ฉบับที่ 269 สำรวจฉลากคลีนซิ่ง รีมูฟเวอร์

        คลีนซิ่ง (Cleansing) หรือ รีมูฟเวอร์ (Remover) เป็นผลิตภัณฑ์เช็ดทำความสะอาดผิวหน้าหน้าได้ล้ำลึก ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นช่วยขจัดคราบเครื่องสำอาง ครีมกันแดด ครีมบำรุงผิว ความมันส่วนเกิน รวมถึงละอองฝุ่นควันจากมลภาวะต่างๆ ให้หลุดออกไปอย่างหมดจด ช่วยลดการอุดตันจากไขมันหรือสิ่งสกปรกที่เป็นสาเหตุให้เกิดสิวและปัญหาผิวต่างๆ ทำให้ผู้ใช้เผยผิวหน้าสุขภาพดีอย่างมั่นใจ         ปัจจุบันมีผู้ผลิตพัฒนาคลีนซิ่งออกมาหลายสูตรมาก ผู้บริโภคควรเลือกให้ตอบโจทย์กับสภาพผิว ความจำเป็น และความคาดหวังผลหลังใช้ รวมทั้งเลี่ยงสารที่อาจทำให้มีอาการแพ้หรือระคายเคืองผิวด้วย         นิตยสารฉลาดซื้อ และโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส. ได้สุ่มเลือกคลีนซิ่ง/รีมูฟเวอร์ จำนวน 23 ตัวอย่าง 22 ยี่ห้อ จากร้านค้าทั่วไปและร้านค้าออนไลน์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 มาสำรวจฉลากว่ามีสารอันตรายต้องห้ามในเครื่องสำอางหรือไม่ มีสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองหรือเปล่า และข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆ เพื่อให้ผู้บริโภคใช้ตัดสินใจเลือกซื้อต่อไป ผลการสำรวจ         • มี 16 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้งพาราเบน แอลกอฮอล์ และน้ำหอม คิดเป็น 69.56% ของตัวอย่างทั้งหมด         • พบพาราเบน (Methylparaben : เมทิลพาราเบน) ในยี่ห้อบิโอเร         • พบแอลกอฮอล์ ใน 2 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า และโอเรียนทอล พริ้นเซส         • พบน้ำหอม ใน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, โอเรียนทอล พริ้นเซส, อีฟโรเซ, สมูท อี และคลีนแอนด์ เคลียร์         • เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณคลีนซิ่ง 1 มิลลิลิตร พบว่า แพงสุดคือ ยี่ห้อไบโอเดอร์มา = 3.56 บาท ส่วนที่ถูกสุดคือ ยี่ห้อเคที่ดอลล์ = 0.39 บาท ข้อสังเกต         • เมื่อเช็กเลขที่จดแจ้ง (11-1-6400007766) บนฉลากยี่ห้อคิวท์เพรสเพียว ออริจิน ไมเซลลาร์ เคล็นซิ่ง วอเทอร์ พบว่าสถานะใบรับจดแจ้งเป็น “ยกเลิก” โดยมีข้อมูลว่าใบอนุญาตหมดอายุเมื่อ 20/6/66 (เช็กได้ที่ https://porta.fda.moph.go.th/fda_search_all/main/search_center_main.aspx)         • มี 12 ตัวอย่าง ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคืองผิว โดยในจำนวนนี้มี 5 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบโดยผู้เชี่ยวด้านจักษุร่วมด้วย ได้แก่ ยี่ห้อบิโอเร, การ์นิเย่, นูโทรจีนา, นีเวีย และสมูท อี         • มี 4 ตัวอย่างที่ระบุว่าผ่านการทดสอบการระคายเคือง แต่พบสารที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองในส่วนประกอบ ได้แก่ ยี่ห้อบิเฟสต้า(มีแอลกอฮอล์), บิโอเร(มีเมทิลพาราเบน), สมูท อี และคลีน แอนด์ เคลียร์ (มีน้ำหอม)         • มี 3 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันหมดอายุ ได้แก่ ยี่ห้อบู๊ทส์, บิโอเร และลอรีอัล ปารีส ไมเซลล่า วอเตอร์             • มีระบุวันผลิต-หมดอายุไว้นานสุดคือ 4 ปี(ยี่ห้อบิเฟสต้า) รองลงมาคือ 3 ปี (16 ตัวอย่าง) และน้อยสุดคือ 2 ปี (3 ตัวอย่าง)         • ยี่ห้อแพลนท์เนอรี่และเซนกะมีกรดซาลิไซลิกในส่วนประกอบ ซึ่งเป็นสารที่หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ เพราะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงอันตรายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับทารก ฉลาดซื้อแนะ         • คลีนซิ่งจัดอยู่ในกลุ่มเครื่องสำอาง ผู้บริโภคควรเช็กเลขที่จดแจ้งบนฉลากว่าได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกระทรวงสาธารณสุขถูกต้องหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ลอกเลียนแบบแอบสวมทะเบียนปลอม         • หากเพิ่งเริ่มใช้คลีนซิ่ง หรืออยากเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ ควรซื้อขวดเล็กมาทดลองใช้ก่อน ถ้าใช้ได้ผลดีถูกใจแล้วค่อยซื้อแบบขวดใหญ่มาใช้จะคุ้มค่ากว่า         • ตัวอย่างที่นำมาสำรวจฉลากครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็น คลีนซิ่งสูตรน้ำ (คลีนซิ่งวอเตอร์ หรือ ไมเซล่าวอเตอร์) ที่ต้องใช้คู่กับสำลีเช็ดหน้า เหมาะกับคนที่มีผิวมัน ผิวผสม โดยเฉพาะผิวเป็นสิวง่าย แต่มักขจัดคราบที่เป็นน้ำมันได้ไม่มาก คลีนซิ่งบางยี่ห้ออาจต้องใช้ปริมาณเยอะและเช็ดหน้าซ้ำๆ นานๆ ทำให้มีโอกาสที่ผิวจะระคายเคืองได้ง่าย และควรเลือกใช้สำลีเช็ดหน้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนโยน เพื่อลดการเสียดสีกับผิวหน้าอันเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดริ้วรอยได้         • ควรทำตามวิธีใช้และคำเตือนที่ระบุไว้อย่างเคร่งครัด เช่น ทดสอบการแพ้ก่อนใช้ ไม่ใช้บริเวณผิวที่เป็นแผล ถอดคอนแทคเลนส์ก่อนเช็ด หากเข้าตาให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาดทันที หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์ เป็นต้น         • แม้หลายยี่ห้อจะระบุว่าเช็ดคลีนซิ่งแล้วไม่ต้องล้างออก แต่ก็อยากแนะนำให้ล้างออกโดยไวถ้าทำได้ เพราะสารต่างๆ ในคลีนซิ่งจะได้ไม่ต้องสัมผัสกับผิวหน้านานเกินไป เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอาการระคายเคืองผิวนั่นเอง         • การเลือกคลีนซิ่งที่ผ่านการทดสอบการระคายเคืองอาจการันตีความปลอดภัยได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังต้องดูส่วนประกอบด้วย เพราะอาการแพ้เป็นลักษณะเฉพาะบุคคล เพื่อความมั่นใจให้ทดสอบโดยทาคลีนซิ่งไว้บริเวณหลังหู ข้อพับแขน หรือท้องแขน ถ้าหลังจาก 48 ชั่วโมงแล้ว ผิวไม่บวมแดง แสบหรือคัน ก็ใช้ได้ ข้อมูลอ้างอิง https://www.bangkokbiznews.com/pr-news/news/prnews/1027713 https://www.pobpad.com/salicylic-acid

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 266 ล้างหน้าให้สะอาดต้องทำแบบนี้

        ใบหน้าของคนเราคือส่วนที่สำคัญ หน้าตาที่หมองย่อมลดทอนบุคลิกภาพ การมีผิวหน้าที่สดใส สะอาด เกลี้ยงเกลา ไม่หมองคล้ำ ไร้สิว จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ทว่าท่ามกลางอากาศที่ร้อนระอุบ้าคลั่งของปีนี้  ใบหน้าฉ่ำวาวด้วยเหงื่อเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเผชิญ และไม่เพียงแสงแดดที่ร้อนสุดๆ ของประเทศไทยแล้ว อีกอย่างที่พบว่าทำร้ายผิวหน้าไม่ต่างกัน ก็คือมลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 ซึ่งอาจส่งผลกระทบให้ผิวของเรามีอาการผดผื่นหรือสิวขึ้นบริเวณใบหน้าได้         ดังนั้นมาดูแลตัวเองกันเถอะ ง่ายที่สุดเลยคือ การล้างหน้าให้สะอาดค่ะ จะทำให้สะอาดอย่างไรมาดูกัน         วิธีล้างหน้าให้สะอาด         ก่อนล้างหน้าควรล้างมือให้สะอาดก่อน หลังจากนั้นล้างหน้าด้วยน้ำเปล่า ก่อนนำผลิตภัณฑ์ล้างหน้าบีบหรือเทใส่ฝ่ามือขยี้เบาๆ และนำเนื้อผลิตภัณฑ์นวดไปที่ผิวหน้าสักประมาณ 15 นาที โดยเฉพาะตามแนวรูขุมขน ล้างผลิตภัณฑ์ที่ใช้ออกให้หมดด้วยน้ำสะอาด ย้ำว่าล้างออกให้หมดจริงๆ เพื่อชำระล้างสิ่งสกปรกออกไป ซับผิวหน้าด้วยผ้าเช็ดหน้าหรือด้วยกระดาษเช็ดหน้า อย่าปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งไปเองหรือหากใครที่เลือกใช้ผ้าขนหนูเช็ดก็ควรจะแยกเป็นผ้าสำหรับเช็ดหน้าเพียงอย่างเดียวไม่ควรใช้ร่วมกับการเช็ดตามร่างกาย         หลังจากล้างหน้า ควรทาครีมบำรุงพวกมอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อให้ความชุ่มชื่นกับผิวหน้า และในระหว่างวันอาจเสริมด้วยการทาโลชั่นหรือครีมกันแดดที่มี SPF 50+ แม้จะอยู่ในที่ร่มก็ตาม         ก่อนจะล้างหน้าให้สะอาดควรรู้เรื่องนี้        1. ก่อนล้างหน้าเราควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับผิวหน้าของเราด้วย สังเกตว่าผิวหน้าเราเป็นแบบไหน ผิวมัน ผิวแห้ง หรือ ผิวผสม เพราะหากเราใช้ไม่ถูกผลิตภัณฑ์ล้างหน้าอาจทำให้ก่อเกิดสิวได้ หรือ ใครที่เป็นสิวอาจเป็นมากขึ้นกว่าเดิม        2. ล้างหน้าด้วยอุณหภูมิปกติหรือน้ำอุ่นนิดหน่อย แต่ไม่ควรล้างด้วยน้ำร้อนจัด        3. ไม่ควรล้างหน้าบ่อยเกินไป อย่างมากควรล้างแค่ 2 ครั้งต่อวัน ช่วงเช้า-เย็นก็พอ และไม่ควรใช้พวกสบู่ที่อาบน้ำหรือล้างมือ เนื่องจากอาจจะทำให้ผิวนั้นแห้งตึงจนเกินไป        4. พวกเม็ดสครับต่างๆ หากใครที่เป็นสิวรุนแรงควรหลีกเลี่ยง            ใครที่แต่งหน้า ควรใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเครื่องสำอางก่อนล้างหน้า เช่น พวกคลีนซิ่ง ซึ่งมีหลากหลายแบบแต่สิ่งที่ต้องดูเพื่อจะได้ไม่แพ้คือ เน้นเลือกที่ปราศจากแอลกอฮอล์ พาราเบน หรือน้ำหอม ส่วนใครที่เป็นสิวอุดตันบ่อยๆ อาจจะต้องหลีกเลี่ยงคลีนซิ่งแบบเนื้อน้ำมัน ส่วนใครที่ไม่ได้แต่งหน้าแต่พบว่าล้างหน้าปกติแล้วยังรู้สึกว่าไม่พอ ก็สามารถใช้คลีนซิ่งทำความสะอาดหน้าได้ด้วยเช่นกัน แต่จริงๆ แล้วไม่ค่อยจำเป็นนัก         ส่วนของการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ล้างหน้าในออนไลน์ก็อย่าลืมดูฉลากที่เกี่ยวกับพวกส่วนผสมด้วย เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงที่จะเกิดการแพ้จากส่วนผสมในผลิตภัณฑ์ และเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีการจดแจ้งใบอนุญาตจาก อย. เท่านั้น          อ้างอิงhttps://si.mahidol.ac.th/th/healthdetail.asp?aid=1379https://www.pobpad.com/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A5%E0%B9%87%E0%B8%94%E0%B8%A5%E0%B8%B1%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B9%88https://www.samitivejchinatown.com/th/health-article/PM-2-5-caused-of-Acne

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 196 มาส่องดูสารเคมีในโฟมล้างหน้ากัน

แม้หลายคนจะชื่นชอบการทำสะอาดผิวหน้าด้วยโฟมล้างหน้า เพราะรู้สึกว่าช่วยทำความสะอาดได้ดี ใช้งานง่ายและพกพาสะดวก แต่รู้ไหมว่า โฟมล้างหน้าก็สามารถสร้างความระคายเคืองให้ผิวหน้าได้เช่นกัน โดยอาจทำให้เกิดอาการแพ้ ผื่นแดงหรือเป็นสิว ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุจากส่วนประกอบบางชนิดที่อยู่ในโฟมนั่นเอง ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสารวบรวม 31 ยี่ห้อโฟมล้างหน้ายอดนิยม จำนวน 34 ตัวอย่าง เพื่อมาตรวจสอบส่วนประกอบสำคัญบนฉลากที่สามารถส่งผลต่อการระคายเคืองผิวหน้าได้ว่าจะมีอะไรบ้าง ซึ่งผลทดสอบจะเป็นอย่างไร เราลองไปดูกันเลยผลการทดสอบจากโฟมล้างหน้า 34 ตัวอย่างที่นำมาทดสอบพบว่า ทุกยี่ห้อมีส่วนผสมที่อาจก่อให้เกิดการระคายเคืองผิวได้ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ดังนี้1.กลุ่มสารลดแรงตึงผิว ได้แก่ สารลดแรงตึงผิวประจุลบ คือ Sodium Lauryl Sulfate (SLS) และ Sodium Laureth Sulfate (SLES) และสารลดแรงตึงผิวสองประจุ ได้แก่ Cocamidopropyl Betaine สำหรับสารในกลุ่มนี้มีคุณสมบัติในการทำให้เกิดฟองและสามารถทำความสะอาดได้ดี ซึ่งสาร SLS จะมีความสามารถชำระล้างได้มากกว่าชนิดอื่น ทำให้อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ ผู้ที่มีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยง2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxideสาร 2 ชนิดนี้มีความเป็นด่างสูง ซึ่งอาจทำให้ผิวแห้งหรือระคายเคืองได้   3. กรดไขมันและเกลือของกรดไขมัน ได้แก่ Potassium Myristate, Potassium Palmitate, Potassium Laurate, Potassium Oleate, Potassium Stearate, Stearate, Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid สารในกลุ่มนี้เกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ซึ่งอาจทำให้เกิดคราบไคลสบู่ตกค้างในรูขุมขน ส่งผลให้เกิดสิวอุดตันได้ง่าย 4. สารกลุ่มน้ำหอม คือ Perfume, Fragrance, Parfum อาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือคะคายเคืองในผู้ที่แพ้น้ำหอม 5. สารกลุ่มแอลกอฮอล์ ได้แก่ Alcohol, Alcohol Denat, Benzyl Alcoholแอลกอฮอล์ประเภทนี้เป็นกลุ่มที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ โดยใช้เป็นส่วนผสมของยาทาผิว มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อแบคทีเรียและเป็นสารกันบูดสารเคมีที่ผสมในโฟมล้างหน้าแน่นอนว่าโฟมล้างหน้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อการชำระล้าง จึงจำเป็นต้องใส่สารเคมีที่สามารถขจัดสิ่งสกปรกบนผิวหน้าได้ อย่างไรก็ตามสารเคมีเหล่านั้นสามารถส่งผลต่อความระคายเคืองผิวได้เช่นกัน ซึ่งบางคนใช้แล้วอาจเกิดอาการระคายเคืองหรือแพ้มาก ในขณะที่หลายคนอาจไม่เกิดอาการใดๆ เราจึงจำเป็นต้องตรวจสอบส่วนผสมหลักในโฟมล้างหน้าของแต่ละยี่ห้อก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้นกับผิวหน้าของเรา ซึ่งมีดังนี้1. กลุ่มสารลดแรงตึงผิวสารลดแรงตึงผิว (Surfactant) เป็นสารสำคัญในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเกือบทุกชนิด เพราะมีคุณสมบัติในการพาสิ่งสกปรกและไขมันให้หลุดออกได้ดีขึ้น ซึ่ง สารลดแรงตึงผิวที่สามารถสร้างความระคายเคืองให้กับผิวหน้าได้มากก็คือ สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ อย่าง Sodium lauryl sulfate (SLS) เพราะนอกจากจะให้ปริมาณฟองจำนวนมากแล้ว ยังมีคุณสมบัติในการทำความสะอาดได้รุนแรงกว่าชนิดอื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ในบางคน ดังนั้นหากมีผิวบอบบางแพ้ง่ายควรหลีกเลี่ยงอย่างไรก็ตามสำหรับสารลดแรงตึงผิวประจุลบอีกชนิดที่ชื่อคล้ายกัน คือ Sodium Laureth Sulfate (SLES) ถือว่ามีความอ่อนโยนและรุนแรงน้อยกว่าสาร SLS แต่อาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นเดียวกันหากผสมอยู่ในปริมาณที่มากเกินไป สำหรับสารลดแรงตึงผิวอีกประเภทหนึ่งที่มักผสมในโฟมล้างหน้าคือ Cocamidopropyl Betaine ซึ่งเป็นสารลดแรงตึงผิวสองประจุนั้น พบว่าทำให้เกิดการระคายเคืองน้อยที่สุดและทำให้เกิดฟองน้อย แต่หากใช้ในปริมาณมากเกินไปอาจก่อให้เกิดอาการแพ้ได้ เพราะความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของสารในผลิตภัณฑ์และระยะเวลาที่ผลิตภัณฑ์สัมผัสร่างกายส่วนในกรณีที่เคยมีกระแสข่าวว่า สบู่เหลวที่มีส่วนผสมของสาร SLS ไปผสมกับสารประกอบตระกูลเอมิน (amine) แล้วสามารถกลายเป็นสารก่อมะเร็งนั้น นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ความเห็นว่า มีความเป็นไปได้ยากที่จะเกิดสารก่อมะเร็งจากสารเคมีดังกล่าว เพราะการที่สาร SLS จะสามารถทำปฏิกิริยากับสารตระกูลเอมินแล้วเกิดเป็นสารไนโตรซามิน จะต้องมีองค์ประกอบหรือสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น ต้องมีอุณหภูมิที่สูงกว่า 100C นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก็ได้มีการติดตามตรวจสอบส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ให้ปลอดภัยอยู่เสมอ โดยกำหนดให้ผลิตภัณฑ์ต่างๆ มีการใช้สารลดแรงตึงผิวในปริมาณที่เหมาะสม ---2. กลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่เนื่องจากการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้า ควรเลือกให้มีความเป็นกรด – ด่างใกล้เคียงกับผิวหน้า แต่หลายคนอาจบังเอิญไปใช้โฟมล้างหน้าที่มีความเป็นด่างมากเกินไป ซึ่งก็คือ การใช้สบู่ที่มาในรูปแบบของโฟมล้างหน้านั่นเอง ซึ่งกลุ่มสารที่เป็นส่วนประกอบของสบู่ ได้แก่ Potassium Hydroxide และ Sodium Hydroxide รวมถึงเบสอื่นๆ ของมัน ได้แก่ Myristate, Palmitate, Laurate, Oleate, Stearate นอกจากนี้การใช้โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของกรดไขมัน ซึ่งเกิดจากการตกตะกอนกับสารในกลุ่มสบู่ ได้แก่ Stearic acid, Palmitic acid, Lauric acid, Myristic acid อาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เล็กน้อยในคนที่ไวต่อสารเคมี รวมทั้งสามารถเป็นสาเหตุให้เกิดสิวอุดตันได้ด้วย เพราะมีการตกค้างของคราบไคลสบู่ในรูขุมขนได้ 3. สารในกลุ่มแอลกอฮอล์และน้ำหอมแอลกอฮอล์ในเครื่องสำอางสามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ กลุ่มที่ดีต่อผิวและกลุ่มที่สร้างความระคายเคือง เราจึงควรหลีกเลี่ยงกลุ่มสารที่สร้างความระคายเคืองหรือกลุ่มที่ใช้ฆ่าเชื้อ ได้แก่ Alcohol Denat, Benzyl Alcohol เพราะสามารถทำให้เกิดการผิวระคายเคืองผิว รวมทั้งทำให้ผิวสูญเสียน้ำและแห้งขึ้น ซึ่งนำไปสู่อาการแพ้หรือระคายเคืองได้ ส่วนคนที่มีแนวโน้มแพ้น้ำหอมในเครื่องสำอางง่ายก็ควรหลีกเลี่ยง โฟมล้างหน้าที่มีส่วนผสมของ Perfume, Fragrance หรือ Parfum เพราะอาจก่อให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองได้ 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 195 เลิกใช้โฟมล้างหน้าที่ผสมเม็ดบีดส์กันเถอะ

เม็ดบีดส์ในโฟมล้างหน้าผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดผิวหน้าหรือโฟมล้างหน้าหลายยี่ห้อ มักนำเม็ดบีดส์มาเป็นส่วนประกอบ เพราะมีคุณสมบัติในการขัดหรือทำความสะอาดสิ่งสกปรกบนผิวได้เป็นอย่างดี ซึ่งแน่นอนว่าหลายคนชื่นชอบและเลือกใช้เป็นประจำ แต่รู้หรือไม่ว่าเม็ดบีดส์เหล่านั้นสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมได้เม็ดบีดส์หรือไมโครบีดส์ (Micro beads) หรือไมโครพลาสติก เป็นเม็ดสครับที่เกิดจากกระบวนการทางเคมี โดยส่วนใหญ่ผลิตจากพลาสติก ซึ่งไม่สามารถย่อยสลายทางชีวภาพได้ และด้วยขนาดที่เล็กมาก (ตั้งแต่ 10 ไมครอน หรือ 0.00039 นิ้ว – 1 มิลลิเมตร หรือ 0.039 นิ้ว) ทำให้หลังการชะล้างเม็ดบีดส์จิ๋วเหล่านี้ก็จะหลุดรอดจากการบำบัดสิ่งปฏิกูล เข้าสู่ทะเลหรือมหาสมุทรนำไปสู่มลภาวะทางน้ำ ทั้งยังมีคุณสมบัติในการดูดซับและปล่อยสารพิษอันตรายร้ายแรง เช่น PCBs (Polychlorinated biphenyls) ซึ่งเป็นกลุ่มสารเคมีหลักในการผลิตวัสดุ เช่น กาว สี สารกันรั่วซึม พลาสติกหรือน้ำมันหล่อลื่น นอกจากนี้ยังสามารถปนเปื้อนในห่วงโซ่อาหารได้อีกเช่นกัน เนื่องจากสัตว์น้ำต่างๆ จะพากันกินเม็ดบีดส์เหล่านี้เข้าไปและกระจายต่อกันเป็นทอดๆ ซึ่งในที่สุดก็จะย้อนกลับมาเข้าสู่ร่างกายมนุษย์ซึ่งเป็นผู้บริโภคลำดับสุดท้ายนั่นเอง โดยหากเราได้รับเม็ดบีดส์เหล่านี้เข้าไปในร่างกายสม่ำเสมอ สามารถส่งผลให้ร่างกายอ่อนล้า คลื่นไส้อาเจียน แขนขาเปลือกตาบวมหรือเกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ ระบบภูมิคุ้มกัน ทำลายระบบประสาทและมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็งได้ ทำให้หลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ประกาศห้ามจำหน่ายผลิตภัณฑ์ดูแลส่วนบุคคลที่มีไมโครบีดส์เป็นส่วนประกอบแล้วอย่างไรก็ตามสำหรับในบ้านเรา แม้จะยังไม่มีกฎหมายห้ามผลิตหรือจำหน่ายเครื่องสำอางที่มีเม็ดบีดส์เป็นส่วนประกอบ แต่หลายองค์กรในประเทศก็ได้มีการตื่นตัวและเสนอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่กำกับดูแลโดยตรงอย่าง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งออกมาตรการหรือข้อบังคับให้เลิกใช้เม็ดบีดส์ในการผลิตเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์ชำระล้างทุกชนิดฉลาดซื้อฉบับนี้จึงอาสาช่วยเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมดังกล่าว ด้วยการสุ่มทดสอบผลิตภัณฑ์ล้างหน้าจำนวน 21 ยี่ห้อ 33 ตัวอย่างว่าเจ้าไหนจะมีเม็ดบีดส์เหล่านี้เป็นส่วนประกอบบ้าง เราลองไปดูกันเลย ข้อควรรู้เกี่ยวกับพลาสติกที่นิยมใช้ผลิตไมโครบีดส์ ชื่อเรียกของไมโครบีดส์ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาจแตกต่างกันไป ดังนี้ 1. Polyethylene (โพลีเอทิลีน)2. Polypropylene (โพลีโพรพิลีน)3. Polyethylene terephthalate (โพลีเอทิลีนเทเรพทาเลต)4. Polymethyl methacrylate (โพลีเมทิลเมทาไครเลต)5. *Acrylates (อะคริเลต)*จากการสำรวจและวิจัยของ CAP (Consumers Association of Penang) ประเทศมาเลเซีย ระบุว่าถ้าในผลิตภัณฑ์ เช่น ครีมอาบน้ำ โฟมล้างหน้า มีส่วนผสมของ Acrylates ก็หมายความว่ามีไมโครพลาสติกเป็นส่วนประกอบและส่วนผสมที่ยังเป็นคำถามว่าเข้าข่ายเป็นไมโครบีดส์หรือไม่ ได้แก่ • Alkyl methacrylates crosspolymer• Ammonium Acryloyldimethyltaurate / Carboxyethyl Acrylate Crosspolymer• Ammonium Acryloyldimethyltaurate/VP Copolymer• Cera Microcristallina• Dimethicone Crosspolymer• Dimethicone/vinyl dimethicone crosspolymer• Hydroxyethyl Acrylate/Sodium Acryloyldimethyl Taurate Copolymer• Lauryl Methacrylate/Glycol Dimethacrylate Cross polymer• Polyacrylamide• Polyquaternium-7, Styrene/Acrylates Copolymer• PPG-51/Smdi Copolymer• Sodium Acrylate/Acryloyldimethyl Taurate Copolymer• Sodium acrylates copolymer• Sodium polyacrylate• Styrene/Acrylates Copolymer• Taurate/Vp Copolymerที่มา Microplastics in personal care products . by Dr Sue Kinsey. Marine Conservation Societywww.masts.ac.uk/media/3443/sue_kinsey_mast2014mcs.pdf ฉลาดซื้อแนะการเลือกใช้สครับขัดผิวหน้าผู้บริโภคอย่างเราสามารถสวยแบบได้รักษ์โลกได้ ด้วยการร่วมมือกันเลิกใช้ผลิตภัณฑ์ที่ส่วนประกอบของไมโครบีดส์ และหันมาเลือกใช้สครับที่ทำจากธรรมชาติอย่างเมล็ดของพืช เช่น ข้าวโอ๊ต เมล็ดแอปริคอท หรือแบบไทยๆ อย่างเกลือและมะขามเปียกแทน ผลการสำรวจจากตัวอย่างโฟมล้างหน้าที่นำมาตรวจสอบฉลากทั้งหมด 21 ยี่ห้อ 33 ตัวอย่าง พบว่ามี 9 ยี่ห้อ 12 ตัวอย่าง ที่ไม่มีส่วนผสมของไมโครบีดส์ ได้แก่ 1. ST.Ives Blemish control apricot scrub) 2. ETUDE HOUSE) Baking powder B.B. deep cleansing foam 3. SKINFOOD) Honey Flour Cleansing foam #Brightening 4. SMOOTH E Baby face scrub และ SMOOTH E สูตร White baby face scrub 5. NIVEA MEN Anti oil + white acne scrub 6. BIORE Pure smooth bright7. BIORE Facial foam deep detoxify8. BIORE Pore detox botanical beads 9. EUCERIN Dermo PURIFYER scrub10. BOOTS Tea tree & witch hazel with active charcoal deep cleaning facial scrub11. CLEAN & CLEAR Clear fairness cleanser ข้อสังเกต1. ยี่ห้อ Boots (บู๊ทส์) สูตร Tea tree & witch hazel with active charcoal deep cleaning facial scrub (ที ทรี แอนด์ วิช ฮาเซล วิธ แอคทีฟ ชาร์โคล ดีพ คลีนซิ่ง เฟเชียล สครับ) ระบุว่าผลิตในประเทศไทยโดย บริษัท เอส แอนด์ เจ เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) แต่เลขที่จดแจ้งบนฉลาก คือ 10-2-5709283 ซึ่งจัดอยู่ในหมวดสินค้านำเข้า ขณะเดียวกันทาง บ.เอส แอนด์ เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอนเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจ้งมาว่า สินค้าตัวนี้ ผลิตเพื่อการส่งออก มีองค์ประกอบทุกตัว ทำตามข้อกำหนดของสำนักงานอาหารและยาของประเทศที่ส่งออก  และจดแจ้งเป็นสินค้าส่งออก ส่วนการนำเข้า มาจากลูกค้า จึงปรากฏเป็นตัวเลขตามที่อ้างถึงในนิตยสาร ถ้าตรวจสอบอย่างละเอียด ฉลากติดแนบกับขวดจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด และระบุว่า Made in Thailand เท่านั้น โดยไม่มีชื่อบริษัทผู้ผลิต ขณะที่นำเข้า จะต้องมีฉลากภาษาไทยติดทับ พร้อมเลขที่จดแจ้งการนำเข้า2. ยี่ห้อ Dr.Montri (ดร.มนตรี) สูตร Scrub&Oil control facial foam (สครับ แอนด์ ออยล์ คอนโทรล เฟเชียล โฟม) ระบุเลขที่จดแจ้งเกิน 10 หลัก คือ 10-1-5910003203ดาวน์โหลดตารางทดสอบแบบละเอียดได้ที่นี่

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 168 เปลี่ยนความเชื่อเกี่ยวกับการล้างหน้า

ใบหน้าคนเรานั้นอาจไม่ได้มีความสวยงามตามคตินิยมกันทุกคน แต่การที่มีใบหน้าสะอาดเกลี้ยงเกลา หรือหน้าใสๆ ก็เป็นที่ชื่นชมของคนทั่วไปได้ ดังนั้นการทำความสะอาดผิวหน้าเพื่อให้มีใบหน้าสดใส จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่หลายคนก็มุ่งมั่นกับการล้างทำความสะอาดหน้ามากเกินไป จนเกิดปัญหาตามมา ฉลาดซื้อขอทบทวนเรื่องหลักการพื้นฐานในการล้างหน้าอีกสักครั้ง รวมทั้งปรับเรื่องความเชื่อที่เพี้ยนๆ ของคนทั่วไปเกี่ยวกับการล้างหน้า   ความเชื่อ  ครีมหรือโฟมล้างหน้า ควรเปลี่ยนบ่อยๆ เพราะใช้ไปนานๆ จะแพ้ เรื่องจริง   เราสามารถใช้ยี่ห้อเดียวกันต่อเนื่องไปได้ ถ้าใช้แล้วถูกใจ หากไม่แพ้แต่แรก ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยี่ห้อ ซึ่งจะเสี่ยงมากกว่า ความเชื่อ  หน้ามันจึงต้องล้างหน้าบ่อยๆ ความจริง ยิ่งล้างบ่อย หน้าจะยิ่งมันเพราะเมื่อน้ำมันที่ผิวถูกล้างออกไป ต่อมไขมันจะยิ่งผลิตน้ำมันออกมาชดเชย ยิ่งทำให้หน้ามันมากขึ้น ความเชื่อ ล้างหน้าจนผิวตึง คือสะอาดหมดจด ความจริง ผิวตึงมากๆ หลังล้างหน้า เกิดจากค่าพีเอชที่สูงในสบู่หรือโฟมล้างหน้า อาจมีผลทำให้ผิวระคายเคือง ผิวลอกเป็นขุย ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีค่าพีเอชเหมาะสม ไม่ทำให้ผิวหน้าแห้งตึงเกินไปหลังล้างหน้า   ความเชื่อ  น้ำเกลือล้างแผล ใช้ทำความสะอาดผิวหน้า ช่วยรักษาสิว ความจริง น้ำเกลือไม่ได้มีส่วนช่วยฆ่าเชื้อโรคที่เป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดสิว มันได้ผลเท่ากับการล้างหน้าด้วยน้ำสะอาดธรรมดาๆ ความเชื่อ  ล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นแล้วตามด้วยน้ำเย็น จะช่วยกระชับรูขุมขน ทำให้รูขุมขนเล็กลงได้ถาวร ความจริง   การที่รูขุมขนเล็กลงหลังล้างหน้าด้วยน้ำเย็นเป็นผลเพียงชั่วคราว สักพักรูขุมขนก็จะกลับมาเท่าเดิม   การล้างหน้าให้ถูกวิธี เพื่อใบหน้าสะอาดใส 1.ล้างหน้าเพียงวันละ 2 ครั้งก็เพียงพอแล้ว คือเวลาตื่นนอนตอนเช้า 1 ครั้ง และอาบน้ำตอนค่ำก่อนนอนอีกครั้ง เราไม่ควรล้างหน้าบ่อยครั้งเกินไป เพราะจะยิ่งทำให้ผิวแห้ง หรือคนที่ผิวมันอยู่แล้ว ผิวจะยิ่งมันมากขึ้น แต่ก็อาจเพิ่มเติมในกรณีที่ต้องทำกิจกรรมที่ทำให้ผิวหน้าสกปรก เช่น มีเหงื่อออกมากหลังเล่นกีฬา ทำงานบ้าน ทำสวน เป็นต้น 2.ควรใช้ผลิตภัณฑ์ล้างหน้าที่มีค่าพีเอชเหมาะสม เช่น สบู่เด็ก คือล้างแล้วหน้าไม่ตึงเกินไป(เกิดจากสบู่ที่มีค่าพีเอชสูง) ไม่จำเป็นต้องใช้น้ำอุ่น ผู้ที่ล้างหน้าด้วยน้ำอุ่นติดต่อกันนานๆ มีโอกาสมากที่ผิวหน้าจะหยาบกร้านได้  และไม่ควรขัดถูใบหน้าด้วยความรุนแรง 3.หลังล้างหน้า ควรซับผิวหน้าผ้าขนหนูอย่างเบามือ ไม่จำเป็นต้องขัดถูแรงๆ

อ่านเพิ่มเติม >