ฉบับที่ 236 แอบเปลี่ยนป้ายราคาสินค้า แล้วเอาไปคิดเงิน ผิดลักทรัพย์หรือไม่

        ฉบับนี้ผมขอหยิบเรื่องใกล้ตัวที่หลายท่านอาจยังไม่ทราบเกี่ยวกับการติดป้ายราคาสินค้า ซึ่งปกติเวลาเราไปเดินตามห้างร้านต่างๆ  ก็จะมีการแสดงราคาสินค้าให้เราทราบ เพื่อให้มีข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ อย่างไรก็ตามหากมีใครสักคนอยากได้สินค้านั้นแต่ไม่ต้องการจ่ายตามราคาที่ร้านกำหนด เลยแอบเอาป้ายราคาสินค้าอื่นมาติดแทนแล้วเอาไปจ่ายเงิน พนักงานเก็บเงินไม่ได้ตรวจให้ดี ก็คิดเงินตามราคาสินค้าที่ติดป้ายราคาปลอมนั้น เช่นนี้จะถือว่ามีความผิดเข้าข่ายลักทรัพย์ตามกฎหมายหรือไม่        โดยประเด็นนี้เองเคยเกิดขึ้นจริงและมีคดีที่ศาลฏีกาได้ตัดสินไว้ด้วย ซึ่งกล่าวโดยสรุปศาลฏีกาได้ตัดสินว่า “ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการกระทำที่จะเป็นความผิดฐานลักทรัพย์ จะต้องเป็นการเอาทรัพย์ของผู้อื่นไปโดยพลการโดยทุจริต มิใช่ได้ทรัพย์ไปเพราะผู้อื่นยินยอมมอบให้เนื่องจากถูกหลอกลวง” โดยได้วางหลักไว้ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6892/2542          การที่จำเลยซึ่งเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายเปลี่ยนเอาป้ายราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางซึ่งติดราคา 1,785 บาทออก แล้วนำป้ายราคาโคมไฟอื่นซึ่งติดราคา 134 บาท มาติดแทน แล้วมอบให้พวกของจำเลยนำไปชำระราคาแก่พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหาย มิใช่จำเลยเอาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางไปโดยพลการโดยทุจริต จึงไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ หากแต่เป็นการหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายโดยทุจริต โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า ราคาโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางมีราคา 134 บาท พนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายหลงเชื่อยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลย โดยรับเงินจากจำเลยไว้เพียง 134 บาท การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการแสดงข้อความอันเป็นเท็จอยู่ในตัว และจำเลยกระทำโดยมีเจตนาหลอกลวงพนักงานเก็บเงินของผู้เสียหายให้ยินยอมมอบโคมไฟตั้งโต๊ะของกลางให้จำเลยแล้ว จึงเป็นความผิดฐานฉ้อโกง หาใช่จำเลยไม่มีเจตนาแสดงข้อความอันเป็นเท็จไม่         จากคดีนี้ เราจะเห็นได้ว่า ศาลมองว่าเป็นเรื่อง “การฉ้อโกง” เนื่องจากจำเลยใช้อุบายหลอกลวงโดยเอาป้ายราคาถูกมาปิดทับป้ายราคาแพง อันเป็นการแสดงข้อความเท็จในตัว ทำให้พนักงานหลงเชื่อว่าราคาโคมไฟเพียง 134 บาท แล้วยินยอมส่งมอบทรัพย์ คือโคมไฟตั้งโต๊ะให้โดยสมัครใจจากผลของการฉ้อโกง         และที่ไม่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ เพราะการลักทรัพย์ต้องเป็นกรณีเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของทรัพย์ไม่ได้อนุญาต ดังตัวอย่างคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522          คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3150/2522         การที่ผู้เสียหายเอาเงินออกมาเพื่อร่วมทำธนบัตรปลอมด้วยความเชื่อตามที่จำเลยกับพวกหลอกลวง โดยผู้เสียหายยังครอบครองยึดถือธนบัตรเหล่านั้นอยู่ แล้วจำเลยกับพวกได้ใช้อุบายเอาธนบัตรเหล่านั้นของผู้เสียหายไป โดยผู้เสียหายมิได้ส่งมอบให้นั้นเป็นการกระทำผิดฐานลักทรัพย์          ดังนั้น หากกรณีแรก จำเลยเอาโคมไฟไปโดยไม่จ่ายเงิน ซึ่งถือว่าเป็นการเอาทรัพย์ไปโดยเจ้าของไม่ได้อนุญาตหรือสมัครใจ ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานลักทรัพย์         ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 “ผู้ใดโดยทุจริต หลอกลวงผู้อื่นด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง และโดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งทรัพย์สินจากผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม หรือทำให้ผู้ถูกหลอกลวงหรือบุคคลที่สาม ทำ ถอน หรือทำลายเอกสารสิทธิ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานฉ้อโกง ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

อ่านเพิ่มเติม >