ฉบับที่ 231 ลิปสติกสีแดง

        ช่วงปลายปีที่แล้วนิตยสารเกอชัวร์ซีร์ Que Choisir  ซึ่งเป็นนิตยสารขององค์กรผู้บริโภคฝรั่งเศสที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ได้ทำการตรวจหา “สารไม่พึงประสงค์” ใน “ลิปสติกสีแดง” ยอดนิยม 20 ยี่ห้อ หลายยี่ห้อมีขายในเมืองไทย ฉลาดซื้อเลยถือโอกาสนำมาเผยแพร่ให้สมาชิกสายบิวตี้ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจ        การทดสอบซึ่งทำโดยห้องปฎิบัติการในกรุงเบอลิน เยอรมนี ครั้งนี้เป็นการตรวจหา        - โลหะหนัก ซึ่งมักพบในสารให้สี ได้แก่ สารหนู ตะกั่ว แคดเมียม พลวง และปรอท        -  สารไฮโดรคาร์บอนในน้ำมันมิเนอรัล Mineral oil saturated hydrocarbons (MOSH),  Mineral oil aromatic hydrocarbons (MOAH) และไฮโดรคาร์บอนสังเคราะห์ Polyolefin Oligomeric saturated hydrocarbons (POSH)         ก่อนหน้านี้ฉลาดซื้อฉบับเดือนตุลาคม 2560 เคยนำเสนอผลทดสอบลิปบาล์มทั้งในแง่ความปลอดภัยและความพึงพอใจของผู้ใช้ แต่คราวนี้เราเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลักจึงไม่มีการนำเสนอด้วย “ดาว” เราจะขอแยกเป็น “ผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัย” “ผลิตภัณฑ์ที่พอรับได้” และ “ผลิตภัณฑ์ที่ไม่แนะนำ”  ในภาพรวมเราพบสารตะกั่วในลิปสติก 19 จาก 20 ยี่ห้อ แต่ทั้งหมดอยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ตามมาตรฐานยุโรป (แต่ถ้าใช้เกณฑ์ของเยอรมนีที่เข้มข้นกว่าจะพบว่ามีสองยี่ห้อที่ไม่ผ่าน คือ L’OREAL และ BOHO Green) ส่วนยี่ห้อที่ไม่พบตะกั่วเลยได้แก่ Two Faced … แต่ถึงแม้จะไม่มีตะกั่ว ยี่ห้อนี้ป็นหนึ่งในห้ายี่ห้อในกลุ่ม “ไม่แนะนำ” เพราะมีสารไฮโดรคาร์บอนเกินร้อยละ 10 ... พลิกหน้าต่อไปเพื่อดูกันเต็มๆ ว่ายี่ห้อไหนบ้างที่คู่ควรกับคุณ-----น้ำมันมิเนอรัล (หรือพาราฟินเหลว) เป็นผลพลอยได้จากการผลิตปิโตรเลียม สารนี้เป็นที่นิยมใช้ในเครื่องสำอางหลายชนิดเพราะหาได้ง่าย ราคาถูก และไม่เน่าเสีย แต่ในขณะเดียวกันก็เริ่มมีข้อห่วงใยว่ามันอาจเป็นสารก่อมะเร็งหรือเร่งการเกิดเนื้องอกได้ ผู้ผลิตหลายเจ้าจึงหันไปหาทางเลือกอื่น------ค่าทดสอบอยู่ที่ตัวอย่างละ 350 ถึง 500 ยูโร (ประมาณ 12,000 ถึง 17,500 บาท) และต้องใช้ลิปสติกอย่างน้อย 16  แท่งต่อหนึ่งตัวอย่าง-----            “ลิปสติกเอ็ฟเฟ็กต์” คือข้อสันนิษฐานที่ว่าเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เครื่องสำอางโดยเฉพาะอย่างยิ่งลิปสติกจะขายดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยังต้องการเป็นเจ้าของ “สินค้าหรูหรา” แต่ยังเป็นห่วงเงินในกระเป๋า จึง “ลดสเปก” จากสินค้าราคาสูง (เช่น กระเป๋าแบรนด์เนม) มาเป็นลิปสติกที่พอจะสู้ราคาไหวนั่นเอง ในขณะที่บางคนก็เลือกประหยัดงบด้านอื่นเพื่อเก็บไว้ซื้อลิปสติก ... จริงเท็จอย่างไรยังฟันธงไม่ได้ แต่มีข่าวลือว่าหลังเหตุการณ์ 9/11 ในนิวยอร์ก ยอดขายลิปสติกในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว        ลิปสติกจะหมดเร็วแค่ไหนขึ้นอยู่การใช้ของแต่ละคน เรื่องนี้พูดยาก แต่งานวิจัยชิ้นหนึ่งในปี 2005 ที่วัดปริมาณลิปสติกของของผู้ใช้ลิปสติกเป็นประจำ 360 คน (อายุระหว่าง 19 – 65 ปี) ในช่วงสองสัปดาห์ พบว่ากลุ่มตัวอย่างทาลิปสติกเฉลี่ยวันละ 2.4 ครั้ง (ร้อยละ 11 ใช้มากกว่าวันละ 4 ครั้ง) ในแต่ละครั้งเนื้อลิปสติกจะหมดไปประมาณ 5 มิลลิกรัม (มีถึงร้อยละ 12 ที่ใช้ 20 มิลลิกรัมหรือมากกว่า) โดยรวมแล้วมีการใช้ลิปสติกระหว่าง 24 - 80 มิลลิกรัมในแต่ละวัน… แน่นอนว่าในปริมาณนี้บางส่วนก็ถูกผู้ใช้กลืนลงกระเพาะไปบ้าง ส่วนผสมในลิปสติกจึงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ต้องใส่ใจ นอกจากสีสัน เนื้อสัมผัส หรือราคา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 177 ริมฝีปากดำคล้ำ เพราะลิปสติก

ต่อให้ไม่ได้เป็นสาวที่รักการแต่งหน้าเท่าไหร่ แต่หนึ่งในเครื่องสำอางที่สาวๆ ทุกคนต้องมีติดกระเป๋าไว้คงหนีไม่พ้น “ลิปสติก” เพราะไม่ว่าจะเป็นลิปสติกแบบมีสีสัน หรือลิปมัน ก็ถือเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้ริมฝีปากของเราชุ่มชื้นและมีสีสันที่สวยงาม แต่หากเราทาแล้วริมฝีปากดันแห้ง แตก ลอกเป็นขุย คันยิบๆ หรือมีตุ่มใสขึ้นบริเวณริมฝีปาก จนทำให้ริมฝีปากสีชมพูสดใสกลายเป็นดำคล้ำ เพราะแพ้ลิปสติกแทน เราจะทำอย่างไรดี   มารู้จักตัวการสำคัญที่ทำให้เราแพ้กันก่อน อย่างที่เรารู้กันดีกว่าการแพ้เครื่องสำอางเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ยี่ห้อและราคาไม่ได้การันตีว่าจะดีสำหรับเราเสมอไป เพราะคนอื่นใช้แล้วไม่แพ้ แต่เราใช้แล้วอาจจะแพ้ก็ได้ ซึ่งสาเหตุหลักอันดับแรกที่ทำให้เราแพ้ลิปสติก มาจากส่วนผสมของลิปสติกนั่นเอง โดยส่วนใหญ่ในลิปสติกจะประกอบไปด้วย สี น้ำหอม สารแต่งกลิ่น/รส และสารกันเสีย ซึ่งเราอาจจะแพ้สีที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแพ้สารกันเสียจำพวก paraben นอกจากนี้เราอาจจะแพ้เพราะใช้ลิปสติกแท่งเดิมมาเป็นเวลานาน โดยไม่รู้ว่ามันหมดอายุไปแล้ว ดังนั้นหากเราซื้อมาและเปิดใช้งานมากกว่า 2 ปี หรือพบว่ามีกลิ่น สี หรือลักษณะที่เปลี่ยนไปก็ควรตัดใจทิ้งและเปลี่ยนแท่งใหม่ได้เลย เพราะลิปสติกต้องสัมผัสกับริมฝีปากเราเป็นเวลานานและหลายครั้งต่อวัน หากเราไม่ดูแลรักษาดีๆ ก็อาจใช้เวลานานกว่าจะกลับมามีริมฝีปากสุขภาพดีเหมือนเดิม หากแพ้ลิปสติกแล้วควรแก้ปัญหาอย่างไรดี การแพ้ลิปสติกสามารถเกิดขึ้นได้ 2 แบบ คือ แบบฉับพลันและเรื้อรัง โดยหากเป็นแบบฉับพลัน จะเกิดอาการคันที่ปากทันที หรืออาจลุกลามมากขึ้นกลายเป็นตุ่มน้ำใสๆ ได้ แต่หากแพ้เรื้อรังก็จะทำให้ปากแห้ง แตก ลอกเป็นขุย ซึ่งนำไปสู่ริมฝีปากที่ดำคล้ำนั่นเอง ดังนั้นการแก้ไขเบื้องต้นหลังจากหยุดใช้ลิปสติกแท่งนั้นคือ การใช้ขี้ผึ้ง / ลิปมันที่ไร้การการแต่งกลิ่นหรือสีอย่างวาสลีน เพิ่มความชุ่มชื้นให้ริมฝีปาก และไม่ลืมดื่มน้ำมากๆ เพื่อช่วยให้ปากไม่แห้ง รวมทั้งเลือกใช้ยาสีฟันหรือน้ำยาบ้วนปากที่มีรสไม่ซ่าหรือเผ็ดน้อย เพราะฟลูออไรด์หรือแอลกอฮอล์ในปริมาณสูง สามารถส่งผลให้ริมฝีปากคล้ำกว่าเดิมได้เช่นกัน นอกจากนี้อาจรักษาด้วยการไปพบแพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง   เทคนิคเล็กน้อยก่อนเลือกลิปสติกแท่งใหม่ การเลือกใช้ลิปสติกมักเปลี่ยนไปตามโอกาสต่างๆ เช่น หากเราต้องออกงานสำคัญแล้วอยากให้ลิปสติกติดทนนาน ก็ควรเลือกใช้ลิปสติกประเภทเนื้อ Cream หรือเนื้อ Matte เพราะมีความเข้มข้นของเนื้อสีมากที่สุด มีส่วนผสมที่ช่วยให้เนื้อลิปสติกแห้งไม่ลบเลือนง่าย หรือหากเราไม่ต้องการแต่งหน้าจัด ก็อาจเลือกใช้ลิปสติกประเภทเนื้อ Sheer ไม่ก็ Lip gloss หรือ Tint เพราะสีจะอ่อนๆ ให้ริมฝีปากเนียนสวยเป็นธรรมชาติ อย่างไรก็ตามไม่ว่าเราจะเลือกลิปสติกประเภทไหน ก็ควรพิจารณาจากคุณภาพเป็นอันดับแรกคือ ไม่ควรมีรสชาติ ไม่มีกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ ไม่หลอมเหลวระหว่างเก็บ ไม่พองตัวหรือมีหยดน้ำเกาะที่ตัวผลิตภัณฑ์ และควรเป็นลิปสติกที่มีฉลากภาษาไทยกำกับ โดยให้มีรายละเอียดตามประกาศของ อย. ดังนี้ 1. ชื่อสินค้า 2. ประเภทหรือชนิดของเครื่องสำอาง 3. สารทุกชนิดที่ใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตเครื่องสำอาง เรียงลำดับตามปริมาณของสารจากมากไปหาน้อย 4. วิธีใช้เครื่องสำอาง 5. ชื่อและที่ตั้งของผู้ผลิต 6. ชื่อและที่ตั้งของผู้นำเข้า และชื่อผู้ผลิตและประเทศที่ผลิต กรณีเป็นเครื่องสำอางนำเข้า 7. ปริมาณสุทธิ 8. เลขที่แสดงครั้งที่ผลิต 9. เดือน ปีที่ผลิต และ 10. เดือน ปีที่หมดอายุ ทั้งนี้หากฉลากมีพื้นที่น้อยกว่า 20 ตารางเซนติเมตร ให้แสดงเฉพาะชื่อสินค้าและเลขที่แสดงครั้งที่ผลิตก็ได้ เพราะหากเราซื้อผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีฉลากภาษาไทยกำกับ ก็อาจมีส่วนผสมของสารห้ามใช้ในลิปสติก เช่น ปรอท ตะกั่ว ซึ่งส่งผลอันตรายต่อผู้ใช้ นอกจากนี้ก็อาจทดสอบการแพ้ในเบื้องต้น ด้วยวิธีพื้นฐานอย่างการทาลงในบริเวณที่บอบบางอย่าง ใต้ท้องแขนหรือข้อพับแขน เพื่อดูว่ามีผดผื่นหรืออาการแพ้อื่นๆ เกิดขึ้นหรือไม่  

อ่านเพิ่มเติม >