ฉบับที่ 275 ความเคลื่อนไหวเดือนมกราคม 2567

ร้องเรียน 9,218 เรื่อง ปัญหามลพิษ ปี 2566        อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) เผยมีประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหามลพิษในปี 2566 เข้ามากว่า 9,218 เรื่อง ผ่านช่องทางต่างๆ รวมถึงสายด่วน 1650 โดยพบว่าจำนวน 8,043 เรื่อง เป็นกรณีเหตุรำคาญต่างๆ โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้ให้คำแนะนำเบื้องต้นแก่ผู้ร้องเรียนและแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบและแก้ไขปัญหา อีก 1,175 เรื่อง ทางกรมควบคุมมลพิษดำเนินการเอง ส่วนใหญ่แหล่งกำเนิดมลพิษ คือ โรงงานอุตสาหกรรม อาคารประเภทต่างๆ การเลี้ยงสุกร โดยได้รับการแก้ไขแล้วกว่า 836 เรื่อง         ทั้งนี้ ประเด็นที่พบมากที่สุด ได้แก่ 1. ปัญหากลิ่นเหม็น  2. ปัญหาฝุ่นละออง-เขม่าควัน และ 3. เสียงดัง-เสียงรบกวน   ผลิต-เผยแพร่สื่อลามกด้วย AI ระวังโทษคุก 5 ปี                    สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เตือนภัยว่า ปัจจุบันมีกลุ่มมิจฉาชีพนำเทคโนโลยี AI มาใช้สร้างเนื้อหาปลอมเพื่อใช้ในการฉ้อโกงสร้างความเสียหายให้กับประชาชน รวมถึงผลิตสื่อลามกอนาจาร โดยมักนำภาพของบุคคลมีชื่อเสียง เช่น ดารา นักแสดง นักร้อง มาใช้เป็นใบหน้าตัวอย่างและสร้างคลิปลามกแล้วนำไปเผยแพร่หรือจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ทางออนไลน์ ประชาชนต้องระวังต่อภัยดังกล่าว ทั้งนี้ฝากเตือนถึงผู้ที่ผลิตและเผยแพร่สื่อลามกปลอมด้วย AI  ดังกล่าวนั้น จะถือว่าเข้าข่ายความผิดทางอาญาถึง 6 ฐานความผิด ระวางโทษสูงสุดจำคุก 5 ปี ปรับสูงสุดถึง 200,000 บาท ระวัง! ไลน์ปลอม ก.ล.ต. อ้างเป็นที่ปรึกษาด้านการลงทุน         จากกรณีพบบัญชีไลน์แอบอ้างเป็น “ที่ปรึกษาด้านการลงทุน ภายใต้สำนักงาน ก.ล.ต.” นั้น   ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ทำการตรวจสอบถึงกรณีดังกล่าวแล้ว และได้ทำการชี้แจ้งว่า บัญชีไลน์ที่ว่ามีการปลอมแปลงและแอบอ้างการใช้โลโก้ของหน่วยงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งผู้ที่ได้รับข้อมูลอาจเข้าใจผิดและหลงเชื่อเข้าลงทุนจนเกิดความเสียหาย  ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่างหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว พร้อมทั้ง ไม่แชร์หรือส่งต่อข้อมูลดังกล่าวด้วย ลูกชิ้นเถื่อน         กองบังคับการปราบปรามการ กระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เข้าตรวจค้นพื้นที่ ม.4 ต.ลาดสวาย อ.ลำลูกกา จ.ปทุมธานี หลังพบว่ามีการใช้สถานที่ดังกล่าวในการผลิตและจัดส่งจำหน่ายลูกชิ้นไม่ถูกสุขอนามัย ไปในพื้นที่ใกล้เคียง เจ้าหน้าที่ได้ตรวจยึดลูกชิ้นกว่า 2,400 ถุง พร้อมอุปกรณ์เครื่องจักร บรรจุภัณฑ์ และส่วนผสมต่างๆ กว่า 31 รายการ พร้อมนำตัวอย่างส่งตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป นอกจากนี้ ลูกชิ้นที่พบมีทั้งมียี่ห้อและไม่มียี่ห้อรวม 9 รายการ ดังนี้ 1.ลูกชิ้นหมูตราตี๋ใหญ่  2.ลูกชิ้นหมูเมืองทอง ตราโกดี KODEE  3. ลูกชิ้นหมูเมืองทองตราที.เค  4.ลูกชิ้นหมูตราตี๋เล็ก  5.ลูกชิ้นเนื้อตราตี๋ใหญ่  6.ลูกชิ้นเนื้อ ตรา เฮง 7.ลูกชิ้นเนื้อตราเมืองเอก 8.ลูกชิ้นหมู AR  9. ชาย 2 ลูกชิ้นหมู         ทั้งนี้  การกระทำดังกล่าวถือว่าเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ฐาน “ผลิตอาหารไม่บริสุทธิ์” ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ  มพบ. จี้ ขสมก. ตอบคำถาม “ทำไมรถต่างสี ราคาต่างกัน” ย้ำ นโยบายปฎิรูปรถเมล์ ให้คำนึงถึงผู้ใช้บริการ         16 มกราคม 67 จากกรณีรถยูโรทู "สายปฏิรูป" เปลี่ยนเลขสายใหม่ พร้อมทั้งกำหนดให้ผู้เดินรถที่ได้สัมปทานโครงการปฏิรูปเอาเลขสายใหม่ไปใช้และเก็บค่าโดยสารเพิ่มอีก 1 บาท (แพงกว่าเดิม) โดยเก็บจากราคา "อัตราขั้นสูง" ตามที่กรมการขนส่งทางบกได้กำหนดไว้ในตารางค่าโดยสาร (ทำให้การลดอัตราค่าโดยสารทำได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของอัตราขั้นสูง) เปิดช่องให้ผู้เดินรถเลือกที่จะเก็บค่าโดยสารตามอัตราขั้นสูงหรือหากจะลดราคาก็ให้ไม่เกิน 20 เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับทาง ขสมก. ทั้งนี้เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ประกาศแจ้งให้ผู้โดยสารรับรู้ล่วงหน้าสำหรับการขึ้นราคาครั้งนี้ จึงทำให้เกิดกระแสสังคมจากผู้บริโภคในเชิงตำหนิต่างๆ นั้น         นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “มูลนิธิฯ ขอเป็นตัวแทนผู้บริโภคตั้งคำถามไปถึง ขสมก. ที่ต้องตอบให้ชัดว่า รถต่างสี ทำไมต้องเก็บราคาค่าโดยสารต่างกัน และ การเปลี่ยนเลขหมายรถนั้นมีเหตุผลอย่างไร อะไรที่เป็นเหตุต้องปรับงขึ้นราคาค่ารถ โดยไม่แจ้งผู้โดยสารล่วงหน้า” มูลนิธิฯ ขอเรียกร้องให้กรมการขนส่งทางบก ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล ตรวจสอบและแก้ไขปัญหากรณีดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้โดยสาร เพราะนโยบายการ “ปฎิรูปรถเมล์” ของกรมการขนส่ง ควรคำนึงถึงผู้ใช้บริการให้มีรถเมล์บริการอย่างทั่วถึงและลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน โดยเฉพาะ ขสมก. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องให้บริการรถที่มีคุณภาพและคิดค่าบริการที่ราคาเป็นธรรม

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 131 กระแสในประเทศ

 ประมวลเหตุการณ์เดือนธันวาคม 2554 สวยด้วยแพทย์...ก็ยังมีเสี่ยง ใครที่อยาก “สวยด้วยแพทย์” ต้องอ่านข่าวนี้ให้ดีๆ เมื่อคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ร่วมกับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก. คปภ.) ได้ตรวจยึดผลิตภัณฑ์สำหรับเสริมความงามที่นำเข้าอย่างผิดกฎหมายและไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับ อย. ภายในพงศักด์คลินิก สำนักงานใหญ่ใน จ.ระยอง ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ตรวจยึดได้ล้วนเป็นสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็น  ยาฉีดโบท็อกซ์ , ยาฉีดฟิลเลอร์ เสริมจมูก เสริมคาง, ยาฉีดกลูตาไธโอน, ยาฉีดพลาเซนต้า หรือรกแกะ, ยาฉีดแอลคานีทีน และยาฉีดวิตามินซีผสมคอลลาเจล นอกจากนี้ยังมียาลดความอ้วน รวมทั้งเครื่องมือแพทย์ที่ใช้ในการเสริมความงาม เช่น เครื่องนวดเย็น เครื่องสลายไขมัน เครื่องยิงเลเซอร์ รวมมูลค่าสินค่าทั้งหมดกว่า 20 ล้านบาท อย.ฝากเตือนและขอความร่วมมือไปยังคลินิกเสริมความงามทั้งหลาย อย่าใช้ยาหรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจาก อย. เพราะจะทำให้เกิดอันตรายกับผู้ที่มาใช้บริการอย่างที่เคยเห็นเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ อย่างกรณีการฉีดฟิลเลอร์ที่ว่าสามารถช่วยเรื่องริ้วรอยบนใบหน้านั้น เคยมีข้อมูลจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทยว่า เมื่อปี 2554 ที่ผ่านมาว่า มีผู้ที่ได้รับผลร้ายข้างเคียงจากการฉีดฟิลเลอร์จนทำให้ตาบอดจำนวนถึง 3 คน นอกจากนี้ฟิลเลอร์ยังอาจมีผลต่อสมองในระยะยาว หากฉีดในปริมาณมากหรือฉีดไม่ถูกวิธี คนที่อยากจะสวยทางลัดต้องศึกษาข้อมูลให้ดี ว่าการเสริมความงามแต่ละประเภทมีผลเสียหรือผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง ความน่าเชื่อถือของสถานบริการมากน้อยแค่ไหน และเรื่องผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ต้องให้แน่ใจว่าได้รับรองจากทาง อย.--------------------   ชอบใส่กางเกงฟิตมีสิทธิปวดหลัง ตอนนี้แฟชั่นกางเกงรัดรูป ไม่ว่าจะเป็นกางเกงขาเดฟ สกินนี่ หรือเลกกิ้ง กำลังได้รับความนิยม ฮิตใส่ทั้งหนุ่มๆ และสาวๆ แต่ความสวยความเท่ก็อาจกลายเป็นผลเสียต่อสุขภาพ เมื่อคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอผลการวิจัยที่น่าสนใจในหัวข้อที่ว่า “การสวมกางเกงขายาวแบบรัดรูปมีผลต่อองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังส่วนเอวและการทำงานของกล้ามเนื้อลำตัว” ซึ่งข้อมูลจากการวิจัยพบว่า ขณะนี้มีวัยรุ่นในภาคอีสานกว่า 80% เป็นโรคปวดหลัง โดยส่วนใหญ่นิยมนุ่งกางเกงรัดรูปเอวต่ำ สำหรับวิธีการศึกษาในครั้งนี้ทำโดย ให้อาสาสมัครทำกิจกรรม 3 ประเภท คือ การนั่งยองๆ แล้วทำกิจกรรมต่างๆ การลองให้ยกของขึ้นจากพื้น และการนั่งเอื้อมมือไปหยิบวัตถุที่อยู่ด้านหน้า โดยใส่กางเกงขายาวแบบรัดรูป เทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย โดยอาสาสมัครจะได้รับการวัดองศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวและวัดศักย์ไฟฟ้าของกล้ามเนื้อลำตัวไปพร้อมกัน เพื่อเปรียบเทียบผลระหว่างกางเกงขายาวทั้งสองแบบ ซึ่งกางเกงขายาวแบบรัดรูป จะจำกัดการเคลื่อนไหวของข้อสะโพก ส่งผลให้องศาการเคลื่อนไหวของกระดูกสันหลังระดับเอวเพิ่มมากขึ้นกว่าปกติ การทำงานของกล้ามเนื้อหลังลดลง และทำให้ผู้สวมใส่เกิดความไม่สบายที่บริเวณหลังส่วนล่าง เมื่อเปรียบเทียบกับกางเกงขายาวแบบสวมใส่สบาย ------------------------------------------------   ลูกชิ้น (ต้อง) ไร้สารกันบูด คนที่ชอบลูกชิ้นรู้กันหรือยังว่า ลูกชิ้นที่เรากินกันอยู่ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเนื้อ ลูกชิ้นไก่ ฯลฯ ถูก อย. ประกาศให้เป็นอาหารที่ห้ามใช้สารกันบูด(เว้นแต่ขออนุญาตก่อน) แต่ก็ยังมีผู้ผลิตบางรายที่ยังคงใส่สารกันบูดในลูกชิ้น จากการสำรวจตลาดของ อย. พบลูกชิ้นยี่ห้อ “หมูสยาม” มีวัตถุกันเสียชนิดกรดเบนโซอิกใน 3 ตัวอย่าง คือ ลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว พบกรดเบนโซอิกปริมาณ 3,745, 4,731 และ 4,770 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมตามลำดับ “หมูสยาม” ทั้งลูกชิ้นเอ็นหมู และลูกชิ้นเนื้อวัว จึงเป็นผลิตภัณฑ์อาหารที่ไม่ปลอดภัย ซึ่งทาง อย. ได้ทำการลงโทษผู้ผลิต ระงับการผลิต และเรียกคืนผลิตภัณฑ์ทั้งหมดออกจากตลาดแล้ว------------------- “ตัดสัญญาณ คิดเงินผิด โทรไม่ติด” ปัญหา (ที่ยัง) ยอดฮิตของคนใช้โทรศัพท์นพ. ประวิทย์ ลี่สถาพรวง กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยผลการร้องเรียนของผู้บริโภค ในปี 2554 ซึ่งมีจำนวนเรื่องร้องเรียนรวมทั้งสิ้น 4,615 เรื่อง เข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหาแล้ว 2,077 เรื่อง คิดเป็น 45% ของเรื่องร้องเรียนทั้งหมด ดำเนินการแก้ไขปัญหาแล้วเสร็จจำนวน 1,627 เรื่อง แบ่งเป็นเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับโทรศัพท์เคลื่อนที่ 75% อินเตอร์เน็ต 19% โทรศัพท์พื้นฐาน 3.9% โทรศัพท์สาธารณะ 2.1% บริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์ทั้ง เอไอเอส ดีแทค ทรูมูฟ และ ฮัทช์ ต่างก็ได้รับการร้องเรียนในหลายๆ เรื่อง ที่มากที่สุดคือ การกำหนดระยะเวลาของบัตรเติมเงินที่ไม่เป็นธรรม นอกจากนี้ยังมีเรื่อง คิดค่าบริการผิดพลาด และมาตรฐานการให้บริการ เช่น สัญญาณไม่ดี ไม่ชัด หลุดบ่อย ปัญหาเกี่ยวกับการใช้บริการคงสิทธิเลขหมาย ถูกระงับบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้า ถูกยึดเลขหมายแล้วนำไปจำหน่ายให้ผู้บริโภครายใหม่ก่อนครบ 180 วัน ไม่สามารถใช้บริการที่สมัครได้ เปลี่ยนเงื่อนไขบริการโดยไม่แจ้งให้ทราบล่วงหน้าใครที่มีปัญหาเรื่องบริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือและอินเตอร์เน็ต สามารถติดต่อสอบถามไปยั งบริการ Call Center ของแต่ละค่ายผู้ให้บริการ หรือที่ กสทช. โทร.1200-----------------------------------------------------------------------   สรุปปัญหาผู้บริโภค ปี 54ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้สรุปสถานการณ์เรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคในปี 2554 ที่ผ่านมา โดยมีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ทั้งสิ้น 895 กรณี และยังมีการร้องเรียนผ่านเครือข่ายผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคอีกจำนวนหนึ่ง โดยปัญหาหลักๆ ที่มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามาเป็นจำนวนมาก ยังคงหนีไม่พ้นปัญหาหนี้บัตรเครดิต ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาเรื่องผลิตภัณฑ์อาหาร และปัญหาด้านการบริการสุขภาพและสาธารณสุข ปัญหาด้านการเงินการธนาคาร หลักๆ จะเป็นเรื่องหนี้บัตรเครดิต มีตั้งแต่ปัญหาเรื่องใบแจ้งหนี้ ที่บางบริษัทมีแต่ภาษาอังกฤษ ไม่แสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่สามารถตรวจสอบได้ เหมือนจงใจให้ผู้บริโภคเกิดความสับสน นอกจากนี้ผู้บริโภคมักจะถูกเชิญชวนกึ่งบังคับให้ทำประกันแบบคุ้มครองหนี้สินแต่ไม่มีค่าสินไหมตอบแทน และการหลอกล่อให้ผ่อนชำระเงินหนี้บัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำ ทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยในอัตราที่สูง ปัญหาด้านสินค้าและบริการ ปัญหาด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหาร ยังคงเป็นเรื่องของประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าและบริการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นความไม่ชัดเจนของข้อมูลบนฉลากที่อ่านยากหรือไม่มีข้อมูลภาษาไทย ด้านการบริการก็มักขาดความจริงใจหรือเอาเปรียบผู้บริโภค ส่วนปัญหาด้านบริการสุขภาพ หนีไม่พ้นเรื่องการขาดมาตรฐานในการรักษาพยาบาล ซึ่งเกิดจากการที่มีการแบ่งสิทธิการรักษาพยาบาลออกเป็นหลายประเภท ทั้งระบบประกันสังคม ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง และระบบเฉพาะสำหรับข้าราชการ กลายเป็นปัญหาโดยเฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนบางแห่งไม่ให้ความสำคัญกับผู้ป่วยที่ใช้บัตรประกันสุขภาพ นอกจากนี้โรงพยาบาลเอกชนบางแห่งยังมีการโยกย้ายสิทธิของผู้ใช้บริการโดยไม่มีการแจ้งให้ทราบ ด้านการฟ้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคนั้น ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ได้ให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในเรื่องการฟ้องคดี ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และคดีผู้บริโภค โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุรถโดยสาร ซึ่งปี 54 ที่ผ่านมามีการฟ้องร้องทั้งสิ้น 124 คดี ผลคดีสิ้นสุดแล้ว 108 คดี สามารถเรียกร้องค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายได้ทั้งสิ้น 27,244,803.39 บาท จากปัญหาต่างๆ ที่พบทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคมีข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพด้านการฟ้องคดีของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคให้มีข้อมูลและรู้เท่าทันการถูกเอารัดเอาเปรียบ ซึ่งเชื่อว่าถ้าหากมีองค์การอิสระผู้บริโภค จะสามารถทำหน้าที่ทั้งเผยแพร่ข้อมูล ให้ความเห็น และเสนอแนะแนวทางในการหาทางออกให้กับผู้บริโภคได้ นอกจากนี้ควรมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภค ปรับปรุงพัฒนากฎหมายที่มีอยู่ในสอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน ที่สำคัญต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคให้มากที่สุด--------------------

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 109 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกุมภาพันธ์ 25533 กุมภาพันธ์ 53กินยาแก้ไอเล่นอาจถึงตายจากกรณีที่นักเรียนชั้นมัธยมกว่า 80 คน ถูกหามส่ง ร.พ. หลังเกิดอาเจียนจนหมดสติ เนื่องจากรับประทานยาแก้ไอที่ซื้อจากร้านเกมเพราะเชื่อกันว่ากินไปแล้วครูตีไม่เจ็บนั้น กระทรวงสาธารณสุข และอย. ได้ออกมาชี้แจงว่า ยาแก้ไอนี้มีชื่อสามัญว่า เดกโทเมโทรแฟน (Dextromethorphan) เป็นยาที่มีผลต่อระบบประสาท ซึ่งมีผลทำให้หัวใจเต้นเร็ว ปกติไม่ควรกินเกินครั้งละ 2 เม็ด ถ้ากินมากเกินไปอาจทำให้คลื่นไส้อาเจียน กดระบบทางเดินหายใจ ความดันลดลงและเกิดอาจถึงขั้นช็อค ยานี้อนุญาตให้ขายในร้านยาที่มีใบอนุญาตให้ขายเท่านั้น หากซื้อจากร้านเกมจริงถือว่าผิดกฎหมาย ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 22 กุมภาพันธ์ 53ลูกชิ้นปลาเรืองแสง เกิดกระแสข่าว “ปริศนาลูกชิ้นปลาเรืองแสง” ซึ่งเป็นที่ฮือฮามาก หลังมีผู้นำมาร้องเรียนกับ นสพ.เดลินิวส์ ส่งผลให้ทางกระทรวงสาธารณสุขรีบเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลาส่งเข้าทดสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง พบว่า ลูกชิ้นปลามีการปนเปื้อนของแบคทีเรียลูมิเนสเซนท์ แนะนำให้กินแบบทำสุกแล้วเท่านั้น จากการเก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลาจำนวน 28 ตัวอย่าง พบมีสารเรืองแสงเฉพาะลูกชิ้นที่ผลิตจากโรงงานแห่งหนึ่งในจ.สมุทรสาครเพียงตัวอย่างเดียวโดยตรวจพบเชื้อแบคทีเรียในกลุ่ม ลูมิเนสเซนท์ (Luminescence) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดการเรืองแสงได้ แบคทีเรียนี้พบได้ในน้ำทะเล ส่วนสาเหตุของการปนเปื้อนอาจเกิดได้ในขั้นตอนการผลิต ทั้งจากวัตถุดิบ เครื่องมือและจากคน รวมถึงในช่วงการเก็บรักษาระหว่างขนส่งและรอจำหน่าย โดยเฉพาะถ้าเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม (มากกว่า 4 องศา) ก็มีโอกาสที่แบคทีเรียจะขยายตัวอย่างรวดเร็ว แนะนำว่าในการรับประทานลูกชิ้นปลา คือควรลวกน้ำร้อนก่อนที่จะนำมารับประทาน หรือทำให้สุกด้วยวิธีการอื่นก่อนรับประทาน เพื่อเป็นการฆ่าเชื้อโรคไม่ว่าจะชนิดใดก็ตาม ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ 23 ก.พ. 53น้ำประปาเลิกฟรี แต่ไฟฟ้า รถเมล์ รถไฟ ให้อีก 3 เดือน แม้สถานการณ์การเมืองจะเคร่งเครียด แต่ผู้บริโภคยังพอมีเรื่องให้ยิ้มได้ เมื่อรัฐบาลยังใจดีไฟเขียวให้ประชาชนได้ใช้บริการไฟฟ้า รถเมล์ และรถไฟ ฟรีต่อไปอีก 3 เดือน ยกเว้นค่าน้ำประปาที่ต่อจากนี้ไปต้องกลับมาเสียเงินตามปกติ ค่าไฟฟ้าฟรี ค่ารถเมล์ฟรี รถไฟฟรี จากเดิมจะสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม 2553 รัฐบาลขยายไปสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ส่วนมาตรการค่าน้ำฟรีนั้นให้สิ้นสุดในวันที่ 31 มี.ค. 2553 สาเหตุที่คงมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนไว้ 3 มาตรการ เพราะเป็นมาตรการที่ช่วยลดภาระค่าครองชีพประชาชนผู้มีรายได้ต่ำได้จริง และมีประชาชนจำนวนมากได้ประโยชน์โดยเฉพาะมาตรการใช้ไฟฟ้าฟรี +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ผู้บริโภควอนรัฐฯ ยืดเวลามาตรการกระตุ้นอสังหาฯจากกรณีที่คณะรัฐมนตรี มีมติไม่ต่ออายุมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 28 มีนาคมนี้ ทำให้ค่าธรรมเนียมการโอนขึ้นจาก 0.01% เป็น 2% ค่าจดจำนองจาก 0.01% เป็น 1%และภาษีธุรกิจเฉพาะจาก 0.01% เป็น 3.3% ส่งผลให้ผู้ที่กำลังจะซื้อบ้านและคอนโดฯ ต้องรับภาระค่าธรรมเนียมการโอนและค่าจดจำนองเป็นจำนวนเงินที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนเงินหลายหมื่นบาท ซึ่งตอนที่ตัดสินใจซื้อเป็นตอนก่อนที่จะมีการประกาศมาตรการดังกล่าว รวมทั้งผู้ประกอบการบ้านและดอนโคฯ บางโครงการไม่ได้แจ้งเรื่องดังกล่าวแก่ผู้บริโภค น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า เรื่องสัญญาการเช่าซื้อและโอนอสังหาริมทรัพย์แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ในส่วนความรับผิดชอบของลูกค้า และผู้ประกอบการซึ่งต้องรับผิดชอบกันคนละครึ่ง การจ่ายเงินค่าโอน ค่าจำนอง หรือค่าอื่นๆ นั้น ต้องมีการเขียนในสัญญาที่ชัดเจน ส่วนความเห็นในเรื่องการยกเลิกมาตรการดังกล่าวเห็นว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะมาตรการดังกล่าวใช้ในช่วงที่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งปรับลดนู่นนี่เพื่อจูงใจให้คนมาซื้อบ้านและคอนโดฯ กันเยอะๆ แต่พอจะมาประกาศยกเลิกก็ยกเลิกแบบกะทันหัน ทำให้ผู้ที่ตัดสินใจซื้อในตอนแรกมีปัญหา ซึ่งอยากให้แนะนำให้คนที่ได้รับผลกระทบในเรื่องนี้ออกมาร้องเรียนกับภาครัฐฯ ทางด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวว่า “มติดังกล่าวเป็นการประกาศที่รวดเร็วเกินไป ผู้บริโภคตั้งตัวไม่ทัน อย่างคนที่วางเงินดาวน์แล้ว ก็ถอนคืนไม่ได้ ต้องเสียเงินเพิ่ม กู้แบงก์ก็ไม่ทันแล้ว รัฐบาลต้องเร่งสำรวจปัญหาอย่างถ่องแท้ไม่ว่าจะเป็นของผู้บริโภค ผู้ประกอบการ ซึ่งถ้าพบปัญหาความเดือดร้อน ก็ให้ทบทวนมติ ครม. อาจจะโดยการเลื่อนระยะเวลาออกไปอีก พร้อมกับแจ้งประชาสัมพันธ์ประชาชนให้เข้าใจตรงกัน ซึ่งน่าจะเลื่อนไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน” ++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++ ร่วมค้านหลักสูตรแพทย์อินเตอร์ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภค เครือข่ายผู้ป่วย และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสุขภาพ ออกแถลงการณ์เรียกร้องกระทรวงสาธารณสุขแก้กฎหมายให้มีตัวแทนจากบุคคลภายนอกเป็นคณะกรรมการแพทยสภา เพราะการมีเฉพาะผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์ทำให้ขาดความเข้าใจสังคม เอื้อประโยชน์ รพ.เอกชน และโดยเฉพาะคณะกรรมการที่เป็นเจ้าของและผู้บริหารของ รพ.เอกชนเป็นกรรมการตัดสินใจ จากการแพทยสภาได้รับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์ภาษาอังกฤษ (English program) ของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเป็นหลักสูตรที่ก่อให้เกิดประโยชน์โดยที่สภามหาวิทยาลัยยังไม่อนุมัติหลักสูตรดังกล่าว เป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ เพราะไม่ได้เป็นเรื่องส่งเสริมคุณภาพและปริมาณของแพทย์ในประเทศไทย แต่เมื่อมีผู้เรียนมากขึ้นแถมยังกำหนดให้ได้เรียนกับอาจารย์ตั้งแต่ระดับรองศาสตราจารย์ขึ้นไป เท่ากับว่าเป็นการเปิดโอกาสให้กับคนรวยเท่านั้น เนื่องจากต้องใช้เงินไม่น้อยกว่า 7 ล้านบาทในการเรียนแพทย์หลักสูตรนี้ ดังนั้นกระทบกับหลักสูตรปกติที่ให้โอกาสทุกคนในการเข้าเรียนแน่นอน การอ้างว่า คณะที่จะดำเนินการเปิดสอนหลักสูตรได้จะต้องได้รับอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัยของตน ซึ่งไม่อยู่ในอำนาจของแพทยสภา เป็นการปัดความรับผิดชอบ เพราะแพทยสภาควรเสนอให้คณะแพทย์ มศว. ขอความเห็นชอบหลักสูตรจากมหาวิทยาลัยก่อน เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการเรียน รวมถึงรายละเอียดเรื่อง ค่าเทอม การจัดการและความพร้อม ตลอดจนกำหนดการเปิดรับนักศึกษาเป็นต้น ไม่ใช่ทำผิดขั้นตอนโดยเห็นชอบข้อเสนอจากคณะแพทย์โดยตรงทั้งที่ยังไม่ผ่านสภามหาวิทยาลัย ตาม พ.ร.บ.ประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ตามมาตรา 7 (5) แพทยสภามีวัตถุประสงค์ในการให้คำแนะนำแก่รัฐในประเด็นสุขภาพและปัญหาทางการแพทย์ ดังนั้นการให้ข่าวของแพทยสภาที่อ้างว่า แพทยสภาไม่ได้มีหน้าที่ในด้านนโยบาย medical hub และแพทย์ต่างชาติ เพราะเป็นเรื่องของนโยบายของรัฐบาลที่ต้องรับผิดชอบนั้น ไม่เป็นจริงเพราะแพทยสภามีหน้าที่โดยตรงในการให้คำแนะนำเรื่องนี้ และสะท้อนให้เห็นว่าการตัดสินใจขาดความเข้าใจในวัตถุประสงค์ของตนเองและผลประโยชน์สาธารณะขัดต่อเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ม.61 ทำให้เกิดความเสียหายต่อสังคมและกระทบต่อการผลิตแพทย์ในหลักสูตรปกติ องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายเอกชนด้านสุขภาพและผู้ป่วย จึงขอเรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งแก้ไขกฎหมายประกอบวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525 ให้คณะกรรมการแพทยสภามีบุคคลภายนอก ดังเช่นกรรมการแพทยสภาในหลายประเทศที่มีบุคคลอื่นที่ไม่ใช่แพทย์เป็นกรรมการมากถึง 50 % เพราะการตัดสินใจของแพทยสภาเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของสังคมกระทบต่อสาธารณะ เกี่ยวข้องกับบริการสาธารณสุขที่เป็นบริการจำเป็นพื้นฐานของทุกคน ดังนั้นจึงต้องโปร่งใส มีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง และมีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วมพิจารณา ด้วยเหตุว่าสการผลิตแพทย์หลักสูตรภาษาอังกฤษนี้ หากพิจารณาให้ดีก็เหมือนการเตรียมการตอบสนองโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ของอาเซียน (Medical Hub) นั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 110 ‘สารกันบูด’ สูตรอร่อยเสี่ยงในลูกชิ้น

ลูกชิ้น หนึ่งในอาหารยอดนิยม ทั้งกินเล่นกินจริง นำไปปรุงเป็นอาหารต่างๆ ได้หลายเมนู ทั้งใส่ ก๋วยเตี๋ยว ปิ้ง ทอด หรือยำลูกชิ้นก็มี ลูกชิ้นมีขายทั่วไปทั้งหน้าโรงเรียน หน้าปากซอย ตลาดสด ร้านสะดวกซื้อ ซูเปอร์มาเก็ตในห้างสรรพสินค้า และห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ ด้วยความหลากหลายในการนำไปประกอบอาหารนี้เอง ทำให้โครงการพัฒนากลไกการเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหารสนใจและอยากรู้ว่าจะมีการปนเปื้อนอะไรบ้างในลูกชิ้น ทางโครงการฯ ร่วมกับนิตยสารฉลาดซื้อ และพื้นที่ดำเนินงานอีก 7 จังหวัด ของโครงการพัฒนากลไก ฯ จึงได้ดำเนินการเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมู ลูกชิ้นไก่ และ ลูกชิ้นปลา จากทั้งตลาดสด ร้านค้าปลีกในจังหวัด และ ห้างค้าปลีกและค้าส่งขนาดใหญ่ (โลตัส แมคโคร คาร์ฟูร์) ในเดือนพฤศจิกายน 2552 เพื่อตรวจหาสารกันบูด 4 ประเภท คือ กรดเบนโซอิค กรดซอร์บิค ไนเตรท และไนไตรท์ นอกจากนั้นยังตรวจหาน้ำประสานทองหรือ บอแรกซ์ อีกด้วย โดยเก็บตัวอย่างลูกชิ้นหมูจากพื้นที่กรุงเทพฯ สมุทรสงคราม ขอนแก่น มหาสารคาม เชียงใหม่ และ พะเยา จำนวน 22 ตัวอย่าง (22 ยี่ห้อ) เก็บตัวอย่างลูกชิ้นไก่จากจังหวัดสงขลา และ จังหวัดสตูล จำนวน 8 ตัวอย่าง (8 ยี่ห้อ) และ เก็บตัวอย่างลูกชิ้นปลา จากจังหวัดพะเยา จำนวน 2 ตัวอย่าง (2 ยี่ห้อ) รวมตัวอย่างลูกชิ้นที่เก็บ ทั้งสิ้น 32 ตัวอย่าง (32 ยี่ห้อ) ผลการทดสอบ1. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร ประเภทสารกันบูด – กรดเบนโซอิค1.1. พบว่าลูกชิ้นหมูทุกยี่ห้อ (22 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,206.97 มิลลิกรัม/กิโลกรัม การแบ่งกลุ่มตัวอย่างตามผลที่พบออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 7 ตัวอย่าง (ร้อยละ 32) และกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 15 ตัวอย่าง (ร้อยละ 68) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 5 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อกวางตุ้ง 9536.19 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากห้างโลตัสจังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูรวมดาว 3,572 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม (3) ยี่ห้อหมูสยาม 3317.59 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดยิ่งเจริญ กรุงเทพฯ (4) ยี่ห้อคุณหมอ 3,163.27 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดห้วยขวาง กรุงเทพฯ และ (5) ยี่ห้อน้องเพียร 3,152 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากจังหวัดมหาสารคาม 1.2. พบว่าลูกชิ้นไก่ทุกยี่ห้อ (8 ยี่ห้อ) ที่เก็บตัวอย่างใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค โดยมีค่าเฉลี่ยของปริมาณที่พบอยู่ที่ 2,243.668 มิลลิกรัม/กิโลกรัม โดยกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคต่ำกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 3 ตัวอย่าง (ร้อยละ 37.5) ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณกรดเบนโซอิคสูงกว่า 1,000 มิลลิกรัม/กิโลกรัม จำนวน 5 ตัวอย่าง (ร้อยละ 62.5) ปริมาณกรดเบนโซอิคที่พบสูงสุด 3 ตัวอย่างได้แก่ (1) ยี่ห้ออร่อย 5 ดาว 5,796 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา (2) ยี่ห้อบีบี 4,371.04 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดสดละงู อำเภอละงู จังหวัดสตูล และ (3) ยี่ห้อจงหยวน 2,672 มิลลิกรัม/กิโลกรัม เก็บตัวอย่างจากตลาดพลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา 1.3. พบว่าลูกชิ้นปลาจำนวน 1 ตัวอย่างจาก 2 ตัวอย่างที่ทำการสำรวจในจังหวัดพะเยาใส่สารกันบูดประเภทกรดเบนโซอิค คือยี่ห้อห้าดาว ซึ่งเก็บจากตลาดสดแม่ต๋ำ โดยพบที่ปริมาณ 167.37 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 2. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – กรดซอร์บิคพบว่ามีลูกชิ้นจำนวน 5 ตัวอย่างที่ใช้กรดซอร์บิคในผลิตภัณฑ์ แบ่งเป็นลูกชิ้นหมูจำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ (1) ยี่ห้อแชมป์ 138.07 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างแม็คโคร จังหวัดเชียงใหม่ (2) ยี่ห้อหมูดี 61.34 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างคาร์ฟูร์ จังหวัดเชียงใหม่ และ (3) ยี่ห้อเทสโก้ 103.05 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ที่เก็บจากห้างโลตัสจังหวัดพะเยา อีก 2 ตัวอย่างที่พบกรดซอร์บิค ได้แก่ลูกชิ้นไก่ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสตูล ประกอบด้วยยี่ห้อบีวัน 406 มิลลิกรัม/กิโลกรัม และ ยี่ห้อไก่ยิ้ม 143.4 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 3. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนเตรทจากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนเตรทในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็นลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพ ฯ 4 ตัวอย่าง สมุทรสงคราม 2 ตัวอย่าง และมหาสารคาม 1 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 2.5 – 35 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 4. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหารประเภทสารกันบูด – ไนไตรท์จากการทดสอบทั้งสิ้น 28 ตัวอย่าง พบการใช้ไนไตรท์ในลูกชิ้นทั้งสิ้น 11 ตัวอย่าง แบ่งเป็น ลูกชิ้นหมู 7 ตัวอย่าง (กรุงเทพฯ 3 ตัวอย่าง และ สมุทรสงคราม 4 ตัวอย่าง) และลูกชิ้นไก่ 4 ตัวอย่าง (ทั้งหมดจากจังหวัดสงขลา) โดยมีปริมาณที่พบอยู่ระหว่าง 0.2 – 4.2 มิลลิกรัม/กิโลกรัม 5. การทดสอบวัตถุเจือปนอาหาร – น้ำประสานทอง หรือ บอแรกซ์ไม่พบน้ำประสานทอง (บอแรกซ์) ในทุกตัวอย่างที่ทำการทดสอบ ข้อสังเกต1. มีลูกชิ้นหมูทั้งสิ้น 3 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูดีและยี่ห้อแชมป์ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดขอนแก่น และยี่ห้อเทสโก้ ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดพะเยา 2. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 2 ยี่ห้อ ที่ใช้สารกันบูด 2 ชนิด คือกรดเบนโซอิค และกรดซอร์บิคร่วมกันในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อ บีวันของบริษัทอาหารเบทเทอร์ และ ยี่ห้อไก่ยิ้มของบริษัท ซีพี ที่เก็บตัวอย่างจากจังหวัดสงขลา 3. มีลูกชิ้นหมูจำนวน 5 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อหมูสยาม วีไอพี และคุณหมอ ซึ่งเก็บจากตลาดสดในกรุงเทพฯ และ ยี่ห้อ พีพีเอ็น และ ศรีปทุม ซึ่งเก็บจากร้านค้าในจังหวัดสมุทรสงคราม 4. มีลูกชิ้นไก่จำนวน 4 ยี่ห้อ ที่ใส่สารกันบูดตั้งแต่ 3 ชนิดขึ้นไป (กรดเบนโซอิค ไนเตรท และไนไตรท์) ในผลิตภัณฑ์เดียว ได้แก่ ยี่ห้อจงหยวน อร่อย 5 ดาว บอลลูน และดิสโก้ ซึ่งเก็บตัวอย่างจากตลาดสดในจังหวัดสงขลา สรุปผลในการทดสอบครั้งนี้ พบว่าตัวอย่างลูกชิ้นเกือบทุกยี่ห้อที่เรานำมาทดสอบครั้งนี้มีการใช้สารกันบูด โดยเฉพาะกรดเบนโซอิค ซึ่งถึงแม้ อย. จะอนุญาตให้ใช้ได้ แต่ปริมาณที่ตรวจพบอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมาก เมื่อเทียบมาตรฐานอาหารสากล (Codex Alimentarius Commission) ซึ่งกำหนดปริมาณการใช้กรดเบนโซอิคในอาหารไว้ว่าไม่ควรเกิน 1,000 มิลลิกรัมต่ออาหาร 1 กิโลกรัม สำหรับคนที่ชอบลูกชิ้น เห็นตัวเลขของสารกันบูดจากผลการทดสอบครั้งนี้แล้วอาจตกใจ แต่ก็ต้องทำความเข้าใจว่า สารกันบูดสามารถใส่ลงในลูกชิ้นได้แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่กำหนด ซึ่งเราในฐานะผู้บริโภคก็ต้องรู้จักเลือกที่จะรับประทาน คือเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีฉลากแสดงข้อมูลส่วนผสมต่างๆ ชัดเจน แสดงแหล่งที่ผลิต วันเดือนปีที่หมดอายุ ล่าสุด อย. ก็ได้ออกกฎระเบียบใหม่ให้ผู้ผลิตลูกชิ้นต้องติดฉลากแสดงข้อมูลสำคัญต่างๆ ลงบนสินค้าของตัวเอง ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในการตัดสินใจเลือกซื้อ นอกจากนี้คนที่ชอบทานลูกชิ้นก็ต้องรู้จักควบคุมปริมาณการรับประทาน คือทานแต่พอดี เพราะถ้าทานมากไปก็ยิ่งเสี่ยงอันตราย ตารางแสดงผลการทดสอบสารกันบูดในลูกชิ้น    

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point