ฉบับที่ 140 รักเกิดในตลาดสด : พหุวัฒนธรรมของบรรดา

“รับไหมครับ ความรักดีดี ที่ไม่มีขายอยู่ทั่วไป รับไหมครับ ตัวผมจริงใจ อยากให้คุณไปฟรีฟรี...” เมื่อเพลง “รักดีดีไม่มีขาย” ของพี่โจ๊กโซคูลดังขึ้น คอแฟนละครโทรทัศน์ก็คงจะรู้ในทันทีว่า ละครเรื่อง “รักเกิดในตลาดสด” ได้เริ่มเปิดแผงออกอากาศแล้ว โดยมีพ่อค้าขายผักจอมยียวนอย่างต๋อง และแม่ค้าขายปลาหน้าหมวยอย่างกิมลั้ง เป็นตัวละครเอกที่ต้องฝ่าด่านเจ๊กิมฮวยผู้ปากร้ายใจดี กว่าที่ “รัก” ของตัวละครทั้งคู่จะ “เกิด” และลงเอย “ในตลาดสด” กันด้วยดี แล้วเหตุไฉน ความรักดีดีจึงไม่มีขายอยู่ทั่วไป แต่ได้ถูกจำลองภาพเอาไว้ให้มาเกิดกันอยู่ใน “ตลาดสด” เช่นนี้ด้วย ? หากอธิบายตามหลักทางเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น “ตลาด” เป็นพื้นที่ที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล ยิ่งกับสังคมไทยด้วยแล้ว ตลาดเป็นส่วนหนึ่งของระบบวัฒนธรรมที่แยกไม่ออกจากชีวิตของคนไทยตั้งแต่ไหนแต่ไรมา   แม้เราจะเชื่อกันว่า กระบวนการทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นอยู่บนพื้นฐานของ “การผลิต” และ “การบริโภค” สินค้าหรือวัตถุต่างๆ เป็นหลัก แต่ถ้ากระบวนการทางเศรษฐกิจขาดซึ่งช่องทางของ “การแพร่กระจาย” ไปเสียแล้ว สินค้าหรือวัตถุต่างๆ ที่ได้รับการผลิตขึ้นมาเสียดิบดี ก็ไม่มีวันจะเข้าถึงมือของผู้บริโภคไปได้ บนพื้นฐานของวิถีการผลิตเยี่ยงนี้นี่เอง “ตลาด” ก็คือกลไกสำคัญที่เป็นข้อต่อซึ่งเชื่อมผู้ผลิตและผู้บริโภคเข้าหากัน หรือกล่าวง่ายๆ ได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรผู้ปลูกผักหรือชาวประมงที่หาปลามาได้ในแต่ละวัน ก็ล้วนต้องอาศัยทั้งต๋อง กิมลั้ง กิมฮวย และพ่อค้าแม่ขายทั้งหลาย มาเป็นสะพานเชื่อมต่อผลผลิตของเขาเหล่านั้นไปสู่ห้องครัวของผู้บริโภค และเมื่อตลาดได้กลายเป็นฟันเฟืองสำคัญของกระบวนการทางเศรษฐกิจ ไม่เพียงแต่ “ความรัก” เท่านั้นที่จะบังเกิดขึ้นในตลาด หากแต่ถ้าเรามองภาพในระดับที่กว้างขึ้น ก็จะพบว่า สังคมไทยของเรานั้นก็น่าจะก่อรูปก่อร่างสร้างวัฒนธรรมและระบบความสัมพันธ์อันแตกต่างหลากหลายขึ้นมาจากพื้นที่ของตลาดสดด้วยเช่นกัน ซึ่งก็คงไม่แตกต่างไปจากชื่อของ “ตลาดร่วมใจเกื้อ” ที่เป็นพื้นที่การใช้ชีวิตของตัวละครต่างๆ ในท้องเรื่องนั่นเอง ในตลาดสดร่วมใจเกื้อนั้น ก็เป็นภาพจำลองของสังคมไทยซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย หรือที่เรียกกันแบบกิ๊บเก๋ได้ว่าเป็น “สังคมแบบพหุวัฒนธรรม” ที่ตัวละครจะมีทั้งรักกันบ้าง แง่งอนกันบ้าง ขัดแย้งกันบ้าง แต่ก็เกื้อกูลกันอยู่เป็นระยะๆ เพราะฉะนั้น ตลาดสดจึงมีตั้งแต่ตัวละครวัยรุ่นแบบต๋อง กิมลั้ง กิมแช จาตุรงค์ และกลุ่มก๊วนของต๋อง ที่ร่วมกันสร้างวัฒนธรรมและอัตลักษณ์แบบวัยรุ่นขึ้นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็นการจัดอีเว้นท์คอนเสิร์ตของต๋องกันกลางตลาด การจัดส่งน้องกิมแชไปแข่งขันประกวดนักร้องล่าฝัน หรือแม้แต่แง่มุมเล็กๆ อย่างการโพสท่ายกนิ้วถ่ายรูปแบบวัยรุ่นผ่านมือถือไอโฟนที่เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง ในขณะเดียวกัน ตลาดร่วมใจเกื้อก็ยังมีการดำเนินไปของอีกหลากหลายชีวิต เริ่มตั้งแต่บรรดาวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์น้อยใหญ่ ทั้งแบบไทย แบบจีน แบบแขก ไปจนถึงกระแสท้องถิ่นนิยมแบบตัวละครสาวเหนืออย่างเครือฟ้าที่อู้กำเมืองอยู่ตลอดเวลาที่มาตลาด หรืออ้ายคำมูลพ่อค้าส้มตำอีสานที่ก็เว้าลาวโลดอยู่เป็นเนืองๆ ชุมชนตลาดสดยังมีวัฒนธรรมความเชื่อดั้งเดิมที่ถูกหล่อเลี้ยงไว้ แบบที่เราเองก็เห็นได้จากตัวละครอย่างคนทรงเจ้าที่ “ทำเพื่อลูก” อย่างน้าจะเด็ด ที่แม้ตอนต้นจะทรงเจ้าเข้าผีหลอกลวงต้มตุ๋นชาวบ้านอยู่ทุกวี่วัน แต่ตอนหลังก็กลับใจมาใช้ศาสตร์แห่งพิธีกรรมเป็นภูมิปัญญาให้คนในตลาดยึดมั่นทำแต่ความดี และในส่วนแง่มุมเล็กๆ อื่นๆ ของละคร ตลาดสดแห่งนี้ก็ยังฉายภาพสังคมพหุวัฒนธรรมแบบไทยๆ ที่มีการโคจรมาพบกันระหว่างวิถีชีวิตของชนชั้นที่แตกต่าง หรือระหว่างเจ้าของตลาดสดอย่างคุณสดศรีและณดา กับบรรดาพ่อค้าแม่ค้าผู้เช่าแผง กลุ่มวัฒนธรรมของเพศที่สามอย่างคิตตี้กะเทยสาวที่ต้องแอบเก็บงำความลับเรื่องรสนิยมทางเพศของเธอไว้ไม่ให้บิดารับรู้ กลุ่มวัฒนธรรมของผู้พิการทางร่างกายอย่างน้อยหน่าช่างเสริมสวยที่ต่อสู้ชีวิตอย่างเข้มแข็ง และอีกหลากหลายกลุ่มวัฒนธรรมที่ “ร่วมใจเกื้อ” และต่างก็มีเหตุผลในการสร้างและดำเนินชีวิตของพวกเขาในแบบที่แตกต่างกันออกไป แม้ว่าในด้านหนึ่ง ละครจะได้ชี้ให้เห็นสัจธรรมข้อหนึ่งที่ว่า ตลาดสดทุกวันนี้ไม่ได้เป็นชุมชนที่ผูกขาดการเป็นข้อต่อของโลกแห่งการผลิตและโลกแห่งการบริโภคเอาไว้อยู่เพียงเจ้าเดียว เพราะชุมชนตลาดสดต้องอยู่ในภาวะการต่อสู้ดิ้นรนกับการเกิดขึ้นของพื้นที่ค้าขายใหม่ๆ อย่างห้างสรรพสินค้า ที่พยายามใช้เล่ห์กลทุกอย่างที่จะฮุบตลาดสดออกไปจากเส้นทางเศรษฐกิจของตน แต่ในอีกด้านหนึ่ง เราก็จะเห็นริ้วรอยแห่งการเปลี่ยนผ่านลบล้างคราบไคลของตลาดสดในแบบวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม มาสู่วิถีการผลิตแบบใหม่ๆ เพื่อก้าวเข้าสู่กระแสธารแห่งความทันสมัย นับตั้งแต่การจัดรูปลักษณ์ของแผงค้าขายให้ดูดึงดูดและทันสมัยมากขึ้น การสร้างตลาดสดให้สะอาดสะอ้านไม่เป็นแหล่งเพาะหนูและเชื้อโรค การรณรงค์ให้พ่อค้าแม่ขายสวมหมวกคลุมผมให้เป็นไปตามหลักสุขอนามัย และการผลิตวัฒนธรรมใหม่ๆ อีกมากมายเพื่อป้อนออกสู่ชุมชนตลาดสดร่วมใจเกื้อแห่งนี้ ภาพของตลาดร่วมใจเกื้อแบบนี้ก็คงไม่แตกต่างไปจากภาพรวมของสังคมไทยเท่าใดนัก เพราะเราเองก็กำลังก้าวผ่านจากวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม สู่สังคมที่เจริญก้าวหน้าภายใต้ระบบเศรษฐกิจแบบสมัยใหม่ แต่ข้อเท็จจริงประการหนึ่งที่สังคมไทยแบบ “ร่วมใจเกื้อ” พึงรำลึกเสมอก็คือ บนเส้นทางสู่ความทันสมัยทางเศรษฐกิจนั้น สังคมเราอาจไม่ได้มีหน้าตาเป็นแบบมวลรวม หากแต่ฉากหลังก็ยังคงหล่อหลอมความแตกต่างหลากหลายแบบ “พหุวัฒนธรรม” เอาไว้ด้วยเช่นกัน และหากพ่อค้าแม่ขายพลพรรคของต๋องและกิมลั้งร่วมใจเกื้อกูลและสร้าง “รักให้บังเกิดในตลาดสด” ขึ้นมาได้ฉันใด กลุ่มวัฒนธรรมอันหลากหลายก็น่าที่จะสร้าง “ความแตกต่างที่ไม่แตกแยก” ให้กับสังคมไทยได้เช่นกันฉันนั้น

สำหรับสมาชิก >
ฉลาดซื้อ เก็บแต้มแลกสินค้า250 Point