ฉบับที่ 132 ตามไปดู ยุทธการ Down size “การลดขนาดบรรจุภัณฑ์”

  ฉลาดซื้อฉบับนี้เราไปเดินช้อปปิ้งในห้างค้าปลีกยักษ์และร้านค้าปลีกย่อยกันอย่างขะมักเขม้นตามแรงผลักแรงเชียร์จากคุณผู้อ่านที่น่ารักของเรา แล้วก็พบว่า ผู้บริโภคเรากำลังถูกเล่นกลด้วยยุทธการที่เรียกว่า  Down size หรือ “การลดขนาดบรรจุภัณฑ์” ในสินค้าหลายประเภทตามที่ผู้อ่านของเราประสานเสียงกันมา ทั้งนี้อาจเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งผู้ผลิตเองก็กำลังประสบปัญหาต้นทุนราคาสินค้าพุ่ง แต่ตัวเองกลับขายแบบขึ้นราคาตรงๆ ไม่ได้ เลยต้องหันมาเล่นวิธีนี้กันเกลื่อนเมือง   ตัวอย่างที่ 1 ณ ซูเปอร์มาร์เก็ตในห้างสรรพสินค้า เห็นป้ายที่ชั้นวางเขียนว่า ลักส์ครีมอาบน้ำโกล์ว...220 ml. ราคา 66.50 บาท พิจารณาดูจากสูตรอื่นๆ ในยี่ห้อเดียวกันที่วางเรียงเป็นตับก็พบว่า ราคาเดียวกัน แต่สิ่งที่ไม่เหมือนกันคือ ลักส์ครีมอาบน้ำโกล์วอิ้ง ทัช นั้นที่ขวดเขียนว่า 200 ml. ไม่ใช่ 220 ตามที่ป้ายบอก พอเหลือบมองที่วันผลิตจึงเห็นว่า เป็นเดือน 11 ปี 2011 แต่ที่ป้ายตรงชั้นวางเป็นวันเวลาที่ระบุไว้ตั้งแต่ วันที่ 24 เดือน 8 ปี 2010   คราวนี้มือก็อยู่ไม่สุขจับขวดอื่นๆ มาส่องวันผลิตและน้ำหนัก สิ่งที่พบคือ ส่วนใหญ่เปลี่ยนเป็นขนาด 200 ml. หมดแล้ว มีเหลืออยู่สูตรเดียวที่มีน้ำหนัก 220 ml. คือ ลักส์ เวลเวท ทัช ซึ่งระบุวันผลิต เดือน 9 ปี 2011 ลักส์ เวลเวท ทัชจึงเป็นสูตรเดียวที่ราคาและน้ำหนักตรงกับป้ายแสดงราคาผลิตภัณฑ์ของห้างสรรพสินค้า   ตัวอย่างที่ 2 ณ ร้านสะดวกซื้อ ป้ายแสดงราคาสินค้าระบุ น้ำยาล้างจานไลปอนเอฟ ขนาด 170 ml. ราคา 11 บาท แต่เมื่อหยิบขวดน้ำยาล้างจานมาพิจารณาจริงๆ น้ำหนักที่ขวดระบุไว้ 160 ml. (เมื่อจ่ายเงิน ราคา 11 บาทซะงั้น) แล้วอีก 10 ml. ของฉันหายไปไหน   จริงๆ ปรากฏการณ์สินค้าน้ำหนักหายไปจากเดิมราว 5-10 % ในผลิตภัณฑ์ประเภทใช้แล้วหมดไปอย่างสบู่เหลว น้ำยาล้างจาน แชมพูสระผม เป็นสิ่งที่มีมาตั้งแต่ปี 2554 แล้ว   “สมชาย พรรัตนเจริญ” นายกสมาคมการค้าส่ง-ปลีกไทย ได้เปิดเผยกับ “ผู้จัดการ 360 องศา รายสัปดาห์” ว่า ขณะนี้ผู้ผลิตแชมพูสระผม ได้แจ้งลดขนาดบรรจุภัณฑ์สินค้าลง จากขวดขนาด 80-85 มิลลิลิตร ลดเหลือ 70 มิลลิลิตร กาแฟซองเดิมห่อละ 30 ซอง ลดลงเหลือ 27-28 ซอง ส่วนปลากระป๋องแจ้งราคาขายส่งเพิ่มขึ้นลังละ 50 บาท เป็นต้น ทำให้ตลาดขายปลีกเวลานี้ปลากระป๋องปรับขึ้นกระป๋องละ 3 บาท นอกจากนี้ยังมีผู้ผลิตบางรายใช้วิธีปรับลดขนาดบรรจุและเปลี่ยนหีบห่อสินค้าให้เล็กลงแต่คงราคาขายเดิมเช่น กาแฟซอง เดิม 1 แพ็กจะมี 30 ซอง ก็จะเหลือ 27-28 ซอง เป็นต้น หรืออย่างสินค้าชำระล้าง สินค้าใช้แล้วหมดไป เช่น แชมพูสระผม ครีมนวดผม ยาสีฟัน ที่ลดปริมาณบรรจุ 5-10% แต่ขนาดกล่องเท่าเดิม ที่มา  http://www.manager.co.th/asp-bin/mgrView.asp?NewsID=9540000048921เวลา 14 ธันวาคม 2554 16:42 น.   นวัตกรรม หรือ ปรับราคา การลดขนาดของผลิตภัณฑ์ลงสามารถช่วยได้มากในแง่จิตวิทยาคือ ผู้ซื้อจะไม่รู้สึกว่าสินค้าราคาแพงขึ้น เพราะยังสามารถซื้อหาได้ในราคาเท่าเดิม รูปทรงผลิตภัณฑ์ก็เหมือนเดิม แต่หากวิธีนี้เกิดไม่เวิร์ก ผู้บริโภคเริ่มจับได้ อีกวิธีที่ผู้ผลิตนิยมนำมาใช้คือ การปรับสูตร  เปลี่ยนชื่อรุ่น เพื่อตั้งราคาขายใหม่ที่ดีกว่าเดิม หรือราคาเดิมแต่ปริมาณลดลง ไปจนถึงการถอดโปรโมชั่น เพื่อลดรายจ่ายด้านการตลาดลง อันที่จริงภาครัฐก็ควบคุมกำกับในเรื่องราคาสินค้าขายปลีก โดยบอกว่า ห้ามปรับราคา แต่ไม่ได้ห้ามลดขนาดสินค้าผลก็คือ ผู้ผลิตต้องหาทางออกด้วยการปรับลดขนาดกันยกใหญ่ ต่อไปเราก็คงได้เห็นรูปทรงและสินค้าสูตรใหม่ๆ ทยอยกันออกมาเรื่อยๆ ทั้งที่จริงๆ แล้วอาจไม่ได้มีอะไรใหม่เลย   ตัวอย่างขนาดที่หลากหลายของแชมพูสระผม จากเดิมที่ขนาด 200-220 ml. ผลิตภัณฑ์แชมพู วันผลิต น้ำหนัก(ml.) ราคาต่อหน่วยบรรจุ(บาท) ราคาต่อ 1 ml.(บาท) ซันซิล ดรีม ซอฟท์แอนด์สมูท 13/12/2011 180 60.75 0.33 ซันซิล เพอร์เฟค สเตรท 02/11/2011 160     โดฟ แดเมจ เธอราพี อินเทนซ์ รีแพร์ 01/12/2011 175 69 0.39 แพนทีน โปรวี ลอง แบลค 20/01/2012 170 63.75 0.37 เอเชียนช์ ชายน์ เธอราพี 17/08/2011 220 118 0.53 เฮดแอนด์โชว์เดอร์ คลูเมนทอล 29/10/2011 180 75 0.41 รีจอยส์ ริช 11/09/2011 180 53.75 0.29 ราคาสำรวจ ณ วันที่ 8 ก.พ.2555 จับตาสินค้าสองมาตรฐาน นอกจากยุทธการ ดาวน์ไซส์ แบบหนีตายแล้ว ยังมีรายการ ดาวน์ไซส์ แบบน่าเกลียดด้วย กล่าวคือ ผู้ผลิตสินค้าได้ผลิตสินค้า 2 มาตรฐาน โดยการผลิตสินค้าในบรรจุภัณฑ์ขนาดเท่าเดิม เรียกว่ามองเผินๆ จะไม่เห็นความแตกต่าง แต่สิ่งที่ต่างคือ ปริมาณในบรรจุภัณฑ์กลับน้อยลง  สำหรับขายในร้านค้าปลีกขนาดยักษ์หรือโมเดิร์นเทรด ส่วนน้ำหนักขนาดเดิมจะส่งไปขายในร้านค้าแบบดั้งเดิม(โชห่วย) ทำให้เกิดความแตกต่างในด้านกำไรและความคุ้มค่าในการซื้อ เพราะผู้บริโภคจะเข้าใจว่า สินค้าหน้าตาเดียวกัน แต่ราคาในห้างค้าปลีกถูกกว่ามาก ดูที่ภาพประกอบ ภาพแพนทีนโปรวี(สีม่วง) ขนาด 180 ml.   วันผลิต 28/07/2011 ภาพแพนทีโปรวี(สีม่วง) ขนาด 160 ml.   วันผลิต 20/07/2011 ภาพข้าวตัง เจ้าสัว ขนาด 125 กรัม   วันผลิต 16/09/2011 ภาพข้าวตัง เจ้าสัว ขนาด 105 กรัม เชื่อถือได้นานกว่า 50 ปี   วันผลิต 07/09/2011 ภาพครีมเทียม สีม่วง ขนาด 200 กรัม ภาพครีมเทียม ขนาด 150 กรัม ภาพข้าวมาบุญครอง ถุงแดง   วันผลิต 16/09/54 ราคาข้างถุง 240 บาท ภาพข้าวมาบุญครอง ถุงเขียว   วันผลิต 11/09/54 ราคาข้างถุง 185 บาท     ด้านซ้ายเป็นตัวอย่างสินค้าในร้านค้าแบบดั้งเดิม   ส่วนด้านขวาเป็นสินค้าที่วางในห้างค้าปลีกยักษ์   การผลิตสินค้าสองมาตรฐานลักษณะนี้ แน่นอนว่าผู้ที่เสียเปรียบเห็นๆ ก็คือ ผู้บริโภค รวมทั้งร้านค้ารายย่อยที่อาจถูกมองว่าขายของในราคาแพง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วไม่ได้ขายแพง สินค้าที่วางในห้างค้าปลีกยักษ์ต่างหาก ที่น้ำหนักสินค้าหดหายไป อย่างไรก็ตาม มีการมองว่า ดำเนินการดังกล่าวของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าต่างๆ อาจเป็นเพราะได้รับการกดดันจากทางโมเดิร์นเทรด ซึ่งต้องมีการต่อรองค่าใช้จ่ายต่างๆ กรณีที่จะนำสินค้าเข้าไปวางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด ก็จะเป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นหรือต้นทุนแอบแฝงของผู้ประกอบการ โดยอาจจะส่งผลให้มีการผลิตสินค้าสองแบบ ต่างจากร้านโชห่วยที่ไม่มีรายจ่ายหรือต้นทุนที่แอบแฝงในลักษณะเช่นนี้ ดังนั้นการผลิตสินค้าป้อนให้กับร้านโชห่วยก็จะเป็นไปตามปกติ     ฉลาดซื้อแนะ 1.แน่นอนว่าเราต้องสนับสนุนร้านค้ารายย่อย เพื่อเป็นการถ่วงดุลการเอาเปรียบจากห้างค้าปลีกขนาดยักษ์ 2.ถ้าพบสินค้าไม่ตรงราคาป้าย โดยเฉพาะเรื่องน้ำหนักที่หดหายไป รีบแจ้งผู้ประกอบการให้ปรับเปลี่ยนรายการสินค้าให้ถูกตรง และถ้าคุณรู้สึกอยากทดลองใช้สิทธิดูบ้าง ก็ขอให้ห้างค้าปลีกชดเชยค่าเสียหายจากน้ำหนักของสินค้าที่หายไปด้วย 3.ในสินค้าประเภทแชมพูสระผม น้ำยาล้างจาน สบู่เหลว ส่วนผสมหลักๆ นั้นไม่ต่างกัน สิ่งที่ต่างคือ การโฆษณา ยิ่งโฆษณาเยอะต้นทุนยิ่งสูง ราคาก็ยิ่งแพง ดังนั้นเลือกที่คุณใช้แล้วรู้สึกว่าดี และราคาไม่แพง ย่อมจะดีกว่าในภาวะที่ทุกคนต้องประหยัดรายจ่ายมากขึ้น 4.ผลิตภัณฑ์หลายชนิด การซื้อในขนาดบรรจุที่ใหญ่จะช่วยให้ประหยัดได้เพิ่มขึ้น แต่ไม่แนะนำสำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีอายุการใช้งานสั้น เพราะยิ่งซื้อมาสะสมมากยิ่งมีปัญหา เช่น น้ำมันพืช เป็นต้น

อ่านเพิ่มเติม >