ฉบับที่ 117 กระแสต่างแดน

ถ้าจะรับ ช่วยขยับมาอีกนิดไปรษณีย์เดนมาร์คเขาบอกว่าเดี๋ยวนี้ปริมาณจดหมายที่จะต้องจัดส่งน้อยลงอย่างฮวบฮาบ แล้วจะต้องทำอย่างไรถึงจะได้ไปต่อในโลกที่ใครๆก็ใช้แต่จดหมายอิเลคทรอนิกส์ หรือไม่ก็บีบีหากันแทบจะทุกนาทีอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้กิจการเขาก็ดีอยู่ สถิติบอกว่า ในปีค.ศ. 1999 ชาวแดนิชเขาส่งจดหมายกันคนละ 272 ฉบับ  อีก 10 ปีต่อมา จำนวนจดหมายลดลงเหลือ 181 ฉบับต่อคนต่อปี เขาคาดว่ากว่าจะถึงปีค.ศ.  2019 ตัวเลขนี้ก็จะลดลงเหลือง เพียง 70 เท่านั้น (นี่น้อยของเขาแล้วนะ) คิดไปคิดมา Post Denmark ก็ตัดสินใจขึ้นค่าธรรมเนียมการส่งจดหมายเสียเลย จากเดิมที่เคยคิดค่าส่งจดหมายธรรมดาฉบับละ 5.5 โครเนอร์ (ประมาณ 30 บาท) ก็ขึ้นเป็น 8 โครเนอร์ (ประมาณ 44 บาท)  ข่าวว่ามาตรการอัพราคานี้จะทำให้ Post Denmark มีรายได้เพิ่มขึ้น 100 ล้านโครเนอร์ ยังมีเด็ดกว่านั้น เขาตั้งเป้าจะลดค่าใช้จ่ายในการขนส่งด้วยการขอความร่วมมือจากประชากรกว่า 100 ครัวเรือน ให้ย้ายกล่องรับจดหมายจากหน้าประตูบ้านตนเองออกมาให้ใกล้ถนนให้มากที่สุดด้วย ... นะ ช่วยๆกัน   รับบริการตรวจความดันเพิ่มไหมครับ ต่อไปคุณผู้ชายที่ไปใช้บริการร้านตัดผมในรัฐเท็กซัส อเมริกา ก็อาจจะได้รับบริการเสริมเป็นการตรวจวัดความดันให้ด้วยทั้งนี้เพราะมีผลการวิจัยออกมาแล้วว่าถ้าทางร้านตัดผมเสนอบริการดังกล่าวให้ทุกครั้งที่ลูกค้าเข้าไปตัดผม จะทำให้ลูกค้าชายเหล่านั้นมีแนวโน้มในการไปพบแพทย์เพื่อจัดการกับปัญหาความดันโลหิตสูงมากขึ้น และทำให้คนเหล่านั้นให้กลับมามีความดันระดับปกติในที่สุด งานวิจัยที่ลงพิมพ์ในวารสารวิชาการ Archives of Internal Medicine เขาทดลองให้ร้านตัดผม 17 ร้าน ในรัฐเท็กซัสในเขตดัลลัส เคาน์ตี้ ซึ่งเป็นเขตที่มีผู้อยู่อาศัยเป็นอเมริกันชนผิวสี ลองเสนอบริการเสริมที่ว่านั้น โดยแยกการบริการออกเป็นสองระดับ ร้านกลุ่มแรก (8 ร้าน) แจกแผ่นพับให้ความรู้กับลูกค้าที่มีความดันโลหิตสูงเกินปกติ ร้านกลุ่มที่สอง (อีก 9 ร้านที่เหลือ) ทั้งแจกแผ่นพับและตรวจวัดความดันให้ลูกค้าทุกครั้งที่มาใช้บริการ พร้อมกับให้ช่างผมคะยั้นคะยอให้ลูกค้าไปพบแพทย์ ข่าวบอกว่าถ้าลูกค้ามีผลการตรวจจากแพทย์มาแสดง ก็จะได้ตัดผมฟรีอีกด้วย ผลปรากฏว่า ลูกค้าร้านตัดผมเกินกว่าครึ่งหนึ่งสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตของตนเองได้ ทั้งนี้มีลูกค้าถึงร้อยละ 20 ในกลุ่มที่ได้รับบริการตรวจเช็คความดันทุกครั้งที่ไปใช้บริการในช่วงเวลา 2 ปี กลับมามีความดันโลหิตในระดับปกติด้วย ... เป็นบริการเสริม (สุขภาพ) ที่เข้าท่าดีเหมือนกันนะนี่   คูปองลดความอ้วน สมาชิกที่ติดตามช่วงกระแสต่างแดน คงจำกันได้ว่าเมืองนิวยอร์กนั้นเขาช่างมุ่งมั่นสร้างสุขภาพให้ชาวเมืองอยู่เนืองๆ คราวนี้นายกเทศมนตรีนายไมเคิล บลูมเบิร์ก สร้างกระแสอีกครั้งด้วยการเสนอให้มีการตั้งกฎห้ามใช้คูปองอาหารเพื่อแลกซื้อน้ำอัดลมหรือเครื่องดื่มผสมน้ำตาลชนิดอื่นๆ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คูปองดังกล่าวซึ่งแจกให้กับผู้มีรายได้น้อย เช่น ผู้อพยพ ผู้สูงอายุ หรือผู้พิการฯ ก็ไม่สามารถใช้แลกซื้อบุหรี่ เครื่องดื่มอัลกอฮอล์ หรืออาหารสำเร็จรูปได้ เขาว่าเจตนาของมาตรการดังกล่าวคือการลดจำนวนผู้เป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวานในเมืองนิวยอร์ก แต่หลายคนมองว่ามันเป็นการกล่าวหาผู้มีรายได้น้อยว่าพวกเขาเลือกซื้ออาหารไม่เป็น บางคนเสนอว่าแค่จัดโปรแกรมให้ความรู้เรื่องโทษของการดื่มน้ำอัดลมก็น่าจะเพียงพอ บลูมเบิร์กบอกว่าขอทดลองห้ามสักสองปีก่อน เพื่อดูว่าจำนวนผู้ป่วยเบาหวานจะลดลงหรือไม่ ถ้าคำตอบคือใช่ ก็อาจจะห้ามตลอดไป เครื่องดื่มที่อยู่ในข่ายถูกห้ามซื้อด้วยคูปองได้แก่ เครื่องดื่มที่ให้พลังงานสูงกว่า 10 คาลอรี่ต่อ 8 ออนซ์ ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการรับรองจากรัฐนิวยอร์กแล้วและกำลังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นผู้ดูแลเรื่องคูปองอาหารของอเมริกา คุณบลูมเบิร์กแกคงต้องลุ้นตัวโก่ง เพราะเมื่อปีค.ศ. 2004 กระทรวงเกษตรเคยปฏิเสธข้อเสนอของรัฐมินิโซตา ที่ต้องการให้ห้ามนำคูปองดังกล่าวไปซื้ออาหารขยะมาแล้ว เหตุที่เมืองนี้เขาจริงจังกันมากเรื่องการลดน้ำตาลก็เพราะมีสถิติอย่างเป็นทางการว่า 1 ใน 8 ของผู้ใหญ่ที่นั่นเป็นโรคเบาหวาน และเกือบร้อยละ 40 ของนักเรียนโรงเรียนรัฐบาลในระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่สอง มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และอัตราการเป็นโรคอ้วนในย่านที่ผู้อยู่อาศัยมีรายได้น้อยนั้นจะสูงกว่า ในขณะเดียวกันก็พบว่าอัตราการบริโภคเครื่องดื่มที่เติมน้ำตาลในเขตรายได้ต่ำนั้นจะสูงกว่าด้วย เทศบาลเมืองนิวยอร์กเคยเสนอให้มีการเก็บภาษีจากน้ำอัดลมมาแล้ว แต่ก็ถูกแรงต้านจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มและบรรดาร้านขายของชำไม่น้อย โฆษกสมาคมเครื่องดื่มแห่งอเมริกาออกมาโต้ตอบข้อเสนอของนายกเทศมนตรีว่า “นี่เป็นอีกครั้งที่รัฐบาลพยายามจะเข้ามากำหนดว่าคนนิวยอร์กจะดื่มจะกินอะไร” ก็... นะ สำนักอนามัยเขาประเมินไว้ว่าการดื่มน้ำอัดลมปริมาณ 12 ออนซ์ซึ่งให้พลังงานสูงถึง 150 คาลอรี่ ทุกวัน จะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นปีละ 15 ปอนด์  ซึ่งก็ไม่น่าจะใช้สิ่งที่คนนิวยอร์กต้องการอยู่แล้ว   ฉลากใหม่ลดขยะ ญี่ปุ่นเขาก็มีปัญหาเรื่องฉลากกับเขาเหมือนกัน แต่รู้สึกว่าจะเป็นคนละแนวกับบ้านเรา เคยเห็นแต่ปัญหาอาหารหมดอายุแล้วยังวางขายอยู่ แต่ที่นี่บรรดาร้านค้าปลีกเขารีบเก็บอาหารสำเร็จรูปออกจากชั้นก่อนจะถึงวันหมดอายุจริง ซึ่งทำให้อาหารที่ยังรับประทานได้อยู่ต้องกลายเป็นขยะไปโดยไม่จำเป็น  องค์กรผู้บริโภคของญี่ปุ่นเลยต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อลดปริมาณขยะจากอาหารสำเร็จรูปซึ่งกระทรวงเกษตรของญี่ปุ่นประเมินไว้ว่ามีปริมาณ 5 ล้าน ถึง 9 ล้านตันต่อปี  ว่าแล้วก็เสนอให้รัฐบาลออกคำแนะนำเรื่องการติดฉลากอาหารพวกนี้ ก่อนที่จะประกาศใช้มาตรการติดฉลากแบบแจ้งเวลาที่เหมาะที่สุดในการรับประทาน (best-by date) โดยให้ผู้ผลิตอาหารเพิ่มข้อความเพื่อแจ้งผู้บริโภคว่าอาหารเหล่านั้นยังสามารถรับประทานได้แม้จะผ่านช่วงเวลา “ที่ดีที่สุด” ไปแล้วก็ตาม  ข่าวบอกว่าระบบฉลากที่แสดง best-by date นั้นจะเริ่มใช้ในเดือนมีนาคมปีหน้า ปัจจุบันประเทศญี่ปุ่นยังใช้ระบบฉลากที่แสดงว่าควรบริโภคก่อนวันที่เท่าไร (use-by date) แต่ก็อย่างที่บอกไป บรรดาร้านค้าต่างก็ไม่ยอมเสี่ยงขายอาหารสำเร็จรูปที่เก็บไว้เกินหนึ่งในสามของเวลาระหว่างวันผลิตจนถึงวันหมดอายุ เรียกว่าเสียของข้าไม่ว่า ... เสียหน้าข้ายอมไม่ได้   ดูไบเข้มงานคุ้มครองผู้บริโภคฉลาดซื้อขอพาคุณผู้อ่านไปเยือนรัฐดูไบ ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กันบ้าง ทุกท่านคงทราบอยู่แล้วว่าที่นั่นมีแต่ของแพง ของมีระดับ คราวนี้ดูไบบอกว่าเขาต้องการสร้างชื่อในการเป็นแหล่งช็อปปิ้งและท่องเที่ยวระดับเวิร์ลด์คลาสด้วยการยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย ว่าแล้วก็เริ่มจากการกำหนดให้ร้านค้าต่างๆ ติดประกาศแจ้งสิทธิของผู้บริโภคบริเวณหลังเคานท์เตอร์คิดเงิน ให้สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ขนาดตัวอักษรนั้นเขาก็กำหนดไว้ทางอ้อมด้วยการทำประกาศสำเร็จรูปไว้ให้ร้านต่างๆเข้าไปดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของหน่วยงาน แล้วสั่งพริ๊นท์บนกระดาษขนาด A4 เป็นอย่างต่ำ ใครอยากพิมพ์เองให้สวยกว่านั้น เขาก็ระบุไว้ว่าขนาดตัวอักษรต้องไม่เล็กไปกว่าฉบับที่เตรียมไว้สำเร็จรูปนั้นแล นอกจากนี้ยังต้องแจ้งให้ทราบด้วยว่าถ้าผู้บริโภคถูกละเมิดสิทธิ จะต้องติดต่อที่ไหน อย่างไร ข่าวบอกว่าเขาจะมีผู้ตรวจการจากส่วนงานคุ้มครองผู้บริโภค กระทรวงพัฒนาเศรษฐกิจ มาคอยสอดส่องดูแล ใครไม่ติดประกาศที่ว่า ก็จะถูกตักเตือนหนึ่งครั้ง เตือนแล้วยังไม่ติดก็จะต้องเสียค่าปรับประมาณ 81,000 บาท หรืออาจจะถูกสั่งปิดร้านชั่วคราวไปเลย การแจ้งให้ผู้บริโภคได้ทราบถึงสิทธิของตนเองนั้นครอบคลุมไปถึงธุรกิจอื่นๆ อย่างอสังหาริมทรัพย์ หรือบริการการเงินการธนาคารด้วย  

อ่านเพิ่มเติม >