ฉบับที่ 100 รางปลั๊กไฟสำหรับคอมพิวเตอร์

ได้เวลาทดสอบรางปลั๊กไฟกันอีกครั้ง คราวนี้เอาใจคนใช้คอมพิวเตอร์เป็นหลัก เราเลือกรางปลั๊กไฟที่รองรับเต้าเสียบได้อย่างน้อย 4 ตัว (สมมุติว่าเสียบปลั๊ก ซีพียู จอ ลำโพง เราท์เตอร์ เหลือสำรองไว้อีกหนึ่ง)คราวนี้เราเปลี่ยนกลุ่มสินค้าทดสอบ จากรางปลั๊กราคาย่อมเยาทั่วๆไปที่เราพบในห้างค้าปลีก มาเป็นรางปลั๊กไฟสำหรับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โดยเราเน้นสินค้าที่มีขายอยู่ในแหล่งจำหน่ายคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ประกอบเป็นหลักอย่างที่พันธุ์ทิพย์พลาซ่า แต่ก็มีบ้างที่ซื้อจากจากแผนกไฟฟ้าในห้างค้าปลีกหรือห้างสรรพสินค้าด้วยเช่นกัน   รางปลั๊กไฟที่เราซื้อมาทดสอบในครั้งนี้มีราคาตั้งแต่ 115 บาท ถึง 985 บาท วิธีการทดสอบยังคงเป็นเหมือนครั้งที่แล้วนั่นคือ การทดสอบรางปลั๊กไฟว่าผ่านหรือไม่ใน 5 ประเด็นต่อไปนี้ 1. ความต้านทานของฉนวนและแรงดันไฟฟ้า เพื่อดูว่าวัสดุที่ใช้ทำฉนวนสามารถป้องกันการเข้าถึงส่วนที่มีไฟฟ้า (หรือการเกิดไฟดูด) ได้หรือไม่2. อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น เพื่อดูว่าจะเกิดความร้อนสะสมในขณะที่เราใช้งานจนถึงขั้นทำให้เกิดติดไฟหรือไม่ 3. แรงที่ใช้ในการดึงเต้าเสียบ ตามมาตรฐานอุตสาหกรรมนั้นเต้ารับไฟฟ้า จะต้องผลิตให้เสียบเข้าและดึงออกได้ง่าย ไม่หลวมหรือแน่นจนเกินไป4. ความทนของวัสดุฉนวนต่อความร้อนผิดปกติ วัสดุที่ดีจะต้องไม่ลุกติดไฟ หรือถ้าติดก็ต้องดับภายในเวลา 30 วินาที5. ความยาวของสายไฟ เป็นไปตามที่แจ้งบนฉลากหรือไม่ จากการทดสอบเราพบว่ามีรางปลั๊กไฟ 3 รุ่น จากทั้งหมด 22 รุ่นที่เราทำการทดสอบ ที่ผ่านมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย 4 ข้อแรก ได้แก่ Paco PC-S11 (ราคา 115 บาท), Haco EP-SFE3U (ราคา 495 บาท), และWonpro WES 4.5S (ราคา 985 บาท) แต่ทั้งสามรุ่นนี้ก็ยังให้ความยาวของสายไฟน้อยกว่าที่ระบุในฉลาก เราพบว่ามีรางปลั๊กไฟเพียงรุ่นเดียวที่ให้สายไฟเกินมาจากที่ระบุไว้ นั่นคือ Electon TE 9143 ความรับผิดชอบของผู้ผลิตต่อผู้บริโภค ว่าด้วยข้อมูลบนฉลาก ข้อสังเกตอย่างหนี่งจากการซื้อสินค้ามาทดสอบในครั้งนี้คือ รางปลั๊กไฟที่ขายกับกลุ่มลูกค้าที่เป็นคนใช้คอมพิวเตอร์นั้น มักจะมีฉลากที่ดูไม่ธรรมดา มีข้อความทั้งที่เป็นภาษาไทยและภาษาอังกฤษ มาอธิบายสรรพคุณของสินค้ากันมากมาย ซึ่งก็นับว่าเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่จะได้เรียนรู้ไปด้วย แต่กระนั้นก็ตามเราพบว่าฉลากของรางปลั๊กไฟหลายรุ่นไม่ได้ให้ข้อมูลที่ควรจะให้ ในขณะที่บางรุ่นก็ให้ข้อมูลที่อาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ ในประเด็นนี้ อ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา จากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้คำแนะนำไว้ดังนี้ ข้อมูลที่ควรแจ้งแก่ผู้บริโภค- “ใช้ได้กับอุปกรณ์ไฟฟ้ารวมกันไม่เกิน 2000 วัตต์”- “ใช้ได้ภายในบ้าน และไม่ควรวางไว้ในบริเวณที่อาจเปียกน้ำได้”- “ควรวางไว้ในที่ปลอดภัย ให้ห่างจากมือเด็กเล็ก”- (กรณีของรางปลั๊กที่มีตัวป้องกันไฟกระชาก) “อุปกรณ์นี้มีตัวป้องกันแรงดันเกินที่เกิดขึ้นในระบบไฟฟ้า และอาจไม่สามารถป้องกันอุปกรณ์หากเกิดฟ้าผ่าลงที่ตัวบ้าน สายโทรศัพท์ หรือเสาอากาศได้”- (กรณีรางปลั๊กสำหรับเต้าเสียบสามขา) “ต้องมีการเชื่อมต่อสายดินที่เต้ารับของบ้านอย่างเหมาะสม เพื่อความปลอดภัยจากไฟดูด” ข้อมูลที่ไม่ควรแจ้งแก่ผู้บริโภค - ถ้ารางปลั๊กดังกล่าวไม่มีตัวป้องกันไฟกระชาก ไม่ควรระบุว่า “เหมาะสมกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์” เพราะอุปกรณ์ดังกล่าวอาจเสียหายได้เมื่อได้รับแรงดันเกิน- ไม่ควรระบุว่า “ป้องกันไฟฟ้ารั่ว” เพราะไฟฟ้ารั่วนั้นโดยทั่วไปนั้นเกิดจากตัวอุปกรณ์ไฟฟ้า (ไม่ได้เกิดจากรางปลั๊กไฟ) จึงอาจทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดได้ เรามาดูตัวอย่างของคำเตือนบนฉลากของรางปลั๊กไฟรุ่น Toshino DD-4MSWUSB3M ซึ่งเป็นรุ่นเดียวที่มีการให้ข้อมูลบนฉลากที่ดี (แต่น่าเสียดายที่คำเตือนเหล่านี้เป็นภาษาอังกฤษ มีเพียงสองบรรทัดแรกที่เป็นภาษาไทย) - ไม่ควรใช้งานกับอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟเกิน 2000 W - ควรเก็บให้ห่างความชื้น- ควรใช้กับเต้ารับที่ได้มาตรฐาน (โหลดสูงสุด 240 โวลท์ และจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ 10A) และควรมีการติดตั้งสายดินเพื่อความปลอดภัย- รางปลั๊กไฟนี้ไม่สามารถป้องกันอุปกรณ์ของท่านได้ หากเกิดฟ้าผ่าลงที่ตัวบ้าน สายโทรศัพท์ หรือเสาอากาศ- อุปกรณ์ป้องกันกระแสเกินไม่สามารถป้องกันแรงดันเกินที่อาจเกิดขึ้นในระบบไฟฟ้า เช่น การลัดวงจรลงดิน- สำหรับใช้ภายในบ้านและในบริเวณที่แห้งเท่านั้น- ในกรณีที่มีปัญหา ควรปรึกษาช่างไฟผู้มีประสบการณ์ ดาวโหลด ตารางการทดสอบค่ะ 

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า150 Point