ฉบับที่ 243 ลูกจ้างรายวันไปทำละเมิดคนอื่น นายจ้างต้องรับผิดด้วยหรือไม่

เมื่อวันก่อนมีข่าวเกี่ยวกับการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวนมาก  ผู้ประกอบธุรกิจหลายแห่งก็ปิดกิจการเพราะทนพิษโควิดไม่ไหว หลายคนต้องเริ่มต้นชีวิตใหม่ ในช่วงเวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ ขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านนะครับ  กลับมาในประเด็นของเรา เมื่อพูดถึงลูกจ้าง ทุกคนคงพอทราบว่า ลูกจ้างเมื่อทำงานให้แก่นายจ้าง หากเกิดปัญหากับบุคคลภายนอก ทำให้เขาเสียหายใดๆ ก็ตาม กฎหมายเรากำหนดให้นายจ้างต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างด้วย แต่มีคนสงสัยว่า หากเป็นลูกจ้างรายวัน ความรับผิดในส่วนของนายจ้างจะมีแค่ไหน เพียงใด         ในกรณีนี้ เคยมีการฟ้องคดีกันจนถึงศาลฏีกา เป็นเรื่องที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดแห่งหนึ่ง จ้างลูกจ้างรายวันให้ขับรถบรรทุกไปส่งสินค้า แต่ปรากฏว่าลูกจ้างคนดังกล่าวขับรถไปเฉี่ยวชนกับรถโดยสารทำให้เกิดความเสียหาย นายจ้างก็ไปคุยเจรจาต่อรองค่าเสียหายที่โรงพัก พร้อมทั้งยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหาย ศาลจึงตัดสินว่า พฤติการณ์ที่นายจ้างกระทำดังกล่าวเป็นการยอมรับว่ายอมรับผิดร่วมกับลูกจ้างผู้ก่อเหตุ แม้ จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของแล้วก็ตาม ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 17440/2555         จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 3 ขับรถบรรทุกเฉี่ยวชนรถโดยสารของโจทก์ได้รับความเสียหายแม้ขณะเกิดเหตุเป็นเวลา 20 นาฬิกา แต่จำเลยที่ 1 ยังคงสวมใส่ชุดทำงาน ในวันรุ่งขึ้นจำเลยที่ 2 หุ้นส่วนผู้จัดการห้างจำเลยที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวนกับจำเลยที่ 1 โดยมิได้ปฏิเสธความรับผิดว่าจำเลยที่ 1 มิได้กระทำการในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 แต่กลับยอมรับต่อตัวแทนฝ่ายโจทก์และพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 และยังร่วมเจรจาต่อรองค่าเสียหายโดยไม่ได้แจ้งหรือแสดงพฤติการณ์ใดให้เห็นว่าเป็นการกระทำในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 1 แสดงว่าจำเลยที่ 2 รับโดยปริยายแล้วว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำในทางการที่จ้างซึ่งจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการที่ยินยอมเสนอเงินชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นเพียงลูกจ้างรายวันและขณะเกิดเหตุจะล่วงเลยเวลาทำงานตามปกติของจำเลยที่ 1 แล้วก็ตาม แต่ก็ยังถือว่าจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างและเมื่องานที่ทำเป็นกิจการของนายจ้าง จึงเป็นการปฏิบัติงานในทางการที่จ้างที่จำเลยที่ 3 ในฐานะนายจ้าง และจำเลยที่ 2 ในฐานะหุ้นส่วนผู้จัดการของห้างจำเลยที่ 3 ต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกโดยไม่จำกัดความรับผิดในผลแห่งละเมิดที่ห้างก่อให้เกิดขึ้นด้วย        อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือ แม้ลูกจ้างที่รับจ้างขับรถส่งของ จะเลือกใช้เส้นทางที่นอกคำสั่งของนายจ้าง และเป็นการฝ่าฝืนระเบียบก็ตาม ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้าง ผู้เป็นนายจ้างจะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกไม่ได้         คำพิพากษาฎีกาที่ 501-504/2517               จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นลูกจ้างขับรถของจำเลยที่ 1 ได้รับคำสั่งจากจำเลยที่ 1 ให้ขับรถบรรทุกน้ำมันไปส่งที่เวียงจันทน์ ประเทศลาว โดยใช้เส้นทางถนนพหลโยธินและถนนมิตรภาพไปถึงจังหวัดหนองคายแต่หลังจากส่งน้ำมันเสร็จ ขากลับจำเลยที่ 2 ขับรถมาถึงจังหวัดนครราชสีมาแล้วก็แยกเข้าถนนสายนครราชสีมา-กบินทร์บุรีเพื่อจะกลับมายังบางนางเกรง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นที่จอดรถโดยไม่ใช้เส้นทางเดิมอันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งและระเบียบของจำเลยที่ 1แล้วเกิดเหตุชนกับรถยนต์อื่นที่อำเภอเมืองชลบุรี แม้จำเลยที่ 2 จะขับรถออกนอกเส้นทาง ก็ยังถือได้ว่าการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 ที่ได้กระทำไปนั้นอยู่ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 ผู้เป็นนายจ้างจำเลยที่ 1 จะอ้างคำสั่งหรือระเบียบภายในขึ้นต่อสู้บุคคลภายนอกหาได้ไม่ จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ในผลแห่งละเมิดด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 194 เกิดเป็นนายจ้าง เมื่อลูกจ้างทำให้ผู้อื่นเสียหาย ต้องรับผิดแค่ไหน

สวัสดีครับ ท่านผู้อ่าน วันนี้ เรามาคุยเรื่องเกี่ยวกับนายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ  เชื่อว่าหลายท่านคงเคยมีสถานะเป็นทั้งนายจ้าง และลูกจ้าง แต่ก็มีบางครั้งที่ นายจ้างให้ลูกจ้างไปทำการงานบางอย่าง แล้วต่อมาลูกจ้างไปทำให้คนอื่นเกิดความเสียหาย เช่นนี้ นายจ้างก็ต้องร่วมรับผิด เพราะลูกจ้างได้ทำไประหว่างอยู่ในการงานที่จ้างนั่นเอง ยกตัวอย่างเช่น ลูกจ้างที่นำรถของบริษัทไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย ขับรถประมาทไปชนกับรถคันอื่น เช่นนี้ นายจ้างเขาต้องมาร่วมรับผิดด้วย   แต่ก็มีประเด็นสงสัยต่อมาว่า คำว่า “ลูกจ้าง” ที่นายจ้างต้องร่วมรับผิด ต้องเป็นคนที่ทำงานมานานๆ แล้ว หรือได้รับคำสั่งโดยตรงหรือไม่ ลูกจ้างทดลองงาน ยังไม่ได้รับทำงานประจำ แบบนี้ ถือว่าเป็น “ลูกจ้าง” ตามกฎหมายที่นายจ้างต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งประเด็นดังกล่าว ศาลฏีกาได้เคยมีคำพิพากษาเป็นบรรทัดฐานไว้ว่า ลูกจ้างก็คือผู้ทำการงานให้นายจ้าง ตามที่นายจ้างสั่ง แล้วก็รับสินจ้างจากนายจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้ ไม่ว่าจะเป็นลูกจ้างประจำ หรือลูกจ้างชั่วคราว หรือแม้แต่อยู่ระหว่างทดลองงาน ก็เป็นลูกจ้าง (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3825/2524การที่นายจ้างรับบุคคลใดเข้าทำงานจะเป็นการรับไว้ประจำหรืออยู่ในขั้นทดลองงานก็ตาม ย่อมถือได้ว่าได้มีการรับบุคคลนั้นเพื่อการทำงานของตนแล้ว จึงอยู่ในฐานะลูกจ้างของนายจ้างคำให้การพยานในชั้นสอบสวนเป็นพยานหลักฐานอย่างหนึ่งที่จะนำมาประกอบการวินิจฉัยในการรับฟังเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแห่งพฤติการณ์และการกระทำทั้งหลายได้ ไม่มีบทกฎหมายใดห้ามไว้โดยเด็ดขาด ประเด็นน่าสนใจอีกเรื่องคือ ใครคือ “นายจ้าง” การจะพิจารณาว่าบุคคลใดเป็นนายจ้างหรือไม่ ต้องดู 2 เรื่อง คือ มีอำนาจควบคุมการทำงานหรือไม่ และลูกจ้างต้องทำตามที่เขาสั่งหรือไม่ มีการรับค่าจ้างตลอดเวลาที่ทำงานให้โดยไม่ต้องคำนึงความสำเร็จของงาน มีหน้าที่ทำตามคำสั่งเท่านั้นใช่หรือไม่ หากไม่มีอำนาจควบคุมการทำงาน และงานที่ทำมุ่งผลสำเร็จ การจ้างดังกล่าว ก็เป็นการจ้างทำของ ไม่ใช่จ้างแรงงาน ส่งผลให้บุคคลที่ว่าจ้างไม่นับว่าเป็นนายจ้าง จึงไม่ต้องร่วมรับผิด  ดังเช่น คดีที่จะยกตัวอย่าง เป็นเรื่องของ การรับจ้างล้างและเฝ้ารถซึ่งจอดอยู่ริมถนน คนที่รับเฝ้ารถและล้างรถ  คนว่าจ้าง เขาต้องการผลสำเร็จของงานคือความสะอาดและความคงอยู่ของรถ เป็นการจ้างทำของ คนที่เขารับจ้างดังกล่าวจึงไม่ใช่ลูกจ้างของเจ้าของรถ เมื่อต่อมามีการนำรถไปขับโดยพลการจนถูกรถยนต์คันอื่นชนด้วยความประมาทของคนรับจ้าง แล้วไปชนโจทก์บาดเจ็บ เจ้าของรถจึงไม่ต้องร่วมรับผิดด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523)คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2502/2523จำเลยที่ 1 รับจ้างจำเลยที่ 2 และบุคคลอื่นล้างและฝ้ารถ ซึ่งจอดอยู่ริมถนนที่จำเลยที่ 1 ปฏิบัติงานเฝ้ายามอยู่แล้ว ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ต้องทำตามคำสั่งหรืออยู่ในความควบคุมของจำเลยที่ 2 การจ้างเช่นนี้เป็นการจ้างทำของเพราะผู้ว่าจ้างต้องการแต่ผลสำเร็จของงานคืนความสะอาดและความคงอยู่ของรถ ไม่ใช่จ้างแรงงาน จำเลยที่ 1 จึงไม่ใช่ลูกจ้างจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในการที่จำเลยที่ 1 ทำละเมิดต่อโจทก์ ตัวอย่างอีกคดีหนึ่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นบ่อย คือ จำเลยที่ 2 ลูกจ้างขับรถรับจ้างแล้วคนขับประมาทไปชนเขา ตำรวจเรียกไปสถานีตำรวจ มีการเจรจาให้ชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ในฐานะเจ้าของรถก็ไปช่วยเจรจาเหมือนว่าจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของตน ไม่เคยบอกว่าจำเลยที่ 2 เช่ารถจำเลยที่ 1 ไปขับรับจ้าง พอเจรจาไม่สำเร็จ ผู้เสียหายก็มาฟ้องให้จำเลยที่ 1รับผิดในฐานะนายจ้างร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 1 จึงต่อสู้ว่าไม่ใช่นายจ้าง ศาลก็ดูพฤติการณ์ดังกล่าว จึงวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้างของจำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 898/2534จำเลยที่ 2 ขับรถสองแถวของจำเลยที่ 1 ไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 1 โดยประมาทเลินเล่อชนรถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายแล้วโจทก์กับจำเลยที่ 2 ได้ลงลายมือชื่อในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีซึ่งมีข้อความว่า จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้อง คู่กรณีตกลงไม่ติดใจเอาความในทางอาญาอีกต่อไปข้อความดังกล่าวเป็นเรื่องที่โจทก์ในฐานะผู้เสียหายไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญาแก่จำเลยที่ 2 เพื่อพนักงานสอบสวนจะได้เปรียบเทียบปรับจำเลยที่ 2 เท่านั้น ส่วนข้อความที่จำเลยที่ 2 ยอมรับผิดชดใช้ค่าซ่อมรถตามที่โจทก์เรียกร้องนั้น ไม่มีรายละเอียดหรือข้อตกลงที่แน่นอนเกี่ยวกับจำนวนเงินที่ต้องชำระ วิธีการชำระอันจะทำให้ปราศจากการโต้แย้งกันอีก ข้อความในรายงานประจำวันเกี่ยวกับคดีดังกล่าวมิใช่เป็นการระงับข้อพิพาทในมูลละเมิดจึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความอันจะทำให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนายจ้างหลุดพ้นความรับผิดในมูลละเมิด.

อ่านเพิ่มเติม >