ฉบับที่ 117 สื่อลามกกับ 3G เอาไงกันดี

ขณะที่ผู้เขียนนั่งเขียนบทความนี้ เรื่องที่ศาลมีคำสั่งว่า กทช. ไม่มีอำนาจจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G  อันเป็นเหตุให้การประมูล 3G เป็นอันชะงักไป  และทำให้แฟนคลับที่รอคอย ฝันค้างไปตามๆ กัน  เพราะหลายคนคิดว่าประเทศไทยเสียโอกาสในการพัฒนาการสื่อสารให้เท่าเทียมนานาอารยะประเทศไปอย่างน่าเสียดาย ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย  แต่...มีวันหนึ่งผู้เขียนนำรถเข้าซ่อมที่ศูนย์รถบริษัทหนึ่ง และมีโอกาสหยิบหนังสือดารา(ไม่เคยอ่านหนังสืออย่างนี้)ที่ชื่อทีวีพูลมาอ่าน  อ่านไปๆ ก็ไม่มีอะไรมีแต่เรื่องราวของดาราก็อ่านไปเพลินๆ จนถึงท้ายเล่ม  เห็นแล้วรู้สึกตกใจมาก  เฮ้ย...นี่มันอะไรกัน เพราะหลายแผ่นด้านหลังซึ่งเป็นภาพสี่สีสวยงาม มีแต่การโฆษณาเชิญชวนให้โหลดคลิปโป๊ มีทั้งภาพพร้อมคำบรรยาย เร่าร้อนประกอบ ทั้งคลิปร่วมเพศ ชายรักชาย หญิงกับหญิง ชาย-หญิง ภาพโป๊เปลือยมากมาย ทั้งภาพจริงภาพการ์ตูน เห็นแล้วตกใจมากนี่เขาเล่นกันอย่างนี้เลยหรืออดไม่ไหวเลยไปหยิบอีกหลายเล่มมาดู ทั้งหนังสือกอสซิป ดาราภาพยนตร์ และอื่นๆ ที่เกี่ยวกับดารามากมาย ฯลฯ ไม่เว้นแม้แต่ คู่สร้าง- คู่สม  และการ์ตูนขายหัวเราะเชื่อว่าการ์ตูนอื่นๆ ก็น่าจะมี(ขออภัยหนังสือที่เอ่ยชื่อไปคือที่เห็น ณ วันนั้น)   นี่มันอะไรกัน...หนังสือเหล่านี้ ส่วนใหญ่ตลาดของหนังสือเหล่านี้อยู่ที่กลุ่มเยาวชนทั้งนั้น หนังสือเหล่านี้เขาต้องการสื่อสารอะไรกับเยาวชนเนี้ย...ตอนที่เห็นครั้งแรกบอกตรงๆ ว่ารู้สึกโกรธหน่วยงานที่มีหน้าที่ดูแลเรื่องนี้มาก...  โดยเฉพาะเจ้าของหนังสือที่เราขอประณามว่า “ขาดจิตสำนึกของคำว่าสื่ออย่างสิ้นเชิง”   เพราะการลงโฆษณาเยี่ยงนี้ ไม่เกิดผลดีกับฝ่ายใดเลย  มีแต่ส่งผลร้ายต่อเยาวชนและสังคม  จึงกลับมาคิดว่าการประมูล 3G ยังไม่เกิดก็ดีเหมือนกัน  เพราะประเทศไทย ไม่เคยเตรียมความพร้อมในเรื่องการป้องกันใดๆ เลยมีแต่จะตะลุยไปข้างหน้า ตามข้ออ้างต้องให้ทันประเทศเพื่อนบ้าน  แต่การออกมาตรการมาป้องกัน  “ไม่มี” เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของประเทศถูกทำร้ายถูกมอมเมาด้วยเรื่องเหล่านี้อนาคตของประเทศจะเป็นอย่างไร ทั้งๆ ที่เรามีหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้องมากมาย     หลายคนบอกว่าตนเองเป็นเครือข่ายพ่อ-แม่  เป็นเครือข่ายพัฒนาการศึกษา เครือข่ายเฝ้าระวังสื่อ  สมาคมสื่อ  แต่กลับละเลยปล่อยให้มีการโฆษณาสิ่งเหล่านี้เกลื่อนตลาดหาซื้อได้ง่ายกว่าลูกอมเสียอีก  กระทรวงวัฒนธรรมก็เที่ยวได้ทำอะไรไม่รู้ ดีแต่ลุกขึ้นมาพูดเรื่องการใช้ภาษาของเยาวชนกลัวจะใช้ไม่ถูกต้อง หรือตามแบนละครหนังก็ว่าไปตามเรื่อง   แต่กลับปล่อยให้มีการโฆษณาเว็บโป๊เว็บลามกอนาจารบนหน้าผาก(ปลายจมูกมันน้อยไป) จนเกิดคดีทางเพศในกลุ่มเยาวชนมากมาย  แต่ถ้าให้ยุติธรรมจริงจะโทษหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเดียวก็ไม่ได้ ประชาชนผู้บริโภคอย่างเราๆ ก็ควรมีส่วนช่วยแจ้งเบาะแส ไม่ใช่เห็นแล้วเฉยๆ กันอย่างนี้   เขียนเรื่องนี้แล้วทั้งเหนื่อยและสะท้อนใจจริงๆ ฉันจะฝากใครดี

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 111 สาวใหญ่โดน SMS ลามก

“พี่สาวได้รับเอ็มเอ็มเอสเป็นภาพลามกค่ะ”น้องตู่(นามสมมติ) ร้องเรียนเข้ามาทางเว็บไซต์ของมูลนิธิฯ“ได้ติดต่อไปทางคอลเซนเตอร์ 1175 บริษัทเอไอเอสที่เป็นเจ้าของเครือข่ายที่พี่สาวใช้อยู่บอกว่าทำอะไรไม่ได้ ขอให้เราไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน พอแจ้งเสร็จก็ไปที่บริษัทเอไอเอสสาขาสุราษฎร์ธานี พนักงานไม่ยอมรับเรื่องค่ะ บอกว่าต้องพาเจ้าหน้าที่ตำรวจระดับพันโทมาด้วย พนักงานถามอยู่คำเดียวจะบล็อกหมายเลขมั้ย และลูกค้าก็ต้องจ่ายเองจำนวนสามสิบบาท แล้วเราถามไปถามมา พนักงานบอกว่าบล็อกได้แต่สายโทรเข้า“เขาไม่สนใจว่าจุดประสงค์ของเราคือ ต้องการทราบว่าใครเป็นคนส่งมา เพราะพี่สาวไม่เคยมีเรื่องกับใคร”การบล็อกเบอร์ไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา เพราะไปอ่านเจอตามเว็บต่างๆ หลายคนก็เจอปัญหาแบบนี้เหมือนกัน ต้องทนกล้ำกลืน นี่ยังไม่รวมบรรดาเอสเอ็มเอสขยะทั้งหลาย ทำอะไรได้บ้างคะ แนวทางแก้ไขปัญหากรณีที่ร้องเรียนมาถือว่าเป็นการกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2540 มาตรา 14 (4) มาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ(1) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน (2) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความ ตื่นตระหนกแก่ประชาชน (3) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา (4) นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามกและข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นประชาชนทั่วไปอาจเข้าถึงได้ (5) เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ตาม (1)(2) (3) หรือ (4)เรื่องนี้เป็นความผิดทางอาญาเบื้องต้นต้องไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจและให้แจ้งข้อกล่าวหาตามที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อแจ้งความแล้วให้นำหลักฐานการแจ้งความไปยื่นร้องเรียนกับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารหรือไอซีที เมื่อเป็นคดีความแล้วไอซีทีสามารถไปสืบค้นข้อมูลกับบริษัทผู้ให้บริการมือถือว่าใครเป็นคนปล่อยข้อมูลมาเข้าเครื่องของเราได้ การไปร้องเรียนโดยตรงกับบริษัทมือถือ บริษัทมือถือจะทำได้แค่การช่วยบล็อกเบอร์โทรศัพท์ที่มีปัญหา แต่ไม่สามารถจะแจ้งข้อมูลของคนที่ส่งเอสเอ็มเอสต่อบุคคลที่สามได้ เพราะอาจจะมีความผิดเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและไม่ปกปิดข้อมูลของลูกค้า ใครที่ประสบปัญหาในลักษณะนี้แนะนำให้ทำตามขั้นตอนที่ว่ามาหากต้องการสืบหาคนกระทำผิดอย่างจริงจังครับ

อ่านเพิ่มเติม >