ฉบับที่ 237 The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims

        15 พฤศจิกายน นอกจากจะเป็นวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนน หรือ The World Day of Remembrance for Road Traffic Victims (WDR) แล้ว ยังเป็นการครบรอบ 15 ปี ของการกำเนิดวันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนอีกด้วย แต่ด้วยเพราะสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 กิจกรรมรณรงค์ร่วมรำลึกในปีนี้อาจจะดูเงียบเหงาขาดสีสันลงไปบ้าง คงมีเพียงมูลนิธิเมาไม่ขับที่เป็นแกนหลักในการจัดงานรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทุกปี ขณะที่หน่วยงานหลักของประเทศกลับไม่มีการแสดงออกถึงวาระสำคัญของโลกในวันนี้อีกเช่นเคย         เหมือนทุกปีที่วันรำลึกถึงผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนหรือที่เราเรียกกันว่า “วันเหยื่อโลก” มีเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนได้ร่วมกันรำลึกถึงผู้เสียชีวิตและผู้สูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก เพราะอุบัติเหตุทางถนนเกิดไม่ได้เลือกเกิดขึ้นเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เกิดได้กับทุกคนไม่ว่าจะรวยล้นฟ้า ดารานักแสดงหรือแม้แต่คนเดินถนนทั่วไป         ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการของผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนตลอดปี พ.ศ. 2563 ผ่านการเบิกจ่ายค่าสินไหมทดแทนจากบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ณ วันที่ 14 พฤศจิกายน 2563 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 12,990 คน และบาดเจ็บ 855,415 คน ผ่านมาเกือบครบปีแล้ว แม้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะลดน้อยลง อาจเพราะผลสืบเนื่องจากสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่เกิดการล็อกดาวน์ประเทศ ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม มีจำนวนลดลง แต่เมื่อเวลาผ่านไปทุกอย่างเริ่มคลี่คลายทุกคนกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนก็ดีดตัวกลับพุ่งขึ้นมาแรงเหมือนเดิม         โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้หลายฝ่ายคาดว่า หากไม่ทำอะไรจริงจัง ในช่วงปลายปีไตรมาสสุดท้ายจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนอาจจะพุ่งแตะใกล้เคียงสองหมื่นคนเหมือนในปีที่ผ่านมาก็เป็นได้         ทั้งนี้ตัวเลขการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 12,990 คน ข้างต้นยังไม่ได้รวมกรณีเกิดเหตุแล้วไม่ใช้สิทธิ หรือ รถไม่มีประกัน พ.ร.บ. รวมถึงยังไม่ใช่ตัวเลขจากระบบ 3 ฐาน ที่ประกอบด้วย ข้อมูลจากมรณบัตรและหนังสือรับรองการตาย ที่เป็นระบบลงทะเบียนการตายของผู้เสียชีวิตทุกรายที่มีการแจ้งตาย ข้อมูลจากระบบ POLIS ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลคดี และข้อมูลจากระบบ E-Claim ที่เป็นระบบบันทึกข้อมูลสำหรับเบิกจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทน เพื่อให้ได้ข้อมูลการตายที่มีความครอบคลุมมากที่สุด         เพราะหากกลับไปย้อนดูข้อมูลการเสียชีวิตของอุบัติเหตุทางถนนจากข้อมูล 3 ฐาน ย้อนหลัง 4 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2559 – 2562 พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลดลงเล็กน้อย คือ 21,745 > 21,607 > 19,331 และ 19,904 คน ตามลำดับ แต่ที่น่าตกใจ คือ ยังอยู่ในระดับเกือบ 20,000 คน ต่อปี หรือคิดเป็นวันละ 55 คนทุกวัน และเกือบ 70% ของผู้เสียชีวิตเกิดจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ ขณะที่อีกประมาณ 3,000 คน ต่อปีที่เสียชีวิตเป็นเด็กและเยาวชน หรือเท่ากับโรงเรียนขนาดใหญ่ปีละ 1 โรงเรียนที่หดหายไป         ในแต่ละปีประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเกือบ 20,000 คน หากพิจารณามูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ กรณีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บสาหัส ข้อมูลโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า การเสียชีวิตมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 10 ล้านบาทต่อราย และการบาดเจ็บสาหัสมีมูลค่าเท่ากับประมาณ 3 ล้านบาทต่อราย และถ้าตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในปี พ.ศ. 2562 มีผู้เสียชีวิตจำนวน 19,904 คน จะคิดเป็นมูลค่าความเสียหายมากถึง 119,040,000,000 (หนึ่งแสนหนึ่งหมื่นเก้าพันสี่สิบล้านบาท) และอาจถึง 200,000 ล้านบาท หากรวมมูลค่าความเสียหายทั้งบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตไว้ด้วยกัน         ปัญหาอุบัติเหตุทางถนนจึงไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนนึง และไม่ใช่เรื่องที่ต้องฝากความหวังไว้กับรัฐบาลเพียงอย่างเดียว เพราะที่ผ่านมาสิบปีทศวรรษความปลอดภัยทางถนน (พ.ศ. 2554 - 2563) ตามข้อตกลงปฏิญญามอสโกที่รัฐบาลมีหน้าที่ต้องลดอัตราการเสียชีวิตลงครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ภายในปี พ.ศ. 2563 ประเทศไทยล้มเหลวไม่เป็นท่า          รัฐบาลมีโอกาสแก้ตัวต่อจากนี้อีกสิบปี กับการจัดการความปลอดภัยทางถนนภายใต้กรอบ “ปฏิญญาสตอกโฮล์ม” พ.ศ. 2564 – 3573 และเป้าหมายระดับโลกในการลดการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนลงให้ได้ครึ่งหนึ่ง หรือร้อยละ 50 ที่ต้องลดจำนวนผู้เสียชีวิตลงให้ได้เหลือ 10,000 คนต่อปีภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าจะไม่ใช่แค่งานอีเว้นท์ประจำปีเน้นเทศกาลเหมือนที่ผ่านมา แต่จะเป็นการจัดการที่เข้มข้นและต่อเนื่องในทุกกลุ่มของผู้ใช้รถใช้ถนนอย่างที่ทุกคนต้องการ

อ่านเพิ่มเติม >