ฉบับที่ 261 แจ้งขอความช่วยเหลือการล่วงละเมิดทางเพศทางเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com

        ปัจจุบันสื่อโซเชียลมีเดียมีอิทธิพลกับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเด็กวัยรุ่นที่มักมีความสนใจและความอยากรู้อยากลอง จึงเป็นกลุ่มที่ชอบติดตามโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ ชอบการสื่อสารโต้ตอบกันผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถรู้จักเพื่อนใหม่ทางโซเชียลมีเดียได้อย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้โซเชียลมีเดียก็กลับกลายเป็นแหล่งรวมโจรที่พร้อมจะหลอกกลุ่มวัยรุ่นนี้ได้เช่นกัน อาจด้วยความเยาว์วัย รู้เท่าไม่ถึงการณ์ กล้าได้กล้าเสีย ความคึกคะนอง ฯลฯ เหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดทางเพศแบบไม่รู้ตัว         นอกจากกลุ่มวัยรุ่นที่กล่าวมาแล้วนั้น กลุ่มผู้ใหญ่ที่ไม่มีความรู้เท่าทันโซเชียลมีเดียก็ออาจพบเจอกับอาชญากรรมด้านการล่วงละเมิดทางเพศได้ไม่ต่างกัน         สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ได้ทำโครงการประชารัฐยุติธรรมนำเด็กปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขจัดการปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต ได้จัดทำเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com มารับข้อร้องเรียนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและสื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์ ซึ่งเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะดำเนินการช่วยเหลือได้ทันที         เมื่อต้องการความช่วยเหลือให้เปิดเว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com กดเลือกที่เมนูที่ชื่อว่า แจ้งเหตุและติดตาม ด้านบนหน้าจอ จากนั้นหน้าจอจะให้เลือกประเภทการแจ้งเหตุ กดเลือกขอความช่วยเหลือสำหรับต้องการร้องเรียนปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตและสื่อลามกอนาจารเด็กทางออนไลน์         เริ่มกรอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัว โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ข้อมูลของผู้แจ้งเบาะแส ได้แก่ ชื่อ นามสกุล ชื่อเล่นหรือนามแฝง เบอร์ติดต่อ ต่อด้วยข้อมูลผู้ถูกละเมิด และข้อมูลผู้ละเมิด พร้อมทั้งรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ความสัมพันธ์ สิ่งที่กังวล สิ่งที่อยากให้ช่วย รูปแบบการล่วงละเมิดที่เกิดขึ้น         ทั้งนี้ข้อมูลที่แจ้งไปนั้นจะถูกเก็บเป็นความลับ และเจ้าหน้าที่จะได้นำไปสืบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด แต่ถ้ามีการให้ข้อมูลเพื่อกลั่นแกล้งกันหรือเรียกว่าการให้ข้อมูลเท็จต่อเจ้าพนักงาน เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือเพื่อให้ผู้อื่นต้องรับโทษนั้น จะมีความผิดอาญา ซึ่งมีโทษทั้งจำและปรับ         หลังจากแจ้งขอความช่วยเหลือผ่านเว็บไซต์เรียบร้อยแล้ว ผู้แจ้งสามารถเข้ามากดเลือกเมนูติดตามผลการแจ้งเบาะแส เพื่อติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง         นอกจากการแจ้งขอความช่วยเหลือการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ตแล้ว เว็บไซต์ www.คลิปหลุดทำไง.com ยังมีช่องทางให้แจ้งเบาะแสทั่วไปได้อีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >


ฉบับที่ 244 วิธีรับมือกับการทวงหนี้

        เจษเป็นหนี้บัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวนเงินประมาณ 70,000 บาท ต่อมาเขาผิดนัดชำระ เพราะมีปัญหาทางด้านการเงินไม่สามารถหมุนเงินเพื่อมาชำระหนี้ได้ ตอนนี้เขาผิดนัดมาประมาณ 2-3 งวด แต่ว่าตอนนี้มีบริษัท บริหารทรัพย์สิน เจ จำกัด ซึ่งรับซื้อหนี้มาจากธนาคารไทยพาณิชย์ได้โทรมาหาเขา และเรียกให้เขาชำระหนี้ พอเขาบอกว่าไม่มีชำระก็เริ่มพูดจาไม่ดี บอกว่าถ้าไม่ชำระจะไปเข้าหาผู้อำนวยการหรือผู้จัดการของเขาที่บริษัท ให้ทราบว่าไม่ควรมีพนักงานที่คิดโกงเจ้าหนี้ ซึ่งเขาคิดว่ามันไม่ถูกต้องถ้าทวงหนี้ไม่ได้เจ้าหนี้ควรจะฟ้องศาลจะถูกต้องกว่า เขาจึงขอคำปรึกษาว่า จะมีทางไหนที่จะร้องเรียนหน่วยงานที่เอาเปรียบประชาชนเช่นนี้ แนวทางการแก้ไขปัญหา         ปัจจุบันมีกฎหมายทวงหนี้คือ พ.ร.บ. ทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 ออกมาใช้บังคับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่คุ้มครองลูกหนี้ไม่ให้มีการทวงหนี้โดยละเมิดสิทธิของลูกหนี้ เช่น พูดจาหยาบคาย ดุด่า หรือนำความลับของลูกหนี้ไปบอกกับบุคคลที่ 3  ซึ่งถือเป็นการผิดกฎหมายอาญาฐานหมิ่นประมาท หรือประจาน มีโทษขั้นต่ำคือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และโทษสูงสุดคือจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ         เพราะฉะนั้นถ้าผู้ร้องหรือลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้เข้ามาทวงถามหนี้แบบผิดกฎหมาย ผู้ร้องสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจในพื้นที่ ซึ่งผู้ร้องจะต้องรวบรวมหลักฐานการทวงหนี้ผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นคลิปเสียงที่เจ้าหนี้โทรศัพท์เข้ามาด่า หรือพูดจาหยาบคาย จดหมายที่เขียนมาข่มขู่ ตลอดจนหลักฐานอื่นๆ ที่เกิี่ยวข้อง นำไปแจ้งความในคดีอาญาเพื่อให้ตำรวจดำเนินการตามกฎหมาย นอกจากแจ้งความที่สถานีตำรวจแล้วผู้ร้องยังสามารถแจ้งได้ที่ กรมการปกครอง สำนักงานคณะกรรมการทวงหนี้ประจำจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ กองบัญชการตำรวจนครบาลอีกด้วย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 221 ความยินยอมไม่เป็นละเมิด

        อย่างที่เรารู้กันว่าคนไทยเราชอบอะไรง่ายๆ เรื่องเล็กน้อย ก็ยอมๆ กันได้ เช่น ข้างบ้านมาสร้างรั้วล้ำมาในเขตบ้านเรา แต่เราเห็นว่านิดๆ หน่อยๆ ก็ปล่อยยอมให้เขาสร้าง เช่นนี้เขาก็ถือว่าสร้างโดยเรายินยอม จึงไม่ผิด หรือมีคนมาหยิบหนังสือเราไปอ่าน เราก็ไม่ได้ทักท้วงอะไร เขาก็ไม่ผิด แต่รู้ไหมว่า การยินยอมบางอย่างมันมีผลทางกฎหมายด้วยนะครับ         ผมขอยกตัวอย่างในคดีทางการแพทย์ อย่างที่รู้เราไปหาหมอให้เขารักษา เท่ากับเรายินยอมให้เขารักษา เพราะเขาต้องใช้เครื่องมือแพทย์กับร่างกายเรา ทั้งเจาะร่างกาย ใช้เข็มแทง ผ่าตัด วางยาสลบ และเขาก็ยินยอมรักษาให้เรา หากภายหลังพบว่า หมอเขารักษาไม่ดี เช่นนี้จะถือเอาความยินยอมของเรา มาอ้างเพื่อพ้นความรับผิดได้ไหม เรื่องนี้ มีคำพิพากษาของศาลฎีกาตัดสินไว้ว่า แม้จะได้รับความยินยอมแต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของหมออันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ หมอก็ต้องรับผิดต่อโจทก์                     คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2552        การตรวจร่างกายของผู้ป่วยถือเป็นขั้นตอนสำคัญในการที่แพทย์จะวินิจฉัยโรคว่าผู้ป่วยเป็นโรคอะไร พยาธิสภาพอยู่ที่ไหนและอยู่ในระยะใดเพื่อจะนำไปสู่การรักษาได้ถูกต้อง ในขั้นตอนนี้แพทย์จักต้องใช้ความระมัดระวังตามวิสัยและพฤติการณ์มิให้เกิดความผิดพลาดขึ้นได้ เพราะอาจนำมาซึ่งอันตรายที่จะเกิดแก่ร่างกายหรือชีวิตของผู้ป่วยในขั้นตอนการรักษาที่ต่อเนื่องกัน การที่จำเลยที่ 3 มิได้ตรวจดูอาการของโจทก์ตั้งแต่แรกเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล...ด้วยตนเอง แต่วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษาอาการของโจทก์ตามที่ได้รับรายงานทางโทรศัพท์จากพยาบาลแทนโดยไม่ได้ตรวจสอบประวัติการรักษาของโจทก์ด้วยตนเอง แม้จำเลยที่ 3 จะสอบถามอาการและประวัติการรักษาของโจทก์จากพยาบาลก่อนที่พยาบาลจะฉีดยาให้แก่โจทก์เพื่อทำการรักษา ก็มิใช่วิสัยของบุคคลผู้มีวิชาชีพเป็นแพทย์จะพึงกระทำ ทั้งห้องแพทย์เวรกับห้องฉุกเฉินที่โจทก์อยู่ห่างกันเพียง 20 เมตร และไม่มีเหตุสุดวิสัยอันทำให้จำเลยที่ 3 ไม่สามารถมาตรวจวินิจฉัยอาการของโจทก์ได้ด้วยตนเอง ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 ประมาทเลินเล่อ เมื่อพยาบาลได้ฉีดยาบริคานิลให้แก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ 3 สั่งการหลังจากนั้นโจทก์มีอาการแพ้ยาอย่างรุนแรงโดยโจทก์ไม่มีอาการเช่นว่านั้นมาก่อน จึงเป็นผลโดยตรงจากการกระทำของจำเลยที่ 3 ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์        ความยินยอมของโจทก์ที่ให้จำเลยที่ 3 ทำการรักษาแม้จะเป็นการแสดงออกให้จำเลยที่ 3 กระทำต่อร่างกายของโจทก์เพื่อการรักษาได้ แต่หากการรักษานั้นไม่ได้เป็นไปตามมาตรฐานแห่งวิชาชีพแพทย์ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ร่างกายของโจทก์ ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 3 อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ จำเลยที่ 3 ก็ต้องรับผิดต่อโจทก์ โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ 1 อันเป็นหน่วยงานของรัฐให้รับผิดต่อโจทก์ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 3 ได้กระทำในการปฏิบัติหน้าที่ได้        ค่าทนทุกข์ทรมานระหว่างเจ็บป่วย ค่าเสียสมรรถภาพในการมองเห็นและค่าสูญเสียความสวยงามของโจทก์ถือได้ว่าเป็นความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 446        อย่างไรก็ตาม การยินยอมก็ต้องมีขอบเขต ถ้าเป็นการยินยอมที่ต้องห้ามตามกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ก็เป็นละเมิดต้องรับผิด เช่น กรณีผู้เสียหายยินยอมมีเพศสัมพันธ์ แต่เมื่อผู้เสียหายอายุไม่เกิน 15 ปี กฎหมายบัญญัติเป็นความผิด การยินยอมก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ  จึงถือว่ากระทำละเมิด ผู้เสียหายมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทน            คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8932/2557                ป.อ. มาตรา 277 วรรคแรก บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำชำเราเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีซึ่งมิใช่ภริยาหรือสามีของตน โดยเด็กนั้นจะยินยอมหรือไม่ยินยอมเป็นความผิด" แสดงว่า กฎหมายมุ่งคุ้มครองเด็กอายุน้อยเป็นกรณีพิเศษโดยไม่ให้ความสำคัญแก่ความยินยอมของเด็ก ดังนั้น แม้ผู้เสียหายที่ 3 ยินยอมมีเพศสัมพันธ์กับจำเลย การกระทำของจำเลยก็ยังเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อกฎหมาย จึงยังคงเป็นการละเมิดต่อผู้เสียหายที่ 3 ตาม ป.พ.พ. มาตรา 420 โจทก์ร่วมในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เสียหายที่ 3 ย่อมมีสิทธิยื่นคำร้องขอเรียกค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 44/1 ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 217 คู่มือบริโภคศึกษา

15 มีนาคมของทุกปี ถือเป็น “วันสิทธิผู้บริโภคสากล ซึ่งในปีนี้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นองค์กรสมาชิกของ สหพันธ์ผู้บริโภคสากล (Consumers International) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ จัดสมัชชาผู้บริโภคประจำปี 2562 ขึ้นเมื่อวันที่ 14-15 มีนาคม ที่ผ่านมา โดยปีนี้เป็นการรณรงค์ต่อเนื่องจากปี 2561 ในประเด็นการสร้างความมั่นใจและความยุติธรรมแก่ผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์อัจฉริยะในยุคดิจิทัล “Trusted Smart Product” นั้น เป็นความจำเป็นสำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน โดยเฉพาะเยาวชนที่จะเป็นพลังที่สำคัญของผู้บริโภคในวันข้างหน้า ฉลาดซื้อฉบับนี้ขอพาไปรู้จักกับคู่มือบริโภคศึกษา คู่มือสำหรับผู้บริโภควัยเยาว์ ผ่านมุมมองของนักสิทธิผู้บริโภครุ่นใหม่          รศ.รุจน์ โกมลบุตร ประธานคณะทำงานคู่มือบริโภคศึกษา รองประธานคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน เล่าถึงความสำคัญและความจำเป็นของวิชาบริโภคศึกษาว่า เป็นกิจกรรมที่ริเริ่มขึ้นเพื่อส่งเสริมผู้บริโภคและมีความพยายามที่จะผลักดันเรื่องนี้เข้าไปสู่โรงเรียน โดยเริ่มจากการชวนเครือข่ายภาคประชาสังคมมาร่วมด้วยช่วยคิด ตั้งเป้าหมายว่าอยากจะเริ่มสอนในโรงเรียนก่อน จึงเริ่มทำร่างขึ้นมาประมาณ 16 หัวข้อ ต่อมาจึงชวนนักเรียนมาเข้าค่ายเป็นเวลา 3 วัน 2 คืนผ่านการทำกิจกรรม และนำมาสรุปผล หาจุดอ่อนจุดแข็งของร่างหลักสูตรนี้ เมื่อนำมาปรับให้เป็นหลักสูตรการสอนแล้วจึงนำร่องไปลองใช้สอนใน 7 โรงเรียน ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีจากทั้งคุณครูและนักเรียน แต่อาจมีเรื่องที่คุณครูจะต้องเตรียมการสอนเพิ่มขึ้นอีก ส่วนนี้ก็นำคำติชมมาปรับปรุงแก้ไข และส่งให้โรงเรียนไปทดลองใช้จริงอีกครั้ง        “คล้ายๆ กับว่าเราทำงานผู้บริโภคในเชิงควบคุม ดูแลกำกับปรับปรุงนโยบายแบบนี้มันก็ทำแล้ว มันก็เหนื่อย เราก็ทำกับคนที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว  ซึ่งก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่าฟังแล้วมันเหนื่อยจัง ผมก็รู้สึกว่าที่พวกเราช่วยกันคิด ก็คือเรื่องที่ทำจากตัวเยาวชนมาเลย ทำให้เขาเป็นผู้บริโภคที่ แข็งแรงสักวันเขาก็จะเป็นผู้ประกอบการ เป็นผู้ออกกฎระเบียบ  เป็นผู้ออกนโยบาย เป็นผู้กำกับ ดูแล เป็นอะไรแบบนี้ เขาก็จะมีเรื่องนี้เข้าไปอยู่ใความคิดของเขา  แล้วมันก็จะขยับได้ แต่มันไม่เร็วนะ มันก็ต้องนาน เพียงแต่เริ่มรู้สึกว่ามันจะเป็นทางในอนาคตแน่ๆ สักวันนึงมันก็จะออกดอกออกผลไง” การเรียนการสอนนี้จะพัฒนาต่อไปอย่างไร        ตอบแบบความจริงคือไม่รู้ ยังไม่ทราบแต่มีความหวัง จริงๆแล้วตอนที่ไปดูกับโรงเรียน ก็ชัดเจนว่า คุณครูก็ไม่ได้เห็นว่าเป็นเรื่องหนักหนาสำหรับเขา สังเกตเลยว่าบนเวที(วันที่ 14 มีนาคม) ฝากให้ทำอันโน้นทำอันนี้กัน แต่ผมรู้สึกว่าอันนี้เป็นสิ่งคุณครูรู้สึกว่าเป็นการรับฝากที่เขาไม่ได้รังเกียจอะไร แล้วก็อาจเป็นเพราะ เป็นเรื่องใกล้ตัว เป็นเรื่องที่ทุกคนประสบในชีวิตประจำวัน อาจเคยโดนโกงค่าโทรศัพท์ ค่าตั๋วเครื่องบิน รู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ทุกคนก็ไม่ขัดข้องที่จะสอน        เรื่องนี้มันก็เลยทำให้เป็นเรื่องมีความหวังว่า มันควรที่จะทำต่อเนื่องให้ได้อย่างน้อยๆ เช่น มันควรทำให้ได้เรียนทุกปีไหม  ปีหนึ่งมีสองเทอมใช่ไหม ถ้าได้เรียนสักเทอมก็ยังดี  แต่ปัญหาตอนนี้คือ พวกเราคณะทำงานก็ต้องระดมหาทรัพยากรกัน ถ้าจะทำจริงก็แปลว่า ม.1 ต้องมีคู่มือหนึ่งเล่ม ม.2 ต้องมีหนึ่งเล่ม ม.3 ต้องมีหนึ่งเล่มจนถึง ม.6 เพราะว่าทุกปีต้องได้เรียนอะไรใหม่ๆ เป็นอันเดิมไม่ได้ แต่ตอนนี้เรามีแค่มัธยมต้น ซึ่งก็เอาคู่มือเดิมไปเรียนอีก อันนี้ก็เป็นความท้าทายของคณะทำงาน แล้วก็ภาคประชาสังคมจะว่ายังไงกันต่อ        ส่วนในเรื่องกลยุทธ์ ผมว่ากลยุทธ์ของเราคือ ใช้เครือข่าย เรามีเครือข่ายเกือบจะทุกจังหวัดแล้ว ณ ตอนนี้ หน้าที่เรา(คอบช.) คือทำหน้าที่เป็นส่วนกลางต้องสร้างแรงกระเพื่อม ทำให้เห็นว่านี่คืองานอย่างหนึ่ง การนำวิชาบริโภคศึกษานี้เข้าโรงเรียนคือ งาน ไม่ได้แปลว่าเรื่องรับร้องทุกข์ คืองาน มอนิเตอร์คืองาน การให้การศึกษา ก็คือ งาน  เช่นเดียวกัน ดังนั้นเดินเข้าไปในโรงเรียน  ในอำเภอในตำบล ในหมู่บ้าน ในโรงเรียน หาคนช่วยทำงานเพิ่ม อันนี้ก็เรื่องของเครือข่ายว่ามีค่าตอบแทนอะไรไป ก็เหมือนทำงานออฟฟิศอันหนึ่งใช่ไหม รับเรื่องราวร้องทุกข์ก็ได้รายได้ เข้าโรงเรียนก็ได้รายได้ แล้วเราก็จะได้คนที่จะมาช่วยทำงาน ช่วยเราที่เป็นเด็กรุ่นใหม่ ที่เข้าใจประเด็นนี้ไปเรื่อยๆ        งานเรามีอันเดียว คือพาเรื่องนี้เข้าโรงเรียนแค่นั้นเอง และส่วนกลางก็อัปเดตคู่มือให้ทันสมัย มีให้ครบทุกชั้นปี อันนี้ก็เป็นงานใหม่ๆ ที่จะต้องทำอีกงานหนึ่งเลย ถ้าทำก็หัวโต แต่ควรต้องทำ สอนเด็กรุ่นใหม่เพื่อให้เด็กตระหนักถึงเรื่องที่จำเป็นต่อชีวิตเขาที่จะให้มีคุณภาพ แล้วเขาก็ขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่ที่มีความกระตือรือร้นต่อเรื่องผู้บริโภคแบบนี้มันก็ช่วยได้ ทีนี้เวลาทำคู่มือแบบนี้ มองถึงเรื่องบูรณาการไหม ว่าทำไมมันไม่เป็นเล่มแบบนั้น ทำไมไม่บูรณาการแบบนี้ บูรณาการเป็นการเรียนรู้ที่น่าจะดีนะ  เพราะว่าจริงๆ มันไม่ได้จะให้ตั้งหน้าตั้งตาเรียนเป็นวิชาเดี่ยวๆ จะว่าไป อยู่กับวิชาเลขก็เจอ ไปอยู่กับวิชาภาษาอังกฤษก็เจอ  อยู่ภาษาไทยก็เจอเรื่องผู้บริโภค แต่วันนี้ เราในแง่ของการจัดการ เราจัดการแทบไม่ได้เลย เพราะเราไม่มีปัญญาไปตามคุณครูคณิตศาสตร์ว่าสอนให้เราหรือยัง คุณครูภาษาอังกฤษว่าสอนบทนี้ให้เราหรือยัง        เพราะฉะนั้น เราก็ทำวิธีที่เล่นท่าง่ายที่สุดคือ ทำให้เป็นหนึ่งวิชา แล้วให้คุณครูหนึ่งคน หรือกี่คนก็ไม่รู้ช่วยสอน  สอนให้ครบ 18 คาบ ตลอดหนึ่งเทอม แล้วเราตามไปดู ซึ่งเราจัดการง่ายสุด  แต่เมื่อกี้ที่บนเวทีบอกว่าเป็นการบูรณาการนี่ถือว่าเป็นสุดยอดเลยที่จะทำได้ แต่ว่าเราไม่มีความสามารถที่จะเอาไปขายให้คุณครูทุกคนเอาเข้าไปอยู่ในวิชาของท่าน แล้วสอนให้ด้วยนะ อย่าลืมสอนนะ แล้วเราก็ตามไปดูว่าสอนให้จริงหรือเปล่า แล้วก็ประเมินผลอีก อันนี้เรารับเงิน สสส.ใช่มั้ย เราก็ต้องสนใจเรื่องการประเมินผลว่าเราประเมินยังไง ซึ่งสอนเป็นหนึ่งเล่มเป็นหนึ่งวิชา ประเมินผลง่ายกว่าสำหรับเรา อันนี้คือท้ายที่สุดของชีวิตแต่ใส่ดอกจันทร์ ในความเป็นจริงคือ บูรณาการสำหรับกระทรวงศึกษาธิการไทย ก็ยังมีปัญหานะ เอาเข้าจริง คือมันสอนได้จริงหรือเปล่า ทำเสียสวยงาม         อาจารย์ดวงพร สมจันทร์ตา อาจารย์ผู้สอนวิชาบริโภคศึกษา โรงเรียนเสด็จวนชยางค์กูล จังหวัดลำปาง เป็นอีกหนึ่งท่านที่มาถ่ายทอดประสบการณ์การสอน        เดิมเป็นครูสอนวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา สนใจเรื่องผู้บริโภคอยู่แล้ว เป็นเรื่องอาหารและสารอาหารที่เราสอนอยู่แล้ว เรื่องสารเคมี สารปนเปื้อนในอาหาร ที่เราสอนในบทนี้  ในบทเรื่องอาหารและสารอาหารตรงเลย เน้นเรื่องไขมัน  โรคต่างๆ ที่เกิดขึ้น เราสอนเรื่องระบบย่อยอาหารด้วย มันจะมีพวกนี้เข้ามาเกี่ยงข้องด้วย ถ้าเราสอนให้เด็กตื่นรู้เรื่องนี้ เรื่องการบริโภค เรื่องการอ่านฉลาก มันก็จะช่วยเรื่องสุขภาพของเขาด้วย เราก็พยายามยกตัวอย่างที่เจอในปัจจุบันยกผลงานวิจัย  การสำรวจโรคต่างๆ ที่เกิดขึ้นและในโรงเรียนนี่คือการสอนจะมีไปเรื่อยๆ ค่ะ ก็ปรับเปลี่ยนไปตามเด็กในแต่ละรุ่น แต่ละปัญหาที่เกิดขึ้น โครงการนี้น่าสนใจ คือเด็กถ้าเราให้ความรู้เขาตั้งแต่เด็ก มันก็เหมือนปลูกฝัง แล้วก็ได้ใช้งานต่อไปได้เรื่อยๆ มันสำคัญยังไง ที่เลือกเด็กเป็นกลุ่มเป้าหมายในการเรียนรู้เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภค        จริงๆ ในการที่เราจะให้เด็ก  จะให้มันมีความยั่งยืนเราต้องมีการสร้างจิตสำนึก แล้วก็มีการสร้างความยั่งยืน คือ ด้วยความที่ตัวเด็กเเป็นเหมือนผ้าขาว คือถ้าเกิดเรามีการเรียนรู้แต่เด็กทำเป็นกิจวัตรประจำวัน หรือมีข้อมูลในการเรียกร้องสิทธิตั้งแต่เด็กๆ เนิ่นๆ มันทำให้เรามีความยั่งยืนในการจดจำ แล้วเด็กก็สามารถเอาบทเรียนที่เราสอนให้ไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคต        ตั้งแต่เริ่มโครงการสอนมา ก็ถือว่าบรรลุวัตถุประสงค์ เด็กมีความกล้า กล้าที่จะเรียกร้องสิทธิ เพราะว่าเดิมเด็กเขากลัวด้วย ก็จะมีการเรียนรู้ถึงสถานที่ หรือหน่วยงานที่ใช้เรียกร้องสิทธิ โดยบางครั้งเด็กเขาไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาโดนอยู่นั้นเป็นเรื่องของการถูกละเมิด ต่อไปเด็กก็จะได้รู้ว่า อ้อแบบนี้ ครูหนูโดนละเมิดสิทธิ เดิมที่บอกว่า เด็กกลัว ไม่ใช่กลัวคนที่มาละเมิด แต่กลัวที่จะไม่ฟ้อง หมายถึงมีความกล้าที่จะฟ้องมากกว่า มีความกล้าที่จะปกป้องสิทธิตัวเองมากขึ้น จากเดิมที่คิดว่าเรื่องนี้เกี่ยวกับเราไหมไม่มีความมั่นใจ เหมือนเราจะโดนหลอกนะ เพราะเด็กหลายๆ คนก็เป็นอย่างนั้น ส่วนใหญ่ปัญหาการโดนละเมิดสิทธิของเด็กวัยนี้คืออะไร        ก็จะเป็นในเรื่องการซื้อของออนไลน์เป็นหลักเลย เด็กสมัยนี้ซื้อของเป็นแล้วนะคะ ม. 2 อย่าง เด็กผู้หญิงอาจจะซื้อเป็นเรื่องความสวยความงามของเขาก็โดนละเมิด ได้สินค้าไม่ตรงตามที่บอกไว้  เขาก็บอกว่าหนูจะไม่คุยกับร้านแล้ว หนูจะไม่เอาแล้ว  คือเด็กเขาก็จะมีความตระหนักมากขึ้น  ซึ่งเราเห็นก็โอเค         หรือเรื่องอื่นๆ ที่เห็นว่าได้ผลอีกอย่างคือ เด็กก็จะพูดในกลุ่มของเขาว่า ไปบอกแม่ก่อนว่าอย่าขึ้นรถโดยสารประจำทางที่ทำผิดนะ  เพราะมีกรณีหนึ่งที่เกิดกับเด็กคือ เขาถูกรถโดยสารประจำทางให้ลงก่อนถึงป้ายหรือปลายทางที่จะลง ก็รู้ว่าเดี๋ยวไปบอกแม่ก่อนไปฟ้องก่อน เด็กก็พูดในกลุ่มของเพื่อนๆ เขา ก็สอนเรื่องสิทธิ แต่ feedback ว่าพ่อแม่เขารู้ไหม ยังไม่ทราบจากเด็กเหมือนกันว่าเป็นอย่างไร มีการวางแผนการสอนอย่างไรในเทอมถัดไป        อันดับแรกเลยคือ จะเป็นการดูภูมิหลังของเด็กก่อนว่า เด็กปีนี้ที่เราเจอ  มีความคิดความอ่านประมาณไหน  เพราะว่าแต่ละปีไม่เหมือนกันแน่นอน  แล้วเราก็ปรับไปตามบริบทของนักเรียนในแต่ละห้อง  บางทีชั้นเดียวกันแต่คนละห้อง เรายังสอนไม่เหมือนกัน แต่เราก็ยังไม่ทิ้งสาระสำคัญที่มีในแต่ละบท  แต่เทคนิคการสอนมันต้องปรับเปลี่ยนไป  ก็อาจต้องศึกษาจากพฤติกรรมของนักเรียนก่อนจะมีการสอนในแต่ละห้อง  จากนั้นก็พยายามปรับบทเรียนโดยยังคงสาระสำคัญของบทเรียนนั้นๆ ไว้เนื้อหาในคู่มือมีการปรับเปลี่ยนบ้างไหม        เปลี่ยนบ้างค่ะ อย่างเช่นที่แนะนำไปไม่ว่าจะเป็นสิทธิ หรือการรักษาพยาบาลที่เปลี่ยนไปตลอดเวลา กฎหมายที่มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา  ซึ่งตอนนี้ก็เปลี่ยน ไม่รู้ว่าเปลี่ยนรัฐบาลอะไรจะเปลี่ยนอีก คุณครูผู้สอนจะต้องติดตามข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดเวลาด้วย         อาจารย์พรศิริ เทียนอุดม จากโรงเรียนมักกะสันพิทยา กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เดิมสอนพิมพ์ดีดไทยด้วยคอมพิวเตอร์ในหมวดวิชาการงานอาชีพ และเมื่อมีคนแนะนำคู่มือฯ นี้มาให้ศึกษาก็ลองมานั่งอ่านด้วยตัวเองและพยายามคิดตามว่าคนเขียนหลักสูตรนี้ขึ้น เขาเขียนขึ้นมาเพื่ออะไร เมื่อเราเริ่มรู้แนวคิดนั้น อีกทั้งก็คิดว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นกับการดำเนินชีวิต จึงเลือกนำคู่มือฯ นี้เข้ามาบูรณาการกับวิชาที่สอนอยู่ในตอนนั้นและเพื่อที่จะเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนด้วย เช่น จะสอนนักเรียนว่าขนมชิ้นหนึ่งไม่ใช่ดูแค่ราคาหรือสีสัน แต่จะให้ประเมินผลตามสภาพจริง รวมกับการนำเนื้อหามาปรับให้ทันสมัยมากขึ้น โดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยด้วย เช่น เว็บไซต์คาฮูท (Kahoot) ซึ่งเป็นเกมการเรียนรู้ซึ่งประกอบด้วย คำถามปรนัย เช่น การตอบคำถาม การอภิปราย หรือการสำรวจ โดยคำถามจะแสดงที่จอหน้าคอมพิวเตอร์และให้นักเรียนตอบคำถามผ่านเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน ช่วยให้นักเรียนสนุกกับการเรียนได้มีปัญหาอะไรบ้างในการนำไปสอนจริงและผ่านไปได้อย่างไร        คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เพิ่งจะพ้นจากชั้นประถมมา ในบางบทเป็นเนื้อหาที่เข้าใจยาก เด็กจะไม่เข้าใจ เราต้องปรับเนื้อหาให้เหมาะสมกับนักเรียน ซึ่งก็จะปรับเป็นการทำกิจกรรมหรือสื่อที่น่าสนใจแทนการสอนแบบเน้นเนื้อหาหนักๆ นอกจากนี้จะเลือกสอนเฉพาะบทที่คิดว่าเขาจะสามารถเข้าใจได้ แต่หากบทไหนที่นักเรียนไม่เข้าใจ หรือไม่สามารถไปถึงจริงๆ ก็อาจจะตัดออก เพราะการพยายามบังคับ หรือสอนไปแบบนั้นอาจจะทำให้เขาเครียดและอาจจะไม่ชอบวิชานี้ได้        ส่วนคำแนะนำหรือการทำให้ยั่งยืน หรือเป็นที่แพร่หลายในโรงเรียนต่างๆ มากขึ้นนั้น โดยส่วนตัวมองว่าอาจจะไม่ต้องมีวิชาบริโภคศึกษาขึ้นเป็นหนึ่งวิชาก็ได้ แต่อาจจะนำเนื้อหาสาระจากวิชานี้ ที่เราอยากให้เด็กเรียนรู้มาบูรณาการกับวิชาต่างๆ ได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 208 เจ้าหน้าที่รัฐทำละเมิด หน่วยงานต้นสังกัดต้องรับผิดด้วยหรือไม่

ทนายอาสาฉบับนี้ ผมอยากจะมาพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการทำหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งทุกวันนี้ก็มีข่าวออกมาไม่น้อย ว่าในบางครั้งการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐเมื่อได้กระทำไปในหน้าที่โดยประมาทเลินเล่อ แต่ก็มีผลทำให้ผู้อื่นเสียหาย ทั้งชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สิน สุขภาพ ชื่อเสียง เหล่านี้ หากเราจะเอาผิด จะต้องไปเรียกร้องเอากับหน่วยงานต้นสังกัด หรือเป็นความรับผิดเฉพาะตัวของเจ้าหน้าที่คนนั้น  จะขอยกตัวอย่างที่ศาลฎีกาเคยตัดสินไว้ คือ กรณีตำรวจไปยึดรถยนต์ของโจทก์ เป็นของกลาง ต่อมาปรากฏว่า ดูแลรักษาไม่ดี เป็นเหตุให้รถยนต์คันดังกล่าวสูญหาย เช่นนี้ ตำรวจต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดขึ้น  คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 21/2540 จำเลยที่ 2 เป็นสารวัตรใหญ่และจำเลยที่ 3 เป็นพนักงานสอบสวนคนทั้งสองต่างเป็นข้าราชการในสังกัดของกรมตำรวจจำเลยที่ 1 การที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทของโจทก์เป็นของกลางเป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่งตามระเบียบข้อบังคับ และคำสั่งที่ได้รับมอบหมายจากจำเลยที่ 1และจำเลยที่ 1 มีหน้าที่กำกับดูแลการปฏิบัติงานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้เป็นไปตามระเบียบและคำสั่งเพื่อมิให้เกิดความเสียหายเมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยึดรถยนต์พิพาทไว้เป็นของกลางในคดีความผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก ซึ่งมีคนตายและได้รับบาดเจ็บ  ในกรณีนี้เป็นการปฏิบัติหน้าที่อย่างหนึ่ง และมีฐานะเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1จำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีหน้าที่ดูแลรักษาทรัพย์ของกลาง เหมือนเช่นวิญญูชนพึงดูแลทรัพย์สินของตน  แต่เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ได้ดูแลรักษารถยนต์พิพาทของกลางตามสมควร เป็นเหตุให้รถยนต์พิพาทสูญหายกรณี จึงเป็นการกระทำละเมิดในฐานะปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 76 วรรคหนึ่งจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนความเสียหายแก่โจทก์ด้วยจะอ้างว่า ตนไม่มีอำนาจในการยึดสิ่งของในคดีอาญามาปฏิเสธความรับผิดของตนไม่ได้หรืออีกกรณี ครูพลศึกษาของโรงเรียนรัฐแห่งหนึ่ง ลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ศาลถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อต่อมานักเรียนคนนั้นถึงแก่ความตาย ครูพละดังกล่าวจึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่แม่ของนักเรียนคนนั้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5129/2546จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นอาจารย์สอนวิชาพลศึกษา ได้สั่งให้นักเรียนชั้น ม.1 วิ่งรอบสนามระยะทาง 200 เมตร ต่อ 1 รอบ จำนวน 3 รอบ เป็นการอบอุ่นร่างกายก่อนการเรียนวิชาพลศึกษาในภาคปฏิบัติ และได้สั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนาม ต่ออีก 3 รอบ เป็นการกระทำโทษที่วิ่งไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งเหมาะสมตามสมควรแก่พฤติการณ์ แต่การที่สั่งให้วิ่งรอบสนามต่อไปอีก 3 รอบ และเมื่อนักเรียนยังทำไม่ได้เรียบร้อย ก็สั่งให้วิ่งต่อไปอีก 3 รอบ ในช่วงเวลาหลังเที่ยงวันเพียงเล็กน้อย สภาพอากาศร้อนและมีแสงแดดแรง นับเป็นการใช้วิธีการลงโทษนักเรียนที่ไม่เหมาะสมและไม่ชอบเพราะจำเลยที่ 1 น่าจะเล็งเห็นได้ว่าการลงโทษนักเรียนซึ่งมีอายุระหว่าง 11 ถึง 12 ปี ด้วยวิธีการดังกล่าวอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของนักเรียนได้ เป็นความประมาทเลินเล่อ จนทำให้เด็กชาย พ. ซึ่งเป็นโรคหัวใจอยู่ก่อนล้มลง ในการวิ่งรอบสนามรอบที่ 11 และถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาเพราะสาเหตุระบบหัวใจล้มเหลว การตายของเด็กชาย พ. จึงเป็นผลโดยตรงจากการวิ่งออกกำลังตามคำสั่งของจำเลยที่ 1 แม้จำเลยที่ 1 จะไม่ทราบว่าเด็กชาย พ. เป็นโรคหัวใจ ก็ตาม มิใช่เกิดจากเหตุสุดวิสัย ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดเป็นเหตุให้เด็กชาย พ. ถึงแก่ความตาย แต่ความไม่รู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวเป็นเหตุประกอบดุลพินิจในการกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้น้อยลงการที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ทำการสอนวิชาพลศึกษาในชั่วโมงวิชาพลศึกษาของนักเรียนชั้น ม.1 ห้อง 1/4 ของโรงเรียน ว. เป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการในฐานะผู้แทนกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 การออกคำสั่งให้นักเรียนวิ่งรอบสนามเพื่ออบอุ่นร่างกายและการลงโทษนักเรียนให้วิ่งรอบสนาม ก็ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วย เมื่อการปฏิบัติหน้าที่ราชการดังกล่าวของจำเลยที่ 1 ทำให้เด็กชาย พ. นักเรียนคนหนึ่งในชั้นดังกล่าวถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อความเสียหายแก่โจทก์ผู้เป็นมารดาของเด็กชาย พ. ตาม ป.พ.พ. มาตรา 76 วรรคหนึ่งแม้เหตุละเมิดคดีนี้เกิดขึ้นก่อนที่ พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ใช้บังคับ แต่เมื่อโจทก์ฟ้องเป็นคดีนี้นั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว สิทธิของโจทก์ในการฟ้องเจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐให้รับผิดทางละเมิดต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ ฉะนั้น เมื่อคดีปรากฏว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์เป็นการกระทำในการปฏิบัติหน้าที่ของกรมสามัญศึกษาจำเลยที่ 2 โจทก์จึงต้องห้ามมิให้ฟ้องจำเลยที่ 1 ตามมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ดังกล่าว ปัญหานี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246, 247จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นว่าเป็นการที่เจ้าหน้าที่รัฐกระทำละเมิด ซึ่ง พ.ร.บ. ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้หน่วยงานรัฐเป็นผู้รับผิดชอบชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ห้ามฟ้องเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งผลคือต้องฟ้องหน่วยงานรัฐต้นสังกัด และเมื่อหน่วยงานรัฐรับผิดต่อผู้เสียหายแล้วจึงไปใช้สิทธิไล่เบี้ยกับเจ้าหน้าที่อีกคราวหนึ่ง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 201 นายจ้างเรียกค่ารักษาพยาบาลคืนจากผู้ทำละเมิดลูกจ้าง “ไม่ได้”

สวัสดีครับ ครั้งนี้มาคุยกันเรื่องของสิทธินายจ้าง ลูกจ้างกันนะครับ เรื่องเหล่านี้ก็เป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกท่าน ซึ่งบางท่านอาจจะเป็นทั้งนายจ้างและลูกจ้าง เช่นเดียวกับที่ท่านอาจเป็นทั้งผู้บริโภคที่ซื้อและขายสินค้าในคนเดียวกัน โดยมีคดีเรื่องหนึ่งน่าสนใจมาก เป็นเรื่องของนายจ้างคนหนึ่งซึ่งมีลูกจ้างไปขับรถตักยกสินค้าประมาท โดยขับรถตักยกสินค้าเพื่อยกเยื่อกระดาษอัดลงจากรถยนต์บรรทุก โดยไม่ตรวจสอบก่อนว่าเยื่อกระดาษอยู่ในตำแหน่งที่อาจหล่นได้หรือไม่ เป็นเหตุให้เยื่อกระดาษหล่นจากรถยนต์บรรทุกมาทับลูกจ้างอีกคนตาย หลังเกิดเหตุ นายจ้างก็รับผิดชอบต่อครอบครัวของผู้ประสบเหตุ จ่ายค่ารักษาพยาบาล ค่าโลงศพ และค่าฉีดยาศพ พร้อมค่าขนศพมายังภูมิลำเนาลูกจ้างผู้ตาย รวมเป็นเงินกว่าแสนบาท   และต่อมา นายจ้างและครอบครัวของลูกจ้างที่ตาย ลูกจ้างที่ขับรถตักยก ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันแต่ไม่ยอมชดใช้เงินให้นายจ้าง นายจ้างจึงมาฟ้องคดีต่อศาล  ซึ่งฝั่งจำเลยที่เป็นครอบครัวของลูกจ้างที่ตายก็สู้ว่าผู้ตายเป็นลูกจ้างของโจทก์ประสบเหตุขณะทำงานให้โจทก์ ผู้ตายเข้ารับการรักษาและโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์มีหน้าที่ต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าทำศพ ขอให้ยกฟ้อง ท้ายที่สุด ศาลฎีกาได้วินิจฉัยว่า การที่นายจ้างจ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้าง กรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้าง กฎหมายไม่ได้ให้สิทธิแก่นายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้าง เพราะไม่ใช่ค่าสินไหมทดแทน ดังนั้นนายจ้างจึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายไปคืนได้คำพิพากษาศาลฎีกาที่  7630/2554          การรับช่วงสิทธิจะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยอำนาจของกฎหมาย จึงต้องเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้รับช่วงสิทธิได้ การที่โจทก์จ่ายเงินค่ารักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเงินทดแทนแก่ลูกจ้างตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษซึ่งใช้บังคับระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างกรณีที่ลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายอันเนื่องมาจากการทำงานให้แก่นายจ้างโดยเฉพาะ มิใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหายและกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติให้สิทธิแก่โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างเรียกเอาเงินทดแทนที่จ่ายไปนั้นคืนจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์ได้แต่อย่างใด ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลที่โจทก์จ่ายไปคืนจากจำเลยที่ 7 ได้ โดยสรุปคือ การจ่ายเงินของนายจ้างกรณีตามคดีนี้ เป็นการจ่ายเงินทดแทนตามกฎหมายแรงงานอันเป็นกฎหมายพิเศษที่ใช้บังคับกรณีลูกจ้างประสบอันตรายถึงแก่ความตายจากการทำงานให้นายจ้างโดยเฉพาะ ไม่ใช่การจ่ายค่าสินไหมทดแทนความเสียหาย และกฎหมายก็ไม่ได้ให้สิทธินายจ้างเรียกเอาเงินที่จ่ายทดแทนไปนั้นจากผู้ทำละเมิดต่อลูกจ้างโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นนายจ้างซึ่งเป็นโจทก์จึงไม่อาจอ้างการรับช่วงสิทธิมาฟ้องเรียกค่ารักษาพยาบาลที่จ่ายไปคืนได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 56 รายชื่อผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพที่ละเมิดสิทธิของผู้บริโภค

การโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดส่วนใหญ่ที่บริษัทผู้ผลิต ผู้จำหน่าย และผู้โฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถูกดำเนินคดีซึ่งมีระวางโทษเพียงแค่ปรับไม่เกิน 5,000 บาท (ส่วนใหญ่มักถูกปรับเพียง 2,000 - 4,000 บาทเท่านั้น แม้บางครั้งจะมีการกระทำผิดไว้หลายที่หลายสถานก็ตาม) การมีบทลงโทษที่เบาบางยิ่งกว่าปุยนุ่นเมื่อเทียบกับเม็ดเงินค่าโฆษณา เทียบกับรายรับที่ได้จากการจำหน่าย ซ้ำยังไม่มีการพิสูจน์ต่อเนื่องไปอีกว่า เนื้อหาการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาตนั้นเข้าข่ายการโฆษณาเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคหรือไม่ (ซึ่งหากพบว่ามีความผิดจะมีระวางโทษสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัวคือ จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ) ด้วยช่องโหว่ของกฎหมายในลักษณะนี้ เด็กอมมือก็ยังตอบได้ว่า ถ้าบังเอิญจะต้องฝ่าฝืนกฎหมายแล้วจะเลือกรับโทษแบบไหนดีกว่ากัน ..................................................................... ผลิตภัณฑ์อาหารสุขภาพที่ถูกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.)สั่งปรับฐานละเมิดกฎหมาย ช่วงปี 2545-2546ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

อ่านเพิ่มเติม >