผู้มีวิชาอาคม ซึ่งภายหลังฮันเตอร์ก็ได้ถ่ายทอดความรู้ไสยวิชาให้กับทรงกลด และเปลี่ยนชื่อเขาเสียใหม่ว่า “คิม” ชายหนุ่มภายใต้หน้ากากอาคม เพื่อกลับมาแก้แค้นกลุ่มคนที่ฆ่าบิดาและทำลายครอบครัวเขาจนภินท์พัง โดยธีมหลักของละคร ดูจะต้องการสื่อสารกับผู้ชมว่า ในขณะที่ความยุติธรรมไม่อาจแสวงหาหรือได้รับมาจากสังคมที่ล้มเหลวเกินจะเยียวยา เพราะสถาบันหลักอย่างกฎหมายหรือตำรวจไม่อาจเป็นที่พึ่งพิงของผู้คนได้นั้น ปัจเจกบุคคลอย่างคิมก็ต้องลุกขึ้นมาทวงคืนความยุติธรรมให้กับครอบครัวเขาเสียเอง และก็เข้าตำราที่ว่า “ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ต้องเอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยกล ก็ต้องใช้เวทมนต์คาถาอาคม” เพราะฉะนั้น ทั้งคิมและฮันเตอร์จึงค่อยๆ ลงมือแก้แค้นศัตรูของเขาด้วยอาคมวิชาไปทีละคนๆ เมื่อเป็นดังนี้ อาคมที่เคยถูกตีตราว่าเป็น “ความรู้” แบบนอกรีตและพิสูจน์ไม่ได้ด้วยอายตนะทั้งห้าสัมผัสแห่งมนุษย์ ก็ได้กลายมาเป็น “ความรู้” ที่มีพลังอำนาจที่ถูกพระเอกคิมนำมาใช้ประโยชน์ แม้แต่กับยุคที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลเป็นระบบความคิดหลักของคนในสังคม แม้ดูผิวเผินแล้ว เรื่องของคาถาอาคมอันเป็นระบบความรู้ความคิดที่อยู่เหนือธรรมชาตินั้น ดูจะเป็นสิ่งที่ยืนอยู่ “คู่ตรงข้าม” กับวิทยาศาสตร์ อันเป็นปรัชญาที่เชื่อในการพิสูจน์สรรพสิ่งให้ได้ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และเหตุผลที่ยอมรับได้รองรับอยู่ แต่ทว่า ความสัมพันธ์แบบตรงข้ามกันดังกล่าว อาจไม่ใช่ระบบวิธีคิดที่หยั่งรากลึกอยู่ในสังคมไทยจริงๆ ทั้งนี้ โลกทัศน์ของคนไทยมีแนวโน้มจะเชื่อว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่น่าจะเข้ากันได้ ก็คู่ขนานหรือเป็นคู่ไขว้ที่ร้อยรัดพันเกลียวกันไว้อย่างแนบแน่นได้เช่นกัน ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็น “พุทธ” เป็น “ไสย” หรือเป็น “วิทยาศาสตร์” คนไทยก็ไม่เห็นว่าสามระบบความรู้นี้จะแยกขาดจากกันโดยสมบูรณ์ ในขณะที่กฎแห่งกรรมซึ่งเป็นความคิดความเชื่อแบบ “พุทธ” ก็ให้คำอธิบาย “กำเกวียนกงเกวียน” ที่ตัวละครได้รับผลกรรมของการทรยศหักหลังเพื่อนรักอย่างทรงกลดไล่เรียงลำดับไปทีละคน คาถาอาคมอันเป็นผลผลิตแห่ง “ไสย” ก็เป็นกลไกที่คิมใช้เพื่อทวงคืนความยุติธรรมให้กับบิดาของเขา ควบคู่ไปกับบทบาทของตัวละคร “แดน” ผู้เชี่ยวชาญไอทีที่ใช้ความรู้แบบ “วิทยาศาสตร์” ยุคใหม่ เพื่อช่วยเหลือพระเอกให้บรรลุเป้าหมายในการแก้แค้นศัตรู  พุทธ ไสย และวิทยาศาสตร์ จึงกลายเป็นความรู้ที่มิใช่จะมีเฉพาะด้านที่ขัดแย้งหรือตรงข้ามกัน แต่ก็อาจจะเป็นระบบความคิดแบบสามประสานที่คนไทยใช้จัดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และระหว่างมนุษย์กับโลกรอบตัวนั่นเอง  ไม่เพียงเฉพาะตัวละครพระเอกคิมที่สะท้อนภาพการผนวกผสานระบบความรู้ที่เป็น “คู่ตรงข้าม” ให้เป็นคู่ไขว้เข้าไว้ด้วยกันเท่านั้น แม้แต่กับนางเอก “เอื้อกานต์” และน้องชายฝาแฝดอย่าง “ทีเกื้อ” ก็เป็นอีกสองตัวละครพี่น้องที่ฉายภาพการผสมผสานระบบความคิดที่ย้อนแย้งดังกล่าวเอาไว้ด้วยเช่นกัน ในส่วนของพี่สาวฝาแฝดอย่างเอื้อกานต์นั้น ละครได้ออกแบบให้เธอเป็นแพทย์หญิงที่ยึดจรรยาบรรณการดูแลรักษาคนไข้อย่างเต็มที่ และแม้โดยพื้นเพแล้ว ระบบความรู้แบบแพทยศาสตร์จะเชื่อมั่นในหลักการทางวิทยาศาสตร์ก็ตาม แต่คุณหมอเอื้อกานต์กลับเป็นตัวละครที่มีพลังพิเศษของสัมผัสที่หก มีพลังจิตที่หยั่งรู้เหตุการณ์ล่วงหน้าต่างๆ ได้ และสามารถใช้พลังจิตนั้นรักษาโรคให้กับผู้ป่วยได้อย่างน่าอัศจรรย์ ด้วยภาพของตัวละครคุณหมอหญิงเช่นนี้ วิทยาศาสตร์หรือระบบเทคนิควิทยาด้านการแพทย์ จึงมิใช่ชุดความรู้เดียวที่อธิบายการดำรงอยู่ของชีวิตมนุษย์ แต่กลับกลายเป็นความคิดความเชื่อที่ได้ปรับปรนผสมผสานกับระบบความรู้เหนือธรรมชาติเพื่อใช้แก้ไขปัญหาของตัวละครต่างๆ ไปในเวลาเดียวกัน เฉกเช่นเดียวกับน้องชายฝาแฝดอย่างทีเกื้อ ที่แม้โดยวิชาชีพจะเป็นนายตำรวจผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ ซึ่งต้องเชื่อมั่นในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ ด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์ บนความถูกต้องของระบบกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่เพราะอีกด้านหนึ่ง ร.ต.อ.ทีเกื้อ ก็มีพลังจิตพิเศษไม่ต่างจากพี่สาว เขาก็อาศัยพลังจากสัมผัสที่หกมาเป็นเครื่องมือสืบค้นเรื่องราวอาคมที่วิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวไม่อาจหยั่งถึงได้นั่นเอง เมื่อเนื้อเรื่องดำเนินมาถึงฉากจบ พระเอกคิมผู้สามารถทวงคืนความยุติธรรมที่บิดาถูกกล่าวหาใส่ความได้ ก็เลือกที่จะทิ้งหน้ากากอาคมให้ลอยล่วงกลายเป็นควันสีขาว และกลับมาเป็นตัวละครทรงกลดที่เลือกเดินทางชีวิตสายใหม่ท่ามกลางความสุขกับคุณหมอเอื้อกานต์ แต่ถึงกระนั้น ปริศนาธรรมที่ละครได้ทิ้งเอาไว้ให้เราคิดถามต่อก็คือ ตราบใดที่วิทยาศาสตร์และหลักเหตุผลไม่ใช่เพียงคำตอบเดียวหรือคำตอบสุดท้ายของมนุษย์เราได้แล้ว ตราบนั้นความเร้นลับของหน้ากากอาคมก็อาจจะไม่สูญสลายกลายเป็นอากาศธาตุไปได้จริงๆ หรอก

อ่านเพิ่มเติม >