ฉบับที่ 248 กระแสต่างแดน

ต้องดมก่อน         กฎหมายเยอรมนีกำหนดว่าก่อนเริ่มงานก่อสร้าง เจ้าของโครงการต้องตรวจสอบว่ามีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ในบริเวณนั้นหรือไม่ หากพบก็ให้ดูแลพวกมันให้ปลอดภัยหรือย้ายถิ่นฐานให้ด้วย                 Deutsche Bahn หรือการรถไฟเยอรมนี ซึ่งต้องขยายระบบรางให้ครอบคลุมทั่วประเทศจึงมี “ทีม” ที่ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ นอกจากผู้เชี่ยวชาญด้านสัตว์สงวน ทีมนี้ยังประกอบด้วยน้องหมาที่ผ่านการฝึกอบรมให้ทำงานได้อย่างแม่นยำและทั่วถึง         เมื่อเจอ งู เขียด ค้างคาว กิ้งก่า หรือสัตว์สงวนอื่นๆ สุนัขเหล่านี้เรียนรู้ว่าต้องไม่ตะปบหรือพยายามไล่ตาม มันจะนั่งลงทันทีเพื่อรอรับ “รางวัล” จากผู้ดูแล พวกมันไม่เกี่ยงฤดูกาลหรือสภาพอากาศจึงทำงานเสร็จในเวลาเพียง 2 เดือน (จากปกติ 1 ปี)          เรื่องนี้เยอรมนีเขาจริงจัง ปีที่แล้วโครงการก่อสร้างโรงงานของเทสลา ในเขตใกล้กรุงเบอลิน ก็เคยถูกสั่งหยุดชั่วคราวมาแล้ว หลังพบสัตว์เลื้อยคลานที่ใกล้สูญพันธุ์ในพื้นที่โครงการ   หยุดหลอกขายถัง          บริษัท Fire Safety & Prevention (SG) ผู้จำหน่ายและติดตั้งถังดับเพลิง ถูกคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าและคุ้มครองผู้บริโภคของสิงคโปร์ สั่งให้หยุดพฤติกรรมหลอกลวงผู้บริโภค         หลังผลการสืบสวนพบว่าบริษัทนี้ให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจผิด เช่น เบื้องต้นแจ้งราคาถังดับเพลิงว่าถังละ 17.90 เหรียญ แต่ต่อมากลับเรียกเก็บ 179 เหรียญ  และผู้ซื้อจะไม่สามารถขอเงินคืนได้ (ทั้งๆ ที่การยกเลิกและขอเงินคืนเป็นเรื่องที่ทำได้ตามปกติตามกฎหมายผู้บริโภค)         นอกจากนี้ยังทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดว่าบริษัทได้รับการรับรองจากหน่วยงานรัฐหรือคณะกรรมการชุมชน และจะได้รับส่วนลดพิเศษหากเป็นผู้ถือบัตรสมาชิกบางชนิด แถมยังจะมีช่างเข้ามาดูแล/เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ฟรีปีละครั้ง (แน่นอนว่าทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง)         หนักที่สุดคือการอ้างว่าสิงคโปร์กำลังจะมีกฎหมายบังคับให้ทุกบ้านติดตั้งอุปกรณ์ดับเพลิง         ระหว่างมกราคม 2019 ถึง กุมภาพันธ์ 2020 มีเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับบริษัทขายถังดับเพลิง49 เรื่อง โดย 8 เรื่องเป็นการร้องเรียนบริษัทนี้ เรื่องปวดหัว        นักวิจัยอินโดนีเซียพบว่าตัวอย่างน้ำจากเขตอังเก้ ซึ่งเป็นย่านที่มีคนอยู่หนาแน่นในจาการ์ตา และเขตอังกอล ทางเหนือของเมือง ตรงปากแม่น้ำจิลีวุง มีปริมาณพาราเซตามอลสูงถึง 610 และ 420 นาโนกรัม/ลิตร ตามลำดับ         งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Marine Pollution Bulletin เมื่อเดือนสิงหาคมไม่ได้ระบุแหล่งที่มาของมัน แต่นักสิ่งแวดล้อมเชื่อว่าตัวการคือ ของเสียจากการขับถ่ายของมนุษย์ โรงงานผลิตยา (ซึ่งมีอยู่ถึง 27 แห่งรอบอ่าวจาการ์ตา) รวมถึงโรงพยาบาลและคลินิก           จึงนำไปสู่คำถามว่าเมืองนี้มีระบบจัดการของเสียของที่ดีพอหรือยัง ขยะจากโรงพยาบาล หรือยาหมดอายุถูกกำจัดอย่างไร โครงการก่อสร้างในเขตอ่าวมีผลกระทบแค่ไหนต่อการไหลเวียนของน้ำ เป็นต้น         นักวิจัยระบุว่าการได้รับพาราเซตามอลอย่างต่อเนื่อง (ไม่ว่าจะน้อยหรือมาก) ส่งผลต่อการขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำประเภทมีเปลือก ซ้ำเติมการทำมาหากินของชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่แล้วด้วย กังหันต้องไป         ศาลสูงสุดของนอร์เวย์ตัดสินว่าฟาร์มกังหันลมสองแห่งทางตะวันตกของประเทศ ละเมิดวิถีชีวิตชนกลุ่มน้อยชาวซามิที่เลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นอาชีพ ด้วยการรุกล้ำเข้าไปในถิ่นที่พวกเขาทำมาหากิน         ศาลตัดสินว่าใบอนุญาตต่างๆ ที่กระทรวงน้ำมันและพลังงานของนอร์เวย์ออกให้กับบริษัท Fosen Vind นั้นถือเป็นโมฆะ เนื่องจากละเมิดกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR: International Covenant on Civil and Political Rights) และวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวซามิ ซึ่งเป็นสิ่งที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย         แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทนายความของพวกเขาบอกว่าอาจจะได้เห็นการรื้อกังหันลม 151 ตัว ที่ติดตั้งเสร็จในปี 2020 บทคาบสมุทรโฟเซน (ส่วนหนึ่งของฟาร์มกังหันลมบนดินที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป) เมื่อการ “สร้าง” กังหันเหล่านี้เป็นสิ่งผิดกฎหมาย การ “ใช้งาน” ก็ย่อมผิดเช่นกัน         ปัจจุบันมีชาวซามิประมาณ 100,000 คนใช้ชีวิตอยู่ในเขตสวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และรัสเซีย  กู๊ดบาย 162             ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนนี้เป็นต้นไป สวิตเซอร์แลนด์จะยกเลิกบริการสายด่วนหมายเลข 162 สำหรับสอบถามสภาพอากาศ หลังเปิดให้บริการมาแล้วกว่า 30 ปี             ตามหลักการแล้วบริการเลขสามตัวแบบนี้จะยังให้บริการต่อไปได้ หากมีผู้ใช้ไม่ต่ำกว่าสองล้านคนต่อปี แต่จากสถิติในปี 2020 มีผู้โทรเข้ามาเพียง 350,000 สาย (ลดลงจากที่เคยสูงถึงเจ็ดล้านสายในช่วง 20 ปีก่อน)             MeteoSchweiz ผู้ให้บริการ ตัดสินใจเลิกบริการนี้เพราะค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานค่อนข้างสูง ไม่คุ้มที่จะทำต่อไป คนสวิสทุกวันนี้นิยมใช้ช่องทางอื่น อย่างเว็บไซต์ หรือแอปพลิเคชัน MeteoSwiss เป็นต้น และจากข้อมูลของ Statista ร้อยละ 84 ของคนสวิสเป็นเจ้าของสมาร์ตโฟน             ทั้งนี้สำนักงาน OFCOM ของสวิตเซอร์แลนด์มีกำหนดให้บริการเลขสามตัวทั้งหมด (ยกเว้นหมายเลขฉุกเฉิน) ดำเนินการได้ถึงวันที่ 1 มกราคม 2523 เท่านั้น 

อ่านเพิ่มเติม >

ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง

        ปัญหามะพร้าวที่คู่กับลิง         จากกรณีองค์กรพิทักษ์สิทธิสัตว์ (PETA) ออกมาให้ข้อมูลและเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ ถอดผลิตภัณฑ์ที่มาจากมะพร้าวของประเทศไทยออกจากชั้นวางจำหน่าย โดยให้เหตุผลว่ากระบวนการผลิตมีการทารุณกรรมสัตว์ ด้วยการใช้ “ลิงเก็บมะพร้าว” ซึ่งเรื่องนี้ “ฉลาดซื้อ” ได้รับทราบจากที่ประชุม “ความร่วมมือในการแก้ปัญหามะพร้าวและกะทิ” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เพราะได้มีการอภิปรายและนำเสนอปัญหาเกี่ยวกับอุตสาหกรรมมะพร้าวและกะทิ อย่างกว้างขวาง          ดังนั้น “ฉลาดซื้อ” ขอหยิบยกบางช่วงบางตอนของเวทีดังกล่าวมานำเสนอให้ผู้อ่านรับทราบและพิจารณาไปด้วยกัน แน่นอนว่าปัญหาเกี่ยวกับมะพร้าวของไทยนั้นยังมีอีกมาก นอกเหนือไปจากกรณีการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเพียงอย่างเดียว โดยขอแยกเป็นประเด็นๆ คือ         ปัญหาลิงเก็บมะพร้าว         เรื่องนี้ “ตัวแทนผู้ประกอบการ” ระบุว่า ทางยุโรปมองว่าการใช้ลิงเก็บมะพร้าวเป็นรูปแบบหนึ่งของการทรมานสัตว์ แม้ว่าทางผู้ผลิตจะพยายามส่งหนังสือชี้แจงว่า นี่คือวัฒนธรรม และที่สำคัญลิงเหล่านี้ได้รับการดูแลเสมือนสมาชิกในครอบครัว  อีกทั้งมะพร้าวที่ใช้ลิงเก็บจะจำหน่ายเฉพาะในประเทศเท่านั้น ไม่ได้มีการส่งออก แต่ทางยุโรปยังมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ และนำมาสู่การเคลื่อนไหวถอดกะทิกล่องออกจากชั้นวางจำหน่ายในประเทศอังกฤษ         ขณะที่ นายพงษ์ศักดิ์ บุตรรักษ์ และนายพรชัย เขียวขำ เกษตรกรจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 2550-2555  ประเทศไทยมีพื้นที่ปลูกมะพร้าวทั้งหมด 1.5 ล้านไร่ แต่ก็พบว่าลดเหลือ 1.3 ล้านไร่ ในปี 2557-2562 ต่อมาเมื่อกลางปี 2562 พบว่าเหลือพื้นที่ปลูกมะพร้าว 1.2 ล้านไร่ ล่าสุดสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) แจ้งว่าในปี 2563พื้นที่ปลูกมะพร้าวเหลือเพียง 7.6 แสนไร่ เท่ากับว่าลดลงไป 40% ภายในปีเดียว ทำให้เกิดข้อสงสัยว่าการสำรวจผิดพลาดหรือไม่          คุณจินตนา แก้วขาว ให้ข้อมูลเสริมว่า ที่จริงพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวไม่ได้ลดลง แต่วิธีการสำรวจของกระทรวงมหาดไทยจะให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน นำเอกสารไปให้เกษตรกรกรอกข้อมูล แต่บางครั้งเกษตรกรอกข้อมูลไม่เป็น ทางกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเซ็นชื่อและทำแบบประเมินนั้นเอง ทำให้ได้ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง สาเหตุที่พบพื้นที่ลดลงเพราะ 1.มีการครอบครองสวนบนที่ดินที่ไม่ถูกต้อง เช่น ที่ สปก. จึงไม่กรอกตามจริง 2.ไม่ยอมแจ้งเพราะครอบครองเยอะ 3. ไม่แจ้งเพราะกลัวเสียภาษี เป็นต้น ดังนั้นจึงคิดว่า สศก.ต้องทำประเด็นนี้ให้ชัดเจน ตรงกัน           ต้นทุนการปลูกมะพร้าวของเกษตรกรคือ 5 บาท หรือ 8 บาท         คุณนุกูล ลูกอินทร์ ตัวแทนเกษตรกรแปลงใหญ่อำเภอทับสะแก ระบุว่าตามหลักของ สศก. เมื่อปี 2562 ได้จัดทำต้นทุนมะพร้าวอยู่ที่ 6.80 บาท บวกเพิ่มอีก 2 บาท รวมเป็น 8-9 บาท พร้อมตั้งคำถามว่ากำไร 20% ของต้นทุน ช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้หรือไม่ ส่วนตัวมองว่าหากมีพื้นที่ปลูกเยอะอาจจะอยู่ได้ แต่เกษตรกรที่ปลูกเพียง 10-50 ไร่ อาจจะลำบาก เพราะในทางปฏิบัติ เกษตรกรจะขายมะพร้าวประมาณเดือนละ 1 ครั้ง ถ้าคิดอัตราขายที่ 20 % จากต้นทุนเดือนละครั้งเท่ากับว่ามีรายได้น้อยมาก ยกตัวอย่างมะพร้าว 1 ลูก ต้นทุน 8 บาท ขายได้ 10 บาท กำไร 2 บาท ถ้าขายมะพร้าว 1,000 ลูก ก็ได้กำไรแค่ 2,000 บาทต่อเดือน         เพราะฉะนั้นจะคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ ส่วนตัวคิดว่าถ้าโรงงานซื้อมะพร้าวขาวประกันราคาต่ำสุดไม่ต่ำกว่า 12 บาทต่อลูก ประมาณ 2 ลูกต่อ 1 กิโลกรัม โรงงานต้องรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 24 บาท แต่ปัญหาในปัจจุบันคือองค์กรของรัฐไม่สามารถเชื่อมหรือบริหารจัดการนำเข้าและของที่มีอยู่ในประเทศเพื่อให้ทั้งหมดอยู่ในราคา 12-15 บาททั้งนี้ ตามที่สศก.ระบุว่าบวกเพิ่มต้นทุน 20% แต่ถ้ากำหนดต้นทุนราคาอยู่ที่ 5 บาท เกษตรกรอยู่ไม่ได้ เพราะแต่ละที่มีต้นทุนแรกต่างกัน เช่น มะพร้าวทับสะแกมีต้นทุน 9 บาท แพงกว่าบางสะพานที่มีต้นทุน 7 บาท เมื่อคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัด จะอยู่ที่ 5 บาท ซึ่งตัวเลขนี้เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ราคาที่อยู่ได้ควรเป็น 7 บาท ดังนั้นการคิดราคาต้นทุนจะใช้วิธีคิดเฉลี่ยทั้งจังหวัดไม่ได้         ปัญหาการผูกขาดการรับซื้อมะพร้าวโดยพ่อค้าคนกลาง         คุณนุกูล ยังบอกอีกว่า จากการหารือกันของกลุ่มเกษตรกรยุคใหม่ ยังมีความกังวลว่ามะพร้าวคุณภาพที่ผลิตออกมานั้นจะนำไปขายให้ใครได้บ้าง จะมีโอกาสขายตรงกับโรงงานโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางหรือ “อรหันต์” ได้หรือไม่ เพราะถูกกดราคา หรือการขายให้ “ล้ง” ก็ทำให้เกิดการเหลื่อมราคาตลาด ดังนั้นจึงจะมีทางใดหรือไม่ที่เกษตรกรจะขายมะพร้าวให้โรงงานได้โดยตรง และโรงงานสามารถประกาศราคาหน้าโรงงานให้ทราบได้หรือไม่         “ยืนยันว่ากลุ่มเกษตรกรที่ต่อสู้เรื่องราคามะพร้าว ยืนยันไม่ได้สู้เพื่อผลประโยชน์ของราคา เพราะหากราคาสูงเราก็หยุด เราต้องการสู้ว่าทำอย่างไรถึงจะเกิดการแก้ไขในทุกมิติ หาทางออกร่วมกัน โรงงานกะทิก็อยู่ได้ เกษตรกรก็อยู่ได้”         ปัญหาการนำเข้ามะพร้าวจากต่างประเทศ         ศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต สถาบันวิจัยโภชนาการ ระบุว่า จากข้อมูลพบว่าประเทศไทยมีกำลังการผลิตมะพร้าวประมาณ 9 แสนตัน ในขณะที่ความต้องการของตลาดอยู่ที่ 1.1 ล้านตัน เท่ากับว่ายังขาดอยู่ประมาณ 2 แสนตัน แต่จากข้อมูลต่างๆ ที่มีอยู่ทำให้ไม่เชื่อมั่นในตัวเลขของภาครัฐ เช่น ชี้แจงตัวเลขนำเข้าน้ำกะทิแช่แข็งว่า ปี 2560 นำเข้า 53 ล้านลิตร และปี 2561 นำเข้า 49 ล้านลิตร         อย่างไรก็ตามมีข้อมูลว่ามะพร้าวที่นำเข้าจากอินโดนีเซียนั้นมีลักษณะข้น ไม่มีไขมัน เมื่อทำเป็นกะทิแล้วถูกตำหนิว่ามีการเติมแป้งลงไปเยอะ ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการเติมแป้งแต่อย่างใด  ส่วนที่มีการนำเข้ากะทิสำเร็จรูปจากประเทศเวียดนาม ในรูปแบบของกะทิพาสเจอร์ไรซ์ ก็พบว่าคุณภาพไม่ผ่านตามมาตรฐาน         “มะพร้าวทับสะแก ทำเป็นกะทิดีที่สุดในแง่ของคุณภาพ ความหอม มัน จึงเป็นที่ต้องการของโรงงานผลิตกะทิ ไม่มีใครอยากได้มะพร้าวนำเข้าจากต่างประเทศ เพราะควบคุมคุณภาพยาก เสี่ยงเจอปัญหาแมลงหนอนหัวดำ ซึ่งคาดว่ามาจากเวียดนาม”          “กะทิ 100 % คือ กะทิที่มีไขมัน 17 %”         ศ.ดร.วิสิฐ ย้ำว่า ปัจจุบันกะทิกล่องที่จำหน่ายในประเทศไทยจะมีฉลากระบุ “กะทิ 100 %” ส่วนที่ส่งออกนั้นไม่ได้ระบุข้อความดังกล่าว มีเพียงคำว่า “Coconut Extract” คือการสกัดโดยที่ไม่เติมน้ำ และมีการเติมน้ำภายหลัง         ทั้งนี้การผลิตกะทิไทยจะอิงตามมาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ (Codex) ที่กำหนดว่า กะทิ (Coconut Milk) ต้องมีไขมัน 10-17 % ซึ่งผู้ผลิตควบคุมมาตรฐานไขมันอยู่ที่ 17% ดังนั้นจึงสามารถระบุในฉลากได้ว่าเป็น กะทิ 100% ส่วนหัวกะทิ (Coconut Cream) ต้องมีไขมันไม่น้อยกว่า 20% อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปถ้าเขียนว่ากะทิ 100% คือมีไขมัน 17% นั้น แต่ถ้าเอามาคั้นดิบๆ โดยที่ไม่เติมน้ำจะมีไขมันประมาณ 32% บริษัทก็ใช้เป็นตัวคำนวณ และเป็นวิธีการที่เขียนบนฉลากในการส่งออก         อย่างไรก็ตาม การผลิตกะทิมีหลายสูตร มีทั้งเติม และไม่เติมอะไรลงไปเพิ่ม เช่น เติมน้ำมันมะพร้าวอาจจะมีปัญหาความไม่อร่อย หรือเติมอย่างอื่น เมื่อนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้กะทิมีลักษณะเหมือนเต้าหู้ หรือการเติมสารเพื่อให้กะทิเนื้อเนียน เมื่อนำไปทำกับข้าวกะทิจะไม่แยกชั้น เป็นต้น ซึ่งตามกฎหมายแล้วหากผสมอะไรลงไป ต้องระบุในฉลากด้วย หากไม่ได้ระบุไว้ ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ เช่น กะทิ UHT หากไม่ได้เติมสารอะไรลงไปเมื่อใส่ไว้ในตู้แช่แข็งกะทิจะแยกชั้นเป็นก้อน หากมีการเติมสารลงไปกะทิจะมีเนื้อเนียนเช่นเดิม อย่างไรก็ตามกะทิที่ส่งต่างประเทศโดยเฉพาะเมืองหนาวจะมีการเติมสารเพื่อให้กะทิคงสภาพเนื้อเนียนไม่แยกชั้น          โจทย์ในอนาคตของกะทิ          ศ.ดร. วิสิฐ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันตลาด “กะทิ” มีการแข่งขันรุนแรงขึ้น จึงมีการกำหนดข้อห้ามตามมาเยอะ เช่น ในยุโรปกำหนดห้ามใช้คลอรีน เพราะมีสารไนคลอเรทที่อาจเป็นสารก่อมะเร็ง ดังนั้นหากมะพร้าวไทยยังมีการแช่คลอรีน หรือแช่น้ำแข็งในมะพร้าวขาว อาจจะเจอปัญหานี้ได้อีกในอนาคต         มีการวิจัยที่โรงงานว่า ถ้าทิ้งมะพร้าวไว้ให้แห้ง 8 ชั่วโมง โดยไม่แช่น้ำเลยก่อนนำมาคั้น จะทำให้ได้กะทิคุณภาพดีมาก ดังนั้นหากเกษตรกรสามารถรวมกลุ่มกันได้และมีระบบบริหารจัดการความสะอาดโดยที่ไม่ต้องแช่น้ำ เวลาส่งก็ไม่ต้องแช่น้ำแข็ง น่าจะช่วยเพิ่มราคามะพร้าวให้มากขึ้นตามคุณภาพ เพราะต้องยอมรับว่าการแช่น้ำทำให้น้ำหนักมะพร้าวมากขึ้น          กะทิกับคลอเรสเตอรอล         นอกจากนี้ “ศ.ดร.วิสิฐ” ยังให้ข้อมูลด้านโภชนาการด้วยว่า มีการศึกษาวิจัยให้คนกินกะทิ คือ กินไขมันจากมะพร้าวติดต่อกัน 6 เดือน เทียบกับการกินน้ำมันถั่วเหลืองในระยะเวลาเท่ากัน พบว่ามีปริมาณคอเรสเตอรอลเท่ากัน  ซึ่งที่ผ่านมามีความพยายามเสนอต่อองค์การอนามัยโลกว่าในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องไขมันอิ่มตัวไม่ควรรวมไขมันจากมะพร้าวเข้าไปด้วย แต่ทางองค์การอนามัยโลกยังปฏิเสธไม่ให้เข้าพบเพื่อส่งรายงานดังกล่าว ดังนั้นขณะนี้ จึงมีความร่วมมือกับประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย ในการให้ข้อมูลและสร้างการรับรู้แก่ประชาชนว่าการกินอาหารที่มีกะทิเป็นส่วนประกอบไม่ได้มีผลต่อระดับคอเรสเตอรอลแต่อย่างใด        ด้าน ดร.แก้ว กังสดาลอำไพ อาจารย์สถาบันวิจัยโภชนาการ ที่ปรึกษานิตยสารฉลาดซื้อ ระบุว่าไขมันเป็นสิ่งจำเป็นต่อร่างกาย แต่ต้องกินในปริมาณที่เหมาะสม           ขณะที่ อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ระบุว่า มีคนจำนวนมากถูกห้ามไม่ให้กินกะทิ และมีความเชื่อว่ากะทิทำให้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ เกิดภาวะคอเลสเตอรอลสูง ที่เป็นเช่นนั้นเพราะกะทิถูกใส่ร้ายป้ายสีว่าเป็นไขมันอิ่มตัว ซึ่งมีงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวเป็นตัวที่ไปเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดหัวใจ เมื่อวิเคราะห์ลงลึก บวกกับงานวิจัยพบว่าไขมันอิ่มตัวที่อาจปัญหานั้นเกิดขึ้นเฉพาะเนื้อแดง คือ เนื้อหมู เนื้อวัว และไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนว่าการกินน้ำมันมะพร้าวทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มมากขึ้น ตรงกันข้ามอาจจะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องโรคหลอดเลือดหัวใจ         คณะกรรมการพืชน้ำมัน         อาจารย์ปานเทพ กล่าวถึงประเด็นคณะกรรมการพืชน้ำมันว่าทำอย่างไรให้มีตัวแทนเกษตรกรซึ่งเป็นคนที่รู้ปัญหาจริงๆ เข้าไปร่วมเป็นกรรมการ เพื่อจะได้เสนอปัญหาของเกษตรกร ที่ผ่านมา “ตัวแทนเกษตรกร” นั้นเป็นตัวแทนของนักการเมือง หรือ ตัวแทนโรงกะทิ ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวบ้าน ไม่พูดคุย ไม่มีการนำเสนอประเด็นปัญหาของเกษตรกรเพื่อการแก้ไขอย่างถูกจุด         “เราต่อสู้เรื่องหนอนหัวดำ เจาะต้น ฉีดยา เรามีมติของกลุ่มคนในกลุ่มของเราที่ไปเรียกร้อง ห้ามไปรับจ้างเจาะ ห้ามรับจ้างฉีด ทำอย่างไรให้มีการฟังเสียงเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวอย่างเป็นระบบ”         ต่อประเด็นนี้ นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผอ.มูลนิธิชีววิถี บอกว่าตนไม่เห็นด้วยในการจัดมะพร้าวอยู่ในกลุ่มพืชน้ำมัน เพราะมะพร้าวมีคุณค่ามากกว่านั้น มะพร้าวเป็นวัฒนธรรม และใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น และมีผลในเชิงนิเวศน์มาก  ในขณะที่พืชน้ำมันคือพืชที่เอาไปใช้เป็นพลังงานใช้เป็นอาหารผัด ทอด แต่มะพร้าวไม่ใช่ เป็นพืชนิเวศน์เชิงวัฒนธรรมที่มีคุณค่าเรื่องความมั่นคงด้านอาหาร และเป็นอนาคตสำหรับประเทศเรื่องเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และนิเวศน์การท่องเที่ยว มีคุณค่าทางวัฒนธรรม คุณค่ามันคนละเรื่องเลยกับพืชน้ำมันอื่นๆ          ทางออกเกษตรกร         คุณวิฑูรย์ ชี้ให้เห็นว่าปัญหาหลายเรื่องมาจากหน่วยงานของรัฐกับนักการเมือง การกำหนดมาตรฐาน อย่างเรื่อง GI  เรื่องของการตรวจรับรองมาตรฐานล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับบทบาทของหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้น ซึ่งบางครั้งการรับรองมาตรฐานของไทยก็ไม่เป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ เช่น การปลูกข้าวอินทรีย์ ซึ่งตามมาตรฐานของไทยจะใช้คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” แต่คำว่า “ออร์แกนิกไทยแลนด์” ก็ไม่ถูกยอมรับจากต่างประเทศ ทำให้ส่งออกไม่ได้ ดังนั้นชาวบ้านที่ทำเกษตรอินทรีย์จึงใช้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ กับ IFOAM แต่ก็มีปัญหาเรื่องเงินสนับสนุนที่รัฐจะให้ 1,500 บาทต่อไร่ หรือ 2,000 ต่อไร่ หรือถ้าไม่ใช้ “ออร์แกนิกไทยแลนด์” รัฐก็จะไม่จ่ายค่าตรวจรับรองให้ แต่ถ้าใช้ก็มีเงินให้ แปลงละประมาณ 7,000 – 10,000 กว่าบาท         “หน่วยงานรัฐสามารถทำให้เกิดความวุ่นวายได้ทั้งสิ้น เราต้องจัดการปัญหาเรื่องหน่วยงานของรัฐที่เป็นอุปสรรคให้มาเกื้อกูลเกษตรกรให้ได้ คนของรัฐอยู่ภายใต้นักการเมือง ต้องต่อรองกับนักการเมืองและหน่วยงานราชการไปพร้อมกัน เกษตรกรต้องมีเครือข่ายความร่วมมือเป็นพื้นฐาน ถ้าขาดตรงนี้ไปลำบากทุกเรื่อง”         อาจารย์ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ยังให้ความเห็นในประเด็นนี้ด้วยว่า เราน่าจะเห็นพ้องต้องกันว่าราคาต้นทุนที่รัฐกำหนดในปัจจุบันนั้นไม่สะท้อนความเป็นจริง จะต้องทบทวนใหม่ ขณะเดียวกันเกษตรกรก็ต้องปรับตัว รวมกลุ่มทำเกษตรที่ได้มาตรฐาน และมีตัวแทนเข้าไปร่วมอยู่ในกลไกต่างๆ โดยไม่อยู่ภายใต้อำนาจของใคร ต้องเจรจาสื่อสารระหว่างเกษตรกรกับโรงงานที่รับซื้อผลิตภัณฑ์มะพร้าวให้มากขึ้นและสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ “มะพร้าวออร์แกนิก” ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด ควรมีการรวมกลุ่มกันและค่อยๆ สื่อสารให้เกิดการรับรู้ในวงกว้าง ซึ่งสุดท้ายจะนำไปสู่การเป็นอุตสาหกรรมเอง และหากมีการทำการตลาดดีๆ ก็มีโอกาสที่จะขายได้ในราคาที่ดีต่อไป            ทางออกของผู้บริโภค                 ปัจจุบันองค์กรผู้บริโภคทั่วโลกมีการรณรงค์เรื่องการเป็นผู้บริโภคที่ยั่งยืน โดยรู้แหล่งที่มาของอาหาร ลดการขนส่ง เป็นต้น ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ต้องการให้บริษัทผู้ผลิตเปลี่ยนแปลงฉลากผลิตภัณฑ์ โดยระบุให้ชัดเจนว่า “น้ำกะทิ” หรือ “หัวกะทิ” แทนการระบุว่า “กะทิ 100% Product of Thailand” แต่ยังคงระบุแหล่งที่มาว่าเป็นมะพร้าว เพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกและมีบทบาทในการสนับสนุนสินค้าที่ทำให้เกิดความมั่นคงและอธิปไตยในการผลิตอาหาร         รวมทั้งการบริโภคที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในเรื่องราคาที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย การหาช่องทางทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ชัดเจน ผู้ประกอบการจะมีความรับผิดชอบต่อเกษตรกรอย่างไร เป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกันในอนาคตรวมทั้งผู้บริโภคด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 214 กระแสต่างแดน

รางวัลแด่คน “ช่างกล้า”Consumer NZ นิตยสารเพื่อผู้บริโภคของนิวซีแลนด์มอบรางวัลยอดแย่ประจำปีให้กับผู้ผลิตอาหารที่กล้าเคลมว่าสินค้าตนเอง “ดีต่อสุขภาพ” ทั้งๆ ที่ส่วนประกอบมันไม่ใช่เจ้าใหญ่อย่าง เคลลอกส์ เนสท์เล่ เทเกล และ เฟรชแอนด์ฟรุ้ตตี้ ต่างไดัรับเกียรติกันถ้วนหน้าคะแนนที่ได้มาจากเสียงโหวตของผู้บริโภคที่พบว่า อาหารที่มีฉลากกำกับความดีงาม เช่น  “ไขมันต่ำ” “ธัญพืชไม่ผ่านการขัดสี” “ไม่ใช้น้ำตาลทรายขาว” “ไม่ใช้สีหรือกลิ่นสังเคราะห์” หรือ “เป็นแหล่งไฟเบอร์” กลับมีน้ำตาลเป็นส่วนประกอบ 3 ถึง 20 ช้อนชาต่อหนึ่งเสิร์ฟ        บ้างก็ชูจุดขายเรื่องส่วนประกอบที่เป็นผักและผลไม้ ทั้งที่ใส่ไปแค่ร้อยละ 1.36 มีแม้กระทั่งไก่ทั้งตัวที่ระบุว่าไก่ “ไม่ได้ถูกขังในกรง” เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจว่าพวกมันถูกเลี้ยงอย่างอิสระ ทั้งๆ ที่พวกมันก็ถูกจำกัดบริเวณอยู่ในคอกนั่นเองขอเสียงหน่อย            นครเชินเจิ้นเปลี่ยนรถโดยสารทั้งหมดเป็นระบบไฟฟ้าแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามแผนการลดคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศลงร้อยละ 48    แม้จะต้องใช้งบประมาณ 1.8 ล้านหยวนต่อคัน(ประมาณ 8.5 ล้านบาท) แต่ค่าโดยสารก็ไม่ได้แพงขึ้นมากนัก            ทั้งนี้เพราะรัฐบาลกลางสนับสนุนค่าใช้จ่ายมากกว่าครึ่งให้กับผู้ประกอบการ ในขณะที่รัฐบาลท้องถิ่นจะเติมให้อีก 500,000 หยวน(ประมาณ 2.3 ล้านบาท) เมื่อรถเมล์ไฟฟ้าวิ่งรับส่งผู้คนได้เป็นระยะทางครบ 60,000 กิโลเมตร                   จากหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ปัจจุบันเชินเจิ้นมีประชากร 12 ล้านคน มีรถเมล์ไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด16,000 คัน พร้อมสถานีชาร์จที่เทศบาลเป็นเจ้าของอีก 40,000 แห่ง             รองผู้จัดการทั่วไปบริษัทเชินเจิ้นบัสกรุ๊ป หนึ่งในผู้ประกอบการรถเมล์สามรายของเมืองนี้บอกว่า บริษัทกำลังหาวิธีเพิ่ม “เสียง” ให้กับรถ เพราะมีผู้โดยสารร้องเรียนเข้ามาว่ามันวิ่งได้ “เงียบเกินไป”Madrid Central           กรุงแมดริดเริ่มโครงการ Madrid Central เพื่อลดมลภาวะจากน้ำมันเชื้อเพลิง ด้วยการทดลองใช้กฎห้ามรถที่ผลิตก่อนปี ค.ศ. 2000 (รถเบนซิน) และ ค.ศ. 2006 (รถดีเซล) เข้ามาในเขตใจกลางเมือง           ข่าวระบุว่าประมาณร้อยละ 17 ของรถที่วิ่งในเมืองนี้ถือเป็น “รถเก่า” ใครฝ่าฝืนขับเข้ามาจะมีค่าปรับ 90 ยูโร (เขาอนุโลมในนำรถดังกล่าวเข้ามาวิ่งได้หากลงทะเบียนไว้ล่วงหน้าและมีที่จอดรถเป็นของตัวเอง พูดง่ายๆ คือคนที่มีบ้านอยู่ในเขตเมือง)           แผนนี้อาจแตกต่างจากที่อื่นๆ ในยุโรป เช่น ลอนดอน สต็อกโฮล์ม และมิลาน ที่จำกัดจำนวนรถด้วยการเรียกเก็บ “ค่าเข้าเมือง” จากผู้ขับขี่ “รถเก่า” ซึ่งปล่อยมลภาวะมากกว่ารถยนต์รุ่นใหม่ๆ           แมดริดมีประชากร 3.2 ล้านคน ยานพาหนะ 1.8 ล้านคัน ภูมิประเทศแบบที่ราบสูงของเมืองมักถูกปกคลุมด้วยมลภาวะหนาแน่นในวันที่ไม่ค่อยมีลมของมันต้องมี             คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของออสเตรเลียเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรเฉพาะ เพื่อกำกับดูแลบริษัทเทคโนโลยีอย่าง Facebook Inc และ Alphabet Inc (เจ้าของกูเกิ้ล) ที่อาจผูกขาดธุรกิจโฆษณาออนไลน์             คณะกรรมการฯ ตั้งคำถามว่าเราจะรู้ได้อย่างไรว่าบริษัทไม่ได้เลือกนำเสนอสินค้าหรือบริการของตนเอง ก่อนผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการรายอื่นที่มาซื้อพื้นที่โฆษณา             นอกจากนี้บริษัทยังทำหน้าที่เป็นผู้เผยแพร่ข่าวสารแข่งกับสื่อแบบดั้งเดิม ทำให้ผู้บริโภคได้รับข้อมูลท่วมท้นจนอาจเกิดความสับสน             หน่วยงานตรวจสอบระบบการจัดอันดับโฆษณาหรือบทความต่างๆ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในแผนการปฏิรูปสื่อของออสเตรเลีย             ด้านคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าของอิตาลีก็เพิ่งจะสั่งปรับ facebook เป็นเงิน 10 ล้านยูโร(ประมาณ 370 ล้านบาท) จากการที่บริษัทนำข้อมูลผู้ใช้ไปเผยแพร่โดยไม่ได้รับอนุญาต  เลือกเราไปสร้างตึกตามกฎหมายเกาหลีใต้ ผู้อยู่อาศัยในอพาร์ตเมนท์ที่จะถูกรื้อเพื่อสร้างใหม่จะมีสิทธิออกเสียงเลือกบริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างได้        สำนักงานตำรวจโซลเปิดเผยว่าเมื่อปี 2560 บริษัท แดวู ล็อตเต้ และฮุนได ได้เสนอสินบนให้กับผู้มีสิทธิออกเสียงรวมเป็นเงิน 230 ล้านวอน  200 ล้านวอน และ 110 ล้านวอนตามลำดับ เพื่อแลกกับการได้สิทธิก่อสร้างอาคารใหม่ในเขตตะวันออกเฉียงใต้ของกรุงโซล        นอกจากเงินแล้วยังแจกแทบเล็ตหรือคูปองห้องพักโรงแรมหรูด้วย         ทั้งสามบริษัทที่ได้สิทธิการก่อสร้างไปบอกว่าตนเองไม่รู้เห็นกับการกระทำของ “ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์”  สำนักงานตำรวจฯ จึงส่งฟ้องพนักงานของบริษัทเพราะมีหลักฐานว่า “บริษัทที่ปรึกษาฯ” ได้แจ้งให้บริษัททราบแล้ว        นักวิเคราะห์มองว่าคดีนี้อาจส่งผลในทางลบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทก่อสร้างสัญชาติเกาหลีในระดับสากล ซึ่งมีคู่แข่งที่น่ากลัวอย่างจีนและอินเดีย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 เพลิงบุญ : ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ

“เมตตาเป็นธรรมค้ำจุนโลก” สัจธรรมความคิดนี้น่าจะถูกต้องอยู่ แต่ทว่า ความเมตตาที่มีต่อโลกนั้น ก็ต้องมีเงื่อนไขและขอบเขตในการปฏิบัติด้วยเช่นกัน นิทานโบราณเรื่อง “ม้าอารี” เคยเล่าเตือนสติผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นมาว่า ม้าตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในเพิงหลบแดดหลบฝน เพราะเจ้าของสร้างให้ด้วยความรักใคร่เอ็นดู ในขณะที่วัวอีกตัวหนึ่งกลับถูกทอดทิ้งไว้ตามยถากรรม จนวันหนึ่งฝนตกหนัก วัวก็ขอเข้ามาปันแบ่งชายคาเพิงพัก ม้าผู้อารีก็ใจดี ค่อยๆ เขยิบให้จมูกวัวพ้นจากฝน แต่เมื่อวัวหายใจคล่องขึ้น ก็เริ่มต่อรองให้ม้าเขยิบออกไปอีกทีละนิดๆ จนในที่สุด ม้าที่แสนใจดีก็ต้องกระเด็นออกไปยืนกลางแดดและตากฝนอยู่นอกเพิงพัก นิทานเรื่อง “ม้าอารี” สอนให้รู้ว่า ความเมตตาอารีแม้นจะมีได้ แต่ก็ใช้ไม่ได้กับคนที่ไม่รู้จักบุญคุณคน และยิ่งหากคนที่เมตตาไร้ซึ่งปัญญามากำกับด้วยแล้ว คนผู้นั้นก็อาจมีอันต้องระเห็จออกไปจากเพิงพักอันอบอุ่นในที่สุด และคนที่กำลังเล่นบทบาทแบบ “ม้าอารี” เยี่ยงนี้ ก็คงหนีไม่พ้นตัวละครอย่าง “พิมาลา” แห่งเรื่อง “เพลิงบุญ” ที่เอื้ออารีต่อเพื่อนรักอย่าง “ใจเริง” แบบมากล้น จนในท้ายที่สุด เธอก็แทบจะถูกอัปเปหิออกไปจากเพิงพักที่สร้างไว้กับสามีอันเป็นที่รักอย่าง “ฤกษ์”  ปรมาจารย์เจ้าตำรับทฤษฎีจิตวิเคราะห์อย่างซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยอธิบายว่า ในห้วงแห่งจิตมนุษย์นั้นไซร้ จะมีการต่อสู้ชักเย่อกันไปมาระหว่างระบบระเบียบศีลธรรมของสังคมกับปรารถนาดิบๆ ที่หลบเร้นอยู่ในซอกลึกๆ ของจิตใจ หรือที่ฟรอยด์เรียกว่า เป็นการต่อสู้กันระหว่าง “superego” กับ “id” ในจิตมนุษย์นั่นเอง ภาพการชิงดำของสองส่วนในจิตแบบนี้ ก็สะท้อนอยู่ในความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครที่เป็นเพื่อนรักกันแต่ก็แตกต่างกันสุดขั้วอย่างพิมาลากับใจเริง ในด้านของพิมาลา ผู้เป็นตัวแทนของ “แม่พระ” หรือระเบียบศีลธรรมอันดีงามแห่งมวลมนุษยชาตินั้น ในขณะที่วัยเด็กของเธอเคยได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวของใจเริงที่ช่วยปลดหนี้ของครอบครัวซึ่งเกือบจะล้มละลาย “บุญคุณ” ครั้งนั้นก็ได้กลายมาเป็นดั่ง “หนี้บุญคุณ” ที่พิมาลาต้องจ่ายคืนแบบไม่สิ้นไม่สุด ตรงกันข้ามกับใจเริง ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้หญิงที่ทะยานอยาก หรือเป็น “ปรารถนาดิบๆ” ที่อยู่ในหลืบเร้นในจิตของมนุษย์ เธอก็สามารถทำทุกอย่างโดยไม่ใส่ใจว่า นั่นจะละเมิดหลักศีลธรรมหรือไม่ อย่างไร เฉกเช่นประโยคที่เธอกล่าวว่า “เริงทำก็เพราะความอยู่รอด แล้วเริงก็รอดจริงๆ แสดงว่าเริงทำในสิ่งที่ถูกต้อง…” ชีวิตของผู้หญิงสองคนที่ผูกเกลียวเอาไว้ด้วย “บุญ” ที่กลายมาเป็น “เพลิง” เผาผลาญตัวละคร เริ่มต้นขึ้นเมื่อฤกษ์เข้ามายืนอยู่ตรงกลางระหว่างตัวแทนของคุณค่าศีลธรรมอย่างพิมาลา กับผู้หญิงที่เป็นภาพแทนของแรงขับดิบๆ ในจิตอย่างใจเริง แม้จุดเริ่มต้นใจเริงจะคบหากับฤกษ์ชายหนุ่มที่แย่งมาจากพิมาลา แต่เมื่อเธอได้มาพบกับนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์หนุ่มผู้มั่งคั่งอย่าง “เทิดพันธ์” ใจเริงก็เปลี่ยนใจหันไปหาชายหนุ่มคนใหม่ และทิ้งฤกษ์ไปโดยไม่สนใจว่าเขาจะเจ็บปวดเพียงใด จนฤกษ์ได้เลือกตัดสินใจกลับมาลงเอยกับความรักอีกครั้งกับพิมาลา แต่ในเมื่อชีวิตคนล้วนไม่แน่นอน มีขาขึ้นก็ต้องมีขาลงสลับกัน ในขณะที่พิมาลากับฤกษ์ประสบความสำเร็จทั้งในชีวิตคู่และชีวิตการทำงาน แต่ชีวิตของใจเริงกับเทิดพันธ์กลับดิ่งลงเหว พร้อมๆ กับธุรกิจของเทิดพันธ์ที่เกิดล้มละลาย ผู้หญิงที่จมไม่ลงแบบใจเริงก็พร้อมจะเทเขาทิ้งแบบไร้เยื่อขาดใยเช่นกัน  และด้วยความริษยาที่มีต่อกราฟชีวิตของเพื่อนซึ่งดีวันดีคืน ใจเริงก็ใช้ “หนี้บุญคุณ” ซึ่งผูกไว้แต่อดีต มาทวงขอความช่วยเหลือจากพิมาลา อันกลายมาเป็นจุดเริ่มต้นบทเรียนแบบ “ม้าอารี” ที่เพื่อนรักใช้มารยามา “หักเหลี่ยมโหด” เพื่อเขี่ยเจ้าของชายคากระเด็นออกไปจากเพิงพักในที่สุด เพราะเพื่อนรักเป็นประหนึ่ง “ม้าอารี” ใจเริงก็วางหมากกลค่อยๆ ยื่นจมูกเข้าไปในชายคาบ้านทีละนิดๆ ตั้งแต่เสแสร้งว่าเธอเป็นคนสิ้นเนื้อประดาตัวไร้พิษสงใดๆ ขนานไปกับการหว่านเสน่ห์ใส่ฤกษ์ให้เขาตบะแตก หรือแม้แต่จัดฉากภาพบาดตาที่เธอกับฤกษ์กำลังนัวเนียกันอยู่บนเตียง ปฏิบัติการทั้งหมดทั้งมวลนี้ก็มุ่งเป้าที่จะผลักให้ “ม้าอารี” อย่างพิมาลาออกไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกชายคานั่นเอง สำหรับใจเริงแล้ว แม้ใครต่อใครจะมองว่าเธอผิด และทุกคนก็ฉลาดพอจะรู้ทันการใช้เล่ห์มารยามาทำร้ายเพื่อนรักอยู่โดยตลอด แต่ที่น่าชวนฉงนยิ่งก็คือ พิมาลาผู้เป็นคู่กรณีนั้นกลับแสนซื่อโลกสวยเสมือน “ขี่ม้าชมทุ่งลาเวนเดอร์” ในความฝันอันงดงามตลอดเวลา แม้ผู้หวังดีจะหมั่นเตือนสติ แต่เธอก็คอยแก้ต่างด้วยวลีที่ว่า “แต่พิมกับเริงคบกันมาตั้งแต่เด็ก เริงไม่น่าจะคิดร้ายกับพิมขนาดนั้นหรอก” จนผ่านไปเกินค่อนเรื่องแล้วนั่นแหละ ที่พิมาลาจึง “ถึงบางอ้อ” เปลี่ยนมา “คิดใหม่ทำใหม่” และเปลี่ยนคำพูดเสียใหม่ว่า “พิมที่แสนดีก็ยังอยู่ แต่พิมที่โง่หลงเชื่อว่าเพื่อนที่เราดีด้วยจะดีตอบ...ตายไปแล้ว” แม้สำหรับผู้ชายอย่างฤกษ์ที่นอกใจภรรยาผู้โลกสวย หรือผู้หญิงตัวแทนแห่ง “ปรารถนาดิบๆ” แบบใจเริง จะถูกมองว่าผิดเต็มประตูก็จริง แต่ตัวละคร “ม้าอารี” ที่โลกสวยและศีลธรรมล้นเกินแบบพิมาลานั้น ก็มิต่างจากจำเลยอีกคนที่เป็นมูลเหตุให้ชีวิตคู่ของเธอเองต้องพังครืนลงมา คงเหมือนกับที่ “คุณฤทธิ์” พ่อของฤกษ์ที่กล่าวกับพิมาลาว่า “ทั้งสามคนมีจุดผิดพลาดร่วมกัน ไม่ต้องโยนให้คนอื่น และก็ไม่ต้องแบกรับเอาไว้คนเดียว” เพราะเผลอๆ แล้ว ความเมตตาหากไร้ซึ่งปัญญากำกับ ก็ถือเป็นอันตรายต่อการดำเนินชีวิตเสียยิ่งกว่าตัวแปรใดๆ  หากจะถามว่าข้อคิดของละครผู้หญิงสองคนแย่งชิงผู้ชายกันอย่างเรื่อง “เพลิงบุญ” ให้อะไรกับคนดูนั้น ก็คงเป็นอุทาหรณ์ที่คุณฤทธิ์เตือนสติพิมาลาและผู้ชมไปพร้อมๆ กันว่า “การทำความดีไม่ใช่สักแต่ว่าหลับหูหลับตาทำ แต่เราก็ต้องทำด้วยปัญญา...ให้ในสิ่งที่สมควร ในเวลาอันสมควร แก่ผู้ที่สมควร”  “บุญ” เป็นสิ่งที่เราพึงทำอยู่เสมอก็จริง แต่หาก “บุญ” เป็นดุจดั่ง “เพลิง” ที่เผาผลาญ เพราะคนทำบุญไม่ใช้ปัญญาขบคิดให้แตกฉานด้วยแล้ว ก็ไม่ต่างจาก “ม้าอารี” ที่ชักศึกเข้าบ้าน จนเบียดขับให้ตนต้องไปยืนกรำแดดกรำฝนอยู่นอกเพิงพักนั่นเอง 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 200 ร่วมถวายพระเพลิงพระบรมศพรัชกาลที่ 9

ด้วยความจงรักภักดีที่ประชาชนชาวไทยมีต่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทำให้ประชาชนทั่วประเทศหลั่งไหลกันมาเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพกันอย่างมาก ประชาชนยิ่งล้นหลามเมื่อใกล้เวลาการปิดการเข้ากราบถวายบังคมพระบรมศพ รัชกาลที่ 9 ของสำนักพระราชวัง ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 เป็นวันสุดท้าย เพื่อจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตรในเดือนตุลาคม 2560 นี้ ทางสำนักพระราชวังได้กำหนดวันพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ ในระหว่างวันที่ 25 – 29 ตุลาคม 2560 ได้กำหนดจำนวนริ้วขบวน พระราชอิสริยยศไว้ทั้งสิ้น  6  ริ้วกระบวน และนิทรรศการงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยมีจุดประสงค์หลักเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของรัชกาลที่ 9 ผ่านพระราชประวัติ พระราชกรณียกิจ โครงการพระราชดำริ รวมถึงเปิดโอกาสให้ประชาชนได้ชื่นชมความงามของพระเมรุมาศ ซึ่งมีกำหนดเปิดให้เข้าชมระหว่างวันที่ 1 - 30 พฤศจิกายน 2560คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์งานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ จึงได้จัดทำเว็บไซต์ www.kingrama9.net เพื่อให้ประชาชนทั่วประเทศสามารถติดตามการจัดเตรียมการพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้อย่างใกล้ชิดเว็บไซต์ www.kingrama9.net จะมีข้อมูลข่าวสารรายละเอียดการจัดเตรียมงาน ประกาศจากสำนักพระราชวัง  และในส่วนของข้อมูลและคำอธิบายของพระเมรุมาศว่าประกอบด้วยอะไรบ้าง ส่วนต่างๆ เรียกชื่อว่าอย่างไร  ทั้งนี้มีคำอธิบายรายละเอียดเส้นทางของขบวนพระบรมราชอิสริยยศทั้งสิ้น  6  ริ้วกระบวน ว่าแต่ละริ้วกระบวนจะเริ่มจากจุดใดและใช้เส้นทางใด และรายละเอียดการแต่งกายของแต่ละส่วนในริ้วพระบรมราชอิสริยยศทั้งหมด  นอกจากการจัดเตรียมพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพบริเวณท้องสนามหลวงแล้ว ยังมีการจัดสร้างพระเมรุมาศจำลอง 85 แห่งทั่วประเทศไทย และต่างประเทศ เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสถวายความจงรักภักดีแด่พระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพล อดุลยเดช บรมนาถบพิตร โดยสามารถตรวจสอบสถานที่จุดวางดอกไม้จันทน์ใกล้บ้านได้ในเว็บไซต์ www.kingrama9.net เช่นกันรายละเอียดและข้อมูลทุกอย่างสามารถหาคำอธิบายได้ในเว็บไซต์ www.kingrama9.net 

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 193 รู้เท่าทันปลิงบำบัด

กระแสความตื่นตัวเรื่องปลิงบำบัดในไทยเกิดขึ้นเมื่อ 3-4 ปีก่อน  ถ้าเราเข้าไปดูในยูทูปจะเห็นการใช้ปลิงบำบัดเต็มไปหมด ใช้ตั้งแต่การรักษาสิว แผลติดเชื้อ ไมเกรน  ในเว็บไซต์สุขภาพจำนวนมากใช้ปลิงบำบัดสารพัดโรค ตั้งแต่ ผมร่วง หัวล้าน ข้อเข่าอักเสบ หัวใจและหลอดเลือด เบาหวาน การได้ยิน ต้อหิน เหงือกอักเสบ ความดันเลือดสูง แม้กระทั่งมะเร็ง  ดาราดังในฮอลีวูดเช่น เดมี่ มัวร์ ก็เคยใช้ปลิงในการล้างพิษในเลือดเมื่อปีค.ศ. 2008  ปัจจุบันดาราฮอลลีวูดมีการใช้ปลิงบำบัดในการทำให้ใบหน้ากลับมาเต่งตึงโดยไม่ต้องผ่าตัด  เรามารู้เท่าทันปลิงบำบัดกันเถอะความเป็นมาของปลิงบำบัด การใช้ปลิงบำบัดมีมานานหลายพันปี ตั้งแต่เริ่มต้นเกิดอารยธรรมเมือง  เมืองโบราณเช่น อียิปต์ อินเดีย กรีก และอาหรับ มีการใช้ปลิงในการรักษาโรคโดยการเอาเลือดออกจากร่างกาย เพราะเชื่อว่าเป็นการเอาเลือดเสียหรือเป็นพิษออกไป จึงใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ระบบประสาท ความผิดปกติของระบบขับปัสสาวะและระบบสืบพันธุ์ การอักเสบ โรคฟัน การบันทึกเกี่ยวกับปลิงบำบัดที่เก่าแก่ที่สุดอยู่ในคำภีร์ศูสรุตสัมหิตตา เขียนขึ้นโดย ศูสรุตในปี ค.ศ. 800 ก่อนคริสตกาล โดยกล่าวว่าเป็นวิธีการเอาเลือดออก ใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง อาการปวดร้าวไปที่ขา และอาการปวดกล้ามเนื้อ   เขาอธิบายว่า ปลิงมี 12 ชนิด เป็นพิษ 6 ชนิด และไม่เป็นพิษ 4 ชนิด การแพทย์แผนไทยก็มีตำราแผนปลิง และได้ประกาศเป็นตำราการแพทย์แผนไทยแห่งชาติ แต่พบว่า แพทย์แผนไทยไม่มีประสบการณ์การใช้ปลิงรักษาเหมือนแพทย์อายุรเวทของอินเดียปลิงรักษาโรคได้อย่างไร เมื่อเร็วๆ การศึกษาจำนวนมากพบว่า ในน้ำลายของปลิงประกอบด้วยสารโปรตีนจำนวนมาก ได้แก่ แอนติทรอมบิน (สารต้านการแข็งตัวของเลือด สารสำคัญมีชื่อว่า ฮิรูดิน ทำให้ปลิงบำบัดมีชื่ออีกชื่อว่า Hirudin Therapy)  แอนติเพลตเลต สารต้านแบคทีเรีย และอื่นๆ อีกมาก  การพบว่ามีสารต้านการแข็งตัวของเลือดทำให้ปลิงบำบัดหวนกลับมาเป็นวิธีการรักษาที่นิยมอีกครั้งเพื่อใช้รักษาโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง โรคติดเชื้อ  ในคริสตศตวรรษที่ 20 วงการศัลยกรรมตกแต่งและจุลศัลยกรรมเริ่มใช้ปลิงบำบัดในการป้องกันการบวมจากหลอดเลือดดำ และการต่อนิ้วและเนื้อเยื่อต่างๆ  ปัจจุบันเริ่มมีการใช้เพื่อความงาม  ในปีค.ศ. 2004  สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของอเมริกา ได้รับรองการใช้ปลิงเป็นอุปกรณ์การรักษาทางการแพทย์อย่างหนึ่งปลิงรักษาโรคได้จริงหรือไม่  รายงานการวิจัยจำนวนมากในวารสารวิชาการ PubMed ของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา และการทบทวนของห้องสมุด Cochrane ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิงบำบัด โดยเฉพาะในการรักษาข้อเสื่อม ช่วยลดอาการปวด การเคลื่อนไหวของข้อดีขึ้น และลดการติดขัดของข้อ  การทบทวนพบว่า มีการใช้ในการบำบัด ฝีหนอง ต้อหิน เส้นเลือดดำอุดตัน  และมีการใช้ในศัลยกรรมตกแต่ง เพื่อแก้ปัญหาการไหลเวียนของเลือด อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีงานวิจัยที่ยืนยันประสิทธิผลการรักษาด้วยปลิง แต่ยังต้องการการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับความปลอดภัยและผลแทรกซ้อนของการใช้ปลิงบำบัด เพราะยังคงมีปัญหาแทรกซ้อนจากการใช้ปลิงบำบัดอยู่ โดยเฉพาะการติดเชื้อ เลือดไหลไม่หยุด และผู้ใช้ขาดความรู้ความชำนาญ

อ่านเพิ่มเติม >

เพลิงไหม้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค - กอง บก.ฉลาดซื้อ

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคถูกไฟไหม้   ถึงทุกคน ก่อน อื่น ต้องขอบคุณทั้งโทรศัพท์ อีเมล์ SMS วันนี้ที่มีมาถึงทั้งสารี และน้องๆ ทุกคนของสำนักงานมูลนิธิ ฯ และขอบคุณพี่ ๆ เพื่อน  น้อง ๆ หลายคนที่มาช่วยเหลือที่สำนักงานของมูลนิธิในวันนี้ พวกเราทุกคนปลอดภัย ไม่มีใครได้รับอันตรายใด ๆ ขออนุญาต เล่าเรื่องราวโดยสรุปให้รับทราบกัน ตอน เช้ามืดวันที่ 2O เริ่มมีควันดูเหมือนจะออกมาทางสำนักงานของมูลนิธิ ฯ ได้ประสานงานกับกรุงเทพมหานครเพื่อดับเพลิง พวกเรามาถึงสำนักงานประมาณ 6.30 ได้เปิดประตูของสำนักงาน และวิ่งขึ้นไปบนอาคารชั้นสอง พบว่า กำแพงของมูลนิธิ ฯ ชั้นสองที่ติดกับอาคารเซ็นเตอร์วัน พังลงมา และมีไฟกำลังลุกลามเข้ามาในอาคารของมูลนิธิ  ก็ช่วยกันนำน้ำขึ้นไปดับบน อาคารก่อน หลังจากนั้นไม่นานเจ้าหน้าที่ดับเพลิงก็ได้เข้ามาเราขน ของได้จากชั้นหนึ่งของอาคารเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเอกสารของศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เป็นทั้งไฟล์ และ เอกสารข้อร้องเรียน คดีที่ให้การช่วยเหลือ สามารถนำ CPU ของเจ้าหน้าที่ชั้น 1 ออกมาได้บางส่วน ส่วนชั้นสองเป็นงานสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค ส่วนสำนักงาน และชมรมเพื่อโรคไตไม่สามารถขนอะไรได้เลยเนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต เพราะไฟกำลังลุกลาม  รวมทั้งอุปกรณืเหล่านั้นถูกความร้อนหลอมละลายจนไม่ สามารถใช้งานได้แล้วชั้นสามส่วน นิตยสารฉลาดซื้อและรายการกระต่ายตื่นตัว เสียหายมากสุด น้อง ๆ ฝ่าควันไฟที่หนาพอควร ขึ้นไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ดับเพลิง ขนกล้องทีวี และฐานข้อมูล บางส่วนลงมาได้ชั้นสี่ไม่ สามารถขึ้นไปได้เลย การดับเพลิง ใช้เวลานานมาก และเป็นไปด้วยความยากลำบาก และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้อยู่ในอาคารหลังจากขนของได้เพียงเล็กน้อยมูลนิธิ เพื่อผู้บริโภคได้ตัดสินใจให้เจ้าหน้าที่ดับเพลิงทุบผนังอาคารของตนเองส่วน ชั้น 3 และ 4 เพื่อให้สามารถดับเพลิงในเซ็นเตอร์วันให้ได้ เนื่องจากอาคารของเซ็นเตอร์วันเริ่มทรุดและแตกร้าวเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทุกคนกังวลเรื่องการทรุดตัว และอาคารรอบด้านของมูลนิธิฯ เป็นบ้านไม้ จำนวน 5 หลัง และหากบ้านไม้เหล่านี้ได้รับเพลิงก็จะทำให้ไฟลุกลามได้ทั้งชุมชนและควบคุม ได้ยาก ไฟและควันที่ลุกลามฝั่งมูลนิธิเริ่มลดลงและสงบประมาณ 3 โมงเย็น แต่ฝั่งเซ็นเตอร์วันยังคุกรุ่นอยู่ (จนถึงขณะนี้)ความเสียหายครั้งนี้กระทบกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคในทุกด้าน ทั้งการให้บริการประชาชนทั่วไปที่มารับบริการขอคำแนะนำการละเมิดสิทธิผู้ บริโภคที่มูลนิธิ และข้อมูลจำนวนมากที่ขณะนี้ยังไม่ได้ตรวจสอบ งบประมาณการทำงานขององค์กร ความเสียหายด้านกายภาพประเมินโดยสรุปดังนี้ ขั้นหนึ่ง ไม่มีเพลิง แต่ได้รับผลกระทบจากน้ำ ที่ไหลลงมาจากชั้นบน ชั้นสอง เสียหายประมาณ 70 % ชั้นสาม เสียหายประมาณ 90% ชั้นสี่ ไม่สามารถประเมินได้ เพราะไม่สามารถขึ้นไปดูได้ อาคาร นี้ได้รับการปรับปรุงด้วยงบประมาณจากการบริจาคของคนที่มาร่วมงานระดมทุน เมื่อปี 2549 และเงินสะสมและเงินบริจาคของมูลนิธิ ฯ ไม่น้อยกว่า 17 ปี อาคารนี้ใช้งบประมาณในการปรับปรุง ไม่น้อยกว่า 6 ล้านบาท เครื่องใช้สำนักงานก็เป็นทรัพย์สินของมูลนิธิ ฯ ที่สะสมจากการทำงานมาพวก เราเข้ามาอยู่ในอาคารนี้ 2 ปีเต็ม ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิ จำนวน 32 คน และชมรมเพื่อนโรคไตอีกประมาณ 4 คน(ไม่รวมอาสาสมัครที่เข้ามาเป็นบางวัน อีกประมาณ 6 คนมูลนิธิ ฯ มีงานสี่ส่วนที่สำคัญที่จะต้องเดินหน้า 1) การให้ความช่วยเหลือคนที่ถูกละเมิดสิทธิ และการติดตามคดีที่ให้การช่วยเหลือ แต่ละปี เราให้คำแนะนำช่วยเหลือฟ้องคดี ไม่น้อยกว่า 10,000 คน ผ่านระบบโทรศัพท์ 02-2483737 จำนวน 4 คู่สาย ซึ่งมีผู้โทรศัพท์มาขอใช้บริการทั้งวัน 2) งานสนับสนุนองค์กรผู้บริโภค ที่สนับสนุนองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ และรณรงค์นโยบาย เช่น องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญมาตรา 61 เป็นต้น 3) นิตยสารฉลาดซื้อ มีการทดสอบสินค้าและเปรียบเทียบเพื่อให้ข้อมูลผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้า 4) รายการกระต่ายตื่นตัว รายการสิทธิผู้บริโภคสำหรับเด็กในทีวีไทย (TPBS) ออกอากาศทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.05 น. ความช่วยเหลือที่ต้องการตอนนี้ที่เร่งด่วน คงมีพอประมาณนี้ สถานที่ทำงานของเจ้าหน้าที่และอาสาสมัคร ประมาณ 36 คน คอมพิวเตอร์ สำหรับเจ้าหน้าที่ในการทำงาน เนื่องจากที่นำออกมาได้ เป็น CPU ของคอมพิวเตอร์บางเครื่อง อุปกรณ์สำนักงานที่จำเป็น เช่น Printer แรงงานช่วยเคลียร์ของและขนย้าย หลังจากมีการประเมินความเสียหายและความปลอดภัยของตึกเป็นที่เรียบร้อย หลังจากนั้นก็คงต้องระดมทุนเพื่อหาเงินซ่อมแซมอาคารของมูลนิธิ ฯ เพื่อให้สามารถกลับมาใช้งานได้อีก หากใครต้องการช่วยเหลือมูลนิธิ ฯ ติดต่อได้ที่คุณเตือนใจ รอดสกุล 08-4652-6105คุณรัสนา ฐิติวงษา 08-9661-9836หรือสามารถโอนเงินสนับสนุนงานการทำงานในภาวะวิกฤตของมูลนิธิและสามารถหักลดหย่อนภาษีรายได้ประจำปี ขอขอบพระคุณความห่วงใยและความช่วยเหลือมา ณ โอกาสนี้ ---------------------------------- บัญชี "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ธนาคารกสิกรไทย สาขางามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 058-2-86735-6บัญชี "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขางามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 319-2-62123-1บัญชี "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ธนาคารกรุงไทย สาขางามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 141-1-28408-9บัญชี "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ธนาคารทหารไทย สาขางามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 026-2-40760-4บัญชี "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ธนาคารกรุงเทพ สาขาย่อยเดอะมอลล์งามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 088-0-38742-8บัญชี "มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค" ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาย่อยเดอะมอลล์งามวงศ์วาน เลขที่บัญชี 463-1-10884-6 ขอขอบพระคุณความห่วงใยและความช่วยเหลือมา ณ โอกาสนี้ สารี  อ๋องสมหวัง มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 ทรายสีเพลิง : ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้

กล่าวกันว่า ทุกครั้งที่สังคมมีการเปลี่ยนผ่านอำนาจจากยุคหนึ่งไปสู่อีกยุคหนึ่ง มักจะปรากฏให้เห็นภาพความขัดแย้งและการต่อสู้ช่วงชิงผลประโยชน์กันอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะความขัดแย้งของกลุ่มคนที่มีอำนาจหรือที่เรียกกันว่า “ชนชั้นนำ” ที่เป็นกลุ่มอำนาจเก่ากับกลุ่มอำนาจใหม่ เพื่อฉายให้เห็นภาพรอยต่อของการเปลี่ยนผ่านทางสังคม และความขัดแย้งที่ปะทุกันระหว่างกลุ่มผลประโยชน์เก่ากับใหม่เช่นนี้ เราก็อาจจะวินิจวิเคราะห์ได้จากตัวอย่างความสัมพันธ์ของตัวละครอย่าง “ทราย” (หรือ “ศรุตา”) กับ “เสาวนีย์” ในละครโทรทัศน์เรื่อง “ทรายสีเพลิง” ความขัดแย้งระหว่างทรายกับเสาวนีย์เริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นของ “ดวงตา” ผู้เป็นมารดาของทราย ที่แม้ด้านหนึ่งจะเป็นเด็กหญิงที่ถูกชุบเลี้ยงไว้ในเรือนของ “คุณหญิงศิริ พรหมาตร์นารายณ์” แต่ด้วยเหตุผลที่ว่าคุณหญิงต้องการผูกมัดดวงตาให้อยู่เป็นข้ารับใช้ตนตลอดไป คุณหญิงจึงรู้เห็นเป็นใจให้ดวงตาคบหาเป็นภรรยาลับๆ ของบุตรชายหรือ “ศก” จนกระทั่งเธอตั้งท้องลูกสาวซึ่งก็คือทรายนั่นเอง และในเวลาเดียวกัน ในวันที่ดวงตาไปคลอดลูกที่โรงพยาบาล ก็เป็นวันเดียวกับที่คุณหญิงศิริวางแผนให้ศกกับเสาวนีย์ได้แต่งงานจดทะเบียนสมรส เพื่อกำหนดสถานะความเป็นอนุภรรยาให้กับดวงตาที่ต้องอยู่ใต้อาณัติของคุณหญิงและเสาวนีย์ในเวลาต่อมา จากความขัดแย้งตั้งแต่ในรุ่นของมารดา ยังผลให้เกิดความโกรธแค้นในรุ่นของลูกสาว เมื่อทรายเองก็ถูกเสาวนีย์กลั่นแกล้งตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะกับการกล่าวโทษว่าทรายพยายามจะฆ่าน้องสาวต่างมารดาอย่าง “ลูกศร” ให้ตกน้ำจนเกือบจะเสียชีวิต เป็นเหตุให้สองแม่ลูกมีอันต้องตัดสินใจเก็บกระเป๋า ระเห็จออกจากบ้านตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ไป เมื่อวันเวลาผันผ่าน ทรายที่ไปเติบโตอยู่ในสหรัฐฯ ก็ได้กลายมาเป็นผู้ที่มั่งคั่งในฐานะทางเศรษฐกิจสังคม เธอจึงตัดสินใจเดินทางกลับมาเมืองไทย เพื่อร่วมงานศพของคุณหญิงศิริ และเพื่อดึงเสาวนีย์ให้กลับเข้าสู่เกมของการแก้แค้น จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมการเสียชีวิตของลูกศรในท้ายที่สุดของเรื่อง   ด้วยพล็อตเรื่องที่กล่าวถึงการกลับมาแก้แค้นอันเป็นผลสืบเนื่องมาแต่คนรุ่นก่อน แม้ดูผิวเผินจะไม่ใช่เนื้อเรื่องที่ใหม่นักในละครโทรทัศน์บ้านเรา แต่หากเราเชื่อว่าภาพความขัดแย้งดังกล่าว เป็นการฉายให้เห็นการต่อสู้ช่วงชิงอำนาจของชนชั้นนำในห้วงที่สังคมกำลังเปลี่ยนผ่านแล้ว โครงเรื่องทำนองนี้ก็มีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย สำหรับสังคมไทยในยุคดั้งเดิม หรืออาจเรียกเป็นอีกนัยได้ว่ายุคศักดินานั้น ชนชั้นนำเองก็คงมีทัศนะไม่ต่างจากตัวละครอย่างคุณหญิงศิริหรือเสาวนีย์เท่าใดนัก กล่าวคือ ในสังคมศักดินา อำนาจเกิดแต่บารมีและการบริหารจัดการผู้คนที่อยู่ภายใต้บารมีนั้นๆ ซึ่งก็คล้ายกับคุณหญิงศิริ ที่ด้วยฐานานุรูปและฐานันดรศักดิ์ เธอก็เลือกที่จะขอเด็กหญิงดวงตาจากพ่อแม่ชาวสวนมาอุปถัมภ์เลี้ยงดูจนเติบโต แต่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบศักดินานั้น คุณหญิงได้ใช้กลวิธีซื้อใจให้ดวงตายอมอยู่ใต้อาณัติ ด้วยการส่งเสียให้เธอเรียนพยาบาล เพื่อที่ว่ามารดาของทรายจะยอมสวามิภักดิ์ และ “อาสาเจ้าจนตัวตาย อาสานายจนพอแรง” โดยไม่สนใจว่าลึกๆ แล้ว มนุษย์ที่เป็นแรงงานภายใต้ระบบอุปถัมภ์ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความไม่เท่าเทียมดังกล่าว จะมีความรู้สึกนึกคิดเช่นไร แบบเดียวกับที่คุณหญิงเคยกล่าวกับศกเพื่อให้ทรายได้ยินด้วยว่า “ดวงตามันเลี้ยงไม่เชื่อง มันเป็นคนทะเยอทะยาน ถ้ามันไม่รักไม่หวังในตัวลูกอยู่ล่ะก็ มันคงไม่อยู่ให้แม่ใช้จนป่านนี้หรอก แม่ถึงบอกให้...ร้อยมันไว้ใช้เถิด ไม่เสียหายอะไรหรอก...” แต่ทว่า เมื่อสังคมศักดินาเริ่มอ่อนอำนาจลง ทุนทรัพย์ที่ได้สั่งสมมาก็มีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้เพื่อรักษาบารมีและฐานานุรูปเอาไว้ เหมือนกับที่ตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ก็ต้องขายสมบัติชิ้นแล้วชิ้นเล่าจนเกือบหมดตัว เพียงเพื่อรักษาสุขภาพ(และหน้าตา)ของคุณหญิงศิริในช่วงบั้นปลายชีวิต ในทางกลับกัน ตัวละครอย่างทรายก็ไม่ต่างไปจากภาพตัวแทน “the rise” ของระบบทุนนิยมใหม่ในท่ามกลาง “the fall” ของกลุ่มอำนาจเก่าที่กำลังร่วงโรยและอ่อนกำลังลง สำหรับชนชั้นนำในระบบทุนนิยมใหม่นั้น มักเน้นการสั่งสมทุนในหลายๆ แบบ เฉกเช่นทรายที่ไม่เพียงแต่เป็นตัวแทนของทุนไทยที่ไปประสานผลประโยชน์กับทุนนิยมตะวันตก (เหมือนตัวละครที่บัดนี้ได้กลายไปเป็นลูกเลี้ยงของนายทุนอเมริกันอย่าง “ดอน”) เท่านั้น เธอยังสั่งสมทุนความรู้จากต่างประเทศด้วยการจบมหาวิทยาลัยชื่อดังของสหรัฐฯ สั่งสมทุนชื่อเสียงเกียรติยศในแวดวงสังคมชั้นสูง รวมถึงบริหารจัดการเสน่ห์และเรือนร่างให้กลายเป็นทุนอีกชนิดหนึ่งเช่นกัน และในขณะที่ชนชั้นนำเดิมเลือกใช้วิธีการ “ร้อย” คนเอาไว้ใช้เป็นแรงงาน ระบบทุนนิยมแบบใหม่กลับเลือกใช้ทุนเป็นอำนาจเพื่อขูดรีดผู้คนและตอบโต้กับกลุ่มชนชั้นนำเก่า เหมือนกับที่ทรายเคยกล่าวไว้เป็นนัยกับมารดาว่า “แม่บอกทรายเสมอว่าเราสองไม่ต่างจากกรวดหินดินทรายในบ้านเขา แม่ถึงตั้งชื่อทรายว่าทรายเพื่อเตือนใจเรา” เพราะฉะนั้น “…ทรายจะเอาคืนทุกอย่างที่ควรเป็นของทราย” ดังนั้น เมื่อทุนเป็นเครื่องมือนำมาซึ่งอำนาจ ทรายจึงเริ่มบริหารทุนของเธอ ตั้งแต่ใช้เสน่ห์ยั่วยวน “พัชระ” คู่หมั้นของน้องสาว จนเขาถอนหมั้นกับลูกศรในที่สุด ใช้เม็ดเงินซื้อคฤหาสน์ของตระกูลพรหมาตร์นารายณ์ในช่วงที่ศกกำลังร้อนเงิน หรือแม้แต่หลอกใช้ผู้ชายที่ภักดีต่อเธอยิ่งอย่าง “ฌาน” เพื่อให้เป็นเพียงหมากตัวหนึ่งในเกมการแก้แค้นกับเสาวนีย์ บนสงครามระหว่างอำนาจเก่ากับกลุ่มทุนใหม่เช่นนี้ ฉากสุดท้ายก็มักจะนำไปสู่โศกนาฏกรรมของผู้คนที่แม้จะไม่ได้เป็นคู่สงครามในสมรภูมิ แต่ก็มักกลายเป็นผู้สูญเสียด้วยเช่นกัน เฉกเช่นตัวละครอย่างฌาน พัชระ หรือแม้แต่น้องสาวที่ใสซื่อไร้เดียงสาอย่างลูกศรผู้ที่ต้องจบชีวิตลงในตอนท้ายเรื่อง แม้ในบทสรุปของ “ทรายสีเพลิง” ตัวละครต่างๆ จะได้บทเรียนว่า ความขัดแย้งของกลุ่มอำนาจนั้น จะคลี่คลายได้ก็เพียงแต่ขั้วอำนาจที่ต่อสู้ขัดแย้งกันยินยอมจะ “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” ให้กันและกัน หรือแม้ “บุรี” ผู้ชายที่ทรายแอบรักมาตั้งแต่วัยเยาว์จะกล่าวเป็นอุทาหรณ์เตือนใจว่า “ชีวิตมันไม่เหมือนจิ๊กซอว์ จะหยิบชิ้นไหนมาต่อผิดต่อถูกโดยไม่ต้องคิดก็ได้ เพราะถึงต่อผิด ก็มีโอกาสเลือกชิ้นใหม่มาต่อ แต่ชีวิต...ถ้าพลาดแล้วก็พลาดเลย ไม่มีโอกาสเปลี่ยนมาเริ่มต้นทำใหม่ได้อีกครั้ง” แต่คำถามก็คือ ความขัดแย้งที่เป็นเกมอำนาจในชีวิตจริงนั้น คำว่า “ขอโทษ” และ “อโหสิกรรม” จะเป็นคำตอบได้เพียงไร หรือในสงครามของคู่ความขัดแย้งในช่วงการเปลี่ยนผ่านทางสังคมแบบนี้ ทั้งสองฝ่ายจะยังเดินหน้าร้องครวญเป็นเพลงต่อไปว่า “ชาตินี้ที่รัก เราคงรักกันไม่ได้...”

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point