ฉบับที่ 254 สำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ ปี 2565

        การล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่อย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันโรคระบบทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ และลดจำนวนการเสียชีวิตจากโรคท้องร่วงได้ถึง 50 % แล้วยังเป็นมาตรการหลักในป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ด้วย ครั้นจะใช้สบู่ก้อนแบบเดิม ๆ หลายคนก็เกรงจะเสี่ยงรับเชื้อจากการสัมผัสสบู่ก้อนร่วมกันอีก ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ “สบู่เหลวล้างมือ” ที่แม้จะมีราคาสูงกว่า แต่ตอบโจทย์ทั้งความสะอาด ใช้สะดวก และลดการสัมผัสโดยตรง ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคมากขึ้น         เมื่อปี 2560 มูลค่าตลาดรวมของสบู่ประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นกลุ่มสบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท กลุ่มสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท ต่อมาในปี 2563 มูลค่าตลาดรวมของสบู่เพิ่มเป็นประมาณ 16,000 กว่าล้านบาท แต่กลุ่มสบู่ก้อนกลับลดลงมาที่ 9,000 ล้านบาท ในขณะที่กลุ่มสบู่เหลวสูงขึ้นถึงประมาณ 7,400 ล้านบาท         แม้สบู่เหลวล้างมือแต่ละยี่ห้อจะมีส่วนผสมหลากหลายสูตรเพื่อสร้างจุดขายที่แตกต่าง แต่มักยังคงมีสารเคมีจำพวกที่ทำให้เกิดฟอง สารกันเสีย และสารสังเคราะห์อื่นๆ เป็นส่วนประกอบพื้นฐานเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อผู้บริโภคมีพฤติกรรมการล้างมือบ่อยขึ้น อาจเสี่ยงสัมผัสสารเคมีในสบู่เหลวบ่อยขึ้นด้วยเช่นกัน           เพื่อเป็นการเฝ้าระวังเรื่องความปลอดภัย นิตยสารฉลาดซื้อและโครงการสร้างเสริมความเข้มแข็งระบบเฝ้าระวังสินค้าและบริการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ซึ่งสนับสนุนโดย สสส. ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ จำนวน 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ จากห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล ในเดือนมีนาคม 2565 เพื่อสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือว่ามีสารเคมีที่ควรระวังหรือไม่ ได้แก่         โซเดียมลอริธซัลเฟต (Sodium Laureth sulfate : SLES ) : สารลดแรงตึงของน้ำ ทำให้เกิดฟอง ถ้าล้างออกช้าหรือล้างออกไม่หมด อาจทำให้ผิวแห้ง และระคายเคืองได้        เมทิลไอโซไทอะโซลิโนน (Methylisothiazolinone : MIT) : สารกันเสียที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วต้องล้างออกเท่านั้น อาจทำให้ผิวระคายเคือง หากแพ้มากจะทำให้ผิวอักเสบและมีผื่นแดงขึ้น        พาราเบน (Paraben) : สารกันเสียที่เสี่ยงส่งผลให้เป็นมะเร็ง        ไตรโคลซาน (Triclosan): สารกันเสียที่อาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันมีปัญหา หากใช้ระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงต่อเชื้อแบคทีเรียดื้อยาด้วย         (หมายเหตุ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ยืนยันว่าสารที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดทั้ง 4 ชนิดนี้มีความปลอดภัย เมื่อใช้ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด) สรุปผลสำรวจฉลากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ         จากผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ 27 ตัวอย่าง 25 ยี่ห้อ         - มี 9 ตัวอย่าง ที่ไม่พบทั้ง SLES, MIT, พาราเบน และไตรโคลซาน         ได้แก่ ยี่ห้อคาว แบรนด์ เซเก็ทสึ คะโซกุ แฮนด์ โซป, ลักส์ โบทานิคัล โฟมล้างมือ, บีไนซ์ คิทเช่น แคร์ โฟมมิ่ง แฮนด์ วอช, บิโอเร โฟมล้างมือ, ศารายา ซิลกี้วอช พิ้งกี้ พีช, คากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป, คิเรอิคิเรอิ โฟมล้างมือ, เอสเซ้นซ์ ออร์แกนิค อโลเวร่า โฟมล้างมือ และคิงส์สเตลล่า เฮลธ์แคร์ แอนตี้แบคทีเรียล แฮนด์ วอช         - พบ พาราเบน ใน 1 ตัวอย่าง           - ไม่พบ ไตรโคลซาน ในทุกตัวอย่าง         - เมื่อเปรียบเทียบราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตร พบว่ายี่ห้อคากิชิบุ เซคัทซึ แฮนด์ โซป แพงสุดคือ 0.44 บาท ส่วนยี่ห้อเซฟการ์ด เพียว ไวท์ ลิควิด แฮนด์ โซป และยี่ห้อ 3เอ็ม สบู่เหลวล้างมือ ถูกสุดคือ 0.17 บาท         - ตัวอย่างสบู่เหลวล้างมือที่ฉลาดซื้อเคยสำรวจไว้เมื่อปี 2562 มีค่าเฉลี่ยของราคาต่อปริมาณ 1 มิลลิลิตรอยู่ที่ 0.33 บาท ขณะที่ผลการสำรวจของปี 2565 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.28 บาท คำแนะนำ        - สบู่เหลวล้างมือจัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง ควรเลือกซื้อจากร้านค้าที่น่าเชื่อถือ และสังเกตเลขที่ใบรับจดแจ้งเครื่องสำอางที่ฉลากทุกครั้ง ซึ่งนำไปตรวจสอบผลิตภัณฑ์ได้ที่ www.fda.moph.go.th เพื่อลดความเสี่ยงจากการได้รับเครื่องสำอางปลอมหรือใช้สารเคมีเกินกว่าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด        - อ่านฉลากก่อนซื้อ และควรปฏิบัติตามคำเตือนที่ระบุไว้บนฉลาก        - สบู่เหลวล้างมือควรมีอายุไม่เกิน 3 ปี นับจากวันที่ผลิต        - เลือกสูตรที่มีส่วนผสมที่อ่อนโยน ไม่ระคายเคือง และให้ความชุ่มชื่นคืนผิว        - ควรเลือกสบู่เหลวที่ไม่มีกลิ่นหรือกลิ่นอ่อนๆ ไว้ล้างมือก่อนปรุงอาหาร เพื่อไม่ให้อาหารติดกลิ่นสบู่ไป          - ล้างฟองออกให้เกลี้ยงเพื่อเลี่ยงการสะสมของสารตกค้างที่อาจทำให้ระคายเคืองผิวได้        - ถ้ามีขวดเดิมอยู่แล้ว ครั้งต่อไปควรซื้อแบบถุงเติมเพื่อช่วยลดปริมาณขยะจากขวดพลาสติกข้อมูลอ้างอิงฉลาดซื้อ ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือhttps://mgronline.com/goodhealth/detail/9600000088199https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/966/Hand-hygienehttps://my-best.in.th/49271https://www.thestorythailand.com/08/07/2021/33784/

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉลาดซื้อ เผยผลสุ่มตรวจ ‘ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ’ ร้อยละ 67 ไม่ผ่านมาตรฐานประกาศ สธ. พบ 1 ยี่ห้อ ใช้เมธิลแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม

        ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ เผยผลตรวจวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ร้อยละ 67 ไม่ได้มาตรฐานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พบ 1 ยี่ห้อ มีส่วนประกอบของเมธานอล (Methanol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในเครื่องสำอางเพราะมีพิษสูง ย้ำผู้ผลิต นำเข้า เครื่องสำอางไม่ปลอดภัย โทษปรับสูงสุดถึง 500,000 บาทส่วนผู้ขายมีโทษปรับสูงสุดถึง 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ        วันนี้ (5 มิถุนายน 2563) ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผยผลทดสอบคุณภาพของผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ จำนวน 39 ตัวอย่าง สุ่มเก็บตัวอย่างระหว่างวันที่ระหว่างวันที่ 10 มีนาคม ถึง 17 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา แบ่งเป็นสองกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์จากร้านค้าทั่วไป ร้านขายยา ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก จำนวน 25 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์จากร้านค้าออนไลน์ จำนวน 14 ตัวอย่าง          สารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ เปิดเผยว่า ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ และ นำส่งตรวจวิเคราะห์ความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ว่าได้มาตรฐาน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 หรือไม่ ซึ่งประกาศฯ ดังกล่าว ได้กำหนดให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำ ที่มีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร เป็นเครื่องสำอางที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย         “ผลทดสอบ พบว่า มีผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ผ่านมาตรฐาน ซึ่งมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ตั้งแต่ 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป จำนวน 13 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 33) และไม่ผ่านมาตรฐาน 26 ตัวอย่าง (ประมาณร้อยละ 67) นอกจากนี้ยังพบ 1 ตัวอย่าง มีส่วนผสมของเมธานอล (Methanol) หรือ เมธิลแอลกอฮอล์ (Methyl Alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ชนิดห้ามใช้ในการผลิตเครื่องสำอางอีกด้วย” บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ กล่าว         ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือ จำนวน 26 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ไม่ผ่านเกณฑ์ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 แบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม คือ        (1) จำนวน 14 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร ทั้งนี้ทั้งหมดเป็นผลิตภัณฑ์ที่ระบุวันผลิตตั้งแต่ประกาศฯ มีผลบังคับ คือ 10 มีนาคม 2563         (2) จำนวน 8 ตัวอย่าง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตก่อนวันที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ฯ มีผลบังคับ        (3) จำนวน 4 ตัวอย่าง ไม่ระบุวันผลิต ได้แก่ ยี่ห้อ เมดเดอร์ลีน, Sweet Summer, BFF บีเอฟเอฟ และ TOUCH                   ส่วนอีก จำนวน 13 ตัวอย่าง มีปริมาณแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร หรือมีปริมาณแอลกฮอล์มากกว่าหรือเท่ากับร้อยละ 70 ทั้งนี้แบ่งเป็น        (1) ผลิตภัณฑ์ที่มีวันผลิตก่อนวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 4 ตัวอย่าง ได้แก่ Skin Heaven Hand Safe, Anti-A gel (2 ตัวอย่าง), ไลฟ์บอย แฮนด์ ซานิไทเซอร์        (2) ผลิตหลังวันที่ 10 มีนาคม 2563 จำนวน 5 ตัวอย่าง ได้แก่ Ver.88, WE Cleanser, ก๊กเลี้ยง, โพรเทค และ CAVIER         (3) ไม่ระบุวันผลิต 4 ตัวอย่าง ได้แก่ยี่ห้อ CCP LAB BLUE, D GEL , ETC อาย-ตา-นิค และพันตรา         อย่างไรก็ตาม จากทั้งการสุ่มตรวจทั้ง 39 ตัวอย่าง พบผลิตภัณฑ์ 4 ตัวอย่าง ไม่มีเลขจดแจ้ง แบ่งเป็น 3 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) ไม่แสดงเลขจดแจ้ง ได้แก่ Anti-A gel (ยี่ห้อเดียวกัน แต่มี 2 ตัวอย่าง), Top Clean Hand Sanitizer และ ยี่ห้อ L Care (มีการแสดงเลข อย. ซ้ำกับผลิตภัณฑ์ตัวอื่น) นอกจากนี้ ยังพบอีก 1 ตัวอย่าง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ ANANTA Spray (อนันตา สเปรย์) ที่มีการใช้เมธานอลเป็นส่วนผสมในการผลิต           ด้าน รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ วงศ์สุทธิเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริการเทคโนโลยีเภสัชอุตสาหกรรม คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในการทดสอบเพื่อหาปริมาณแอลกอฮอล์และชนิดของแอลกอฮอล์ในผลิตภัณฑ์ที่ทางแลปใช้เป็นการนำเทคนิค Gas Chromatography มาวิเคราะห์ตัวอย่าง ซึ่งเป็นเทคนิคหลักในอุตสาหกรรมยาที่ใช้ในการตรวจหาปริมาณแอลกอฮอล์ โดยวิธีวิเคราะห์นี้ถูกพัฒนาและตรวจสอบความถูกต้องให้สามารถตอบโจทย์การทดสอบในผลิตภัณฑ์เพื่อทำความสะอาดมือดังกล่าวได้         “อย่างไรก็ตามในมุมมองผม ผลดังกล่าวคงไม่ใช่การตีตราได้ 100 เปอร์เซนต์ ว่าบริษัทใดดีหรือไม่ดีเนื่องจากมีข้อสังเกตจากการทดสอบหลายประการ เช่น เรื่องคุณภาพการผลิต ซึ่งพบว่า ยังไม่มีการควบคุมให้ได้มาตรฐาน และจากรายละเอียดข้อมูลที่แสดงบนฉลากผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือทั้ง 39 ตัวอย่าง พบว่า บางบริษัทรับผลิตสินค้าให้กับผู้ประกอบการหลายยี่ห้อ แต่จากผลการทดสอบบางยี่ห้อผ่านเกณฑ์ บางยี่ห้อไม่ผ่านเกณฑ์ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฯ ทั้งที่ผลิตโดยบริษัทเดียวกัน หรือ บางยี่ห้อระบุว่ามีแอลกอฮอลล์ร้อยละ 75 แต่วิเคราะห์ผลได้เพียงร้อยละ 70 ซึ่งถึงแม้จะผ่านตามประกาศกระทรวงฯ แต่ถือว่ามีปัญหาด้านคุณภาพในการผลิต” รศ.ดร.ภก.วรสิทธิ์ กล่าวและว่า ในประเด็นการปลอมแปลงฉลากผู้ผลิตก็เป็นอีกปัจจัยที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่ที่แน่นอน คือ ผลที่ออกมาสะท้อนอย่างชัดเจนว่าผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่มีในท้องตลาดมีปัญหาและต้องมีการแก้ไขปัญหาจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยด่วน         ส่วน ผศ.ดร.ภญ.ยุพดี ศิริสินสุข คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) และรองผู้จัดการแผนงานศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 เจลแอลกอฮอล์หรือผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ เช่น เจล โลชั่น ครีม โฟม สเปรย์ สารละลาย หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำขึ้นเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ (Alcohol-Bases Hand Sanitizer) ถูกจัดอยู่ในหมวด “เครื่องมือแพทย์” ที่ต้องแจ้งรายละเอียด และกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบคุมตามกฎหมายเครื่องมือแพทย์ โดยส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์นี้ ได้แก่ เอธิลแอลกอฮอล์/เอธานอล, ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์/ไอโซโพรพานอล หรือเอ็น - โพรพิวแอลกอฮอล์/เอ็น - โพรพานอล และมีการกำหนดไว้ชัดเจนว่า “ส่วนประกอบเหล่านี้ต้องรวมกันตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไปโดยปริมาตร” ซึ่งอาจมีสารอื่นๆ ประกอบด้วยได้ เช่น สารแต่งกลิ่น สารกันเสีย         เมื่อเกิดปัญหาโรคโควิด 19 ระบาด คณะกรรมการเครื่องมือแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้มีมติยกเลิก ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบเพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ พ.ศ.2562 เพื่อปรับให้ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ล้างมือเป็นสินค้าในกลุ่ม “เครื่องสำอางหรือหมวดเครื่องสำอาง” ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดลักษณะของเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย พ.ศ. 2563 เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดที่อาจทำให้เกิดสินค้าขาดแคลนได้ โดยมีสาระสำคัญ คือ         เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ ที่มีส่วนประกอบเพียงอย่างเดียวหรือผสมรวมกันน้อยกว่าร้อยละ 70  โดยปริมาตร ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย” และ “หากมีการตรวจพบผู้ผลิตหรือนำเข้าผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ผู้ผลิตหรือนำเข้า จะมีโทษ จำคุก 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท ขณะที่ผู้จำหน่าย มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 50,000 บาท          มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม 2563 ที่ผ่านมา “ตาม มาตรา 60 ของ พ.ร.บ.เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ได้กำหนดโทษสำหรับ ผู้ที่ผลิตเพื่อขาย นำเข้าเพื่อขาย หรือรับจ้างผลิตเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน อันเป็นการฝ่าฝืนประกาศฯ  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขายนั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         หรือในกรณีเป็นเครื่องสำอางที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งมีวัตถุที่ห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง ผู้ที่ผลิต นำเข้า เพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ขาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         “ผู้บริโภคสามารถใช้ข้อมูลผลทดสอบของนิตยสารฉลาดซื้อ ในการตัดสินใจเลือกซื้อเจลแอลกอฮอล์ได้ โดยเจลแอลกอฮอล์ที่ดีนั้น นอกจากต้องมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตรแล้ว ยังไม่ควรแห้งเร็วจนเกินไป เพื่อให้แอลกอฮอล์ได้มีเวลาฆ่าเชื้อไวรัสที่อาจเกาะอยู่ตามผิวหนังก่อนที่จะระเหย  นอกจากนี้ อย. ควรต้องเร่งแก้ปัญหาคุณภาพผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะการยกระดับมาตรฐานโรงงานผลิต เพราะความเสียหาย คือ การมีผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ที่แพร่หลาย แต่ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่สามารถมีผลในการลดเชื้อได้จริง” ผศ.ภญ.ดร.ยุพดี กล่าว         ขณะที่ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง กล่าวเสริมว่า อยากฝากข้อเสนอไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ประกอบการ ดังนี้        1. ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ดำเนินการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานแอลกอฮอล์ ในผู้ประกอบการที่ผลิต นำเข้า หรือขาย ผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือที่ไม่เป็นไปตามประกาศฯ ให้เป็นไปตามประกาศฯ        2.มีการตรวจสอบและควบคุมมาตรฐานผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ทำความสะอาดมือ ในสถานประกอบการที่ผลิตและนำเข้า หรือขายเหล่านี้ให้มากขึ้น ก่อนการอนุมัติ เพื่อป้องกันมิให้มีผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีคุณภาพเข้าสู่ท้องตลาดและส่งผลเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขในวงกว้าง        และ 3.ดำเนินการกับบริษัทที่ใช้เมทานอลอย่างจริงจัง และฝากไปถึงบริษัทด้วย ขออย่าใช้เทคนิค การถูกเจ้าอื่นแอบผลิตหรือใช้เลขที่ใบจดแจ้ง หรืออ้างว่าผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ของตนเอง         รายละเอียดผลทดสอบอ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://www.chaladsue.com/article/3402

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 ความจริงของ COVID-19 และวิธีการฆ่าไวรัส

ไวรัส COVID-19 คืออะไร        ไวรัสเป็นจุลินทรีย์ชนิดหนึ่งแต่แปลกแยกจากจุลินทรีย์อื่นๆ เช่นแบคทีเรีย ราและสาหร่าย ตรงที่ว่าไวรัสไม่ใช่สิ่งมีชีวิต   มันต้องอาศัยเซลล์ของสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นเพื่อเพิ่มจำนวน   สิ่งมีชีวิตแทบทุกชนิดมีไวรัสเป็นปรสิต  แม้แต่อาร์เคียแบคทีเรียที่อาศัยในน้ำพุร้อนกรดยังมีไวรัสตามไปรังควาน   มนุษย์สุขภาพดีทั่วไปมีไวรัสแอบอาศัยอยู่ด้วยโดยไม่ก่อให้เกิดอาการป่วยประมาณ 5 ชนิดเลยทีเดียว (Wylie และคณะ 2014) และแน่นอนว่าไวรัสเหล่านี้พร้อมจะทำให้เราเจ็บป่วยหรือแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่นได้ทุกเมื่อ        Coronavirus disease of 2019 หรือ COVID-19 มีชื่อไทยว่าไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 เป็นน้องใหม่ล่าสุดลำดับที่ 7 ของไวรัสกลุ่มโคโรนาที่ก่อโรคหวัดในมนุษย์   ผู้ป่วยด้วยโรคหวัดทุกปีประมาณ 10-30% จะมีสาเหตุจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ 229E, NL63, OC43 และ HKU1   ส่วนไรโนไวรัส (Rhinovirus) เป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของโรคหวัด  แต่ก่อนใครเป็นหวัดก็ให้พักผ่อนและรักษาดูแลกันไปตามอาการ  ยาแก้ปวดลดไข้อย่างพาราเซตามอลก็กินไปเพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานจากอาการของโรคไม่ได้เป็นยาต้านไวรัสและไม่มีใครสนใจหาสาเหตุด้วยซ้ำไปว่าเราเป็นหวัดเพราะติดไวรัสอะไรมา           พอเรามีน้องใหม่เข้ามา  ทั้งคนและไวรัสยังไม่ได้มีเวลาปรับตัวเข้าหากัน  ดังนั้นอัตราการติดต่อ การตายและความรุนแรงของโรคจึงเป็นที่น่าพรั่นพรึงของทุกคน   ไวรัสอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีเจ้าบ้าน  ดังนั้นในที่สุดในอนาคตเจ้าโควิด-19 จะกลายเป็นไวรัสหวัดอีกชนิดหนึ่งที่ไม่มีใครสนใจสืบหาสาเหตุ  แต่กว่าจะถึงวันนั้นต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนหรือมียารักษาที่ได้ผลและปลอดภัยที่แพร่หลายเข้าถึงได้ทุกหมู่บ้าน  หรือใช้แนวคิด "การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่" (Herd Immunity) ที่มีประชากรอย่างน้อย 60% มีภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนหรือติดเชื้อ  ทั้งสามความหวังนี้เราต้องรออย่างน้อย 1-2 ปี           งานวิจัยเกี่ยวกับโคโรนาไวรัสสายพันธุ์อื่น พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อแล้วและตรวจพบว่ามีแอนติบอดีต่อเชื้อยังสามารถติดเชื้อสายพันธุ์เดิมซ้ำอีกครั้งเพียง 4 เดือนถึง 2 ปี หลังจากการติดเชื้อครั้งแรก (Callow และคณะ 1990)  ในปัจจุบันเรายังมีความรู้เกี่ยวกับโควิด-19 น้อยมาก  ระหว่างนี้ก็อยู่ห่างๆ เจ้าโควิด-19 กันไว้ก่อนดีกว่า   การติดโควิด-19 มักจะเกิดจากการสูดเอาละอองสารคัดหลั่งจากผู้ติดเชื้อที่หายใจไอจามออกมาแล้วล่องลอยอยู่ในอากาศเข้าไป  มีรายงานว่าละอองลอยของโควิด-19 ยังก่อการติดเชื้อได้แม้ว่าล่องลอยในอากาศนานถึง 3 ชั่วโมง  บนพื้นผิวอยู่ได้ตั้งแต่ 2-10 วันขึ้นไป (van Doremalen และคณะ 2020)         โควิด-19 เป็นไวรัสที่มีสารพันธุกรรมเป็นอาร์เอ็นเอ  ห่อหุ้มด้วยเปลือกโปรตีนหรือแคพซิด (capsid)  มีชั้นไขมันหุ้มล้อมรอบแคพซิดอีกชั้นหนึ่งเรียกว่าเปลือกหุ้ม (envelope) บนเปลือกหุ้มของมันมีโปรตีนคลุมด้วยกลุ่มคาร์โบไฮเดรทเป็นปุ่มๆ (spikes) เมื่อดูด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนจะเห็นอนุภาคของไวรัสคล้ายมงกุฎ (ภาษาลาติน corona แปลว่า crown หรือ มงกุฎ) จึงเป็นที่มาของชื่อไวรัส   เปลือกหุ้มชั้นนอกสุดเป็นชั้นไขมันทำให้ถูกทำลายได้ง่ายเมื่อเทียบกับไวรัสพวกที่ไร้เปลือกหุ้ม           เมื่อเรารู้โครงสร้างของโควิด-19 แล้ว การจะทำลายมันก็ไม่ใช่เรื่องที่ยาก  แต่ที่ยากคือต้องทำให้ถูกต้อง จึงจะสามารถใช้วิธีต่าง ๆ ในการทำลายไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพและไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้  ช่วงที่มีการระบาดรุนแรงเป็นช่วงฝุ่นตลบ ใครคิดว่ามีวิธีการอะไรดีก็เอามาแจกจ่ายเพื่อนฝูงผ่านทางโซเชียล ซึ่งบางครั้งไม่ถูกต้องและอาจเป็นอันตรายกับผู้ใช้อีกด้วย  ดังนั้น ในบทความนี้จะสรุปวิธีการที่ประชาชนทั่วไปพอจะสามารถใช้เพื่อกำจัดไวรัสโควิด-19 นี้ได้ ดังต่อไปนี้  1. การล้างมือด้วยสบู่          การล้างมือด้วยสบู่เป็นวิธีการที่ง่ายที่สุดในการกำจัดไวรัส เนื่องจากสบู่มีฤทธิ์สองลักษณะคือ เป็นสารลดแรงตึงผิวทำให้สามารถกำจัดไวรัสไปจากพื้นผิวซึ่งคือผิวหนังของมนุษย์ได้เป็นอย่างดี  นอกจากนี้ สบู่ยังสามารถละลายไขมันได้ด้วย  ดังนั้นจึงมีความสามารถในการฆ่าแบคทีเรียและไวรัสได้ด้วย  โควิด-19 ซึ่งเป็นไวรัสที่มีชั้นไขมันหุ้มจึงโดนทำลายได้ด้วยสบู่อย่างง่ายดาย   อย่างไรก็ตาม การล้างมือด้วยสบู่จะต้องมั่นใจว่าทำความสะอาดได้ทุกซอกมุมบนมือได้แก่ ฝ่ามือ หลังมือ นิ้ว ซอกนิ้ว ซอกเล็บและข้อมือ และต้องออกแรงถูสักเล็กน้อยและใช้เวลาล้างมือนานพอสมควร (ร้องเพลงช้าง หรือ happy birthday 1 รอบ)  ซึ่งวิธีการล้างมือที่ถูกต้องได้มีการเผยแพร่แล้วโดยกระทรวงสาธารณสุข   นอกจากสบู่แล้วสารซักฟอกทุกชนิด เช่น ผงซักฟอก  ยาสระผม  ยาสีฟัน  น้ำยาล้างจาน และสารอื่นที่สามารถทำให้เกิดฟองได้ จะมีความสามารถกำจัดไวรัสและแบคทีเรียได้เช่นเดียวกับสบู่ 2. การใช้แอลกอฮอล์เจล 70%          การใช้แอลกอฮอล์เจลเป็นอีกวิธีหนึ่งที่สะดวกและปลอดภัย สามารถใช้ได้ทุกที่โดยเฉพาะเมื่อลงจากขนส่งสาธารณะหรือสัมผัสกับสิ่งของที่คิดว่าจะมีการปนเปื้อนเชื้อโรค   แอลกอฮอล์มีผลในการละลายไขมันเช่นกันซึ่งจะทำให้โควิด-19 ถูกทำลายได้เนื่องจากมันมีเปลือกหุ้มที่ประกอบด้วยไขมัน   แอลกอฮอล์เจลที่ให้ผลในการกำจัดจุลินทรีย์รวมทั้งไวรัสโควิดจะต้องมีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสมอย่างน้อย 70%  รวมทั้งจะต้องให้เวลาการสัมผัสแอลกอฮอล์เจลนานไม่น้อยกว่า 30 วินาทีจึงจะให้ผลการฆ่าเชื้อได้ดีที่สุด (Hirose และคณะ 2019) เนื่องจากแอลกอฮอล์ 70% ส่วนใหญ่จะระเหยอย่างรวดเร็วเมื่อถูกับมือ  ดังนั้นจึงแนะนำว่าควรใช้สองครั้งติดต่อกันเพื่อให้มีเวลาสัมผัสกับเชื้อนาน 30 วินาที   เราต้องทำลายไวรัสให้หมด เพราะว่าในปัจจุบันนี้เรายังไม่ทราบจำนวนอนุภาคที่ทำให้เกิดโรค (infectious dose) นั่นคือจำนวนไวรัสน้อยที่สุดที่ทำให้เกิดโรคได้           บนขวดแอลกอฮอล์เจลมักจะเขียนว่าฆ่าเชื้อโรค 99.99% หมายความว่า ถ้าบนมือเรามีไวรัส 100,000 อนุภาค ใช้เจลถูมือ 1 รอบจะเหลือ 10 อนุภาค ซึ่งไม่แน่ว่า 10 ตัวนี้อาจก่อให้เกิดโรคก็ได้   นอกจากนี้ ไวรัสมักอยู่ในน้ำมูกน้ำลายที่มีลักษณะเป็นเมือกๆ เหนียวๆ ซึ่งสารคัดหลั่งซึ่งจะลดประสิทธิภาพการทำงานของแอลกอฮอล์เจลลงไปอีก (Hirose และคณะ 2019)   ผู้ป่วยโควิด-19 บางรายมีไวรัสในเสมหะได้สูงถึงแสนล้านอนุภาคต่อมิลลิลิตร (1.34 x 1011 อนุภาคต่อมิลลิลิตร)  (Pan และคณะ, 2020)    การใช้แอลกอฮอล์เจลที่มีสัดส่วนของแอลกอฮอล์น้อยกว่าเช่น 40% หรือเปอร์เซ็นต์แอลกอฮอล์ที่มากเกินไปเช่น 90-100% ก็ให้ผลตรงกันข้ามคือไม่สามารถกำจัดไวรัสได้อย่างมีประสิทธิภาพ (Kampf 2018)    การใช้สุราหรือเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ทุกชนิด เช่น วิสกี้ บรั่นดี วอดก้า เบียร์ ไวน์ เหล้าโรง อุ สาโท ฯลฯ ไม่สามารถฆ่าไวรัสได้   นอกจากนี้ แอลกอฮอล์ที่ควรใช้ในการผลิตแอลกอฮอล์เจลคือ เอธิลแอกอฮอล์หรือไอโซโพรพิลแอกอฮอล์ (แอลกอฮอล์ล้างแผล)         ห้ามใช้เมธิลแอลกอฮอล์ เนื่องจากสามารถซึมเข้าทางผิวหนัง การใช้เป็นระยะเวลานานเป็นอันตรายต่อดวงตา อาจทำให้ตาบอดได้ถ้ากระเด็นเข้าตา   และเนื่องจากแอลกอฮอล์เจลหรือแอลกอฮอล์มีราคาแพง ในการทำความสะอาดพื้นผิวเช่น เก้าอี้ โต๊ะ พื้น จึงสามารถใช้น้ำสบู่หรือน้ำผงซักฟอกแทนได้ 3. โซเดียมไฮโปคลอไรต์         โซเดียมไฮโปคลอไรต์หรือสารฟอกขาว (household bleach)  สารประกอบเหล่านี้มีความสามารถในการทำลายเชื้อโดยคลอรีนที่เกิดขึ้นจะทำลายโปรตีนของไวรัส  ดังนั้นในการทำความสะอาดพื้นบ้านที่มีผู้ป่วย  ให้เจือจาง 5% โซเดียมไฮโปคลอไรต์ (น้ำยาซักผ้าขาวที่มีขายตามท้องตลาด) ให้ได้ความเข้มข้นสุดท้ายอย่างน้อย 0.1% หรือพูดง่าย ๆ ใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วนผสมน้ำ 49 ส่วน   แต่การทำความสะอาดห้องน้ำและสุขภัณฑ์ควรใช้ความเข้มข้นสูงกว่าคือใช้ที่ความเข้มข้น 0.5% โซเดียมไฮโคลอไรต์  นั่นคือใช้น้ำยาซักผ้าขาว 1 ส่วน ผสมน้ำ 9 ส่วน   การเช็ดต้องเช็ดให้ชุ่มและทิ้งไว้อย่างน้อย 5 นาที  ข้อควรระวังในการใช้โซเดียมไฮโปคลอไรต์คือสารอินทรีย์บนพื้นผิวจะทำให้โซเดียมไฮโปคลอไรต์หมดประสิทธิภาพในการทำลายเชื้อโรค  ไอระเหยของโซเดียมไฮโปคลอไรต์เป็นอันตรายต่อสุขภาพและต้องสวมถุงมือทุกครั้งที่สัมผัสกับสารละลายโซเดียมไฮโปคลอไรต์ (FIOH 2020)   อย่างไรก็ตาม พื้นผิวบางชนิดเช่นโลหะอาจเสียหายเมื่อสัมผัสกับโซเดียมไฮโปคลอไรต์   เราสามารถสามารถใช้ผงซักฟอกแทนได้ โดยละลายน้ำให้ได้ความเข้มข้นเช่นเดียวกับที่ซักผ้าหรือตามผู้ผลิตกำหนด  ผงซักฟอกมี pH 9 และสารลดแรงตึงผิวทำงานร่วมกันทำลายเยื่อหุ้มอนุภาคไวรัส  ถูให้พื้นเปียกทิ้งไว้ 15 วินาที จากนั้นล้างอีกครั้งด้วยน้ำเปล่าเพื่อกำจัดคราบผงซักฟอก (National Environment Agency, 2020) 4. ฟีนอล         สารออกฤทธิ์ในเดทตอล คือ สารประกอบประเภทฟีนอล (Chloroxylenol) จะทำลายจุลินทรีย์และไวรัสโดยการทำให้โปรตีนเสียสภาพ   ผู้บริโภคควรระวังเนื่องจากเดทตอลที่วางจำหน่ายในท้องตลาดมีสองชนิด คือชนิดที่มีมงกุฎสีฟ้าบนเครื่องหมายการค้า (น้ำยาฆ่าเชื้อโรค Dettol Antiseptic Liquid) จะสามารถใช้กับร่างกายได้ เช่นสำหรับล้างแผลหรืออาบน้ำ รวมทั้งฆ่าเชื้อที่พื้นผิวด้วย  ส่วนอีกชนิดไม่มีมงกุฎสีฟ้า (ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคอเนกประสงค์ Dettol Hygiene Multi-Use Disinfectant) เป็นชนิดที่ไม่สามารถใช้กับร่างกายได้โดยตรง มักจะใช้สำหรับการฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิว  ทั้งสองชนิดสามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้ ผู้ใช้ต้องเจือจางให้เหมาะสมตามที่แนะนำข้างฉลาก 5. แสงอุลตราไวโอเลต (UV)         แสงอุลตราไวโอเลตหรือแสง UV เป็นคลื่นแสงที่มีความยาวคลื่นต่ำและมีผลในการทำลายสารพันธุกรรมของไวรัสหรือจุลินทรีย์อื่น   ดังนั้นแสง UV จึงสามารถฆ่าโควิด-19 ได้ แสง UV จากดวงอาทิตย์ที่ฉายมายังโลกมนุษย์มีสามชนิด คือ UVA UVB และ UVC ซึ่ง UVA และ UVB สามารถผ่านชั้นบรรยากาศมายังพื้นโลกได้  แต่แสง UV ที่สามารถฆ่าไวรัสได้คือ UVC เท่านั้น ซึ่งจะไม่สามารถผ่านชั้นบรรยากาศลงมาได้ ดังนั้น การยืนตากแดดจึงไม่สามารถฆ่าไวรัสโควิด-19 ได้           อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้มีหลอดไฟที่ผลิตแสง UVC ได้และสามารถใช้ฆ่าโควิด-19 และมีการประดิษฐ์เครื่องมือที่ใช้แสง UVC สำหรับฆ่าเชื้อบนธนบัตรหรือหน้ากากอนามัยได้ แต่หลอดอุลตราไวโอเลตตามปกติไม่มีใช้ทั่วไปตามบ้านเรือน จะใช้เฉพาะในห้องผ่าตัด ห้องปฏิบัติการจุลชีววิทยา  ห้องปลอดเชื้อตามโรงงานอุตสาหกรรมต่างๆ    และการใช้แสง UVC มีผลต่อมนุษย์มาก เช่น หากโดนแสง UVC เป็นเวลานานจะเกิดมะเร็งผิวหนังได้และอาจก่อให้เกิดจอตาเสื่อมหรือต้อกระจกได้หากมองรังสี UVC เป็นเวลานาน          นอกจากนี้การใช้แสง UV เพื่อฆ่าเชื้ออย่างมีประสิทธิภาพจะต้องมีความเข้มแสงเพียงพอ ดังนั้นจึงขึ้นกับชนิดหลอดไฟ (วัตต์) และระยะห่างจากพื้นผิวที่ต้องการฆ่าเชื้อ   วัตถุที่โดนแสง UV เป็นเวลานานอาจทำให้เปลี่ยนสภาพไปเหมือนกับการวางตากแดดไว้เป็นเวลานาน เช่นพลาสติกอาจกรอบหรือสีอาจซีดลงได้  แสง UV ยังมีข้อเสียคือจะไม่ผ่านวัตถุทึบแสงหรือกระจก  ดังนั้นการฆ่าเชื้อธนบัตรหรือหน้ากากอนามัย ในขณะฆ่าเชื้อจึงไม่สามารถซ้อนทับกัน  สำหรับหลอดไฟ UV ที่ใช้ในการตรวจสอบธนบัตรไม่มีผลในการฆ่าเชื้อโควิด-19 6. การกรองไวรัส         คนไทยรู้จักการกรองและป้องกันตัวเองมาก่อนแล้วตั้งแต่ยุค pm2.5 ซึ่งทุกคนทราบว่าจะมีหน้ากากที่เรียกว่า N95 ซึ่งสามารถกรองฝุ่น pm2.5 ได้  ในปัจจุบันนี้มีหน้ากากมากมายหลายชนิด  แต่หน้ากากทุกชนิดไม่สามารถป้องกันไวรัสได้ 100%  ถึงแม้หน้ากาก N95 จะป้องกันไวรัสได้ดีที่สุดแต่ก่อนการใช้งานจะต้องทดสอบ fit test เพื่อให้หน้ากากแนบสนิทกับใบหน้ามากที่สุด จึงเหมาะสมสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ต้องสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วยจำนวนมาก   สำหรับบุคคลทั่วไปการใช้ surgical mask (หน้ากากอนามัยทั่วไปที่มีสีเขียว สีฟ้า สีขาว ฯลฯ) หรือหน้ากากแบบผ้าก็เพียงพอแล้ว          การใช้หน้ากากทุกชนิดให้มีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นกับวิธีการใช้หน้ากากให้ถูกต้อง  การใส่หน้ากากที่ถูกต้องจะต้องปิดทางเข้าของอากาศที่ไม่ผ่านหน้ากากให้ได้มากที่สุด สังเกตได้จากเราจะหายใจได้อึดอัดไม่สะดวก   การใส่แบบเห็นรูจมูกจะไม่มีผลในการป้องกันไวรัสเลย  หรือการไส่หน้ากากที่หลวมเกินไปไม่แนบกับใบหน้าก็จะป้องกันไวรัสได้น้อยกว่า  และการที่ผู้ที่ป่วยหรือผู้ที่เข้าข่ายเฝ้าระวังใส่หน้ากากจะช่วยให้เชื้อไม่แพร่กระจายไปคนอื่นได้มากถึง 90%          การกรองอีกวิธีหนึ่งคือการใช้ HEPA FILTER ที่มีใช้ในเครื่องฟอกอากาศต่าง ๆ  จนถึงปัจจุบันนี้ ไม่มีเครื่องปรับอากาศหรือเครื่องฟอกอากาศชนิดใดหรือระบบใดที่ได้รับการยืนยันว่าสามารถฆ่าโควิด-19 ได้  ไวรัสมีขนาดเล็กกว่า HEPA FILTER มาก ดังนั้นจึงสามารถลอดผ่าน HEPA FILTER ได้ คำถามยอดฮิตช่วงนี้คำถามยอดฮิตช่วงนี้สบู่เหลว สบู่ก้อน หรือโฟมล้างมือ ชนิดใดจึงเหมาะสมที่จะใช้ล้างมือป้องกันเชื้อ          สบู่ทุกประเภทรวมทั้งสารซักฟอกทุกชนิดมีผลในการทำลายจุลินทรีย์และไวรัสได้ใกล้เคียงกัน  จึงสามารถเลือกใช้ชนิดใดก็ได้ ว่ายน้ำจะติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่         ตามปกติแล้ว ในสระว่ายน้ำจะใส่สารฆ่าเชื้อ ซึ่งอาจเป็นสระน้ำที่เติมคลอรีนหรือสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือ   ในสระน้ำที่เติมคลอรีน  คลอรีนที่อยู่ในน้ำจะสามารถทำลายโควิด-19 เนื่องจากคลอรีนจะไปทำลายโปรตีนของไวรัส  และสระน้ำที่เป็นน้ำเกลือจะมีระบบเซลล์เกลือ (Salt chlorinator) เพื่อทำปฏิกิริยาไฟฟ้าและสร้างคลอรีนธรรมชาติ (Sodium hypochlorite – NaOCl) ที่สามารถฆ่าเชื้อโรคและ COVID-19 ได้เช่นกัน  ดังนั้นสระว่ายน้ำทั้งสองประเภทที่ดูแลรักษาระบบบำบัดน้ำให้ได้มาตรฐานจะทำลายโควิด-19 ได้แน่นอน  และจนถึงปัจจุบัน ยังไม่มีรายงานการติดเชื้อโควิด-19 จากสระว่ายน้ำ แต่การอยู่ร่วมกันใกล้ชิดอาจก่อให้เกิดการติดเชื้อได้ง่าย (https://www.babyswimmingthailand.com/) หน้ากากแบบผ้าก่อนซักต้องแช่น้ำยาฆ่าเชื้อหรือไม่        ไม่มีความจำเป็น เนื่องจากการซักที่ใช้ผงซักฟอก สบู่หรือน้ำยาซักผ้าชนิดต่าง ๆ  ก็จะสามารถทำลายไวรัสโควิดได้แล้วจึงไม่จำเป็นต้องแช่ในน้ำยาฆ่าเชื้อก่อน การฉีดแอกอฮอล์หรือสารฆ่าเชื้ออื่นบนหน้ากากอนามัยจะช่วยฆ่าไวรัสได้ดีขึ้น         หน้ากากอนามัยจะเกิดประโยชน์สูงสุดเมื่อผู้ที่เป็นโรคใส่เพื่อป้องกันการกระจายหรือการแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น  การใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากผู้อื่นสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องให้หน้ากากแนบกับใบหน้ามากที่สุด  การฉีดแอลกอฮอล์บนหน้ากาก ไม่ช่วยให้ป้องกันไวรัสได้ดีขึ้น เนื่องจากแอลกอฮอล์จะระเหยไปอย่างรวดเร็วและไม่มีผลต่อการทำลายไวรัสใด ๆ การทำอาหารด้วยความร้อนจะฆ่าโควิด-19 ได้หรือไม่         การทำอาหารด้วยความร้อนไม่ว่าจะเป็นการต้ม นึ่ง ทอด ผัด สามารถทำลายไวรัสโควิด-19 ได้  เนื่องจากความร้อนจะทำลายโปรตีนของไวรัส  อย่างไรก็ตาม การทำอาหารต้องแน่ใจว่าอาหารทั้งหมดได้สัมผัสกับความร้อนอย่างทั่วถึงและนานเพียงพอ  การใช้ไมโครเวฟยังสามารถทำลายไวรัสได้เช่นกัน  ความร้อนที่ 56 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 30 นาที (จอดรถตากแดดปิดกระจกดูเทอร์โมมิเตอร์ให้อุณหภูมิในห้องโดยสารขึ้นถึง 56 oซ อย่างน้อย 30 นาที) หรือความร้อนที่ 70 องศาเซลเซียสอย่างน้อย 25 นาทีทำลายไวรัสได้ เอกสารอ้างอิงCallow KA, Parry HF, Sergeant M, Tyrrell DA. The time course of the immune response to experimental coronavirus infection of man. Epidemiol Infect 1990, 105:435-446.Finnish Institute of Occupational Health (FIOH). 2020. Cleaning guidelines for the prevention of covid-19 infections. https://www.ttl.fi/en/cleaning-guidelines-for-the-prevention-of-covid-19-infections%E2%80%AF/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Hirose R, Nakaya T, Naito Y, Daidoji T, Bandou R, Inoue K, Dohi O, Yoshida N, Konishi H, Itoh Y: Situations leading to reduced effectiveness of current hand hygiene against infectious mucus from influenza virus-infected patients. mSphere 2019, 4.Kampf G: Efficacy of ethanol against viruses in hand disinfection. J Hosp Infect 2018, 98:331-338.National Environment Agency (Singapore). 2020. Interim List of Household Products and Active Ingredients for Disinfection of the COVID-19 Virus. https://www.nea.gov.sg/our-services/public-cleanliness/environmental-cleaning-guidelines/guidelines/interim-list-of-household-products-and-active-ingredients-for-disinfection-of-covid-19, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563Pan Y, Zhang D, Yang P, Poon LLM, Wang Q: Viral load of SARS-CoV-2 in clinical samples. Lancet Infect Dis 2020, 20:411-412.van Doremalen N, Bushmaker T, Morris DH, Holbrook MG, Gamble A, Williamson BN, Tamin A, Harcourt JL, Thornburg NJ, Gerber SI, et al.: Aerosol and Surface Stability of SARS-CoV-2 as Compared with SARS-CoV-1. N Engl J Med 2020.world health organization (WHO). 2005. Food safety issues. https://www.who.int/influenza/resources/documents/food_risk_h5n1_11_2005/en/, สืบค้นเมื่อ 12 เมษายน 2563 Wylie KM, Mihindukulasuriya KA, Zhou Y, Sodergren E, Storch GA, Weinstock GM: Metagenomic analysis of double-stranded DNA viruses in healthy adults. BMC Biol 2014, 12:71.

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 230 มันมาแล้วกับโควิด 19

        สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ก่อให้เกิดความตระหนกและตื่นตัว ผู้บริโภคต่างแสวงหาวิธีการ หรืออุปกรณ์ต่างๆ มาป้องกันตนเองและครอบครัว หน้ากากอนามัย เจลล้างมือ แอลกอฮอล์ น้ำยาทำความสะอาดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ขาดแคลนเป็นระลอกๆ        เมื่อเข้าตาจน ผู้บริโภคหลายรายที่อ่อนไหวต่อสถานการณ์นี้ จึงแสวงหาทางเลือกอื่นๆ เพื่อนำมาใช้ป้องกันตัว เช่น มีการนำน้ำยาไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ที่ใช้ล้างแผลมาใช้ล้างมือแทนแอลกอฮอล์ หรือนำสุราขาวมาใช้แทนแอลกอฮอล์ล้างแผล ซึ่งความจริงแล้วแอลกอฮอล์ที่ใช้ฆ่าเชื้อได้ดีที่สุดต้องมีความเข้มข้น 70% หากน้อยกว่าหรือมากกว่านี้ประสิทธิภาพจะลดลง        นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้ผลิตบางรายถือโอกาสนำผลิตภัณฑ์แปลกๆ มาขายผู้บริโภค จนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกมาเตือนผู้บริโภคไม่ให้หลงเชื่อแผ่นป้ายหรืออุปกรณ์ห้อยคอต่างๆ (เช่น ปากกา พัดลม) ที่จำหน่ายในสื่อออนไลน์ โดยอวดอ้างสรรพคุณว่าสามารถปล่อยสารบางอย่างออกมา เพื่อช่วยกรองอากาศ ป้องกันและยับยั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในอากาศได้ สามารถใช้แทนหน้ากากอนามัยได้ ซึ่งความจริงผลิตภัณฑ์ที่อ้างว่าสามารถฆ่าเชื้อในอากาศได้นั้น จะจัดเป็นวัตถุอันตรายที่ใช้ตามบ้านเรือน ตามพระราชบัญญัติวัตถุอันตราย พ.ศ.2535 จะต้องมาขอขึ้นทะเบียนและขออนุญาตนำเข้ามาเพื่อจำหน่ายในประเทศกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาก่อน และต้องผ่านการประเมินด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัยก่อนด้วย จึงจะสามารถจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์เหล่านี้ชนิดใด มาขออนุญาตกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเล         หลังจากนั้นไม่นาน ก็มีการเผยแพร่ทางออนไลน์อีก เป็นการเผยแพร่บทสวดมนต์อ้างว่า ปัดเป่าขับไล่ไวรัสได้ ในจังหวัดสมุทรสงครามเอง ก็มีผู้บริโภคมาเล่าให้ฟังว่า มีคนนำเหรียญหรือยันต์มาชักชวนให้ตนซื้อ เพื่อใช้ป้องกันโรคได้เช่นกัน          ดังนั้นขอย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจว่าวิธีที่ดีที่สุดในการป้องกันไวรัสและเชื้อโรคต่างๆ คือ         1. กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ : รับประทานอาหารปรุงร้อนจนสุก ใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกัน         2. ใส่หน้ากากอนามัยเพื่อป้องกันตนเอง เมื่อต้องไปอยู่ในที่ชุมชน หรือที่อากาศถ่ายเทไม่สะดวก มีผู้คนหนาแน่น         3. ดูแลร่างกายให้แข็งแรง เพื่อให้มีภูมิต้านทานโรค         วัตถุประหลาดใดๆ ไม่อาจช่วยให้รอดจากไวรัสได้ อย่าไปหลงเชื่อโดยเด็ดขาด

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 229 ครีมถนอมมือ

        เมื่อเราล้างมือหรือใช้เจลทำความสะอาดมือบ่อยๆ ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมาคือผิวหนังแห้งกร้าน ในบางรายอาจเป็นขุยหรือรู้สึกคันด้วย ทางออกที่ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแนะนำคือครีมทามือ ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงไม่รอช้า รีบหาผลทดสอบแฮนด์ครีมมาฝากคุณ คราวนี้สมาชิกองค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ได้แบ่งคะแนนการทดสอบ* ออกเป็นสามด้าน ได้แก่        - ประสิทธิภาพในการบำรุงผิว (ร้อยละ 60)         - ความพอใจของผู้ใช้ที่มีต่อกลิ่น เนื้อครีม (ร้อยละ 30) และ        - การปลอดสารรบกวนฮอร์โมน/พาราเบนส์/สารก่อภูมิแพ้ (ร้อยละ 10) * ด้วยเนื้อที่อันจำกัดเราจึงขอเลือกมาพียง 20 ยี่ห้อ ที่มีจำหน่ายในประเทศไทยหรือสั่งซื้อได้จากร้านค้าออนไลน์           ·  การทดสอบครั้งนี้มีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 3,000 ยูโร (ประมาณ 107,000 บาท) ต่อผลิตภัณฑ์        ·  หมายเหตุ ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ชี้ชัดว่าพาราเบนส์ (ซึ่งนิยมใช้เป็นสารกันหืนในเครื่องสำอาง) เป็นอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ แต่หลายประเทศก็ให้ความสนใจและเฝ้าระวังสารนี้เป็นพิเศษ สหรัฐฯ ให้ความสนใจกับผลิตภัณฑ์เพื่ออนามัยส่วนบุคคล เช่น แชมพู สบู่ โรลออน ครีมกันแดด เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สำหรับเด็ก สหภาพยุโรปเน้นยาสีฟัน แชมพู สบู่ และครีมบำรุงผิว อังกฤษให้ความสำคัญกับเครื่องสำอาง และเกาหลีใต้เน้นผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและเครื่องสำอางสำหรับดวงตา เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 228 สวยและสะอาด

        โรคโควิด 19 ไม่สนใจไม่ได้แล้ว ถึงไม่ต้องตระหนกมาก แต่เราควรตื่นรู้และป้องกันไว้ก่อน ด้วยการทำให้สะอาด โดยเฉพาะอุปกรณ์ติดกาย มือของเรา และต้องระวังสิ่งที่ใช้ร่วมกับผู้อื่น        นอกจากหน้ากากอนามัย ที่อาจจำเป็นต้องพกไว้และใส่ให้ตัวเองเมื่ออยู่ในสถานที่ที่อากาศปิดและแวดล้อมด้วยผู้คนจำนวนมาก อาจรวมถึงเผื่อหยิบยื่นให้คนที่ไอ จามโดยไม่สวมหน้ากาก (หน้ากากอนามัยจะป้องกันการแพร่เชื้อสำหรับคนป่วยได้ถึง 90% แต่หากเราแข็งแรงดีและไม่ได้ใกล้ชิดผู้ที่ไอ จามในระยะ 1 เมตร อาจไม่จำเป็นต้องสวมหน้ากาก ยิ่งเป็นที่รโหฐานใส่ในบ้าน ใส่นอน อันนี้ไม่มีประโยชน์)         สิ่งที่จำเป็นต้องระวังมากกว่าคือ สิ่งของที่อาจต้องจับต้องร่วมกับผู้อื่น เช่น ตัวจับประตูปิดเปิด ร้านค้า ห้าง ห้องน้ำสาธารณะ ปุ่มลิฟต์ ประตูรถแท็กซี่ ห่วง เสา บนรถประจำทาง ซึ่งแน่นอนละว่า ไม่จับก็ไม่ได้ วิธีการที่ต้องฝึกทำให้บ่อยขึ้น คือ          ล้างมือให้บ่อยและล้างให้ถูกวิธี        1. ล้างด้วยสบู่และน้ำ หลักการคือ ล้างด้วยระยะเวลาอย่างน้อย 20-30 วินาที เคยมีคนบอกว่าเท่ากับร้องเพลงแฮปปี้เบิร์ธเดย์สักสองรอบ วิธีนี้ประหยัดและง่าย แต่อาจไม่สะดวกจำเป็นต้องมีสถานที่ ดังนั้นควรทำเมื่อกลับถึงบ้าน ก่อนรับประทานอาหารหรือเตรียมอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ เล่นกับสัตว์เลี้ยง หรือล้างทุกครั้งเมื่อคิดว่ามือสกปรก         2. ล้างด้วยเจลล้างมือ วิธีนี้ค่อนข้างสะดวก แต่ก็ต้องทำให้ถูกวิธีด้วยเช่นกัน คือใช้ในปริมาณที่พอเหมาะและระยะเวลาที่พอดี อย่างน้อย 20 วินาทีต่อการล้างหนึ่งครั้ง หากระหว่างการใช้เจลล้างมือแล้วพบว่าเนื้อเจลแห้งในเวลาไม่ถึง 15 วินาที หมายความว่า เจลล้างมือที่ใช้มีปริมาณน้อยเกินไป และอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรค          ทำความสะอาดเครื่องใช้ส่วนตัว         ข้าวของบางอย่างแม้เป็นของใช้ส่วนตัว แต่ก็อาจมีการสัมผัสกับเชื้อโรคได้เพราะใช้ในที่ชุมชน เช่น โทรศัพท์มือถือ กระเป๋าสะพาย เป้สะพาย และเสื้อผ้าที่เราสวมใส่ สำหรับเครื่องใช้ควรทำความสะอาดเมื่อกลับเข้าบ้าน วิธีง่ายๆ คือ การตากแดด เนื่องจากบ้านเราแดดร้อนและเชื้อไวรัสจะไม่ชอบพื้นที่ที่มีอุณหภูมิสูง หรือเช็ด พ่นด้วยแอลกอฮอลล์ เสื้อผ้าควรหมั่นซักให้บ่อยขึ้นไม่หมักหมมไว้เป็นที่เพาะเชื้อ        การป้องกันตัวเองจากการสัมผัสเชื้อโรคด้วยการทำความสะอาด เป็นหัวใจสำคัญที่ควรคำนึง เพราะไม่เพียงช่วงป้องกันเราจากไวรัสโคโรนาเท่านั้น แต่ยังป้องกันเราจากเชื้อโรคอื่นๆ อีกด้วย ดังนั้นควรทำให้เป็นนิสัยไม่จำเป็นต้องรอให้มีการระบาดของโรคเกิดขึ้นก่อนจึงค่อยทำ          

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 218 น้ำยาทำความสะอาดมือ

        น้ำยาทำความสะอาดมือ(Hand Anticeptic) เป็นสารที่ใช้เพิ่มเติมเป็นทางเลือกของการทำความความสะอาดมือ โดยเฉพาะในกรณีที่ไม่มีน้ำ ปัจจุบันมีทั้งรูปแบบเจล โฟมและสารละลายเหลว เมื่อฉบับที่แล้วฉลาดซื้อได้สุ่มสำรวจผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือไป ฉบับนี้จึงขอต่อเนื่องมาที่ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือ แบบที่ไม่ต้องพึ่งพาน้ำกันบ้าง ซึ่งได้รับความนิยมมากพอสมควรมีหลายผลิตภัณฑ์ให้เลือกซื้อหา ผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่พบมีสารออกฤทธิ์สำคัญคือ เอทิลแอลกอฮอล์ ซึ่งมีคุณสมบัติฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้ดี เหมาะสำหรับการฆ่าเชื้อบนผิวหนัง นอกจากนั้นก็จะมีการผสมสารประเภทที่ให้ความชุ่มชื้น ครีมบำรุงและสารประเภทน้ำหอมเพิ่มเติม ซึ่งไม่มีประโยชน์ในงานทำความสะอาดแต่ช่วยเพิ่มความน่าสนใจ โดยลดความกังวลเรื่องที่มืออาจแห้งกร้านเนื่องจากการสัมผัสแอลกอฮอล์            จากการสุ่มตัวอย่างพบผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ใช่น้ำ จำนวน 11 ผลิตภัณฑ์ มีส่วนผสมหลักดังที่กล่าวไปข้างต้น แต่มีอยู่สองตัวที่มีส่วนผสมของ ไตรโคลซาน ซึ่งฉลาดซื้อเคยนำเสนอไปว่า เป็นสารที่ได้รับการจัดอันดับให้เป็นสารที่มีอันตรายสูง ทำให้มีปัญหากับระบบนิเวศดังนั้นควรหลีกเลี่ยง         น้ำยาทำความสะอาดมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ที่ดีควรเป็นอย่างไร            1.ควรมีความเข้มข้นของแอลกอฮอล์ระหว่าง 60-85 % เพื่อให้เพียงพอสำหรับการฆ่าเชื้อ            2.มีฉลากระบุวันผลิตและวันสิ้นอายุที่ชัดเจน(ไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่หมดอายุ)  รวมทั้งคำเตือนที่จำเป็น เช่น ห้ามใช้หรือวางใกล้เปลวไฟ            3.มีเลขจดแจ้งที่ชัดเจน น้ำยาทำความสะอาดมือจัดเป็นเครื่องสำอาง ดังนั้นต้องมีเลขที่จดแจ้งตามกฎหมายเครื่องสำอาง  ความสะอาดมือบ่อยๆ        การล้างมือเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันการติดเชื้อที่ดี โดยทั่วไปหากมือสกปรกควรล้างด้วยน้ำและสบู่ เพื่อชะล้างคราบสกปรกออกไป แต่หากเป็นกรณีที่มือไม่มีคราบสกปรกแต่อาจสัมผัสกับจุดเสี่ยง เช่น การสัมผัสกับสิ่งของสาธารณะ สัตว์เลี้ยง การใช้ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดมือแบบไม่ต้องใช้น้ำ ก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อได้ วิธีการใช้ผลิตภัณฑ์เจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่ถูกต้อง         เจลล้างมือควรใช้ในปริมาณ 3-5 ซีซี หรือปริมาณเท่าขนาดเล็บหัวแม่มือของผู้ใช้ ถูให้ทั่วฝ่ามือและซอกเล็บ ถูจนเจลระเหยหมดภายในครึ่งนาที (หากเจลระเหยอย่างรวดเร็วก่อน 15 วินาที อาจหมายถึงใช้เจลในปริมาณน้อยไป ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการกำจัดเชื้อโรค) ระวัง!เจลล้างมือติดไฟได้ หากถูกสะเก็ดไฟ         เจลล้างมือมีส่วนผสมสำคัญคือแอลกอฮอล์ ที่นอกจากมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค และยังสามารถติดไฟได้ง่าย ดังนั้นเจลล้างมือจึงติดไฟได้ง่ายเช่นกัน โดยเฉพาะในผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ใช้เจลล้างมือหลังชโลมเปียกทั่วมือแล้วจึงควรรอให้แห้งก่อน ซึ่งใช้เวลาประมาณครึ่งนาที

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 ผลิตภัณฑ์สบู่เหลวล้างมือ

        การล้างมือเพื่อลดความเสี่ยงการติดหรือแพร่กระจายของเชื้อโรค เป็นสุขอนามัยที่ยอมรับกันมากขึ้นเรื่อยๆ เดิมเราอาจไม่ได้ให้ความสำคัญถึงขนาดต้องมีผลิตภัณฑ์สำหรับล้างมือโดยเฉพาะ เพียงแค่สบู่ก้อนกับน้ำสะอาดนับว่าเพียงพอ แต่ตลาดของผลิตภัณฑ์ชำระล้างร่างกายปัจจุบันมีความหลากหลายขึ้น จากสบู่ก้อน มาสู่สบู่เหลว ครีมอาบน้ำ ซึ่งในกลุ่มของสบู่เหลวยังแยกย่อยออกมาเป็น สบู่เหลวเพื่อการทำความสะอาดมือ ที่มีสัดส่วนในตลาดสบู่เหลวประมาณร้อยละ 3        ปัจจุบันสบู่ที่จำหน่ายในท้องตลาดแบ่งตามลักษณะของผลิตภัณฑ์เป็น 2 ลักษณะ คือ สบู่ก้อน(bar soaps) และสบู่เหลว(liquid soaps) ทั้งนี้มูลค่าการตลาดรวมของสบู่ในปี 2560 มีมูลค่าประมาณ 14,032 ล้านบาท แบ่งออกเป็นสบู่เหลว 4,912 ล้านบาท สบู่ก้อน 9,120 ล้านบาท (ที่มา...ประชาชาติธุรกิจ)        โดยทั่วไปสบู่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อใช้ในการฟอกทำความสะอาดผิว เป็นหนึ่งในสินค้าที่ผู้บริโภคไม่ค่อยยึดติดกับยี่ห้อมากนัก เพราะคุณสมบัติพื้นฐานไม่ต่างกัน ยี่ห้ออะไรก็ใช้แทนกันได้ ดังนั้นแต่ละยี่ห้อจึงต้องสรรหาจุดขายเพื่อสร้างความดึงดูดใจผู้บริโภค สบู่เหลวล้างมือก็เช่นกัน เป็นผลจากการแบ่งย่อยคุณสมบัติสินค้าให้เจาะจงยิ่งขึ้น สบู่เหลวล้างมือจึงมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ ที่ออกแบบให้เป็นหัวปั๊มใช้งานง่าย สามารถรีฟิล(refill) ได้ รวมทั้งการใส่สารผสมอย่างน้ำหอม สารให้ความชุ่มชื้น วิตามินต่างๆ หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เพื่อสร้างความแตกต่าง แต่อย่างไรก็ตามในส่วนประกอบพื้นฐานยังคงเป็นสารเคมีเพื่อการชะล้างหรือทำความสะอาดผิว ซึ่งเป็นสารแบบเดียวกันหมดมีอะไรในสบู่ สบู่เหลว        1.ไขมันและน้ำมันจากพืชหรือสัตว์ เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว         2.ด่าง(alkali) เป็นตัวทำปฏิกิริยากับกรดไขมันและส่วนประกอบอื่นๆ ทำให้สารลดแรงตึงผิวและสารลดความกระด้างของน้ำทำงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ที่นิยมใช้มี 2 ชนิด คือ โซเดียมไฮดรอกไซด์ และโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์         3.สารลดความกระด้างของน้ำ(builders) ใช้ลดความกระด้างของน้ำ เพื่อเพิ่มความสามารถในการทำความสะอาดและป้องกันการเสื่อมของผลิตภัณฑ์ เช่น สี กลิ่น เป็นต้น         4.สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์(synthic surfactants)         5.สารปรับสภาพ(conditioners) เพื่อให้ผิวเกิดความชุ่มชื้นและเกิดความระคายเคืองต่อผิวน้อยลง         6.สี ซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตตามกฎหมายเครื่องสำอาง        7.น้ำหอม(fragrances) ทำหน้าที่ปกปิดกลิ่นของส่วนประกอบต่าง ๆ และให้กลิ่น        8.วัตถุกันเสีย เพื่อป้องกันการเสื่อมสภาพของสบู่  และ        9.สารต้านจุลินทรีย์(antimicrobial agents) ทำหน้าที่ฆ่าและยับยั้งการ เจริญเติบโตของจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดเชื้อโรคและกลิ่นสารกลุ่มเสี่ยงที่ควรให้ความสนใจ          สารในกลุ่มที่มีการกล่าวถึงกันมากว่าอาจเป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม คือ         ·        สารในกลุ่มลดแรงตึงผิว (Surfactant ) เป็นส่วนผสม ซึ่งมีทั้งหมด 4 ประเภท ได้แก่         1.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุลบ (anionic surfactant) มีคุณสมบัติทำความสะอาดได้ดี ทำให้เกิดฟองเร็ว มีราคาถูก และมีความแรงมากกว่าชนิดอื่น จึงอาจทำให้เกิดการระคายต่อผิวได้มาก เช่น sodium lauryl sulfate (SLS), Sodium Lauryl Ether Sulfate (SLES)         2.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวก (cationic surfactant) มักใช้ร่วมกับชนิดประจุลบในปริมาณไม่มากนัก แก้ไขจุดบกพร่องของผลิตภัณฑ์ ไม่ให้สบู่เหลวมีประจุลบมากเกินไป เช่น benzalkonium chioride polyquaternium 7, 10, 22 quaternary este        3.สารลดแรงตึงผิวชนิดประจุบวกและประจุลบ (amphoteric surfactant) กลุ่มนี้ให้ฟองปานกลางและระคายเคืองต่อผิวน้อย เช่น cocamidopropyl betaine         4.สารลดแรงตึงผิวชนิดไม่มีประจุ มีประสิทธิภาพในการชำระล้างได้ดี แต่มีฟองไม่มาก ระคายเคืองต่อผิวหนังน้อย เช่น nonyl phenol groups, polyxyethylene fatty alcoholsผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กและสบู่เหลวสุตรอ่อนโยนต่อผิว มักใช้สารลดแรงตึงผิวประเภทที่ 3 และ 4 เป็นส่วนผสม เนื่องจากมีความอ่อนโยนกว่าประเภทอื่น        ·        สารกันเสีย (Preservative) คือสารเคมีที่ใส่เข้าไปในผลิตภัณฑ์ เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดในครัวเรือน เพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์ เพื่อยืดอายุผลิตภัณฑ์ แต่หากเราสัมผัสสารตัวนี้ในปริมาณมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อร่างกาย และสารบางชนิด เช่น สารกลุ่มพาราเบน มีการศึกษาวิจัยกันมากขึ้นว่า อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งด้วย        ·        น้ำหอมสังเคราะห์ จัดเป็น 1 ใน 5 อันดับแรกของสารก่อภูมิแพ้ อยู่ในผลิตภัณฑ์แทบทุกชนิด หากใช้มากเกิน อาจก่อให้เกิดการระคายเคือง ภูมิแพ้ คำว่า น้ำหอม อาจใช้แทนสารเคมีกลุ่ม phthalates ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้เป็นกลิ่นสังเคราะห์หรือน้ำหอมสังเคราะห์นั่นเอง โดยสารกลุ่มนี้จะรบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อจึงอาจก่อให้เกิดความอ้วน และอาจมีผลรบกวนระบบสืบพันธ์และการพัฒนาการได้ การหลีกเลี่ยงสารกลุ่ม phthalates การล้างมือที่ถูกวิธี          การเลือกใช้สบู่ก้อนหรือสบู่เหลว อาจเป็นเรื่องของความพึงพอใจในการใช้งาน แต่จริงๆ แล้ว การล้างมือถ้าทำได้ถูกวิธี ผลิตภัณฑ์ทั้งสบู่เหลวและสบู่ก้อนให้ผลไม่แตกต่างกัน ถ้าเช่นนั้นการล้างมือที่ถูกวิธี ต้องทำอย่างไร          1.ระยะเวลาในการล้างมือ อย่างน้อยต้อง 15 วินาทีขึ้นไป เพื่อให้เพียงพอในการขัดถูฝ่ามือ หลังมือ ถูซอกนิ้วมือ ซอกเล็บ รวมถึงบริเวณข้อมือด้วย           2.ควรล้างมือเมื่อเลอะคราบสิ่งสกปรก  ต้องเตรียมอาหารหรือกินอาหาร ใส่คอนแทคเลนส์ การทำแผล และควรล้างมือหลังกิจกรรมเหล่านี้ หลังเข้าห้องน้ำ เปลี่ยนผ้าอ้อม สั่งน้ำมูกใช้มือปิดปากเมื่อไอ จาม และสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงหรือเก็บกวาดมูลสัตว์           3.จำเป็นไหมว่าต้องเป็นสบู่หรือสบู่เหลวที่ผสมยาฆ่าเชื้อ การล้างมือที่ถูกวิธีก็เพียงพอในการลดการสะสมของเชื้อโรคได้ ไม่จำเป็นต้องใช้สบู่เหลวที่ผสมสารฆ่าเชื้อ    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 140 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกันยายน 2555 6 กีฬาระดับชาติห้าม “จอดำ” หลังจากเหตุการณ์ “จอดำ” ช่วงการแข่งขันฟุตบอลยูโรที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้โดยตรงอย่าง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ต้องเร่งออกมาตรการมารองรับเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย ซึ่งทาง กสทช. ก็เตรียมออกประกาศให้รายการแข่งขันกีฬาระดับประเทศ 6 รายการ ต้องมีการเผยแพร่ผ่านทางช่องฟรีทีวีโดยไม่สนว่าผู้ชมจะรับชมผ่านระบบการรับสัญญาณชนิดใด จะเป็นเสาก้างปลาหนวดกุ้ง เคเบิลทีวี จานดาวเทียมสีไหนหรือกล่องรับสัญญาณของใคร เมื่อกำหนดให้เผยแพร่ทางช่องฟรีทีวีแล้ว ผู้รับชมทีวีทุกคนต้องสามารถรับชมได้ สำหรับ 6 รายการแข่งขันกีฬาที่ทาง กสทช. บังคับว่าห้ามจอดำ ประกอบด้วย ซีเกมส์, พาราเกมส์, เอเชียนเกมส์, โอลิมปิก, พาราลิมปิก และการแข่งขันฟุตโลกรอบสุดท้าย มาตรการนี้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือ MUST CARRY RULE ที่ กสทช. บังคับใช้ตั้งแต่ 25 กรกฎาคมที่ผ่านมา หลังเหตุการณ์จอดำ ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ออกมาควบคุมผู้ให้บริการจานดาวเทียม กล่องรับสัญญาณ และเคเบิลทีวี ต้องให้บริการช่องฟรีทีวีโดยทั่วถึง ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายการ หรือตัดสัญญาณ จนทำให้ผู้บริโภคพลาดการรับชม     รักใครให้ล้างมือ การล้างมือให้สะอาดถือเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ช่วยในการดูแลรักษาสุขภาพ แต่หลายคนกลับมองข้าม  ภญ.อินทิรา วงศ์อัญมณีกุล กลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเลิดสิน ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัยล้างมือลดโรคในโรงเรียน จึงขอนำเสนอผลการศึกษาการลดการเจ็บป่วยที่ได้จากการล้างมือ ซึ่งผลที่ออกมาชี้ชัดว่าการล้างมือบ่อยๆ ช่วยให้เราห่างไกลโรค โดยเป็นการทดลองในเด็กนักเรียนชั้น ป.1-ป.4 ของโรงเรียนอัสสัมชัญ บางรัก จำนวน 553 คน ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ - มีนาคม 2555 โดยเก็บข้อมูลการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยในช่วงก่อนและหลังให้ความรู้ในการล้างมืออย่างถูกวิธี ซึ่งผลการศึกษาพบว่า จำนวนการขาดเรียนเนื่องจากการป่วยลดลงจาก 156 คน เหลือ 74 คน หรือลดลงประมาณร้อยละ 50 การล้างมืออย่างถูกต้องเป็นประจำจะช่วยให้เราลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย เพราะโรคหลายโรคเริ่มจากมือที่ไม่สะอาดเป็นตัวนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคท้องร่วง โรคผิวหนังอักเสบ โรคตาแดง ไข้หวัด ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยเราเริ่มให้ความสำคัญกับการล้างมือหลังจากมีการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 เช่นเดียวกันกับประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่เห็นประโยชน์ของการล้างมือ ถึงขนาดที่เมื่อปี 2008 สหประชาชาติประกาศให้วันที่ 15 ตุลาคมของทุกปี เป็น “วันล้างมือโลก” (Global Handwashing Day) จับตา...อาคารไม่ปลอดภัย ในช่วงกว่า 1 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์ความไม่ปลอดภัยตามอาคารและตึกสูงต่างๆ ขึ้นบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นเพลิงไหม้หรืออาคารถล่ม ซึ่งสาเหตุมักเกิดจากตัวอาคารไม่ได้มาตรฐานเรื่องความปลอดภัย หรือเจ้าของอาคารและผู้รับผิดชอบขาดความเอาใจใส่ดูแล สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) สมาคมปลอดภัยไว้ก่อน และสมาคมผู้ตรวจสอบและบริหารความปลอดภัยอาคาร จึงได้จับมือร่วมกันเพื่อลดอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากอาคารที่เสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันยังคงมีอาคารที่หลบเลี่ยงการตรวจสอบการหน่วยงานของรัฐอยู่เป็นจำนวนมากโดยเฉพาะใน กทม. ทั้งที่กฎหมายกำหนดไว้ว่าอาคารต่างๆ โดยเฉพาะอาคารสาธารณะ อย่าง สถานที่ราชการ ห้างสรรพสินค้า สถานบริการต่างๆ อาคารที่เป็นลักษณะที่อยู่อาศัยรวม เช่น คอนโด หอพัก อพาร์ทเมนท์ รวมทั้งอาคารที่มีความสูงตั้งแต่ 23 เมตรขึ้นไป หรือมีพื้นที่ใช้สอยตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตร ต้องผ่านการตรวจสอบเรื่องความปลอดภัยก่อนอนุญาตให้เปิดใช้งาน ซึ่งจากสถิติการเกิดอัคคีภัยปี 2554 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) พบว่า มีอัคคีภัยเกิดในคอนโดมิเนียม สำนักงานและอาคารสูงมากกว่า 180 แห่ง ขณะที่รถดับเพลิงสำหรับอาคารสูงเกิน 10 ชั้นยังมีจำกัดและถนนของซอยที่คับแคบยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการเข้าไปช่วยเหลือ เราทุกคนสามารถช่วยกันเป็นหูเป็นตาเฝ้าระวังอาคารที่เสี่ยงอันตราย หากใครพบเห็นหรือมีข้อมูลอาคารที่ไม่ปลอดภัยสามารถแจ้งไปยังทั้ง 3 หน่วยงานได้ทันที   “ฟิลเลอร์”  เสี่ยงมากกว่าสวย ถือเป็นอุทาหรณ์เตือนใจสาวๆ ที่อยากสวยด้วยการฉีดสารต่างๆ กับกรณีของพริตตี้สาวคนหนึ่งที่เสียชีวิตจากการฉีดสารฟิลเลอร์ที่ไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีสาวๆ จำนวนไม่น้อยที่เข้าใจผิดเรื่องการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม ไม่ว่าจะเป็น ฟิลเลอร์ โบท็อกซ์ คอลลาเจน และ กลูตาไธโอน ซึ่งสารเหล่านี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อความสวยความงาม แต่ทางการแพทย์เอาไว้ใช้ในการแก้ไขความผิดปกติต่างของร่างกาย แต่กลับมีผู้ไม่หวังดีหรืออาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ลักลอบนำเข้าสารเหล่านี้มาอย่างผิดกฎหมาย แล้วนำมาฉีดให้กับผู้ที่หลงเชื่อตาคำโฆษณาว่าฉีดแล้วสวยฉีดแล้วขาว โดยที่ผู้ให้บริการส่วนใหญ่ไม่ใช่แพทย์ คณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย. ยืนยันว่าไม่มีการรับขึ้นทะเบียนยาฉีดคอลลาเจน เพราะยังไม่มีการรับรองความปลอดภัยเพื่อใช้สำหรับฉีด ขณะที่สารฟิลเลอร์ที่ขึ้นทะเบียนกับ อย.อย่างถูกต้องมีเพียงชนิดเดียว คือ สารไฮยาลูรอนิกแอซิด (Hyaluronicacid) ส่วนสารกลูตาไธโอนก็ไม่ได้มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ใดๆ ว่าช่วยทำให้ผิวขาว การฉีดสารใดๆ เข้าสู่ร่างกายเพื่อความสวยความงาม ควรเข้ารับบริการกับสถานเสริมความงามที่มีใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ในกรณีที่เกิดอาการแพ้ ทางสถานพยาบาลจะต้องรับผิดชอบดูแล ซึ่งจะมีเครื่องแพทย์และยารักษาคนไข้ได้ทันท่วงที สำหรับแพทย์ที่ทำการฉีดยาควรเป็นแพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านโครงสร้างผิวหนัง กายวิภาค เซลล์วิทยา เพราะการฉีดต้องไม่ให้กระทบเส้นเลือดหรือเส้นประสาท และปริมาณของยาต้องเหมาะสม อันตรายจากผลข้างเคียงของการฉีดสารต่างๆ เพื่อเสริมความงาม นอกจากจะทำให้กล้ามเนื้ออวัยวะส่วนที่ฉีดสารนั้นเกิดอาการอักเสบอย่างรุนแรงแล้ว ในผู้ที่แพ้มากๆ ก็อาจเกิดอาการหายใจติดขัด ความดันโลหิตต่ำ หากรักษาไม่ทัน อาจถึงขั้นเสียชีวิต เมื่อผู้บริโภคแสดงพลัง กรณี “แคลิฟอร์เนีย (ไม่) ว้าว” ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้รับเรื่องร้องเรียนจากสมาชิก “แคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส” ที่ได้รับความเสียหายจากใช้บริการ ไม่ได้รับบริการตามที่ตกลงในสัญญา เนื่องจากมีสาขาที่ปิดให้บริการเป็นจำนวนมาก จากการที่บริษัทตกอยู่ในภาวะล้มละลาย แถมยังถูกละเมิดสิทธิอย่างการไม่อนุญาตให้เขาไปใช้บริการหากไม่ยอมจ่ายเงินเพิ่มทั้งที่ไม่เคยได้ตกลงกันไว้ในสัญญา ที่สำคัญสมาชิกหลายคนชำระค่าบริการผ่านบัตรเครดิต ทำให้ถูกธนาคารหักเงินค่าบริการอย่างต่อเนื่องทุกเดือนแม้จะเข้าไปใช้บริการไม่ได้ สร้างความเดือดร้อนและความทุกข์ใจให้กับผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ซึ่งยอดผู้ร้องเรียนที่เข้ามายังมูลนิธิฯ ตั้งแต่วันที่ 21-31 ส.ค. 2555 มีจำนวนมากกว่า 500 คน รวมเป็นค่าเสียหายมากกว่า 20 ล้านบาท ซึ่งศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ก็ได้ให้การสนับสนุนสมาชิกแคลิฟอร์เนีย ว้าว ฟิตเนส เดินหน้าเพื่อเรียกร้องสิทธิของตัวเอง เริ่มตั้งแต่ทำหนังสือถึงบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอให้ดำเนินการแก้ไขปัญหากับสมาชิก โดยขอให้ทางบริษัทแจ้งกับธนาคารหรือผู้ให้บริการบัตรเครดิตให้ยุติการเรียกเก็บเงินค่าบริการผ่านบัตรเครดิตทั้งหมด โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น และสมาชิกที่ประสงค์จะยกเลิกสัญญา ขอให้ทางบริษัทคืนเงินที่ชำระไปแล้วทั้งหมดทุกกรณี ต่อด้วยการจัดเวทีสาธารณะโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ความรู้ความใจที่ถูกต้องเพื่อร่วมกันหาแนวทางในการปกป้องสิทธิ จากนั้นก็มีเข้ายื่นหนังสือต่อ นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่ดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) เพื่อให้เร่งดำเนินคดีอาญากับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ข้อหา ฉ้อโกงประชาชน พร้อมกับเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(ปคบ.) และกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ ให้ดำนานการเอาผิดกับบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว ตามกฎหมายต่อไป ต้องคอยติดตามและเอาใจช่วยกันต่อไป ว่าท้ายที่สุดแล้ว สิทธิของผู้บริโภคในเมืองไทย จะยังคงได้รับการคุ้มครองอย่างที่ควรจะเป็นอยู่หรือไม่?

อ่านเพิ่มเติม >