ฉบับที่ 213 ลูกไม้ลายสนธยา : คงจะมีรักจริงรออยู่ ที่ดินแดนใดสักแห่ง

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าสังคมมนุษย์เราปลอดซึ่งอคติทั้ง 4 อันได้แก่ รัก โลภ โกรธ และหลง ในขณะเดียวกัน สังคมที่ปราศจากอคติทั้ง 4 อันถูกเชื่อว่าเป็นแหล่งที่มาของกิเลส และเป็นวิถีปฏิบัติไปในทางที่ผิดเช่นนี้ จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะนำมาซึ่งความสุขแห่งมนุษยชาติที่แท้จริงได้หรือไม่   ในวรรณกรรมคลาสสิกของ เซอร์โธมัส มอร์ ที่เขียนไว้ตั้งแต่ศตวรรษที่ 16 ได้เคยเสนอภาพดินแดนอุดมคติซึ่งเรียกว่า “ยูโทเปีย” ที่ผู้คนมีชีวิตอยู่ดีกินดี มีระบบแห่งการแบ่งสันปันส่วนชนิดที่ไม่ต้องแก่งแย่งกัน ไม่มีร้านเหล้าหรือสิ่งอบายมุขใดๆ ผู้คนไม่ยึดติดกับวัตถุ ไม่มีความขัดแย้งและสงครามใดๆ หรือถ้าสรุปแบบง่ายๆ ยูโทเปียก็เป็นประหนึ่งรัฐในฝันที่ผู้คนอยู่กันโดยไร้อคติ แต่อาศัยศีลธรรมคุณธรรมในการดำเนินชีวิต    อย่างไรก็ดี ตามทัศนะแบบตะวันตก สังคมอุดมความสุขเช่นนี้ถือเป็นเพียงจินตนาการที่หาได้มีอยู่จริง และถูกวาดขึ้นเป็นนัยเพื่อวิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามต่อสภาวะวิกฤติที่เกิดในระบบเศรษฐกิจการเมืองของสังคมของยุคนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ยูโทเปียกับโลกจริงจึงเป็นสองดินแดนที่มีเส้นแบ่งแยกขาดจากกันอย่างชัดเจน   แต่ในทางกลับกัน หากเป็นในทัศนะแบบคนไทย เรามีมุมมองแตกต่างไปว่า โลกอุดมคติที่เหนือจริงหาใช่เป็นพรมแดนที่แยกขาดจากโลกที่มนุษย์เราใช้ชีวิตเวียนว่ายอยู่ในกิเลสโดยสิ้นเชิง ดินแดนที่แตกต่างกันทั้งสองกลับดำเนินอยู่แบบคู่ขนาน และอาจมีบางจังหวะเงื่อนไขที่ทั้งสองโลกดังกล่าวเวียนวนมาบรรจบพบกันได้   ปฏิสัมพันธ์ระหว่างโลกยูโทเปียกับโลกความเป็นจริงแบบไทยๆ ดูจะเป็นเส้นเรื่องหลักที่ถูกวางพล็อตเอาไว้ในละครโทรทัศน์แนวโรแมนติกจินตนิมิตอย่าง “ลูกไม้ลายสนธยา” ที่จำลองภาพความขัดแย้งของสังคมไทยผ่านการแก่งแย่งช่วงชิงสิทธิ์ในการถือครอง “บ้านรัชดาพิพัฒน์” อันเป็นสถานที่ซ่อนของประตูสู่อีกมิติของดินแดนอุดมคติที่เต็มไปด้วยความสุข   ในโครงเรื่องที่ผูกขึ้นของละครนั้น โลกจริงอันเป็นสถานที่ซึ่งมนุษย์เราวนว่ายอยู่ในกิเลส ถูกเรียกขานว่าเป็นดินแดน “ชมพูทวีป” ในขณะที่ภาพสมมติแทนอุดมคติยูโทเปียก็ถูกวาดขึ้นมาในชื่อของ “อุตรกุรุทวีป” โดยมีคำอธิบายตั้งแต่ต้นเรื่องว่า ในอดีตกาลนั้น สองทวีปนี้เคยมีสะพานเชื่อมข้ามมิติไปมาหากันได้ แต่เมื่อมนุษย์ในชมพูทวีปเริ่มสั่งสมบาปกรรมและความโลภโมโทสันกันจนล้นเกิน ประตูแห่งกาลที่กั้นทางเข้าอุตรกุรุทวีปจึงปิดตัวลง เพื่อมิให้มนุษย์และกิเลสต่างๆ ได้ข้ามไปแปดเปื้อนดินแดนแห่งอุดมคติดังกล่าว   แม้ยูโทเปียกับโลกจริงจะเป็นสองอาณาบริเวณที่แยกขาดจากกันในตอนต้นเรื่อง แต่พลันที่ “เหมหิรัญญ์” พระเอกหนุ่มในดินแดนอุตรกุรุทวีปเกิดมีข้อสงสัยขึ้นว่า เหตุใดชมพูทวีปทุกวันนี้จึงได้กลายสภาพเป็นที่สั่งสมไว้ซึ่งกิเลสและอคติต่างๆ และที่สำคัญ ผู้คนในทวีปแห่งนี้จะใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางอคติที่ถาโถมอยู่รอบทิศนั้นได้อย่างไร ปมปัญหาที่ละครผูกไว้กับยูโทเปียจึงได้เริ่มต้นขึ้นมา   เพราะบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นแกนกลางที่ตัวละครต่างๆ หวังจะเข้ามาครอบครอง จนนำไปสู่การเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของ “ประพิม” ผู้กำความลับเรื่องผ้าลูกไม้ลายสนธยา ในฐานะกุญแจไขไปสู่ดินแดนอุตรกุรุทวีป เหมหิรัญญ์จึงสวมวิญญาณเป็นนักวิจัยภาคสนามมาทั้งสืบเงื่อนปมการตาย และเข้าไปสังเกตการณ์ชีวิตตัวละครที่ต้องมนต์กิเลสในการถือครองคฤหาสน์หลังงามดังกล่าว   เมื่อได้ลงสนามในชมพูทวีป เหมหิรัญญ์ก็ค้นพบว่า รักโลภโกรธหลงเป็นสิ่งที่ “มี” และ “ผลิดอกออกผล” ได้ไม่สิ้นไม่สุด ไม่ว่าจะผ่านกลุ่มตัวอย่างอย่าง “นายหัววรงค์” และ “แก้วเพชร” หรือ “ทองมาตย์” และ “รัตนพรรณ” ที่ความเป็นสามีภรรยาของทั้งสองคู่ชีวิตถูกสะบั้นลงได้เพียงเพราะต้องการครอบครองบ้านหลังเดียว หรือกรณีของ “หันตรา” “ดิถี” และ “วโรชา” ที่ความรักความหลงทำให้ “ตาบอด” ขาดความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ไปจนถึง “สารวัตรทัศน์เทพ” ที่ยอมทรยศอุดมการณ์ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพียงเพื่ออำนาจและผลประโยชน์ส่วนตน   แม้ตัวละครจำนวนมากจะเป็นภาพแสดงการก่อและขยายตัวของกิเลสแห่งมนุษย์ในชมพูทวีป แต่ในอีกด้านหนึ่ง เมื่อเหมหิรัญญ์ได้มาพบกับ “เดือนพัตรา” นางเอกผู้ได้รับบ้านรัชดาพิพัฒน์เป็นมรดกสืบต่อจากคุณยายประพิมที่เสียชีวิตไป เขากลับได้คำตอบเพิ่มเติมว่า ท่ามกลางวังวนมหาสมุทรแห่งกิเลส ก็ยังมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งที่พยายามต่อสู้ทุกทางเพื่อรักษาคุณงามความดีอยู่ในมุมเล็กๆ ของความขัดแย้งแก่งแย่งกัน ซึ่งแตกต่างไปจากภาพของอุตรกุรุทวีปที่อวลอบเอาไว้ด้วยคุณธรรมความดีแต่เพียงด้านเดียว   ในโลกยูโทเปียแบบอุตรกุรุทวีปนั้น แม้จะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยความบริสุทธิ์งดงามและยึดถือความดีเป็นที่ตั้ง แต่อันที่จริงแล้ว อะไรก็ตามที่สุดขั้วไปทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นอุดมคติดีงามสุดขั้ว หรือโลภโมโทสันอย่างสุดโต่ง มันก็ช่างขัดแย้งกับวิถีคิดพื้นฐานแบบ “ทางสายกลาง” ด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้นแม้แต่ในดินแดนที่เพียบพร้อมความสุขแบบเปี่ยมล้นเอง ก็มีอีกด้านที่ผู้คนไม่เคยได้สัมผัสหรือขาดซึ่ง “ภูมิต้านทานความทุกข์” เพราะมัวแต่ “สำลักความสุข” กันเพียงอย่างเดียว   ด้วยเหตุนี้ แม้ชมพูทวีปจะเต็มไปด้วยกิเลสรอบตัว แต่การที่เดือนพัตรายังคงยืนหยัดยึดมั่นความดีเป็นสรณะท่ามกลางสิ่งเร้ารายรอบได้ เหมหิรัญญ์ก็พบว่า ความดีที่ฝ่าพายุคลื่นลมของกิเลสแบบนี้ “ดูรวมๆ แล้วมีเสน่ห์เหลือเกิน” จนทำให้เขาตกหลุมรักเดือนพัตรา และต้องการใช้ชีวิตอยู่กับเธอที่ชมพูทวีป โดยยอมรับกติกาที่ว่ายิ่งใช้ชีวิตอยู่นานเท่าใด อายุขัยของเขาก็จะลดลงไปตามกฎแห่งโลกมนุษย์    ครั้งหนึ่ง เมื่อ “ผู้กองมรุต” นายตำรวจที่ช่วยเหลือเดือนพัตราสืบเรื่องราวความตายของคุณยาย และถูกลอบทำร้ายจนต้องเข้าโรงพยาบาล ภาพที่หญิงสาวคอยปรนนิบัติดูแลผู้กองหนุ่ม ก็ทำให้เหมหิรัญญ์เข้าใจความจริงแห่งความทุกข์ และพูดกับเธอว่า “โลกของผมไม่มีการเจ็บป่วย แต่ถ้าผมรู้ว่าเวลาเจ็บป่วยแล้วมีคนมาดูแลเอาใจใส่แบบนี้ การเจ็บป่วยมันก็ดีเหมือนกัน”    ด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า “หากไม่รู้จักเจ็บปวด ก็คงไม่ซึ้งถึงความสุขใจ” นี้เอง ในท้ายที่สุด หลังจากคลี่คลายปมว่าใครคือฆาตกรที่ฆ่าคุณยายประพิม และจัดการปัญหาของบ้านรัชดาพิพัฒน์ลงได้ เหมหิรัญญ์ก็ตัดสินใจละทิ้งดินแดนอุดมคติ เพื่อมาใช้ชีวิตแบบ “ทุกข์บ้างสุขบ้าง” เคียงคู่กับเดือนพัตราที่ชมพูทวีปนั่นเอง   “ทุกข์สุขอยู่ที่ใจ” น่าจะเป็นสัจธรรมที่ถูกต้องแล้ว เพราะฉะนั้น คงไม่ต้องดิ้นรนขวนขวายให้ตนไปอยู่ในดินแดนอุดมคติยูโทเปีย หรือไม่ต้องทนวนว่ายในกระแสธารกิเลสที่เปี่ยมล้นหรอก บางทีผ้าที่มีสีขาวหรือสีดำไปด้านใดด้านหนึ่ง ก็ไม่ทำให้เราเข้าใจสีสันชีวิตแบบ “ทางสายกลาง” ได้เหมือนกับผ้าที่มี “ลูกไม้ลายสนธยา” ซึ่งมีเลื่อมลายทุกข์บ้างสุขบ้างสลับกันไป

อ่านเพิ่มเติม >