ฉบับที่ 196 ผลิตภัณฑ์ลูกสำรองสยองภัย

ข่าวการเสียชีวิตของวัยรุ่นจากการซื้อผลิตภัณฑ์แมงลักลดความอ้วนที่แอบลักลอบปนสารลดความอ้วนยังไม่ทันจางหาย ผลิตภัณฑ์ลดความอ้วนตัวใหม่ก็ผุดขึ้นมาอีก คราวนี้เป็นผลิตภัณฑ์ลูกสำรองลดน้ำหนักผมได้รับข้อมูลจาก กลุ่มงานเภสัชกรรมฯ รพ.ปทุมราชวงศา จังหวัดอำนาจเจริญว่า ในช่วงนี้พบผู้บริโภคในพื้นที่นิยมซื้อ ผลิตภัณฑ์ “ลูกสำรองลดน้ำหนัก สารสกัดธรรมชาติ” ที่จำหน่ายผ่านทางเฟซบุ๊ค มารับประทาน โดยการโฆษณา ได้แสดงข้อความในทำนองว่าสินค้าชนิดนี้ มีเลข อย. ใช้ได้ดี  น้ำหนักลด 5 กก. ภายใน 1 สัปดาห์ และที่สำคัญจะไม่มีภาวะโยโย่เอฟเฟค ( ภาวะน้ำหนักขึ้นหลังหยุดรับประทาน)  และเนื่องจากมีการโฆษณาว่าเป็นสมุนไพร สารสกัดจากธรรมชาติ  ทำให้ทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียนหลายรายหลงเชื่อซื้อมารับประทาน ต่อมาพบว่า มีผู้บริโภค (ทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียน)  รับประทานแล้วมีอาการใจสั่น เหนื่อยอ่อนเพลีย จึงร้องเรียนมายังเจ้าหน้าที่จากการลงพื้นที่เพื่อติดตามข้อมูล เจ้าหน้าที่พบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าว แสดงฉลาก  LUK- SAM –RONG “ลูกสำรองลดน้ำหนัก” สารสกัดธรรมชาติ  มีการระบุเลขสารบบอาหาร (หรือที่เรียกกันว่า เลข อย) ระบุว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาในประเทศ โดยมีบริษัทจัดจำหน่ายตั้งอยู่ที่อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี  ราคาจำหน่ายแผงละ 200 บาท เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ดังกล่าวส่งตรวจศูนย์วิทยาศาสตร์ จังหวัดอุบลราชธานี ผลการตรวจพบว่ามี “ยาที่อาจก่อให้เกิดอันตรายผสมอยู่” คือ ยา Silbutamine (ยาลดความอ้วน) และ ยา Fluoxetine (ยารักษาอาการซึมเศร้าที่ผลข้างเคียงทำให้ไม่อยากอาหาร) เจ้าหน้าที่จึงได้ประสานไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี เพื่อขอความร่วมมือให้ติดตามตรวจสอบบริษัทจัดจำหน่าย ตามที่อยู่ที่ระบุบนฉลาก  ผลปรากฏว่าสถานที่ดังกล่าว ไม่ได้ดำเนินกิจการเกี่ยวกับการนำเข้าอาหารแต่อย่างใด และเลขสารบบอาหาร (เลข อย) ที่ปรากฏบนฉลากนั้นก็ยกเลิกไปนานแล้ว  ต่อมากลุ่มงานเภสัชกรรมฯ รพ.ปทุมราชวงศา ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่อง  พบว่า ยังมีผู้บริโภคซื้อผลิตภัณฑ์“ลูกสำรองลดน้ำหนัก” มารับประทานอีก โดยผู้บริโภคที่ซื้อมารับประทานได้เอาผลิตภัณฑ์ มาให้เจ้าหน้าที่ดู และบอกว่าแม้ฉลากจะเหมือนเดิม แต่ก็เป็นผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ เพราะ เลข อย. เป็นหมายเลขใหม่(ผู้ผลิตนำ เลข อย.ใหม่มาปิดทับหมายเลข อย.เดิม) เจ้าหน้าที่จึงได้เก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์ฯดังกล่าวส่งตรวจวิเคราะห์อีกครั้ง ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ ยังคงพบ Sibutamine เหมือนครั้งแรก  ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่ได้ประสานงานกับเครือข่ายต่างๆ ในการสืบหาแหล่งต้นตอเพื่อดำเนินคดีต่อไปจะเห็นได้ว่า ผลิตภัณฑ์พวกนี้มักจะอาศัยเครื่องหมาย อย.มาสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค แต่สิ่งที่ผู้บริโภคต้องจำให้แม่นคือ “ผลิตภัณฑ์ที่แสดงเครื่องหมาย อย. คือผลิตภัณฑ์อาหาร ไม่สามารถรักษา หรือป้องกันโรคได้ รวมทั้งไม่สามารถลดความอ้วนได้” ดังนั้น หากเจอผลิตภัณฑ์ที่อ้างผลในลักษณะนี้เมื่อไหร่ “อย่าหลงเชื่อ อย่านำมาจำหน่าย” ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยด่วนที่สุดครับ

อ่านเพิ่มเติม >