ฉบับที่ 128 ลาภปาก ลาบปลา

  นี่ถ้าบ้านฉันน้ำท่วม เมนูตอนนี้ที่นึกได้ คงจะเป็นเมนูต้นฉบับเป็นอาหารดัดแปลงจากมาม่า และปลากระป๋องแน่ๆ เดชะบุญที่บ้านที่ฉันกับแม่มาอาศัยเขาอยู่ เป็นที่ดอนกว่าใครในตลาด มิฉะนั้นแล้วฉันคงไม่วายต้องเดินลุยน้ำย่ำโคลน เจออีกสารพัดปัญหาจากน้ำท่วมบ้านอย่างกับอีกหลายคนในตลาดผักไห่  ปีนี้ข่าวน้ำท่วมที่นี่ดูจะหนักหนากว่าปีที่แล้วและมีข่าวดังออกมาปรากฏอย่างแพร่หลายทั้งสื่อทีวี หนังสือพิมพ์ ไล่เรียงมาตั้งแต่ข่าวชาวบ้านริมน้ำทะเลาะกับชาวนา เพื่อให้เปิดประตูน้ำระบายหลังจากน้ำท่วม ข่าวนี้ดังอยู่ 3 วันติดต่อกันโดยเริ่มตั้งแต่วันแรกของเดือนกันยายนที่ผ่านมา  วันแรก ชาวนาลาดชะโด 100 คน พากันมาต้านกำลังกลุ่มชาวบ้านริมน้ำใน อ.ผักไห่หลายตำบลรวมกันราว 300 คน ซึ่งกลุ่มหลังนี่ต้องการให้ชลประทานเปิดประตูน้ำให้น้ำที่ท่วมบ้านเรือนริมคลองแม่น้ำน้อยได้ผ่อนระดับลงหลังจากน้ำท่วมมากว่า 2 สัปดาห์ ส่วนฝ่ายแรกขอประวิงเวลาเพราะว่าข้าวยังเขียวไม่ได้อายุเกี่ยว แม้การเจรจาวันแรกจะมีการโต้คารมกันอย่างดุเดือด นานกว่า 2 ชั่วโมง สุดท้ายก็ตกลงกันได้ที่จะเปิดประตูน้ำระบายลงนาในระดับที่ชาวนายังไม่ได้รับผลกระทบเสียหาย  หลังจากเจรจาวันแรกผ่านไป ชาวนาหลายคนที่ใกล้เกี่ยวข้าวตัดสินใจเกี่ยวข้าวเขียวไปก่อนเพราะกลัวน้ำมา อย่างกรณีของ สมยศ เขายอมเกี่ยวข้าว 8 ไร่ที่ยังเขียวในคืนวันนั้นและขายได้เพียงตันละ 6,500 บาท ถูกกว่าที่ควรจะได้ในราคา 9,300 – 10,000 บ. หากข้าวเหลืองตามกำหนดเดิม ซึ่งต้องรออีกราว 1 สัปดาห์ หรือในกรณีหญิงอีกรายที่นา 15 ไร่ กำหนดเกี่ยว 8 กันยายน แต่เมื่อข้อตกลงจะปล่อยน้ำเข้ามาเป็นอย่างนั้น เธอตัดสินใจคว้าสารเคมีที่โฆษณาว่าเป็น “สารเร่งเหลือง” มาใช้ร่วมกับยาจับใบในวันรุ่งขึ้น ที่ฟ้าครึ้มทะมึน เพื่อที่เธอจะสามารถได้เกี่ยวข้าวได้ไวขึ้นภายใน 3 วัน เธอต้องลงทุนเพิ่มอีกทั้งค่ายาราว 1,000 บาท กับค่าจ้างฉีดในอัตราไร่ละ 50 บาท ของเธอ ไม่อย่างนั้นแล้วทุนและแรงที่ลงไปก่อนหน้านี้คงจะล่มจมและละลายไปกับน้ำ   พอดีกว่า ชีวิตชาวนาธรรมดาๆ รันทด ดราม่า มีให้เรารับรู้มาเยอะแล้ว พอๆ กับเหตุน้ำท่วมซ้ำซากรอบกรุงเทพฯ และถึงแม้ฉันจะอยากให้พวกเขาชาวนามีชีวิตที่ดีกว่านี้ แต่ฉันก็รับรู้เงื่อนไขในการเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำนาอินทรีย์ดีว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ แค่ความคิดอยากจะเปลี่ยนอย่างเดียวมันยังทำอะไรไม่ได้ เพราะใครๆ ก็รู้ว่าระบบทุนมีอิทธิพลมากมายแค่ไหนในการลงแรงลงใจไปกับการปฏิวัติรูปแบบการทำนา ในขณะที่ช่องทางการค้าข้าวของชาวนากลุ่มที่ไม่เป็นที่รู้จักและเดินได้อย่างเชิดหน้าชูตาในตลาดกรีนของพวกเขาก็มีเพียงจุดประเล็กๆ ไม่ได้เป็นเส้นกว้างทางโล่งอย่างชาวนาเซเลบหรือชาวนาอินทรีย์ดั้งเดิมที่ทำกันมาก่อนหน้านี้จนเป็นที่รู้จัก  เอาเถอะ จะเขียนลาบปลา ไม่ใช่ว่าจะมาลาบเลือดสักหน่อย  เพื่อนเลิฟชาวนาของฉัน เธอทำนาต้นทุนต่ำเพราะขี้เกียจแข่งกับตลาดกรีนและมีปัญหาในการหาแรงงานในการจัดการหญ้าได้ยากเสมอ ดูเธอจะปล่อยวางเรื่องนี้ได้มากกว่าฉันที่เป็นเพียงผู้เฝ้าสังเกตชาวนาเสียอีก เธอเป็นคนแนะนำเมนูลาบปลานี้ให้ มี 2 แบบ แบบที่ 1 เป็นลาบปลาช่อน ใช้ปลาช่อนแร่เอาแต่เนื้อ เลาะก้าง กระดูกออก แล้วทอดให้กรอบ พักไว้ จากนั้นเตรียมเครื่องปรุงลาบ เครื่องลาบมีพริกขี้หนูคั่วป่น ข้าวคั่วป่น มะนาว น้ำปลา ซอยหอมแดง ผักชีใบยาว ใบมะกรูด และที่ขาดไม่ได้คือต้นตะไคร้ซอย เธอยังบอกอีกว่า ถ้าเปลี่ยนน้ำปลาเป็นน้ำปลาร้าต้มก็จะให้รสอร่อยแบบนัวได้อย่างตรงใจเธอมากกว่าโดยไม่ต้องพึ่งพาผงชูรส ตอนจะกินเอาปลาช่อนทอดแล้วเรียงให้เหมาะใจในจานใบสวยแล้วปรุงเครื่องราด เท่านี้ก็พร้อมกินอร่อยได้แล้ว เลือกเอากันเองละกันนะคะว่าจะใช้แบบที่ 1.1 ที่ปรุงรสเค็มด้วยน้ำปลา หรือจะเลือกแบบ 1.2 ที่ใช้น้ำต้มปลาร้านัวๆ ตามสไตล์ใครสไตล์มัน แบบที่ 2 ลาบปลาดุก ฉันรีเควสท์สูตร ที่กินบ่อยๆ ในร้านส้มตำ เธอว่า เครื่องปรุงลาบก็มี พริกขี้หนูคั่วป่น น้ำปลาร้า ซอยผักชีใบยาว และต้นหอม ส่วนหอมแดงที่เมนูเมื่อกี้ใช้สด แต่แบบที่ 2 นี้ต้องเอาไปเผา เผาไฟอ่อนพร้อมๆ กันกับข่าและพริกขี้หนูแห้ง วิธีปรุง ใส่หอมเผา 3 – 4 หัว ลงครก หั่นข่าเผาเป็นแว่นสัก 3 – 4 แว่นลงไปตำคู่กันพอแหลก แล้วแกะเอาแต่เนื้อปลาดุกย่างตัวเขื่องใส่ลงไป ตำคลุกเคล้าให้เข้ากัน ปรุงรสด้วย พริกขี้หนูคั่วป่น มะนาว น้ำปลาร้า ใส่ผักชีใบยาวและต้นหอมซอย บอกเคล็ดอร่อยอีกนิดก่อนที่ฉันจะไปกินลาบสูตรของเพื่อนชาวนา เธอว่าปลาร้ากระดี่ที่ซื้อมา เทใส่หม้อเล็กๆ แล้วเจือน้ำตั้งไฟต้ม ก่อนต้มตำใบหม่อนใส่ลงไปสัก 2 – 3 ใบ ต้มไว้สัก 5 นาที คราวนี้ก็มีน้ำสต็อกแบบลาวๆ ไว้ปรุงรสอร่อยสมใจแล้วล่ะคะคุณขา

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point