ฉบับที่ 252 การดูแลผิวไหม้จากแดดหน้าร้อน

        เมื่อถึงช่วงเวลาฤดูร้อน สิ่งที่ทุกคนประสบปัญหาก็คงหนีไม่พ้นแสงแดดที่ร้อนแรงของประเทศไทย ซึ่งแม้อยากหลีกเลี่ยงไม่ขอโดนแดดเลย แต่อย่าลืมว่า “แสงแดด” มีประโยชน์มหาศาลเช่นกันต่อสุขภาพ โดยเฉพาะแสงแดดยามเช้า แต่หากเป็นแสงแดดในช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00 ขึ้นไป แน่นอนว่าควรหลีกเลี่ยง โดนก็ให้น้อยที่สุด เพราะหากเผชิญกับแสงแดดนานๆ นอกจากจะเกิดอาการผิวไหม้ที่รุนแรงได้ ก็อาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งผิวหนังได้ด้วย    รู้จักภาวะผิวไหม้         ผิวไหม้ สาเหตุเกิดจากการโดนแดดในอุณหภูมิที่สูงและนานเกินไป จนเกิดอาการแสบร้อนแดง  คัน ผิวหมองคล้ำ หรืออาจเป็นตุ่มน้ำใสที่บริเวณผิวหนังโดยอาจจะเกิดจากการที่เราไม่ได้ทากันแดดซ้ำ หรือไม่ได้ทาเลยตั้งแต่แรก ซึ่งอาการ ผิวไหม้ นั้นมีหลายระดับดังนี้        1. อาการผิวไหม้ในภาวะไม่รุนแรงมากจะมีอาการแดง และเจ็บปวดบริเวณที่ผิวไหม้เล็กน้อยประมาณ 3-5 วัน ผิวจะมีอาการลอกและกับเข้าสู่สภาวะปกติของผิวหนัง         2. อาการผิวไหม้เริ่มรุนแรงในระดับปานกลาง มีอาการแสบคัน ผิวแดง บวม เจ็บปวดเวลาสัมผัสผิวบริเวณนั้น ต้องคอยบำรุงผิวใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีความชุ่มชื้นเพื่อให้ผิวหนังกลับสู่ภาวะปกติในระยะเวลาประมาณ 5-7 วัน         3. อาการผิวไหม้ในระดับรุนแรง ที่ต้องเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจดูอาการเพื่อการรักษาที่ถูกต้อง จะมีอาการ แสบร้อน คัน ผิวแดง บวม และมีตุ่มใสบริเวณผิวหนัง และต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟูผิวให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ วิธีดูแลผิวไหม้ระดับหนึ่งและสอง        1. อาบน้ำเย็น แต่หากไม่สามารถอาบน้ำได้ในเวลานั้นทันที ให้ใช้น้ำเกลือที่แช่เย็นไว้แทน โดยนำผ้าชุบน้ำเกลือมาประคบไว้ เพื่อลดอาการแสบร้อนได้ แต่ห้ามเป็นน้ำที่มีความเย็นจนเกินไปเพราะอาจทำให้กัดผิวได้        2. ทามอยเจอร์ไรส์เซอร์ เพื่อเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับผิว โดยทาหลังจากอาบน้ำในขณะที่ตัวหมาดๆ หรือใช้เจลว่านหางจระเข้ ซึ่งมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการแสบร้อนและถนอมผิว แต่หากผิวมีอาการอักเสบมากสามารถใช้ยาที่เป็นกลุ่มสเตียรอยด์ได้เหมือนกัน แต่ต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์เท่านั้น        3. ดื่มน้ำเยอะๆ เพื่อชดเชยน้ำที่เสียไปจากอาการผิวไหม้ และนอกจากนี้การดื่มน้ำมากๆ ยังทำให้ช่วยลดอาการผิวแห้งอีกด้วย        4. ไม่ควรแกะ ลอก หรือเกา ในบริเวณผิวที่ไหม้เพราะผิวบริเวณนั้นมีความเปราะบางมากและไวต่อการระคายเคืองมาก        5. ในกรณีที่ไหม้แดดมาก ถึงขั้นมีอาการตุ่มแดงพองมีน้ำใสๆ หรือตุ่มน้ำห้ามเจาะออกเองเด็ดขาด หากเจาะตุ่มน้ำออกมาเอง อาจก่อให้เกิดอาการติดเชื้อแบคทีเรียได้ เพราะฉะนั้นควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยอาการได้อย่างถูกต้องเท่านั้น        หากอยู่ในภาวะผิวไหม้แดด ไม่ควรใส่เสื้อผ้าที่รัดแน่นจนเกินไป ควรใส่เสื้อผ้าที่หลวมๆ เพื่อลดการเสียดสี และหลีกเลี่ยงการออกไปในสถานที่กลางแจงที่มีแดดจัดๆ เพื่อให้ผิวหนังได้มีการซ่อมแซมและฟื้นฟูได้เต็มที่           สำหรับการเลือกใช้ครีมกันแดด หากเราใช้ชีวิตประจำวันอยู่แค่เพียงในอาคาร สามารถใช้แค่ SPF15+ ขึ้นไป แต่หากอยู่กลางแจ้งควรที่จะใช้ SPF30+ ขึ้นไปข้อมูลอ้างอิง : https://www.si.mahidol.ac.th/Th/healthdetail.asp?aid=1411https://www.pobpad.comhttps://www.youtube.com/watch?v=2Hzf1kNFANE

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 173 ดื่มน้ำหวานในฤดูร้อน พึงระวัง

ฤดูร้อนนั้นเป็นฤดูที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของคนมากที่สุด เพราะนอกเหนือไปจากความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อโรคในอาหารที่ตั้งทิ้งไว้ในอุณหภูมิห้องที่สูงเกือบเท่าหรืออาจเกินอุณหภูมิของร่างกาย แล้ว เรายังมักดื่มของเหลวเพื่อลดความกระหาย เนื่องจากความร้อนในกายมากกว่าช่วงเวลาอื่นเช่น ในฤดูฝนหรือฤดูหนาวในการดื่มของเหลวนั้น ถ้าโชคดีเป็นน้ำเปล่าปัญหาก็ไม่เกิด แต่ปัญหาต่อสุขภาพจะเกิดถ้ามันเป็นน้ำที่มีความหวานจากน้ำตาลธรรมชาติ เพราะมันเป็นปัจจัยการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัวในช่วงอากาศร้อน และประเด็นที่น่าสนใจเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับความหวานในเครื่องดื่มคือ ถ้าชนิดของสารให้ความหวานตามธรรมชาติต่างกัน ผลที่เกิดขึ้นมันก็ต่างกันท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าน้ำตาล(ที่เขียนบนฉลากอาหาร) ที่ใช้ให้ความหวานในอาหารที่ผลิตทางอุตสาหกรรมนั้นคืออะไร คำตอบอาจง่ายสำหรับผู้ที่เรียนมาทางด้านอาหารและโภชนาการ แต่ผู้ที่จบสาขาอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องอาจไม่ทราบว่ามันอาจเป็น น้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้น (high fructose corn syrup หรือ HFCS) ซึ่งผลิตจากแป้งข้าวโพดก่อนอื่นท่านผู้อ่านควรเข้าใจความแตกต่างในการใช้น้ำตาลฟรุกโตสกับคนที่มีอาการเบาหวาน และการใช้น้ำเชื่อมฟรุกโตสในอุตสาหกรรมอาหาร ว่ามันเป็นคนละเรื่องเดียวกันฟรุกโตส (Fructose) เป็นน้ำตาลที่พบได้ทั่วไปในอาหารตามธรรมชาติ พบมากในผลไม้และน้ำผึ้ง ฟรุกโตส เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว ซึ่งนิยมใช้ให้ความหวานของอาหารทางการแพทย์ชนิดที่ใช้กับผู้ป่วยเบาหวาน เพราะฟรุกโตสถูกดูดซึมเข้าเซลล์โดยไม่ต้องอาศัยฮอร์โมนอินซูลิน(ไม่เหมือนน้ำตาลกลูโคส) ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานได้รับพลังงานในเวลาอันรวดเร็ว ทำให้รู้สึกสดชื่น หายอ่อนเพลียอย่างรวดเร็ว ส่วนน้ำเชื่อมฟรุกโตสนั้น ก็มีองค์ประกอบเป็นน้ำตาลฟรุกโตสเช่นกัน แต่กรรมวิธีการผลิตนั้นเป็นการนำเอาแป้งข้าวโพด ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นโพลีเมอร์ของน้ำตาลกลูโคสต่อเรียงกันยาว จนกลายเป็นแป้งมาย่อยด้วยเอ็นไซม์อัลฟาอะมัยเลส (α-amylase) จนได้แป้งชนิดที่เป็น oligosaccharide ซึ่งมีองค์ประกอบเป็นโพลีเมอร์ของกลูโคสสายสั้น ๆ ซึ่งต้องถูกย่อยต่อด้วยเอ็นไซม์กลูโคอะมัยเลส (Glucoamylase) ได้เป็นน้ำตาลกลูโคส แล้วจึงเปลี่ยนให้เป็นน้ำตาลฟรุกโตส ด้วยเอ็นไซม์กลูโคสไอโซเมอเรส (glucose isomerase) ซึ่งผลที่ได้นั้นจะมีน้ำตาลฟรุกโตสและน้ำตาลกลูโคส ที่ไม่ถูกย่อยผสมกันด้วยอัตราส่วนเกือบ 1 ต่อ 1 น้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้นทั่วไปมักมีปริมาณน้ำร้อยละ 24 ส่วนที่เหลือคือน้ำตาลวิธีการผลิตน้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้นด้วยตนเอง (DIY หรือ Do It Yourself) นั้นมีคำอธิบายไว้ใน www.bonappetit.com ภายใต้หัวข้อ Make Your Own High-Fructose Corn Syrup with Artist Maya Weinstein ซึ่งเป็นชุดปฏิบัติการที่ประกอบด้วยสารเคมีและเอ็นไซม์ต่าง ๆ ที่สามารถใช้ผลิตในครัวที่บ้าน แต่ราคาก็คงไม่เบานักเพราะต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ถ้าท่านผู้บริโภคต้องการน้ำเชื่อมฟรุกโตสเข้มข้นจริงอาจสั่งซื้อจากร้านค้าที่มีโฆษณาในเน็ทดีกว่า เพียงแต่คงต้องซื้อในปริมาณมากหน่อยเท่านั้น ประเด็นที่ควรตั้งเป็นคำถาม เมื่อมีการบริโภคอะไรมากไปจากเดิม เช่นในกรณีของน้ำเชื่อมฟรุกโตส คือ มันปลอดภัยหรือไม่ ทั้งนี้เพราะบนฉลากอาหารในต่างประเทศนั้น ต้องระบุการผสมน้ำเชื่อมฟรุกโตสในน้ำอัดลม น้ำผลไม้ ชาเขียว ขนมอบ ขนมปัง ผลไม้กระป๋อง แยมและเยลลี่ต่างๆ ไม่ใช่แค่บอกว่ามีส่วนผสมเป็นน้ำตาล แล้วก็มโนเอาว่าเป็นน้ำตาลทรายหรือซูโครส (Sucrose) สาเหตุที่น้ำเชื่อมฟรุกโตสได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายและรวดเร็วก็เพราะ ฟรุกโตสให้ให้ความหวานมากกว่าน้ำตาลทรายถึง 1.3 เท่า หวานนุ่มกว่าน้ำตาลชนิดอื่นๆ เป็นน้ำเชื่อมใสไม่มีสี จึงไม่บดบังสีของอาหาร ดังนั้นเมื่อเทียบกับน้ำตาลทราย ซึ่งเมื่อใช้ในอาหารแล้วมักเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลแล้ว ฟรุกโตสจึงคุ้มค่ากว่าในด้านราคาต้นทุนการผลิต และความสะดวกการที่ฟรุกโตสถูกดูดซึมเข้าสู่เซลล์ของร่างกายได้โดยไร้กลไกการควบคุมนั้น อาจดีเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานที่ใช้ยารักษาโรคเบาหวานอยู่ และสามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ดี แต่การใช้ฟรุกโตสในปริมาณมากเกินไปอาจทำให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและไร้การควบคุม ที่น่าสนใจคือ มีการสำรวจพบว่า ตั้งแต่วงการอุตสาหกรรมเริ่มนำน้ำเชื่อมฟรุกโตสมาใช้แทนน้ำตาลทรายก็พบว่า อัตราการเกิดโรคอ้วนก็เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวานนั้นน้ำตาลในเลือดไม่สูงผิดปรกติ แต่มีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีผู้ตั้งสมมุติฐานว่าการดื่มเครื่องดื่มที่มีฟรุกโตสเป็นส่วนผสมติดต่อกันอาจเพิ่มความอยากอาหาร จึงทำให้กินอาหารอื่นได้ในปริมาณมากขึ้น แต่ที่หนักหนาคือ น้ำตาลฟรุกโตสอาจส่งผลให้ไขมันในเลือดสูงขึ้น โดยเฉพาะไขมันชนิดแอลดีแอลคอเลสเตอรอล (LDL-C) แถมพกด้วยภาวะดื้อต่ออินซูลิน ซึ่งไม่เป็นผลดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยเบาหวาน นอกจากนั้นการใช้ฟรุกโตสในระยะยาวยังทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจ หลอดเลือดหัวใจตีบ และความดันโลหิตสูง และที่น่าหนักใจคือ น้ำตาลฟรุกโตสยังถูกเปลี่ยนไปเป็นกรดไขมันอิสระ ซึ่งถูกสงสัยว่าอาจก่อให้เกิดภาวะไขมันเกาะตับ (Fatty Liver) โดยไม่รู้ตัวประเด็นปัญหาของฟรุกโตสต่อสุขภาพสิ่งมีชีวิตนั้น ล่าสุดได้ถูกตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ของ Nature (วารสารที่ถูกจัดว่ามีอิทธิพลในวงการวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่สุดเล่มหนึ่ง) คือ www.nature.com/scientificreports ซึ่งตีพิมพ์งานวิจัยของ Catarina Rendeiro และคณะ เรื่อง Fructose decreases physical activity and increases body fat without affecting hippocampal neurogenesis and learning relative to an isocaloric glucose diet เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2015ดอกเตอร์ Rendeiro และคณะได้ทดลองในหนู mouse โดยแบ่งหนูเป็นสองกลุ่ม ให้ได้อาหารที่มีสัดส่วนทุกอย่างเหมือนกันหมด (ซึ่งหมายความว่าได้พลังงานเท่ากันด้วย) สิ่งที่ต่างกันอย่างเดียวคือ แหล่งให้พลังงานในอาหารกลุ่มหนูทดลองหนึ่งนั้นเป็นฟรุกโตส(ซึ่งคำนวณว่าให้พลังงานร้อยละ 18 ของคาร์โบไฮเดรตซึ่งได้แก่ แป้งข้าวโพดและน้ำตาลทราย) ส่วนของอีกกลุ่มเป็นกลูโคส(ซึ่งให้พลังงานร้อยละ 18 ของแป้งข้าวโพดและน้ำตาลทรายเช่นกัน) จากการเลี้ยงหนูนาน 77 วัน พบว่า หนูที่กินอาหารผสมด้วยน้ำตาลฟรุกโตสนั้น มีน้ำหนักตัวมากกว่ากลุ่มที่กินอาหารผสมน้ำตาลกลูโคสอย่างมีนัยสำคัญ พร้อมตับที่โตกว่า ซึ่งอาจเนื่องจากไขมันที่มาพอกเพิ่มเติม(ในทางวิทยาศาสตร์แล้วการที่ตับมีไขมันสะสมถือว่าตับเริ่มแย่แล้ว เนื่องจากไม่สามารถเผาผลาญไขมันได้หมด)ท่านผู้อ่านที่ไม่เคยเรียนวิชาชีวเคมีมาคงไม่ทราบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดความแตกต่างนี้ในสัตว์ทดลองคือ โดยทั่วไปแล้วน้ำตาลกลูโคสนั้น อาศัยฮอร์โมนอินซูลินในการนำเข้าสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกายเพื่อสันดาปให้พลังงานแก่เซลล์ ซึ่งต่างกับน้ำตาลฟรุกโตส ซึ่งถูกสันดาปเป็นส่วนใหญ่ที่เซลล์ตับ ดังนั้นพลังงานที่เกิดที่ตับจึงมีความเหลือเฟือจนน่าจะส่งผลทำให้เกิดการสร้างไขมันขึ้นมาได้ เพราะเมื่อใดที่อวัยวะใดของร่างกายมีพลังงานเหลือเฟือเซลล์ของอวัยวะนั้น จะเริ่มการสร้างไขมันขึ้นมาสะสมแทน เนื่องจากไขมันนั้นเป็นแหล่งสะสมพลังงานที่ใช้พื้นที่ในการเก็บน้อยกว่าแป้งกลัยโคเจน อีกประเด็นที่คณะวิจัยได้ค้นพบ และเชื่อว่าอาจเป็นต้นเหตุที่ทำให้หนูกลุ่มที่กินน้ำตาลฟรุกโตสมีปัญหาสุขภาพคือ หนูกลุ่มนี้มีการออกแรงทำกิจกรรมลดลงอย่างเห็นได้ชัด(กล่าวโดยสรุปคือ ขี้เกียจมากขึ้น) ประเด็นนี้ถ้านำมาอุปมาอุปไมยถึงคนที่ออกกำลังกายเหนื่อย ๆ แล้วกลับบ้านกินน้ำอัดลม คงได้คำตอบเสียทีว่า ทำไมออกกำลังกายแทบตายน้ำหนักถึงลดบ้างไม่ลดบ้างดังนั้น....หลังจากเขียนบทความนี้แล้ว สิ่งที่ผู้เขียนจะปฏิบัติเพื่อให้เป็นนิสัยคือ เมื่อรู้สึกเหนื่อยหลังการออกกำลังกายแล้ว ถ้ากระหายอยากดื่มน้ำอัดลม ก็จะดื่มพร้อมกับสร้างภาพลวงว่า สิ่งที่ดื่มเป็นสุราเหมาไถ กล่าวคือ จะรินน้ำอัดลมลงแก้วในปริมาณที่คอเหล้าเขาทำกัน เพื่อดื่มเพียงนิดหน่อยพอรู้รส (เพราะถ้าเป็นเหล้าเหมาไถมันจะแรงและแพง) นั่นเอง  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point