ฉบับที่ 167 เตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ

ฉลาดซื้อเล่มนี้เบิกโรงศักราชใหม่ว่าด้วยเรื่องของการเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพ โดยนายแพทย์วิชัย โชควิวัฒน ประธานสมาคมสภาผู้สูงอายุแห่งประเทศไทย อดีตอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก การเตรียมพร้อมเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณภาพนั้นต้องเตรียมตัวอย่างไร ต้องเตรียมครอบคลุมทุกด้าน ทุกมิติของชีวิตมนุษย์ ได้แก่ 1) เรื่อง สุขภาพ 2) เรื่อง ความมั่นคงในชีวิต ทรัพย์สิน 3) เรื่อง การงาน และข้อสำคัญ คือ ทำอย่างไรไม่ให้เหงา   ควรเริ่มเตรียมตัวตั้งแต่เมื่อใด โดยหลักการแล้ว การเตรียมตัวควรทำแต่เนิ่นๆ ตั้งแต่เริ่มทำงานเลยเป็นดีที่สุด เวลานี้สำนักงาน กพ. มักเตรียมตัวข้าราชการเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุหลังเกษียณอายุตอนปีสุดท้ายของชีวิตราชการซึ่งไม่ถูกต้อง ช้าเกินไป เช่น เรื่องสุขภาพ ถ้าในวัยหนุ่ม-สาว ไม่ดูแลรักษาสุขภาพ ใช้ชีวิตแบบไม่บันยะบันยัง เมื่อสูงอายุก็มักจะมีโรคประจำตัวรุมเร้า เช่น กินอาหารไม่เป็นเวลา กินเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด จนเป็นโรคกระเพาะอาหาร ซึ่งเป็นโรคเรื้อรัง บั่นทอนชีวิตมากเลย หรือดูแลรักษาฟันไม่ดี ทำให้ฟันผุก็จะเป็นปัญหามาก หรือปล่อยตัว ให้อ้วน บั้นปลายชีวิตก็มักจะมีเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เข่าเสื่อม ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจ เป็นต้น   สิ่งที่อยากให้รัฐบาลจัดหาเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุ ในแง่ของการเรียกร้องทางสังคม เช่น บริการสาธารณะ , หรือควรใช้สิทธิอะไรบ้าง ควรออมเงินหรือการทำประกันชีวิตอย่างไร จำเป็นหรือไม่( แค่เงินคนชราที่รัฐบาลให้พอหรือไม่ ) สิ่งที่รัฐควรทำเร่งด่วนขณะนี้ คือ นำ พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 มาบังคับใช้โดยเร็ว กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ดีที่สุดที่จะช่วยแก้ปัญหาสังคมผู้สูงอายุระยะยาว เป็นกฎหมายที่มีการดำเนินการมาอย่างเป็นระบบ เป็นขั้นตอน เริ่มจาก 1) มีการศึกษาวิจัยปัญหาและวิธีการแก้ไขของทั้งต่างประเทศและในประเทศมาอย่างดี 2) มีการประชุมสมัชชาผู้สูงอายุระดับชาติ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เชิญทุกภาคส่วนทั้งประเทศมาร่วมประชุม โดยมีการเตรียมการอย่างเป็นขั้นตอน บนพื้นฐานของข้อมูลและเอกสารทางวิชาการ 3) มติของสมัชชา มีการนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีในงานผู้สูงอายุแห่งชาติ 4) นายกรัฐมนตรีได้นำมติสมัชชาเข้าพิจารณา และผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ 5) คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติแต่งตั้งคณะอนุกรรมการดำเนินการ โดยมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน รับไปดำเนินการ ได้จัดทำร่างกฎหมายเสนอต่อรัฐบาล 6) รัฐบาลได้เสนอกฎหมายต่อสภาผู้แทนราษฎรได้รับความเห็นชอบ และได้ผ่านการเห็นชอบของวุฒิสภา จากนั้นได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงนามพระปรมาภิไธย ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้แล้ว 7) กฎหมายให้เวลา 1 ปี ในการเตรียมการ แต่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ละเมิดกฎหมายไม่ยอมทำตามกฎหมาย แต่ไปแก้ไขกฎหมายประกันสังคมมาตรา 40 แทน ซึ่งผิดหลักการอย่างยิ่ง พรบ.กองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ. 2554 เป็นกฎหมายส่งเสริมการออม ส่งเสริมให้ประชาชนทุกคนที่ไม่มีหลักประกันยามชรา คือ ไม่มีบำนาญจากราชการหรือประกันสังคม ให้มีบำนาญของตนเอง ถ้าออมเพียงเดือนละ 100 บาท รัฐบาลจะสบทบให้ 50 บาท หากเริ่มออมตั้งแต่เริ่มทำงานตอนอายุ 25 ปีขึ้นไป พออายุครบ 60 ปี จะมี “บำนาญของตัวเอง” เดือนละ 1,700 กว่าบาทบวกกับเบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาท ก็จะพออยู่ได้ ถ้าออมมากกว่านี้ก็จะมีบำนาญของตัวเองมากกว่านี้ ถ้าเข้ารับราชการหรือเข้าประกันสังคม เงินนี้ก็ไม่หายไปไหน ส่วนประกันสังคมมาตรา 40 (3) ผิดหลักการเพราะเปิดโอกาสให้คนที่มีบำนาญอยู่แล้วได้เงินซ้ำซ้อน ต้องเลิก และเร่งทำตาม พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติโดยเร็ว   เรื่องที่สอง ที่รัฐบาลควรทำ คือ เร่งรัดพัฒนาระบบการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิงตามแผนยุทธศาสตร์ที่คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติเห็นชอบแล้ว แผนยุทธศาสตร์นี้มุ่งส่งเสริมการดูแลผู้สูงอายุที่ต้องพึ่งพิง คือ กลุ่ม “ติดบ้าน” “ติดเตียง” โดยการดูแลที่บ้านและในชุมชนเป็นหลัก เป็นวิธีการส่งเสริมให้เกิดความเข้มแข็งของระบบการดูแลในครอบครัวและชุมชน ซึ่งจะประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าการดูแลในสถานสงเคราะห์หรือในโรงพยาบาลมาก และสอดคล้องกับวิถีชีวิตมนุษย์ที่ต้องอยู่ในครอบครัวและชุมชน   การดูแลสุขภาพ เช่น อาหารการกิน การออกกำลังกาย การรักษาพยาบาลเมื่ออยู่ในวัยชรา การดูแลสุขภาพในผู้สูงอายุมีหลักสำคัญ คือ “หลัก 5 อ.” ได้แก่ เรื่อง อาหาร ออกกำลังกาย อากาศ อารมณ์ และอุจจาระ ขยายความสั้นๆ คือ (1) เรื่องอาหาร ต้องถือหลัก “กินน้อย อยู่นาน” อย่ากินมากจนอ้วน อย่ากินอาหารรสจัด ทั้งหวานจัด เค็มจัด เปรี้ยวจัด (2) เรื่อง ออกกำลังกายเป็นเรื่องสำคัญ เพราะธรรมชาติร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ให้ต้องออกกำลังกาย เพื่อไล่ล่าหาอาหาร และต่อสู้หรือหนีศัตรู ปัจจุบันโลกเปลี่ยนไป มีเครื่องทุ่นแรงและสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย จนมนุษย์ไม่ต้องออกกำลังกายเลยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะฝืนธรรมชาติ กล้ามเนื้อจะอ่อนแรง ไข้ข้อจะไม่ดี สารเคมีที่ร่างกายหลั่งออกมา เมื่อไม่ได้ใช้จะทำให้เครียด ใจสั่น นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูง เพราะฉะนั้น ต้องออกกำลังกาย ถ้าไม่ออกกำลังกายร่างกายจะทรุดโทรม เจ็บป่วย และอมโรค (3) เรื่องอารมณ์ ต้องฝึกให้มองโลกในแง่ดี มีเมตตากรุณาสูง ถือหลักท่าน พุทธทาส คือ บั้นปลายชีวิต ต้องมุ่ง “แจกของ ส่องตะเกียง” อย่าโลภ อย่าจู้จี้ เอาแต่ใจ ลูกหลานจะหนีห่าง ไม่เข้าหา (4) เรื่องอากาศ คือ การอยู่ในที่อากาศถ่ายเทได้ดี ถ้าอยู่ในห้องแอร์ต้องเปิดให้ลมโกรกหรือพัดผ่านเป็นประจำ และให้แสงแดดส่องถึงได้ แสงแดดจะช่วยฆ่าเชื้อโรคได้มาก (5) เรื่องอุจจาระต้องระวังอย่าให้ท้องเสียหรือท้องผูก ท้องเสียรุนแรงทำให้ผู้สูงอายุถึงตายได้ ท้องผูกทำให้เกิดริดสีดวงทวาร ท้องผูกเรื้อรังอาจทำให้เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ เมื่อเจ็บป่วย ให้ไปใช้บริการตามสิทธิ ปัจจุบันคนไทยทุกคน ถ้าไม่มีสิทธิข้าราชการ ก็จะมีสิทธิบัตรทองให้ใช้ ไม่จำเป็นอย่าเข้าโรงพยาบาลเอกชน เพราะอาจถึงขั้นสิ้นเนื้อประดาตัวได้โดยง่าย ผู้มีสิทธิบัตรทอง ถ้ามีปัญหาให้โทรปรึกษาหมายเลข 1330 ได้ทุกเวลา ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉินให้โทร 1669 เรียกรถพยาบาลมารับได้ตลอด 24 ชั่งโมง ฟรี เรื่องที่ขอแนะนำเพิ่มเติมมีอีก 2-3 เรื่อง คือ 1)    อย่าคิดรวยตอนแก่ เพราะแก่แล้ว บารมีสมัยยังรับราชการหรือทำงานหมดไปแล้ว ความว่องไวในการแก้ปัญหาก็ลดลง อย่าโลภไปลงทุนอะไรมากมาย จะมีโอกาสหมดตัวได้ 2)    ถ้ามีทรัพย์สมบัติ อย่าแบ่งให้ลูกหลานจนหมดตัว ถ้าทรัพย์สมบัติหมดเมื่อไร ลูกหลานโดยมากจะเริ่มห่าง หรือ ทิ้งไปเลย 3)     ขอย้ำเรื่องกินอีกครั้ง กินผักผลไม้ให้มาก ของมันของเค็มกินให้น้อย เวลากินอาหารอย่ากินจนอิ่ม กินแค่เกือบอิ่มแล้วดื่มน้ำให้อิ่มพอดี การกินจนอิ่ม เป็นการกินเกินความต้องการของร่างกาย กระเพาะอาหารของเรา ธรรมชาติสร้างให้กินได้เกิน เมื่ออาหารเต็มกระเพาะแล้ว จะกินต่อได้อีก 20 นาที จึงจะส่งสัญญาณไปที่สมองให้รู้ว่ากระเพาะเต็มแล้ว ธรรมชาติอันนี้จำเป็นสำหรับสมัยก่อนที่อาหารขาดแคลน ต้องกินเผื่อไว้มื้อต่อๆ ไป ปัจจุบันอาหารมีมากมาย ต้องรู้จักหยุด เคยมีการศึกษาทดลอง เลี้ยงหนู 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งให้กินอิ่มหมีพีมัน พวกนี้อายุสั้น อีกกลุ่มใหกินอดๆ อยากๆ ปรากฏว่าอายุยืนกว่ามาก   คำแนะนำสำหรับคนที่ต้องอยู่ร่วมกันกับผู้สูงอายุ ต้องเข้าใจและเห็นใจคนสูงอายุ ต้องเข้าใจความรู้สึกและความต้องการของผู้สูงอายุ เช่น 1) ผู้สูงอายุยังต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า จึงต้องหาอะไรทำให้รู้สึกมีคุณค่า มีประโยชน์ อย่าให้ว่างหรือไม่มีบทบาทหน้าที่ จะเฉา 2) ต้องรู้ข้อจำกัดของผู้สูงอายุ เช่น อายุมากแล้ว นั่งส้วมแบบยองๆ ไม่ได้ ต้องนั่งแบบห้อยเท้า ถ้าจำเป็นต้องเปลี่ยนให้ 3) ต้องระวังดูแลอย่าให้ผู้สูงอายุเดินสะดุด ถ้าล้มจะแย่ พื้นต่างระดับหรือมีสิ่งเกะกะ กีดขวาง ต้องปรับแก้ไข อ่างอาบน้ำต้องเลิกใช้เลย เพราะมีโอกาสสะดุดหรือลื่นล้มหัวฟาดได้ง่าย หนุ่มๆ สาวๆ ที่สร้างบ้าน-ซื้อบ้าน ไม่ควรมีอ่างอาบน้ำ เพราะบ้านเราอาบน้ำทุกวัน แทบไม่มีความจำเป็นต้องใช้อ่างอาบน้ำเหมือนฝรั่งเลย 4) ผู้สูงอายุมักขี้ใจน้อย จะพูดจาหรือทำอะไรต้องระวัง 5) ผู้สูงอายุมักขี้เหงา ต้องหาอะไรให้ทำแก้เหงาหรือคอยชวนคุย จะทำอะไรก็อย่าตัดสินเอง ให้เกียรติปรึกษาหารือบ้าง เป็นต้น ให้ใช้ธรรมะ 3 หมวด คือ 1) พรหมวิหาร 4 โดยเฉพาะข้อแรก คือ เมตตา 2) สังคหวัตถุ 4 โดยเฉพาะข้อสอง ปิยวาจาคือ วาจาอ่อนหวาน และ 3) ขันติ-โสรัจจะ คือสุดท้ายต้องอดทน และโสรัจจะคือ ความเสงี่ยม ไม่แสดงท่าทางหรือท่าทีให้เกิดความน้อยใจ   สุดท้าย ถ้าเป็นลูกหลาน ต้องเข้าใจว่า พ่อแม่จะเห็นว่าเราเป็นเด็กอยู่เสมอ แม้เราจะอายุมากแล้ว ถ้าท่านจะสอนจะห่วงเราเหมือนเราเด็กๆ ก็ให้รับฟัง

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point