ฉบับที่ 96 กระแสต่างแดน

กระแสต่างแดนศศิวรรณ ปริญญาตร ผลิตภัณฑ์ไม่น่าชื่นชมแห่งปี กลับมาอีกครั้งกับการประกาศผลรางวัลผลิตภัณฑ์ยอดแย่ประจำปี 2008 โดยนิตยสาร Choice ของประเทศออสเตรเลีย ปีนี้มีตัวอย่างผลิตภัณฑ์ขำๆ มาฝากสมาชิกฉลาดซื้อกันพอเรียกน้ำย่อย ก่อนเราจะมีการประกาศรางวัลผลิตภัณฑ์ บริการ และโฆษณา ยอดเยี่ยม/ยอดแย่ของเราเองในเดือนเมษายน ดังนี้ รางวัลแรกนั้น Choice มอบให้กับผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Vodka Mudshake Original Chocolate เครื่องดื่มชนิดใหม่ รสชาติและสีสันหวานใสโดนใจวัยโจ๋ ที่กลายเป็นเครื่องดื่มยอดนิยมในหมู่เด็กหญิงออสซี่วัย 12 – 17 ปี ทั้งๆ ที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม จากการทดสอบกับวัยรุ่นอายุ 18 – 19 ปีจำนวน 78 คน พบว่าเด็กเหล่านี้เพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่รู้ว่าเครื่องดื่มรสชาติเหมือนมิลค์เชคชนิดนี้มีแอลกอฮอล์ผสมอยู่ด้วย เช่นเดียวกับเมืองไทย ออสเตรเลียไม่อนุญาตให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ซื้อเหล้า แต่ผู้ผลิตก็ยังอุตส่าห์หาวิธีขายเหล้าให้กับเด็กจนได้ ส่วนเครื่องดื่มอีกชนิดหนึ่งก็เป็นสินค้าจอมอำไม่แพ้กัน ได้แก่ น้ำวิเศษเสริมวิตามิน Glaceau Vitamin Water ที่ตั้งชื่อให้เข้าใจว่ามีส่วนประกอบของน้ำผลไม้ และหรือเป็นน้ำที่ดื่มเพื่อสุขภาพนั้น มีน้ำผลไม้จริงๆ ไม่เกินร้อยละ 1 ด้วยซ้ำ และยังมีน้ำตาลถึงหนึ่งในสามของปริมาณน้ำตาลที่ร่างกายของผู้หญิงต้องการต่อวันด้วยซ้ำ เท่านั้นไม่พอ น้ำดื่มมหัศจรรย์ที่ว่านี้ยังท้าทายอำนาจรัฐด้วยการเขียนข้อความว่า “ตามกฎหมายแล้วเราไม่สามารถใช้ข้อความที่กล่าวอ้างเกินจริงเกี่ยวกับสรรพคุณของสารอาหารในขวดนี้ได้” ว่าแล้วก็ตามด้วยข้อความเกินจริงอีกเป็นชุด   องค์กรผู้เลี้ยงไก่ อย่าง Australian Egg Corporation ก็ได้รับรางวัลยอดยี้กลับบ้านไปเช่นกัน เพราะองค์กรที่ดูแลผู้ผลิตไข่ไก่จำนวนร้อยละ 90 ของประเทศนี้ยินยอมให้ผู้ผลิตสามารถติดฉลากว่าไข่ไก่ของตนเองเป็นไข่ที่ได้จากการเลี้ยงไก่แบบฟาร์มเปิด (Free-range) ได้หน้าตาเฉย ทั้งๆ ที่ไม่ผ่านเงื่อนไขจากจะใช้ฉลาก “เลี้ยงในฟาร์มเปิด” นั้นได้ เกณฑ์ของสมาคมผู้เลี้ยงไก่ในฟาร์มเปิดของออสเตรเลียกำหนดว่า จำนวนไก่ต่อหนึ่งตารางเมตรไม่ควรเกิน 7 ตัว แต่องค์กรนี้กลับอนุญาตให้เลี้ยงได้ถึง 14 ตัว นอกจากนี้ยังอนุญาตให้มีการตัดปากไก่ และลดขนาดของโรงเลี้ยงไก่ลงด้วย เรื่องอำยังไม่หมด อุปกรณ์ทำให้ตัวแห้งหลังอาบน้ำ Aerobe Luxury Body Dryer ซึ่งทำหน้าที่คล้ายไดร์เป่าผมขนาดใหญ่ที่ติดไว้บนเพดานให้มันเป่าลมร้อนลงมา เรียกว่า ไฮโซทีเดียว แต่คุณสามารถเป็นเจ้าของมันได้ด้วยเงิน 995 เหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 24,000 บาท) และค่าติดตั้งอีก 300 เหรียญ (ประมาณ 8,400 บาท) โฆษณาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอ้างว่า มันจะช่วยลดโลกร้อน เพราะคุณไม่ต้องซักผ้าเช็ดตัวอีกต่อไป และประหยัดด้วยเพราะคุณไม่ต้องซักและปั่นแห้งผ้าเช็ดตัวสัปดาห์ละสองครั้ง อีกต่อไป แต่ทีมงานของนิตยสารลองคำนวณดูแล้วพบว่า การซักผ้าเช็ดตัวนั้นใช้พลังงานน้อยกว่าเจ้าเครื่องนี้มากทีเดียว สุดท้ายเป็นเรื่องของความรักที่ไม่สมหวังกันบ้าง เตารีดไอน้ำยี่ห้อ Cole มาพร้อมสโลแกนของแบรนด์ที่บอกว่า “แล้วคุณจะรักโคล” เป็นเตารีดที่ทีมงานของนิตยสารนี้พิสูจน์แล้วว่าประสิทธิภาพไม่น่าปลื้มที่สุด แม้ราคามันจะน่ารักอยู่บ้าง (ประมาณ 800 บาท) แต่เวลารีดแล้วไม่ลื่นไหล รอยยับรอยย่นก็ไม่หายไป แถมยังได้เพิ่มมาอีกด้วย ดังนั้นยังไงๆ คุณก็คงไม่รัก Cole แน่นอน คอนเฟิร์ม   ล้มละลายเพราะส่งลูกเรียนเรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วที่ออสเตรเลีย เมื่อสถิติระบุว่า โรงเรียนเอกชนมีการฟ้องผู้ปกครองในคดีล้มละลายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ในปีที่ผ่านมา โรเจอร์ เมนเดลสัน (ข้อมูลนี้ของบริษัทที่ทำหน้าที่ทวงหนี้ให้กับโรงเรียนเอกชนในออสเตรเลียกว่า 400 โรง) บอกว่าจะในแต่ละสัปดาห์ จะมีบ้านที่ถูกยึดไปขายใช้หนี้ให้กับโรงเรียนเอกชนประมาณ 2 -3 หลังข่าวบอกว่าโรงเรียนจำนวนไม่น้อยมีผู้ปกครองค้างค่าเล่าเรียนบุตรหลานอยู่ประมาณโรงเรียนละ 1 -2 ล้านเหรียญออสเตรเลีย (ประมาณ 23 – 46 ล้านบาท) และผู้ปกครองบางรายเป็นหนี้โรงเรียนถึง 70,000 เหรียญ ( 1.6 ล้านบาท) ทีเดียว ก่อนหน้านี้เมื่อโรงเรียนเอกชนเหล่านี้พอจะมีกำไรอยู่บ้าง ก็สามารถที่จะแบกภาระหนี้เหล่านี้ไว้ได้โดยไม่ปริปากบ่นหรือทวงใดๆ แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มถดถอยลงทุกขณะอย่างนี้ หลายๆ โรงเรียนก็เริ่มหันมาใช้มาตรการขั้นเด็ดขาดอย่างที่บอก โรเจอร์บอกว่าการจ้างบริษัททวงหนี้โดยโรงเรียนเอกชนนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกแต่อย่างใด เพราะโรงเรียนเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากบริษัท ที่ผู้บริหารต้องทำทุกอย่างเพื่อความมั่นคงทางการเงินเช่นกัน ข่าวเขาบอกว่าสปอนเซอร์รายใหญ่ของการเข้าเรียนในโรงเรียนเอกชนแพงๆ เหล่านี้ มีจำนวนไม่น้อยที่เป็นคุณตาคุณยายวัยเกษียณที่ได้รับเงินเดือนผู้สูงอายุจากรัฐ แต่ช่วงนี้ที่ลูกๆ หลานๆ ต้องลำบากกันหน่อย เพราะรัฐบาลเขาปรับลดเงินเดือนของผู้สูงอายุลงแล้วนั่นเอง ตกลงใครเมากันแน่เหตุการณ์ต่อไปนี้เกิดขึ้นบนเครื่องบินของสายการบินแอโรฟล็อต หรือสายการบินแห่งชาติของรัสเซีย ในเที่ยวบิน 315 จากมอสโควไปนิวยอร์ค ผู้โดยสารประมาณร้อยกว่าคน ยืนยันเสียงแข็งว่ายังไงก็ไม่ยอมให้กัปตันอเล็กซานเดอร์ เชพเลฟสกี นำเครื่องดังกล่าวขึ้นเด็ดขาด เพราะอะไรน่ะหรือ ก็เพราะว่าตอนที่กัปตันกล่าวทักทายผู้โดยสารและแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับเที่ยวบินดังกล่าวนั้น เขาแทบจะพูดไม่เป็นภาษา เรียกว่าผู้โดยสารงงกันทีเดียวว่าแกกำลังพูดภาษารัสเซียหรืออังกฤษกันแน่ ว่าแล้วผู้โดยสารทั้งหลายก็ลุกขึ้นมาพิทักษ์สิทธิของตนเองด้วยการขอให้เปลี่ยนกัปตันโดยด่วน ในขณะที่กัปตันคนเดิมนั้นก็ยังไม่ยอมลุกออกมาจากห้องนักบิน แต่ในที่สุดเมื่อเวลาผ่านไปครึ่งชั่วโมง กัปตันก็เดินโซซัดโซเซออกมา พร้อมกับใบหน้าและดวงตาที่แดงก่ำ แถมยังต่อรองกับผู้โดยสารว่า “ให้ผมไปด้วยเถอะนะ รับรองว่าผมจะนั่งเฉยๆ มีนักบินอีกตั้ง 3 คนที่ขับเครื่องนี้อยู่ ผมสัญญาว่าจะไม่แตะปุ่มอะไรเลยจริงๆ สาบาน” เป็นใครก็คงไม่ยอมในที่สุดสายการบินก็ยอมเปลี่ยนทีมนักบินให้ (หลังจากเวลาผ่านไปอีกสามชั่วโมง) แต่ทางบริษัทก็ยังไม่รับ “ข้อกล่าวหา” จากกลุ่มผู้โดยสารเหล่านี้อยู่นั่นเอง อีกสามสัปดาห์ต่อมา สายการบินก็ออกมาแถลงว่า กัปตันอเล็กซานเดอร์น่ะเขาไม่ได้เมานะ แต่อาจจะเพิ่งมีอาการเจ็บป่วยเฉียบพลัน ที่เกิดจากโรคเส้นเลือดสมองอุดตัน ผู้โดยสารจำนวนร้อยกว่าคนได้ยินแถลงการณ์นี้แล้วก็ได้แต่มึนว่าตกลงสายตาสองร้อยกว่าคู่นี่ดูผิดกันไปได้ถึงเพียงนั้นเชียวหรือ

อ่านเพิ่มเติม >