ฉบับที่ 256 ราคาน้ำมันในกำมือของพ่อค้าพลังงาน (2)

        ในปี 2564 คนไทยใช้น้ำมันสำเร็จรูปจำนวน 134 ล้านลิตรต่อวัน หากมีการคิดค่าการกลั่นรวมสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็นสัก 3 บาทต่อลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าที่ถูกปล้นไปถึงวันละ 500 ล้านบาท ที่น่าสังเกตก็คือ ในเดือนกันยายน 2564 รัฐบาลเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลลิตรละ 1 บาทเพื่อเข้ากองทุนน้ำมัน แต่ในเดือนพฤษภาคม รัฐบาลได้นำเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยถึง 9.30 บาทต่อลิตร พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ นี่คือหนี้ที่ผู้บริโภคต้องจ่ายคืนในภายหลัง เมื่อราคาน้ำมันลดลง         เราในฐานะผู้บริโภคไม่มีทางทราบได้หรอกว่า ค่าการกลั่นรวมควรจะเป็นเท่าใดจึงจะเป็นธรรมกันทั้งสองฝ่ายระหว่างเจ้าของโรงกลั่นกับผู้บริโภค แต่การที่โรงกลั่นคิดค่าการกลั่นไว้ที่ระดับไม่เกิน 2 บาทต่อลิตรติดต่อกันมานานอย่างต่อเนื่องกว่า 6 ปีเต็ม ก็แสดงว่า ค่าการกลั่นที่ผ่านมาจึงเป็นที่พอใจของเจ้าของโรงกลั่นแล้ว มีกำไรแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำไปเปรียบเทียบกับค่าการกลั่นในต่างประเทศ         ถ้ากิจการกลั่นน้ำมันมี “ต้นทุนอย่างอื่น” อยู่จริง แล้วทำไมในปีอื่นๆ จึงมีค่าต่ำกว่านี้มาตลอดอย่างน้อย 6 ปีเต็ม ถ้าจะอ้างว่าเป็นสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ต้นทุนในการกลั่นน้ำมันสูงขึ้นก็ไม่น่าจะเป็นไปได้  เพราะต้นทุนในการกลั่น เช่น ค่าแรง ค่าพลังงานไฟฟ้า ค่าสึกหรอของเครื่องจักร ก็ยังคงเท่าเดิม         หากเรายึดเอาตามนิยามของ “ค่าการกลั่นรวม” คือ มูลค่าผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมสำเร็จรูป (ที่โรงกลั่น) แล้วลบด้วยราคาน้ำมันดิบ (ที่หน้าโรงกลั่น) ทั้งตัวตั้ง (คือมูลค่าผลิตภัณฑ์สำเร็จรูป) และตัวลบ (คือราคาน้ำมันดิบ) ซึ่งทั้งสองตัวก็มีราคาสูงขึ้น ผลลัพธ์ที่ได้ (คือค่าการกลั่นรวม) จึงควรจะเท่าเดิม (หากค่าใช้จ่ายในการกลั่นเท่าเดิม)         จริงไหมครับ (หยุดคิดสักครู่)         ดังนั้น ผมจึงขอสรุปว่า การขึ้นค่าการกลั่นรวมจึงเป็นการฉวยโอกาสของเจ้าของโรงกลั่นนั่นเอง         อยากเรียกร้องให้ปลัดกระทรวงพลังงานอธิบายว่า “ต้นทุนอื่นคืออะไร” นอกจากนี้การที่ปลัดกระทรวงพลังงานอ้างว่า ธุรกิจโรงกลั่นเป็นตลาดเสรี มันเสรีจริงหรือ หรือเสรีที่จะกำหนดราคาเอาตามอำเภอใจกระนั้นหรือ         รายการเจาะลึกทั่วไทยฯ (7 มิ.ย.65) ได้นำผลประกอบการของโรงกลั่น 2 โรง พบว่า กำไรสุทธิของโรงกลั่นดังกล่าวในรอบ 3 เดือนแรกของปีนี้ได้เพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2564 ทั้งปี (ดูภาพประกอบ)         ยังมีอีกสองประเด็นสำคัญที่ทำให้เราคาน้ำมันในประเทศไทยแพงอย่างผิดปกติ        ประเด็นแรกคือค่าการตลาด         จากการรวบรวมข้อมูลค่าการตลาดน้ำมันเบนซินและดีเซล (เฉลี่ยรายเดือน) พบว่า ได้เกิดปรากฏการณ์ที่เหมือนกับค่าการกลั่น กล่าวคือ เมื่อราคาน้ำมันดิบลดลง ค่าการตลาดก็เพิ่มขึ้น ดังแสดงในภาพ เช่น ในเดือนพฤศจิกายน 2564 (ค่าการตลาด 2.02 บาทต่อลิตร) และ ธันวาคม 2564 (ค่าการตลาด 2.06 บาทต่อลิตร) เป็นต้น แม้ส่วนต่างของค่าการตลาดจะน้อยแต่เมื่อเทียบกับการใช้วันละ 134 ล้านลิตร ก็คิดเป็นมูลค่าไม่น้อย        ประเด็นที่สอง การคิดค่าขนส่งเทียม         การกำหนดราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นในประเทศไทยเป็นการกำหนดโดยการอิงราคากลางน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ (Mean of Platts : MOP Singapore) โดยคิดการบวกด้วยค่าขนส่งน้ำมันจากท่าเรือสิงโคโปร์มายังโรงกลั่นในประเทศไทย นอกจากนี้ยังบวก ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียน้ำมันระหว่างขนส่ง ค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ฯลฯ         แต่จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน (สถานการณ์พลังงานไทย 2564) พบว่า ประเทศไทยผลิตน้ำมันสำเร็จรูปโดยโรงกลั่นในประเทศไทย จำนวน  1.106 ล้านบาร์เรลต่อวัน (161.5 ล้านลิตรต่อวัน) โดยมีการใช้ภายในประเทศ 134 ล้านลิตรต่อวัน ที่เหลือจึงมีการส่งออกประมาณ 32.3 ล้านลิตรต่อวัน  แต่ก็มีการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปเพียง 5.6 ล้านลิตรต่อวัน ดังนั้นเราสามารถกล่าวโดยประมาณได้ว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่ใช้ในประเทศไทยทั้งหมด เป็นน้ำมันที่กลั่นในประเทศไทยเราเอง ไม่ได้นำเข้ามาจากประเทศสิงคโปร์แต่ประการใด แต่กระทรวงพลังงานได้กำหนดให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นไทยที่ขายให้คนไทยใช้ทั้งหมดในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดสิงคโปร์ โดยบวกเอาค่าขนส่งและค่าอื่นๆ หรือที่เรียกว่า “ค่าขนส่งทิพย์” ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นจริง        ตามธรรมเนียมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ผู้บริโภคได้เลือกรัฐบาลให้ไปเป็นผู้กำกับดูแลกติกาให้เกิดความเป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ทั้งนี้ ต้องอย่างโปร่งไส และตรวจสอบได้ แต่รัฐบาลนี้กำลังทำอะไรอยู่จึงได้ปล่อยให้ประชาชนถูกเอารัดเอาเปรียบเช่นนี้ และนับจากวันที่ 21 พฤษภาคม 2565 อัตราภาษีสรรพสามิตจะลดลงอีก(คาดว่าจะเหลือประมาณ 1.34 บาทต่อลิตร) เจ้าของโรงกลั่นจะฉวยโอกาสขึ้นค่าการกลั่นรวมไปอีกเท่าใด ผู้บริโภคต้องช่วยกันติดตาม ตรวจสอบนะครับ มิเช่นนั้นเราจะถูกเขาเอาเปรียบตลอดไป         คราวหน้า(ถ้าไม่ลืมหรือมีอย่างอื่นมาแทรก) ผมจะเขียนเรื่องมีความเป็นไปได้ไหมที่โลกจะเลิกใช้น้ำมัน และเมื่อไหร่ โปรดติดตามครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 253 พลังงง-พลังงาน !?

        ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยจะรู้สึกว่าเรื่องพลังงานนี่เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากถึงยากมาก ถ้าเราเชื่อและยอมรับอย่างนั้นจริงๆ ก็ถือว่าพ่อค้าพลังงานทำงานได้ผลดีมาก เพราะความตั้งใจของพ่อค้าพลังงานเขาไม่ต้องการให้ผู้บริโภคเข้าใจอะไรที่สำคัญๆ หรอก เขาต้องการให้เราบริโภคและจ่ายเงินซื้อพลังงานจากเขาเพียงอย่างเดียว แต่ครั้นจะไม่ให้เข้าใจอะไรเสียเลยก็จะผิดหลักการค้าในยุคสมัยใหม่ ที่ต้องการความโปร่งใส  เป็นธรรมและร่วมกันรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อวิกฤตโลกร้อน พวกพ่อค้าจึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลแบบไม่ครบถ้วนบ้าง  ไม่จริงทั้งหมดบ้าง หรือแกล้งทำให้ดูเป็นเรื่องซับซ้อน เป็นเรื่องของผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น เรียกว่าทำให้เรางงเล่นแล้วจะรู้สึกเบื่อไปเอง         ผมเองเชื่อมานานแล้วว่า มนุษย์เราสามารถเรียนรู้และเข้าใจในเรื่องที่มีความสำคัญกับตนเองได้เกือบทุกคน แต่กับบางคนที่ไม่ยอมเรียนรู้ก็เพราะไปติดกับดักที่เป็นวาทกรรม เช่น “ราคาน้ำมันดิบเป็นไปตามกลไกตลาดโลก” แต่ในความเป็นจริงแล้วมันขึ้นอยู่ที่พ่อค้าจะปั่นราคาเป็นส่วนใหญ่และเมื่อไหร่ ปัจจัยเรื่องอุปสงค์และอุปทานก็มีส่วนด้วยแต่ก็ไม่เสมอไป ที่น่าแปลกมากก็คือราคาน้ำมันดิบเคยติดลบถึง $37 ต่อบาร์เรล (ใครสั่งน้ำมันราคาล่วงหน้านอกจากไม่ต้องจ่ายเงินแล้วยังได้เงินกลับไปอีก เพราะบริษัทไม่มีที่จะจัดเก็บ) ในช่วงพฤษภาคม 2563 ทีทั่วโลกกำลังตกใจกับสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในช่วงแรก          อ่านมาถึงตรงนี้ ท่านที่มี “พลังงง” อาจจะรู้สึกว่าเข้าใจยาก ผมจึงมีวิธีการแปลงราคาจาก “ดอลลาร์ต่อบาร์เรล” มาเป็น “บาทต่อลิตร” พร้อมด้วยข้อมูลที่น่าสนใจบางอย่างเพิ่มเติม ดังรูป ไม่ยากเลยครับ            ประเทศเราเป็นประเทศที่ไม่สามารถพึ่งตนเองด้านพลังงานได้ ต้องนำเข้าเชื้อเพลิงในรูปของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหินและไฟฟ้ารวมกันมากกว่า 60% ของมูลค่าที่ต้องใช้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันดิบประเทศเราต้องนำเข้าประมาณ 85%  ดังนั้น หากมีการปั่นราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ประเทศเราจึงไม่ต่างอะไรกับ“ประเทศเมืองขึ้น” หรือ “ทาส” นั่นเอง         เรามาทดสอบความเข้าใจกันดีไหมครับ หยิบเอาข้อมูลเดือนกรกฎาคม 2563 ราคาน้ำมันดิบประมาณ $42 ต่อบาร์เรล (อัตราแลกเปลี่ยน 31.83 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) เราสามารถแปลงมาสู่สิ่งที่เราคุ้นเคยได้ว่าประมาณ 8.41 บาทต่อลิตร ถ้าเราอยากจะรู้ว่าตอนนั้นราคาประกาศหน้าโรงกลั่นเป็นเท่าใด ก็ถาม “google” ได้ โดยพิมพ์คำว่า “โครงสร้างราคาน้ำมัน” พบว่าเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2563 ราคาเบนซิน(ULG) ขายส่งหน้าโรงกลั่นเท่ากับ 9.88 บาทต่อลิตร และราคาหน้าปั๊มใน กทม.และปริมณฑลเท่ากับ 28.96 บาทต่อลิตรซึ่งเป็นราคาที่รวมภาษีและค่าอื่นๆ แล้ว รู้สึกงงอีกแล้วใช่ไหมครับ  ก็ต้องขยันค้นคว้า ขยันตั้งคำถามว่า “เอ๊ะ”         ในปี 2564 (จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์) พบว่า ประเทศไทยมีการนำเข้าน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 7.7 และ 1.7 แสนล้านบาท ตามลำดับ แต่ในขณะเดียวกันก็มีการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่า 2.8 แสนล้านบาท (จัดเป็นมูลค่าส่งออกที่สูงเป็นอันดับ 7 ของประเทศ)  นั่นคือมูลค่าส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปคิดเป็นมูลค่าถึง 36% ของมูลค่าน้ำมันดิบที่นำเข้า ถึงตรงนี้เราอาจจะรู้สึกงงๆ ใน 2 ประเด็นคือ         หนึ่ง ทำไมไม่สั่งน้ำมันดิบเข้ามาให้ใกล้เคียงกับปริมาณที่คนไทยใช้  เรื่องนี้ตอบไม่ยากครับ เพราะโรงกลั่นในประเทศไทยมีจำนวนมาก สามารถกลั่นได้มากกว่าที่คนไทยใช้ ที่เหลือจึงต้องส่งออก ประเด็นนี้จึงไม่ค่อยมีปัญหาเท่าไหร่ นอกจากปัญหามลพิษจากกระบวนการกลั่นที่ได้ทิ้งไว้ให้คนไทยรับไป รวมทั้งน้ำมันดิบรั่ว เป็นต้น         สอง สิ่งที่เป็นปัญหาสำคัญมากๆ คือ การกำหนดราคาขายส่งน้ำมันสำเร็จหน้าโรงกลั่น ถ้าขายให้คนไทยใช้(ขายส่งนะ) ให้คิดในราคาเท่ากับที่กลั่นในประเทศสิงคโปร์ แล้วบวกด้วยค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาอำเภอศรีราชา ประเทศไทย บวกด้วยค่าประกันภัย และบวกด้วยค่าน้ำมันหกหรือระเหยระหว่างการขนส่ง ทั้ง ๆ ที่สิ่งที่บวกเข้ามานี้ไม่ได้เกิดขึ้นจริง ความจริงคือกลั่นในประเทศไทย         ส่งผลให้ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่หน้าโรงกลั่นในประเทศไทยที่ขายให้คนไทยใช้นั้นมีราคาแพงกว่าราคาหน้าโรงกลั่นในประเทศสิงคโปร์ นี่คือความไม่เป็นธรรม ที่ทางกระทรวงพลังงานไม่เคยอธิบาย คงจะเป็นเพราะว่ามันไม่รู้จะเอาเหตุผลอะไรมาอธิบาย         จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน พบว่าในปี 2564 ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบประมาณ 5 หมื่นล้านลิตร ถ้าราคาที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงมีมูลค่าเท่ากับลิตรละหนึ่งบาท ก็มีมูลค่าเท่ากับ 5 หมื่นล้านบาทแล้ว นี่คือความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภคโดยตรง         ผู้บริโภคมีสิทธิที่จะรู้ว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ขายให้คนไทยใช้ภายในประเทศกับราคาน้ำมันสำเร็จรูปส่งออกนั้นราคาจะสูงกว่ากันเท่าใด แต่ผมไม่พบข้อมูล(สำเร็จรูปที่สามารถใช้ได้ทันที) จากกระทรวงพลังงาน  ดังนั้นผมจึงลงมือคำนวณเอง โดยเลือกคำนวณเพียงเดือนเดียว (เพราะข้อมูลดิบมีเยอะมาก) ผลการคำนวณในเดือนพฤศจิกายน 2564 ดังแสดงในรูปครับ ผลการคำนวณสรุปว่า        (1)   ราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่ส่งออกถูกกว่าราคาน้ำมันสำเร็จที่ขายให้คนไทยที่หน้าโรงกลั่น 1.01 บาทต่อลิตร        (2)   ราคาน้ำมันดิบนำเข้าแพงกว่าราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย(จากหลายตลาด)ในตลาดโลก 1.57 บาทต่อลิตร         ยังมีความจริงอีกหนึ่งอย่างที่กระทรวงพลังงานไทยไม่เคยบอกเรา แต่ผมพบในเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในประเทศแคนาดาคือ “โดยเฉลี่ยน้ำมันดิบ 1 บาร์เรล หรือ 159 ลิตรจะได้ผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปรวมกันถึง 170 ลิตร” นี่คือกำไรที่ซ่อนอยู่ในโรงกลั่นน้ำมัน        เรื่องพลังงานไม่ได้มีเฉพาะแต่เรื่องน้ำมันอย่างเดียวซึ่งเป็นเรื่องผูกขาด ปั่นราคา ก่อสงคราม (เช่นกรณียูเครน รัสเซีย) และเอื้อให้มีการคอรัปชันได้ง่าย ยังมีเรื่องไฟฟ้าที่ในปัจจุบันเราสามารถผลิตได้จากแสงอาทิตย์ซึ่งเป็นพลังงานที่ผูกขาดได้ยาก เราสามารถนำแสงแดดมาผลิตไฟฟ้าแล้วใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนน้ำมันได้ด้วย นี่เป็นหนทางที่ประเทศเราจะสามารถพึ่งตนเองหรือเป็นอิสระได้มากขึ้น นี่เป็นหนทางที่ทำให้คนไทยมีงานทำมากขึ้น เป็นหนทางลดรายจ่ายได้ หรือหนทางเพิ่มรายได้ให้ทุกครัวเรือนหากเราสามารถขายไฟฟ้าที่เราผลิตเองได้        แล้วค่อยคุยในในโอกาสต่อไปครับ ผมจะเขียนประจำที่ “ฉลาดซื้อ”  เพื่อเปลี่ยนพลังงงของผู้บริโภคมาเป็นพลังของการเรียนรู้เพื่อการพึ่งตนเองและลดปัญหาโลกร้อนนะครับ

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 248 ปัญหาโครงสร้างน้ำมัน ไม่ใช่รถบรรทุกหยุดวิ่ง

        โครงสร้างราคาน้ำมันที่ซับซ้อน หรือทำให้ซับซ้อน ถูกพูดถึงน้อยจากทุกฝ่าย เพราะหากติดตามการรณณงค์ของสมาพันธ์ขนส่งแห่งประเทศไทย แสดงจุดยืนชัดเจน ว่า ทางกลุ่มสมาพันธ์ ฯ ต้องการให้รัฐบาลลดราคาน้ำมัน และไม่ต้องการผลักภาระค่าน้ำมันให้กับผู้ผลิตสินค้า ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและค่าบริการของผู้บริโภค ตามที่ประธานสมาพันธ์ ฯ ยืนยันมาโดยตลอด        กลุ่มผู้บริโภคต้องขอบคุณและอยากให้ผู้บริโภค ช่วยสื่อสารทำความเข้าใจเรื่องราคาน้ำมันและโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรมกับทุกฝ่ายทุกส่วน ทั้งกิจการขนส่ง กิจการการเกษตร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้บริโภค         หากพิจารณาจากโครงสร้างราคาน้ำมัน เห็นความไม่ถูกต้องจากหลายส่วน อาทิเช่น ราคาน้ำมันดิบตั้งต้นที่เป็นปัญหาต้นทาง ที่ใช้ราคาน้ำมันบวกค่าขนส่งเทียมหรือขนส่งทิพย์นำเข้าจากสิงคโปร์ทั้งที่ไม่ได้มีการนำเข้าจากสิงคโปร์จริงซึ่งในส่วนนี้รัฐบาลไม่เคยแก้ปัญหาทำให้ราคาน้ำมันแพงไปอย่างน้อยอีก 1 บาท         มาพิจารณากันว่า 25 บาทที่องค์กรผู้บริโภคเสนอมาจากอะไร และรัฐบาลสามารถทำได้จริง            +ต้นทุนน้ำมันหน้าโรงกลั่นตามราคาตลาดโลก ราคา 18.45 บาท            +ค่าการตลาด ราคา 1.40 บาท            +ส่วนต่างกำไรที่เป็นเงินเหลืออีก (รายได้ของรัฐบาล) 5.15 บาท หากรวมต้นทุนเทียมเท่ากับรัฐบาลมีกำไรมากถึง 6.15 บาทจากต้นทุนเทียมขนส่งจากสิงคโปร์         โครงสร้างราคาน้ำมันที่บิดเบี้ยวจากข้อมูลข้างต้น และไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง สร้างภาระให้กับทุกส่วนยกเว้นบริษัทน้ำมัน โรงกลั่นน้ำมันและกิจการพลังงาน ซึ่งควรได้รับการแก้ไข ทางออกคงไม่ใช่จัดหาบริการขนส่ง แทนรถบรรทุก แต่ต้องการการออกแบบโครงสร้างราคาน้ำมันที่เป็นธรรม ซึ่งท้ายที่สุดส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการของประชาชนทั้งระบบ ถึงเวลาที่รัฐบาลต้องจัดการปัญหาโครงสร้างราคาน้ำมันที่ไม่เป็นธรรมกับผู้บริโภคสักที

อ่านเพิ่มเติม >