ฉบับที่ 250 ดูอย่างไรว่า “งานวิจัย” เชื่อได้

        ข้อมูลงานวิจัยทางวิชาการมักถูกใช้ในการตัดสินใจว่า ควรหรือไม่ควรเชื่อ เมื่อมีการกล่าวถึง เช่นในกรณีการอ้างข้อมูลทางวิทยาศาสตร์สุขภาพในการขายสินค้าที่อ้างว่า มีผลต่อสุขภาพของผู้บริโภค ซึ่งโดยหลักการด้านการคุ้มครองผู้บริโภคแล้วเรามักกล่าวถึง กาลามสูตร 10 ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้เพื่อช่วยผู้บริโภคให้ คิดก่อนเชื่อ เพื่อพิจารณาว่า สิ่งใดเชื่อได้หรือเชื่อไม่ได้นั้น ผู้บริโภคควรใช้ข้อมูลอะไรช่วยในการคิด ซึ่งคำตอบง่าย ๆ คือ ใช้ข้อมูลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการที่เชื่อถือได้ แต่ยังมีคำถามที่ตามต่อมาคือ งานวิจัยที่ตีพิมพ์นั้นเชื่อได้เสมอหรือ ซึ่งคำตอบคือ “ไม่เสมอไป” ดังนั้นในการอ้างอิงเอกสารทางวิชาการมาประกอบการโฆษณาสินค้าของผู้ขายนั้นทำให้จำเป็นต้องพิจารณาว่า  ผลงานวิจัยนั้นเชื่อถือได้หรือไม่ ซึ่งลำดับแรกที่ควรทำคือ ดูจากการที่วารสารที่ตีพิมพ์บทความนั้นมีกระบวนการพิจารณาความเหมาะสมของบทความที่รอบคอบสามารถจับผิดจับถูกในข้อมูลที่แสดงไว้ในบทความอย่างไร โดยกระบวนการซึ่งเป็นที่ยอมรับในวงการวิชาการปัจจุบันคือ การทำ peer review ต้นฉบับบทความก่อนสำนักพิมพ์ตัดสินใจตีพิมพ์ในวารสาร (peer-reviewed journals)         จากเอกสารอิเล็คทรอนิคเรื่อง Peer Review (THE NUTS AND BOLTS A guide for early career researchers) ตีพิมพ์ในเว็บ https://senseaboutscience.org เมื่อ 10 กันยายน 2021 นั้นมีข้อมูลหลายประเด็นซึ่งน่าสนใจเพื่อนำมาใช้ในการประเมินว่า ควรใช้งานวิชาการในวารสารใดเพื่อการตัดสินใจเชื่อคำกล่าวถึงคุณภาพของสินค้าเพื่อสุขภาพตามหลักกาลามสูตร 10         ความหมายในภาษาไทยของคำว่า peer-review นั้นน่าจะเป็น การทบทวนโดยผู้รู้เสมอกัน ซึ่งเป็นกระบวนการของวารสารที่เมื่อได้รับต้นฉบับบทความแล้ว บรรณาธิการหรือคณะบรรณาธิการต้องพิจารณาตรวจบทความว่า สมควรรับหรือไม่รับก็ได้ (ถ้ากล้าพอ) แต่เพื่อกันข้อครหานินทาจากสังคมนักวิชาการ กองบรรณาธิการมักตั้งคณะผู้เชี่ยวชาญ (โดยทั่วไปมักมีจำนวน 2-3 คน) ซึ่งเป็นผู้รู้ที่มีความรู้เสมอกันในสาขาวิชาดังกล่าว ที่พอจะเข้าใจลักษณะของงานวิจัยนั้น เป็นกรรมการผู้พิจารณาตรวจสอบอ่านบทความว่า เป็นผลงานที่ดีและมีคุณภาพในสายตาของผู้เชี่ยวชาญ หรือไม่         ในการค้นหาชื่อของผู้เชี่ยวชาญนั้น วารสารมักเลือกจากฐานข้อมูลผู้เชี่ยวชาญในประเทศหรือต่างประเทศที่วารสารเข้าถึงได้ หรือจาก "PubMed" ซึ่งเป็นฐานข้อมูลออนไลน์สำหรับการอ้างอิงบทคัดย่อ (ตลอดจึงการ download บางบทความที่เป็นตัวจริงที่ตีพิมพ์แล้ว) ซึ่งทำให้เห็นชื่อของนักวิจัยที่ทำงานในแต่ละสาขาที่มีผลงานถูกตีพิมพ์ในระดับน่าจะแสดงความเชี่ยวชาญได้ อย่างไรก็ดีบรรณาธิการหลายคนมีความเห็นว่า ควรเลี่ยงที่จะเลือกเชิญนักวิจัยระดับโลก (น่าจะหมายถึงคนที่ได้รับรางวัลต่าง ๆ) มาช่วยตรวจสอบบทความที่ถูกเสนอเพื่อการตีพิมพ์ เพราะผู้ทรงคุณวุฒิระดับนี้มักยุ่งเกินไปจนทำให้กระบวนการคัดเลือกบทความเพื่อวารสารแต่ละเล่มช้า จนในบางโอกาสผู้เชี่ยวชาญอาจให้ลูกศิษย์หรือนักวิจัยระดับรองในหน่วยงานทำแทน         กระบวนการทำ peer review ที่นิยมทำนั้นมี 3 แบบคือ แบบรู้เขาแต่เขาไม่รู้เรา (Single-Blind Review) ซึ่งกรรมการรู้ว่าใครเป็นคนเขียนต้นฉบับแต่ผู้เขียนไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้ช่วยให้กรรมการสามารถแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมา วิจารณ์โดยไม่ต้องกลัวว่าผู้เขียนจะตอบโต้ อย่างไรก็ดีข้อด้อยของกระบวนการนี้อาจเกิดขึ้นถ้าได้กรรมการที่ไร้ยางอาย หาทางชะลอกระบวนการตรวจสอบก่อนตีพิมพ์แล้วขโมยแนวคิดไปทำวิจัยเสียเอง ส่วนแบบเขาไม่รู้เราและเราก็ไม่รู้เขา (Double-Blind Review) นั้นกรรมการไม่รู้ว่าใครเป็นผู้แต่งและเจ้าของต้นฉบับก็ไม่รู้ว่าใครเป็นผู้ตรวจทาน กระบวนการนี้น่าจะลดความลำเอียงที่อาจเกิดขึ้นจากการรู้ว่า ใครเป็นผู้แต่งและสามารถประเมินความเหมาะสมของผลงานด้วยตัวงานเอง อย่างไรก็ดีแม้ต้นฉบับไม่มีการระบุชื่อผู้เขียน กรรมการ peer review อาจเดาได้ว่าใครคือเจ้าของต้นฉบับบทความได้หากผู้เขียนได้อ้างอิงบทความของตนเองหลายเรื่องในบทความ ส่วนกระบวนการแบบเปิดหน้าชก (Open Review) นั้นกรรมการผู้ประเมินรู้ว่าใครคือผู้เขียนและผู้เขียนรู้ว่าใครเป็นผู้ประเมิน ในกรณีที่วารสารเลือกใช้กระบวนการนี้มักมีการระบุชื่อผู้ประเมินควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ เพื่อให้กรรมการได้รับเครดิตสาธารณะสำหรับความเสียสละในการอ่าน ซึ่งเป็นการแสดงความโปร่งใส เพิ่มความรับผิดชอบของกรรมการให้มากขึ้นและน่าจะลดโอกาสในการมีอคติหรือการกระทำที่ไม่เหมาะสม         ประเด็นสำคัญที่ต้องดูในการทำ peer review คือ 1.) ความสำคัญของบทความต่อสังคมทางวิชาการ 2.) การอธิบายกระบวนการทำวิจัยอย่างชัดเจน (เพียงพอสำหรับนักวิจัยคนอื่นทำซ้ำได้) เพื่อตอบสมมุติฐานที่กำหนดไว้ 3.) การวิเคราะห์ผลการศึกษาทางสถิติเหมาะสม 4.) การอภิปรายผลจากงานวิจัยนั้นดูมีความสำคัญทางวิชาการและคำนึงถึงข้อจำกัดของการศึกษาว่ามีทางแก้ไขหรือป้องกันหรือไม่ 5.) งานวิจัยนั้นเป็นนวัตกรรมหรือเป็นสิ่งที่ค้นพบใหม่และ/หรือก่อความท้าทายกระบวนทัศน์ที่มีอยู่เดิมหรือเพิ่มความรู้ที่มีอยู่ 6.) การนำเสนอผลการวิจัยนั้นต้องปรับปรุงหรือไม่และผลนั้นเป็นการตอบคำถามที่ตั้งไว้หรือไม่ 7.) หากศึกษาในมนุษย์ เนื้อเยื่อของมนุษย์ หรือมีสัตว์เกี่ยวข้อง ต้องได้รับการอนุมัติด้านจริยธรรมจากหน่วยงานที่ดูแลการทำวิจัย 8.) ข้อสรุปผลการวิจัยหรือ conclusion นั้นเหมาะสม สะท้อนประเด็นปัญหาที่กำหนดไว้แต่ต้นโดยไม่เสนอแนวคิดใหม่ที่ไม่เกี่ยวในการทำวิจัย ตั้งคำถามที่ท้าทายโดยอ้างอิงผลการศึกษาที่ค้นพบเพื่อเรียกร้องให้ทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง         ประเด็นการแอบนำเสนอผลงานวิจัยของผู้อื่นในรูปแบบงานวิจัยของผู้เขียนต้นฉบับเองซึ่งเรียกว่า plagiarism นั้น ผู้ เชี่ยวชาญบางคนสามารถมองเห็นได้ว่า บทความที่กำลังตรวจสอบนั้นคล้ายกับบทความอื่นที่เคยได้อ่าน หรืออาจจำเป็นต้องใช้คำสำคัญ (key words) ค้นหาบทความในแนวเดียวกันจากฐานข้อมูลที่เหมาะสม ซึ่งในกรณีที่พบความคล้ายกันแบบไม่บังเอิญกรรมการควรแจ้งให้บรรณาธิการทราบทันทีพร้อมหลักฐาน         ในกรณีที่เจ้าของต้นฉบับสร้างข้อมูลเทียมในต้นฉบับอย่างระมัดระวัง การตรวจจับอาจยากมาก ตัวอย่างเช่น กรณีภาพถ่ายที่เคยมีการตีพิมพ์แล้วถูกนำเปลี่ยนสีและติดป้ายกำกับใหม่ให้ดูเป็นข้อมูลใหม่ หรือการลบบางส่วนของภาพทิ้ง อย่างไรก็ดีในบางกรณีผู้เชี่ยวชาญอาจสามารถสังเกตความผิดปรกติของข้อมูลตัวเลขที่ขัดต่อกฎทางคณิตศาสตร์ งานที่ขาดการสุ่มตัวอย่างที่เหมาะสม ขนาดกลุ่มตัวอย่างที่กำหนดในการศึกษาต่างกันมากอย่างไม่มีเหตุผล การวิเคราะห์ทางสถิติที่ไม่มีความหมายหรือผิดหลักการพื้นฐานที่ใคร ๆ ก็ควรรู้ ผลการศึกษาที่ดูดีเกินไปเช่น ค่าการเบี่ยงเบนมาตรฐานแคบจนไม่น่าเชื่อ หรือผลการจากกราฟที่แสดงความสัมพันธ์เป็นเส้นตรงเกินไปทั้งที่เป็นทำวิจัยในสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลาย         มีปรากฏการณ์หนึ่งที่สามารถเกิดได้หลังจากที่บทความได้รับการตีพิมพ์แล้วคือ ผู้อ่านบางคนสามารถตรวจจับได้ว่า เกิดความผิดปรกติในบทความ (เช่น การลอกเลียนบางส่วนหรือทั้งหมดหรือตกแต่งตัวเลขที่เป็นผลจากการวิจัย) แล้วแจ้งต่อบรรณาธิการ ซึ่งวารสารที่ดีมักทำการถอนบทความนั้นออกเหมือนไม่ได้ตีพิมพ์ (retraction) โดยเอกสารการแจ้งถอนนั้นมักปรากฏควบคู่ไปกับบทความที่ตีพิมพ์ออนไลน์ หรือประทับคำว่า Retraction บนบทความ ผู้ที่สนใจในประเด็นดังกล่าวสามารถติดตามได้ในเว็บ Retraction Watch (https://retractionwatch.com)         ในวารสารด้านวิทยาศาสตร์ที่มีขอบเขตทางวิชาการกว้างและมีผู้นิยมส่งผลงานเป็นจำนวนมาก เช่นวารสาร Science หรือ Nature หลายบทความอาจได้รับการปฏิเสธแม้มีคุณภาพดีพอควรแต่ทางบรรณาธิการยังรู้สึกว่า ยังไม่โดดเด่นกระทบใจคนในวงการวิชาการ ส่วนวารสารวิชาการทางวิทยาศาสตร์อื่นๆ เช่น PLOS ONE, Scientific Reports และ Peer J ใช้กระบวนการ peer review ที่เคร่งครัดเพียงเพื่อตัดสินความถูกต้องทางวิทยาศาสตร์และระเบียบวิธีเท่านั้น จึงทำให้วารสารเหล่านี้แทบจะตีพิมพ์บทความทั้งหมดที่ปฏิบัติตรงตามมาตรฐานที่จำเป็นของความเข้มงวดทางวิทยาศาสตร์ (ซึ่งเจ้าของต้นฉบับบางคนทำให้เกิดขึ้นได้แม้เนื้องานอาจดูไม่ดี) สำหรับวารสารเฉพาะทางที่มีจำนวนการเผยแพร่ต่อผู้อ่านค่อนข้างน้อยจึงมักมีผู้เสนอต้นฉบับบทความเพื่อขอตีพิมพ์น้อย ทำให้การแข่งขันเพื่อการตีพิมพ์ไม่สูงนัก อัตราการตอบรับเพื่อตีพิมพ์เฉลี่ยจึงอยู่ในระดับค่อนข้างสูง         การที่ต้นฉบับบทความวิชาการบางเรื่องได้รับการตีพิมพ์ยากนั้น อาจเนื่องจากเป็นสาขาวิชาเฉพาะที่ลงลึกมากจนหากรรมการที่เข้าใจได้ยากหรือคุณภาพงานไม่อยู่ในระดับที่ peer-reviewed journals ยอมรับ เจ้าของบทความ เช่น อาจารย์หรือนักวิจัยในหลายประเทศที่จำเป็นต้องมีผลงานในทุกปีมิเช่นนั้นอนาคตอาจมืดมลจนจำเป็นต้องเลือกไปใช้บริการจากวารสารประเภท จ่ายครบตีพิมพ์แน่ โดยวารสารลักษณะนี้เป็นของสำนักพิมพ์ที่ถูกเรียกว่า predatory publisher (สำนักพิมพ์นักล่าเหยื่อ) ซึ่งเป็นสำนักพิมพ์ที่ไม่ได้ดำเนินการเพื่อความก้าวหน้าทางวิชาการ แต่จัดทำวารสารเพื่อหารายได้เข้าตนเองเป็นหลัก กระบวนการทุกอย่างในการตีพิมพ์รวดเร็วทันใจมาก ในบางกรณีอาจพบว่าตัววารสารนั้นไม่ได้ดำเนินการโดยสำนักพิมพ์ที่เป็นเรื่องเป็นราวแต่มักมีเว็บไซต์ซึ่งดูดี รายชื่อวารสารหลอกลวงเหล่านี้หาดูได้จาก Beall’s list of predatory publishers ซึ่งเป็นรายชื่อวารสารและสำนักพิมพ์ที่เข้าข่ายซึ่งนักวิชาการที่ดีไม่ควรส่งต้นฉบับงานวิจัยไปตีพิมพ์ เพราะถึงตีพิมพ์แล้วผลงานนั้นอาจไม่ได้รับการพิจารณาว่ามีมาตรฐานพอในการขอตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัยที่มีคุณภาพ รายชื่อนี้จัดทำโดยบรรณารักษ์ชื่อ Associate Professor Jeffrey Beall สังกัด University of Colorado สหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประสบการณ์ในการทบทวนกระบวนการทำงานและคุณภาพของวารสารจากสำนักพิมพ์จำนวนมาก จนเห็นความแตกต่างของวารสารที่มีคุณภาพและด้อยคุณภาพว่าเป็นอย่างไร อย่างไรก็ดีวารสารที่มีการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มและ/หรือออนไลน์แต่ไม่อยู่ใน Beall’s list นั้นก็ไม่ได้หมายความว่ามีคุณภาพดี แต่เพราะอาจเป็นเพียงวารสารประจำถิ่นที่ไม่ประสงค์ในการเผยแพร่การค้นพบสู่วงการวิชาการระดับนานาชาติ วารสารลักษณะนี้หาดูได้ไม่ยากนักในประเทศที่พัฒนาแล้วได้แค่ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันไม่สามารถพัฒนาต่อไปให้ดีกว่านี้         ข้อสังเกตง่าย ๆ ของ predatory publishers คือ 1.) เป็น วารสาร online แทบทั้งนั้น อาจมีการพิมพ์เป็นตัวเล่มบ้างเช่นกันพอเป็นกระสาย 2.) มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการตีพิมพ์ในราคาสูง 3.) มีกระบวนการพิจารณาเรื่องเพื่อตีพิมพ์รวดเร็วทันใจ ประเมินต้นฉบับบทความแบบอะลุ่มอล่วยพอเป็นพิธี 4.) สำนักพิมพ์ของวารสารมักตั้งอยู่ในประเทศที่ไม่น่าเชื่อว่ามีความก้าวหน้าทางวิชาการในสาขานั้นๆ แต่หลายสำนักพิมพ์นั้นก็ตั้งอยู่ในเมืองใหญ่ของสหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา และบางประเทศในยุโรป 5.) วารสารเหล่านี้มักตั้งชื่อให้คล้ายคลึงกับวารสารมีชื่อเสียงที่มีมานานแล้วเพียงแต่ใช้วิธีลวงตา เช่นเติม s ไปท้ายชื่อวารสารเดิมหรือถ้าเดิมมี s ก็ตัดออกเสีย 6.) บทความที่ตีพิมพ์มักใช้ภาษาที่ผิดไวยากรณ์บ้าง สะกดคำผิด เป็นต้น         วารสารประเภท predatory journals นั้นเป็นแหล่งตีพิมพ์ยอดนิยมของคนที่เรียนออนไลน์เพื่อขอรับปริญญาขั้นสูงจากมหาวิทยาลัยห้องแถวในหลายประเทศ ซึ่งเจ้าของบทความไม่ได้เรียนจริงหรือแม้มีวิทยานิพนธ์ก็ใช้วิธีแอบทำสำเนาจากวิทยานิพนธ์ของคนอื่นที่มีการเผยแพร่ในอินเตอร์เน็ท แล้วนำมาดัดแปลงโดยอาจอาศัยความช่วยเหลือจากมือปืนอาชีพในบางสาขาวิชาแล้วทำรูปเล่มให้ดูดี เพียงเพื่อใช้ลงใน social media ต่าง ๆ เพื่อลวงสังคมว่าได้จบในสาขาวิชาหนึ่งในขั้นสูงแบบเดียวกับคนที่เขาใช้ความพยายามอย่างหนักกว่าจะได้มา คนประเภทนี้มีเสนอหน้ามากพอควรในสังคมโลกปัจจุบัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 192 ผลงานดีๆ เพื่อผู้บริโภคไทยของ คอบช.

คอบช. คือใครคอบช. เป็นชื่อย่อของ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จำลองรูปแบบของ องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จากกฎหมายรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ. 2540 และ พ.ศ. 2550 โดยเครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานด้านผู้บริโภค 302 องค์กร มีวัตถุประสงค์เพื่อทดลองทำหน้าที่ตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะด้านนโยบายและมาตรการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งในปี 2558-2559 มีผลงานที่โดดเด่นจำนวนมาก ท่านสามารถติดตามผลงานและดาวน์โหลดรายงานประจำปีของ คอบช. ได้ที่ www.indyconsumer.org--------------------------------------------------------------------------3 ผลงานดีๆ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปี 2559• ข้อเสนอเพื่อการแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญอัตโนมัติ• ข้อเสนอเพื่อแก้ไขปัญหา การฟ้องขับไล่กรณีบ้านเอื้ออาทรของการเคหะแห่งชาติ จากสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย • ผลักดันด้านนโยบาย ให้ อย.ออกประกาศฉบับใหม่เพื่อควบคุมการแสดงฉลากอาหารที่ได้จากพืชดัดแปรพันธุกรรม1 ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่ได้มาตรฐาน แม้ดูเหมือนมีหลายหน่วยงานเข้ามาดูแลและเฝ้าระวังปัญหาน้ำดื่มจากตู้หยอดเหรียญ แต่สถานการณ์กลับไม่ดีขึ้น คนไทยยังเสี่ยงต่อการบริโภคน้ำดื่มไม่ปลอดภัยจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญที่กำลังเป็นที่นิยมมากในปัจจุบันดังนั้นในปี 2559 คณะอนุกรรมการด้านอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ ภายใต้คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ร่วมกับนักวิจัยอิสระทำการศึกษา เรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” โดยสำรวจลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญและการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ จำนวน 855 ตู้ พื้นที่ 17 เขตของกรุงเทพฯ ซึ่งผลการศึกษามีดังนี้ด้านการปฏิบัติตามกฎข้อบังคับของผู้ประกอบกิจการตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า มีผู้ประกอบการที่มีใบอนุญาตประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพียงร้อยละ 8.24 เท่านั้นเรื่องสถานที่ตั้งตู้น้ำดื่มฯ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญถูกวางไว้ใกล้บริเวณที่มีฝุ่นมาก (ริมถนน ริมฟุตบาท) ร้อยละ 76.3 วางอยู่ใกล้แหล่งระบายน้ำเสีย/น้ำขัง ร้อยละ 28.3 และวางอยู่ใกล้ที่ทิ้งขยะ ซึ่งมีสัตว์พาหะนำโรคอย่าง หนู แมลงสาบ แมลงวัน ร้อยละ 22 วิธีการติดตั้งพบว่า มีตู้ที่ยกระดับให้สูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร ร้อยละ 52.3 และมีจุดวางพักภาชนะบรรจุน้ำร้อยละ 88.9เรื่องการติดฉลากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ (ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) พบว่า มีการแสดงรายงานการตรวจสอบคุณภาพน้ำเพียง ร้อยละ 6 แสดงรายงานการเปลี่ยนไส้กรอง ร้อยละ 7 มีการแสดงข้อแนะนำในการใช้ตู้ ร้อยละ 20 มีการแสดงคำเตือน “ระวังอันตรายหากไม่ตรวจวัน เดือน ปี ที่เปลี่ยนไส้กรองและตรวจสอบคุณภาพน้ำ” ร้อยละ 26.1 และแสดงเบอร์ติดต่อกรณีเครื่องมีปัญหาร้อยละ 50.5เมื่อดูลักษณะทางกายภาพของตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ พบว่า ตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญ ตัวตู้ไม่สะอาด ร้อยละ 55.2 หัวจ่ายน้ำไม่สะอาดร้อยละ 42.9 ตู้เป็นสนิม ร้อยละ 29.4 มีการผุกร่อนร้อยละ 21.1 ตู้มีรูรั่วซึม ร้อยละ 11.2 สำหรับในส่วนของเรื่องการบำรุงรักษาและการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญนั้น พบว่า มีการล้างถังเก็บน้ำภายในตู้ทุกเดือน เพียงร้อยละ 43.3สำหรับแหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำดื่มหยอดเหรียญ จากการสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่ใช้น้ำประปาในการผลิตร้อยละ 93.8 ส่วนที่เหลือไม่ทราบแหล่งน้ำที่ใช้สู่ความร่วมมือคอบช. ได้นำผลการศึกษาพร้อมข้อเสนอจากงานวิจัยเรื่อง “สถานการณ์ความปลอดภัยของการบริโภคน้ำดื่มจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญในกรุงเทพมหานคร” ส่งต่อให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหน่วยงานรัฐที่ทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญอัตโนมัติ หลายหน่วยงานต่างให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ได้กำหนดให้มีการตรวจติดตามตู้น้าดื่มหยอดเหรียญไว้ในแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าแล้ว กรณีที่พบการกระทำความผิดจะส่งเปรียบเทียบความผิดตามกฎหมายทันที และในส่วนของแผนการตรวจสอบฉลากสินค้าในส่วนภูมิภาคประจำปีงบประมาณ 2559 ทาง สคบ.จะกำหนดให้เทศบาลและองค์การบริหารส่วนตำบลดำเนินการตรวจสอบด้วยสำหรับในพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร รับผลการศึกษาของ คอบช.เพื่อนำไปประกอบการทำร่างเทศบัญญัติการควบคุมกิจการผลิตน้ำดื่มจากเครื่องจำหน่ายตู้น้ำดื่มอัตโนมัติขณะที่รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และแผนงานพัฒนาวิชาการและกลไกคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) ยินดีที่จะนำผลการศึกษาไปพัฒนา และจัดทำความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เรื่องการควบคุมมาตรฐานน้ำดื่มตู้หยอดเหรียญ โดยจะตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อหาแนวทางการบูรณาการแก้ไขปัญหาด้านการบังคับใช้กฎหมายเพื่อควบคุมคุณภาพตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญต่อไปนอกจากนี้ ข้อเสนอจากผลการศึกษายังได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงาน สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เรื่องน้ำดื่มที่ปลอดภัยสำหรับประชาชน ในปี 2559 ด้วยสรุปข้อเสนอจากงานวิจัย • ข้อเสนอต่อผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการต้องขอใบอนุญาตฯ และจัดสถานที่ให้เหมาะสมก่อนการติดตั้งตู้ และปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง• ข้อเสนอต่อหน่วยงานสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ต้องติดตามและตรวจสอบตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญทั้งหมด ถ้าพบว่าไม่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องเรียกเจ้าของตู้ให้มาดำเนินการตามกฎหมาย หากไม่สามารถติดต่อได้รื้อถอนตู้ และเสนอให้ติดสติกเกอร์ทุกตู้ที่ได้ใบอนุญาตฯ ถูกต้องสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ควรมีแผนการเก็บตัวอย่างน้ำจากตู้น้ำดื่มไปตรวจวิเคราะห์ เพื่อเฝ้าระวังความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ หากน้ำที่ผลิตจากตู้น้ำดื่มหยอดเหรียญไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ดำเนินคดีอย่างเด็ดขาด สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม(สมอ.) ต้องติดตามกำกับดูแลเครื่องผลิตน้ำดื่มแบบหยอดเหรียญ ให้เป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ต้องบังคับให้ผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตฯ ต้องขออนุญาตการติดฉลาก ตามประกาศฯ ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2553 รวมถึงติดตามการติดฉลากของผู้ประกอบการว่ากระทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่าดำเนินการไม่ถูกต้อง ควรลงโทษให้เด็ดขาด2 บ้านเอื้ออาทรกับการบอกเลิกสัญญาที่ไม่เป็นธรรมที่อยู่อาศัยคือปัจจัยที่สำคัญในการดำรงชีวิตของมนุษย์ ไม่เพียงแค่ใช้พักผ่อนหลับนอน แต่ยังเป็นศูนย์รวมของครอบครัวซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญของการพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับประเทศไทยการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ โดยเฉพาะกับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งในอดีตรัฐเองก็ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ จึงจัดตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า การเคหะแห่งชาติ ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่จัดให้มีเคหะขึ้น เพื่อให้ประชาชนทั่วไป รวมถึงผู้มีรายได้น้อย ได้มีที่อยู่อาศัย ทั้งในแบบเช่าซื้อและซื้อ โดยโครงการบ้านเอื้ออาทร ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่การเคหะฯ เป็นผู้ดำเนินการ ตามนโยบายของรัฐบาลในยุค พ.ศ. 2546บ้านเอื้ออาทร ในนิยามของการเคหะฯ คือ เป็นที่อยู่อาศัยที่ได้มาตรฐานและอยู่ในชุมชนที่มีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม มีระดับราคาที่กลุ่มเป้าหมาย คือกลุ่มที่มีรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 15,000 บาท (รายได้ปี 2546) และปรับเป็นรายได้ครัวเรือนไม่เกินเดือนละ 40,000 บาท สามารถรับภาระการผ่อนชำระได้ต่อมาโครงการนี้ ถูกเรียกขานว่า เป็นนโยบายประชานิยมมีนัยเพื่อซื้อใจคนที่มีรายได้น้อย ให้มีความหวังกับการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง แต่จากระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า แม้จะมีการวางแผนไว้อย่างดีสำหรับโครงการนี้ แต่ในทางปฏิบัติกลับมีช่องว่างมากมายจนทำให้เกิดการทุจริต (ซึ่งปัจจุบันกำลังมีการตรวจสอบกันอย่างเข้มข้น) และท้ายที่สุดก็เกิดปัญหาดีมานด์เทียมขึ้น จนก่อให้ซัพพลายหรือตัวอาคารที่สร้างเสร็จค้างไว้ ไม่มีผู้มารับโอนตามจริง เป็นภาระหนักให้การเคหะฯ ต้องขวนขวายหากลยุทธ์ในการระบายสต็อกในโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีค้างอยู่ให้หมด และยังมีปัญหาที่ผู้ซื้อมือแรกไปต่อไม่ไหว กลายเป็นหนี้สูญ หรือปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสินเชื่อ เพราะผู้มีรายได้น้อย ส่วนใหญ่จะมีรายได้ไม่แน่นอนทำให้เกิดปัญหาในการชำระค่างวดให้ตรงเวลา หรือขาดส่งค่างวดตามที่สัญญาระบุไว้ติดๆ กัน จนนำไปสู่การบอกเลิกสัญญาการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมปัญหาการถูกการเคหะแห่งชาติบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภค จนนำไปสู่การฟ้องร้องขับไล่ เป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งจากดำเนินงานช่วยเหลือผู้บริโภคของ คอบช. พบว่า ปัญหาเกิดจากข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมเมื่อผู้บริโภคตัดสินใจเข้าร่วมโครงการบ้านเอื้ออาทร จะมีสัญญาเกิดขึ้น 3 ฉบับ คือ สัญญาจะซื้อจะขาย สัญญากู้ยืมเงิน และสัญญาค้ำประกัน โดยผู้บริโภคทำสัญญาจะซื้อจะขายกับการเคหะแห่งชาติ ผู้บริโภคทำสัญญากู้เงินกับสถาบันการเงิน และการเคหะฯ ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของผู้บริโภคและยอมรับผิดร่วมกับสถาบันการเงินสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้บริโภคผิดพลาดในการส่งเงินค่างวดตามสัญญากู้เงิน สถาบันการเงินจะส่งเรื่องให้ผู้ค้ำประกัน คือการเคหะฯ ทราบเรื่องเพราะถือเป็นลูกหนี้ร่วม การเคหะฯ จะดำเนินการจ่ายหนี้แทนผู้บริโภคและส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาจะซื้อจะขายให้กับผู้บริโภค ซึ่งหากผู้บริโภคไม่ยินยอมออกจากบ้าน(ที่บางคนก็อยู่มาหลายปีแล้ว) ก็ตามมาด้วยการฟ้องขับไล่ ซึ่งอาจมองได้ว่าเป็นเรื่องปกติ แต่หากได้พิจารณาในตัวสัญญาที่เกิดขึ้นทั้งสามฉบับ กลับพบว่า มีจุดที่เอาเปรียบผู้บริโภคอย่างมาก จนทำให้หลายคนเสียบ้านไปแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัวทาง คอบช. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อกรณีการบอกเลิกสัญญาไม่เป็นธรรมของการเคหะฯ ดังนี้1.ขอให้การเคหะแห่งชาติแก้ไขสัญญาเรื่องผู้ขายบอกเลิกสัญญาได้โดยไม่ต้องบอกกล่าวก่อน 2.ขอให้การเคหะแห่งชาติ บังคับใช้ข้อสัญญา เรื่องห้ามให้เช่าช่วงอย่างเคร่งครัด 3.ขอให้การเคหะแห่งชาติกับสถาบันการเงิน ปฏิบัติตามสัญญากู้เงินในเรื่องการให้แก้ไขข้อผิดสัญญาก่อนบอกเลิกสัญญา“ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่องให้ธุรกิจกู้ยืมเงินเพื่อให้ผู้บริโภคของสถาบันการเงิน เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2544 ข้อ 3 (2) ระบุว่า การผิดสัญญาเรื่องใดของผู้กู้ที่ผู้ให้กู้มีสิทธิบอกเลิกสัญญาจะต้องให้ผู้ให้กู้ระบุไว้เป็นการเฉพาะ ด้วยตัวอักษรสีแดง หรือตัวดำ หรือตัวเอนที่เห็นเด่นชัดกว่าข้อความทั่วไป และก่อนการบอกเลิกสัญญาต้องแจ้งหนังสือไปยังผู้กู้ และควรกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขดังกล่าว แต่สัญญากู้ยืมเงินในโครงการบ้านเอื้ออาทร ที่ผู้กู้หรือผู้บริโภคทำกับสถาบันการเงินไม่มีข้อสัญญาที่ให้ผู้ให้กู้ต้องแจ้งเป็นหนังสือไปยังผู้กู้และไม่มีการกำหนดระยะเวลาอันสมควรให้ผู้กู้แก้ไขการผิดสัญญาหรือผิดเงื่อนไขก่อนการบอกเลิกสัญญา จึงเป็นการขัดต่อประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา ข้อ 3 (2) และพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 35 ตรี”หลังการนำข้อเสนอข้างต้นเข้าหารือ การเคหะแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางปฏิบัติเพื่อการคุ้มครองผู้ซื้อหรือผู้บริโภคโครงการบ้านเอื้ออาทร ดังนี้1.หากผู้ซื้อผิดนัดและไม่มีเงินชำระก็ให้สิทธิแก่ผู้ซื้อ ที่จะนำเงินที่เหลือมาผ่อนชำระกับการเคหะแห่งชาติในรูปแบบสัญญาเช่าซื้อได้2.การเคหะแห่งชาติได้ประชาสัมพันธ์ข้อห้ามต่างๆ ให้ผู้ซื้อทราบก่อนทำสัญญา และปัจจุบันมีการโอนกรรมสิทธิ์บ้านให้ผู้ซื้อเป็นจำนวนมาก3.การเคหะแห่งชาติได้ประสานกับสถาบันการเงิน และตกลงให้สถาบันการเงินมีหนังสือแจ้งผู้ซื้อที่ผิดนัดชำระหนี้ ได้ทราบเรื่องการผิดสัญญาและให้ผู้ซื้อได้แก้ไขข้อผิดสัญญาในระยะเวลาอันสมควร ก่อนถูกบอกเลิกสัญญา และก่อนที่สถาบันการเงินจะมีหนังสือแจ้งการเคหะแห่งชาติให้ชำระหนี้แทน3 การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) ผู้บริโภคย่อมมีสิทธิที่จะได้รู้ถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะอาหารที่อาจมีความเสี่ยงต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารดัดแปรพันธุกรรมหรือที่ใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม(จีเอ็มโอ) เป็นอาหารชนิดหนึ่งที่ยังมีข้อกังขาในเรื่องความปลอดภัยแต่ผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอ ไม่อาจสังเกตได้ในระดับปกติ ต้องใช้การทดสอบเป็นการเฉพาะ เนื่องจากไม่มีความแตกต่างในทางกายภาพ การแจ้งบนฉลากอาหารจึงเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยแจ้งข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะในเรื่องฉลากอาหารจีเอ็มโอ แต่มีอยู่ใน พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 251 พ.ศ. 2545 แต่บทบัญญัติดังกล่าวมีเนื้อหาครอบคลุมเฉพาะในผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่วเหลืองและข้าวโพด เท่านั้นฉลากจีเอ็มโอต้อง ‘ชัดเจน’ ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ ไม่เฉพาะถั่วเหลือง-ข้าวโพดสิ่งนี้คือข้อเสนอที่ คอบช. ได้พยายามผลักดันเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำให้ได้ เพราะการปล่อยให้ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบจีเอ็มโอ ที่นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด วางจำหน่ายตามท้องตลาด ย่อมไม่ทันสถานการณ์จีเอ็มโอซึ่งปัจจุบันอาหารจีเอ็มโอในนั้นก้าวหน้าไปอย่างมาก มีมากกว่าถั่วเหลืองกับข้าวโพดแล้ว เช่น มันฝรั่ง มะเขือเทศ แป้งมันสำปะหลัง มะละกอ และปลาแซลมอล (Salmon) ซึ่งยังไม่มีข้อกำหนดต้องติดฉลากจีเอ็มโอแต่อย่างใดในประเทศไทย กรณีเช่นนี้จึงไม่เป็นธรรมกับอาหารจีเอ็มโอ ทั้งถั่วเหลืองและข้าวโพด ตลอดจนผู้บริโภคที่ปฏิเสธอาหารประเภทดังกล่าว เพราะไม่มีโอกาสเลือก หรือรับรู้ข้อมูลจากฉลากที่ชัดเจนในปี 2559 คอบช.ได้ทำข้อเสนอแนะต่อการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.ความปลอดภัยชีวภาพ พ.ศ. ....(พืช GMOs) โดยคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศ และการสื่อสารมวลชน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จนมีการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษากฎหมายเพื่อกำกับดูแลสิ่งมีชีวิตดัดแปรพันธุกรรมเพื่อพิจารณา ร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ทั้งยังได้เสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการออกประกาศควบคุมฉลากแสดงสินค้าพืชดัดแปรพันธุกรรม (GMOs ) ที่ก้าวหน้ากว่าบทบัญญัติ ปี พ.ศ.2545-----------------------------------------------------ปัจจุบันมี ถั่วเหลือง และข้าวโพด เท่านั้นที่แสดงฉลาก จากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรมที่ต้องมีการแสดงฉลากอาหาร 22 รายการ ได้แก่1. ถั่วเหลือง 2. ถั่วเหลืองสุก (cooked soybean) 3. ถั่วเหลืองคั่ว 4. ถั่วเหลืองบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned soybean) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์ อ่อนตัว (retort pouch) 5. ถั่วหมัก (natto) 6. เต้าเจี้ยว (miso) 7. เต้าหู้ เต้าหู้ทอดน้ำมัน 8. เต้าหู้แช่แข็ง กากเต้าหู้ (ฟองเต้าหู้และผลิตภัณฑ์) 9. นมถั่วเหลือง 10. แป้งถั่วเหลือง (soybean flour) 11. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 1-10 เป็นส่วนประกอบหลัก 12. อาหารที่มีโปรตีนจากถั่วเหลือง (soybean protein) เป็นส่วนประกอบหลัก13. อาหารที่มีถั่วเหลืองฝักอ่อนและยอดอ่อน (green soybean) เป็นส่วนประกอบหลัก 14. อาหารที่มีถั่วงอกที่ได้จากถั่วเหลืองเป็นองค์ประกอบหลัก 15. ข้าวโพด 16. ป๊อปคอร์น (pop corn) 17. ข้าวโพดแช่เยือกแข็ง (freeze) หรือแช่เย็น (chill) 18. ข้าวโพดบรรจุขวดหรือบรรจุกระป๋อง (canned corn) หรือบรรจุในบรรจุภัณฑ์อ่อนตัว (retort pouch) 19. แป้งข้าวโพด (corn flour/corn starch) 20. ขนมขบเคี้ยวที่ผลิตโดยใช้ข้าวโพดเป็นส่วนประกอบหลัก 21. อาหารที่มีอาหารตามข้อ 15-20 เป็นส่วนประกอบหลัก 22. อาหารที่มีข้าวโพดบดหยาบ (corn grits) เป็นส่วนประกอบหลัก

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 189 กระแสต่างแดน

งานวิจัยมีธงเรามักเข้าใจว่าคำแนะนำด้านโภชนาการนั้นมีเป้าหมายเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ หรือโรคเบาหวาน แต่ถ้าได้รู้ที่มาที่ไปของงานวิจัยที่เป็นพื้นฐานของคำแนะนำเหล่านั้น เราอาจต้องคิดใหม่เดือนที่แล้วอาจารย์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ค้นพบเอกสารชิ้นหนึ่งในชั้นใต้ดินของห้องสมุดมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้รู้ว่าในยุค 60 นักวิทยาศาสตร์ที่นั่นรับจ้างอุตสาหกรรมอาหารทำงานวิจัยที่นำไปสู่ข้อสรุปว่า ไขมันคือสาเหตุหลักของโรคหัวใจ (น้ำตาล จึงรอดตัวจากการถูกสังคมรังเกียจ) ทุกวันนี้ค่ายอาหารก็ยังคงใช้วิธีเดิม งานวิจัยที่ได้ข้อสรุปชวนพิศวงว่า เด็กที่ไม่ได้รับประทานช็อคโกแล็ตแท่งมีน้ำหนักมากกว่าเด็กที่ทานบ่อยๆ ก็เป็นงานที่ได้รับทุนจากเฮอร์ชียส์ ผู้ผลิตช็อกโกแล็ตรายใหญ่นั่นเอง นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยนิวยอร์กที่ศึกษาเรื่องการเป็นผู้สนับสนุนงานวิจัยของบริษัทอาหารพบว่าร้อยละ 90 ของงานเหล่านี้ มีข้อสรุปในทิศทางที่เป็นผลดีต่อผู้ให้ทุน นี่นับเฉพาะการสนับสนุนที่ทำอย่างเปิดเผยเท่านั้น ...ไม่เอาวันหมดอายุเงินเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดอายุ แต่เมื่อเราเปลี่ยนมันเป็นบัตรของขวัญแล้วทำไมอายุของมันจึงถูกจำกัดอยู่แค่ 6 เดือน 1 ปี หรือ 2 ปี เท่านั้น ผลการสำรวจความเห็นของนักช้อปโดยองค์กรผู้บริโภคนิวซีแลนด์ระบุว่า คนส่วนใหญ่รู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่เป็นธรรม และมูลค่าความสูญเสียจากการใช้บัตรกำนัล “ไม่ทันเวลา” สูงถึง 10 ล้านเหรียญต่อปี (250 ล้านบาท) จากกระแสเรียกร้องให้ขยายวันหมดอายุออกไปเป็น 5 ปี เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาได้มีการรณรงค์ให้ “ยกเลิกวันหมดอายุ” สำหรับบัตรกำนัลเหล่านี้ไปเลย เสียงตอบรับอยู่ในระดับที่น่าพอใจ มีผู้ประกอบการร้านค้าปลีก 25 ราย ยอมเปลี่ยนแปลงเงื่อนไข บางร้านยกเลิกวันหมดอายุ ในขณะที่บางเจ้าเลือกแบบขยายเวลาแต่ร้านค้าบางแห่งยังยืนยันใช้ระยะเวลา 1 ปีเหมือนเดิม โดยให้เหตุผลว่าผู้ถือบัตรจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะเขาจะผ่อนผันหรือไม่ก็ออกบัตรใหม่ให้ ... ถ้าจะทำขนาดนั้นแล้วจะกำหนดวันหมดอายุไปทำไมกันมีขึ้นต้องมีลงผู้ใช้บริการรถเมล์และรถไฟฟ้าที่สิงคโปร์คงจะมีความสุขมากขึ้นในปีหน้า เพราะสภาการขนส่งสาธารณะประกาศปรับลดค่าโดยสารลงร้อยละ 4.2 สำหรับผู้ใช้บัตรโดยสาร ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคมนี้เป็นต้นไปผู้ใช้รถสาธารณะจำนวน 2.2 ล้านคน ทั้งที่ถือบัตรเดินทางสำหรับผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ผู้มีรายได้น้อย และนักเรียน ต่างก็จะได้รับส่วนลดต่อเที่ยวระหว่าง 1 ถึง 27 เซนต์แล้วแต่ระยะทางและประเภทของบัตร เขาสามารถลดค่าโดยสารได้เนื่องจากปีนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลดลง แต่ไม่แน่ว่าต่อไปจะมีการปรับขึ้นหรือไม่ สิงคโปร์ขาดแคลนพนักงานขับรถ ผู้ประกอบการแต่ละเจ้าจึงแย่งกันเสนอเงินเดือนเพื่อให้ได้ตัวบุคลากรคุณภาพมาอยู่กับบริษัท พขร. ที่ได้เงินเดือนระหว่าง 40,000 ถึง 50,000 บาท นี้ต้องผ่านการอบรมหลายขั้นตอนทั้งจากบริษัทและหน่วยงานรัฐ นอกจากจะขับขี่อย่างปลอดภัยแล้ว ยังต้องมีความรู้เรื่องงานบริการ ระบบการออกตั๋ว ไปจนถึงกฎระเบียบข้อบังคับต่างๆ ด้วยเคลียร์ไม่ได้ผลกระทบจากอุบัติเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กลับมาหลอกหลอนผู้คนที่ฟุกุชิมะอีกครั้ง หลังพบตะกอนกัมมันตรังสีในถังบำบัดน้ำเสียของศูนย์บริการล้างรถสูงเกินระดับที่รัฐกำหนดไปถึง 7 เท่าหลังเหตุระเบิดเมื่อเดือนมีนาคมปี 2011 ฝุ่นเถ้าต่างๆ ก็ปลิวมาติดรถยนต์ที่อยู่ในรัศมี เมื่อผู้คนในเมืองเริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและนำรถไปล้างในศูนย์บริการเหล่านี้ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1,700 แห่งในจังหวัดฟุกุชิมะ กากตะกอนเหล่านี้จึงไปรวมกันอยู่ที่นั่นห้าปีผ่านไป ถังบำบัดเริ่มเต็มจึงต้องมีการตักตะกอนออก แต่ตะกอนเหล่านี้ไม่ธรรมดา ไม่สามารถใช้พลั่วตักออกเฉยๆ เพราะเป็นอันตรายต่อคนทำงาน ต้องหาวิธีที่ปลอดภัยเพียงพอ และเมื่อตักออกมาแล้วก็ต้องหาวิธีทิ้งที่ปลอดภัยอีกเช่นกันสมาคมผู้ประกอบการศูนย์ล้างรถเคยเรียกร้องให้รัฐบาลและบริษัทโตเกียวพาวเวอร์ออกมารับผิดชอบ แต่ก็ไม่เป็นผลเพราะกฎหมายดูแลมาไม่ถึงตะกอนในถังบำบัด ... นิวเคลียร์ไม่ใช่เรื่องที่จะเคลียร์กันได้ง่ายๆคุณคิดอะไรอยู่ทุกวันเฟสบุ้คถามผู้คนกว่า 1,700 ล้านคนว่าพวกเขาคิดอะไรอยู่ และผู้คนเหล่านี้ก็ยินดีตอบเสียด้วย งานสำรวจจากสหรัฐฯ ที่ติดตามโพสต์ของคนอเมริกัน 555 คน พบว่าสิ่งที่พวกเขาบอกเฟสบุ้คผ่านถ้อยคำหรือรูปภาพ รวมถึงความถี่ในการบอกนั้นเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของพวกเขา เช่น คนที่ชอบสังคมมักจะโพสต์เรื่องราวกิจกรรมที่ทำในชีวิตประจำวัน คนที่ไม่ค่อยเห็นคุณค่าของตัวเองมักโพสต์เกี่ยวกับแฟนบ่อยๆ คนมีปัญหา จะเรียกร้องความสนใจหรือแสวงหาการยอมรับ และคนหลงตัวเองจะโพสต์ความสำเร็จเกี่ยวในการออกกำลังกายหรือควบคุมอาหาร เป็นต้น หลายคนบำบัดอารมณ์ตัวเองด้วยระบายความคับข้องใจลงในโพสต์ แต่งานวิจัยจากเม็กซิโกพบว่าการทำแบบนี้จะส่งผลร้ายมากกว่า และถึงกับออกคำเตือนให้คนเหล่านั้นไปพบแพทย์ตัวจริงแต่บอกไว้ก่อน การตัดขาดจากแวดวงออนไลน์ก็ไม่ใช่ทางออก มันอาจเป็นสัญญาณว่าเรากำลังมีปัญหาหรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 188 รู้เท่าทันเมล็ดเจีย

ระยะนี้ ดูเหมือน เมล็ดเจีย กลายเป็นพระเอกในตลาดสินค้าสุขภาพทางเลือกโดยเฉพาะในต่างประเทศ ประเทศไทยกำลังตามมาติดๆ เมล็ดเจียจะแซงเมล็ดงาดำหรือแมงลักได้หรือไม่ ในต่างประเทศมีความนิยมเรื่องเมล็ดธัญพืชที่ไม่ขัดสีและเมล็ดธัญพืชที่มีคุณค่าทางอาหารสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว นอกจากนี้เมล็ดเจีย ยังมีตำนานว่าเป็นธัญพืชที่ชาวแอซเท็กโบราณในคริสศตวรรษ 14-16 นิยมบริโภคเพราะเชื่อว่า จะให้พลังกับร่างกายและสติปัญญา ต่อมาได้เกิดสูญพันธุ์ไป และมาค้นพบใหม่อีกครั้ง ทำให้มีการนำมาเพาะปลูกและบริโภคโดยเชื่อว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างยิ่งเพราะมีภูมิปัญญาโบราณของชาวแอซเท็กเป็นหลักฐาน เรามารู้เท่าทันเมล็ดเจียกันเถอะเมล็ดเจียคืออะไรเมล็ดเจียมีชื่อว่า Salvia hispanica หรือนิยมเรียกกันทั่วไปว่า Chia เป็นพืชตระกูลมินต์ มีถิ่นกำเนิดในเม็กซิโกกลางและใต้ และในกัวเตมาลา นักรบชาวแอซเท็กกินเมล็ดเจียเพื่อให้พลังงานและความทนทานสูง พวกเขาเชื่อว่า การกินเมล็ดเจียแค่หนึ่งช้อนชาจะช่วยเพิ่มพลังได้นาน 24 ชั่วโมงคุณค่าของเมล็ดเจียมีการโฆษณาเกี่ยวกับเมล็ดเจียในเว็บไซต์จำนวนมาก ทั้งบริษัทร้านค้าและแพทย์ทางเลือกที่มีชื่อเสียง บางคนเรียกว่าเป็น superfood ก็มี และอ้างคุณค่าว่า มี โอเมก้า 3 มากกว่าปลาแซลมอน 8 เท่า, โอเมก้า 6, เหล็กมากว่าผักโขม 3 เท่า, สารต้านอนุมูลอิสระมากกว่าบลูเบอรี่ 3 เท่า, แมกนีเซียมมากกว่าบรอกโคลี 15 เท่า, แคลเซียมมากกว่านม 5 เท่า, เส้นใยอาหารสูง และยังดีต่อโรคหัวใจ ลดไขมัน ความดันเลือดลดลง เป็นต้น ในบางเว็บไซต์ อ้างว่า เมล็ดเจียช่วยในการลดน้ำหนัก รักษาโรคเบาหวาน กระดูกพรุน สำหรับนักกีฬาราคาซื้อขายเมล็ดเจียในท้องตลาดสุขภาพในท้องตลาดประเทศไทยมีการขายเมล็ดเจียกันหลายราคา ตั้งแต่ 600 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงพันกว่าบาท โดยเฉพาะที่นำเข้าจากประเทศเม็กซิโกและเป็นเกษตรอินทรีย์จะมีราคาสูงเป็นพิเศษการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้องมีงานวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดเจียในวารสารวิชาการจำนวนมาก ในวารสาร Pubmed มีการตีพิมพ์การศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเมล็ดเจียประมาณ 46 รายงาน จากการทบทวนงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Pubmed พบว่า งานวิจัยต่างๆ นั้นยังมีหลักฐานทางวิชาการที่จำกัด ไม่สามารถยืนยันประสิทธิผลของเมล็ดเจียได้เพียงพอ แต่พบว่า มีงานวิจัยคลินิก 2 รายงานที่น่าเชื่อถือ โดยรายงานการศึกษาทางคลินิกรายงานหนึ่ง พบว่า เมล็ดเจียอาจมีประสิทธิผลต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ (รวมทั้งน้ำหนักร่างกายที่มากเกินไป) บ้าง ส่วนอีกรายงานนั้นพบว่า ไม่มีประสิทธิผลต่อปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือดและหัวใจ ทั้ง 2 การศึกษาพบว่า เมล็ดเจียไม่มีผลต่อการลดน้ำหนักของร่างกายอย่างไรก็ตาม การทบทวนเอกสารวิชาการโดยเฉพาะเอกสารทางประวัติศาสตร์ พบว่า เมล็ดเจียมีความปลอดภัยในการบริโภคสำหรับผู้ที่ไม่มีอาการแพ้เมล็ดเจียในการทบวนงานวิจัยเสนอว่าต้องมีการศึกษาที่เป็นระบบเพิ่มเติม ก่อนที่จะใช้เมล็ดเจียมาเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและใช้ในการบำบัดโรคและอาการต่างๆ ตามที่มีความเชื่อกันอยู่ในปัจจุบันสรุปว่า เมล็ดเจียนั้นเป็นธัญพืชอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าทางอาหาร แต่การนำมาบริโภคเพื่อบำบัดอาการ และโรคต่างๆ นั้น ยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ที่ยืนยันประสิทธิผลดังกล่าว จึงควรที่จะประเมินดูว่า คุ้มกับราคาที่สูงมากเกินไปหรือไม่

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 66 ชั่งความจริงใจข้าวหอมมะลิถุงไหนไม่โกง

เมื่อปี พ.ศ.2541 ฉลาดซื้อได้ทำการเก็บตัวอย่างข้าวสารบรรจุถุงที่แจ้งว่าเป็นข้าวหอมมะลิส่งให้ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีทำการตรวจวิเคราะห์มาตรฐาน พบว่าจากจำนวน 18 ตัวอย่างมีเพียง 8 ตัวอย่างเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์มาตรฐานข้าวหอมมะลิที่เหลือเป็นข้าวหอมมะลิผสมกับข้าวชนิดอื่นทั้งสิ้นในปี 2545 กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ได้มีประกาศเรื่องการรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิบรรจุถุงเพื่อจำหน่ายในประเทศขึ้นมาใหม่ และใช้วิธีเชิญชวนให้ผู้ประกอบการแสดงฉลากที่ถูกต้องด้วยการอนุญาตให้ใช้เครื่องหมายรับรองมาตรฐานข้าวหอมมะลิบรรจุถุงตรารูปพนมมือ โดยข้าวหอมมะลิที่จะได้รับการรับรองมาตรฐานมีทั้งสิ้น  8 ชนิดซึ่งเป็นการแบ่งตามคุณภาพของเมล็ดข้าวและระดับการสี (ดูที่ล้อมกรอบมาตรฐานข้าวหอมมะลิ 8 ชนิด) แต่ที่เราเห็นจำหน่ายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะเป็นข้าวขาวหอมมะลิ 100% ข้าวขาวหอมมะลิ 5% มีข้าวขาวหอมมะลิ 10% บ้างเพียงเล็กน้อยผลสำรวจของกรมการค้าภายในถึงวันที่ 31 มกราคม 2548 มีข้าวหอมมะลิบรรจุถุงที่ได้เครื่องหมายรับรองตราพนมมือ นับได้รวมทั้งสิ้น 104 ยี่ห้อจากผู้ประกอบการทั้งหมด 68 ราย ซึ่งบางยี่ห้อก็จำหน่ายข้าวขาวหอมมะลิหลายชนิดในชื่อยี่ห้อเดียวกันเพียงแต่ใช้สีถุงหรือลวดลายของถุงบรรจุที่แตกต่างกันไป นอกจากนี้ก็ยังมีข้าวหอมมะลิที่ไม่มีตรามือพนมหรือกรมการค้าภายในไม่ได้รับรอง และข้าวหอมมะลิบางยี่ห้อก็อาจทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิดได้หากไม่สังเกตฉลากให้ถี่ถ้วน เนื่องจากเป็นข้าวหอมมะลิผสมกับข้าวชนิดอื่นที่มีต้นทุนต่ำกว่าทำให้สามารถขายได้ในราคาที่ถูกเอามาก ๆ เมื่อเปรียบเทียบกับข้าวหอมมะลิล้วน ๆ   เพื่อให้คุณผู้อ่านสามารถเลือกซื้อข้าวหอมมะลิบรรจุถุงได้อย่างคุ้มค่าคุ้มราคา ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงได้ทำการสำรวจข้าวหอมมะลิบรรจุถุงใน 2 ลักษณะด้วยกัน คือ หนึ่ง การสำรวจคุณภาพข้าวหอมมะลิ และสองคือการสำรวจน้ำหนักสุทธิของข้าวหอมมะลิขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัมว่าเที่ยงตรงตามที่ระบุไว้จริงแค่ไหนหรือไม่ ผลสำรวจคุณภาพข้าวหอมมะลิบรรจุถุงมีข้าวสารบรรจุถุง ที่ฉลากระบุว่าเป็นชนิดข้าวขาวหอมมะลิ 100% จำนวนทั้งสิ้น 35 ตัวอย่าง ที่ฉลาดซื้อเก็บได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 34 ตัวอย่างเป็นถุงบรรจุขนาด 5 กิโลกรัม อีก  1 ตัวอย่างเป็นข้าวถุงบรรจุขนาด 4 กิโลกรัมคือยี่ห้อ ช้างทิพย์ ข้าวเติมวิตามินของ บ.สากลธุรกิจเลิศรวมมิตร จำกัด ซึ่งมีราคาใกล้เคียงกับข้าวขนาด 5 กิโลกรัมเลยทีเดียว ฉลาดซื้อได้ส่งตัวอย่างทั้งหมดไปที่ห้องปฏิบัติการทดสอบของศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี กรมวิชาการเกษตร เพื่อตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานของข้าวขาวหอมมะลิ 100% เหล่านี้ ผลการวิเคราะห์พบว่าจาก 35 ตัวอย่าง มี 2 ตัวอย่างที่ไม่ได้คุณภาพตามเกณฑ์ของกรมการค้าภายใน คือยี่ห้อ ฉลาดชิม ของ บ.ไทยฮา จก.(มหาชน) ซึ่งไม่มีตรารับรองมือพนม และ ยี่ห้อ นครไทย ของ บ.บี.เค.เค.อินเตอร์ไรซ์ จำกัด ยี่ห้อนี้มีตรารับรองมือพนมของกรมการค้าภายในแสดงที่ข้างถุง โดยทั้งสองตัวอย่างมีปริมาณอมิโลสและข้าวอื่นปนเกินมาตรฐาน ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- เกณฑ์มาตรฐานข้าวขาวหอมมะลิ 100% บรรจุถุงของกรมการค้าภายในที่ให้การรับรองด้วยตรามือพนม1.    กรมการค้าภายในยอมให้ข้าวหอมมะลิ 100% มีข้าวอื่นปนได้ไม่เกิน 8 %2.    ปริมาณอมิโลสอยู่ระหว่าง 13-18 % ข้าวอมิโลสต่ำ ๆ เวลาหุงไม่ควรใช้น้ำมากเพราะจะทำให้ข้าวแฉะ3.    อุณหภูมิแป้งสุกต่ำ ซึ่งทำให้ข้าวสุกไวไม่ใช้เวลาหุงนาน ---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------- ผลการวิเคราะห์ข้าวสารบรรจุถุงที่ฉลากระบุว่าเป็นข้าวขาวหอมมะลิ 100% จำนวน 35 ตัวอย่าง

อ่านเพิ่มเติม >