ฉบับที่ 276 ผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับ “เด็ก”

        ฤดูร้อนไม่เคยหายไปจากบ้านเรา แม้ในวันที่มีเมฆมากก็ไม่ได้แปลว่าเราจะรอดพ้นจากรังสียูวี โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ผู้ปกครองพาไปทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงปิดเทอม ฉลาดซื้อฉบับนี้จึงขอนำเสนอผลการทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์กันแดดสำหรับเด็กที่มีค่า SPF ไม่ต่ำกว่า 50+         องค์กรที่ส่งตัวอย่างเข้าทดสอบในครั้งนี้คือองค์กรผู้บริโภคที่เป็นสมาชิกขององค์กรทดสอบระหว่างประเทศ (International Consumer Research & Testing) ในยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรีย ฝรั่งเศส โปรตุเกส สเปน หลายยี่ห้อมีจำหน่ายในบ้านเราหรือสั่งซื้อได้ออนไลน์  คราวนี้เรามีมาให้เลือก 20 ผลิตภัณฑ์ ทั้งแบบโลชัน สเปรย์ และแบบแท่ง เช่นเดียวกับครั้งที่ผ่านมา เราแบ่งคะแนนการทดสอบออกเป็น 4 ด้านดังนี้        ร้อยละ 65       ประสิทธิภาพในการป้องกัน UVA/UVB และ UVA ratio (ทดสอบในห้องปฏิบัติการ)        ร้อยละ 20       ความพึงพอใจของผู้ใช้ เช่น เปิดใช้ง่าย ทาง่าย ซึมลงผิวเร็ว ไม่เหนียว ไม่ทิ้งคราบ         ร้อยละ 10       ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ส่วนผสมที่ไม่ทำลายธรรมชาติ บรรจุภัณฑ์ที่ไม่ทำให้เกิดมากเกินไป สามารถนำไปรีไซเคิลได้ สามารถใช้ผลิตภัณฑ์ได้หมด ไม่มีตกค้าง เป็นต้น)         ร้อยละ 5         ฉลากที่ถูกกฎหมายและเป็นมิตรต่อผู้บริโภค          ในภาพรวมเราพบว่าผลิตภัณฑ์เหล่านี้ไม่ต่างกันมากนักในเรื่องประสิทธิภาพการป้องกันแดดและความพึงพอใจของผู้ใช้ (ส่วนใหญ่ได้คะแนนระดับสี่ดาวขึ้นไป ยกเว้นผลิตภัณฑ์ที่ได้คะแนนรวมน้อยกว่า 50) เมื่อเทียบกับครั้งก่อน ผู้ผลิตมีการปรับปรุงเรื่องของฉลากดีขึ้นมาก อย่างน้อยร้อยละ 50 มีการแสดงฉลากที่ดีขึ้น แต่ยังต้องปรับปรุงอีกมากในเรื่องความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่วนใหญ่ยังได้คะแนนเพียงหนึ่งหรือสองดาวเท่านั้น            “ข่าวดี” คือเราไม่พบพาราเบนหรือสารเคมีที่รบกวนการทำงานของต่อมไร้ท่อ (EDCs) และมีเพียงสามผลิตภัณฑ์เท่านั้นที่มีค่า SPF ต่ำกว่าที่ระบุในฉลาก นอกจากนั้นเรายังพบว่าราคาของผลิตภัณฑ์ไม่ได้ยืนยันประสิทธิภาพในการป้องกันรังสียูวีเสมอไป ตัวที่ได้คะแนนสูงที่สุดสามอันดับแรกมีราคาไม่เกิน 5 บาทต่อหนึ่งมิลลิลิตร ในขณะที่ตัวที่มีราคามิลลิลิตรละ 16 บาทนั้นเข้ามาที่อันดับเก้า อีกข้อสังเกตคือมีความเป็นไปได้ที่ผลิตภัณฑ์จากผู้ผลิตรายเดียวกันจะมีประสิทธิภาพในระดับที่ต่างกันด้วย         หมายเหตุ  ราคาที่นำเสนอเป็นราคาที่พบในร้านค้าออนไลน์ และคำนวณจากหน่วยเงินในประเทศต้นทาง เช่น ยูโร หรือปอนด์  โปรดตรวจสอบอีกครั้งก่อนตัดสินใจ

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า0 Point

ฉบับที่ 198 กระแสในประเทศ

สรุปความเคลื่อนไหว เดือนสิงหาคม 2560ใช้ “รังสี” ต้องติดใบรับรองสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) แนะประชาชนสังเกตสัญลักษณ์แสดงสถานประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตครอบครองหรือใช้รังสีอย่างถูกต้องจาก ปส. ก่อนเข้ารับบริการ เพื่อให้มั่นใจปลอดภัยจากรังสีตามมาตรฐานสากลหลังจากที่พระราชบัญญัติพลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ปส. ได้เร่งสร้างความเข้าใจต่อผู้ประกอบและประชาชนให้พร้อมต่อการบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบเมื่อกฎหมายลำดับรองแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม 2560 นี้ โดยล่าสุดมีสถานประกอบการยื่นคำร้องขอรับใบอนุญาติจาก ปส. แล้วกว่า 3,500 แห่ง ซึ่งเมื่อผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาตแล้ว ปส. จะมอบสัญลักษณ์แสดงการได้รับอนุญาต สามารถนำไปติดบริเวณที่ให้บริการประชาชน เพื่อให้เป็นจุดสังเกตซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจก่อนเข้ารับบริการมากยิ่งขึ้นโดยปัจจุบันสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับรังสีมีมากมายหลายด้าน ทั้งด้านอาหาร การแพทย์ และด้านอุตสาหกรรม เช่น การทำอัญมณี ด้านเชื้อเพลง เป็นต้นอาหารทะเลปลอดภัยไม่มีปรอทข่าวนี้ถือเป็นข่าวดีของคนที่ชอบรับประทานอาหารทะเลเพราะมีผลตรวจการกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่า อาหารทะเล พวก กุ้ง หอย ปูปลา ที่ขายในตลาดจังหวัดชลบุรีและจังหวัดระยอง ปลอดภัยจากสารปรอทกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 6 ชลบุรี ได้สุ่มเก็บตัวอย่าง อาหารทะเล จำนวน 54 ตัวอย่าง ได้แก่ ปลา หอย กุ้ง ปู ปลาหมึก และ กั้ง จากแหล่งจำหน่ายอาหารทะเลที่สำคัญ ได้แก่ ตลาดหนองมน และสะพานปลาอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี ตลาดประมงพื้นบ้านหาดสวนสน จังหวัดระยอง นำมาตรวจวิเคราะห์หาปริมาณสารปรอท โดยใช้เครื่อง Mercury Analyzer หลักการ Cold Vapor Atomic Absorption Spectrometry (CVAAS) พบว่าอาหารทะเลทั้ง 54 ตัวอย่างมีปริมาณสารปรอทต่ำกว่ามาตรฐานที่ประกาศโดยกระทรวงสาธารณสุขที่กำหนดให้มีได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าตัวอย่างอาหารทะเลที่นำมาวิเคราะห์อยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อการบริโภคพบสารอันตรายในเครื่องสำอาง “โบวี่ คิ้ม”เรายังคงได้ยินข่าวคราว เครื่องสำอางอันตราย ปรากฎให้เห็นกันอยู่เรื่อยๆ ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ทำการลงดาบจัดการเครื่องสำอางยี่ห้อ “โบวี่ คิ้ม”(BOWVY KIM) หลังจากมีผู้บริโภคร้องเรียนว่าใช้แล้วผิวเกิดขึ้นผื่นแดง ซึ่งจากการวิเคราะห์ก็พบสารอันตรายต้องห้ามปนเปื้อนอยู่ในเครื่องสำอางยี่ห้อดังกล่าวโดยผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการใช้เครื่องสำอางยี่ห้อ โบวี่ คิ้ม ได้ซื้อผลิตภัณฑ์ดังกล่าวแบบที่ขายเป็นเซ็ตผ่านทางเฟซบุ๊ค ประกอบด้วย  ครีมสมุนไพรเวียดนาม ครีมกันแดดหน้าเงา ครีมแตงกวา ครีมขมิ้น เซรั่มอโลเวล่าเจล และสบู่เมือกหอยทาก เมื่อใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวได้ 1 วัน พบว่า เกิดผื่นแดงและสิวขึ้นตามใบหน้า และมีอาการคัน ทำให้สงสัยว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีสารอันตรายปนเปื้อนอยู่ อย. ได้นำตัวอย่างครีมที่ได้รับการร้องเรียนส่งตรวจวิเคราะห์ให้กับศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พบไฮโดรควิโนน และ กรดเรทิโนอิก ซึ่งเป็นสารห้ามใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ชื่อว่า Bowvy Kim แตงกวา Night 1 สมุนไพรลดฝ้า กระ จุดด่างดำ และพบปรอทแอมโมเนียในผลิตภัณฑ์  Bowvy Kim ขมิ้น Night 2ซึ่งเมื่อมีการไปตรวจยังสถานที่ผลิตที่ตั้งอยู่ใน จังหวัดสกลนคร พบตลับบรรจุครีม ตัวครีม สติกเกอร์ ยี่ห้อผลิตภัณฑ์ของกลางจำนวนมาก แต่ไม่มีหลักฐานการจดแจ้งผลิตภัณฑ์หลายรายการ รวมทั้งยังตรวจพบการโฆษณาทางเฟซบุ๊คที่มีข้อความแสดงสรรพคุณรักษาโรค ซึ่งไม่ใช่จุดมุ่งหมายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ลดสิว ฝ้า กระ จุดด่างดำรอยสิว ริ้วรอย ลดอาการแพ้ ระคายเคือง เป็นต้น มีความผิดตาม พ.ร.บ. เครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทดลองวิ่ง “รถเมล์ปฏิรูป” 8 เส้นทาง เปลี่ยนเบอร์ใหม่ เติมสีแบ่งโซนวิ่งกรมการขนส่งทางบก และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดทดลองเดินรถเมล์ตามโครงการปฏิรูปเส้นทางใหม่ นำร่องจำนวน 8 เส้นทาง  ประกอบด้วยสาย G21 (เทียบเคียงกับสาย 114) : รังสิต - ท่าเรือพระราม 5 สาย G59E (เทียบเคียงกับสาย 514) : มีนบุรี - ท่าเรือสี่พระยา (ทางด่วน) สาย R3 (เทียบเคียงกับสาย 11) : สวนหลวง ร.9 - สนามกีฬาแห่งชาติ สาย R41 (เทียบเคียงกับสาย 22) : ถนนตก - แฮปปี้แลนด์ สาย Y59 (เทียบเคียงกับสาย 189) : สถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน - กระทุ่มแบน สาย Y61 (เทียบเคียงกับสาย 509) : หมู่บ้านเศรษฐกิจ - หมอชิต 2 สาย B44 (เทียบเคียงกับสาย 54) : วงกลมพระราม 9 - สุทธิสาร สาย B45 (เทียบเคียงกับสาย 73) : ม.เอื้ออาทรบึงกุ่ม - สะพานพุทธ โดยทำการแบ่งโซนเส้นทางวิ่งเป็น 4 สี 4 โซน ประกอบด้วย สีเขียว G (Green) ย่าน รังสิต บางเขน มีนบุรี, สีแดง R (Red) ย่าน ปากน้ำ คลองเตย สาธุประดิษฐ์, สีเหลือง Y (Yellow) ย่าน พระประแดง พระราม 2 บางแค ศาลายา และ สีน้ำเงิน B (Blue) ย่าน นนทบุรี ปากเกร็ด หมอชิต 2 ดินแดง สวนสยาม โดยสีที่กำหนดขึ้นจะนำมาติดไว้บนรถเมล์ที่วิ่งในโซนนั้นๆในการทดลองเดินรถจะใช้รถธรรมดา (รถร้อน) สายละ 5 คัน เป็นเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม - 15 กันยายน 2560 เวลา 06.30 - 18.30 น. และในช่วงการทดลองเดินรถ รถสายเดิมยังคงมีรถให้บริการตามปกติ หลังจากนั้นจะประเมินผลการให้บริการ พร้อมสร้างความรับรู้ความเข้าใจให้กับประชาชน และรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางแฟนเพจ Facebook ในชื่อ การปฏิรูปเส้นทางรถเมล์ กทม. เพื่อนำมาพัฒนาคุณภาพของระบบรถโดยสารประจำทางต่อไปไปรษณีย์ไทยยืนยันใช้กล่อง – ซองรีไซเคิลได้จากกรณีที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กคนหนึ่งได้โพสต์ภาพประกาศเตือนที่ถ่ายจากที่ทำการไปรษณีย์บางบัวทอง ซึ่งแจ้งประชาชนว่า ไม่ให้ใช้ซองที่ใช้แล้ว หรือกล่องที่มีตราสัญลักษณ์อื่นๆ โดยผู้โพสต์ได้ระบุว่า “#แจ้งมาเพื่อทราบครับ ต่อไปนี้จะเอาซอง กล่อง KERRY กล่องเบียร์ กล่องใช้แล้ว มาส่งที่ไปรษณีย์บางบัวทองไม่ได้แล้ว จะถูกปฏิเสธการรับของนะครับ #เมื่อวานมีคนโวยแล้วเจ้าหน้าที่บอก คำสั่งหัวหน้าครับ"ข้อมูลดังกล่าวสร้างความสงสัยให้กับผู้ที่ใช้บริการไปรษณีย์ไทยเป็นอย่างมาก เพราะถือเป็นการปฏิบัติในลักษณะเอาเปรียบผู้ใช้บริการมากเกินไปหรือไม่ซึ่งต่อมาทางไปรษณีย์ไทย ก็ได้ออกจดหมายมาชี้แจงว่าเรื่องดังกล่าวเกิดจากความเข้าใจผิดในการสื่อสารของไปรษณีย์สาขาดังกล่าว พร้อมทั้งยืนยันว่าผู้ใช้บริการสามารถใช้กล่องหรือซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วกลับมาใช้อีกได้ โดยไม่ถือเป็นข้อห้าม ทั้งนี้ หากผู้ใช้บริการนำกล่องและซองที่เคยผ่านการนำส่งแล้วมาใช้ในการห่อหุ้มสิ่งของเพื่อฝากส่งนั้น เจ้าหน้าที่รับฝากจะพิจารณาจากลักษณะของกล่องหรือซองว่ามีความมั่งคง แข็งแรง และต้องปิดผนึกจ่าหน้าใหม่ทับจ่าหน้าเดิมให้ถูกต้องตามที่ไปรษณีย์ไทยกำหนด เพราะหากกล่องหรือซองมีสภาพไม่แข็งแรงเพียงพออาจทำให้เกิดความเสียหายกับสิ่งของที่ฝากส่งได้ โดยเจ้าหน้าที่จะให้คำแนะนำและแก้ไขหรือหุ้มห่อใหม่ เพื่อไม่ให้สิ่งของที่ฝากส่งทางไปรษณีย์เสียหาย ส่วนการใช้กล่องที่ผลิตจากบริษัทรับขนส่งเอกชนรายอื่นในการฝากส่งสิ่งของเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์ไทยผู้ใช้บริการก็สามารถนำมาใช้ได้โดยไม่ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกัน

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 191 ฉลาดใช้ชีวิต แบบวีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา

ฉลาดซื้อฉบับแรกของศักราชใหม่ พาไปสัมผัสมุมมองจากคนฉลาดซื้อ ที่ไม่ได้สมาร์ทเพียงแค่ตนเอง แต่ยังมองไปถึงภาพรวมของประเทศด้วย ผศ.ดร.วีระพันธ์ รังสีวิจิตรประภา อาจารย์ประจำภาควิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่าเพิกเฉยกับการถูกละเมิดสิทธิ“เราคิดว่าเวลาเราซื้อของ ถ้าของแพงต้องเป็นของดี แต่ความเป็นจริงแล้วนั้น ของไม่ดีแต่ราคาแพงเวลาเราซื้อมาก็จะรู้สึกเจ็บใจ ทำไมเราเสียค่าโง่กับของไม่ดีแล้วยังราคาแพงอีก เหมือนซื้อของปลอมเพราะเราคิดว่ามันคือของจริง พอเรารู้ว่าปลอมมันก็เสียความรู้สึก  แต่ในทางกลับกันถ้าเราซื้อของปลอมแล้วเราได้ของดีมาใช้ผมมองว่า มันก็โอนะ ในส่วนการคุ้มครองผู้บริโภคผมมองว่า เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ยกตัวอย่าง ถ้าสมมติเราไม่อยากส่งเสริมการใช้ของปลอมและต้องการสนับสนุนคนที่ทำของจริง  นั่นหมายความว่าเราต้องได้รับความคุ้มครองเพราะเราซื้อของจากร้านที่เราเชื่อถือได้ แต่ถ้าเราได้ของปลอมมามันน่าจะต้องมีมาตรการเพื่อคุ้มครองเรา เพื่อลงโทษผู้กระทำความผิด นี่ก็เป็นการฉลาดบริโภค เพราะเรารู้ทันในเรื่องของราคา สิ่งสำคัญเวลาที่เราจะซื้อ อย่างตัวผมเองไม่ได้แพ้(สารเคมี) อะไรเวลาซื้อก็ไม่ต้องระวัง แต่สำหรับคนที่แพ้เคยพบว่า ตัวเองเคยแพ้อะไรมาบ้างอย่างน้อยสาระสำคัญเหล่านั้น จะต้องสามารถมาตรวจสอบกับสินค้าที่เราจะซื้อว่าไม่มีสารที่เราแพ้จริง ซึ่งเรื่องราวเหล่านี้ถ้าผู้บริโภคมีความรู้ก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรแต่ถ้าไม่มีจะทำอย่างไร ผมยกตัวอย่าง เช่น มีคนไม่ทราบว่าตัวเองแพ้อาหารทะเลแล้วก็ไปบริโภคอะไรที่เราไม่รู้ว่าเขาใส่สิ่งที่เราแพ้ลงไปด้วยจนกระทั่งมันเกิดอาการแพ้กับเรา ถามว่า สิทธิผู้บริโภคเองกับเรื่องพวกนี้ เขาควรจะทราบก่อนไหม กรณีฉลาดบริโภคก็คือ เราได้ของดีในราคาที่เราพอใจ ราคาไม่เอาเปรียบเราแล้วเราก็ได้รับสิทธิในการคุ้มครองจากการที่เราได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้านั้น ซึ่งอาจจะผ่านทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) หรือ สคบ. ก็แล้วแต่กรณี ถ้าผ่าน มพบ. ผมมองว่าข้อได้เปรียบที่เป็นจุดแข็ง คือการกัดไม่ปล่อย การติดตาม ถ้าทาง สคบ. ก็ดีในแง่ที่ว่าการเยียวยาและกลไกทางศาล ก็จะมีข้อดีไม่ดีต่างกันนิดหน่อย นอกจากนี้เมื่อหน่วยงานที่รับผิดชอบพิสูจน์แล้วพบว่า ร้านนี้ขายสินค้าที่ติดเครื่องหมายมาตรฐาน แต่ปรากฏว่าติดเครื่องหมายปลอม ก็จะมีกฎหมายในการเล่นงานร้านค้าว่า คุณจำหน่ายสินค้าที่ไม่ได้รับการรับรอง ก็จะมีช่องทางกฎหมายของเขาอยู่ นี่คือสิทธิผู้บริโภคอย่างหนึ่งที่ผู้บริโภคควรทำ อย่ามองว่าไม่เป็นไรเป็นความโชคร้ายและเราก็เพิกเฉย มันก็จะเกิดผู้เสียหายรายใหม่เพิ่มมากขึ้นและทำให้ผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมก็ยังมีความสุขในการขายของคุณภาพต่ำ เป็นการเอาเปรียบคนอื่นต่อไป ซึ่งผมมองว่าไม่ควรจะไปสนับสนุนเขาแบบนั้น ถ้าเราช่วยกันสอดส่องดูแล เรียกว่าช่วยซึ่งกันและกัน เราก็จะมีแต่สินค้าที่มีคุณภาพในบ้านเรา และกำจัดพวกผู้ประกอบการที่ไม่มีจริยธรรมนั้นให้หมดจากวงการ เราจะได้อยู่ในประเทศที่มีทั้งฉลาดซื้อ ฉลาดเลือก ฉลาดใช้แล้วก็ยังได้รับการคุ้มครองด้วย นี่คือสิทธิของผู้บริโภคที่ควรจะได้รับฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ในแบบดร.วีระพันธ์คือ ส่วนตัวผมไม่ขับรถ ความคิดที่ไม่ใช้รถส่วนตัวเพราะคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมือง ซึ่งมีทั้งรถรับจ้าง รถสาธารณะ ถ้าเราไม่มีภาระอะไรที่ต้องรับผิดชอบหนักๆ การเดินทางโดยรถสาธารณะมันทำให้ชีวิตในการเดินทางของเราดีที่สุด ถ้าการจราจรติดขัดเราก็มีรถไฟฟ้า มีรถใต้ดิน มีมอเตอร์ไซค์หรือแม้แต่เรือ ทุกครั้งเวลาเดินทางต้องถามว่าเราเดินทางไปไหน เวลาไหน ผมก็จะรู้ว่าจะต้องนั่งรถอะไร ขึ้นทางด่วนไหม ต้องต่อรถหรืออะไรก็ว่ากันไป มันก็ทำให้ผมรู้สึกว่าชีวิตมันมีความคล่องตัวดี เพราฉะนั้นผมจึงมองว่าถ้าใช้ชีวิตในเมืองเป็นส่วนใหญ่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้รถ มองให้กว้างขึ้นในประเด็นที่ผมนึกถึง คือ การที่เราไม่มีรถ 1 คันหรือคิดง่ายๆ ว่าทุกวันนี้ปริมาณถนนที่อยู่ในเมืองมันจำกัดแต่ปริมาณรถนั้นมันเพิ่มขึ้น จุดที่เราเรียกว่า จุดอิ่มตัว ก็เป็นปริมาณรถยนต์ต่อเวลานั้นๆ ใน 1 วันมันได้สูงสุดเท่าไร ยิ่งมันเกินตรงนั้นมากเท่าไร การติดขัดก็ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น ถ้าเราไม่ไปเพิ่มจำนวนตรงนั้นอีก 1 คันนั้น ก็หมายถึงว่าเราก็ไม่ไปเพิ่มการติดขัด กรณีคนโสดที่อยู่คนเดียวส่วนใหญ่นั้น ถ้าลดปริมาณการใช้รถลง สังเกตช่วงวันหยุดยาวปริมาณรถบนถนนเบาบาง การเคลื่อนที่ก็คล่องตัวขึ้นในแง่ว่าเราลด 10 % เราจะใช้เวลาบนถนนน้อยลงเกือบ 2 ชั่วโมง คือ เราต้องปล่อยให้คนที่มีความจำเป็นเขาใช้รถไม่ว่ากัน แต่ถ้าเราไม่จำเป็นต้องเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว เพราะรถไฟฟ้าก็ถึงเราก็ช่วยกันลด และมันทำให้เวลาขับเข้าไปในเมืองพื้นที่จอดไม่มี ก็ไปจอดกันบนถนนยิ่งทำให้เป็นการเพิ่มอุปสรรคในการระบายรถอีก คือถ้าพวกเราช่วยกัน ให้คนในเมืองมองเรื่องนี้แล้วช่วยกันคนละไม้คนละมือมันก็จะแก้ปัญหาเรื่องการจราจรได้เยอะทีเดียว นี่เป็นประโยชน์ที่เรามองเห็น กลับมามองประโยชน์อีกด้านหนึ่ง ประโยชน์ในเรื่องของค่าใช้จ่ายเราเอง โดยส่วนตัวผมเองผมมองว่า ถ้าเราซื้อรถยนต์ 1 คันเราต้องมีค่าใช้จ่ายอะไรอีกจิปาถะ ไม่ว่าจะค่าผ่อนรถ ค่าประกัน ค่าเชื้อเพลิงหรือไม่ว่าค่าบำรุงรักษา ถ้าเราไม่ซื้อค่าใช้จ่ายต่างๆ เหล่านี้ไม่เกิดขึ้น ผมยกตัวอย่างวิธีคิด ซึ่งอาจจะประหลาดๆ นิดหน่อย คือ บ้านผมนั้นอยู่นางเลิ้งผมต้องมาทำงานที่จุฬาฯ ค่ารถที่ผมใช้ทุกวันนี้คือ 80 บาท คิดเป็น 100 ก็ได้ตัวเลขกลมๆ คิดง่าย 100 บาท ไป – กลับวันหนึ่งเท่ากับ 200 บาท  เดือนหนึ่งผมทำงาน 30 วันเลยไม่ต้องหยุดก็ตกเดือนละ 6,000 บาท ผมถามว่า เดือนละ 6,000 บาทผมจ้างคนขับรถได้ไหม มีรถให้ มีคนเติมน้ำมันให้ฟรี มีคนทำประกันให้อีก มีคนจ่ายค่าซ่อมต่างหาก ยังไม่ได้เลย แต่เรามองกลับกันเงินให้คนขับรถเอาที่เท่าไรดีเขาถึงจะโอเค สมมติเขาขอ 18,000 บาท ถ้าเราคิดวันทำงาน 30 วันเท่ากับตกวันละ 600 บาทหรือ 300 บาทต่อเที่ยว เพราะฉะนั้นถ้าใครที่เดินทางโดยแท็กซี่ต่ำกว่า 300 บาทต่อเที่ยว ก็คือผู้ที่เข้าข่ายว่าไม่ควรขับรถ คือนั่งแท็กซี่น่าจะดีกว่า เรื่องปลอดภัยนั้นอีกเรื่องเพราะผู้หญิงบางคนก็ไม่ควรนั่งรถเพราะมันดูจะอันตรายเกินไป เรียกว่ารูปร่างทำร้ายตัวเองอันนี้ก็เข้าข่ายเป็นเรื่องจำเป็นไป ผมมองว่า คนไทยมีนิสัยความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การมีทรัพย์สินบนตัวหรือโชว์ด้วยยานพาหนะดูเป็นคนมีฐานะ ถ้าเราบอกว่า เรื่องพวกนี้ไม่ใช่เรื่องประเด็นหลักของชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมี นี่เลยเป็นเหตุผลที่ทำให้ผมคิดว่าผมใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเลยไม่จำเป็นต้องมีรถ การไม่มีรถส่งผลดีอีกเรื่องหนึ่งด้วนะ  คือว่าเราไม่ต้องมีรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เมื่อไม่มีรถก็ไม่ต้องออกไปไหน ไม่ต้องไปกินข้าวนอกบ้านเพราะไม่รู้จะไปจะกลับอย่างไร อะไรที่ไม่จำเป็นก็ไม่ต้องไปจ่ายมัน เศรษฐกิจในตอนนี้ถ้าเราออมอะไรได้มากขึ้นอนาคตก็จะสบายมากขึ้นจะทำอย่างไรให้คนก้าวข้ามความคิดในกรอบเดิมๆ ผมเคยเรียนที่เยอรมัน เพื่อนฝรั่งเยอรมันก็เคยมาที่เมืองไทย เขาบอกว่า คนไทยแปลกเรื่องเสียหน้าเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องเสียตังเรื่องเล็ก ผมฟังแล้วก็เห็นด้วยเพราะมองว่า คนไทยนั้นแม้แต่คนเรียนจบใหม่ๆ เงินเดือนยังไม่เท่าไรก็จะผ่อนบ้านแล้ว หลายคนเลยเลือกผ่อนรถก่อน ผมถามว่าจำเป็นต้องใช้รถขนาดนั้นไหม ซึ่งหลายคนอาจจะจำเป็น เช่น คนที่เป็นเซลล์แต่หลายคนเป็นพนักงานบริษัทที่มีบริษัทตั้งอยู่แนวรถไฟฟ้า อยู่ติดถนนใหญ่ คือกลุ่มคนพวกนี้ถ้าเป็นไปได้ก็อยากชวนว่า คนที่ใช้รถอยู่ทุกวันนี้ถ้าลดได้สัก 10 % ผมว่าการจราจรกรุงเทพฯ ก็จะเบาบางได้อีก คือมันเป็นลักษณะของพฤติกรรมหนึ่งที่ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือ และเราต้องคิดในแง่หนึ่งที่ผมนึกถึงพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 8 ที่ตรัสว่าให้คิดประโยชน์ของคนอื่นเป็นที่ 1 และคิดถึงประโยชน์ตัวเองเป็นที่ 2 ถ้าเราช่วยกันคนละไม้คนละมือในสิ่งเหล่านี้ มีบางคนบอกผมว่า ก็เขามีรถมันก็เลยต้องใช้ ผมจึงบอกไปว่าขายไปเสียจะได้ไม่มี หรือเก็บไว้ใช้ออกนอกเมืองหรือใช้ไปทำงานในที่ที่ไม่ใช่การเดินทางปกติที่ไป - กลับลำบาก เดี๋ยวนี้คนที่อยู่ในหมู่บ้านก็มีเรียกรถ โดยสั่งผ่านแอปพลิเคชั่น ถ้าไม่ได้ลำบากมากมายก็เป็นทางเลือกที่น่าทดลองดูก็ได้ ถ้าการจ้างคนขับคนหนึ่งเงินเดือนสัก 18,000 บาทกับการที่เราจ้างคนขับแท็กซี่แทน ก็เป็นประเด็นที่ผมมองว่านี่คือสิทธิผู้บริโภค ทุกคนมีสิทธิที่จะมีทรัพย์สิน มีรถยนต์แต่ที่ผมมองคือ ตอนนี้ปัญหามันมากมายกับเรื่องรถยนต์ การแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่หมายความว่าเป็นหน้าที่ของภาครัฐฝ่ายเดียว วิธีแก้ปัญหาจราจรไม่ใช่การเพิ่มถนน ไม่ใช่เพิ่มทางด่วนแต่วิธีแก้จราจรที่ยั่งยืนที่สุดเลยคือลดจำนวนคนขับรถ ถ้าจำนวนผู้ขับไม่ลด คน 1 คนจะซื้อรถ 10 คันก็ได้แต่ถ้า 1 คนรถ 10 คันไม่ได้ขับแม้แต่คันเดียวมันก็คือ 1 คันหายไป คือการจะทำนโยบายวันคู่วันคี่ ป้ายทะเบียนคู่คี่คือคนมีเงินเขาซื้อได้หมด แต่คนที่ไม่มีต่างหากที่เขาจำเป็นต้องใช้ คนอาจจะไม่มีฐานะมากมายแต่อาจจะเป็นเพราะลูกยังเล็กต้องส่งหลายที่เขาก็คงจะลำบากถ้าไม่มีรถ เราอยากให้คนกลุ่มนี้ต่างหากที่ควรจะขับรถแล้วไม่ต้องไปใส่มาตรการอะไรเลยที่ทำให้คนกลุ่มนี้มีรายจ่ายเพิ่ม เพียงแต่เราเปลี่ยนคนกลุ่มหนึ่งที่คิดว่าจริงๆ แล้วไม่ได้จำเป็นมากมาย ไม่เห็นต้องมีคำว่าเสียหน้าเลย คนที่เสียหน้าแต่กระเป๋าตังหนาผมว่ามันยังดูดีกว่าคนที่มีหน้าแต่กระเป๋าตังบาง คือถ้ามุกคนเปลี่ยนความคิดตรงนี้ได้ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาการจราจรที่ยั่งยืนบริการรถสาธารณะที่ดีต้องเกิดจากความร่วมมือของทุกคน ส่วนตัวผมขอเปรียบไปที่ประเทศเยอรมัน ที่ผมเคยอยู่นั้น อย่างบ้านเราก็จะมีรถที่ให้บริการรถ BRT ให้บริการเส้นสาทร – นางลิ้นจี่ ซึ่งมีช่องรถของเขาเอง เพราะฉะนั้นเขาวิ่งของเขาได้ ที่เมืองนอกก็จัดบริการอย่างนั้น เมื่อก่อนเรามีรถเมล์เดินทางเดียว ซึ่งปัจจุบันเราก็พยายามจะลดตรงนั้นลงเพื่อให้รถมีพื้นที่สัญจรมากขึ้น ก็เลยทำให้คนที่นั่งรถสาธารณะต้องติดเหมือนคนที่นั่งปกติ เพราะฉะนั้นนโยบายภาครัฐผมค่อนข้างจะเห็นด้วยกับการทำให้มีช่องทางรถโดยสารสาธารณะเองให้คนที่โดยสารสาธารณะเดินทางได้เร็วขึ้นมันจะเท่ากับช่วยดึงดูดให้คนที่ใช้รถประเภทไม่มีความจำเป็นมานั่งรถโดยสารสาธารณะมากขึ้นก็จะเป็นประโยชน์มากผมคิดเรื่องการสร้างจิตสำนึกว่าการช่วยกันคนละไม้คนละมือ เหมือนเวลาเรามีภัยพิบัติก็ยังช่วยกันได้ กรณีอย่างนี้เหมือนกันถ้าเราคิดว่าเราไม่ใช่คนมีฐานะมากมายต้องการลดค่าใช้จ่าย ผมว่าเปลี่ยนพฤติกรรมการขับรถมาเป็นนั่งรถสาธารณะ อย่างน้อยทำให้เราไม่ต้องซื้อของเยอะเพราะซื้อเยอะก็ขนไม่ไหว คิดง่ายๆ ขับรถก็ต้องเหนื่อยต้องรถติดอยู่บนถนน รถสาธารณะเราคำนวณเวลาได้ว่าเราต้องออกจากบ้านกี่โมง ถึงกี่โมงในขณะที่รถยนต์ข้างล่างคาดการณ์อะไรไม่ได้เลยแล้วทำไมเราต้องไปเสียเวลากับถนนข้างล่างเพียงแค่ซื้อความสะดวกสบายเรา ผมเคยมีกรณีศึกษาเรื่องหนึ่งเป็นประสบการณ์ของตัวเองเลย คือจะต้องเดินทางโดยเครื่องบินตอน 7 โมงเช้าผมตื่นตอน 6 โมงเช้าผมไปขึ้นเครื่องบินทันด้วยรถแท็กซี่ ผมบอกเขาว่าผมรีบที่สุดเท่าที่จะทำได้ ผมยังมานึกอยู่ว่าถ้าผมขับรถเองไม่มีทางเลยเพราะผมต้องหาที่จอด นี่คือตัวอย่างแล้วระหว่างอยู่บนรถเรายังสามารถทำนั่นทำนี่ได้เพราะเรามีคนขับรถ ถ้าขับเองแค่ก้มมาชำเลืองมือถือมันไม่ใช่แค่เราแล้วมันมีเพื่อนร่วมท้องถนนอีก ยิ่งทำให้ช้าเข้าไปใหญ่ คือแค่เราบริหารชีวิตเรามันไม่เพียงลดอุบัติเหตุแต่เรายังมีเวลาทำงานได้อีกก็เลยเปลี่ยนจากเป็นคนขับมาเป็นคนนั่งดีกว่า แถมยังประหยัดเงินรักษาพยาบาลเขาอีกลูกหลานไปโรงเรียนก็ต้องให้เงินเขาอีก ในเมื่อเขาเป็นคนขับแท็กซี่เราลงจากรถเราจ่ายเงินเขาเสร็จหน้าที่ความรับผิดชอบของเราที่มีต่อคนขับรถก็หมดสิ้น เดี๋ยวนี้มีรถอูเบอร์แต่เราไม่ได้ส่งเสริมให้คนที่ต้องการจะโชว์ความมีหน้าตาว่าเราเป็นคุณนายจะมานั่งแท็กซี่ได้อย่างไร เขาให้เราถามได้เลยว่าเราจะได้รถอะไร มันจะสมหน้าตาเราไหม ถึงได้บอกว่าวิธีที่คิดคือว่าเรามองจากตัวเองเราจำเป็นแค่ไหนกับการที่ต้องมี ถ้าไม่มีแล้วเราเดือดร้อนมากแค่ไหน ถ้าเดือดร้อนก็มีไปเถอะไม่เป็นไรถือว่ามันจำเป็น แต่สำหรับคนที่ไม่จำเป็นต้องมีรถแล้วได้ทราบข้อมูลนี้แล้วอยากเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้รถ 1 คันอาจจะทำให้บนถนนนี้น่าใช้ขึ้นก็ได้ คิดแค่นี้พอ ไม่ต้องไปคิดถึงขนาดว่าฉันลดแต่คนอื่นไม่ลด รถก็ติดเหมือนเดิม แค่เปลี่ยนจากตัวคุณไปใช้รถไฟฟ้า รถใต้ดินแทนมันก็ไปถึงที่หมายได้เร็วกว่าเดิมแล้ว ให้เปลี่ยนที่ตัวเราไม่ต้องไปนึกถึงคนอื่น ไม่ต้องมองว่ารัฐต้องทำนั่น ทำนี่เพราะมันจะเป็นเงื่อนไขให้เราไม่ทำ แต่ถ้าเราทำสิ่งที่ควรทำก่อนแล้วเงื่อนไขมันตามมามันก็จะช่วยเสริมให้ดีขึ้น แล้วทีนี้ในส่วนภาครัฐที่ผมมองว่านโยบายค่าน้ำมัน อย่างประเทศบางประเทศอย่างเช่นสิงคโปร์เองมีนโยบายในเรื่องของการขับรถผ่านในย่านที่เป็น Business เมื่อก่อนเราก็เคยติดถนนสีลมใครผ่านย่านนี้ต้องมีใบอนุญาต ผมมองว่าเป็นนโยบายการแก้ไขมากกว่า ผมคิดอีกอันหนึ่ง คือถ้าเป็นนโยบายในเชิงสมัครใจไม่เวิร์ค อาจจะต้องลองนโยบายการบังคับมาใช้ เช่น การเพิ่มราคาน้ำมันเป็นภาษีเรียกว่าภาษีสิ่งแวดล้อม อย่างเยอรมันใช้ภาษีสิ่งแวดล้อมเหมือนกับคนขับรถคุณเติมน้ำมันไป 1 ลิตรนั้นคุณต้องเสียภาษีสิ่งแวดล้อม 5 บาทอันนี้สมมตินะ แล้วภาษีสิ่งแวดล้อมนี้ไปชดเชยให้กับคนที่นั่งรถสาธารณะ ทุกวันนี้เรามีรถเมล์ฟรีสำหรับประชาชนแต่ทุกวันนี้คนอาจไม่อยากนั่งเพราะมันร้อนเราอาจจะเอาค่าน้ำมันตรงนี้เพื่อไปชดเชยให้คนนั่งรถแอร์ฟรี คือคนที่ยอมเสียสละตัวเองไปนั่งรถสาธารณะจะได้นั่งรถฟรีด้วย ก็เป็นนโยบายที่ทำให้ความคิดเปลี่ยนฉลาดในการใช้พลังงานในฐานะอาจารย์ด้านไฟฟ้า เคยมีอาจารย์ท่านหนึ่งปรึกษาผมว่า ค่าไฟที่บ้านแพงมาก ที่บ้านอยู่กัน พ่อแม่ลูก ทั้ง 3 คนนี้ออกจากบ้านตอนเช้ากลับมาบ้านก็นอน ค่าไฟเดือนละประมาณ 6,000 บาท ผมเลยบอกไปว่ามันไม่ปกติคน 3 คนใช้เวลาอยู่บ้านเฉพาะกลางคืนค่าไฟไม่น่าจะเกิน 1,200 บาท พอแพงแบบนี้มันเกิดจากอะไร ผมจึงบอกว่า มันน่าจะเป็นไฟรั่ว ประเด็นไฟรั่วไม่ต้องไปหาใครมาซ่อมมาแก้ไข ตัวเองต่างหากต้องแก้ไข วิธีการที่ผมแนะนำก็คือ หาช่างไฟมาเปลี่ยนคัทเอาท์แล้วก็ทำวงจรเดินสายไปที่ตู้เย็นที่เหลือก็ยกคัทเอาท์ลงทั้งบ้านเลย หรือถ้าใครบอกว่าบ้านใหญ่มันซับซ้อนมากกว่านั้น คือบ้านมีคนอยู่ ยกตัวอย่างอุปกรณ์ที่มีมอเตอร์มีอะไรบ้าง เครื่องปรับอากาศ เครื่องซักผ้า ปั๊มน้ำ ตู้เย็นมีหลายตู้ก็รวมของสดไว้ตู้เดียวที่เหลือก็ดึงปลั๊กออก อุปกรณ์ไหนไม่ใช้ก็ดึงปลั๊กออก ถ้าดึงปลั๊กไม่สะดวกผมก็แนะนำซื้อเบรกเกอร์ 2 โพล ไฟรั่วก็เหมือนน้ำรั่วเราต้องเสียค่าน้ำ เพราะฉะนั้นวิธีเดียวคือยกคัทเอาท์ออกมันจะทำให้กระแสไฟไม่ไหล ไฟก็ไม่รั่วเราก็ไม่ต้องไปจ่ายค่าไฟที่ไม่จำเป็น หรือปั๊มน้ำเรากลับถึงบ้านเราก็เปิดปั๊มมันทำงาน ก่อนเรานอนเราก็ปิดเราก็มีน้ำไว้ใช้แล้ว ถ้าไฟจะรั่วตอนที่เราเสียบปลั๊กก็ไม่เป็นไร อย่างน้อยเราทำแค่นี้ปรับพฤติกรรมเราเองอย่างน้อยค่าไฟก็ลดไปครึ่งหนึ่ง ไม่ต้องไปหาว่ารั่วที่ไหนเพราะมันจะต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญแต่เราสามารถปรับพฤติกรรมเราได้ แนวทางฉลาดใช้ชีวิตที่อยากแนะนำสิ่งหนึ่งที่ผมนึกถึงคือ ฉลาดซื้อ ฉลาดใช้ ฉลาดเลือกแล้วก็สิ่งสำคัญ คือเราต้องรักษาสิทธิผู้บริโภค สิทธิของผู้บริโภคสิ่งหนึ่งที่เรานึกถึงเสมอเลยก็คือ คุณคาดหวังว่าจะได้อะไรจากสินค้า คุณอ่านแล้วคุณเชื่อแต่เมื่อใช้แล้วไม่เป็นไปตามที่คุณเชื่อต้องเรียกร้องสิทธิ ในฐานะที่อย่างน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ซื้อรายใหม่ต้องไปซื้อสินค้าแล้วทุกข์ทรมานเหมือนกับที่เราโดน คือตรงนี้อยากให้ผู้บริโภคนั้นรักษาสิทธิของตัวเอง แต่ไม่ควรจะเป็นลักษณะที่เรียกว่าไปใช้สิทธิมากกว่าที่เราควรมี ขอใช้คำว่าไปซื้อของปลอม ไปซื้อของที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันปลอมแล้วมาเรียกร้องว่าทำไมของนั้นไม่ดีเหมือนของจริง อันนี้เราเรียกว่าเรียกร้องเกินสิทธิ หรืออีกอย่างที่ผู้บริโภคควรจะทราบเหมือนกัน คือว่าเมื่อเราซื้อสินค้ามาแล้วปรากฏว่าสินค้ามันทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายและจิตใจ ต่อร่างกายหมายถึงเราบาดเจ็บจากการใช้สินค้า  ทางจิตใจก็คือเรารู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้สินค้า ก็มี PL Law เรามีสิทธิเรามีขั้นตอนกระบวนการ ตรงนี้อยากให้ผู้บริโภครู้จักใช้กัน คือถ้าเป็นไปได้คือเราให้ข้อมูลกับผู้บริโภคว่าสิทธิที่ผู้บริโภคที่ควรจะได้รับการดูแลนั้นมีอะไรบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์อะไรเราต้องไปร้องเรียนใครเพื่อให้เขามาดูแลให้ หรือตอนนี้ในส่วนตัวเองที่ช่วยงานที่ สคบ. อยู่นั้นกำลังเตรียมเรื่องของ Recall คือกฎหมายที่จะบอกว่าบริษัทที่จะต้องทำหารเรียกคืนสินค้า ซึ่ง Recall ในกลไกที่เรากำลังเตรียมการอยู่นั้นจะเกิดขึ้นกับสินค้าที่มีการประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย ซึ่งสินค้าไม่ปลอดภัยตอนนี้ที่เราประกาศออกมาแล้วนั้นก็มีอยู่จำนวนหนึ่ง ถ้าเราเป็นผู้ถือสินค้านั้นอยู่ เราซื้อมาแล้วเรามีใบเสร็จเราก็สามารถที่จะเอาสิ่งเหล่านี้ไปที่ร้านค้าเพื่อที่จะขอเงินคืนได้ อันนี้ก็เป็นเรืองของกฎหมาย Recall แต่ขอเน้นว่ากฎหมาย Recall นั้นเป็นกฎหมายที่จะต้องใช้กับสินค้าที่มีการขึ้นประกาศว่าเป็นสินค้าไม่ปลอดภัย

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 150 กระแสในประเทศ

ประมวลเหตุการณ์เดือนกรกฎาคม 2556 แบนโฆษณา “แค่ดื่มก็สอบได้” สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ลงดาบสั่งระงับการฉายโฆษณาเครื่องดื่มที่อ้างว่าดื่มแล้วบำรุงสมอง จากการที่มีการอวดอ้างว่าดื่มแล้วช่วยให้นักเรียน – นักศึกษาสอบติดคณะเด่นๆ อย่างคณะแพทย์ วิศวกร ของมหาวิทยาลัยชื่อดัง ซึ่งเป็นการโฆษณาที่อ้างสรรพคุณเกินจริงและสร้างความเข้าใจผิดให้กับผู้บริโภค เนื้อหาในโฆษณาที่ทาง สคบ. แพทยสภา และ อย. เห็นว่าเป็นปัญหากับผู้บริโภคก็คือ ประเด็นการโฆษณาสรรพคุณของเครื่องดื่มที่บอกว่าดื่มแล้วทำให้สมองปลอดโปร่ง เติมความรู้ สร้างความจำให้ดีขึ้น ดื่มแล้วก็สามารถสอบเข้าคณะแพทย์หรือคณะอื่นๆ ที่มีชื่อเสียงได้ ถือว่าเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริง และการนำนักศึกษาที่ใส่ชุดประจำสถานศึกษาชื่อดังหลายแห่งมาร่วมในโฆษณาเพื่อสื่อว่าสอบติดได้เพราะผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถือว่าไม่เหมาะสม ความฉลาดต้องเกิดจากความขยันตั้งใจศึกษาหาความรู้ อาหารก็ควรเลือกอาหารที่มีประโยชน์ครบทั้ง 5 หมู่ ซึ่งถือว่าเพียงพอและเหมาะสมที่สุดแล้ว ไม่จำเป็นต้องกินอาหารเสริม ถ้าใครพบเห็นโฆษณาอาหารหรืออาหารเสริมที่ดูแล้วน่าจะเข้าข่ายโอ้อวดสรรพคุณเกินจริงหรือหลอกลวงผู้บริโภค รีบแจ้งไปที่ สายด่วน สคบ. 1166 หรือ อย. 1556     ป้องกันรังสียูวี...ชัวร์หรือมั่วนิ่ม อย.ออกประกาศให้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่มีสารป้องกันแสงแดด ต้องระบุระดับหรือค่าตัวเลข SPF, PFA หรือ PA ให้ถูกต้องตามคุณสมบัติการทดสอบ โดยผลสำรวจผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดที่ขายอยู่ในท้องตลาด ปี พ.ศ. 2549-2550 พบการแสดงค่า SPF หรือค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีที่ไม่ถูกต้องตามที่ระบุบนฉลาก ทำให้ผู้บริโภคเกิดการเข้าใจผิด จากนี้ไปผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดต้องแสดงค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดดดังนี้ 1. การแสดงค่า SPF ที่มีค่าการป้องกันรังสียูวีอยู่ระหว่าง 6-50 ให้แสดงระดับ หรือค่า SPF ตามจริง ถ้ามีค่าความสามารถในการป้องกันรังสียูวีมีค่ามากกว่า 50 ให้แสดง “SPF 50+” ในกรณีที่ไม่มีผลการทดสอบหรือมีผลการทดสอบได้ค่าการป้องกันรังสียูวีต่ำกว่า 6 ไม่ให้แสดงข้อความใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับค่าความสามารถในการป้องกันแสงแดด 2. การแสดงค่า PFA หรือ PA ที่แสดงถึงการป้องกันรังสียูวีเอ ให้แสดงระดับสัญลักษณ์ หรือค่าความสามารถอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ค่า PA+, PA++, PA+++ และ PA++++ หมายถึงประสิทธิภาพระดับต่ำ กลาง สูง และสูงมาก ถ้ามีการแสดงค่าความสามารถในการกันน้ำต้องแสดงระดับของประสิทธิภาพผลิตภัณฑ์ โดยให้แสดงค่าว่า Water resistance พร้อมกับแสดงตัวเลขเวลาที่ผ่านการทดสอบในการป้องกัน 40 นาที หรือ 80 นาที   เมื่อคอนโดราคาแพงเกินจริง? ปริมาณคอนโดมิเนียมที่ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด สะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของผู้บริโภค แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้บริโภคหลายรายร้องเรียนผ่าน สำนักงานคณะกรรมคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. เรื่องราคาขายคอนโดว่าเข้าข่ายแพงเกินจริงหรือไม่? บางโครงการหนึ่งห้องพื้นที่ไม่กี่ตารางเมตร แต่ขายราคา 4 – 5 ล้านบาท ราคาจริงน่าจะถูกกว่านั้น สคบ. จึงได้เชิญ สมาคมบ้านจัดสรร สมาคมอาคารชุดไทย สมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย และ สำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ ร่วมถึงผู้ประกอบการ เพื่อสอบถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค ซึ่งทางฝั่งผู้ประกอบการได้ให้เหตุผลที่คอนโดตั้งราคาขายไว้สูงนั้นเกิดจากปัจจัยของต้นทุนการผลิต ไม่ว่าจะเป็นราคาที่ดิน ราคาวัสดุก่อสร้าง ค่าจ้างแรงงาน ที่ล้วนปรับตัวสูงขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเห็นว่าคอนโดไม่ใช้สินค้าควบคุม การตัดสินใจเลือกซื้อเปรียบเทียบคุณภาพและราคานั้นเป็นสิทธิ์ของผู้บริโภคที่ทำได้เองอยู่แล้ว ทาง สคบ. ได้ขอความร่วมมือให้ผู้ขายคอนโดต้องแสดงข้อมูลต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถใช้เปรียบเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย เช่น ชนิดหรือราคาวัสดุก่อสร้าง ราคาที่ดิน รายละเอียดสิ่งอำนวยความสะดวก สาธารณูปโภคที่โครงการมอบให้ผู้ซื้อ หลังจากนี้ สคบ. จะร่วมกับสำนักประเมินราคาทรัพย์สิน กรมธนารักษ์ เพื่อตรวจประเมินหาราคากลางที่เหมาะสมของโครงการคอนโดต่างๆ และจะประสานกับกรมการค้าภายในเพื่อดูความเหมาะสมของราคาสินค้าวัสดุก่อสร้าง     ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) จัดเสวนาทางวิชาการ “ความจริงเรื่องเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) และโบรไมด์อิออน (bromide ion)” เพื่อทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการใช้เมทิลโบรไมด์ต่อสุขภาพของผู้บริโภค หลังจากทั้ง 2 มูลนิธิได้มีการแถลงผลการทดสอบข้าวสารบรรจุถุงที่พบว่ามีการปนเปื้อนของสารโบรไมด์อิออนที่ตกค้างจากการใช้สารเมทิลโบรไมด์รมควันข้าวสารเกินกว่าค่ามาตรฐานอาหารระหว่างประเทศ หรือ Codex จนกลายเป็นประเด็นทางสังคม โดยการเสวนาทางวิชาการมีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง แพทย์ นักวิชาการด้านเภสัชศาสตร์ นักโภชนาการ นักพิษวิทยา นักการเกษตร และสมาชิกเครือข่ายผู้บริโภค โดยมีข้อสรุปที่เป็นประโยชน์กับผู้บริโภคในประเด็นที่ว่าอันตรายของเมทิลโบรไมด์และโบรไมด์อิออนมีความแตกต่างกัน โดยเมทิลโบรไมด์มีพิษเฉียบพลันต่อผู้ใช้ และระยะยาวมีแนวโน้มเป็นสารก่อมะเร็ง ในขณะที่โบรไมด์อิออนที่ตกค้างเกิน 50 ppm มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพราะโบรไมด์อิออนจะแย่งจับไอโอดีนในร่างกาย ทำให้เป็นปัญหากับกลุ่มประชากรที่ขาดไอโอดีน หรือคนที่ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ ส่วนข้อมูลเรื่องการขจัดโบรไมด์อิออนที่ตกค้างโดยการซาวน้ำและหุงนั้น  สามารถลดการตกค้างได้บางส่วน แต่ยังมีปริมาณการตกค้างหลังหุงยังต้องทำการศึกษาเพิ่ม เพราะผลการวิจัยของกรมวิชาการเกษตรและงานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นยังมีความแตกต่างกัน งานวิจัยในประเทศญี่ปุ่นพบว่ายังเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างถึง 41.2% ในขณะที่การทดลองของกรมวิชาการเกษตรระบุว่าเหลือโบรไมด์อิออนตกค้างเพียง 15.4%     ร้อง สคบ. ช่วยจัดการกรณี รถเชฟโรเลต ครูซ ขับไปซ่อมไป ผู้ผลิตเลี่ยงรับผิดชอบ กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้รถเชฟโรเลต ครูซ และ แคปติวา จำนวน 25 ราย ได้ร้องเรียนมายังศูนย์พิทักษ์สิทธิ์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หลังจากพบปัญหาจากการใช้รถ ทั้งๆ ที่เป็นรถใหม่เพิ่งซื้อมาใช้งานได้ไม่นาน ซึ่งปัญหาที่พบถือเป็นปัญหาที่เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุถึงชีวิต เช่น รถคันเร่งค้าง เครื่องเร่งเองโดยไม่ได้เหยียบคันเร่ง รถพุ่งไปข้างหน้าเองในขณะที่จอดติดเครื่องยนต์ ระบบเกียร์อัตโนมัติมีอาการกระตุกรุนแรง ในขณะเปลี่ยนเกียร์ระบบเกียร์ล็อค เปลี่ยนเกียร์ไม่ได้ เป็นต้น กลุ่มผู้เสียหายและมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้เข้ายื่นหนังสือกับเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อหาทางช่วยเหลือผู้เสียหารและดำเนินการกับผู้ประกอบการ คือ บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิต และ บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด ในฐานะผู้จำหน่าย โดยผู้เสียหายเรียกร้องให้ สคบ. ช่วยดำเนินการเรียกผู้ประกอบการมาเจรจาไกล่เกลี่ย ซึ่งหากการเจรจาหาข้อตกลงไม่ได้ก็ขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคดำเนินการฟ้องคดีแทนผู้บริโภค และให้มีการตั้งผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบสภาพรถที่มีปัญหาเพื่อหาสาเหตุความผิดปกติ โดยระหว่างการตรวจสอบให้ สคบ. ออกคำสั่งห้ามขายรถยนต์รุ่นที่มีปัญหาชั่วคราว จนกว่าจะมีผลพิสูจน์ความผิดปกติที่เกิดขึ้น และหากพิสูจน์แล้วพบว่าความบกพร่องเกิดจากผู้ผลิต ต้องออกคำสั่งให้บริษัทรับซื้อคืนรถคันดังกล่าวจากผู้ซื้อที่ได้รับความเสียหาย   //

อ่านเพิ่มเติม >

ฉบับที่ 135 อันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์และครีมกันแดด

หน้าร้อนปีนี้ร้อนกว่าปีก่อนๆ อย่างชัดเจน อุณหภูมิขึ้นไปสูงสุดถึงกว่า 41°ซ แสงแดดจัดและจ้ามากแต่เช้าตรู่ อบอ้าวจนอึดอัด ผู้คนที่ต้องเดินทางบนท้องถนนต้องได้รับทั้งรังสีความร้อนและรังสีอุลตร้าไวโอเลตอย่างหลีกเลี่ยงได้ยาก ความจำเป็นในการเลือกใช้ครีมกันแดดเพื่อปกป้องผิวหน้าและผิวกายนอกร่มผ้าจึงสำคัญต่อสุขภาพกายอย่างยิ่ง สภาวะโลกร้อนแผ่กระจายไปทั่วทุกมุกโลก ชั้นบรรยากาศของโลกถูกทำลายมากขึ้น ทำให้รังสีดวงอาทิตย์สามารถทะลุทะลวงพื้นโลกมากขึ้น อันตรายที่เกิดจากรังสีดวงอาทิตย์ก็ยิ่งน่ากลัว ข้อมูลจากต่างประเทศพบว่าผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการป้องกันอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์มาก มีสถิติค่อนข้างสูงในการใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวัน วัตถุประสงค์เพื่อป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยสูงถึงร้อยละ 50 ในสหรัฐอเมริกา และร้อยละ 35 ในยุโรป ส่วนผู้ที่ใช้ครีมกันแดดเป็นประจำทุกวันเพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนังสูงถึงร้อยละ 80 สำหรับประชากรในสหรัฐอเมริกา และเฉลี่ยประมาณร้อยละ 50 สำหรับในยุโรป ในปี 2012 ตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้เป็นต้นไป สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาได้ออกข้อกำหนดสำหรับฉลากของครีมกันแดดที่จำหน่ายในท้องตลาด หากต้องการเคลมว่าสามารถป้องกันความเสี่ยงจากมะเร็งผิวหนังหรือป้องกันการเกิดริ้วรอยก่อนวัยต้องมีค่า SPF 15 หรือสูงกว่าและหากเคลมว่าสามารถกันน้ำได้ (water resistant) ต้องระบุให้ชัดเจนบนฉลากว่ากันน้ำได้ 40 หรือ 80 นาที ซึ่งหมายถึงความถี่ที่ผู้บริโภคต้องทาครีมกันแดดซ้ำทุกๆ 40 หรือ 80 นาทีเมื่อลงว่ายน้ำ  หรือสำหรับผู้ที่เหงื่อออกง่ายหรือสำหรับผู้ที่ออกกำลังกายและมีเหงื่อออกมาก  ซึ่งจำเป็นต้องทาครีมกันแดดซ้ำเป็นระยะ   ส่วนนิตยสารดังคือ Reader’s Digest แนะนำให้ผู้บริโภคทาครีมกันแดดเป็นประจำหรือให้บ่อยที่สุดเพื่อป้องกันอันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์และแนะนำให้ใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF 30 หรือสูงกว่า แนะนำให้ผู้ที่มีผิวแพ้ง่ายให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่ปราศจากน้ำหอมและปราศจากการเติมแต่งสี พร้อมทั้งแนะนำให้เลือกใช้ครีมกันแดดที่มีส่วนผสมของสารกรองรังสียูวีชนิดฟิสิคอล คือ ไทเทเนี่ยม ไดออกไซด์ ซึ่งจะปลอดภัยและไม่ทำให้เกิดอาการแพ้หรือระคายเคืองต่อผิวหนัง จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจะพบว่าแม้ในประเทศทางตะวันตก จะมีความเข้มของรังสีดวงอาทิตย์น้อยกว่าประเทศไทยมากๆ แต่มีความระมัดระวังต่ออันตรายจากรังสีดวงอาทิตย์มาก  โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาวะโลกร้อนที่ทำให้ปริมาณรังสีดวงอาทิตย์ตกกระทบพื้นโลกสูงขึ้นทุกวัน แสงแดดแม้จะมีคุณอนันต์ต่อสิ่งมีชีวิต และมนุษย์บนโลก แต่ก็แฝงอยู่ด้วยอันตราย เมื่อร่างกายถูกแสงแดดปริมาณมากเกินไป อาจทำให้เรามีอาการวิงเวียน หน้ามืด เป็นลม หรือในเวลาที่สะสมรังสีนานกว่านั้น จะทำให้ผิวคล้ำ แดดเผา และบางราย อาจถึงกับผิวหนังอักเสบปวดแสบปวดร้อน หรือ เป็นโรคมะเร็งที่บริเวณผิวหนังได้ ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสแสงแดดจ้าโดยตรงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างเวลา 10 โมงเช้าถึง บ่าย 4 โมงเย็นซึ่งมีรังสียูวีมาก (สูงสุดช่วงเที่ยงถึงบ่ายโมง) การหลบแดดใต้ต้นไม้ใหญ่ การถือร่มบังแดด การใส่เสื้อผ้าแขนยาวกางเกงขายาว การใส่แว่นกันแดดชนิดกรองรังสียูวี รวมถึงการเลือกใช้ครีมกันแดดเป็นประจำอย่างน้อยมีค่า SPF 15 หรือสูงกว่าและควรเลือกครีมกันแดดที่สามารถกรองรังสีทั้งชนิดยูวีเอและยูวีบีได้ด้วยจึงจะปลอดภัย   เรื่องน่ารู้ รังสีอัลตราไวโอเลต มนุษย์เรารับความรู้สึกและสัมผัสได้กับรังสีจากดวงอาทิตย์ เพียง 2 ชนิด คือ รังสีของแสงสว่าง ที่สามารถรับได้ทางตา จากการมองเห็น และรังสีความร้อน จากความรู้สึกสัมผัส จากทางร่างกาย เรารู้สึกร้อนมาก เมื่อเราเดินอยู่ท่ามกลางแสงแดด และรู้สึกหนาว ในเวลากลางคืน ที่ไม่มีแสงอาทิตย์ ดวงตามนุษย์ มองเห็นแสงอาทิตย์เป็นสีขาว แต่นักวิทยาศาสตร์ใช้ปริซึม สามารถแยกรังสีแสงออกได้ถึงเจ็ดสี คือ สีของรุ้งกินน้ำ ซึ่งเป็นปรากฎการณ์ธรรมชาติ รังสีที่ตาคนเรามองไม่เห็นคือรังสียูวี คือ ตัวย่อของคำว่า รังสีอัลตราไวโอเลต นักวิทยาศาสตร์ สามารถแยกออก เป็นสามกลุ่มตามพลังงาน ได้แก่ UV-A, UV-B และ UV-C โดยที่ UV-C มีพลังงานสูงสุด รังสีชนิดนี้ จะถูกชั้นบรรยากาศของโลกกั้นไว้ ส่วนรังสียูวีเอและยูวีบีจะตกกระทบถึงพื้นโลก รังสียูวีมีอันตรายต่อคนเรามาก ในทางการแพทย์พบว่า เมื่อร่างกายได้รับรังสียูวีในปริมาณมาก จะเป็นผลทำลายดีเอนเอของเซลผิวหนัง ทำลายเลนส์และม่านตา ทำให้เกิดต้อกระจกในตา และอาจเป็นบ่อเกิดมะเร็งผิวหนัง รังสียูวีเอสามารถทะลุทะลวงลงสู่ผิวหนังชั้นล่างได้ ทำลายเนื้อเยื่อและดีเอนเอของเซลล์ผิวอันเป็นสาเหตุให้ผิวหนังเหี่ยวย่น ส่วนยูวีบีนั้นสามารถทะลุถึงชั้นหนังกำพร้าเท่านั้น ดังนั้นอาการผิวไหม้จากแดดเผาจึงเกิดจากผลของรังสียูวีบี

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point

ฉบับที่ 165 เสื้อกัน UV (ต่อ) ทางเลือกใหม่ สำหรับคนชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง

ต่อเนื่องจากเล่มก่อนหน้า เราขอนำเสนอผลการทดสอบเสื้อและชุดว่ายน้ำป้องกันรังสีสำหรับเด็กที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศได้ทำไว้   สัดส่วนการให้คะแนนเป็นดังนี้ -   การป้องกันรังสียูวี  ร้อยละ 60 (ปัจจุบันยังมีหลายมาตรฐานในการวัดค่าการป้องกันรังสียูวี ผู้ผลิตต่างรายจึงใช้มาตรฐานต่างกัน แต่ในที่นี้จะวัดตามมาตรฐาน UV Standard 801) -  ฉลาก  ร้อยละ 30 (หมายถึง การให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค มีการอ้างอิงว่าใช้มาตรฐานใด) -  การใช้สารเคมีร้อยละ 10                

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point

ฉบับที่ 164 เสื้อกัน UV ทางเลือกใหม่ สำหรับคนชอบใช้ชีวิตกลางแจ้ง

แม้จะอยู่ใต้ฟ้าแต่เราก็ไม่กลัวแสงแดด เพราะมีผลิตภัณฑ์มากมายที่ช่วยสกัดกั้นไม่ให้รังสีจากดวงอาทิตย์เข้ามาทำร้ายผิวเราได้ นอกจากครีมกันแดด หมวก และร่มแล้ว เรายังมีเสื้อป้องกันรังสียูวีที่ทำออกมาเอาใจผู้ชื่นชอบกีฬากลางแจ้งอีกด้วยนะ ฉลาดซื้อฉบับนี้นำผลทดสอบเสื้อกันรังสียูวี ที่องค์กรทดสอบระหว่างประเทศ ICRT ทำไว้ มาฝากสมาชิกกัน หลักๆ แล้วเขาต้องการดูค่าการป้องกันรังสีของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว (ค่า UPF) และดูว่าสอดคล้องกับฉลากหรือไม่ และในกรณีของเสื้อหรือชุดเด็ก จะมีการตรวจหาสารเคมีที่อาจปนเปื้อนมาในเนื้อผ้า เช่น ฟอร์มัลดีไฮด์ โนนิลฟีนอล และพทาเลท ด้วย การทดสอบนี้เป็นไปตามมาตรฐานของเสื้อผ้าที่ป้องกันรังสียูวี UV Standard 801   ครั้งนี้เขาเน้นเสื้อผ้าเด็กเป็นพิเศษ เพราะคนยุโรปเน้นให้เด็กๆ ได้อยู่กลางแจ้งเพื่อรับแสงแดดที่มีไม่บ่อยนักในรอบปี และเสื้อผ้าเหล่านี้ก็เป็นทางออกสำหรับเด็กๆ ที่ไม่ชอบให้ทาครีมกันแดดซึ่งจะว่าไปแล้วก็อาจมีสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อเด็กด้วย สัดส่วนการให้คะแนนเป็นดังนี้ -          การป้องกันรังสียูวี           ร้อยละ 60 (ปัจจุบันยังมีหลายมาตรฐานในการวัดค่าการป้องกันรังสียูวี                                   ผู้ผลิตต่างรายจึงใช้มาตรฐานต่างกัน แต่ในที่นี้จะวัดตามมาตรฐาน UV                                  Standard 801) -          ฉลาก                            ร้อยละ 30 (หมายถึง การให้ข้อมูลที่ชัดเจนแก่ผู้บริโภค มีการอ้างอิง                                       ว่าใช้มาตรฐานใด) -          การใช้สารเคมี                ร้อยละ 10   ฉบับนี้เราขอลงผลทดสอบของเสื้อผู้ใหญ่ 7 รุ่น และเต็นท์สำหรับเด็กอีก 5 รุ่น มาให้ชมกันเป็นน้ำจิ้มก่อน ส่วนผลของชุดและเสื้อยืดเด็กนั้น คุณพ่อคุณแม่อย่าลืมติดตามกันในฉบับต่อไป --------------------------------------------------------------------------------------------------- ทำอย่างไรให้เนื้อผ้าป้องกันรังสียูวีได้? วิธีที่ผู้ผลิตนิยมใช้เพื่อเพิ่มคุณสมบัติการป้องกันแสงแดด ได้แก่ การใช้ผ้าที่ทอหนาและแน่นในการตัดเย็บ เพราะช่องว่างระหว่างเส้นใยที่น้อยลงจะช่วยลดแสงที่ผ่านเข้ามาด้วย การใช้สีย้อม เพราะสีย้อมบางชนิดที่ความเข้มข้นระดับหนึ่ง สามารถลดการส่งผ่านรังสียูวีได้ บางชนิดสะท้อนรังสีออกไปได้บางส่วน บางชนิดจะไม่รับรังสีเข้ามาเลย เช่น สีย้อมสีดำ ณ ปัจจุบัน เราไม่สามารถทราบได้ว่าเสื้อตัวดังกล่าวสามารถกันรังสีได้หรือไม่จากการดูด้วยตาเปล่า ต้องดูจากฉลากที่ระบุค่า UPF เท่านั้น เสื้อผ้าที่ออกแบบมาเพื่อการป้องกันรังสีอาจใช้สีย้อมระดับพรีเมียมซึ่งมีโมเลกุลที่สามารถสกัดรังสีได้ เมื่อใช้สีย้อมมากขึ้น ระดับความเข้มข้นของสีและการป้องกันยูวีก็จะเพิ่มขึ้นด้วย แต่ต้องย้ำว่าสีที่ใช้ (เหลือง แดง ฟ้า เขียว ฯลฯ) ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับค่าการป้องกันยูวี การเติมสารเคมีบางชนิดลงไป เช่น สารเพิ่มความสว่าง และสารต้านยูวี เช่น ไททาเนียมไดออกไซด์ ซิงค์โคไซด์ เบนโซไทรอาโซล ทินูวิน 312 เป็นต้น การเลือกชนิดของเส้นใย เช่นโพลีเอสเตอร์ สามารถต้านรังสีได้ดีมาก ไนลอนก็ทำได้ดี ไหมและขนแกะก็พอใช้ แต่เส้นใยธรรมชาติอย่างฝ้าย เรยอน แฟลกซ์ และปอ ป้องกันรังสีได้ไม่ดีนักถ้าไม่มีการเติมสารเคมีเพิ่มลงไป ที่สำคัญ ผ้าฝ้ายที่ไม่ผ่านการฟอกหรือผ้าสีธรรมชาติจะต้านรังสีได้ดีกว่าฝ้ายที่กัดสีแล้ว   หมายเหตุเพิ่มเติม: Ø เมื่อผ้าถูกยืดออกร้อยละ 10 ความสามารถในการต้านรังสีจะลดลงถึงร้อยละ 40 Ø เมื่อผ้าเปียกน้ำ ความสามารถในการต้านรังสีจะลดลงประมาณร้อยละ 30 - 50 Ø ผ้าเก่าหรือผ้าที่ซีดแล้วจะสามารถป้องกันยูวีได้น้อยลง ---------------------------------------------------------------------------------------------------   ก่อนลงทุนซื้อเสื้อ/ชุดป้องกันยูวี -          เลือกเสื้อผ้าที่มีการติดฉลากตามมาตรฐาน UV 801 -          ถ้าเป็นไปได้ เลือกชนิดที่ป้องกันยูวีโดยวิธีการทางกายภาพ ไม่ใช่ทางเคมี -          ควรเลือกเสื้อผ้าที่ปกปิดแขนทั้งหมดหรือส่วนใหญ่ของแขน และส่วนบนของขา -          ถ้าเป็นชุดเด็ก ค่าการป้องกันยูวี (UPF) ควรอยู่ระหว่าง 40-60 เพื่อให้เด็กได้รับการป้องกันอย่างเพียงพอ --------------------------------------------------------------------------------------------------- เสื้อผู้ใหญ่                                                                                                                                                                       ---- บ้านเรากับเสื้อป้องกันยูวี?   ในบรรดาสิ่งทอคุณสมบัติพิเศษนั้น ที่มาแรงที่สุดในบ้านเราคงไม่มีใครเกินสิ่งทอป้องกันแบคทีเรีย (ก็อากาศร้อน ช่วยขับเหงื่อผู้คนกันขนาดนี้) ส่วนเรื่องสิ่งทอป้องกันยูวีนั้นยังไม่เท่าไร เพราะเรามีจริตที่จะหลบแดดกันอยู่แล้ว ยกเว้นใครที่ต้องทำงานหรือชอบงานอดิเรกที่ต้องอยู่กลางแจ้งจริงๆ เช่นนักกีฬา หรือขาปั่นจักรยาน ที่อาจต้องพึ่งพาผลิตภัณฑ์นี้อยู่   แต่คุณรู้หรือไม่? บ้านเรามีสภาพอากาศและพื้นที่ที่เหมาะกับการปลูกพืชชนิดหนึ่ง ซึ่งเส้นใยของมันสามารถป้องกันรังสียูวีได้โดยธรรมชาติ แถมยังระบายกลิ่นอับได้ดี ประเทศในยุโรปรู้จักใช้ประโยชน์จากใยชนิดนี้มาระยะหนึ่งแล้ว เยอรมนีก็ใช้เพื่อผลิตหมวกป้องกันยูวีให้กับนักกีฬาด้วย พืชที่ว่านี้คือกัญชง (ถูกแล้ว มันเป็นญาติกับกัญชา) ซึ่งเคยมีสถานะเป็นยาเสพติดให้โทษ ประเภท 5 แต่กำลังจะถูกพิจารณาให้เกษตรกรสามารถปลูกเป็นพืชเศรษฐกิจได้ ในเบื้องต้นสถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) กำลังศึกษาวิจัยเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์กัญชงที่มีระดับเตตร้าไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ต่ำ เพื่อแจกจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูก แต่แม้จะมีการปลูกในภาคเหนือบ้างแล้ว ปริมาณวัตถุดิบก็ยังไม่เพียงพอต่อการผลิต เราจึงยังต้องนำเข้าจากประเทศลาวอีกเป็นจำนวนมาก ว่ากันว่าตอนนี้ราคาขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 300 บาท และนอกจากจะนำมาทอผ้าแล้ว เปลือกและเมล็ดของมัน ยังสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อีกหลายอย่างด้วย   ขอบคุณข้อมูลจาก อ.ดร.ประเทืองทิพย์ ปานบำรุง สาขาวิศวกรรมเคมีสิ่งทอ คณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ  

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า300 Point