ฉบับที่ 276 จ่ายล่วงหน้าซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ร้านอาหาร หากร้านเจ๊ง ไปแจ้งความขอเงินคืนได้

        กลยุทธ์การตลาดของร้านอาหารมีหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นคือเสนอขายกิ๊ฟวอชเชอร์ให้ลูกค้าจ่ายเงินล่วงหน้าซื้อโปรโมชั่นที่เชียร์ว่าคุ้มสุดๆ ทำให้ลูกค้าหลายคนตัดสินใจซื้อเพราะคำนวณแล้วว่าคุ้มจริง โดยลืมนึกถึงความเสี่ยงว่าหากจู่ๆ ร้านเจ๊ง แล้วเงินที่เหลือยังจะได้คืนไหม         คุณแพรวก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่ได้นึกถึงความเสี่ยงในข้อนี้ไว้ก่อนเลย เหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2566 เธอไปกินบุฟเฟ่ต์อาหารญี่ปุ่นที่ร้านชื่อดังแห่งหนึ่งสาขาพัทยา ซึ่งทางร้านจะขายแบบโปรฯ ในราคา 899 บาท ซื้อ 1 แถม 1 โดยต้องจ่ายเงินก่อน มากินเท่าไหร่ก็หักไปเท่านั้น แรกๆ ก็ไม่มีปัญหาอะไร แต่ต่อมาวอชเชอร์เริ่มใช้ไม่ได้ ต้องจองล่วงหน้าและเมนูอาหารก็ไม่ครบ ลดลงไปประมาณ 30%           มีอยู่วันหนึ่ง คุณแพรวแปลกใจที่เห็นพนักงานเต็มร้านแต่กลับไม่รับลูกค้า บอกว่าวัตถุดิบในการทำอาหารไม่เข้ามาที่ร้าน เธอเริ่มสงสัยจึงลองไปเช็กที่สาขาอื่นๆ ก็พบว่าร้านอื่นมีวัตถุดิบครบ และเปิดบริการให้ลูกค้าได้ตามปกติ จากนั้นเข้าไปติดตามในเพจของร้านนี้ ก็พบลูกค้าที่มีปัญหาซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ของร้านนี้ไว้แต่กลับใช้ไม่ได้เพราะร้านปิดเหมือนกับเธอ เข้ามาคุยในเพจและรวมตัวกันราว 200 กว่าคน          คุณแพรวเองซื้อกิ๊ฟวอชเชอร์ไว้ประมาณ 4,000 กว่าบาท พอเห็นท่าไม่ดีจึงไปแจ้งความพร้อมผู้เสียหายในเพจอีกประมาณ 10 คน ที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา แต่ก็ไม่มีความคืบหน้าเลย เมื่อติดต่อทางร้านไป ก็แจ้งว่ากำลังปิดปรับปรุงพื้นที่ให้ดีขึ้น แต่ถ้าลูกค้าคนไหนจะขอเงินคืนก็ยินดีจ่ายให้ภายใน 10 วัน แต่แล้วก็เงียบหายไปอีก                    ต่อมาคุณแพรวได้รู้ว่ามีพนักงานของร้านเข้าไปแจ้งความด้วยว่ายังไม่ได้รับเงินเดือน ซึ่งทางร้านติดค้างไว้อยู่ 3 เดือน และเล่าถึงสาเหตุที่ร้านปิด เป็นเพราะว่าเจ้าของสั่งวัตถุดิบมาทำอาหารแล้วไม่จ่าย จนบริษัทที่ส่งอาหารไม่ส่งวัตถุดิบมาให้ คุณแพรวหวั่นใจว่าเจ้าของร้านอาหารนี้จะเบี้ยวหนี้ที่รับปากไว้ จึงโทรศัพท์ติดต่อมาที่มูลนิธิฯ เพื่อขอคำปรึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหา         เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ทางเจ้าหน้าที่แนะนำให้คุณแพรวในฐานะผู้เสียหาย แจ้งความเกี่ยวกับการฉ้อโกง เป็นคดีอาญา ให้ตำรวจเรียกคู่กรณีมาคุยกันที่สถานีตำรวจ เพื่อเป็นการกดดันคู่กรณี เนื่องจากถ้าเจ้าของร้านอาหารไม่ต้องการที่จะขึ้นศาลหรือติดคุก ก็อาจจะพยายามหาเงินมาใช้หนี้ให้ได้ในที่สุด         หลังจากที่คุณแพรวได้พาผู้เสียหายประมาณ 10 คน ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาด้วยกันอีกครั้งตามคำแนะนำแล้ว เพียงไม่นาน ทางเจ้าของร้านอาหารได้ติดต่อมาและตกลงจะคืนเงินทั้งหมดของผู้เสียหายแต่ละคนจนครบทุกคน ล่าสุด คุณแพรวได้รับเงินคืนเรียบร้อยแล้ว

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 270 ไม่หลอกก็เหมือนหลอกกับ Voucher ฟรีที่ใช้ไม่ได้จริง!

        แม้ปัจจุบันช่องทางการซื้อขายออนไลน์ผู้บริโภคจะได้รับการคุ้มครองมากขึ้นแล้ว แต่ยังอาจถูก ผู้ประกอบการสบช่องโหว่บางประการชวนให้คนเข้าซื้อสินค้า โดยอาจใช้วิธีการให้สิทธิพิเศษต่างๆ แต่เมื่อถึงเวลากลับไม่สามารถใช้ได้จริง เช่น เรื่องราวของคุณฝ้ายที่ซื้อคูปองจากบริษัทแห่งหนึ่งที่โพสต์บน Facebook page ซึ่งมี เงื่อนไข เรียกแขก จูงใจมาก ...         “ลดราคาร้านอาหารนานาชาติ Rooftop Mocktail และอื่นๆ อีกมากมายในราคาเพียง 99 บาท โปรโมชั่น Flash Sale เริ่มวันที่ xxx 2566 เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป”         คุณฝ้ายไม่รอช้า โปรโมชั่น Flash Sale เปิดให้จองเพียง 20 นาทีเท่านั้น  และเพียงกดเข้าไป Voucher Flash sale ราคา 99 บาท อย่างด่วนๆ รอไม่นาน ก็ได้ E-MAIL แจ้งยืนยัน “รายการสั่งซื้อสำเร็จ”         คุณฝ้ายนึกดีใจ รอวันใช้  Voucher  ที่ร้านอาหารนานาชาติในราคาที่รู้สึกว่าตัวเองเป็นผู้โชคดีมากๆ แต่เพียงไม่กี่ชั่วโมงต่อมา เพจที่ขาย E-Voucher ส่งข้อความมาแจ้งว่า “ เนื่องจากปริมาณการซื้อ ช่วงจัดโปรโมชันมีจำนวนมากทำให้ ระบบ E-MAIL ยืนยัน Voucher ภายใน 24 ชั่วโมง มีความขัดข้องทำให้จำหน่ายเกินโควตาหลายเท่า ดังนั้นจึงขอแจ้งยกเลิก Voucher         บริษัทอ้างเพราะระบบขัดข้องทำให้ต้องแจ้งยกเลิกการใช้  Voucher  โดยแจ้งว่า บริษัทจะคืนเป็น Gift Card มูลค่า 100 และ 200 บาทแต่หากลูกค้าต้องการเงินคืน 100% ให้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินคืนได้ที่แบบฟอร์มลงทะเบียนของเพจบริษัทซึ่งต้องทำภายใน 1 วันหลังจากที่บริษัทประกาศเท่านั้น  คุณฝ้ายมองว่า ปัญหาลักษณะนี้อาจหลอกเอาเงินผู้บริโภคได้จำนวนมาก เพราะด้วยราคาไม่สูงมากจึงอาจทำให้มีผู้สนใจจำนวนมากที่แห่กดเข้าไปเมื่อทราบว่าตนเองไม่ได้สิทธิ การทำเรื่องขอเงินคืนบริษัทให้เวลาน้อยมาก ผู้บริโภคหลายคนน่าจะไม่อยากเสียเวลาเพื่อรับเงิน 99 บาทคืน จึงส่งเสียงร้องเรียนเรื่องนี้มาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค             แนวทางการแก้ไขปัญหา         หากผู้บริโภค เจอเหตุการณ์ ซื้อคูปอง/ดีล Flash Sale แล้วถูกยกเลิก ให้ผู้ร้องรวบรวมหลักฐาน มาให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยดำเนินการ ทำหนังสือไปยังผู้ประกอบการ แต่ผู้ร้องต้องมีหลักฐาน ดังนี้            1.โฆษณาดีล/ Flash Sale ตามช่องทางต่างๆ ที่พบ             2.หมายเลขคำสั่งซื้อ/ดีลที่ซื้อ             3.หลักฐานการชำระเงิน             4.ประกาศแจ้งยกเลิก/ข้อมูลยกเลิกจากบริษัทฯ             5.มีการติดตามทวงถามหรือไม่ (ถ้ามีให้แนบมาด้วย)         เมื่อมีหลักฐานแล้วต้องการรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ก็มีทั้ง  มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และยังสามารถร้องเรียนออนไลน์ กับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ที่ เว็บไซต์ https://complaint.ocpb.go.th/ หรือแอปพลิเคชัน OCPB Connect ตลอด 24 ชั่วโมง หรือกับ แผนกคดีซื้อขายออนไลน์ กับ ศาลแพ่ง “ได้ 24 ชั่วโมง ที่ เว็บไซต์ศาลแพ่งhttps://efiling3.coj.go.th/eFiling และหากจะฟ้องคดีแพ่งส่วนตัวก็จะต้องทำเป็นหนังสือแจ้งยุติเรื่องร้องทุกข์กับ สคบ. เสียก่อน         เรื่องราวของคุณฝ้าย แม้จำนวนเงินอาจจะดูไม่เยอะ แต่เมื่อผู้เสียหายหลายราย คำนวณจึงเป็นเงินจำนวนมาก หากไม่ช่วยกันส่งเสียง อาจเกิดเหตุลักษณะนี้อีกต่อไปได้

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 265 ค่าแรงขั้นต่ำ คุณภาพชีวิตต่ำ กับข้อถกเถียงเรื่อง ‘เซอร์วิสชาร์จ’

        'การมีจิตใจบริการ' หรือ 'service mind' เป็นภาพลักษณ์หนึ่งที่เกื้อหนุนอุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวของไทยให้เติบโตมาหลายทศวรรษ        'คนไทยเป็นคนมีน้ำใจ' เป็นภาพลักษณ์เชิดชูความเป็นไทยแบบเหมารวมและยากพิสูจน์ที่ถูกเชื่อว่าหนุนหลังให้เกิด service mind แง่มุมอันงดงามเรื่องน้ำใจที่มีแง่คมต่อการขูดรีดแรงงาน        ก่อนหน้านี้เกิดประเด็นเรื่อง 'เซอร์วิสชาร์จ' ว่าเก็บได้หรือไม่ได้ ถ้าจะเก็บต้องทำอย่างไร ผู้บริโภคไม่จ่ายได้หรือไม่ ฯลฯ เรื่องนี้มีตำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนในทางกฎหมาย ซึ่งเราจะรวบตึงมามัดไว้ด้วยกันให้ผู้บริโภคได้ทำความเข้าใจ         นอกเหนือจากนี้ จะชวนไปฟังความเห็นของเจ้าของร้านอาหารที่ผูกพ่วงตำแหน่งนายกสมาคมการท่องเที่ยว และจะชวนไปฟังเสียงบาริสต้าจากสหภาพแรงงานบาริสต้า คนทำงานบริการตัวเป็นๆ ผู้ไร้สุ้มเสียงจากข้อถกเถียงที่พวกเขาไม่ควรถูกทำให้เงียบ เก็บได้ แต่ต้องชัดเจน         ก่อนที่งานบริการจะค่อยๆ ถูกยกมาตรฐานวิชาชีพและองค์ความรู้ตามสายงานอันหลากหลายเช่นปัจจุบัน ในสังคมอเมริกันงานบริการอย่างงานเสิร์ฟอาหารเคยเป็นงานขั้นต่ำสุดที่คนหลีกเลี่ยง แต่มันก็เป็นงานที่จำเป็นต้องมีใครสักคนรับหน้าที่ เซอร์วิสชาร์จจึงเข้ามาเพิ่มแรงจูงใจเพื่อดึงดูดแรงงานและยังมีบทบาทถึงปัจจุบัน         แล้วเซอร์วิสชาร์จเก็บได้ไหม? เอาตรงนี้ก่อน สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคหรือ สคบ. ออกมาให้ข้อมูลว่า ผู้ประกอบการสามารถคิดค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกเหนือจากค่าอาหารตามประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 69 พ.ศ.2565 ข้อ 9 ได้ เซอร์วิสชาร์จนับเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ ตามประกาศ         กฎหมายดังกล่าวยังกำหนดอีกว่า หากผู้ประกอบการจะคิดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ก็จำเป็นต้องแสดงค่าใช้จ่ายดังกล่าวให้ชัดเจนและครบถ้วนโดยแสดงควบคู่กับราคาอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคทราบประกอบการตัดสินใจว่าจะใช้บริการหรือไม่ อันเป็นสิทธิของผู้บริโภคตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.2522 มาตรา 4 ที่ระบุถึงสิทธิของผู้บริโภคไว้ 5 ประการ ประกอบด้วย        1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอเกี่ยวกับสินค้าและบริการ        2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการ        3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ        4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ        5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณา และชดเชยความเสียหาย ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง และชดใช้ค่าเสียหายเมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภคตาม ข้อ -4         และเพื่อให้เกิดความชัดเจนเป็นธรรมแก่ผู้บริโภค ผู้ประกอบการควรแจ้งการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นไว้บริเวณหน้าร้านค้า มีกำหนดราคาที่เหมาะสมตามสมควร หากผู้ประกอบการไม่ดำเนินตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศฉบับนี้ ผู้บริโภคอาจปฏิเสธไม่ชำระค่าใช้จ่ายอื่นและสามารถร้องทุกข์ต่อกรมการค้าภายในได้ ทางเลือกของผู้บริโภค         สรุปว่าร้านอาหารสามารถเก็บค่าเซอร์วิสชาร์จได้ แต่ต้องทำตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ถึงกระนั้นก็มีร้านอาหารบางแห่งเลือกที่จะไม่เก็บ             พันชนะ วัฒนเสถียร นายกสมาคมการท่องเที่ยวเขาใหญ่และเจ้าของร้านอาหารเป็นลาวซึ่งไม่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จให้เหตุผลว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จจะมาพร้อมกับความคาดหวังของลูกค้าต่อมาตรฐานการบริการ ขณะที่ร้านเป็นลาวมีนโยบายและรูปแบบการบริการที่เน้นความเป็นกันเอง         “เราอยากรู้สึกเป็นเพื่อนกับลูกค้ามากกว่า แต่ถ้าในอนาคตเราต้องอยู่ในห้าง ต้องเป็นระบบ อันนั้นก็ไม่แน่ ต้องพิจารณากันอีกที แต่โดยส่วนตัวพบว่าสำหรับร้านเราไม่มีนโยบายเพราะเรารู้ว่าเราอาจบริการไม่ดีและก็ไม่อยากให้ลูกค้าคาดหวัง รู้สึกว่าจ่ายแล้วไม่คุ้มค่า” พันชนะยังอธิบายต่ออีกว่า         ในเมืองไทยการเก็บเซอร์วิสชาร์จเกิดขึ้นและวิวัฒนาการมาพร้อมกับการเติบโตของอุตสาหกรรมโรงแรม มันเป็นแรงจูงใจให้แก่พนักงานที่แม้ว่าฐานเงินเดือนจะต่ำ แต่ได้รับค่าเซอร์วิสชาร์จจากการเข้ามาใช้บริการของแขกเป็นสิ่งชดเชย เมื่อมองในแง่การบริหารต้นทุน มันทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการไม่สูงจนเกินไป เซอร์วิสชาร์จจึงมีหน้าที่ของมันในระบบนิเวศของธุรกิจ         เมื่อถามเธอในฐานะนายกสมาคมท่องเที่ยวเขาใหญ่ เธอเห็นว่าควรปล่อยให้เป็นนโยบายของแต่ละร้านที่จะเลือกเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ เพราะร้านอาหารในเขาใหญ่เองมีความหลากหลาย ตั้งแต่สตรีทฟู้ดถึงแบบ fine dining ที่มีมาตรฐานการบริการขั้นสูง การกำหนดว่าต้องเก็บหรือไม่เก็บอาจไม่สอดคล้องกับสภาพของแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งสถานการณ์ที่เป็นอยู่เวลานี้ พันชนะบอกว่ามีร้านอาหารไม่ถึงร้อยละ 30 ในเขาใหญ่ที่มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ และควรปล่อยให้ผู้บริโภคมีทางเลือกว่าต้องการระดับการบริการแบบไหน เก็บได้ แต่ต้องเป็นของพนักงาน         ถามย้อนกลับมาฝั่งผู้บริโภคบ้างว่ายินดีจ่ายหรือไม่ ตามทัศนะของ พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนท์ เจ้าของเพจกินกับพีท และพุธิตา ปราบ เจ้าของเพจ Wander Girls ทั้งคู่เป็นเพจรีวิวร้านอาหาร คาเฟ่ สปา เห็นว่าทางร้านสามารถเก็บเซอร์วิสชาร์จได้         “ถ้าถามในมุมผู้ประกอบการคิดว่าเป็นสิ่งที่ควรมี” พีรพัฒน์อธิบาย “เป็นกำลังใจให้พนักงาน แต่ประเด็นคือการจะมีสิทธิตรงนี้ ทางผู้ประกอบการเองก็น่าจะต้องคอยหมั่นเทรนพนักงานให้มีมาตรฐานที่ดีในการบริการลูกค้า ทั้งในส่วนหน้าร้านและในครัว เพราะเป็นผลประโยชน์ร่วมกัน”         ส่วนพุธิตามีจุดยืนว่า service charge ควรต้องมี         “เซอร์วิสชาร์จควรจะเป็นการเอาไปหารระหว่างพนักงานด้วยกันเอง ด้วยค่าแรงขั้นต่ำประเทศไทยคนทำงานในสายงานพวกนี้ไม่ได้เงินเดือนสูงอยู่แล้ว บวกกับวัฒนธรรมที่ไม่เหมือนอเมริกาที่ทิปหนัก เซอร์วิสชาร์จยังจำเป็นอยู่เพื่อให้คนที่ทำงานด้านนี้มีรายได้เพิ่มขึ้น มันก็มีกฎหมายไม่ให้เซอร์วิสชาร์จเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ก็ไม่ได้แรงมาก คิดว่ามันเล็กน้อยมากกับสิ่งที่เขาต้องทำงานให้เรา”         แต่เมื่อเก็บเซอร์วิสชาร์จ การบริการก็ควรต้องมีมาตรฐานในระดับหนึ่ง พีรพัฒน์กล่าวว่าผู้ประกอบการต้องจัดอบรมพนักงานด้านมาตรฐานการให้บริการ ขณะที่พุธิตามองต่างเล็กน้อยว่า บริการดีหรือไม่ดี ค่อนข้างเป็นเรื่องอัตวิสัย แต่ละคนมีความคาดหวังต่างกัน การให้บริการตามที่เป็นอยู่จึงถือว่าเพียงพอ หากร้านไหนบริการแย่จริงๆ ก็มีการโซเชียล แซ็งชั่นอยู่แล้วในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่กำกับร้านอาหารให้ต้องรักษาคุณภาพบริการ        ประเด็นที่ทั้งคู่เห็นพ้องต้องกันคือเซอร์วิสชาร์จควรเป็นของพนักงาน ไม่ใช่ผู้ประกอบการ        พีรพัฒน์ กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าเจอหลายที่ที่เอาสิบเปอร์เซ็นต์นี้เก็บเข้าตัวเอง พนักงานไม่ได้ เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ต้องดูอย่างชัดเจนว่าลูกน้องได้หรือเจ้าของเก็บ ผมมองว่าควรลงที่พนักงานเต็มๆ มากกว่า” ในมุมคนทำงานคุ้มครองสิทธิ         อย่างไรก็ตาม น่าสังเกตว่ากฎหมายไม่ได้กำหนดว่าเซอร์วิสชาร์จที่อยู่ในหมวดค่าใช้จ่ายอื่นๆ ต้องเก็บเท่าไหร่ ระบุเพียงว่าต้อง ‘เหมาะสม’ ซึ่งโดยปกติที่เก็บกันทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 10 ของค่าอาหารในแต่ละครั้ง         จุดนี้เอง นฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย https://www.bbc.com/thai/articles/cx808jy8g3qo ว่า การเก็บเซอร์วิสชาร์จในไทยไม่มีมาตรฐานอ้างอิง ผู้บริโภคไม่รู้ว่าที่เก็บไปร้อยละ 10 ของราคาคิดจากอะไร ซึ่งทางมูลนิธิเคยหารือเรื่องนี้กับ สคบ. และกรมการค้าภายใน แต่ก็ไม่มีระเบียบหรือมาตรฐานกำหนดไว้ บอกเพียงว่าเก็บได้ แต่ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบล่วงหน้าก่อนเข้ารับบริการ ติดป้ายหน้าร้านเพื่อให้คนที่จะเข้ามากินเห็นได้ชัดเจน ซึ่งเธอกล่าวว่าไม่ค่อยพบเห็นร้านที่ติดป้ายบอกว่ามีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ        นฤมลตั้งข้อสังเกตต่อไปด้วยว่า ในเมืองไทยยังไม่มีการศึกษาเรื่องค่าทิปและเซอร์วิสชาร์จอย่างจริงจัง เช่น เงินส่วนนี้คิดเป็นมูลค่าเท่าไรของรายได้ของธุรกิจค้าปลีกและบริการของไทย อ้างอิงจากมาตรฐานอะไร หรือเซอร์วิสชาร์จตกถึงมือพนักงานหรือไม่         ถึงตรงนี้เราจะเห็นร่องรอยสำคัญบางอย่างที่ขาดหายไปในการถกเถียงเรื่องเซอร์วิสชาร์จ นั่นก็คือเหล่าพนักงานบริการซึ่งสุ่มเสี่ยงจะถูกเอารัดเอาเปรียบจากนายจ้าง         จิตใจบริการหรือจิตวิญญาณของความเป็นทาส?        เชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยร้านอาหารและคาเฟ่ จากการเปิดเผยของ เริงฤทธิ์ ลออกิจ บาริสต้าและสมาชิกสหภาพแรงงานบาริสต้า เชียงใหม่ ทำให้รู้ว่ายังมีพนักงานบริการที่ไม่ได้รับค่าแรงตามอัตราค่าแรงขั้นต่ำ         เขาให้ข้อมูลอีกว่าค่าแรงขั้นต่ำของเชียงใหม่ที่ประกาศใช้ ณ วันที่ 1 ตุลาคม 2565 คือ 340 บาทต่อวันหรือ 10,200 บาทต่อเดือน ที่ได้มากกว่านี้อาจอยู่ที่ประมาณ 11,000-12,000 บาท มันเป็นรายได้ที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ เป็นเหตุผลที่ทำให้เขาสนับสนุนให้มีการเก็บเซอร์วิสชาร์จ         “มุมมองต่อลูกค้าจากแรงงานอย่างเรา เมื่อก่อนหนักมาก ปัจจุบันก็ยังมีอยู่คือการเปรียบลูกค้าเป็นพระเจ้า ทำให้ทุกบริการของแรงงานเป็นบริการพิเศษ ไม่ใช่แค่ผมไปเสิร์ฟ แต่ผมต้องยิ้มแย้ม ที่จริงผมไม่ต้องยิ้มก็ได้ งานผมแค่เสิร์ฟ แต่ในไทยไม่ได้ เราต้องมีเซอร์วิสไมด์ วันนี้จะมีปัญหาอะไรก็ตาม ต้องยิ้ม พอนิยามว่าลูกค้าคือพระเจ้า เราแทบจะบริการลูกค้าเต็มที่อยู่แล้ว เพิ่มด้วย                 “เวลามีคนมารีวิวร้านผมว่าบริการดี เป็นมิตร ผมก็จะบอกกับเพื่อนคนทำงานด้วยกันว่า ใช่สิ เพราะใส่จิตวิญญาณของความเป็นทาสลงในบริการนั้นด้วย แบบนี้ควรจะได้มั้ย แต่มันก็เป็นงานประจำของคุณอยู่แล้ว นั่นไง แล้วมันต้องพิเศษขนาดไหน” เริงฤทธิ์ตั้งคำถามกฎหมายคลุมเครือเปิดช่องนายจ้างฮุบเงินเซอร์วิสชาร์จ        กฎหมายอนุญาตให้ผู้ประกอบเก็บเซอร์วิสชาร์จได้และนับเป็นรายได้ แต่กฎหมายไม่ได้ระบุว่าต้องจัดการอย่างไรกับเซอร์วิสชาร์จ ต้องให้พนักงานหรือไม่ ต้องให้ในสัดส่วนเท่าไหร่ ช่องว่างนี้กลายเป็นช่องทางให้ผู้ประกอบการเก็บเซอร์วิสชาร์จเป็นส่วนหนึ่งของรายได้ของตนโดยไม่แบ่งให้พนักงานตามที่พีรพัฒน์เล่า               “กฎหมายให้ไปตกลงกันเอง คิดว่านายจ้างกับลูกจ้างใครมีอำนาจการตัดสินใจมากกว่ากัน ไม่มีหลักประกันว่านายจ้างให้เท่านี้สมเหตุสมผลแล้ว พอไม่มีหลักประกัน แรงงานไม่กล้ามีปากเสียงในเรื่องเซอร์วิสชาร์จที่จะได้แต่ละเดือน ก็ต้องรอความอนุเคราะห์ของนายจ้าง อะไรคือหลักประกันของคนทำงานภาคบริการว่านายจ้างจะให้ ไม่มี มีนายจ้างฮุบเซอร์วิสชาร์จ แล้วเราจะพิทักษ์สิทธิ์ของตนได้ยังไงในเมื่อกฎหมายยังคลุมเครือ” เริงฤทธิ์อธิบาย         แม้กฎหมายจะเปิดทางให้ผู้ประกอบการใช้ดุลพินิจเองว่าจะเก็บหรือไม่เก็บเซอร์วิสชาร์จ แต่ถ้าธุรกิจใดเลือกจะเก็บ เริงฤทธิ์ก็เรียกร้องให้ต้องมีกฎหมายระบุชัดเจนลงไปว่าเงินที่ได้จากเซอร์วิสชาร์จต้องถูกนำมาแบ่งให้พนักงานทุกคนเท่าๆ กัน         ฟังดูสมเหตุสมผลที่จะเป็นเช่นนั้น พุธิตา กล่าวกับ ‘ฉลาดซื้อ’ ว่า         “ส่วนตัวรับไม่ได้ เซอร์วิสชาร์จเราเต็มใจจ่ายให้พนักงานที่มาดูแลเรา ถ้าเขาเก็บเข้าร้าน อันนี้ไม่ถูกต้อง แสดงว่ามันไม่ใช่ค่าอาหารที่แท้จริง แอบเสียบในเซอร์วิสชาร์จ ถ้าคุณจะเก็บเข้ากำไร คุณต้องใส่ในค่าอาหาร ในฐานะผู้บริโภค เดี๋ยวนี้มีการรณรงค์ว่าเวลาบริจาคไปตรวจสอบได้มากแค่ไหน อันนี้ก็เหมือนกัน เราพร้อมจ่ายเซอร์วิสชาร์จ แต่มันไปถึงคนที่เราอยากจะจ่ายให้จริงๆ หรือเปล่า ถ้ามันไม่ถึง เราทิปให้ยังจะง่ายกว่าอีก แต่ประเทศไทยมันไม่มีอะไรให้ตรวจสอบได้เลย ตอนที่มีดราม่าก็เคยลองอ่านดู มันมีบางคนที่ไม่ได้จริงๆ” ค่าแรงขั้นต่ำที่ต่ำเกินกว่าจะมีคุณภาพชีวิตที่ดี         เหมือนเป็นประโยคแบบมีเงื่อนไข กล่าวคือเพราะค่าแรงต่ำ เซอร์วิสชาร์จจึงต้องมี ดังนั้น ถ้าค่าแรงสูง เซอร์วิสชาร์จก็ไม่จำเป็น จริงๆ แล้วไม่ใช่ประโยคแบบมีเงื่อนไข เซอร์วิสชาร์จควรเรียกเก็บเป็นปกติเพื่อให้แก่การบริการของพนักงาน เป็นสิ่งที่เริงฤทธิ์และพุธิตาเห็นสอดคล้องกัน         เมืองไทยค่าแรงขั้นต่ำถูกนิยามว่าเป็นค่าตอบแทนที่คนทำงานได้รับซึ่งเพียงพอต่อค่าครองชีพของแรงงานคนนั้นเพียงคนเดียว แต่ค่าแรงขั้นต่ำตามนิยามสากลขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ค่าแรงขั้นต่ำต้องเพียงพอต่อการยังชีพตามอัตภาพของคนงาน รวมถึงภรรยาและบุตรอีก 2 คน เห็นได้ชัดว่าค่าแรงขั้นต่ำของไทยห่างไกลจากหลักการสากลไปมาก         ประเทศพัฒนาแล้วบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก นอร์เวย์ ไอซ์แลนด์ เป็นต้น ไม่มีการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ใช้หลักการเจรจาร่วมระหว่างสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งและนายจ้าง ซึ่งต่างจากไทยที่นายจ้างเข้มแข็งมาก ส่วนสหภาพแรงงานอ่อนแอ         เหตุนี้ เงื่อนไขเดียวที่เริงฤทธิ์ยอมรับได้ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จคือ         “ถ้าจะไม่มีเซอร์วิสชาร์จ คุณต้องทำให้แรงงานมีอำนาจที่จะรวมตัวและต่อรองขึ้นค่าแรงของตนเองได้โดยอิสระ”

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 254 กระแสต่างแดน

รู้ว่าเสี่ยง        เป็นที่รู้กันว่าใครที่ไว้ผมหรือสวมใส่เสื้อผ้าในสไตล์ที่ “ผิดระเบียบ” ไปจากที่ทางการของเกาหลีเหนือกำหนด อาจถูกตำรวจควบคุมตัว สอบปากคำ ทุบตี หรือแม้แต่จับเข้าคุก         แต่ปัจจุบันเกาหลีเหนือยังไม่ประสบความสำเร็จในการปราบปรามการลักลอบนำเข้าเทปรายการทีวีหรือภาพยนตร์จากต่างประเทศ จึงมีคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบในสิ่งที่พวกเขาได้เห็น และเริ่มแสดงความเป็นตัวของตัวเองผ่านทรงผมและเสื้อผ้าการแต่งกายแบบ “ชาวต่างชาติ”         ผู้เชี่ยวชาญบอกว่า ถ้าดูจากจำนวนเรือนจำและค่ายกักกันแรงงานที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีความเป็นไปได้ว่าจำนวนคนที่กล้าเสี่ยงกระทำ “อาชญากรรมแฟชั่น” เช่น แต่งหน้า ทำสีผม สวมกางเกงยีนส์ หรือเลกกิ้งแนบเนื้อ นั้นมีมากขึ้นนั่นเอง          ผู้กล้าเหล่านี้รู้ดีว่าตนเองเสี่ยงต่อการถูกตำรวจถ่ายคลิปไปประจานในสถาบันการศึกษา ถูกจับกุมและบังคับให้เขียนคำสารภาพ หรืออาจได้ของแถมเป็นการถูกส่งตัวไปทำงานสร้างถนนในพื้นที่ห่างไกลด้วย ปรับปรุงด่วน        รัฐบาลเนเธอร์แลนด์เล็งจัดการกับผู้ให้บริการ “จัดส่งด่วน” ภายในในฤดูใบไม้ร่วงที่จะถึงนี้ หลังการสืบสวนพบว่าบริษัทเหล่านี้ทำผิดกฎหมายแรงงานซ้ำซาก และพนักงานระดับซูเปอร์ไวเซอร์ไม่มีความรู้เรื่องพื้นฐาน เช่น ชั่วโมงทำงาน ชั่วโมงพัก หรือแม้แต่การตรวจเช็คใบอนุญาตทำงานของคนต่างชาติ         รายงานระบุว่าสถานที่ที่ใช้เป็น “ศูนย์กระจายสินค้า” ที่บรรดาไรเดอร์มารวมตัวรอรับสินค้าออกไปส่ง มักเป็นอาคารเก่าที่มีสภาพทรุดโทรมเกินว่าที่จะใช้เป็นโกงดังเก็บสินค้าด้วยซ้ำ สภาพแวดล้อมนี้เป็นอันตรายต่อชีวิตและสุขภาพของคนทำงาน         ความคาดหวังในเรื่องความเร็ว ยังทำให้ไรเดอร์เสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือการทะเลาะวิวาทระหว่างทาง ยังไม่นับน้ำหนักของเป้ขนาดใหญ่ที่ต้องแบก         เขายังพบว่าไรเดอร์บางส่วนรับงานโดยไม่มีสัญญาจ้าง พวกเขาจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเมื่อเจ็บป่วยหรือได้รับอุบัติเหตุ และคนต่างชาติที่ไม่เข้าใจภาษาดัทช์ ก็รับงานโดยไม่มีความเข้าใจกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ด้วย  เปิดปุ๊ปหลอกปั๊บ        โควิด-19 ในอังกฤษอยู่ในช่วงขาลง แต่ที่กำลังไต่ระดับขึ้นมาอย่างรวดเร็วในขณะนี้คือ “โรคระบาด” ชนิดใหม่ที่สื่ออังกฤษเรียกรวมๆ ว่า “ฮอลลิเดย์ สแกม”         เมื่อผู้คนเริ่มค้นหา “ข้อเสนอดีๆ” จากโรงแรม สายการบิน หรือบริษัททัวร์  มิจฉาชีพที่จับจ้องความเคลื่อนไหวเหล่านี้อยู่ก็ปล่อย “โฆษณาปลอม” ที่ดูเหมือนมาจากผู้ประกอบการตัวจริง เข้ามาทางโซเชียลมีเดียหรือเว็บค้นหา พร้อมให้ลิงก์เพื่อคลิกเข้าไปจองและจ่ายเงิน           จากสถิติที่เปิดเผยโดยธนาคาร Lloyds Bank การถูกหลอกให้จองตั๋วเครื่องบินจาก “เว็บปลอม” ทำให้ผู้บริโภคสูญเงินเฉลี่ยคนละ 3,000 ปอนด์  ตามด้วย “แพ็คเก็จทัวร์ปลอม” ที่หลอกเอาเงินจากผู้เสียหายไปได้เฉลี่ยรายละ 2,300 ปอนด์  “ที่พักปลอม” ก็ไม่น้อยหน้า หลอกต้มเอาเงินคนอังกฤษไปได้รายละ 1,200 ปอนด์ ในขณะที่การเช่า “รถบ้านปลอม” นั้น เกิดขึ้นบ่อยที่สุด แม้จะสูญเงินต่อรายเพียง 374 ปอนด์ก็ตาม         ธนาคารแนะนำให้จ่ายเงินผ่านบัตรเดบิตหรือเครดิต หากปลายทางยืนยันให้โอน ก็ให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ ไม่ต้องห่อ        กรีนพีซไต้หวันเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎจำกัดการใช้วัสดุพลาสติกในการห่อหุ้มผัก ผลไม้สด ซึ่งมีการจำหน่ายถึงปีละ 100 ล้านชิ้น         จากการสำรวจร่วมกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉิงกง กรีนพีซพบว่าร้อยละ 90 ของสินค้าสดที่จำหน่ายในไต้หวัน ล้วนถูกห่อหุ้มด้วยพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง         ในปี 2021 มีสินค้าจาก 10 หมวด (เช่น ไข่ ผัก ผลไม้ น้ำดื่มบรรจุขวด ผลิตภัณฑ์ซักผ้า) ถูกจำหน่ายออกไปถึง 1,800 ล้านชิ้น ทำให้มีพลาสติกถูกทิ้งเป็นขยะถึง 15,000 ตัน            ตัวเลขจากการคำนวณระบุว่า ถ้าลดการห่อหุ้ม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลไม้) หรือใช้วัสดุที่ใช้ซ้ำได้ หรือแม้แต่ขอให้ลูกค้านำถุงมาเอง ไต้หวันจะลดขยะชนิดนี้ลงได้มากกว่าครึ่ง  รัฐบาลจึงควรเร่งหาแนวทางที่อ้างอิงเหตุผลทางวิทยาศาสตร์ มาช่วยให้ร้านค้าสามารถจำหน่ายผัก ผลไม้สด ได้โดยไม่ช้ำและไม่สร้างปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่บ้านทำไม่ได้        เมื่อชายแดนกลับมาเปิดตามปกติ ผู้คนที่ยะโฮร์บาห์รู ในมาเลเซีย ก็ปลื้มที่ได้เปิดร้านค้า ร้านอาหาร รองรับลูกค้ากระเป๋าหนักจากสิงคโปร์อีกครั้ง         แต่จะไม่ถูกใจก็ตรงที่คนสิงคโปร์มา “ฉวยโอกาส” เติมน้ำมัน RON-95 ในราคาลิตรละ 2.05 ริงกิต กลับไปด้วย (น้ำมันชนิดเดียวกันที่สิงคโปร์ ราคาลิตรละ 9.30 ริงกิต)         การกระทำดังกล่าวถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย เพราะน้ำมันชนิดดังกล่าวได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลมาเลเซีย และสงวนไว้จำหน่ายให้กับคนในประเทศเท่านั้น ปั๊มที่จำหน่าย RON-95 ให้กับคนต่างชาติมีโทษปรับสูงสุดถึงสองล้านริงกิต และรัฐบาลสิงคโปร์ก็ห้ามไม่ให้รถที่มีน้ำมันไม่ถึงร้อยละ 75 ในถัง ข้ามแดนมายังมาเลเซีย         นอกจากนี้คนมาเลเซียยังหงุดหงิดกับแก๊ง “รถซิ่ง” จากสิงคโปร์ ที่ยกพวกกันมายืดถนนขับแข่งกันในบ้านของเขา ที่สำคัญคือคนสิงคโปร์เข้ามาทำผิดกฎจราจรมากมายบนท้องถนนมาเลเซีย แล้วก็เหนียวหนี้ไม่จ่ายค่าปรับ ปัจจุบันมีใบสั่งที่ค้างจ่ายจากคนสิงคโปร์อยู่ถึง 108,750 ใบ   

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 รวมพลังกินให้เรียบ

        รายงาน Food Waste Index Report 2021 ของ UNEP ประเมินว่าในปี 2019 ทั่วโลกมีขยะอาหารประมาณ 931 ล้านตัน (ร้อยละ 61 มาจากครัวเรือน ร้อยละ 26 มาจากกิจการร้านอาหาร อีกร้อยละ 13 มาจากซูเปอร์มาร์เก็ตหรือร้านค้าปลีก) นั่นหมายความว่าร้อยละ 17 ของ “อาหาร” ที่ผลิตได้ ต้องถูกทิ้งไปเฉยๆ  ตัวเลขจากสหรัฐอเมริการะบุว่าผักผลไม้ที่ “เสีย” ไปในช่วงระหว่างการเก็บเกี่ยวมาจนถึงร้านค้านั้นมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 400,000 ล้านเหรียญ  นักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศยังระบุอีกว่า ร้อยละ 10 ของก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั่วโลกก็มีที่มาจากขยะอาหารเหล่านี้         นอกจากผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม “อาหารเหลือทิ้ง” ยังเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของครัวเรือนด้วย เช่น สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจสหรัฐฯ (U.S. Bureau of Economic Analysis) พบว่ามลรัฐที่ผู้คน “เสียเงินซื้อของกินมาทิ้ง” มากที่สุดในอเมริกาคือรัฐเวอร์มอนต์ ที่อัตราคนละ 1,374.24 เหรียญ (ประมาณ 45,800 บาท) ต่อปี ขณะที่ประชากรในรัฐโอคลาโฮมา ซึ่ง “ทิ้งของกิน” น้อยที่สุดในประเทศ ก็ยังทิ้งเงินไปถึง 743.58 เหรียญ (ประมาณ 24,800 บาท) ต่อคนต่อปี         ยังไม่นับเรื่องความย้อนแย้งที่เรามี “อาหารถูกทิ้ง” ปริมาณมหาศาล ในขณะที่ประชากรไม่ต่ำกว่า 690 ล้านคนทั่วโลก (อ้างอิงสถิติล่าสุดของสหประชาชาติ) อยู่อย่างอดอยาก         ปัญหาเรื่องการกินทิ้งกินขว้างนี้เกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนา  ในอเมริกา ร้อยละ 30 – 40 ของสิ่งที่ควรจะเป็นอาหารกลับกลายไปเป็นขยะ ด้านสหภาพยุโรปก็มีขยะอาหารถึงร้อยละ 20 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่นั่นยังไม่เท่าเมืองไทยใหญ่อุดมของเราที่มีขยะจากอาหารเหลือทิ้งถึงร้อยละ 64 ของขยะทั้งหมด ข้อมูลของกรมควบคุมมลพิษ เมื่อปี พ.ศ. 2560 ระบุว่า คนไทยหนึ่งคนสร้างขยะอาหารถึงปีละ 254 กิโลกรัมเลยทีเดียว         สิ่งที่หลายประเทศลงมือทำ หรือกำลังจะทำเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างยั่งยืน คือการใช้กฎหมายเพื่อลดปริมาณอาหารเหลือทั้งจากครัวเรือน ร้านอาหาร และร้านค้าปลีก ลงให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2025 (สหภาพยุโรป) หรือภายในปี 2030 (อเมริกาและไทย เป็นต้น)           ระหว่างที่บ้านเรากำลังศึกษาจัดทำมาตรการและแนวทางในการลดขยะอาหาร เราขอชวนคุณมาส่องกฎหมายหรือข้อบังคับของประเทศอื่นไปพลางๆ ก่อน ไอร์แลนด์         ประเทศนี้มีกฎหมายว่าด้วยการจัดการขยะอาหารมาตั้งแต่ปี 2009 เขากำหนดข้อห้ามหรือข้อปฏิบัติสำหรับกิจการโรงแรม ร้านอาหาร ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงพยาบาล สถานรับเลี้ยงดูเด็กหรือคนชรา รวมถึงโรงอาหารของสถานประกอบการประเภทโรงงานไว้อย่างชัดเจน เช่น ห้ามนำขยะอาหารไปฝังกลบ ต้องใช้บริการ “รถเก็บขยะ” จากหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น หากต้องการทำปุ๋ยหมักก็ต้องทำเรื่องขอใบอนุญาตก่อน แม้แต่การนำอาหารเหลือไปเลี้ยงสัตว์ก็ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดอย่างเคร่งครัด เกาหลีใต้         เกาหลีใต้มีกฎหมาย “จ่ายตามปริมาณที่ทิ้ง” มาตั้งแต่ปี 2013  เขากำหนดให้ครัวเรือนเก็บขยะอาหารลงในถุงที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แล้วนำไปทิ้งในถังอลูมิเนียมซึ่งสามารถชั่งน้ำหนัก คำนวณค่าธรรมเนียม แล้วส่งบิลไปเรียกเก็บถึงบ้านทุกเดือน ด้วยเทคโนโลยี RFID         วิธีนี้ได้ผลดีมาก นอกจากชาวบ้านจะ “รีดน้ำ” ออกจากขยะเพื่อประหยัดค่าธรรมเนียม (ร้อยละ 80 ของน้ำหนักขยะมาจาก “ความชื้น”) ทำให้โรงงานจัดการขยะไม่ต้องนำ “น้ำขยะ” ไปเทลงชายฝั่งถึงวันละ 3,800 ตันอย่างที่เคย ปัจจุบันเกาหลียังสามารถเปลี่ยนขยะอาหารให้เป็นปุ๋ยได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 95 จากที่เคยทำได้เพียงร้อยละ 2 เมื่อปี 1995         เกาหลีเคยเป็นหนึ่งในประเทศอันดับต้นๆ ที่มีขยะอาหารเหลือทิ้งมากที่สุด เมื่อปี 2005 เขามีขยะอาหารถึงวันละ 17,100 ตัน สาเหตุหนึ่งคือวัฒนธรรมการกินแบบที่ต้องมี “บันชัน” หรือเครื่องเคียงถ้วยเล็กๆ ในทุกมื้อ บ้านไหนมีฐานะ เครื่องเคียงก็ยิ่งต้องหลากหลายมากขึ้น ของเหลือจึงเพิ่มตามไปด้วย ฝรั่งเศส         ในปี 2016 ฝรั่งเศสออกกฎหมายให้ซูเปอร์มาร์เก็ตนำอาหารที่ขายไม่หมดไป “บริจาค” เท่านั้น หากยังดื้อดึงจะ “ทำลาย” อาหารที่ยังอยู่ในสภาพที่รับประทานได้ ห้างเหล่านี้จะถูกปรับในอัตราร้อยละ 0.1 ของยอดขายในปีนั้น (นโยบายทำนองนี้มีใช้ในนอร์เวย์ เดนมาร์ก ญี่ปุ่น และเกาหลี เช่นกัน)         นอกจากนี้ยังกำหนดให้บริการจัดเลี้ยง จัดเตรียมถุงให้กับแขกที่มาในงานได้นำอาหารเหลือกลับไปรับประทานด้วย         ในขณะเดียวกันก็กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารทบทวน “วันที่ควรบริโภค” ที่แจ้งต่อลูกค้า โดยคำนึงถึงเรื่องการลดขยะอาหารด้วย    สิงคโปร์         สิงคโปร์สามารถจัดการกับขยะได้ดีอย่างที่เรารู้กัน แม้ขยะอาหารในประเทศเขาจะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 11 ของขยะมูลฝอยทั้งหมด แต่สิงคโปร์ตั้งเป้าไว้สูงกว่านั้น เขามีสิ่งที่เรียกว่า Zero Waste Masterplan ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายว่าด้วยความยั่งยืนของทรัพยากร ที่ประกาศใช้เมื่อปี 2019         ภายใต้แผนดังกล่าว ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นไป ผู้ประกอบการ เช่น ห้าง โรงแรม หรือโรงอาหาร จะต้องจัดให้มี “พื้นที่สำหรับจัดการขยะอาหาร” และเมื่อถึงปี 2024 ผู้ประกอบการจะต้องมีการคัดแยกขยะเพื่อนำไปจัดการ โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าใช้จ่าย  ขณะเดียวกันก็มีการฝึกอบรมอาสาสมัครเพื่อให้เป็นตัวแทนออกไปให้ความรู้กับชุมชนด้วย จีน         จีนผ่านร่างกฎหมายว่าด้วยการห้ามทิ้งอาหารออกมาหมาดๆ เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา นอกจากจะสั่งแบนคลิปวิดีโอประเภท “โชว์กินแหลก” แล้ว (ฝ่าฝืนมีค่าปรับ 100,000 หยวน หรือประมาณ 520,000 บาท)  เขายังมีบทลงโทษร้านอาหารที่ให้พนักงานมาคอย “เชียร์” ให้ลูกค้าสั่งอาหารเยอะๆ (ค่าปรับ 10,000 หยวน หรือประมาณ 52,000 บาท) หรือร้านที่มีอาหารเหลือทิ้งมากเกินไป (ปรับ 5,000 หยวน หรือประมาณ 26,000 บาท)         ทั้งนี้เขาอนุญาตให้ร้านอาหารคิดเงินเพิ่มเพื่อเป็นค่าจัดการกับอาหารที่เหลือได้ โดยต้องมีการติดป้ายบอกลูกค้าให้ชัดเจน         ในปี 2020 มีการรณรงค์ให้ประชาชนช่วยกัน “กินให้เกลี้ยงจาน” เพื่อลดขยะจากอาหาร และให้ร้านอาหารยอมให้ลูกค้าสั่งอาหารไม่ครบคนได้ (เช่น มากัน 5 คน แต่สั่งเพียง 4 จาน)  สเปน         กฎหมายของสเปนที่ออกมาในปีนี้ (2021) เจาะจงไปที่ร้านค้าปลีก ด้วยการกำหนดให้ทางร้านนำผักผลไม้หน้าตาไม่ดีออกมาจำหน่าย แทนที่จะคัดทิ้งไป และสำหรับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ (พื้นที่เกิน 400 ตารางเมตร) ห้างต้องจัดโปรแกรม “ส่งเสริมการขาย” เพื่อจูงใจให้ลูกค้าอยากซื้อผักผลไม้ดังกล่าวด้วย          ในกรณีที่ขายไม่ได้จริงๆ เขากำหนดให้นำไปบริจาคให้กับองค์กรการกุศลหรือธนาคารอาหาร หากฝ่าฝืนมีค่าปรับระหว่าง 6,000 – 150,000 ยูโร (ประมาณ 230,000 – 5,800,000 บาท)         ฟิลิปปินส์เพื่อนบ้านเราก็กำลังลุ้นร่างกฎหมาย พ.ร.บ.ลดขยะอาหาร ที่มีสาระสำคัญคล้ายกับกรณีของสเปน เช่นกัน     เวียดนาม         กฎหมายที่จะเริ่มใช้ในปี 2022 ตามแผนการลดขยะครัวเรือนของเวียดนาม กำหนดให้แต่ละบ้านแยกขยะออกเป็น 3 ประเภท (ขยะรีไซเคิล ขยะอาหาร และขยะอื่นๆ )  จัดเก็บในถุงบรรจุชนิดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และจ่ายค่าธรรมเนียมการจัดการขยะตามจำนวนถุงที่ใช้ โดยผู้ให้บริการเก็บขยะมีสิทธิที่จะปฏิเสธการเก็บได้ หากผู้ทิ้งไม่ทำตามเงื่อนไข    รายละเอียดเรื่องค่าธรรมเนียมอยู่ระหว่างการพิจารณาโดยกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ปัจจุบันครัวเรือนในเขตเมืองของเวียดนามจ่ายค่าธรรมเนียมการเก็บขยะเดือนละ 25,000 – 30,000 ดอง (ประมาณ 35 - 45 บาท)https://www.un.org/en/global-issues/foodhttps://www.bloomberg.com/news/articles/2021-07-21/food-waste-problem-is-even-bigger-than-we-thought#:~:text=An%20estimated%202.5%20billion%20tons,and%20U.K.%20retailer%20Tesco%20Plc.https://uspackagingandwrapping.com/blog/which-states-waste-the-most-food.html?fbclid=IwAR21gG1TcjzjEbZn6ysS4NcCRouWLqKsjWfrWoJ3-zLaWoX9brFmSeYObGchttps://www.unep.org/resources/report/unep-food-waste-index-report-2021https://www.bworldonline.com/food-waste-not-want-not/?fbclid=IwAR193Pe4ZQF1VYMdb0tjZ5nEKwuQmbwq97KpvaF78imj3fl7iEZ3Uh-rMfohttps://www.nycfoodpolicy.org/food-policy-snapshot-south-korea-food-waste/https://www.globaltimes.cn/page/202104/1222490.shtmlhttps://stopfoodwaste.ie/resource/food-waste-the-lawhttps://ec.europa.eu/food/safety/food-waste/eu-actions-against-food-waste_enhttps://www.pewtrusts.org/en/research-and-analysis/blogs/stateline/2021/07/08/waste-not-some-states-are-sending-less-food-to-landfillshttps://www.fda.gov/food/consumers/food-loss-and-wastehttps://www.thaihealth.or.th/Content/50924   https://e.vnexpress.net/news/news/vietnam-to-apply-pay-as-you-throw-model-by-2025-4193441.html

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 246 กระแสต่างแดน

ขอร้องอย่าทิ้งกัน        แอนนา แซคส์ หรือ “TheTrashWalker” ผู้โด่งดังจากการทำคลิปแฉพฤติกรรม “ชอบทิ้ง” ของชาวนิวยอร์ก  ออกมาเรียกร้องให้ผู้คนนึกถึงการ “บริจาค” ก่อนจะ “ทิ้ง” ของกินของใช้สภาพดีลงถังไปเฉยๆ         เรื่องนี้ไม่มีใครรู้ดีไปกว่าแอนนาและผู้คนเป็นล้านที่ติดตามเธอ สิ่งที่เธอทำสัปดาห์ละ 3 – 4 ครั้ง คือการออกไปรื้อถังขยะตามครัวเรือน ร้านอาหาร และซูเปอร์มาร์เก็ต เพื่อหาของที่ไม่ควรถูกทิ้ง เธอได้อาหารกระป๋อง เครื่องสำอาง ถ้วยชามเซรามิก หรือแม้แต่เฟอร์นิเจอร์ ติดไม้ติดมือกลับบ้านเป็นประจำ         เธอพบว่าบางครั้งผู้ประกอบการก็จงใจทำลายของที่เลยวัน “ควรใช้/บริโภคก่อน”  เช่น บีบยาสีฟันทิ้งไปบางส่วน หรือฉีกถุงขนมให้ดูมีตำหนิ จะได้นำมาทิ้งเป็นขยะ         หลายเจ้าก็ไม่ทำอย่างที่พูด จากการรื้อค้นถังขยะของสตาร์บัคส์ 5 สาขาในแมนฮัตตัน เธอพบว่าบริษัทไม่ได้นำอาหารที่ขายไม่หมดไปบริจาคให้กับผู้ที่ต้องการ อย่างที่เคยให้คำมั่นไว้เมื่อปี 2016 “คิมบับ” เป็นพิษ        ผู้เสียหาย 130 กว่ารายรวมตัวกันฟ้องร้องแฟรนไชส์ร้านข้าวปั้นห่อสาหร่ายแห่งหนึ่งในกรุงโซล หลังมีอาการอาหารเป็นพิษจากการกินข้าวปั้นที่ซื้อจากสาขาของทางร้านในเขตบันดัง ระหว่าง 29 กรกฎาคม – 2 สิงหาคมที่ผ่านมา จากผู้ได้รับผลกระทบทั้งหมด 276 ราย มี 40 รายที่ต้องเข้าโรงพยาบาล         กรณีเดียวกันนี้ยังเกิดกับร้านคิมบับเจ้าอื่นในเขตพาจูและโกยาง คราวนี้มีหญิงวัย 20 กว่าเสียชีวิตด้วย         สาเหตุหนึ่งมาจากการปนเปื้อนของแบคทีเรียซัลโมเนลลา ซึ่งเติบโตได้ดีในอุณหภูมิช่วงหน้าร้อนของเกาหลีที่ 37 องศาเซลเซียส         อีกส่วนหนึ่งมากจากการที่ร้านอาหารเหล่านี้ว่างเว้นจากการถูกสุ่มตรวจสอบ เพราะเจ้าหน้าที่สาธารณสุขถูกระดมไปทำหน้าที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19         อย่างไรก็ตามหลังเกิดเหตุดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขได้สั่งให้มีการตรวจสอบร้านคิมบับทุกร้านแล้ว   โอลิมปิกเดือด        อุปสรรคของโตเกียวโอลิมปิกที่ผ่านไปหมาดๆ นอกจากไวรัส ก็คืออุณหภูมิในแต่ละวันที่เฉลี่ยประมาณ 28 องศาเซลเซียส โค่นแชมป์เก่าอย่างเอเธนส์ ในปี 2004 ลงไปได้สบายๆ         หน้าร้อนของโตเกียวเริ่มไม่ธรรมดา เมื่อสามปีก่อนก็เคยร้อนถึง 40 องศา และยังเกิดคลื่นความร้อนที่คร่าชีวิตผู้คนไปไม่ต่ำกว่า 1,000 คน         หากเปรียบเทียบกับสถิติเมื่อ 120 ปีก่อน จะพบว่าโตเกียวร้อนขึ้นถึง 3 องศา (สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลกเกือบสามเท่า)         แต่ที่เขาไม่เลื่อนการแข่งขันออกไปเป็นเดือนตุลาคมที่อากาศเย็นสบายกว่านี้ ก็เพราะช่วง “เวลาทอง” ของการถ่ายทอดโอลิมปิกมันอยู่ในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ที่พอจะหาสปอนเซอร์มาสนับสนุนการถ่ายทอดสดได้         หากเลยช่วงนี้ไป ผู้คนทางฝั่งยุโรปก็จะสนใจแต่ฟุตบอล ในขณะที่อเมริกาก็เตรียมเปิดฤดูกาลของอเมริกันฟุตบอลเช่นกัน เปลี่ยนใจไม่แบน        แม้จะคัดค้านการเปิดคาสิโนอย่างชัดเจนมาตลอด ในที่สุดประธานาธิบดีดูเตอร์เต้ของฟิลิปปินส์ ก็ยอมให้เปิดคาสิโนบนเกาะโบราไกย์ โดยหวังว่าจะมีรายได้จากภาษีมาใช้รับมือกับวิกฤติโควิด         แต่ชาวบ้านและผู้ประกอบการรีสอร์ทบนเกาะไม่เห็นด้วย พวกเขาตั้งใจจะพัฒนาโบราไกย์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับครอบครัว และถึงจะไม่มีคาสิโน เกาะของพวกเขาก็สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 60,000 ล้านเปโซ (38.7 ล้านบาท) อยู่แล้ว         นักอนุรักษ์ก็ไม่ปลื้ม เขาประเมินไว้ในปี 2018 ว่าโบราไกย์ซึ่งมีพื้นที่ 10 ตารางกิโลเมตร มีศักยภาพรองรับคนได้ 54,945 คน (คนท้องถิ่น/คนที่เข้ามาทำงาน 35,730 คน และนักท่องเที่ยว 19,215 คน)         พวกเขายังตั้งข้อสังเกตว่า รัฐบาลอุตส่าห์ปิดเกาะ 6 เดือน และยอมสูญรายได้หลายพันล้านเปโซ ในปี 2018 เพื่อให้ธรรมชาติได้ฟื้นตัวจากมลภาวะที่มนุษย์สร้างขึ้น แต่กลับอนุญาตให้เปิดคาสิโนที่จะมีผู้คนเข้ามาเพิ่มอีกวันละประมาณ 4,000 คน ซึ่งเลยจุดที่เกาะนี้จะรองรับได้อย่างยั่งยืน กาแฟจะมาไหม?        เวียดนามเป็นผู้ส่งออกกาแฟรายใหญ่ที่สุดอันดับสองของโลก ร้อยละ 20 ของกาแฟที่สหภาพยุโรปนำเข้าก็เป็นกาแฟจากเวียดนาม         ปีที่แล้วเวียดนามสามารถสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดี และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงที่สุดในโลก แต่ปีนี้เหตุการณ์เปลี่ยนไปเมื่อเวียดนามต้องเผชิญกับวิกฤติโควิดระลอกใหม่         ด้วยการระบาดที่รุนแรง ที่ราบสูงตอนกลางของประเทศซึ่งเป็นแหล่งปลูกกาแฟจึงต้องอยู่ภายใต้มาตรการต่างๆ อย่างเข้มงวด การเก็บเกี่ยวย่อมไม่สามารถเป็นไปตามปกติ         ในขณะที่โฮจิมินห์ซึ่งเป็นศูนย์กลางการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ก็อยู่ในสภาวะถูกล็อคดาวน์ การขนส่งเมล็ดกาแฟไปยังท่าเรือจึงติดขัด เท่านั้นยังไม่พอ อีกปัญหาที่ผู้ส่งออกทั่วโลกต้องเจอคือการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์และค่าธรรมเนียมการขนส่งที่แพงขึ้น         ด้านผู้ส่งออกอันดับหนึ่งอย่างบราซิลก็กำลังประสบภาวะแล้ง ซึ่งอาจทำให้ปริมาณผลผลิตลดลงเช่นกัน    

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 243 กระแสต่างแดน

วิกผมขาดแคลน        ร้อยละ 70 ของสินค้าประเภทวิกผม/ผมปลอม ที่จำหน่ายในโลกนั้นมาจากจีน โดยแรงงานหลักๆ ที่ใช้คือแรงงานในเกาหลีเหนือที่ฝีมือดีเลิศแถมค่าจ้างยังถูกกว่าในจีนกว่าครึ่งกระบวนการนี้เริ่มจากการนำเข้าวัตถุดิบหลักซึ่งได้แก่ผมมนุษย์ จากอินเดียและเมียนมาร์ไปยังเมืองจีน จากนั้นส่งออกผมและตาข่ายสำหรับถักไปยังเกาหลีเหนือ แล้วผมปลอมที่ถักด้วยมือเสร็จแล้วจะถูกส่งกลับมาที่เมืองจีนอีกครั้งเพื่อทำความสะอาด บรรจุ และส่งไปขายในอเมริกาและกลุ่มประเทศอัฟริกันแต่การมาถึงของโควิด-19 ทำให้ทุกอย่างชะงักลง ก่อนหน้านั้นจีนส่ง “ผมดิบ” ไปเกาหลีเหนือเดือนละหลายตัน โดยมูลค่าของผมดิบที่จีนส่งไปในเดือนมกราคม ปี 2020 เท่ากับ 14,000,000 หยวน เดือนต่อมา มูลค่าดังกล่าวลดลงเหลือเพียง 452,000 หยวนหลังจากนั้นจีนปิดชายแดน จึงไม่มีการส่งเข้าไปอีกเลย วิกผมที่ผลิตหลังจากนั้นคือวิกที่ผลิตในจีน ซึ่งช่างผมรับรองว่าคุณภาพสู้แบบที่ทำในเกาหลีเหนือไม่ได้ แถมราคายังแพงขึ้นจนน่าตกใจด้วย อย่าเพิ่งรีบชม        อุตสาหกรรมเพชรออกมาตอบโต้แถลงการณ์ของ Pandora บริษัทเครื่องประดับรายใหญ่ของโลกสัญชาติเดนมาร์กที่ประกาศนโยบายใช้ “เพชรจากแล็บ” แทนเพชรที่ขุดจากเหมือง และจะผลิตโดยใช้พลังงานหมุนเวียนเป็นหลักตัวแทนจากกลุ่มผู้ผลิตเครื่องประดับเพชรบอกว่า การกระทำดังกล่าวสร้างความเข้าใจผิดให้คนคิดว่าอุตสาหกรรมนี้คือผู้ร้าย และขอร้องให้ Pandora ถอนคำโฆษณาที่ชักชวนให้ผู้บริโภคสนับสนุน “ทางเลือกที่มีจริยธรรม”ปัจจุบันอุตสาหกรรมนี้จ้างานคนหลายสิบล้านคนทั่วโลก และหลายชุมชนในประเทศกำลังพัฒนาก็อยู่ได้เพราะรายได้จากการทำงานในเหมืองเพชร ที่สำคัญคือผู้ซื้อสามารถสืบกลับที่มาของเพชรได้ผู้บริหารบริษัท 77 DIAMONDS ร้านค้าเพชรออนไลน์เจ้าใหญ่ที่สุดในยุโรป บอกว่าการทำเหมืองเพชรแบบเอาเปรียบชาวบ้านเหมือนในหนัง Blood Diamond มันหมดไปนานแล้ว ทุกวันนี้แร่โลหะหายากที่ใช้กันอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ยังมาจากการละเมิดสิทธิมนุษยชนยิ่งกว่าเพชรอีก เป้าหมายรีไซเคิล        สมาคมเครื่องดื่มในญี่ปุ่นตั้งเป้าหมายว่าจะรีไซเคิลขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่มให้ได้ถึงร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2030 จากปัจจุบันที่ทำได้ร้อยละ 12.5   เขาวางแผนจะปรับปรุงปากถังขยะรีไซเคิลให้รับได้เฉพาะขวดพลาสติกเท่านั้น ปัญหาขณะนี้คือมีคนทิ้งขยะอื่นลงในถังที่มักตั้งอยู่ใกล้ๆ กับตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ทำให้ขวดข้างในสกปรกเกินกว่าจะนำไปรีไซเคิล เครื่องล้างก็ยังไม่สามารถล้างขวดทีละใบได้ จากข้อมูลของเทศบาลไซตามะ ร้อยละ 16 ของขยะใน “ถังสำหรับขวดพลาสติก” ไม่ใช่ขวดพลาสติกปัจจุบันร้อยละ 76 ของผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มสำเร็จรูปในญี่ปุ่น เป็นเครื่องดื่มที่บรรจุในภาชนะพลาสติก  เรื่องนี้จึงเรื่องใหญ่และเป็นปัจจัยที่จะทำให้เกิด “ความยั่งยืน”  อย่างไรก็ตามผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นมีการตื่นตัวมากในเรื่องนี้ สถิติในปี 2019 ระบุว่าร้อยละ 93 ของขวดพลาสติกที่ขายออกไป ถูกนำกลับมาใช้ใหม่กล่องอาหารต้องปลอดภัย        Arnika องค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเชค ร่วมกับอีก 6 องค์กรในยุโรป ได้ร่วมกันเก็บตัวอย่างภาชนะบรรจุอาหารแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง เพื่อมาวิเคราะห์ทดสอบหาสาร PFAS ซึ่งมักถูกใช้เป็นสารเคลือบในภาชนะดังกล่าวเขาพบว่า 38 ตัวอย่างจาก 99 ตัวอย่าง (ร้อยละ 38) ที่เก็บจากภาชนะบรรจุอาหารที่ซื้อกลับบ้าน อาหารในซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านออนไลน์ มีการเคลือบด้วย PFAS เพื่อป้องกันการซึมเปื้อนของน้ำมันสารเคมีที่ว่านี้เป็นที่รู้กันว่าสลายตัวยาก สามารถปนเปื้อนในดิน น้ำ อากาศ และสะสมในห่วงโซ่อาหาร นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยยืนยันว่ามันสามารถก่อมะเร็ง ส่งผลกระทบต่อระบบภูมิคุ้มกัน ระบบสืบพันธุ์ และฮอร์โมนด้วยกลุ่มองค์กรดังกล่าวจึงเรียกร้องให้สหภาพยุโรปออกกฎหมายห้ามใช้สารดังกล่าวในภาชนะใส่อาหารโดยเร็ว ขณะนี้มีเพียงเดนมาร์กเท่านั้นที่ห้ามใช้สารนี้ไปเมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2563 แหล่งน้ำของใคร        หุบเขาในภาคกลางของฝรั่งเศส เป็นแหล่งน้ำแร่ที่โด่งดังไปทั่วโลก แต่ชาวบ้านแถบนั้น รวมถึงนักปฐพีวิทยาหวั่นว่าจะการสูบน้ำแร่ขึ้นมามากเกินไปจะทำให้ทั้งภูมิภาคต้องเจอกับปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ชาวบ้านวัย 69 คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ใกล้กับบริษัทน้ำแร่ Volvic ที่มีบริษัท Danone เป็นเจ้าของ บอกว่าลำธารแถวบ้านเคยมีระดับน้ำสูงถึงเข่า แต่ทุกวันนี้ใกล้แห้งเหือดเต็มทน ในขณะที่เจ้าของบ่อเลี้ยงปลาแห่งหนึ่งในบริเวณดังกล่าวที่ต้องปิดกิจการเพราะน้ำไม่พอ ก็ยื่นฟ้องบริษัทแล้วด้วยตั้งแต่ปี 2014 รัฐบาลฝรั่งเศสอนุญาตให้ Danone ใช้น้ำได้ถึง 2.8 ล้านลิตรต่อปี หรือถ้าคิดเป็นขวดขนาดหนึ่งลิตร ก็เท่ากับ 2,800 ล้านขวด และขณะนี้บริษัทสามารถสูบน้ำขึ้นมาได้ถึง 89 ลิตรต่อวินาที แถมยังสูบได้ทั้งปี ไม่เว้นช่วงหน้าร้อนที่ความต้องการใช้น้ำของชาวบ้านก็เพิ่มขึ้นเช่นกันการขาดแคลนน้ำส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ บริเวณดังกล่าวไม่มีต้นไม้ขึ้นมานานแล้ว ผู้เชี่ยวชาญบอกว่าความชื้นที่ลดลงนี้กำลังจะเป็นจุดเริ่มต้นของการเกิดทะเลทราย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 159 ใส่ใจสุขภาพกับร้านอาหารบน Q Restaurant

หลังจากที่เหน็ดเหนื่อยกับการทำงานมาทั้งสัปดาห์ ขอขับรถชิลล์ไปหาร้านอาหารบรรยากาศดี รสชาติอร่อยและมีมาตรฐานในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์สักหน่อย ลองค้นไปค้นมาในสมาร์ทโฟนที่อยู่ในมือ ได้ไปเจอแอพพลิเคชั่นที่รวบรวมร้านอาหารที่มีความปลอดภัยและได้คุณภาพ อย่างแอพพลิเคชั่น Q Restaurant แอพพลิเคชั่น Q Restaurant  เป็นแอพพลิเคชั่นโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่รวบรวมร้านอาหารไว้สำหรับผู้บริโภค ที่ใส่ใจในสุขภาพ ต้องการหาร้านอาหารที่ผลิตอาหารที่มีความปลอดภัยและมีคุณภาพ เพราะในแอพพลิเคชั่นนี้จะสามารถค้นหาร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบที่ปลอดภัย และได้รับการรับรองโดยเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร Q จากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อีกด้วย ในแอพพลิเคชั่น Q Restaurant  จะแบ่งออกเป็น 4 หมวดดังนี้  หมวดที่หนึ่ง ชื่อว่า Q Restaurant เป็นหมวดการค้นหารายชื่อและข้อมูลร้านอาหาร ขั้นตอนการค้นหาเพียงคุณคลิกให้แสดงร้านอาหารที่อยู่ใกล้บริเวณที่ยืนอยู่ หรือจะระบุชื่อร้านอาหารที่ต้องการก็ทำได้ โดยสามารถค้นหาร้านอาหารได้ทุกจังหวัดทั่วประเทศ  และเมื่อได้ร้านอาหารที่พึงพอใจแล้ว ทางแอพพลิเคชั่นจะแจ้งรายละเอียดของร้านอาหารนั้นว่ามีเมนูอะไรบ้าง วัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร ตัวเลขระยะทางที่จะเดินทางไปถึง ที่อยู่และเบอร์โทรศัพท์แอพพลิเคชั่นจะสามารถแสดงเส้นทางการเดินทางจากตำแหน่งปัจจุบันของคุณไปยังร้านอาหารที่คุณต้องการ   ถ้าต้องการให้แอพพลิเคชั่นแสดงแผนที่ในการเดินทาง สามารถกด Direction ได้ จากนั้นจะเห็นร้านอาหารเป้าหมายปรากฏในแผนที่ โดยมีรูปเข็มทิศกำหนดในแผนที่นี้ด้วย หมวดที่สอง ชื่อว่า Promotion เป็นหมวดที่แสดงโปรโมชั่นของร้านอาหารที่ร่วมรายการ ซึ่งได้รวบรวมไว้เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค หมวดที่สอง ชื่อว่า Favorites เป็นหมวดที่เก็บลิสต์ร้านอาหารที่ชื่นชอบไว้ให้สามารถเข้ามาใช้ บริการได้อย่างรวดเร็ว หมวดที่สี่ ชื่อว่า Camera  ใช้สำหรับตกแต่งรูปอาหาร และสามารถแนะนำต่อให้เพื่อนได้ทางโซเชียลมีเดียได้ Q Restaurant  สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีทั้งในระบบ Android และ iOS

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 183 กระแสต่างแดน

แฟนบอลดีใจ...ได้เฮปกติแล้วเยอรมนีมีกฎเหล็กห้ามทำเสียงดังหลัง 4 ทุ่ม แต่วุฒิสภาได้อนุมัติให้เทศบาลต่างๆ ผ่อนผันกฎดังกล่าวในช่วงที่มีการแข่งขันฟุตบอลยูโร (10 มิถุนายน ถึง 10 กรกฎาคม)เพราะฝรั่งเศส ประเทศเจ้าภาพการแข่งขันฟุตบอลยูโรปีนี้ กำหนดเวลาเริ่มการแข่งขันส่วนใหญ่ไว้ที่ 3 ทุ่ม หากไม่มีการผ่อนผัน เจ้าหน้าที่เทศบาลคงต้องระดมคนไปตามปรับแฟนบอลจำนวนไม่น้อยที่อาจส่งเสียงเฮ(หรือโห่ก็แล้วแต่) ให้กำลังใจทีมชาติอยู่ที่บ้านแต่เพื่อรักษาสมดุลระหว่างกลุ่มรักชาติกับกลุ่มรักความเงียบ เขากำหนดให้ใครก็ตามที่จะจัดฉายการถ่ายทอดสดบนจอใหญ่ให้คนมาร่วมกันเชียร์ ต้องมาขออนุญาตจากเทศบาลก่อนเพื่อให้พิจารณาเป็นกรณีไป อร่อยข้ามรั้วนี่คือร้านขายอาหารว่างสำหรับคนเดินทางร้านแรกในเยอรมนี ใครขับผ่านมาแล้วหิวก็จะจอดรถ ตะโกนสั่ง แล้วปีนบันไดที่พาดกับรั้วเหล็กขึ้นไปรับอาหารจากพนักงานที่ปีนมาส่งและเก็บเงิน ใครมีเวลามากหน่อยก็ปีนข้ามไปนั่งกินในร้านได้ลูกค้าบางคนรับของแล้วมองซ้ายมองขวา ... นี่มันรายการประเภทซ่อนกล้องเน้นฮาหรือเปล่าเนี่ย เมื่อปี 2009 คริสติน่าลงทุนซื้อร้านนี้ ซึ่งตั้งอยู่ริมออโต้บาห์น ในรัฐทูรินเจียตอนกลางของประเทศ แต่ต่อมาเธอพบว่าสำนักงานขนส่งของทูรินเจียได้เพิกถอนใบอนุญาตค้าขายของร้านไปตั้งแต่ปี 2004 นี่มันหลอกขายกันชัดๆ เพราะคงไม่มีใครซื้อที่ตรงนี้แน่นอนถ้ารู้ว่าขายของไม่ได้แต่เธอก็เปิดกิจการขายไส้กรอกต่อไป จนทางการมาสร้างรั้วเหล็กกั้นระหว่างร้านกับถนน คริสติน่าไม่ยอมแพ้ เธอซื้อบันไดมาพาดอำนวยความสะดวกให้ลูกค้าจนได้ เจ้าหน้าที่รัฐบอกว่าเธอสามารถขายอาหารให้กับลูกค้าอีกฝั่ง(ที่มาท่องเที่ยวเดินป่า) ได้ตามปกติ แต่ขายกับคนบนถนนไม่ได้ และเธอจะต้องจ่ายค่าปรับเธอรับไม่ได้ ... นี่ไม่ใช่ร้านธรรมดา ใครที่ไหนจะปิดประวัติศาสตร์ ร้านนี้เปิดมา 80 ปีแล้ว มันอาจเป็นร้านแรกในยุโรปด้วยซ้ำ สมัยก่อนร้านนี้แหละคือที่ที่ผู้คนแวะหยุดพักเวลาเดินทางจากเยอรมันตะวันตกไปตะวันออก… เรื่องนี้ยังตกลงกันไม่ได้ ต้องติดตามผลการตัดสินของศาล รายได้ “พื้นฐาน”มิถุนายนนี้จะเป็นครั้งแรกในโลกที่ประชากรของประเทศหนึ่งจะได้โหวตว่าต้องการให้รัฐจัด “รายได้พื้นฐานแบบไม่มีเงื่อนไข” (UBI: unconditional basic income) ให้หรือไม่ประชาชนกลุ่มหนึ่งรวมตัวกันเรียกร้องขอ UBI กับทุกคนไม่ว่าจะมีหรือไม่มีงานทำ เพื่อให้พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจและเข้าร่วมกิจกรรมสาธารณะได้ องค์กร Basic Income Earth Network (BIEN) บอกว่าจุดประสงค์คือการลดความยากจนและการพึ่งพาสวัสดิการรัฐ ที่สำคัญที่สุด ... ผู้คนไม่จำเป็นต้องรู้สึกว่าคุณค่าของพวกเขาขึ้นอยู่กับงานที่ทำ และพวกเขาสามารถเลือกทำงานที่ชอบได้(ไม่ใช่ทำเพราะต้องทำเพื่อความอยู่รอด)ตัวเลขนั้นยังไม่ได้เคาะ แต่ที่คุยกันอยู่ขณะนี้คือ 2,500 ฟรังก์ (ประมาณ 90,000 บาท) หมายความว่าจะไม่เกิดอะไรขึ้นกับคนที่หาเงินได้เกินนี้ แต่ใครที่ได้น้อยกว่าก็จะได้รับเพิ่มจนครบตามจำนวนแน่นอนรัฐบาลไม่เห็นด้วย ไหนจะงบมหาศาล 208,000 ล้านฟรังก์ต่อปี ไหนจะกลัวว่าคนที่มีรายได้น้อยอาจเลิกทำงานแล้วมารอรับเงินเฉยๆ แต่เราจะได้รู้กันในวันที่ 5 มิถุนายนนี้แล้วว่าผู้คนในสวิตเซอร์แลนด์จะโหวตรับหรือไม่ ..ผลโพลอย่างไม่เป็นทางการบอกว่ามีถึงร้อยละ 57 ที่ไม่เห็นด้วย ไปด้วยกันนะผู้ประกอบการขนส่ง เดลีทรานสปอร์ต คอร์ป บอกว่าตั้งแต่ลดค่าตั๋วโดยสารรถไฟสายสนามบินลงร้อยละ 40 มีคนมาใช้บริการเพิ่มถึงร้อยละ 50 ตอนนี้ฝ่ายบริหารเลยคิดจะลดราคาตั๋วสายอื่นๆ บ้างปัจจุบันเดลีเมโทรมีผู้โดยสารประมาณ 2.6 ล้านคนต่อวัน ในชั่วโมงเร่งด่วนจะมีผู้โดยสารประมาณ 300 คนต่อหนึ่งตู้ แต่ในเวลาอื่นๆ จะมีผู้โดยสารใช้บริการเพียง 78 คนต่อตู้เท่านั้น เขาจึงคิดแผนจะลดค่าโดยสารในชั่วโมงไม่รีบเร่งลงแต่เรื่องนี้อดีตผู้บริหารเขาเห็นต่าง เขาบอกว่าเราเป็นบริษัทที่เลี้ยงตนเองและไม่ได้รับเงินสนับสนุนใดๆ จากรัฐ เราจึงน่าจะเก็บเงินได้ตามคุณภาพที่เราเสนอให้กับลูกค้า หลักๆแล้ว เขามองว่าควรขึ้นค่าโดยสารด้วยซ้ำเดลีเมโทรมีผลประกอบการเป็นบวกมาโดยตลอด แม้ค่าใช้จ่าย (ด้านเชื้อเพลิงและค่าจ้างพนักงาน) จะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 ในปีที่แล้วบริษัทก็ยังมีกำไรอยู่ดี... ไม่เหมือนแถวนี้นะ เอะอะก็ขาดทุน ... ไม่แยกแล้วมันยุ่งหนึ่งในเรื่องที่สิงคโปร์ยังจัดการไม่ได้คือการรีไซเคิลขยะจากบ้านเรือน ทุกวันนี้แม้จะมีถังสีน้ำเงินวางไว้ให้ผู้คนนำขยะที่รีไซเคิลได้มาทิ้ง แต่มีถึงร้อยละ 50 ของสิ่งที่อยู่ในถังที่ไม่สามารถนำไปรีไซเคิลได้เพราะผู้คนยังไม่ตระหนัก และยังคงทิ้งเศษอาหาร กระดาษทิชชูใช้แล้ว หรือแม้แต่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปของเด็กลงไปด้วยความจริงแล้วรัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรีไซเคิลมากเพราะทั้งประเทศมีบ่อขยะอยู่เพียง 1 บ่อที่กำลังจะเต็มในอีก 20 ปีข้างหน้า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนที่เก็บขยะเพื่อรีไซเคิลอยู่ 4 บริษัท ทั้งหมดบอกตรงกันว่าขยะที่ได้มานั้นคุณภาพแย่ เพราะหนูหรือแมลงเข้ามากัดกินเศษขยะสดที่ปะปนมา ทำให้ “เสียของ” และยังเพิ่มค่าใช้จ่ายจากการไปทิ้งอีกด้วย  อัตราการรีไซเคิลของคนสิงคโปร์อยู่ที่ร้อยละ 19 ยังห่างไกลกับมหาอำนาจด้านรีไซเคิลอย่างไต้หวันที่มีอัตรานี้ถึงร้อยละ 50 ... เพราะที่นั่นการรีไซเคิลเป็นกฎหมายด้วย     

อ่านเพิ่มเติม >