ฉบับที่ 258 อะไรลอยอยู่ในขวดน้ำผสมวิตามินซี

        ภูผาได้ซื้อน้ำดื่มวิตามินยี่ห้อดังเจ้าหนึ่งจำนวน 2 แพคมาไว้ที่หอเมื่อประมาณสองสัปดาห์ที่แล้ว เมื่อซื้อมาก็ทยอยดื่มไปเรื่อยๆ วันนี้ก็เช่นกันเขาก็หยิบขวดน้ำจะมาเปิดดื่มตามปกติ ก่อนจะเปิดขวดเขาสังเกตเห็นเหมือนว่า ในขวดน้ำมีเศษผงอยู่ ตอนแรกคิดว่าไม่ใช่เพราะยังไม่ได้เปิดขวดผงไม่น่าจะเข้าไปได้ น่าจะเป็นเศษอะไรมากกว่าเพราะน้ำใสเลยทำให้มองผ่านขวดน้ำไปได้ แต่เมื่อหยิบขวดน้ำมาใกล้ๆ เศษผงก็ยังอยู่ เขาเลยเอามาส่องดูให้แน่ใจอีกที คราวนี้ชัดเจนเลย มีเศษผงลอยอยู่ในขวดน้ำเป็นก้อนขนาดเกือบเท่าหัวแม่มือ เขาก็แปลกใจไม่รู้ว่าจะมีผงก้อนขนาดนั้นอยู่ในขวดได้ยังไง จึงถ่ายวีดีโอขวดน้ำแล้วมาปรึกษามูลนิธิ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ผงหรือเศษฝุ่นที่พบเป็นสิ่งปนเปื้อนในอาหารอาจเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (1) เรื่องอาหารไม่บริสุทธ์ โดยมีบทลงโทษอยู่ในมาตรา 58 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ         กรณีพบอาหารปนเปื้อนผู้บริโภคสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง ดังต่อไปนี้         1. ถ่ายรูป (ฉลากโดยเฉพาะวันผลิต – วันหมดอายุและตัวสินค้า) พร้อมเก็บบรรจุภัณฑ์และใบเสร็จจากร้านที่ซื้อไว้เป็นหลักฐาน (ให้ถ่ายสำเนาใบเสร็จเก็บไว้ด้วย)         2. นำหลักฐานทั้งหมดไปแจ้งความลงบันทึกประจำวันที่สถานีตำรวจใกล้เคียงเพื่อเป็นหลักฐาน         3. ให้ติดต่อแหล่งจำหน่ายน้ำดื่มหรือบริษัทผลิตน้ำดื่มที่ซื้อมาเพื่อแก้ไขปัญหา พร้อมชดเชยและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น เช่น ขอเปลี่ยนสินค้า ขอเงินคืน ขอให้ทำหนังสือชี้แจงเหตุของสิ่งผิดปกติและขอโทษต่อผู้เสียหายและสาธารณะ เป็นต้น         4. ทำหนังสือยื่นกับผู้ประกอบการ สรุปปัญหาที่พบพร้อมข้อเรียกร้อง โดยส่งถึงกรรมการผู้มีอำนาจหรือผู้จัดการไปยังบริษัทร้านค้าที่จัดจำหน่ายและบริษัทผู้ผลิตหมายเหตุ : ต้องเก็บใบรับเงินทุกครั้งที่มีการซื้อ เพื่อใช้เป็นหลักฐานยืนยันการซื้อและระบุตนเป็นผู้เสียหาย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 239 ว่าด้วยเรื่องการคงอยู่ของวิตามินซี

ฉลาดซื้อฉบับนี้ พารองศาสตราจารย์ ดร.เอกราช เกตวัลห์ รองผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล มาพูดคุยว่าด้วยเรื่องวิตามินซี ถึงรายละเอียดเรื่องการทดสอบและเหตุของการอยู่และหายไปของวิตามินซี การวิเคราะห์ของวิตามินซีโดยทั่วไปใช้วิธีการอะไร        วิตามินซี เป็นวิตามินที่อ่อนแอต่อแสง อากาศ (ก๊าซออกซิเจน) และความร้อน หรือ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น  ดังนั้น  การวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีจะต้องทำในห้องที่ไม่มีแสงยูวี  แสงยูวีปกติอยู่ในแสงแดด  ในหลอดไฟฟ้า  และทำในห้องที่ปรับอากาศ อุณหภูมิไม่ควรเกิน 25 องศาเซลเซียสนะครับ  โดยจะทำการสกัดวิตามินซีออกมาด้วยตัวทำละลายวิตามินซี  โดยจะต้องเป็นการสกัดเย็น จากนั้นทำการตรวจวัดด้วยเครื่อง  HPLC หรือ ชื่อเต็มว่า High Performance Liquid Chromatography   วิธีที่ใช้เครื่อง HPLC เป็นวิธีที่ดีที่สุด และมีความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์  ซึ่งโดยทั่วไปวิตามินซีในธรรมชาติหรือในเครื่องดื่มต่างๆ จะมีอยู่ทั้งสองรูปแบบ  คือ  แบบออกซิไดซ์ (oxidized form) และ  แบบรีดิวซ์  (reduced form)    มีบางคนก็พูดถึงไปแล้วว่ามันถูกออกซิเดชันได้ง่ายจากการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน  ทำให้มีฟอร์มที่เป็นออกซิไดซ์เพิ่มขึ้น  ซึ่งการออกซิเดชันแบบไม่รุนแรง วิตามินซีไม่ได้สูญหายไปไหนเพียงแต่เปลี่ยนรูปไป แต่หากเป็นการออกซิเดชันที่รุนแรงที่เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน เช่น อากาศ แสงและอุณหภูมิที่ร้อนขึ้น หรือมีสารประเภทโลหะร่วมด้วย  วิตามินซีจะถูกทำลายในระดับโครงสร้าง แบบนี้เปลี่ยนกลับมาไม่ได้คือ สลายตัวไปเลย ดังนั้นในการวิเคราะห์วิตามินซีทั้งหมดในอาหารจะต้องวิเคราะห์ทั้งสองฟอร์มจะวิเคราะห์เพียงฟอร์มใดฟอร์มหนึ่งไม่ได้ ซึ่งสามารถทำได้โดยการเติมสารเคมีบางอย่างลงไปทำปฏิกิริยารีดักชันเพื่อทำให้วิตามินซีมาอยู่ฟอร์มเดียวกันทั้งหมดก่อนที่จะทำการตรวจวัด   ซึ่งหากวิเคราะห์แล้วไม่พบว่ามีวิตามินซี  ไม่ได้แปลว่า ค่าที่ได้เป็นศูนย์หรือไม่มีวิตามินซีเสมอไป  แต่สามารถบอกได้แค่ว่า  ปริมาณที่มีอยู่ต่ำกว่าที่เครื่องมือจะตรวจวัดได้เขาเรียกว่าเป็น Detection Limit คือ ต่ำกว่าขีดจำกัดการตรวจจับได้ของการวิเคราะห์นั้น  ทำให้ไม่สามารถบอกเป็นปริมาณได้ บางเครื่องอาจจะตรวจวัดและรายงานผลได้ตั้งแต่  0.5 มิลลิกรัมขึ้นไป ถ้าต่ำกว่านี้ไม่สามารถจะคำนวณออกมาเป็นตัวเลขได้ซึ่งโดยทั่วไปจะรายงานว่า ตรวจไม่พบ (not detected หรือ nd)            เราไปคุยประเด็นเรื่องเขาบอกไม่ตรงฉลาก  หนึ่งคือว่าตัววิตามินซีมันสามารถที่จะสลายได้ง่าย ไม่ว่าจะด้วยแสง อากาศ ออกซิเจนและก็ความร้อนนะครับ รวมถึงอาจจะเรื่องของการเก็บ การขนส่ง Transportation มันก็ทำให้มันเกิดการสูญเสียได้ ทีนี้ออกซิเจนมันมาจากไหน  คือในตัวขวดมันก็จะมีอากาศอยู่แล้ว ตรงช่วงต่อระหว่างฝากับตัวน้ำ เขาเรียก Head Space ตัวนั้นนะครับ มันหลีกเลี่ยงไม่ได้ยิ่งถ้าขนส่งมันก็อาจจะมีการเขย่า มีอะไรทำไปอีกด้วยมันก็มีโอกาสที่จะเกิดปฏิกิริยาได้ง่ายขึ้นได้เพิ่มขึ้น  แล้วก็คือวิตามินซีในฟอร์มที่มันเป็นแบบแห้งมันจะคงอยู่ทนกว่าไงครับ  ทีนี้พอมันเป็นแบบที่เป็นน้ำการออกซิเดชันมันเกิดขึ้นได้ง่าย เนื่องจากมันสามารถทำปฏิกิริยากับอากาศได้ง่ายขึ้น  เพราะฉะนั้นมันสลายได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการเก็บรักษาการขนส่งว่าทำให้มันเปลี่ยนไปอยู่ในอีกฟอร์มหนึ่งที่เปลี่ยนกลับได้หรือว่าสลายหายไปเลย  (อันนี้ ต้องขอบอกก่อนว่าผมพูดในด้านวิชาการนะครับ   ส่วนประเด็นที่เป็นข่าวไม่ได้ส่งมาวิเคราะห์ที่สถาบันโภชนาการนะครับ) อายุการเก็บของวิตามินซี         อายุการเก็บของผลิตภัณฑ์กับอายุการเก็บของวิตามินซี   ต้องแยกออกจากกัน  อายุการเก็บมันเก็บได้ไม่เน่าเสีย แต่ว่าอายุการเก็บมันอาจจะไม่ได้ถูกศึกษาด้วยตัววิตามินซีว่ามันเหลือเท่าไหร่   คืออายุการเก็บเขาจะดูการเสื่อมสภาพ การเป็นตะกอน การเสียรสชาติ อะไรอย่างนี้มากกว่า  ที่เขาเอามาใช้  หรือการเกิดเชื้อจุลินทรีย์ ทำให้เน่าเสียหรือก่อโรค  ที่เขาเอามาใช้เป็นอายุการเก็บ  ไม่ใช่อายุการเก็บวิตามิซี บางคนบอกว่ามันอยู่ได้ถึง 1 ปี แต่วิตามินมันไม่เหลือแล้ว  จริงๆ แล้ววิตามินซีมันสลายเร็วกว่าวิตามินตัวอื่นๆ เมื่อเทียบกัน  วิตามินซี ถือว่าสลายได้เร็วที่สุด  เพราะฉะนั้น ในทางโภชนาการเขาใช้วิตามินซีเป็นตัวชี้วัดการคงอยู่ของวิตามินที่อยู่ในอาหาร   ถ้าวิตามินซีมันอยู่ได้ตัวอื่นก็อยู่ได้ ถ้าตัวมันอยู่ไม่ได้ตัวอื่นๆ ก็อาจจะยังอยู่  แต่ว่ามันก็จะเหลือน้อยลง  แต่ถ้าวิตามินซียังอยู่เยอะแสดงว่าตัวอื่นๆ ก็ยังอยู่เยอะ  แต่ถ้าวิตามินซีหายไปเยอะค่อยไปดูตัวอื่นๆ น่าจะลดลงไปบ้าง  แต่มันก็ไม่ลดเท่าวิตามินซีนะ   สมมติว่าออกจากโรงงานแล้วบริษัทเขาส่งไปวิเคราะห์กับห้องปฏิบัติการ  ที่เขาส่งไปวิเคราะห์เขาก็ได้ค่าหนึ่ง  ค่าอันนั้นเขาก็เอาไปขึ้นทะเบียนทำเป็นฉลาก  แต่ทีนี้พอเวลาไปเก็บตัวอย่างมาวิเคราะห์ซ้ำ  มันได้ไม่เท่ากันก็คือมันไม่ใช่ตัวอย่างเดิม  มันถูกสลายแล้ว ที่ออกมาจากโรงงานแล้วก็ส่งเข้า Lab เลยนี่มันก็จะได้อีกค่าหนึ่งนะมันก็ยังไม่ได้สลายไปไง  เพราะฉะนั้นวิตามินซีมันลดลงตั้งแต่เริ่มออกจากโรงงาน ตั้งแต่วันแรก   คือมันก็ค่อยๆ ลดลงขึ้นเรื่อยๆ  จนกระทั่งสองอาทิตย์ก็อาจจะเหลืออยู่สักครึ่งหนึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยด้วย   เรื่องการขนส่ง  (Transportation) อุณหภูมิในการเก็บ  และระยะเวลาการเก็บ อันนี้ดูจากวันผลิตก็ได้  ถ้าหากเก็บอุณหภูมิในตู้เย็นก็จะยืดระยะเวลาที่จะสลายตัวให้ช้าลงได้ แต่มันก็ยังสลายตัวอยู่นะไม่ใช่ไม่สลายนะ   หากไปวางตั้งไว้ข้างนอกบางทีอยู่นอกร้านภูมิอากาศบ้านเรามันก็ร้อนนะวิตามินมันก็เกิดการสูญเสียเร็วขึ้นนะครับ    ความแตกต่างของภาชนะบรรจุส่งผลต่อการสลายของวิตามินซีไหมคะ         โดยหลักการภาชนะบรรจุที่ทึบแสง หรือที่แสงผ่านเข้าไม่ได้  และภาชนะที่ไม่มีโลหะผสมจะป้องกันวิตามินซีได้ดีกว่าภาชนะบรรจุที่ใสและแสงผ่านเข้าได้   คนจะสงสัยค่ะอาจารย์ว่ามันก็ใสเหมือนกันขวดแบบเดียวกันทำไมอันหนึ่งมันอยู่ Stable อีกอันหนึ่งทำไมมันหายไป        น่าจะเป็นเรื่องกระบวนการผลิต  การขนส่ง ระยะเวลาหลังจากผลิต  การเก็บรักษา  อุณหภูมิในการเก็บอะไรต่างๆ  บางทีจะเห็นไปตั้งเอาไว้เป็นสต็อกไม่โดนแอร์เลย  ตั้งเอาไว้ข้างร้านๆ   บางทีตั้งไว้อยู่ริมถนน  อากาศมันก็ร้อนนะ  บางทีโดนแดดคือผมพยายามไม่พูดถึงยี่ห้อนะครับ ผมพูดเรื่องวิชาการอย่างเดียวนะครับ   มีคำแนะนำสำหรับคือการผลิตจะมีคำแนะนำอย่างไรดีคะสำหรับการคงคุณภาพหรือการผลิตที่ต้องดูแลควบคุม         ก็ต้องเริ่มจากการควบคุมกระบวนการผลิต   เลือกใช้สารวิตามินซีที่มีความบริสุทธิ์หรือมีเปอร์เซนต์ของวิตามินซีสูง   อุณหภูมิขณะเติมวิตามินซีและตลอดกระบวนการผลิตไม่ควรเกิน 25 องศา  ควรใช้ขวดทึบแสงหรือขวดที่ป้องกันแสงผ่านได้   ลดพื้นที่อากาศบริเวณปากขวดให้เหลือน้อย เก็บรักษาในที่เย็น ห่างจากแสงแดดและความร้อน           ในแต่ละวัน เราสามารถรับวิตามินซีจากแหล่งอาหารอื่นๆ จากที่ไหนได้บ้าง         ผลไม้รสเปรี้ยวเป็นแหล่งของวิตามินซี รวมทั้ง  ส้ม ฝรั่ง มะม่วง มะละกอ มะขามป้อม  สตรอว์เบอร์รี  เป็นต้น กรณีที่มีบางยี่ห้อเราตรวจได้ปริมาณวิตามินซีมากๆ         อย่างเช่นถ้าเราตรวจพบ   500 ต่อ Serving เพราะฉะนั้นถ้าคนไปกินแทนน้ำนี่มันก็มีความเสี่ยงถ้าคนกินแทนน้ำวันหนึ่งสักสามขวดอย่างนี้  ขวดหนึ่งมัน  140 มิลลิลิตรเองนะ ขวดเล็กด้วยนะ  ถ้าหากใครกินสามขวดก็จะได้ไป 1,500 มิลลิกรัม  ก็มีความเสี่ยงต่อการได้รับมากเกินไป  เช่น  โรคนิ่วในไต  แต่อย่างไรก็ตามโรคนิ่วในไต มีปัจจัยอื่นๆ ด้วย  เช่น  กรดออกซาลิก  กรดยูริก  แต่ถ้าจะลดความเสี่ยง ก็คือวันหนึ่ง  ไม่ควรกินเกิน 1,000 มิลลิกรัม ขณะที่ในอาหารเสริม หนึ่งเม็ดก็จะมี 500 หรือ 1,000 มิลลิกรัม กินวันละเม็ดเดียวก็พอแล้ว    เพราะเรายังได้รับวิตามินซีจากอาหารอีก  เพราะเราไม่ได้กินแต่น้ำ  จริงๆ แล้วร่างกายต้องการน้ำเพื่อแก้กระหาย  น้ำเป็นส่วนประกอบของเซลล์ทุกเซลล์ในร่างกาย  ช่วยในการนำของเสียออกจากร่างกายและช่วยควบคุมอุณหภูมิของร่างกายแต่มีการไปเติมวิตามินลงไปเพื่อให้มันมี  เพื่อความสะดวกคือดื่มน้ำแล้วได้วิตามินซีด้วยแต่มันไม่เสถียร  ไม่คงทน  มันสลายได้จึงอยากให้เน้นกินผลไม้ที่มีวิตามินซีที่สด  ซื้อมาปอกเปลือกแล้วกินเลยอันนี้เราควบคุมได้เองวิตามินซีอยู่ครบหรือลดลงแค่เล็กน้อย   เราจะได้ทั้งวิตามินซีทั้งใยอาหารด้วย  ใยอาหารช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลำไส้ทำให้ผิวพรรณสดใส  เมื่อลำไส้เราสะอาดผิวพรรณเราก็จะสดใสก็จะเปล่งปลั่งขึ้นมา    ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายรับได้ต่อวันเป็นอย่างไร         การกินวิตามินซีวันละ  60 มิลลิกรัมต่อวันก็เพียงพอกับความต้องการของร่างกาย   อย่างไรก็ตาม ร่างกายสามารถรับวิตามินซีในปริมาณมากกว่านี้ได้ มีผลวิจัยว่า วิตามินซีเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยเรื่องภูมิคุ้มกันบางโรค ช่วยให้ผิวพรรณสดใสและอาจช่วยป้องกันหวัดหรือบรรเทาอาการหวัด   ข้อดีของวิตามินซี คือ เป็นวิตามินซีที่ละลายในน้ำ   เพราะฉะนั้นหากได้รับมากจนเกินไปร่างกายก็จะขับออกทางปัสสาวะ  อย่างไรก็ตามไม่ควรกินเกิน  1,000 มิลลิกรัมต่อวันเพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคนิ่วในไต

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 238 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

        เครื่องดื่มผสมวิตามินซีเป็นเครื่องดื่มในกลุ่มฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) ซึ่งเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ตามกระแสที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการมีสุขภาพดี น้ำดื่มและเครื่องดื่มผสมวิตามินกลายเป็นทางเลือกที่น่าสนใจโดยเฉพาะการผสมวิตามินซี ได้กลายมาเป็นจุดขายด้วยการอ้างถึงคุณค่าของวิตามินซีต่อร่างกายและปริมาณเข้มข้นหรือสูงกว่าร้อยละของ RDI ที่แนะนำให้คนไทยบริโภคต่อวัน คือ 60 มิลลิกรัม เมื่อผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคทำให้มีการเกิดขึ้นของแบรนด์ใหม่ๆ ในตลาดเครื่องดื่มประเภทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ  ประมาณกันว่าตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามินในไทยจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5,500 ล้านบาทและโตต่อไปได้ถึง 7,000 ล้านบาท (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กันยายน 2563)         นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ จึงสุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวนทั้งหมด 47 ตัวอย่าง นำส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภคว่าการกล่าวอ้างวิตามินซีสูงนั้นเป็นไปตามคำอ้างหรือไม่ เพราะทราบกันดีว่า วิตามินซีนั้นเป็นวิตามินที่สลายตัวได้ง่าย เรามาดูผลตรวจวิเคราะห์กันเลยว่าเป็นอย่างไรในหน้าถัดไป สรุปผลการทดสอบ         จากผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี ทั้งหมด 47 ตัวอย่าง พบว่า         - จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งไว้บนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลากร้อยละ 30           - จำนวน 8 ตัวอย่าง ไม่พบวิตามินซี ได้แก่        1) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน)         2) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ กราสเจลลี่  (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)         3) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200         4) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่         5) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร        7) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน         8) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน         - จำนวน 10 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีตามที่ระบุไว้บนฉลาก ไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30          ที่มาเรื่องส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหารต้องไม่ขาดหรือเกินร้อยละ 30        1.เครื่องดื่มผสมวิตามิน ซี จัดเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มในภาชนะปิดสนิท         2.อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522         3.เป็นอาหารทั่วไป ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีปริมาณวิตามิน ซี เท่าไร         4.แต่เมื่อมีการกล่าวอ้างบนฉลาก จึงอยู่ในเกณ์ กฎหมายอาหาร มาตรา 27 (4) อาหารที่มีฉลากเพื่อลวงหรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต  หากไม่เป็นไปตามนี้ ให้ถือว่า เป็นอาหารปลอม         5.มาตรา 27 (5) อาหารที่ผลิตขึ้นไม่ถูกต้องตามคุณภาพหรือมาตรฐานที่รัฐมนตรีประกาศ กําหนดตามมาตรา 6(2) หรือ (3) ถึงขนาดจากผลวิเคราะห์ปรากฏว่า ส่วนประกอบที่เป็นคุณค่าทางอาหาร ขาดหรือเกินร้อยละสามสิบจากเกณฑ์ต่ําสุดหรือสูงสุด หรือแตกต่างจากคุณภาพหรือมาตรฐานที่ระบุไว้จน ทําให้เกิดโทษหรืออันตราย         6.จาก ข้อ 5. ผลทดสอบของฉลาดซื้อพบว่า จำนวน 29 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซี ไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากคือ มีทั้งปริมาณมากกว่าและน้อยกว่าร้อยละ 30  โดยการกล่าวอ้างว่ามีวิตามินซี ร้อยละ 200 ต่อ RDI (120 มิลลิกรัม)  ควรมีปริมาณวิตามินซีอยู่ในช่วง 84-156 มิลลิกรัม และไม่พบวิตามินซีเลยจำนวน 8 ตัวอย่าง อาจจะเข้าข่ายเป็นอาหารปลอมหรือไม่         ข้อเสนอต่อหน่วยงาน        1.หน่วยงานที่กำกับดูแล ได้แก่ อย. ควรดำเนินการตามกฎหมายกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่กล่าวอ้างบนฉลาก         2.อย.ควรกำหนดให้มีคำเตือน เรื่อง การดื่มเครื่องดื่มผสมวิตามินซีไว้บนฉลาก เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค         3.อย.ควรมีมาตรการในเรื่องของการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หลังได้รับการขึ้นทะเบียน (Post Marketing) ว่าเป็นไปตามที่ได้แจ้งเพื่อขอขึ้นทะเบียนกับทาง อย. หรือไม่         คำแนะนำสำหรับผู้บริโภค         1.ควรบริโภคอาหารที่มีวิตามินซีสูงจากแหล่งธรรมชาติ ได้แก่ ผักและผลไม้        2.เลือกเครื่องดื่มผสมวิตามินที่อยู่ในภาชนะและการเก็บรักษาที่เหมาะสม เช่น ทึบแสง เก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำ วันผลิตใหม่  และเลือกผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีปริมาณน้ำตาลและโซเดียมมากเกินไป

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 238 วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

        ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)         สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลย         แต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่น         ประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร เครื่องดื่มผสมวิตามินซี         ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น)         ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)         หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า          ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี...          ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ         เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrate         บทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต          จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

วิตามินซีในเครื่องดื่มสลายตัวเป็นอะไร

ผู้บริโภคที่ศึกษาถึงขั้นมัธยมศึกษาขึ้นไปนั้นคงพอมีความรู้ว่า วิตามินซี เป็นสารอาหารสำคัญมากชนิดหนึ่งต่อร่างกายมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรรู้ว่า ร่างกายต้องใช้วิตามินซีในกระบวนการสังเคราะห์โปรตีนที่เรียกว่า คอลลาเจน ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีสัดส่วนมากที่สุดในร่างกายมนุษย์ราวร้อยละ 25-35 ดังนั้นจึงมีคำแนะนำว่า ควรกินผักและผลไม้ที่มีวิตามินซีสูงเพื่อให้มีผิวพรรณดีเพราะมีคอลลาเจนครบตามที่ผิวควรมีได้ (ไม่เกี่ยวกับสีผิวนะครับ) นอกจากนี้วิตามินซียังมีบทบาทที่สำคัญอีกประการหนึ่ง (ในอีกหลายประการ) คือ ช่วยในการเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน (ร่วมกับสังกะสี วิตามินเอ โปรตีนและอื่น ๆ) ให้ทำงานเป็นปรกติ)สิ่งที่พิสูจน์ว่าคนไทยหลายคนสนใจเกี่ยวกับวิตามินซีและรู้ถึงประโยชน์ของวิตามินซีอย่างดีนั้น ยืนยันด้วยความนิยมในการซื้อผลิตภัณฑ์อาหารที่มีการเสริมวิตามินซี โดยเฉพาะน้ำดื่มหรือเครื่องดื่มที่มีการเติมวิตามินซีลงไป ทั้งเติมน้อยพอประมาณหรือเติมเท่าค่า RDA (คือ 60 มิลลิกรัม) หรือเติมให้มากเกินความต้องการโดยระบุเป็นร้อยละที่เพิ่มขึ้น เช่น 200% ไปเลยแต่ประเด็นที่ผู้บริโภคมักมองผ่านคือ ในการเรียนรู้ที่ผ่านมาในชีวิตนั้น คุณครูมักสอนว่า วิตามินซีไม่ค่อยเสถียรเมื่อได้รับความร้อนและ/หรือแสง ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์แล้วแสงโดยเฉพาะแสงอัลตราไวโอเล็ทมีผลต่อการสูญเสียของวิตามินซีเป็นหลักมากกว่าความร้อนเสียอีก ดังนั้นผลิตภัณฑ์ที่เสริมวิตามินซีจึงมักใช้ภาชนะบรรจุปิดสนิทเพื่อป้องกันแสงพร้อมทั้งป้องกันออกซิเจนจากอากาศ ซึ่งสามารถเปลี่ยนแปลงวิตามินซีไปเป็นสารอื่นประเด็นที่น่าสนใจคือ วิตามินซีที่อยู่ในอาหาร ทั้งวิตามินซีธรรมชาติและวิตามินซีที่สังเคราะห์เลียนแบบธรรมชาติที่เติมลงไปในอาหารนั้นเปลี่ยนแปลงไปเป็นสารอื่นยากหรือง่ายเพียงใด และที่สำคัญคือ เปลี่ยนไปเป็นอะไร         เครื่องดื่มผสมวิตามินซี        ความที่สินค้าที่มีการเสริมวิตามินซีได้รับความนิยมสูง คำถามหนึ่งที่ปรากฏขึ้นในใจของคนขี้สงสัย คือ สินค้าที่ซื้อมาบริโภคนั้นมีวิตามินซีที่ต้องการได้ตามที่ระบุไว้บนฉลากหรือไม่ โดยเฉพาะสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ต้องทำตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข (มีลักษณะเป็นอาหารทั่วไปซึ่งมีเพียงการควบคุมการแสดงฉลากและดูแลความปลอดภัยเท่าที่ควรเป็นเท่านั้น) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงเก็บตัวอย่างสินค้าเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ส่งให้ห้องปฏิบัติการของหน่วยงานหนึ่งที่ได้รับการยอมรับจากรัฐ ตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซีที่ปรากฏในวันที่เก็บตัวอย่าง แล้วเปิดเผยผลการตรวจสอบปริมาณวิตามินซีในตัวอย่างที่เก็บมาเมื่อวันอังคารที่ 15 ธันวาคม 2563 ซึ่งพบว่ามี 8 ตัวอย่าง ไม่พบปริมาณวิตามินซีตามที่แจ้งบนฉลากสินค้าและหนึ่งในนั้นคือ เครื่องดื่มผสมน้ำสมุนไพรสกัดชนิดหนึ่งและวิตามินซี ของผู้ผลิตใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสินค้าดังกล่าวประหลาดใจปนเสียดายเงิน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ที่เคยได้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับวิตามินซีมาก่อนเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดา เพราะวิตามินซีนั้นก็เหมือนกับวิตามินที่ละลายน้ำอื่น ๆ ที่เสียสภาพได้ไม่ยากเมื่อถูกละลายน้ำ โดยขึ้นกับสิ่งแวดล้อมรอบวิตามินนั้น ๆ ทั้งสภาวะทางกายภาพและองค์ประกอบในสินค้านั้นว่าเป็นอะไรบ้าง (งานวิจัยในลักษณะนี้มีมากสามารถค้นหาได้จากฐานข้อมูลวิชาการทางวิทยาศาสตร์ในอินเทอร์เน็ต)หลังการแถลงข่าวของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้มีผู้ผลิตสินค้ารายหนึ่งเห็นความสำคัญที่ต้องแถลงชี้แจงข้อเท็จจริงสู่สาธารณชน (ผู้เขียนจำต้องดัดแปลงเนื้อหาบางส่วนนิดหน่อยโดยเฉพาะที่เกี่ยวกับยี่ห้อสินค้าเพื่อตัดความรำคาญที่อาจตามมาภายหลัง) ว่า        ….สินค้าที่ผลิตทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่นๆ และเร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ ในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น ทางผู้ผลิตขอยืนยันว่า สินค้าของบริษัทในทุกครั้งการผลิตได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลาก แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศ อาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ และวิตามินซียังสามารถสลายตัวได้ง่ายในที่ที่มีความร้อน แสง และความชื้น แต่วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม ทีมงานวิจัยของบริษัทได้มีการคิดค้นวิธีการตามหลักวิทยาศาสตร์และนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สินค้านั้นคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี อย่างไรก็ตามจากเหตุการณ์ดังกล่าว บริษัทได้วางแผนการอบรมพนักงานให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดเก็บสินค้าอย่างเหมาะสม เพื่อให้มั่นใจว่า สินค้าที่ส่งถึงมือผู้บริโภคนั้น ยังคงมาตรฐานเครื่องดื่มที่มีวิตามินซี....         ประเด็นสำคัญในแถลงการณ์ของผู้ผลิตรายนี้คือ การระบุว่า วิตามินซีที่สลายไปนั้นจะกลายเป็นสารอื่นแทน คือ L-tartrate ซึ่งเป็นสารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเช่นเดิม สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลส่วนนี้ได้ตรงกับนักวิทยาศาสตร์คนหนึ่งที่ได้ให้สัมภาษณ์แก่นักข่าวทั้งสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แล้วก่อให้เกิดความประหลาดใจแก่นักวิชาการที่รู้เรื่องเกี่ยวกับวิตามินซีและผู้เขียน (ซึ่งแม้เกษียณการทำงานสอนแล้วแต่ยังติดตามข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับสุขภาพอยู่) เป็นอย่างมากเสมือนได้ความรู้ใหม่ซึ่งต้อง คิดก่อนเชื่อ        เพื่อให้ได้ข้อตัดสินว่า วิตามินซีที่ละลายน้ำนั้นเปลี่ยนไปเป็น L-tartrate (สารเคมีนี้เป็นเกลือของกรดมะขามคือ L-tartric acid ซึ่งร่างกายสามารถนำไปใช้เป็นพลังงานได้) ได้จริงหรือไม่ ผู้เขียนจึงได้ใช้ฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์การแพทย์และวิทยาศาสตร์ชีวภาพทั้งที่เป็นวารสารและตำราทั้งของ PubMed ซึ่งสังกัด National Center for Biotechnology Information (หน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา) และ ScienceDirect ซึ่งเป็นของเอกชนที่รวบรวมข้อมูลจากวารสารนานาชาติจำนวนมาก เพื่อหาว่ามีการตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิตามินซีในน้ำ ซึ่งสุดท้ายแล้วหลังใช้ความพยายามพอสมควรก็ได้พบว่ามี 1 บทความวิจัยที่ตอบคำถามว่า วิตามินซีเมื่ออยู่ในน้ำนั้นไม่ได้เปลี่ยนไปเป็น L-tartrateบทความเรื่อง Oxidative Decomposition of Vitamin C in Drinking Water ซึ่งเขียนโดย Patric J. Jansson และคณะ ในวารสาร Free Radical Research ชุดที่ 38 เล่มที่ 8 ประจำเดือน สิงหาคม หน้า 855–860 ของปี 2004 ได้รายงานการทำวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ชาวฟินแลน์ ซึ่งผู้เขียนขอแปลส่วนที่เป็นบทคัดย่อให้ผู้อ่านได้อ่านแบบเต็มๆ ดังนี้         ก่อนหน้านี้เราได้แสดงให้เห็นว่าวิตามินซี (กรดแอสคอร์บิก) สามารถก่อให้เกิดอนุมูลไฮดรอกซิลในน้ำดื่มที่ปนเปื้อนทองแดงในครัวเรือน (Jansson, P.J. et al. 2003. Vitamin C (ascorbic acid) induced hydroxyl radical formation in copper contaminated household drinking water: role of bicarbonate concentration Free Radic. Res. 37: 901–905.) ในการศึกษาปัจจุบันเราได้ตรวจสอบความเสถียรของวิตามินซีในน้ำดื่มในครัวเรือนที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต (สารตัวนี้ผู้ทำวิจัยไม่ได้บอกว่าเติมลงไปทำไม ผู้แปลเข้าใจว่าเพื่อปรับค่าความเป็นกรดด่างด้วยคุณสมบัติเป็น buffer ให้เหมาะสมในการทำวิจัย) ในการศึกษาพบว่าร้อยละ 35 ของวิตามินซีที่เติมในตัวอย่างน้ำดื่ม (ให้มีความเข้มข้น 2 mM) ที่วางไว้ที่อุณหภูมิห้องถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก (dehydroascorbic acid) ภายใน 15 นาที และหลังจากผ่านไป 3 ชั่วโมง ร้อยละ 93 ของกรดแอสคอร์บิกที่เติมลงไปถูกออกซิไดซ์เป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิก ซึ่งสลายตัวต่อไปเป็นกรดออกซาลิก (oxalic acid) และกรดธรีโอนิก (threonic acid) ด้วยไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่เกิดจากปฏิกิริยา autooxidation ระหว่างไอออนทองแดง (Cu+1) และออกซิเจนในน้ำ (สมมุติฐานตามหลักการของ Fenton reaction…ผู้แปล) การออกซิเดชั่นของวิตามินซีเกิดขึ้นพอประมาณในน้ำ Milli-Q (น้ำกรองจนบริสุทธิ์ระดับ ASTM 1...ผู้แปล) และในตัวอย่างน้ำในครัวเรือนที่ไม่ปนเปื้อนด้วยไอออนของทองแดง ยิ่งไปกว่านั้นการเพิ่มวิตามินซีลงในตัวอย่างน้ำดื่มบรรจุขวดที่จำหน่ายในประเทศ (ฟินแลนด์ ??...ผู้เขียน) ไม่ได้ส่งผลให้เกิดการออกซิเดชั่นของวิตามินซี ผลการศึกษาของเราแสดงให้เห็นว่า กรดแอสคอร์บิกถูกออกซิไดซ์อย่างรวดเร็วเป็นกรดดีไฮโดรแอสคอร์บิกและย่อยสลายต่อไปเป็นกรดออกซาลิกและกรดธรีโอนิกในน้ำประปาที่ปนเปื้อนด้วยทองแดง ซึ่งถูกบัฟเฟอร์ด้วยไบคาร์บอเนต (โดยสรุป)งานวิจัยได้แสดงถึงสิ่งที่ได้จากการบริโภคกรดแอสคอร์บิกในน้ำดื่มที่มีทองแดงและไบคาร์บอเนต         จากบทคัดย่อผลงานวิจัยของ Patric J. Jansson ที่ผู้เขียนได้แปลนั้นคงให้คำตอบแล้วว่า วิตามินซีเปลี่ยนไปเป็นสารใดเมื่ออยู่ในน้ำ ส่วนการเกิด L-tartrate ได้หรือไม่นั้น คงต้องรอดูต่อไปว่ามีใครพบหลักฐานทางวิทยาศาสตร์บ้าง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉลาดซื้อเผยผลตรวจ ‘เครื่องดื่มผสมวิตามินซี’ ไม่พบปริมาณวิตามินซี 8 ตัวอย่าง และมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก

วันนี้ 15 ธันวาคม 2563 ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ภายใต้โครงการสนับสนุนระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ เผยผลทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 47 ตัวอย่าง ที่วางจำหน่ายทั่วไปตามท้องตลาด พบมีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลากสินค้า และมีถึง 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี แนะผู้บริโภครับประทานวิตามินซีจากผักหรือผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม ฝรั่ง หรือลูกหม่อนตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจไม่พบปริมาณวิตามินซี จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่        1) ยันฮี วิตามิน ซี วอเตอร์ Yanhee VITAMIN C WATER กราสเจลลี่ (เครื่องดื่มผสมน้ำเฉาก๊วยสกัดและวิตามินซี)ขนาด 460 มล.(วันผลิต 07-10-2020 / 07-10-2021)        2) นูริชเมท Nurish Mate ขนมเยลลี่บุก และคาราจีแนน ผสมคอลลาเจน วิตามินซี และน้ำองุ่นขาว 15% กลิ่นสตรอเบอร์รี่ และพีช ขนาด 150 มล.( วันผลิต 11-08-2020 / 10-08-2021  )        3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นส้มผสมวิตามิน  ขนาด 48 มล. ( วันผลิต12-06-2019 / 12-06-2021  )        4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นกลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน ขนาด 48 มล. ( วันผลิต 07-03-2019 / 07-03-2021 )        5) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 ขนาด 345 มล. ( วันผลิต00-00-0000 / 03-10-2021 )        6) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ลิ้นจี่ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสลิ้นจี่ 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร 100 ขนาด มล.( วันผลิต 02-09-2019 / 01-03-2021  )        7) มินิ พิงค์เลม่อนเนด เครื่องดี่มรสเลม่อนผสมเบอร์รี่ ขนาด 345 มล. ( วันผลิต 00-00-00 / 26-08-21 )และ 8) ดี.อาร์.ดริ้งค์ D.R.DRINK เจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี3 บี6 บี12 ไบโอติน กรดโฟลิค แซฟฟลาเวอร์และแคลเซียมจากสาหร่ายลิโทรามเนียน) ขนาด 500 มล. ( วันผลิต09-11-2020 / 09-11-2021)          และเมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลาก มากกว่าหรือน้อยกว่า ร้อยละ 30 บนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 37 ตัวอย่าง มีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก มีทั้งปริมาณมากและน้อยกว่าที่อ้างบนฉลาก          ทั้งนี้ ปริมาณวิตามินซีที่แนะนำให้บริโภคต่อวันตาม Thai RDI* (Thai Recommended Daily Intakes) อยู่ที่ 60 มิลลิกรัม โดยวิตามินซีสามารถสลายตัวได้ง่ายหากสัมผัสกับแสงหรือความร้อน แหล่งอาหารสำคัญที่ผู้บริโภคสามารถเลือกบริโภคเพื่อให้ได้วิตามินซี คือ ผักผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ฝรั่ง หรือ ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ และหม่อนอย่างไรก็ตาม การรับประทานวิตามินซี ขนาดสูง อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นนิ่วในไตอ่านรายละเอียดได้ที่ https://www.chaladsue.com* Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 233 ปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซี

เครื่องดื่มที่กำลังเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และมีการเติบโตทางการตลาดสูงในปัจจุบันก็คือ เครื่องดื่มผสมวิตามินซี โดยมีมูลค่าการตลาดเมื่อปี 2562 สูงถึง 933 ล้านบาทและก้าวเข้าสู่หลัก 1,300 ล้านบาทในปี 2563          เครื่องดื่มผสมวิตามินซีนั้น จัดเป็นเครื่องดื่มประเภทฟังก์ชันนัล (Functional Drinks) หรือ เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Health Beverage) เครื่องดื่มเหล่านี้จะอ้างสรรพคุณว่าเพิ่มเติมสารอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายในแต่ละวัน เช่น เสริมกรดอะมิโน, ช่วยเผาผลาญไขมัน, ช่วยชดเชยเกลือแร่ที่สูญเสียไปจากการออกกำลังกาย, ผสมสารสกัดจากสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการป้องกันโรคต่าง ๆ จนไปถึงคอลลาเจนและสารอาหารที่มีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระซึ่งเครื่องดื่มผสมวิตามินซีจะเน้นการโฆษณาที่จุดขายนี้         เพื่อเป็นการเฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อร่วมกับโครงการสนับสนุนระบบการเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มผสมวิตามินซี จำนวน 21 ตัวอย่าง จากร้านสะดวกซื้อและซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปในเดือนกรกฎาคม 2563 ส่งห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์หาปริมาณวิตามินซี ว่าเป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหรือไม่ โดยผลตรวจวิเคราะห์แสดงดังตารางหน้าถัดไป                                                                                                ผลวิเคราะห์เฉพาะตัวอย่างที่ส่งตรวจเท่านั้น                                                                                                เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ เดือนกรกฎาคม 2563                                                                                                *ค่า RDI (สารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป) ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน  สรุปผลการตรวจวิเคราะห์ปริมาณวิตามินซี          จากผลการทดสอบ พบว่า        (1) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี มากที่สุด ได้แก่              - เครื่องดื่มวู้ดดี้ ซี+ล็อค วิตามินซี 200% (ขนาด 140 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 496.76 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (140 มล.)                 หรือเท่ากับ 354.83 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (2) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบปริมาณวิตามินซี น้อยที่สุด ได้แก่             - อควาฟิน่า ไบโอ น้ำผสมวิตามินซี กลิ่นออเร้นจ์โรส (ขนาด 350 มล.)                ตรวจพบปริมาณวิตามินซี เท่ากับ 30.73 มิลลิกรัม ต่อ หนึ่งหน่วยบริโภคที่แนะนำบนฉลาก (350 มล.)                หรือเท่ากับ 8.78 มิลลิกรัม ต่อ 100 มิลลิลิตร        (3) ตัวอย่างเครื่องดื่มผสมวิตามินซี ที่ตรวจพบไม่พบปริมาณวิตามินซีเลย จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่                1) เครื่องดื่มรสมะนาวเลม่อน ตรามินิ Lemonade Vitamin C200 (ขนาด 345 มล.)                 2) เฟสต้า-ซี เดลี่ ไฟเบอร์ ออเรนจ์ เฟลเวอร์ เครื่องดื่มน้ำรสส้ม 12% ผสมวิตามินซี และใยอาหาร (ขนาด 100 มล.)                      3) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นเบอร์รี่เลมอนผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)                4) มีมิกซ์ เครื่องดื่มเข้มข้นผสมวิตามิน กลิ่นส้มผสมวิตามิน (ขนาด 48 มล.)        (4) เมื่อเปรียบเทียบปริมาณวิตามินซีกับคำกล่าวอ้างบนฉลากพบว่า มีผลิตภัณฑ์จำนวน 11 ตัวอย่างที่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลาก และจำนวน 10 ตัวอย่างไม่เป็นไปตามคำอ้างบนฉลากหมายเหตุ ค่า RDI ของวิตามิน ซี อยู่ที่ 60 มิลลิกรัมต่อวัน (Thai RDI คือ ปริมาณสารอาหารที่แนะนำให้บริโภคสำหรับคนไทยอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป)  ข้อแนะนำในการบริโภค        หากเลือกซื้อเครื่องดื่มผสมวิตามินซี นอกจากเรื่องรสชาติความชอบ ปริมาณวิตามินซี และราคาแล้ว ผู้บริโภคอาจสังเกตฉลากดูปริมาณน้ำตาลด้วย เพราะบางยี่ห้อนั้นมีปริมาณน้ำตาลค่อนข้างสูง หรือดูข้อมูลการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลเพิ่มเติม เพราะสารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดไม่เหมาะกับผู้ป่วยบางประเภท เช่น โรคฟีนิลคีโตนูเรีย (phenylketonuria)วิตามินซีเป็นสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ควรรับประทานในปริมาณที่พอดี ร่างกายจึงจะได้รับประโยชน์สูงสุด โดยร่างกายควรได้รับวิตามินซีไม่น้อยกว่า 60 มิลลิกรัมต่อวัน หรืออยู่ในช่วง 100 – 200 มิลลิกรัมต่อวัน ในภาวะปกติ ทั้งนี้หากร่างกายได้รับวิตามินซีไม่เกิน 200 มิลลิกรัมต่อวัน ร่างกายจะสามารถดูดซึมได้เกือบ 100 เปอร์เซ็นต์ แต่หากได้รับในปริมาณ 500 มิลลิกรัม ร่างกายจะดูดซึมได้เพียง 75 เปอร์เซ็นต์วิตามินนั้นไม่ใช่ยารักษาโรค แต่เป็นสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกาย วิตามินซีนั้นตัวมันเองไม่ได้รักษาโรคหวัด แต่สามารถช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการหวัดได้ แต่หากร่างกายได้รับวิตามินซีในปริมาณมากเกินไป ก็จะขับออกทางปัสสาวะโดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ และวิตามินซีนั้นมีคุณสมบัติเป็นกรด เมื่อถูกขับออกทางไตบ่อย ๆ อาจทำให้ไตระคายเคืองจนก่อให้เกิดโรคนิ่วในไตได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานวิตามินซีอย่างพอเหมาะทั้งนี้ นอกจากเครื่องดื่มผสมวิตามินซีแล้ว ผู้บริโภคยังสามารถบริโภควิตามินซีจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทวิตามินซีแบบเม็ดเป็นอีกทางเลือกก็ได้ หรือ การรับประทานผักหรือผลไม้จำพวกที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม, ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่, ฝรั่ง, มะขามป้อม, มะเขือเทศ, พริกหวาน, ผักคะน้าข้อมูลอ้างอิง- วิตามินและแร่ธาตุ  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/413) - วิตามินซีกับการป้องกันหวัด  (https://pharmacy.mahidol.ac.th/dic/knowledge_full.php?id=17) - วิตามินซี (Vitamin C) ประโยชน์ของวิตามินซี 18 ข้อ !  (https://medthai.com/วิตามินซี/) - ปริมาณวิตามินซีที่ร่างกายควรได้รับ     (http://www.foodnetworksolution.com/wiki/word/7189/)

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 วิตามินซีต้านหวัด...หรือ!!!!

ท่านผู้อ่านคงเคยได้ข้อมูลว่า วิตามินซีนั้นช่วยป้องกันหวัด (และเลยเถิดไปถึงการป้องกันมะเร็ง) โดยอ้างถึงความเชื่อในเรื่องนี้ของ ดร.ไลนัส พอลิ่ง (Dr. Linus Pauling เป็นนักวิทยาศาสตร์เพียงหนึ่งในสองคนของโลกที่ได้รางวัลโนเบลถึงสองสาขา) ซึ่งทุ่มเทความรู้ความสามารถพยายามพิสูจน์ในคุณประโยชน์ของวิตามินซีในประเด็นดังกล่าว จึงทำให้มีคนศรัทธาเชื่อตามในเรื่องนี้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะผู้ที่ขายวิตามินซีเป็นอาชีพอย่างไรก็ตามผู้ที่สนใจติดตามข้อมูลเกี่ยวกับความสามารถของวิตามินซีอย่างลึกซึ้ง หรือได้เรียนรู้ในศาสตร์สาขาวิทยาศาสตร์สุขภาพในระดับที่สูงขึ้นกว่าคนทั่วไป มักเคยพบข้อมูลเกี่ยวกับความสงสัยในเรื่องนี้ว่า “วิตามินซีป้องกันหวัดได้จริงหรือ” เพราะเมื่ออ่านผลการศึกษาทางระบาดวิทยาแล้ว ส่วนใหญ่มักออกมาในแบบไม่สามารถสรุปผลได้ชัดเจน อาจเนื่องจากมนุษย์กินอาหารที่เป็นของผสมซึ่งซับซ้อนจนยากในการแยกแยะว่า การที่ใครสักคนมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคใดมากหรือน้อยนั้นขึ้นกับสารอาหารชนิดใด เพราะส่วนใหญ่มักเป็นผลที่เกิดเนื่องจากรูปแบบการกินอาหารมากกว่า ดังนั้นความเชื่อเรื่องการเสริมวิตามินซีในระดับสูงกว่าที่มนุษย์กินเป็นปรกติจากอาหารเพื่อลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดนั้น จึงดูว่า ยังสรุปอย่างชัดเจนไม่ได้วิตามินซีนั้นเป็นสารชีวเคมีที่มนุษย์สร้างเองในร่างกายไม่ได้ ต้องแสวงหาโดยการกินผักใบเขียว มะเขือเทศ พริก ฯลฯ และกินผลไม้ตระกูลส้ม ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก สตอร์เบอร์รี่ ฯลฯ เพื่อให้ได้มาซึ่งวิตามินซีอันสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของเรา วิตามินซีมีความสำคัญต่อกระบวนการสร้างโปรตีนชนิดที่เรียกว่า คอลลาเจน(โดยในกระบวนการสร้างนั้นมีเอ็นซัมหนึ่งในหลายชนิดที่มีวิตามินซีเป็นตัวช่วยสำคัญร่วมทำหน้าที่นี้) โปรตีนชนิดนี้เป็นองค์ประกอบหลักของเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน(Connective tissue) ในร่างกายเราซึ่งพบได้ที่ ผิวหนัง เหงือก กล้ามเนื้อ ข้อต่อของร่างกาย หลอดเลือดต่างๆ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อใดที่ร่างกายต้องซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ชำรุด วิตามินซีต้องถูกเรียกใช้งานเป็นประจำ อีกทั้งความสามารถในการสร้างคอลลาเจนนั้นเป็นดัชนีชี้วัดความแก่ของเราที่มองเห็นด้วยสายตาของผู้อื่นประการสำคัญที่เกี่ยวกับการป้องกันหวัดคือ วิตามินซียังเป็นหนึ่งในสารอาหารอีกหลายชนิดที่เชื่อกันว่า จำเป็นต่อระบบภูมิต้านทาน ประเด็นนี้ทำให้หลายคนเข้าใจผิดว่า การกินวิตามินซีชนิดเดียวมากๆ เข้าไปนั้นอาจช่วยป้องกันหวัดได้ ซึ่งเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะระบบภูมิต้านทานที่ลดความเสี่ยงในการเป็นหวัดของเรานั้นต้องอาศัยสารอาหารอื่นร่วมด้วยคือ โปรตีนที่มีกรดอะมิโนครบ วิตามินเอ แร่ธาตุเช่น สังกะสี และอื่นๆ มาร่วมทำงานกับวิตามินซี ข้อมูลจากบทความเรื่อง Can vitamin C prevent a cold ? ซึ่งปรากฏใน Harvard Health Letter ฉบับประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2017 นั้นเล่าถึงผลสรุปของการศึกษาทางระบาดวิทยาที่รวบรวมหลักฐานจากการศึกษา 29 ชิ้น มีอาสาสมัครร่วมงานวิจัยกว่า 11,000 คน แสดงให้เห็นว่า วิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวันที่ให้แก่นักวิ่งมาราธอน นักกีฬาแข่งสกี และทหารประจำการที่ฝึกหนักในบริเวณที่มีอากาศหนาวนั้น สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดได้ถึงร้อยละ 50 ในขณะที่วิตามินซีขนาดเดียวกันไม่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดในกลุ่มคนธรรมดาซึ่งไม่ได้ออกแรงเท่าใดนักในชีวิตประจำวัน อย่างไรก็ดียังมีข้อมูลที่ทำให้คนขายวิตามินซีใจชื้นขึ้นมานิดหนึ่งว่า โดยทั่วไปแล้วการได้รับวิตามินซี(ทั้งจากอาหารหรือการเสริม) ในขนาด 200 มิลลิกรัมต่อวันนั้นช่วยให้จำนวนวันของการเป็นหวัดในผู้ใหญ่ลดลงร้อยละ 8 และลดลงร้อยละ 14 ในเด็ก ข้อมูลดังกล่าวนี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์คำนวนต่อได้ว่า วิตามินซีน่าจะช่วยให้วันที่คนไม่สามารถทำงานเพราะเป็นไข้หวัดนั้นกลับคืนมามากว่า 23 ล้านวันทำงานต่อปีทีเดียว บทสรุปที่ได้จากบทความของ Harvard Health Letter ฉบับที่อ้างถึงข้างต้นนี้คือ ถ้าต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรได้รับวิตามินซีราว 200 มิลลิกรัมต่อวัน(ไม่ว่าจากการเสริมหรือจากอาหาร) พร้อมกับมีการใช้แรงกายมากพอจึงได้ผลดี(ซึ่งเป็นไปในทำนองเดียวกับการเสริมแคลเซียมที่ต้องออกกำลังกายด้วยหลังกินแคลเซียมเม็ดเพื่อให้ได้ผลในการลดความเสี่ยงของอาการกระดูกบาง) ที่สำคัญคือ ต้องกินวิตามินซีก่อนเป็นหวัด ไม่ใช่เป็นหวัดแล้วจึงกินซึ่งช่วยได้แค่ทางใจนอกจากนี้ยังมีประเด็นเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดที่ผู้เขียนคิดว่า น่าจะใช่ กล่าวคือ ผู้ที่ต้องการลดความเสี่ยงต่อการเป็นหวัดควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง เมื่อต้องไปในสถานที่ที่มีคนน่าจะเป็นหวัดเยอะเช่น โรงพยาบาลของราชการ(โรงพยาบาลเอกชนส่วนใหญ่มักไม่จอแจและมีระบบระบายอากาศดีเป็นไปตามค่าบริการที่ค่อนข้างสูง) โรงภาพยนตร์ รถประจำทางปรับอากาศรุ่นโกโรโกโส เป็นต้น ประเด็นหนึ่งที่เป็นเรื่องสำคัญแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้คำนึงถึงคือ การได้รับวิตามินซีจากอาหารและจากการเสริมในรูปผลิตภัณฑ์เสริมอาหารนั้น มีความแตกต่างกันในบริบทของการได้รับสารอาหารจำเป็นอื่นๆ ในเวลาเดียวกัน ทั้งนี้เพราะวิตามินซีที่ขายเป็นเม็ดนั้นคือ กรดแอสคอบิค(ชื่อทางเคมีของวิตามินซี) มักถูกผสมกับแป้งพร้อมน้ำตาลทราย และอาจมีการเพิ่มสารสกัดจากธรรมชาติบางชนิด เช่น ฟลาโวนอยด์ นัยว่าฟลาโวนอยด์นั้นช่วยให้การดูดซึมวิตามินซีให้ดีขึ้น จึงเป็นเหตุผลในการใช้คำเฉพาะเพื่อส่งเสริมการขายเช่น Bio-vitamin C โดยหวังให้ผู้บริโภคเข้าใจเอาเองว่า สินค้าที่ระบุแบบนี้เป็นวิตามินซีที่สกัดจากธรรมชาติ ซึ่งมักมีราคาที่แพงขึ้นกว่าวิตามินซีเม็ดที่สังเคราะห์ในโรงงาน ดังนั้นถ้าจะให้การกินวิตามินซีได้ผลดีท่านผู้บริโภคควรกินในรูปผลไม้เพื่อให้ได้ฟลาโวนอยด์ไปพร้อมกันกับความอร่อยของผลไม้นั้นอีกประเด็นที่หลายท่านมักเข้าใจผิดว่า อาหารที่มีวิตามินซีสูงต้องมีรสเปรี้ยว ดังเช่นเมื่อกินผลไม้ตระกูลส้มซึ่งมักมีรสเปรี้ยว ๆ หวาน ๆ แล้วได้วิตามินซีในระดับน่าพอใจ เลยเข้าใจว่าการดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำเชื่อมใส่น้ำแข็งก็น่าจะได้วิตามินซีในระดับสูงเช่นกัน เรื่องนี้เป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกนักเพราะ รสชาติที่แท้จริงของวิตามินซีคือ ขม ดังนั้นผลไม้ที่ขม เช่น มะขามป้อม จึงมีวิตามินซีสูงกว่ามะนาว อีกทั้งข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมักระบุว่า สามารถพบวิตามินซีระดับสูงได้ในอาหารที่ไม่มีรสเปรี้ยว เช่น พริกหวาน บรอคโคลี กะหล่ำดาว (Brussels sprout) ฯลฯ และการที่ผู้ค้าวิตามินซีเม็ด นำเอาน้ำตาลทรายและกรดมะนาวมาปิดบังความขมของวิตามินซีชนิดเม็ดนั้น เป็นการทำให้เด็กติดในรสชาติหวานอมเปรี้ยวซึ่งไม่ถูกต้อง เป็นการทำให้เด็กเข้าใจผิดว่า วิตามินซีเม็ดนั้นเป็นลูกอมที่มีประโยชน์ปราศจากโทษ น่าจะอมเล่นได้ทั้งวัน ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการได้รับวิตามินนี้เกินควร จึงมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ถ้าอมวิตามินซีมากเกินจำเป็นแล้วจะส่งผลเสียต่อร่างกายหรือไม่ ข้อมูลชิ้นหนึ่งซึ่งสืบค้นได้ในอินเทอร์เน็ตกล่าวว่า การกินวิตามินซีเสริมในระดับ 2000 มิลลิกรัมต่อวันนั้นมักก่อให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจส่งผลให้เกิดความผิดพลาดในการตรวจระดับน้ำตาลในเลือด นอกจากนี้ยังมีผู้ตั้งสมมุติฐานว่า วิตามินซีปริมาณสูงมากๆ นั้นเป็นสาเหตุของนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ด้วยเหตุนี้นักวิชาการที่ไม่มีนอกมีในกับบริษัทผู้ค้าวิตามินชนิดนี้ส่วนใหญ่ มักแนะนำผู้บริโภคว่า การกินอาหารที่มีวิตามินซีสูงดีกว่าการกินวิตามินซีเม็ด เพราะเมื่อกินจากอาหารจะได้ความอร่อยในภาพรวมมากกว่าการกินสิ่งที่เป็นเม็ด ซึ่งอาจมีแค่ความเปรี้ยวหวานหลอกเด็ก ประการที่สำคัญคือ การกินจากอาหารมักทำให้ได้วิตามินซีพร้อมสารอาหารอื่น ซึ่งจำเป็นในการทำงานร่วมกันเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย อย่างไรก็ดีเมื่อใดก็ตามที่ผู้บริโภคอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถกินผักผลไม้สดได้ วิตามินซีที่เป็นเม็ดก็เป็นทางเลือกที่จำเป็นต่อสุขภาพที่ดีเรา

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 166 รู้เท่าทันวิตามินซีกับไข้หวัดธรรมดา

ฤดูหนาวเริ่มมาถึงแล้ว เด็กๆ ผู้สูงอายุ แม้กระทั่งคนหนุ่มสาวมีโอกาสที่จะเป็นไข้หวัดธรรมดาได้ง่าย  มีคนถามกันมากว่า การกินวิตามินซีขนาดสูงจะช่วยป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดาได้หรือไม่  จึงลองสืบค้นข้อมูลในเว็บไซต์ของ Cochrane (ซึ่งเป็นเครือข่ายอิสระของบุคลากรด้านสุขภาพ นักวิจัย ผู้ป่วยและอื่นๆ ที่ร่วมกันทำหลักฐานเชิงประจักษ์จากงานวิจัยต่างๆ เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพ    Cochrane เป็นองค์กรสาธารณประโยชน์ มีเครือข่ายกว่า 120 ประเทศที่ทำงานร่วมกันเพื่อผลิตสารสนเทศทางด้านสุขภาพที่เชื่อมั่นได้และเข้าถึง โดยปราศจากการสนับสนุนจากธุรกิจและองค์กรอื่นๆ ที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน)  ในการทบทวนของ Cochrane เกี่ยวกับวิตามินซีในการป้องกันและรักษาไข้หวัดธรรมดา มีเนื้อหาที่น่าสนใจ จึงขอนำมาเสนอดังต่อไปนี้ ไข้หวัดธรรมดาเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยที่ทำให้เด็กต้องขาดเรียน ผู้ใหญ่ต้องขาดงาน ที่สำคัญคือผู้สูงอายุนั้นอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจนถึงขั้นเสียชีวิตได้  มีไวรัสกว่า 200 ชนิดที่ทำให้เกิดไข้หวัดธรรมดา มีอาการต่างๆ ได้แก่ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ ไอ และอาจมีอาการปวดศีรษะ ไข้ ตาแดง  อาการของไข้หวัดนั้นแตกต่างกันตามแต่ละคน และแต่ละชนิดของไข้หวัด  เนื่องจากไข้หวัดธรรมดานั้นเกิดจากเชื้อไวรัส การกินยาปฏิชีวนะจึงไม่เกิดประโยชน์ ดังนั้นจึงมีการหาวิธีการรักษาทางเลือกอื่นๆ อย่างมากมาย มีการนำวิตามินซีมาใช้ในการรักษาภาวะติดเชื้อทางเดินหายใจ ตั้งแต่มีการแยกสารวิตามินซีออกมาได้ในทศวรรษค.ศ. 1930  ต่อมาในทศวรรษค.ศ. 1970 เกิดความนิยมในการใช้วิตามินซีในการรักษาไข้หวัดธรรมดาอย่างมากมายเมื่อ ลีนัส พอลลิ่ง ซึ่งได้รับรางวัลโนเบิล สรุปผลจากการทดลองใช้วิตามินซีแบบมีกลุ่มควบคุมว่า วิตามินซีสามารถป้องกันและบรรเทาไข้หวัดธรรมดาได้  หลังจากนั้นมีการทำการศึกษาทดลองตามมากว่า 20 การศึกษา  วิตามินซีจึงถูกขายและใช้เป็นสารป้องกันและรักษาไข้หวัดอย่างแพร่หลาย   การทบทวนนี้จำกัดเฉพาะการศึกษาทดลองใช้วิตามินซีขนาด 0.2 กรัมต่อวัน หรือมากกว่าการกินวิตามินซีสม่ำเสมอไม่มีผลกระทบต่ออุบัติการณ์ของไข้หวัดธรรมดาในประชากรทั่วไป โดยทบทวนจากการศึกษาเปรียบเทียบจำนวน 29 รายงาน ครอบคลุมประชากร 11,306 ราย  อย่างไรก็ตาม การกินเสริมเป็นประจำมีผลพอควรแต่ชัดเจนในการลดระยะเวลาการเป็นไข้หวัดธรรมดา จากฐานการศึกษาเปรียบเทียบ 31 รายงานและมีการเกิดไข้หวัดธรรมดา 9,745 ครั้ง   การทดลอง 5 รายงาน ในประชากร 598 รายที่ออกกำลังกายระยะสั้นอย่างหนัก (ได้แก่ นักวิ่งมาราธอน นักเล่นสกี)  พบว่า วิตามินซีลดความเสี่ยงของไข้หวัดใหญ่ลงครึ่งหนึ่ง  แต่ไม่มีการรายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวิตามินซี   การทดลองให้วิตามินซีในขนาดสูงเพื่อเป็นการรักษา โดยเริ่มให้เมื่อเกิดอาการ พบว่า ไม่มีผลกระทบที่ชัดเจนเกี่ยวกับระยะเวลาในการเป็น หรือความรุนแรงของไข้หวัดธรรมดา  อย่างไรก็ตาม มีการทำการทดลองเพียงสองสามรายงานเท่านั้น และไม่มีการศึกษาในเด็ก แม้ว่าผลกระทบในการป้องกันไข้หวัดธรรมดาในเด็กจะมีมากกว่าวัยอื่น  มีการทดลองขนาดใหญ่หนึ่งการทดลองในผู้ใหญ่ รายงานผลดีในการให้วิตามินซี 8 กรัมซึ่งเป็นขนาดในการรักษาเมื่อเริ่มเกิดอาการ  และมีการทดลอง 2 รายงานที่ให้กินวิตามินซีเสริมเพื่อการรักษาเป็นเวลา 5 วัน และพบว่าเกิดประโยฃน์  มีความจำเป็นที่จะต้องทำการทดลองเพิ่มขึ้นเพื่อตัดสินบทบาทในการรักษาไข้หวัดธรรมดาที่เป็นไปได้ของวิตามินซี ซึ่งจะต้องให้ทันทีเมื่อเกิดอาการ ดูเพิ่มเติมใน: http://summaries.cochrane.org/CD000980/ARI_vitamin-c-for-preventing-and-treating-the-common-cold#sthash.NdamaOV4.dpuf  

อ่านเพิ่มเติม >