ฉบับที่ 273 ‘วางแผนเกษียณ’ การรับมือกับบั้นปลายชีวิต

        “สิ่งที่น่าเสียดายคือตายไปแล้วใช้เงินไม่หมด สิ่งที่น่าสลดคือใช้เงินหมดแต่ยังไม่ตาย”         เป็นคำพูดขำๆ ขมๆ ที่หลายคนเคยได้ยิน น่าสลดยิ่งกว่าคือคนส่วนใหญ่ในประเทศนี้จัดอยู่ในกลุ่มหลัง คือใช้เงินหมดแต่ยังไม่ตายหรือจนก่อนแก่นั่นเอง ซึ่งถ้าคิดตามสูตรการใช้ชีวิตปัจจุบัน ทำงานมีเงินเดือน เก็บเงิน ตอนเกษียณก็น่าจะมีเงินก้อนพอสมควร ยกเว้นข้าราชการที่มีเงินบำนาญ ยิ่งตำแหน่งสูงยิ่งเยอะ อย่างอนุพงษ์ เผ่าจินดา ได้เงินบำนาญ 60,000 ต่อเดือน (แม่เจ้า!!)         การวางแผนเกษียณจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในประเทศที่ความเหลื่อมล้ำสูงและสวัสดิการไม่ทั่วถึงเท่าเทียมอย่างไทย         เว็บไซต์ของธนาคารกรุงไทยเสนอสูตรคำนวณจำนวนเงินหลังเกษียณที่ควรมีไว้ว่า         จำนวนเงินที่ควรมี = ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปี X จำนวนปีที่คาดว่าจะใช้ชีวิตหลังเกษียณ         ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณต่อปีจะประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายปัจจุบันหรือคุณจะปรับสัดส่วนตามที่ต้องการก็ได้ แล้วคุณยังต้องคำนึงถึงอัตราเงินเฟ้อในอนาคตเพราะ 100 บาทตอนที่คุณวางแผนเกษียณจะมีมูลค่าน้อยกว่า 100 บาทตอนที่คุณเกษียณแล้วแน่นอน         แล้วก็ต้องคอยปรับพอร์ตเพื่อลดความเสี่ยง ความผันผวนต่างๆ นานาตามอายุที่เพิ่มขึ้น หรือก็คือยิ่งแก่สินทรัพย์ที่มีความผันผวนสูงอย่างหุ้นควรลดสัดส่วนลง พอเกษียณแล้วก็ต้องคอยดูแลพอร์ตอีกเพราะคุณต้องคอยเอาเงินออกมาเป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน เขาถึงพูดว่าสำหรับแผนเกษียณใครเริ่มได้เร็วกว่ายิ่งได้เปรียบ เพราะเวลาจะยิ่งเพิ่มพูนมูลค่าสินทรัพย์และลดความเสี่ยงลง (แต่ต้องลงทุนให้ถูกต้องนะ)         แต่พูดก็พูดเถอะ ชีวิตไม่ง่ายดายขนาดนั้น วางแผนไว้ดีแค่ไหนก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามแผน ต่อให้คุณกันเงินฉุกเฉินไว้ตามสูตรเป๊ะๆ ก็อาจเหตุฉุกเฉินกว่าได้เสมอ เลยต้องย้ำแล้วย้ำอีกว่าการจัดการการเงินส่วนบุคคลก็ทำไป อีกขาก็ต้องผลักดัน กดดันให้รัฐบาลสร้างระบบดูแลผู้คนที่มีเท่าเทียม ทั่วถึง และมีประสิทธิภาพให้ได้         อย่างนโยบายบำนาญแห่งชาติที่จะจ่ายให้ผู้สูงอายุเดือนละ 3,000 บาทที่ใช้หาเสียง นั่นก็เป็นข้อเสนอของภาคประชาชนที่ขับเคลื่อนจนฝ่ายการเมืองตอบรับ ปัญหาอยู่ที่ว่าจะทำหรือไม่และทำเมื่อไหร่ เพราะผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นทุกวัน         คุณอาจคิดว่าเงิน 3,000 จะพอเหรอ? ไม่พอหรอก แต่มันจะช่วยแบ่งเบาภาระสำหรับคนทำมาหากินทั่วไปที่ต้องแบกรับคน 2 เจเนอเรชั่นคือคนรุ่นพ่อแม่กับคนรุ่นลูก         ส่วนจะวางแผนเกษียณอย่างไร เชิญเสิร์ชหาด้วยคำว่า ‘การวางแผนเกษียณ’

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 167 กระแสต่างแดน

ธนาคารเอชเอสบีซี (HSBC) ได้สำรวจความพร้อมทางการเงินสำหรับชีวิตวัยเกษียณ ของผู้คนในวัย 25 ปีขึ้นไป และผู้คนในวัยเกษียณ จาก 15 ประเทศ* ทั่วโลกในระหว่างเดือนสิงหาคมและกันยายนปี 2557 และพบสิ่งที่น่าสนใจดังนี้ ... เมื่อแยกดูรายประเทศจะเห็นว่า คนฝรั่งเศสในวัยทำงานที่ไม่มั่นใจว่าจะมีชีวิตสุขสบายหลังเกษียณ มีถึงร้อยละ 60  รองลงมาได้แก่ คนไต้หวัน (ร้อยละ 56) และคนตุรกี (ร้อยละ 54) ส่วนในอินเดียและอินโดนีเซียนั้นมีผู้ตอบแบบสำรวจไม่ถึงร้อยละ 10 ที่รู้สึกไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถเกษียณอย่างเป็นสุข ถ้าแยกกันระหว่างหญิงชายจะพบว่า ร้อยละ 38 ของผู้หญิงไม่มั่นใจว่าจะได้ใช้ช่วงเวลาเกษียณโดยไม่ลำบากทางการเงิน ในขณะที่ฝ่ายชายนั้นอยู่ที่ร้อยละ 31 ในภาพรวม ประมาณร้อยละ 70 ของคนวัยทำงาน มีความกังวลว่าจะมีเงินไม่พอใช้ในวัยเกษียณ ร้อยละ 66 กลัวว่าจะมีเงินไม่พอกับค่าใช้จ่ายรายวันในอนาคต อย่างไรก็ตาม ร้อยละ 85 ของคนกลุ่มดังกล่าว ไม่ได้จัดให้การเก็บเงินเพื่อใช้ยามเกษียนเป็นเป้าหมายหลักของการออมเงินในปัจจุบัน อุปสรรคสำคัญที่ทำคนวัยทำงานรู้สึกว่าพวกเขายังไม่สามารถเก็บเงินไว้ใช้ยามชราได้ คือภาระผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก และหนี้อื่นๆ  แนวโน้มดังกล่าวชัดเจนมากในประเทศสหรัฐอเมริกา มาเลเซีย เม็กซิโก และแคนาดา เกือบร้อยละ 30 ของคนในวัยเกษียณที่รู้สึกไม่มีความพร้อมทางการเงินสำหรับชีวิตปัจจุบัน บอกว่า ก่อนหน้านี้พวกเขาไม่ทราบว่าตนเองควรมีเงินเก็บเท่าไร ร้อยละ 37 ของผู้ตอบแบบสำรวจในวัยก่อนเกษียณบอกว่าพวกเขายังเตรียมตัวไม่พร้อมทางการเงินสำหรับการเกษียณอย่างสุขสบาย  โดยประเทศที่คนวัยก่อนเกษียณรู้สึกไม่พร้อมมากที่สุดในการสำรวจนี้ได้แก่ ไต้หวัน และตุรกี สำหรับกลุ่มคนที่เกษียณแล้ว ผู้คนในตุรกี ฝรั่งเศส เม็กซิโก และสิงคโปร์ คือกลุ่มที่รู้สึกว่าตนเองมีความพร้อมน้อยที่สุด เกือบ 2 ใน 3 ของคนในวัยเกษียณที่รู้สึกไม่พร้อมนั้น ไม่รู้เลยว่าตนเอง “ไม่พร้อม” จนกระทั่งเข้าสู่วัยเกษียณแล้ว มากกว่า 1 ใน 3 ของผู้ตอบแบบสำรวจที่อยู่ในวัยเกษียณบอกว่า ถ้าย้อนเวลากลับไปได้พวกเขาจะเริ่มเก็บเงินให้เร็วกว่านี้ โดยคนวัยเกษียณใน มาเลเซีย เม็กซิโก และอินเดีย เป็นกลุ่มที่อยากกลับไปเปลี่ยนพฤติกรรมการออมของตนเองมากที่สุด ร้อยละ 38 ของคนที่เกษียณแล้วเห็นว่า การเก็บเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณควรเริ่มก่อนอายุ 30 ปี ในขณะที่เพียงร้อยละ 26 ของคนวัยใกล้เกษียณเท่านั้นที่เห็นว่าควรเริ่มเก็บเงินเร็วขนาดนั้น ร้อยละ 38 ของคนวัยทำงาน (ยกเว้น สหรัฐฯ และ ฮ่องกง) ยังไม่เริ่มเก็บเงิน และยังไม่มีแผนที่จะเก็บเงินสำหรับชีวิตหลังเกษียณ ผู้ทำสำรวจ (HSBC) ให้คำแนะนำว่า ถ้าต้องการอยู่สบายในวัยเกษียณ ... -          ควรเริ่มเก็บเงินตั้งแต่วันนี้ ยิ่งเร็วเท่าไรยิ่งดี -          ประเมินให้ได้ว่าจะต้องใช้เงินเท่าไรสำหรับการใช้ชีวิตในแบบที่เราต้องการ โดยเฉลี่ยแล้วคนเราจะต้องการเงินสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณอีก 18 ปี (คิดจากอายุเกษียณที่ 60 ปี และอายุคาดเฉลี่ยที่องค์การอนามัยโลกประเมินไว้ที่ 78 ปี) -          หาทางทำให้เงินที่มีอยู่งอกเงยขึ้น ด้วยการลงทุนอย่างฉลาด -          คิดถึงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเช่น อุบัติเหตุ หรืออาการเจ็บป่วย ไว้ด้วย ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อแผนการใช้เงินของเราอย่างไร   *ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เม็กซิโก สิงคโปร์ ไต้หวัน ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา *การสำรวจดังกล่าวเป็นการตอบแบบสอบถามออนไลน์ โดยในประเทศอินโดนีเซียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการสอบถามแบบตัวต่อตัวเพิ่มด้วย *อ้างอิงจากรายงาน The Future of Retirement: A balancing act ลิขสิทธิ์ HSBC Holdings plc 2015

อ่านเพิ่มเติม >