ฉบับที่ 276 ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับ “เด็ก”

        ฤดูร้อนไม่เคยหายไปจากบ้านเรา แม้ในวันที่มีเมฆมากก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรอดพ้นจากรังสียูวี โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ผู้ปกครองพาไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงปิดเทอม ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 50+         องค์กรที่ส่งตัวอย่างเข้าทดสอบในครั้งนี้คือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน หลายยี่ห้อมีจำหน่ายในบ้านเราหรือสั่งซื้อได้ออนไลน์  คราวนี้เรามีมาให้เลือก 20 ผลิตภัณฑ์ ทั้งแบบโลชัน สเปรย์ และแบบแท่ง เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา เราแบ่งคะแนนการทดสอบออกเป็น 4 ด้านดังนี้        ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVB และ UVA ratio (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)        ร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น เปิดใช้ง่าย ทาง่าย ซึมลงผิวเร็ว ไม่เหนียว ไม่ทิ้งคราบ         ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ส่วนผสมที่ไม่ทำลายธรรมชาติ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดมากเกินไป สามารถนำไปรีไซเคิลได้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้หมด ไม่มีตกค้าง เป็นต้น)         ร้อยละ 5         ฉลากที่ถูกกฎหมายและเป็นมิตรต่อผู้บริโภค          ในภาพรวมเราพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนักในเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ (ส่วนใหญ่ได้คะแนนระดับสี่ดาวขึ้นไป ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า 50) เมื่อเทียบกับครั้งก่อน ผู้ผลิตมีการปรับปรุงเรื่องของฉลากดีขึ้นมาก อย่างน้อยร้อยละ 50 มีการแสดงฉลากที่ดีขึ้น แต่ยังต้องปรับปรุงอีกมากในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ยังได้คะแนนเพียงหนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น            “ข่าวดี” คือเราไม่พบพาราเบนหรือสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และมีเพียงสามผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีค่า SPF ต่ำกว่าที่ระบุในฉลาก นอกจากนั้นเรายังพบว่าราคาของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเสมอไป ตัวที่ได้คะแนนสูงที่สุดสามอันดับแรกมีราคาไม่เกิน 5 บาทต่อหนึ่งมิลลิลิตร ในขณะที่ตัวที่มีราคามิลลิลิตรละ 16 บาทนั้นเข้ามาที่อันดับเก้า อีกข้อสังเกตคือมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายเดียวกันจะมีประสิทธิภาพในระดับที่ต่างกันด้วย         หมายเหตุ  ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร หรือปอนด์  โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 150 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2556 แบนโฆษณา “แค่ดื่มก็สอบได้” สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงดาบสั่งระงับการฉายโฆษณาเครื่องดื่มที่อ้างว่าดื่มแล้วบำรุงสมอง จากการที่มีการอวดอ้างว่าดื่มแล้วช่วยให้นักเรียน – นักศึกษาสอบติดคณะเด่นๆ อย่างคณะแพทย์ วิศวกร ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งเป็นการโฆษณาที่อ้างสรรพคุณเกินจริงและสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค เนื้อหาในโฆษณาที่ทาง สคบ. แพทยสภา และ อย. เห็นว่าเป็นปัญหากับผู้บริโภคก็คือ ประเด็นการโฆษณาสรรพคุณของเครื่องดื่มที่บอกว่าดื่มแล้วทำให้สมองปลอดโปร่ง เติมความรู้ สร้างความจำให้ดีขึ้น ดื่มแล้วก็สามารถสอบเข้าคณะแพทย์หรือคณะอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงได้ ถือว่าเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และการนำนักศึกษาที่ใส่ชุดประจำสถานศึกษาชื่อดังหลายแห่งมาร่วมในโฆษณาเพื่อสื่อว่าสอบติดได้เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม ความฉลาดต้องเกิดจากความขยันตั้งใจศึกษาหาความรู้ อาหารก็ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งถือว่าเพียงพอและเหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริม ถ้าใครพบเห็นโฆษณาอาหารหรืออาหารเสริมที่ดูแล้วน่าจะเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค รีบแจ้งไปที่ สายด่วน สคบ. 1166 หรือ อย. 1556     ป้องกันรังสียูวี...ชัวร์หรือมั่วนิ่ม อย.ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด ต้องระบุระดับหรือค่าตัวเลข SPF, PFA หรือ PA ให้ถูกต้องตามคุณสมบัติการทดสอบ โดยผลสำรวจผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปี พ.ศ. 2549-2550 พบการแสดงค่า SPF หรือค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีที่ไม่ถูกต้องตามที่ระบุบนฉลาก ทำให้ผู้บริโภคเกิดการเข้าใจผิด จากนี้ไปผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดต้องแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดดังนี้ 1. การแสดงค่า SPF ที่มีค่าการป้องกันรังสียูวีอยู่ระหว่าง 6-50 ให้แสดงระดับ หรือค่า SPF ตามจริง ถ้ามีค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีมีค่ามากกว่า 50 ให้แสดง “SPF 50+” ในกรณีที่ไม่มีผลการทดสอบหรือมีผลการทดสอบได้ค่าการป้องกันรังสียูวีต่ำกว่า 6 ไม่ให้แสดงข้อความใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด 2. การแสดงค่า PFA หรือ PA ที่แสดงถึงการป้องกันรังสียูวีเอ ให้แสดงระดับสัญลักษณ์ หรือค่าความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค่า PA+, PA++, PA+++ และ PA++++ หมายถึงประสิทธิภาพระดับต่ำ กลาง สูง และสูงมาก ถ้ามีการแสดงค่าความสามารถในการกันน้ำต้องแสดงระดับของประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ โดยให้แสดงค่าว่า Water resistance พร้อมกับแสดงตัวเลขเวลาที่ผ่านการทดสอบในการป้องกัน 40 นาที หรือ 80 นาที   เมื่อคอนโดราคาแพงเกินจริง? ปริมาณคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคหลายรายร้องเรียนผ่าน สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เรื่องราคาขายคอนโดว่าเข้าข่ายแพงเกินจริงหรือไม่? บางโครงการหนึ่งห้องพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ขายราคา 4 – 5 ล้านบาท ราคาจริงน่าจะถูกกว่านั้น สคบ. จึงได้เชิญ สมาคมบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และ สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ร่วมถึงผู้ประกอบการ เพื่อสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งทางฝั่งผู้ประกอบการได้ให้เหตุผลที่คอนโดตั้งราคาขายไว้สูงนั้นเกิดจากปัจจัยของต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน ที่ล้วนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเห็นว่าคอนโดไม่ใช้สินค้าควบคุม การตัดสินใจเลือกซื้อเปรียบเทียบคุณภาพและราคานั้นเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่ทำได้เองอยู่แล้ว ทาง สคบ. ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ขายคอนโดต้องแสดงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้เปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย เช่น ชนิดหรือราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน รายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคที่โครงการมอบให้ผู้ซื้อ หลังจากนี้ สคบ. จะร่วมกับสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เพื่อตรวจประเมินหาราคากลางที่เหมาะสมของโครงการคอนโดต่างๆ และจะประสานกับกรมการค้าภายในเพื่อดูความเหมาะสมของราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง     ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดเสวนาทางวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (bromide ion)” เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค หลังจากทั้ง 2 มูลนิธิได้มีการแถลงผลการทดสอบข้าวสารบรรจุถุงที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารโบรไมด์อิออนที่ตกค้างจากการใช้สารเมทิลโบรไมด์รมควันข้าวสารเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex จนกลายเป็นประเด็นทางสังคม โดยการเสวนาทางวิชาการมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง แพทย์ นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ นักโภชนาการ นักพิษวิทยา นักการเกษตร และสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค โดยมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในประเด็นที่ว่าอันตรายของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนมีความแตกต่างกัน โดยเมทิลโบรไมด์มีพิษเฉียบพลันต่อผู้ใช้ และระยะยาวมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่โบรไมด์อิออนที่ตกค้างเกิน 50 ppm มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะโบรไมด์อิออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เป็นปัญหากับกลุ่มประชากรที่ขาดไอโอดีน หรือคนที่ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ส่วนข้อมูลเรื่องการขจัดโบรไมด์อิออนที่ตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงนั้น  สามารถลดการตกค้างได้บางส่วน แต่ยังมีปริมาณการตกค้างหลังหุงยังต้องทำการศึกษาเพิ่ม เพราะผลการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างกัน งานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่ายังเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างถึง 41.2% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างเพียง 15.4%     ร้อง สคบ. ช่วยจัดการกรณี รถเชฟโรเลต ครูซ ขับไปซ่อมไป ผู้ผลิตเลี่ยงรับผิดชอบ กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถเชฟโรเลต ครูซ และ แคปติวา จำนวน 25 ราย ได้ร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากพบปัญหาจากการใช้รถ ทั้งๆ ที่เป็นรถใหม่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้ไม่นาน ซึ่งปัญหาที่พบถือเป็นปัญหาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต เช่น รถคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่ได้เหยียบคันเร่ง รถพุ่งไปข้างหน้าเองในขณะที่จอดติดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์อัตโนมัติมีอาการกระตุกรุนแรง ในขณะเปลี่ยนเกียร์ระบบเกียร์ล็อค เปลี่ยนเกียร์ไม่ได้ เป็นต้น กลุ่มผู้เสียหายและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เข้ายื่นหนังสือกับเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้เสียหารและดำเนินการกับผู้ประกอบการ คือ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย โดยผู้เสียหายเรียกร้องให้ สคบ. ช่วยดำเนินการเรียกผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งหากการเจรจาหาข้อตกลงไม่ได้ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค และให้มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพรถที่มีปัญหาเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ โดยระหว่างการตรวจสอบให้ สคบ. ออกคำสั่งห้ามขายรถยนต์รุ่นที่มีปัญหาชั่วคราว จนกว่าจะมีผลพิสูจน์ความผิดปกติที่เกิดขึ้น และหากพิสูจน์แล้วพบว่าความบกพร่องเกิดจากผู้ผลิต ต้องออกคำสั่งให้บริษัทรับซื้อคืนรถคันดังกล่าวจากผู้ซื้อที่ได้รับความเสียหาย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 165 เสื้อกัน UV (ต่อ) ทางเลือกใหม่ สำหรับคนชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง

ต่อเนื่องจากเล่มก่อนหน้า เราขอนำเสนอผลการทดสอบเสื้อและชุดว่ายน้ำป้องกันรังสีสำหรับเด็กที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้   สัดส่วนการให้คะแนนเป็นดังนี้ -   การป้องกันรังสียูวี  ร้อยละ 60 (ปัจจุบันยังมีหลายมาตรฐานในการวัดค่าการป้องกันรังสียูวี ผู้ผลิตต่างรายจึงใช้มาตรฐานต่างกัน แต่ในที่นี้จะวัดตามมาตรฐาน UV Standard 801) -  ฉลาก  ร้อยละ 30 (หมายถึง การให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค มีการอ้างอิงว่าใช้มาตรฐานใด) -  การใช้สารเคมีร้อยละ 10                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 164 เสื้อกัน UV ทางเลือกใหม่ สำหรับคนชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง

แม้จะอยู่ใต้ฟ้าแต่เราก็ไม่กลัวแสงแดด เพราะมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ช่วยสกัดกั้นไม่ให้รังสีจากดวงอาทิตย์เข้ามาทำร้ายผิวเราได้ นอกจากครีมกันแดด หมวก และร่มแล้ว เรายังมีเสื้อป้องกันรังสียูวีที่ทำออกมาเอาใจผู้ชื่นชอบกีฬากลางแจ้งอีกด้วยนะ ฉลาดซื้อฉบับนี้นำผลทดสอบเสื้อกันรังสียูวี ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทำไว้ มาฝากสมาชิกกัน หลักๆ แล้วเขาต้องการดูค่าการป้องกันรังสีของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว (ค่า UPF) และดูว่าสอดคล้องกับฉลากหรือไม่ และในกรณีของเสื้อหรือชุดเด็ก จะมีการตรวจหาสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมาในเนื้อผ้า เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ โนนิลฟีนอล และพทาเลท ด้วย การทดสอบนี้เป็นไปตามมาตรฐานของเสื้อผ้าที่ป้องกันรังสียูวี UV Standard 801   ครั้งนี้เขาเน้นเสื้อผ้าเด็กเป็นพิเศษ เพราะคนยุโรปเน้นให้เด็กๆ ได้อยู่กลางแจ้งเพื่อรับแสงแดดที่มีไม่บ่อยนักในรอบปี และเสื้อผ้าเหล่านี้ก็เป็นทางออกสำหรับเด็กๆ ที่ไม่ชอบให้ทาครีมกันแดดซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเด็กด้วย สัดส่วนการให้คะแนนเป็นดังนี้ -          การป้องกันรังสียูวี           ร้อยละ 60 (ปัจจุบันยังมีหลายมาตรฐานในการวัดค่าการป้องกันรังสียูวี                                   ผู้ผลิตต่างรายจึงใช้มาตรฐานต่างกัน แต่ในที่นี้จะวัดตามมาตรฐาน UV                                  Standard 801) -          ฉลาก                            ร้อยละ 30 (หมายถึง การให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค มีการอ้างอิง                                       ว่าใช้มาตรฐานใด) -          การใช้สารเคมี                ร้อยละ 10   ฉบับนี้เราขอลงผลทดสอบของเสื้อผู้ใหญ่ 7 รุ่น และเต็นท์สำหรับเด็กอีก 5 รุ่น มาให้ชมกันเป็นน้ำจิ้มก่อน ส่วนผลของชุดและเสื้อยืดเด็กนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมติดตามกันในฉบับต่อไป --------------------------------------------------------------------------------------------------- ทำอย่างไรให้เนื้อผ้าป้องกันรังสียูวีได้? วิธีที่ผู้ผลิตนิยมใช้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการป้องกันแสงแดด ได้แก่ การใช้ผ้าที่ทอหนาและแน่นในการตัดเย็บ เพราะช่องว่างระหว่างเส้นใยที่น้อยลงจะช่วยลดแสงที่ผ่านเข้ามาด้วย การใช้สีย้อม เพราะสีย้อมบางชนิดที่ความเข้มข้นระดับหนึ่ง สามารถลดการส่งผ่านรังสียูวีได้ บางชนิดสะท้อนรังสีออกไปได้บางส่วน บางชนิดจะไม่รับรังสีเข้ามาเลย เช่น สีย้อมสีดำ ณ ปัจจุบัน เราไม่สามารถทราบได้ว่าเสื้อตัวดังกล่าวสามารถกันรังสีได้หรือไม่จากการดูด้วยตาเปล่า ต้องดูจากฉลากที่ระบุค่า UPF เท่านั้น เสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อการป้องกันรังสีอาจใช้สีย้อมระดับพรีเมียมซึ่งมีโมเลกุลที่สามารถสกัดรังสีได้ เมื่อใช้สีย้อมมากขึ้น ระดับความเข้มข้นของสีและการป้องกันยูวีก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ต้องย้ำว่าสีที่ใช้ (เหลือง แดง ฟ้า เขียว ฯลฯ) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าการป้องกันยูวี การเติมสารเคมีบางชนิดลงไป เช่น สารเพิ่มความสว่าง และสารต้านยูวี เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ ซิงค์โคไซด์ เบนโซไทรอาโซล ทินูวิน 312 เป็นต้น การเลือกชนิดของเส้นใย เช่นโพลีเอสเตอร์ สามารถต้านรังสีได้ดีมาก ไนลอนก็ทำได้ดี ไหมและขนแกะก็พอใช้ แต่เส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย เรยอน แฟลกซ์ และปอ ป้องกันรังสีได้ไม่ดีนักถ้าไม่มีการเติมสารเคมีเพิ่มลงไป ที่สำคัญ ผ้าฝ้ายที่ไม่ผ่านการฟอกหรือผ้าสีธรรมชาติจะต้านรังสีได้ดีกว่าฝ้ายที่กัดสีแล้ว   หมายเหตุเพิ่มเติม: Ø เมื่อผ้าถูกยืดออกร้อยละ 10 ความสามารถในการต้านรังสีจะลดลงถึงร้อยละ 40 Ø เมื่อผ้าเปียกน้ำ ความสามารถในการต้านรังสีจะลดลงประมาณร้อยละ 30 - 50 Ø ผ้าเก่าหรือผ้าที่ซีดแล้วจะสามารถป้องกันยูวีได้น้อยลง ---------------------------------------------------------------------------------------------------   ก่อนลงทุนซื้อเสื้อ/ชุดป้องกันยูวี -          เลือกเสื้อผ้าที่มีการติดฉลากตามมาตรฐาน UV 801 -          ถ้าเป็นไปได้ เลือกชนิดที่ป้องกันยูวีโดยวิธีการทางกายภาพ ไม่ใช่ทางเคมี -          ควรเลือกเสื้อผ้าที่ปกปิดแขนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของแขน และส่วนบนของขา -          ถ้าเป็นชุดเด็ก ค่าการป้องกันยูวี (UPF) ควรอยู่ระหว่าง 40-60 เพื่อให้เด็กได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอ --------------------------------------------------------------------------------------------------- เสื้อผู้ใหญ่                                                                                                                                                                       ---- บ้านเรากับเสื้อป้องกันยูวี?   ในบรรดาสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษนั้น ที่มาแรงที่สุดในบ้านเราคงไม่มีใครเกินสิ่งทอป้องกันแบคทีเรีย (ก็อากาศร้อน ช่วยขับเหงื่อผู้คนกันขนาดนี้) ส่วนเรื่องสิ่งทอป้องกันยูวีนั้นยังไม่เท่าไร เพราะเรามีจริตที่จะหลบแดดกันอยู่แล้ว ยกเว้นใครที่ต้องทำงานหรือชอบงานอดิเรกที่ต้องอยู่กลางแจ้งจริงๆ เช่นนักกีฬา หรือขาปั่นจักรยาน ที่อาจต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์นี้อยู่   แต่คุณรู้หรือไม่? บ้านเรามีสภาพอากาศและพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งเส้นใยของมันสามารถป้องกันรังสียูวีได้โดยธรรมชาติ แถมยังระบายกลิ่นอับได้ดี ประเทศในยุโรปรู้จักใช้ประโยชน์จากใยชนิดนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เยอรมนีก็ใช้เพื่อผลิตหมวกป้องกันยูวีให้กับนักกีฬาด้วย พืชที่ว่านี้คือกัญชง (ถูกแล้ว มันเป็นญาติกับกัญชา) ซึ่งเคยมีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 แต่กำลังจะถูกพิจารณาให้เกษตรกรสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ในเบื้องต้นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กำลังศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์กัญชงที่มีระดับเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ต่ำ เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูก แต่แม้จะมีการปลูกในภาคเหนือบ้างแล้ว ปริมาณวัตถุดิบก็ยังไม่เพียงพอต่อการผลิต เราจึงยังต้องนำเข้าจากประเทศลาวอีกเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าตอนนี้ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท และนอกจากจะนำมาทอผ้าแล้ว เปลือกและเมล็ดของมัน ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่างด้วย   ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ดร.ประเทืองทิพย์ ปานบำรุง สาขาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point