ฉบับที่ 190 ระยะเวลารับประกันสินค้า (ไม่) เป็นธรรม

บางครั้งระยะเวลาการรับประกันสินค้าก็ขึ้นอยู่กับการเจรจาระหว่างร้านค้ากับผู้โภค ซึ่งมักสร้างปัญหาได้หากผู้บริโภครู้สึกว่าระยะเวลารับประกันสินค้าดังกล่าวไม่มีความเป็นธรรม ดังเหตุการณ์ของผู้ร้องรายนี้คุณสุชัยนำคอมพิวเตอร์ไปซ่อมที่ร้านแห่งหนึ่งในอำเภอหาดใหญ่ เนื่องจากการ์ดจอเสีย โดยหลังซ่อมเสร็จเรียบร้อยทางร้านแจ้งว่าจะรับประกันงานซ่อมให้ 3 เดือน ซึ่งเมื่อใกล้วันหมดอายุการรับประกัน (เหลืออีก 5 วัน) เขาพบว่าคอมพิวเตอร์เสียอีกครั้ง จึงนำกลับไปซ่อมที่ร้านเดิม โดยหลังซ่อมเสร็จเรียบร้อยทางร้านแจ้งว่าจะรับประกันงานซ่อมให้อีก แต่รับประกันเพียง 1 สัปดาห์เท่านั้น จึงทำให้ผู้ร้องสงสัยว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคหรือไม่ และส่งเรื่องมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์เพื่อขอคำแนะนำแนวทางการแก้ไขปัญหาศูนย์ฯ ชี้แจงว่าในกรณีการรับประกันสินค้าการซ่อมสินค้าของร้านค้าทั่วไป หากสินค้าชำรุดในขณะที่ยังอยู่ในระยะเวลาการรับประกัน ทางร้านก็ต้องซ่อมให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ในกรณีของผู้ร้องที่นำคอมพิวเตอร์ไปซ่อมอีกครั้งเพราะการ์ดจอเสีย โดยอีก 5 วันจะหมดระยะเวลาการรับประกันสินค้า ต้องพิจารณาว่าทางร้านซ่อมแซมให้อย่างไร ซึ่งหากเป็นการซ่อมการ์ดจออันเดิมจากครั้งแรก สามารถนับเวลาการรับประกันต่อจากเดิมที่เคยตกลงกันไว้ได้ แต่หากเป็นการเปลี่ยนการ์ดจอให้ใหม่ก็ต้องเริ่มนับระยะเวลาการรับประกันใหม่เช่นกัน เนื่องจากอะไหล่ของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์มีอายุการใช้งานที่จำกัดนั่นเอง

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 172 ซื้อหมู่บ้านเล็ก เขารับประกันยังไง

ซื้อบ้านจัดสรรอยู่ แต่โครงการของบริษัทเล็กๆ เขาจะรับประกันอะไรให้บ้าง คนเรามี 2 สิ่งที่ตัดสินใจยากคือ "เลือกเมีย" กับ "เลือกบ้าน" เพราะมีผลกับชีวิตทั้งชีวิต เป็นคำถามมาสั้นๆ ง่ายๆ ที่ฝากมาในกระทู้รับเรื่องร้องเรียน เลยขอนำมาตอบไว้ที่นี้ด้วย แต่คำตอบจะต้องแยกตอบเป็น 3 คำตอบ (1) ซื้อบ้านจัดสรร (2) เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็ก และ (3) การรับประกันหลังโอนประเด็นแรก คุณเจ้าของกระทู้บอกอยู่แล้วว่าตัดสินใจเลือกซื้อบ้านในโครงการจัดสรร นั่นหมายความว่าเราต้องการซื้อคุณภาพชีวิตในการอยู่อาศัย เพราะฉะนั้น ข้อแนะนำก็คือ ให้ตรวจสอบว่าโครงการจัดสรรดังกล่าว ขออนุญาตจัดสรรภายใต้กฎหมายจัดสรรที่ดินหรือเปล่า ตรวจสอบข้อมูลได้จากสำนักงานกรมที่ดิน ตัวอย่างเช่น ถ้าจะซื้อบ้านจัดสรรในเขตบึงกุ่ม กรุงเทพมหานคร เราก็สามารถไปขอตรวจสอบได้ที่สำนักงานที่ดินประจำเขตบึงกุ่มเหตุผลที่ต้องตรวจสอบก่อน เพราะกฎหมายจัดสรรบังคับให้บริษัทเจ้าของโครงการต้องจดทะเบียนจัดสรร เพื่อจะได้เข้ามาช่วยควบคุมว่า กรณีที่เป็นโครงการใหญ่ๆ จะต้องมีการลงทุน "พื้นที่ส่วนกลาง" ให้เหมาะสมกับจำนวนบ้าน เช่น ถ้ามีบ้าน 100 หลัง ถนนเมนควรจะกว้าง 16 เมตรไหม ถ้ามีบ้าน 500 หลัง ถนนเมนจะต้องกว้าง 20 เมตรหรือเปล่าหรือถ้าขออนุญาตจัดสรรอย่างถูกต้อง กฎหมายท่านจะบังคับไว้เลยว่า บ้านเดี่ยวจะต้องมีพื้นที่ 50 ตารางวาขึ้นไป บ้านแฝดจะต้องมีที่ดิน 35 ตารางวาขึ้นไป ทาวน์เฮาส์จะต้องมีที่ดินเริ่มต้น 18 ตารางวาขึ้นไป เป็นต้นกรณีที่โครงการที่เราซื้อ ไม่ได้มีการขออนุญาตจัดสรร แสดงว่าเขากำลังเลี่ยงกฎหมายจัดสรรอยู่ โดยพื้นฐานถ้าจำไม่ผิด กฎหมายจะกำหนดไว้ว่า ถ้าขอจัดสรรทำบ้านเดี่ยวตั้งแต่ 10 หลังขึ้นไปต้องขออนุญาตให้ถูกต้อง แต่ถ้าต่ำกว่า 10 หลังไม่ต้องขออนุญาตจัดสรรกลายเป็นช่องว่างให้มีการเลี่ยงกฎหมายจัดสรร เช่น อาจจะมี 40 หลัง แต่ใช้วิธีพัฒนาทีละไม่เกิน 10 หลัง โดยใช้ชื่อคนละบริษัท ทั้งๆ ที่เป็นหมู่บ้านเดียวกัน เป็นต้น ประเด็นที่สอง เรื่องของ "เจ้าของโครงการเป็นบริษัทเล็กๆ" สิ่งแรกที่ต้องคำนึงก่อนตัดสินใจวางเงินจองเงินดาวน์ และจ่ายเงินก้อนใหญ่เพื่อโอนกรรมสิทธิ์ สิ่งนั้นก็คือความน่าเชื่อถือของผู้ประกอบการในที่นี้ ไม่ได้ฟันธงว่า เวลาเราพูดถึงความน่าเชื่อของผู้ประกอบการแล้ว จะต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ เป็นบริษัทมหาชนที่อยู่ในตลาดหุ้นเท่านั้น เรื่องนี้ไม่จริง เพราะมีบริษัทอสังหาริมทรัพย์ทุนหนาอีกตั้งหลายรายที่ไม่ยอมเข้าตลาดหุ้น เพราะฉะนั้นความน่าเชื่อของผู้ประกอบการจึงต้องมีองค์ประกอบอื่นเพิ่มเติมด้วยข้อแนะนำคือ เวลาดูความน่าเชื่อของผู้ประกอบการสำหรับหมู่บ้านจัดสรรที่เราจะไปเลือกซื้อนั้น นอกจากจะตรวจสอบจากใบอนุญาตจัดสรรแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบจากข้อมูลข่าวสาร อย่างน้อยที่สุด เคยมีประวัติพัฒนาโครงการขายมาก่อนหรือไม่ ถ้าไม่เคย ธุรกิจดั้งเดิมเคยทำอะไรมาก่อนตัวอย่างเช่น ค่ายสยามกลการ ในปัจจุบันรุ่นทายาทธุรกิจเป็นคนรุ่นใหม่ ก็ให้ความนิยมหันมาลงทุนสร้างคอนโดฯ ขาย เป็นต้น กรณีแบบนี้เราค่อนข้างมั่นใจได้ว่ามีความเป็นมาตรฐานแน่นอน เพราะธุรกิจดั้งเดิมก็เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงที่ดี ไม่ใช่ประเภทตีหัวเข้าบ้านประเด็นสุดท้าย "การรับประกันหลังโอนกรรมสิทธิ์" ก่อนอื่นต้องเข้าใจให้ตรงกันเสียก่อนว่า การรับประกันหลังโอน กฎหมายจำกัดขอบเขตความรับผิดชอบของบริษัทเจ้าของโครงการไว้ที่เป็นการรับประกันเรื่องตัวบ้านเป็นหลัก เช่น สร้างแล้วพังเร็วไหม อยู่แล้วอุ่นใจหรือเปล่าข้อแนะนำสำหรับการรับประกันตัวบ้านก็คือ ให้มุ่งเน้นความสำคัญไปที่การตรวจสอบคุณภาพก่อสร้างที่เป็น "โครงสร้างหลัก" ของตัวบ้าน เช่น เสา คาน ฯลฯ ส่วนผนังที่อาจจะมีรอยแตกลายงา ถือเป็นเรื่องปกติเพราะเกิดจากฝีมือฉาบปูนบ้าง โดดแดดบ้าง อะไรบ้าง หรือจะเป็นก๊อกเป็นสนิม น้ำรั่ว น้ำซึม เป็นเรื่องที่คุยกันได้ พวกนี้เรียกว่า "ส่วนควบของตัวบ้าน" ซึ่งกินความไปถึงประตู หน้าต่าง กรอบอลูมิเนียม บานเลื่อน ฯลฯ จิปาถะเยอะแยะไปหมดข้อแนะนำคือ ตรวจสอบด้วยการหาข้อมูลอ้างอิงว่า ถ้าเป็นกรณีหมู่บ้านใหญ่ๆ เขามีการรับประกันอะไรให้กับลูกค้าบ้าง แล้วนำมาเปรียบเทียบกัน อย่างน้อยที่สุด การรับประกันในจุดหลัก ๆ ก็ควรจะต้องมี แต่ถ้าหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีให้ ข้อแนะนำคือคุณไม่ควรจะรับโอน จนกว่าจะสามารถเคลียร์และทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้าหากจำเป็นจะต้อง "ค้าความ" หรือมีการฟ้องร้องคดีกันขึ้นมาเมื่อไหร่ โอกาสของผู้บริโภคคือจะต้องมีหนังสือนิติกรรมที่เป็นลายลักษณ์อักษรเท่านั้น การดำเนินคดีในศาลจึงจะมีน้ำหนัก และทำให้เราไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบได้ในท้ายที่สุด 

อ่านเพิ่มเติม >